ผู้เขียน หัวข้อ: ยกระดับ รพช. เป็น รพท.ยังไม่ชัด จี้สธ.ทำหนังสือแจ้งทางการ  (อ่าน 1896 ครั้ง)

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9760
    • ดูรายละเอียด
จี้สธ.แจ้ง 20 รพช.เป็นทางการ หลังประกาศยกระดับเป็น รพท. ระบุ รพ.ส่วนใหญ่พร้อม เผยเรื่องนี้ผ่านการพูดคุยและเตรียมการมา 3 ปีแล้ว แต่ที่ยังไม่คืบหน้าเพราะยังไม่ผ่าน อ.ก.พ.สธ. ล่าสุดเมื่อผ่านแล้ว แม้ยังติดตรง ก.พ.ต้องอนุมัติตำแหน่ง ผอ.รพช.จากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ เป็นผู้อำนวยการสูง แต่ก็สามารถเดินหน้าเฉพาะยกระดับ รพ.ก่อนได้ ส่วนเรื่องตำแหน่งค่อยดำเนินการตามมา เหมือนที่ รพ.กระทุ่มแบน และรพ.บึงกาฬ ที่ยกระดับแล้ว แต่ตำแหน่งผอ.ยังเป็นแพทย์เชี่ยวชาญอยู่ ขณะที่ “หมอสุภัทร” ห่วงสธ.ทำ ผอ.รพช.ที่ถูกยกระดับขัดอุดมการณ์ไม่เอา P4P อีกทั้งหลังเป็นรพท.แล้ว ผอ.รพ.จะถูกดูแลโดยปลัดต้องย้ายทุก 4 ปี ไม่ได้อยู่ยาวเหมือนอดีต อาจกระทบความสัมพันธ์กับชุมชนได้

5 ก.พ.57 นพ.พรเจริญ เจียมบุญศรี ผอ.รพ. 50 พรรษา มหาวชิราลงกรณ ในฐานะประธานกลุ่ม 20 โรงพยาบาลชุมชน (รพช.) ที่จะยกระดับเป็นโรงพยาบาลทั่วไป (รพท.) กล่าวถึงความคืบหน้าการยกระดับ 20 รพช. เป็น รพท. กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ว่า เรื่องนี้ได้พูดคุยและเตรียมการตั้งแต่ 3 ปีที่แล้ว แต่จนถึงขณะนี้ยังไม่มีความคืบหน้า สาเหตุจาก 2 ปัจจัย คือ 1.ต้องผ่านการพิจารณาของคณะอนุกรรมการข้าราชการพลเรือน (อ.ก.พ.) สธ. ก่อน ทราบจากสำนักข่าว Health Focus ที่สัมภาษณ์ผู้บริหาร สธ. ว่าขณะนี้ อ.ก.พ.สธ.ได้พิจารณาเรียบร้อยแล้ว และ 2.การปรับตำแหน่ง ผอ.รพช. จากเดิมที่เป็นเพียงระดับแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ เมื่อปรับเป็น รพศ.ต้องปรับเป็นผู้อำนวยการสูง ซึ่งการเพิ่มตำแหน่งนี้ต้องผ่านการพิจารณาจากสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือนก่อน (ก.พ.) ที่ผ่านมาทาง สธ.ได้พยายามผลักดันเต็มที่

