ผู้เขียน หัวข้อ: พบเกือบ 90% ของประเทศไทยคือพื้นที่ "ผู้มีอิทธิพล" ภาคใต้หนักสุด  (อ่าน 18 ครั้ง)

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9760
    • ดูรายละเอียด
“ผู้การแต้ม” ชี้พื้นที่ประเทศไทยเกือบ 90% ถูกครอบงำด้วยผู้มีอิทธิพล พบภาคใต้หนักสุด เหตุธุรกิจผิดกฎหมายเพียบ ทั้งค้าของเถื่อน น้ำมันเถื่อน แรงงานเถื่อน ส่วนภาคตะวันออกเปิดบ่อนการพนันเป็นหลัก ขณะที่ภาคเหนือมักอยู่ในจังหวัดตะเข็บชายแดน พัวพันยาเสพติด บ่อนการพนัน ลักลอบนำเข้าแรงงานต่างด้าว ภาคอีสาน ผู้มีอิทธิจะฝังตัวในจังหวัดใหญ่ๆ โยงพนันออนไลน์ แก๊งเงินกู้ ด้าน ก.มหาดไทย ส่ง 805 รายชื่อผู้มีอิทธิพล จับตา 180 รายเข้าข่ายสีแดง

“ท่านอนุทิน ตั้งท่านชาดา เป็นคนปราบปรามผู้มีอิทธิพล ปล่อยเสือไปกัดหมาเลยนะ แค่ประกาศชื่อชาดาก็หยุดกันหมดแล้ว มันรู้มือกัน แต่ปราบไม่ไหมดหรอกท่านชาดาน่ะ เพราะมันยังเหลือกลุ่มท่านชาดาอีกกลุ่มหนึ่ง” คำกล่าวติดตลกของ พล.ต.ท.เรวัช กลิ่นเกสร นายตำรวจมือปราบที่เคยพูดไว้ในระหว่างให้สัมภาษณ์ในรายการหนึ่ง

และเหตุการณ์ล่าสุดที่ดูเหมือนจะยืนยันคำพูดดังกล่าว เมื่อชุดปฏิบัติการพิเศษ “หนุมานกองปราบ” สนธิกำลังกับ ป.ป.ท. (คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ) และ ป.ป.ช. (คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ) นำกำลังเข้าจับกุม นายวีระชาติ รัศมี นายกเทศบาลตลุกดู่ ลูกเขยของ “นายชาดา ไทยเศรษฐ์” รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย ซึ่งได้รับมอบหมายให้ดูแลเรื่องการปราบปรามผู้มีอิทธิพล ในข้อหา "ร่วมกันเป็นเจ้าพนักงาน เรียกรับทรัพย์สินโดยมิชอบ" โดยนายวีระชาติ ได้ใช้อิทธิพลข่มขู่เรียกเงินจากผู้รับเหมา 6 แสนบาท เพื่อแลกกับการหยุดคุกคาม เขาจึงอยู่ในฐานะคนในตระกูลไทยเศรษฐ์ที่ทำตัวเป็นผู้มีอิทธิพล!

ด้วยนายชาดา ประมุขบ้านใหญ่อุทัยธานี ถูกมองว่าเป็นนักการเมืองที่เติบโตมาจากผู้มีอิทธิพล ประเด็นเรื่องผู้มีอิทธิพลกับเครือข่ายการเมืองจึงถูกหยิบยกขึ้นมาวิพากษ์วิจารณ์อีกครั้ง โดยคนส่วนใหญ่ตั้งคำถามว่าจะปราบปรามผู้มีอิทธิพลให้หมดไปได้อย่างไร ในเมื่อบุคคลเหล่านี้ล้วนมีเส้นสายทางการเมือง

