ผู้เขียน หัวข้อ: ประชาชนเสี่ยงอันตรายจากการไปโรงพยาบาลของกระทรวงสาธารณสุข  (อ่าน 1879 ครั้ง)

khunpou

  • Full Member
  • ***
  • กระทู้: 111
    • ดูรายละเอียด
ประชาชนเสี่ยงอันตรายจากการไปโรงพยาบาลของกระทรวงสาธารณสุข
พญ.เชิดชู อริยศรีวัฒนา
     ปัจจุบันนี้ ประชาชนที่เจ็บป่วยหรือมีปัญหาด้านสุขภาพ หรือตั้งครรภ์ คลอดบุตร และไปรับบริการตรวจรักษาสุขภาพที่โรงพยาบาลต่างๆแล้ว จะเกิดปัญหาความไม่พึงพอใจ กล่าวหาหรือฟ้องร้องแพทย์และโรงพยาบาลมากขึ้นจากเดิม จนปรากฏเป็นข่าวให้เห็นอยู่เป็นประจำ จนถึงกับมีการตั้งเครือข่ายผู้ได้รับความเสียหายทางการแพทย์ เพื่อช่วยกันฟ้องร้องแพทย์ทั้งคดีแพ่ง คดีอาญา ประชาชนต้องการค่าชดเชยจากม.41ของพ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ  และหลังจากการได้รับเงินช่วยเหลือเบื้องต้นตามมาตรา 41 แล้วประชาชนบางคนก็ยังนำคดีไปฟ้องต่อที่ศาล เพื่อขอค่าเสียหายเป็นจำนวนเงินรายละหลายร้อยล้านบาท
  นอกจากฟ้องแพ่งแล้ว ประชาชนบางคนยังนำคดีเข้าสู่ศาลอาญาอีกด้วยเหตุผลที่สำคัญประการหนึ่งคือต้องการยืดอายุคดีแพ่งออกไปให้ยาวนานกว่าปกติที่อายุความจะสิ้นสุดเร็ว แต่ถ้าคดียังอยู่ในศาลอาญา อายุความของคดีแพ่งก็ยังไม่สิ้นสุดลง 
 กระทรวงสาธารณสุขพยายามที่จะแก้ปัญหาการฟ้องร้องแพทย์ โดยการจัดตั้งคณะกรรมการไกล่เกลี่ย และจัดหานิติกรมาช่วยแก้ต่างในคดีฟ้องร้อง ส่วนประชาชนก็เรียกร้องให้มีการออกกฎหมายในการจ่ายเงินชดเชยแก่ประชาชนผู้ได้รับความเสียหายจากการไปรับบริการทางการแพทย์จากโรงพยาบาล เช่นมีการเสนอพ.ร.บ.ชดเชยความเสียหายจากการไปรับบริการทางการแพทย์ (ซึ่งกำลังดำเนินการอยู่)
 แต่กระทรวงสาธารณสุขยังไม่เคยคิดวิธีป้องกันไม่ให้เกิดการฟ้องร้องแพทย์ โดยการทำให้ประชาชนปลอดภัยจากการไปรับบริการทางการแพทย์เลย
     ถ้าถามว่า ทำไมประชาชนจึงฟ้องร้องแพทย์? ก็จะตอบได้ว่า เพราะตัวเขาเองหรือคนในครอบครัวของเขาได้รับผลเสียหายต่อชีวิตและสุขภาพ หรือไม่พอใจในการรักษาของแพทย์และ/หรือโรงพยาบาล และประชาชนคิดว่า ความเสียหายเหล่านั้นต้อง “เป็นความผิดของแพทย์” อย่างแน่นอน ฉะนั้นแพทย์ต้องชดใช้ “ความเสียหาย” หรือ “สมควรถูกลงโทษเพราะทำความผิด”
 แต่ผลเสียหายต่อชีวิตและสุขภาพที่เกิดขึ้นกับประชาชนและครอบครัวนั้น เกิดจาก “ความผิดพลาด” ของแพทย์ทุกครั้งหรือไม่? ประชาชนก็คงคิดว่า ใช่แน่ๆ  ถึงแม้สภาวิชาชีพตรวจสอบว่าไม่ใช่ความผิดพลาดของแพทย์ ประชาชนก็จะกล่าวหาว่าสภาวิชาชีพ(แพทยสภา) เข้าข้างแพทย์ จึงไม่ตัดสินลงโทษแพทย์ แม้บางครั้งที่ประชาชนนำคดีไปฟ้องศาลและศาลตัดสินว่าแพทย์ไม่ผิด ประชาชนก็คงยังไม่พอใจในคำตัดสินของศาล และดำเนินการเรียกร้องต่อไป เช่นกการเดินขบวน ออกข่าวสื่อมวลชน และร้องเรียนให้ “เครือข่ายผู้ได้รับความเสียหายทางการแพทย์”