ส่วนที่มีการนำเสนอทางสื่อว่า การยกระดับ รพช. เป็น รพท.มีผล 1 ต.ค. นั้น นพ.พรเจริญ กล่าวว่า แม้ว่าตำแหน่งผู้อำนวยการสูงจะยังติดอยู่ที่ ก.พ. แต่ถ้ามองในแง่บริหารเห็นว่า สธ.สามารถยกระดับ รพ. ได้ก่อน และเรื่องตำแหน่งค่อยดำเนินการตาม โดยกระทรวงควรมีหนังสือแจ้งมายัง รพช. 20 แห่งอย่างเป็นทางการก่อน ไม่ใช่การแจ้งให้ทราบผ่านสื่อ โดยขั้นตอนนื้ถือว่าสำคัญ เพราะมีผลต่อวงเงินจัดซื้อจัดจ้างที่อนุมัติโดยผู้ว่าราชการจังหวัด โดย รพช.จำกัดการอนุมัติจัดซื้อเพียง 500,000 บาท แต่เมื่อเป็น รพท.จะขยายได้ถึง 2 ล้านบาท ตามระเบียบพัสดุ ดังนั้นกระทรวงควรมีหนังสือแจ้งมา รพ.อย่างเป็นทางการเพื่อที่ รพ.จะได้เตรียมพร้อมเพื่อขยายศักยภาพเพิ่มเติม

“เมื่อ สธ.มีหนังสือแจ้งการยกระดับมา ทาง รพ.จะนำหนังสือฉบับดังกล่าวไปแจ้งต่อยังผู้ว่าฯ เพื่อที่จะขยายวงเงินจัดซื้อจ้างได้ ซึ่งจะมีผลต่อการพัฒนาเพื่อรองรับการยกระดับ รพ.” ผอ.รพ. 50 พรรษา มหาวชิราลงกรณ กล่าว

ต่อข้อซักถามว่า การยกระดับ รพ. สามารถดำเนินการก่อน ไม่ต้องรอการอนุมัติตำแหน่งผู้อำนวยการระดับสูงใช่หรือไม่ นพ.พรเจริญ กล่าวว่า การยกระดับ รพ.ควรอนุมัติควบคู่กับการอนุมัติตำแหน่งผู้อำนวยการะดับสูง แต่เนื่องจากการยกระดับ รพ. อยู่ในอำนาจของ สธ. จึงดำเนินการได้ไม่ยาก แต่เรื่องตำแหน่งนั้นขึ้นอยู่กับ ก.พ.ที่ต้องดูความเหมาะสม ซึ่งที่ผ่านมายังไม่มี รพ.ใดปรับตำแหน่ง ผอ.ระดับเชี่ยวชาญเป็น ผอ.อำนวยการสูงได้ แม้แต่ รพ.ที่มีการยกระดับก่อนหน้านี้ อย่าง รพ.กระทุ่มแบน และ รพ.บึงกาฬ ที่ปรับเป็น รพท.เต็มรูปแบบ ผอ.ก็ยังเป็นระดับเชี่ยวชาญอยู่ อย่างไรก็ตามหากครั้งนี้สามารถอนุมัติตำแหน่งผู้อำนวยการระดับสูงเรียกร้อย หากมีการยกระดับ รพ.อีก การขอตำแหน่งก็จะเป็นเรื่องง่าย

ผู้สื่อข่าวถามว่า แสดงว่าในส่วนเบี้ยเลี้ยงเหมาจ่ายยังคงเดิม นพ.พรเจริญกล่าวว่า ในส่วนของค่าตอบแทนนั้นผูกผันกับฐานะ รพ. หากมีการยกระดับเป็น รพท. ก็ต้องดำเนินการหลักเกณฑ์ค่าตอบแทน รพท. อย่างไรก็ตามเชื่อว่าในอีก 6 เดือนทุกอย่างจะเรียบร้อย

นพ.พรเจริญ กล่าวว่า สำหรับ รพ. 50 พรรษา มหาวชิราลงกรณ เป็น รพ.ระดับ M1 รองรับผู้ป่วยจาก รพ.สรรพสิทธิประสงค์ ทั้งนี้มีความพร้อมในการยกระดับ ซึ่งที่ผ่านมาได้ชี้แจงทำความเข้าใจกับเจ้าหน้าที่ว่าค่าตอบแทนที่เคยได้รับอาจลดลง แต่ทาง สธ.พยายามให้คงค่าตอบแทนเท่าเดิม ซึ่งการจ่ายค่าตอบแทนขึ้นอยู่กับหลักเกณฑ์และเงินบำรุง ดังนั้นไม่ใช่เรื่องยาก เพียงแต่ รพ.คงต้องดูว่าเงินในกระเป๋ามีเท่าไหร่