ล่าสุด กระทรวงมหาดไทยได้ให้แต่ละจังหวัดสำรวจรายชื่อผู้มีอิทธิพลเสร็จเรียบร้อยแล้ว โดยมีการจำแนกเป็นสีเขียว คือพื้นที่ซึ่งไม่มีผู้มีอิทธิพล และสีเหลือง คือพื้นที่ซึ่งมีผู้มีอิทธิพล จากข้อมูลพบว่า มี 10 จังหวัดที่เป็นสีเขียว ไม่มีผู้อิทธิพล แต่ไม่ได้ระบุว่าประกอบไปด้วยจังหวัดอะไรบ้าง เนื่องจากเป็นความลับทางราชการ

และมีจังหวัด 66 จังหวัด 84 อำเภอ ที่เป็นสีเหลือง โดยมีบุคคลที่เข้าข่ายอยู่ในอยู่กลุ่มผู้มีอิทธิพล 805 รายชื่อ แบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม คือ 180 รายชื่อเป็นผู้มีอิทธิพลที่อยู่ในกลุ่มสีแดง ซึ่งหมายความว่าเป็นผู้ที่มีอิทธิพลและมีพฤติการณ์ใช้อิทธิพลในพื้นที่ ส่วนอีก 625 คนเป็นผู้ที่เคยมีอิทธิพล แต่หยุดพฤติการณ์แล้ว และไม่ได้มีพฤติการณ์ในการใช้อำนาจกดขี่ ข่มเหง หรือรังแกพี่น้องประชาชนแล้ว แต่แม้จะหยุดพฤติการณ์ดังกล่าวแล้ว แต่ยังต้องเฝ้าติดตามอย่างใกล้ชิด

“พล.ต.ต.วิชัย สังข์ประไพ” หรือผู้การแต้ม อดีตรองผู้บัญชาการตำรวจนครบาล เจ้าของฉายา “มือปราบหูดำ” ระบุว่า ข้อมูลจากทั่วประเทศพบว่าประเทศไทยมีผู้มีอิทธิพลถึง 66 จังหวัด โดยมีเพียง 10 จังหวัดที่ปลอดผู้มีอิทธิพล ซึ่งถ้าพิจารณาจากพื้นที่จะพบว่าจำนวนจังหวัดที่มีผู้มีอิทธิพลจะมีถึงเกือบ 90% ของประเทศ แต่ในพื้นที่ซึ่งถูกระบุว่าเป็นแหล่งผู้มีอิทธิพลนั้นทั้งจังหวัดอาจจะมีผู้มีอิทธิพลแค่คนเดียวก็ได้ ขณะที่บางจังหวัดอาจจะมีผู้มีอิทธิพลหลายคน จึงต้องไปดูว่าจังหวัดไหนมีผู้มีอิทธิพลประเภทใดบ้าง เช่น ค้ายาเสพติด ค้าของเถื่อน ค้าแรงงานต่างด้าว บ่อนการพนันขนาดใหญ่ เลี้ยงมือปืน หัวหน้าแก๊งคอลเซ็นเตอร์ แต่กฎหมายเอื้อมไปไม่ถึง

โดยจากข้อมูลพบว่าพื้นที่ซึ่งมีผู้มีอิทธิพลอยู่มากที่สุดคือ พื้นที่ภาคใต้ เนื่องจากมีธุรกิจผิดกฎหมายเยอะ ทั้งค้าของเถื่อน ค้าน้ำมันเถื่อน ค้าแรงงานเถื่อน รวมถึงธุรกิจถูกกฎหมายบางอย่างที่ต้องใช้อิทธิพลในการดูแลธุรกิจ เช่น สัมปทานรังนก ตามด้วยภาคตะวันออก ซึ่งมีบ่อนการพนันเป็นหลัก ขณะที่ภาคเหนือ ผู้มีอิทธิพลจะพบมากในจังหวัดที่อยู่ตามแนวตะเข็บชายแดน โดยเกี่ยวข้องกับยาเสพติด บ่อนการพนัน ลักลอบนำเข้าแรงงานเถื่อน ส่วนภาคอีสานจะพบผู้มีอิทธิพลในจังหวัดใหญ่ๆ โดยส่วนมากจะเกี่ยวพันกับพนันออนไลน์ แก๊งเงินกู้