  แต่อันที่จริงแล้ว ความเสียหายที่เกิดขึ้นกับประชาชนในการไปรับการรักษาจากแพทย์นั้น อาจเกิดจากอาการผู้ป่วยที่มากจนเกินเยียวยา หรือมีโรคแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้นได้ในการรักษาตามมาตรฐานที่ดีที่สุด หรือเกิดอาการอันไม่พึงประสงค์จากการใช้ยา อาการของผู้ป่วยไม่ตอบสนองต่อการรักษาทั้งๆที่แพทย์ได้ใช้ความระมัดระวังอย่างดีที่สุดแล้ว หรือยา เครื่องมือ และเทคโนโลยี ไม่เพียงพอที่จะรักษาอาการผู้ป่วยได้ 
และสุดท้ายแล้วก็อาจ เกิดจากความ “ผิดพลาด” ของแพทย์ ซึ่งอาจเกิดขึ้นได้จากความด้อยประสบการณ์ ความเครียดและความเหนื่อยล้าจากการทำงานมากเกินไปและ/หรือขาดการพักผ่อน หรือความผิดพลาดนี้ อาจเกิดขึ้นเพียง เพราะว่าแพทย์เป็นเพียงมนุษย์ปุถุชน อาจจะทำความผิดพลาดได้ เหมือนคนในวิชาชีพอื่นๆ แต่แพทย์ต้อง “ใช้ความระมัดระวังอย่างเต็มที่ ตามภาวะวิสัยและพฤติการณ์” ของผู้ที่เป็นแพทย์จะต้องใช้ความระมัดระวังอย่างดีที่สุด เพราะวิชาชีพแพทย์นั้น ถ้าเกิดความผิดพลาดขึ้น ย่อมมีผลเสียหายร้ายแรงแก่ผู้ป่วยของตน
  แต่ความผิดพลาดทางการแพทย์ จะเกิดขึ้นได้ง่าย ถ้าแพทย์ต้องทำงานมากเกินไป อดนอน และรีบเร่งตรวจผู้ป่วยมากเกินไป รวมทั้งแพทย์ขาดความรู้และประสบการณ์(skill) ในการดำเนินการทางการแพทย์

  โรงพยาบาลของกระทรวงสาธารณสุข มีแพทย์จำนวนน้อย แต่มีผู้ป่วยจำนวนมาก  ทำให้แพทย์มีเวลาทำงานมากถึงสัปดาห์ละ 120 ชั่วโมง( เวลาทำงานมากกว่า 3 เท่าของคนปกติ) และแพทย์ต้องตรวจผู้ป่วยมากเกินไป จนแพทย์มีเวลาตรวจผู้ป่วยแต่ละคนเพียง 2- 4 นาทีเท่านั้น ซึ่งภาวะการณ์เช่นนี้ ทำให้มีความเสี่ยงอย่างมากที่จะเกิดความผิดพลาดอันจะนำไปสู่ความเสียหายแก่ผู้ป่วย

    ฉะนั้นการป้องกันไม่ให้ประชาชนได้รับความเสียหาย ก็จะต้องลดความเสี่ยงที่จะทำให้เกิดความผิดพลาดทางการแพทย์ ต้องทำให้มีจำนวนแพทย์มากขึ้น และ/หรือมีผู้ป่วยน้อยลง