ด้าน นพ.นำพล แดนพิพัฒน์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลบางพลี จ.สมุทรปราการ กล่าวว่า รพ.บางพลี เป็นหนึ่งในโรงพยาบาลชุมชน (รพช.) 20 แห่ง ที่อยู่ในแผนกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เป็น รพ.M1 ที่เตรียมจะยกระดับเป็นโรงพยาบาลทั่วไป (รพท.) ซึ่ง รพ.บางพลีได้เตรียมความพร้อมมา 3 ปีแล้ว ทั้งในด้านครุภัณฑ์ บุคลากรเจ้าหน้าที่ โดยที่มาของการยกระดับ รพ.นี้ มาจากจำนวนผู้ป่วยที่เข้ารับบริการรักษาเพิ่มมากขึ้น ปัจจุบันมีผู้ป่วยนอกที่เข้ารับบริการ 2 แสนคนต่อปี ทำให้ รพ.ต้องขยายบริการ จากเดิม 60 เตียง เป็น 150 เตียง รวมทั้งมีการจ้างพยาบาลจาก รพ.เอกชนเพิ่มเติม ทั้งนี้ความคืบหน้าในการยกระดับเป็น รพท.นั้น อยู่ระหว่างรอความชัดเจนจาก สธ. ที่ผ่านมาเพียงแต่รับทราบจากสื่อว่า จะให้การยกระดับเป็น รพท. มีผลในวันที่ 1 ตุลาคม ที่ผ่านมา แต่จนถึงขณะนี้ยังไม่ได้รับความชัดเจนอย่างเป็นทางการ

ทั้งนี้การยกระดับเป็น รพท.ยอมรับว่าเป็นเรื่องที่ดี เพราะประชาชนจะได้ประโยชน์ รวมไปถึงเจ้าหน้าที่ เพราะจะทำให้มีการขยายกรอบอัตรากำลังและความก้าวหน้ามากขึ้น อย่างเช่น ตำแหน่งหัวหน้าพยาบาลระดับซี 8 ซึ่งกรณีเป็น รพช.จะมีเพียงตำแหน่งเดียว แต่หากเป็น รพท.จะมีจำนวนเพิ่มขึ้น รวมทั้งในด้านงบลงทุนที่อาจได้เพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตามขณะนี้ยังมีความสับสนคำสั่งดังกล่าว รวมไปถึงในเรื่องค่าตอบแทนและตำแหน่งผู้อำนวยการ รพช.ที่ต้องปรับเปลี่ยนเป็นผู้อำนายการสูงภายหลังจากเป็น รพท.

“สธ.ควรทำเรื่องนี้ให้ชัดเจนและเป็นทางการ ไม่ใช่ทราบจากสื่อ ตอนนี้ ผอ.รพช.ที่อยู่ในแผนยกระดับ รพท. ทราบแล้วหรือไม่ว่า สธ.ได้ให้มีผลยกระดับเป็น รพท.ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม ที่ผ่านมา นอกจากนี้ควรชัดเจนทั้งในเรื่องค่าตอบแทนที่ถูกปรับเปลี่ยนรวมไปถึงตำแหน่งผู้อำนวยการสูง โดยปลัด สธ.ควรเรียกประชุม ผอ.รพ.ทั้ง 20 แห่ง เพื่อชี้แจงแนวทางที่ชัดเจน” ผอ.รพ.บางพลี กล่าวและว่า นอกจากนี้ สธ.ควรเร่งรัดการขอตำแหน่งผู้อำนวยการสูง 20 ตำแหน่ง ให้กับ รพท.ที่ยกระดับ และอีก 2 ตำแหน่งให้กับ รพ.กระทุ่มแบน และ รพ.บึงกาฬ ที่ยกระดับเป็น รพท.ไปก่อนหน้านี้แล้ว แต่ ผอ.ยังคงตำแหน่งนายแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ

ขณะที่ นพ.สุภัทร ฮาสุวรรณกิจ ผอ.รพ.จะนะ จ.สงขลา ฐานะแกนนำชมรมแพทย์ชนบท แสดงความเห็นว่า 20 รพช.ที่กระทรวงเตรียมจะยกระดับล้วนแต่เป็น รพ.ขนาดใหญ่ ประชากรมาก งานบริการมาก ที่ส่วนใหญ่พัฒนาด้วยตัวเอง จนสามารถขยายบริการมีแพทย์เฉพาะทางครบทุกสาขา โดยใช้เงินบำรุง รพ.ที่เป็นเงินบริจาคของชาวบ้าน ดังนั้นเมื่อกระทรวงยกระดับ จึงเหมือนกับเป็นการเปลี่ยนชื่อจาก รพช. เป็น รพท. เท่านั้น แต่อาจจะได้รับงบประมาณและเงินลงทุนเพิ่มบ้าง

นพ.สุภัทร กล่าวว่า ในการยกระดับ รพ. เชื่อว่าประเด็นที่ทำให้ต่างกังวลคือ หลังเป็น รพท.แล้ว ผอ.รพช.จะถูกดูแลโดยปลัด สธ. ที่ต้องมีการปรับเปลี่ยนโยกย้ายตำแหน่งทุก 4 ปี นั่นหมายความว่า ต่อจากนี้ ผอ.รพช.ที่ยกระดับเป็น รพท.จะไม่ได้ประจำอยู่ใน รพ.ยาวเหมือนกับในอดีต ซึ่งจะกระทบต่องาน รพ.และความสัมพันธ์ชาวบ้านในพื้นที่ได้ ด้วยเหตุนี้อาจทำให้ไม่อยากถูกยกระดับเป็น รพท. นอกจากนี้ยังมีประเด็นในเรื่องค่าตอบแทนที่ต้องถูกปรับหลักเกณฑ์เป็นการจ่ายตามภาระงาน (P4P) แทน ซึ่งขัดกับอุดมการณ์ของ รพช.ที่ต่อสู้ไม่เอา P4P มาโดยตลอด


Sun, 2014-10-05 15:53 -- hfocus

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9760
    • ดูรายละเอียด
สธ.ยกระดับ รพช. เป็น รพท. 1 ต.ค.นี้ ยกเลิกเบี้ยเลี้ยงเหมาจ่าย-ทุรกันดาร ปรับจ่ายตาม P4P หมอวชิระ ยัน ค่าตอบแทนหลังปรับสถานะไม่ต่ำกว่าเดิมแน่นอน ระบุเบื้องต้น ผอ.รพช.ทั้ง 20 แห่ง นั่งรักษาการ ผอ.รพท. ก่อน  ยังไม่โยกย้าย ย้ำ ประชาชนได้ประโยชน์  ไม่ต้องไปรักษา รพ.นอกพื้นที่ มีแพทย์เชี่ยวชาญประจำรพ. ขณะที่บุคลากรก็มีความก้าวหน้ามากขึ้นตามระดับสายงาน ด้าน “หมอภูษิต” เผยเหตุที่ต้องยกระดับเพราะสภาพเศรษฐกิจในพื้นที่เติบโตขึ้น มีการพัฒนารพ.จนสามารถให้บริการประชาชนได้มากขึ้น จึงต้องปรับ และเพิ่มความก้าวหน้าให้บุคลากร รับอาจมีปัญหากับตำแหน่งผอ.รพ.ที่อำนาจโยกย้ายอยู่ที่ปลัด