“ในต่างจังหวัดนั้นผู้มีอิทธิพลส่วนใหญ่จะเป็นนักการเมืองท้องถิ่นและพ่อค้า เนื่องจากผู้มีอิทธิพลมักจะสมัครเป็นกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน นายก อบต. หรือ นายก อบจ. ตอนเลือกตั้งใช้เงินซื้อเสียง ใช้อิทธิพลข่มขู่ พอมาเป็นข้าราชการการเมืองก็กลายเป็นข้าราชการการเมืองในคราบผู้มีอิทธิพล ยิ่งปราบปรามยากกันไปใหญ่ ไปเช็กประวัติได้เลยนักการเมืองท้องถิ่นคนดังๆ ของจังหวัด สมัยอดีตเคยทำอะไรบ้าง ร่ำรวยและมีอิทธิพลมาจากอะไร” ผู้การแต้ม ระบุ

ผู้การแต้ม กล่าวต่อว่า จากประสบการณ์ในการปราบปรามเชื่อว่าการปราบผู้มีอิทธิพลให้หมดไปจากประเทศนั้นสามารถทำได้ แต่ที่ไม่ทำกันเพราะเจ้าหน้าที่รัฐอ่อนแอ ยอมอยู่ใต้อำนาจผู้มีอิทธิพลและนักการเมือง ยิ่งเป็นนักการเมืองที่เป็นฝ่ายรัฐบาล ตำรวจยิ่งไม่กล้าแตะ ยกตัวอย่างการแต่งตั้งตำรวจในยุคของอดีตนายกฯ ท่านหนึ่ง เขาเอาคนของเขาขึ้นเป็นผู้การ ขึ้นผู้บัญชาการ ในเมื่อเขาเป็นคนฝากให้ขึ้นตำแหน่งถามว่าตำรวจเหล่านี้จะกล้าดำเนินคดีเขาไหม เขามีอิทธิพลมาก แม้กระทั่งช่วงแต่งตั้งโยกย้าย นายกฯ คนดังกล่าวเดินทางไปฮ่องกง ตำรวจจะแต่งตั้งผู้กำกับ รองผู้กำกับ นักการเมืองของพรรคนี้ยังพาตำรวจไปพบนายกฯ ที่ฮ่องกงเลย

จริงๆ แล้วการปราบผู้มีอิทธิพลนั้นไม่ใช่เรื่องยาก แค่หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจ ฝ่ายปกครอง ผู้ใหญ่บ้าน กำนัน นายอำเภอ ร่วมมือกัน แต่ปรากฏว่าเจ้าหน้าที่เหล่านี้กลับอยู่ใต้อาณัติผู้มีอิทธิพลกันหมด ขณะที่ผู้มีอิทธิพลก็มีสัมพันธ์ใกล้ชิดกับนักการเมือง การปราบปรามผู้มีอิทธิพลจึงกลายเป็นเรื่องยาก

“อย่างกรณีเสี่ยแป้ง (เชาวลิต ทองด้วง) นักโทษคดีอุกฉกรรจ์ที่แกล้งป่วยและหลบหนีออกจากโรงพยาบาลก็เป็นผู้มีอิทธิพลในจังหวัดพัทลุง และเป็นเด็กนักการเมืองในภาคใต้ มีความสนิทสนมกับตำรวจในพื้นที่ ตำรวจตั้งด่านอยู่กลุ่มเสี่ยแป้ง สามารถสั่งให้เลิกด่านเพื่อให้ขบวนยาเสพติดผ่านได้ อย่างนี้ถามว่าจะปราบได้ไหม ถ้ามันไม่มีผู้หลักผู้ใหญ่ช่วยเหลือ มันหนีไม่ได้หรอก และในเมื่อสนิทกับตำรวจ ตำรวจจะไปเร่งรัดอะไร” ผู้การแต้ม กล่าว