 ผู้บริหารกระทรวงสาธารณสุขจึงควรเร่งแก้ปัญหาการขาดแคลนแพทย์อย่างเร่งด่วน โดยต้องจัดสรรให้มีบุคลากรแพทย์เพิ่มมากขึ้นเพื่อให้มีจำนวนเหมาะสมกับจำนวนผู้ป่วย
      และบริหารจัดการให้มีผู้ป่วยน้อยลง โดยการส่งเสริมประชาชนให้มีความสามารถในการสร้างเสริมสุขภาพ ป้องกันโรค และพึ่งพาตนเองและครอบครัวในการดูแลรักษาความเจ็บป่วยเล็กน้อยได้เอง อันจะทำให้จำนวนผู้ป่วยน้อยลง และใช้บริการโรงพยาบาลเมื่อจำเป็นเท่านั้น

    ปัญหาการขาดแคลนบุคลากรทางการแพทย์ในกระทรวงสาธารณสุขเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นมาอย่างยาวนาน และไม่มีทีท่าว่าจะยุติลงง่ายๆ ถ้าดูจากข้อมูลของสำนักนโยบายและยุทธศาสตร์ระหว่างปีพ.ศ. 2547และพ.ศ.2551เปรียบเทียบจำนวนแพทย์ไทย ที่มีอยู่ทั้งหมดกับแพทย์ในกระทรวงสาธารณสุขตามตารางข้างล่างนี้ จะเห็นได้ว่า แพทย์มีจำนวนน้อย และเพิ่มไม่มากนักในช่วง 4 ปีนี้
 
ตารางที่ 1 เปรียบเทียบจำนวนแพทย์ภาครัฐและเอกชน(1)

ปีพ.ศ.   2547   ร้อยละ   2551   ร้อยละ
จำนวนแพทย์ทั้งหมด   18,918   100   27,000   100
ราชการทั้งหมด   15,324   81   22,000   81.5
สธ.   9,375   49.5   11,000   40.75
ราชการนอกสธ   5.945   31.5   11,000   40.75
เอกชน   3,594   19   5,000   18.5

จะเห็นได้ว่าในปีพ.ศ. 2551 มีแพทย์ทั้งหมด 30,000 คน เกษียณอายุราชการแล้ว 3,000 คน ทำให้มีแพทย์ที่ทำงานเต็มเวลาเพียง27,000 คน
  จะเห็นได้ว่าในพศ. 2551  มีจำนวนแพทย์เพิ่มขึ้นจากพ.ศ. 2547 ประมาณ 9,000 คน โดยจำนวนแพทย์ในราชการทั้งหมดคิดเป็นอัตราส่วน 81% เท่าเดิม แต่จำนวนแพทย์ที่อยู่ในกระทรวงสาธารณสุขคิดเป็นอัตราส่วนลดลงจาก49.5% เหลือเพียง 40.75%
และถ้าไปดูจำนวนแพทย์ที่บรรจุเข้ากระทรวงสาธารณสุขและลาออก ก็จะพบว่าในปีพ.ศ. 2547- 2550 มีแพทย์บรรจุเข้ากระทรวงสาธารณสุข 4,527     คน แต่มีแพทย์ลาออกจากกระทรวงสาธารณสุขถึง3,027   คน ดังรายละเอียดในตารางข้างล่างนี้ (เป็นข้อมูลจากสำนักงานบริหารบุคคล สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข ณเดือนมิถุนายน 2551)

ตารางจำนวนแพทย์ที่ลาออกจากกระทรวงสาธารณสุข(1)