ส่วนบรรดานักการเมืองบ้านใหญ่ซึ่งหลายฝ่ายมองว่าอาจเกี่ยวพันกับผู้มีอิทธิพลนั้น “พล.ต.ต.วิชัย” ชี้ว่า ประเด็นนี้ต้องแยกว่าบ้านใหญ่เป็นผู้ทรงอิทธิพล หรือผู้มีอิทธิพล ซึ่งบ้านใหญ่ที่เป็นผู้ทรงอิทธิพลจะหมายถึงคนที่เป็นผู้กว้างขวาง เป็นคนที่มีอำนาจ มีบารมี มีเงิน คนนับหน้าถือตา ใครมาขอความช่วยเหลืออะไรก็ช่วยดูแลให้ แต่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับสิ่งผิดกฎหมาย อย่างเช่น บ้านใหญ่บุรีรัมย์ หรือแป๋ง “ปิยะ อังกินันทน์” เจ้าพ่อเมืองเพชร ส่วนบ้านใหญ่ที่เป็นผู้มีอิทธิพลคือคนที่เกี่ยวข้องกับการทำผิดกฎหมาย เลี้ยงมือปืน อย่างบ้านใหญ่ชลบุรีในสมัยก่อน แต่ปัจจุบันบ้านใหญ่ชลบุรีเปลี่ยนฐานะเป็นผู้ทรงอิทธิพลแล้ว

สำหรับนักการเมืองซึ่งเข้าข่ายผู้มีอิทธิพลนั้นก็อยู่ที่ตำรวจจะจับหรือเปล่า เช่น เมื่อเร็วๆ นี้ ตำรวจไปจับกุมนายวีระชาติ นายกเทศบาลตลุกดู่ ลูกเขยของนายชาดา รมช.มหาดไทย โดยความร่วมมือของหน่วยงานต่างๆ ซึ่งสนธิกำลังกัน ทั้งเจ้าหน้าที่ตำรวจ ป.ป.ช. และ ป.ป.ท. ดังนั้นเชื่อว่าหากเจ้าหน้าที่เดินหน้าปราบปรามแบบไม่เกรงใจผู้ใหญ่ ไม่เกรงกลัวนักการเมือง อีกไม่นานผู้มีอิทธิพลก็จะหมดไป แต่ที่จับไม่ได้เพราะมัวแต่กลัวกัน

“บ้านใหญ่นักการเมืองหากไม่ได้ทำผิดกฎหมายก็ไม่เข้าข่ายผู้มีอิทธิพล แต่เป็นเพียงผู้ทรงอิทธิพลเท่านั้น เช่น บ้านใหญ่บุรีรัมย์ ทำสโมสรฟุตบอล เป็นผู้กว้างขวางแต่ไม่ได้ทำผิดกฎหมาย ก็ไม่ใช่ผู้มีอิทธิพล แต่เป็นผู้ทรงอิทธิพล อย่างไรก็ดี ผู้ทรงอิทธิพลบางคนอาจจะมีผู้กระทำผิดกฎหมาย หรือมือปืนรับจ้างไปอยู่ใต้ร่มเงา อยู่ใต้ปีกเขาเพื่อให้เขาช่วยปกป้อง เพื่อให้เจ้าหน้าที่รัฐเอื้อมไม่ถึงก็เป็นไปได้ ดังนั้น ขึ้นอยู่กับผู้ทรงอิทธิพลว่าจะทำตัวยังไง” พล.ต.ต.วิชัย กล่าว

อย่างไรก็ดี ปฏิเสธไม่ได้ว่าในช่วงเวลาไม่กี่เดือนมานี้มี “การเมืองบ้านใหญ่”

ซึ่งปรากฏชื่อเข้าไปพัวพันกับการกระทำที่เข้าข่าย “ผู้มีอิทธิพล” อย่างน้อย 3 ตระกูลด้วยกัน คือ

“ตระกูลสะสมทรัพย์ บ้านใหญ่นครปฐม” สังกัดพรรคชาติไทยพัฒนา สืบเนื่องจาก “กำนันนก” นายประวีณ จันทร์คล้าย กำนันคนดังแห่ง จ.นครปฐม ซึ่งก่อเหตุสั่งลูกน้องยิงตำรวจทางหลวงเสียชีวิต มีสายสัมพันธ์กับบ้านใหญ่นครปฐมตั้งแต่รุ่นพ่อ คือ ผู้ใหญ่โยชน์ จันทร์คล้าย กับนายไชยา สะสมทรัพย์ มาจนถึงรุ่นลูก คือ กำนันนก กับนายจิรวัฒน์ สะสมทรัพย์ อีกทั้งครั้งหนึ่งนายไชยา เคยถูกตำรวจกองปราบปรามนำกำลังพร้อมหมายค้นเข้าค้นบ้านพัก โดยมุ่งไปที่การหาอาวุธปืน และตัวบุคคลที่อยู่ในบ้าน ซึ่งคาดว่าเป็นการหาหลักฐานที่เกี่ยวข้องกับกรณีที่ตำรวจสันติบาลถูกยิงเสียชีวิต และทุกครั้งที่รัฐบาลมีนโยบายปราบปรามผู้มีอิทธิพลมักมีข่าวการเข้าตรวจค้นบ้านใหญ่สะสมทรัพย์อยู่เนืองๆ

“ตระกูลไทยเศรษฐ์ บ้านใหญ่อุทัยธานี” พรรคภูมิใจไทย เนื่องเพราะหลังจากที่ “นายชาดา ไทยเศรษฐ์” กลับไปปักหลักฟื้นฟูกิจการโรงฆ่าสัตว์ของครอบครัวที่ จ.อุทัยธานี จนประสบความสำเร็จ และขยายสู่ธุรกิจอื่นๆ เช่น รับเหมาก่อสร้างและโรงแรม ส่งผลให้เขาเริ่มมีอิทธิพลกว้างขวางในอุทัยธานี นายชาดา เคยถูกจับกุมในข้อหาจ้างวานฆ่าเมื่อปี 2546 แต่สุดท้ายศาลพิพากษายกฟ้อง อีกทั้งเขาเคยถูกตำรวจเข้าตรวจค้นหลายครั้ง รวมทั้งภายใต้นโยบายกวาดล้างผู้มีอิทธิพลของ คสช. เมื่อเดือน พ.ค.2560 ได้มีตำรวจและทหารนับร้อยนายสนธิกำลังเข้าตรวจค้นขบวนรถยนต์ของนายชาดา โดยพบปืนพก 6 กระบอก เขาจึงมีภาพลักษณ์ความเป็น "มาเฟีย-เจ้าพ่อ" ซึ่งเขาก็ปฏิเสธมาตลอด

“บ้านใหญ่เดชอิศม์” จังหวัดสงขลา พรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งถือเป็นกลุ่มอำนาจใหม่ของพรรคแม่พระธรณี เนื่องจากคนในพื้นที่ร่ำลือกันว่า นายเดชอิศม์ ขาวทอง หรือ "นายกชาย" ส.ส.สงขลา และรองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ซึ่งดูแลพื้นที่ภาคใต้ มีความสนิทสนมกับ “เสี่ยแป้ง นาโหนด” นักโทษชายที่หลบหนีออกจากโรงพยาบาล ซึ่งกำลังถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจไล่ล่าตัวอยู่ในขณะนี้ อีกทั้งมีข่าวว่า “โทนี่ เตียว” นักธุรกิจชาวมาเลเซียซึ่งมีคดีติดตัวหลายคดี และเป็นเจ้าของอาณาจักรเอ็มบีไอ กรุ๊ป ซึ่งเข้ามาลงทุนที่ด่านนอก อ.สะเดา จ.สงขลา มีสัมพันธ์อันดีและเป็นท่อน้ำเลี้ยงให้ “นายกชาย” ด้วย

29 ต.ค. 2566  ผู้จัดการออนไลน์