ปีพ.ศ.   จัดสรรใหม่   ลาออก   ลาออกร้อยละ   คงเหลือ
2547   995   408   41.01   547
2548   1177   485   41.09   692
2549   1148   520   46.16   628
2550   1207   47   3.89   1,160
รวม   4,527   1,460   32.3   3,027
  ถ้าดูจากแนวโน้มนี้ในปีพ.ศ. 2550 จะเห็นว่าจำนวนแพทย์ที่ลาออกจากกระทรวงสาธารณสุขในปีพ.ศ. 2550 นั้นลดน้อยลงมาก ซึ่งอาจจะถือเป็นแนวโน้มที่ดีว่า จะมีจำนวนแพทย์เพิ่มมากขึ้น แต่ก็คงต้องคอยติดตามประเมินผลกันต่อไป
             ถ้ามาดูจำนวนแพทย์ไทยที่เหลือทำงานในกระทรวงสาธารณสุขในปีพ.ศ.2550แล้วจะพบว่ามีจำนวนเพียง 11,415 คน แต่ถ้านับจำนวนผู้บริหารที่เป็นแพทย์แล้วจะพบว่ามีจำนวนประมาณ 1,000 คน และยังมีแพทย์ที่ลาไปศึกษาต่อเป็นแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางในสถาบันฝึกอบรมที่เป็นโรงพยาบาลสังกัดกระทรวงศึกษาธิการ(ส่วนใหญ่) และส่วนน้อยที่มาเรียนต่อในโรงพยาบาลสังกัดกระทรวงสาธารณสุขอีกทั้งสิ้นประมาณ
 2,000 คน ก็จะเหลือแพทย์ที่ทำการตรวจรักษาผู้ป่วยในโรงพยาบาลของกระทรวงสาธารณสุขอยู่ประมาณ 8,000 คนเท่านั้น(1)
      แต่จำนวนประชาชนที่ไปรับบริการตรวจรักษาโรคที่โรงพยาบาลกระทรวงสาธารณสุขนั้นตามรายงานของกระทรวงสาธารณสุขในปีพ.ศ. 2548 พบว่ามีจำนวนผู้ป่วยไปรับการตรวจรักษาในโรงพยาบาลของกระทรวงสาธารณสุขทั้งหมด134,057,237 ตรั้ง มีผู้ป่วยนอนอยู่ในโรงพยาบาล 8,477,543 รายคิดเป็นจำนวน 35,656,391 วัน(2)
    ความหมายจำนวนวันที่ผู้ป่วยนอนในโรงพยาบาลหมายความว่า มีผู้ป่วยที่แพทย์ต้องตรวจรักษาเป็นจำนวนอย่างน้อย 35,656,391 ครั้งหรือมากกว่านั้น เพราะแพทย์ต้องไปดรวจรักษาผู้ป่วยที่นอนในโรงพยาบาลอย่างน้อยวันละ 1 ครั้ง แต่ถ้าเป็นผู้ป่วยหนัก แพทย์ต้องไปตรวจผู้ป่วยวันละหลายๆครั้ง และอาจต้องไปทำการผ่าตัด ทำหัตถการทางการแพทย์เพื่อตรวจและทำการรักษาผู้ป่วยด้วยวิธีต่างๆ เช่นเจาะหนองจากปอด เจาะไขกระดูกเพื่อวินิจฉัยโรค ดึงกระดูก ใส่เฝือก ทำคลอด ผ่าตัดต่างๆ ฯลฯ อีกมากมายหลายครั้งสำหรับผู้ป่วยแต่ละคน
   ฉะนั้นจึงเท่ากับว่า แพทย์ต้องทำการตรวจรักษาผู้ป่วยในโรงพยาบาลของกระทรวงสาธารณสุขถึง 134,057,237 ครั้งรวมกับ 35,656,391 (หรือมากว่านั้นตามที่อธิบายแล้วข้างบน) ประมาณ 170 ล้านครั้งต่อปี
   โดยแพทย์ผู้ทำงานตรวจรักษาผู้ป่วยเหล่านี้มีประมาณ 8,000 คนเท่านั้น
      จึงไม่น่าสงสัยเลยว่า แพทย์ของกระทรวงสาธารณสุขจะต้องทำงานคนละ 120 ชั่วโมงต่อสัปดาห์(3) แต่มีเวลาตรวจผู้ป่วยนอกเพียงคนละ 2-4 นาที (3,4)และผู้ป่วยเสี่ยงต่อความผิดพลาด ได้รับอันตรายต่อชีวิตและสุขภาพ จนมีปัญหาฟ้องร้องแพทย์เพิ่มขึ้นมากมาย  (5)ทั้งคดีแพ่ง คดีอาญา จนถึงกับมีคำพิพากษาให้จำคุกแพทย์ เพราะรักษาผู้ป่วยแล้วไม่รอดชีวิต(6)
  ฉะนั้น เราจึงเห็นว่า แพทย์ลาออกจากกระทรวงสาธารณสุขมากขึ้นทุกปี แม้ว่าในปี 2551 จำนวนแพทย์ลาออกจะน้อยลง แต่จำนวนแพทย์ในกระทรวงสาธารณสุขก็ไม่ได้เพิ่มขึ้นมากนัก แต่จำนวนผู้ป่วยกลับเพิ่มมากขึ้นทุกปี ประชาชนก็เรียกร้องค่าชดเชยทางการแพทย์มากขึ้น(7) และต้องการเห็นแพทย์ถูกลงโทษมากขึ้น
  แต่จะมีใครคิดป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาการฟ้องร้องและความเสียหายของประชาชนจากการไปรับบริการทางการแพทย์บ้างหรือไม่?
 หรือจะแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ คือปล่อยให้แพทย์พำงานแบบเร่งรีบต่อไป เมื่อเกิดความเสียหายกับประชาชนแล้ว ก็ตั้งกองทุนชดเชยผู้เสียหาย และหาทนายมาช่วยหมอแก้คำฟ้องไปวันๆ

  ประชาชนต้องการความปลอดภัยจากการไปโรงพยาบาล
 แพทย์ก็ไม่อยากทำงานแบบเร่งด่วน เพราะเสี่ยงต่อผลเสียหายต่อประชาชน และแพทย์เองก็เสี่ยงต่อการถูกฟ้องร้อง

แต่สถานการณ์ที่มี “ผู้ป่วยล้นโรงพยาบาล” (8)ใครจะช่วยป้องกันปัญหาความเสี่ยงของประชาชนและป้องกันปัญหาความเสี่ยงของแพทย์

  รัฐมนตรีกระทรวงสาธารณสุขหรือนายกรัฐมนตรีจะช่วยคุ้มครองประชาชนให้ปลอดภัยจากการไปโรงพยาบาลกระทรวงสาธารณสุขหรือไม่?

จะทำให้เกิดอานิสงค์ต่อแพทย์ให้ได้มีเวลาทำงานอย่างมีคุณภาพมาตรฐาน และรอดจากการ “ติดคุกเพราะรักษาคน” อีกด้วย

 หมายเหตุ ตีพิมพ์ในวารสารวงการแพทย์ 2553: 12 ( 328) : 26-27

เอกสารอ้างอิง
1.จำนวนแพทย์ไทยจำแนกตามการทำงาน : ข้อมูลจากกลุ่มบริหารงานบุคคล สำนักนโยบายและยุทธศาสตร์ กระทรวงสาธารณสุข มิถุนายน 2551
2.สถิติการตรวจรักษาผู้ป่วยของหน่วยงานกระทรวงสาธารณสุข จากสำนักนโยบายและยุทธศาสตร์ กระทรวงสาธารณสุข
3.พญ.ฉันทนา ผดุงทศและคณะ. ชั่วโมงการทำงานของแพทย์ในโรงพยาบาลสังกัดกระทรวงสาธารณสุข. วารสารวิชาการสาธารณสุข 2550 ;16 (4) : 493-502
4. ศ.ดร.ศุภชัย ยาวะประภาษและคณะ. โครงการกำหนดยุทธศาสตร์กำลังคนภาครัฐ. กลุ่มบุคลากรทางการแพทย์
5. สถิติการฟ้องร้องแพทย์ แพทยสภา
6.นพ.วิสูตร ฟองศิริไพบูลย์ คำพิพากษาให้แพทย์ต้องโทษจำคุก วารสารวงการแพทย์ 2551; 262, 263 :16-20
7.นพ.เอื้อชาติ กาญจนพิทักษ์ . การช่วยเหลือเบื้องต้นตามพ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติพ.ศง 2545 บรรยายในการประชุมใหญ่แพทยสมาคมแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2550
8.พญ.เชิดชู อริยศรีวัฒนา . ผู้ป่วยล้นโรงพยาบาล . วารสารวงการแพทย์ 2551 ; 272 : 28-29