30 ก.ย.57 ข่าวการยกระดับโรงพยาบาลชุมชน (รพช.) เป็นโรงพยาบาลทั่วไป (รพท.) 20 แห่ง ของกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งจะมีผลตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม นี้ นับเป็นข่าวดีสำหรับประชาชนในฐานะผู้ได้รับประโยชน์โดยตรง เพราะเป็นการขยายศักยภาพโรงพยาบาลในพื้นที่ ช่วยให้ประชาชนเข้าถึงการรักษายิ่งขึ้น โดยเฉพาะกรณีที่ป่วยด้วยโรคซับซ้อน ไม่ต้องเดินทางไปยังโรงพยาบาลทั่วไปที่อยู่ข้ามจังหวัดเพื่อรับการรักษา

แต่ขณะเดียวกันยังมีข้อกังวลจากบุคลากรทางการแพทย์ ทั้งแพทย์ พยาบาล ตลอดจนเจ้าหน้าที่ ทั้งในเรื่องค่าตอบแทน และตำแหน่งหน้าที่ ซึ่งจะมีการปรับเปลี่ยนไปใช้หลักเกณฑ์ของโรงพยาบาลทั่วไป ที่อาจเป็นเหตุให้ทั้งค่าตอบแทนและตำแหน่งถูกปรับเปลี่ยนไป   

นพ.วชิระ เพ็งจันทร์ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า การยกระดับ รพช.ทั้ง 20 แห่ง เป็น รพท. นั้น หลังจากวันที่ 1 ตุลาคม นี้ จะมีการเปลี่ยนแปลง คือ 1.สถานะ รพช.ทั้ง 20 แห่งจะเปลี่ยนไป จากเดิมที่ทำหน้าที่รักษาพยาบาลในระดับปฐมภูมิและทุติยภูมิที่ไม่ยุ่งยากมากนัก จะขยับไปรักษาระดับทุติยภูมิถึงตติยภูมิ ที่มีความซับซ้อนในการรักษามากขึ้น โดยจะต้องมีแพทย์เชี่ยวชาญในหลากหลายสาขาประจำอยู่ รวมถึงจำนวนสหวิชาชีพซึ่งในอนาคตจะเพิ่มจำนวนมากขึ้น

 2.การปรับเปลี่ยนโครงสร้างการทำงาน ซึ่งเดิมใน รพช. ตำแหน่ง ผอ.จะสูงสุดเพียงแค่ระดับ นายแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเท่านั้น เช่นเดียวกับหัวหน้ากลุ่มพยาบาลจะสูงสุดเพียงแต่ระดับผู้เชี่ยวชาญเช่นกัน แต่หลังปรับเป็น รพท. ตำแหน่งตามสายงานจะมีความก้าวหน้ามากขึ้น และ 3.ทรัพยากรที่จะเพิ่มเติม ทั้งในด้านงบประมาณและบุคลากรที่ต้องเพิ่มขึ้น ทั้งนี้เพื่อพัฒนาศักยภาพในรองรับการรักษาในระดับ รพท.ได้

นพ.วชิระ กล่าวว่า ในการยกระดับ รพช.ทั้ง 20 แห่งนี้ ได้ผ่านการพิจารณา อกพ.สธ.เรียบร้อยแล้ว โดยใช้เวลาในการเตรียมการต่อเนื่องมา 5 ปี โดยเกณฑ์การพิจารณาจะดูจากฐานประชากรในพื้นที่ จำนวนผู้ป่วยนอกและผู้ป่วยใน สภาพแวดล้อมของโรงพยาบาล และที่สำคัญคือศักยภาพของตัวโรงพยาบาลเองที่ต้องมีแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ 5 สาขาหลักประจำอยู่ และอาจมีสาขาย่อยอื่นๆ ประกอบ รวมถึงความสามารถในการผ่าตัด

“การคัดเลือก รพช.เพื่อยกระดับเป็น รพท.นั้น ส่วนใหญ่เกิดจากความพร้อมของ รพ.และนำเสนอเข้ามาเอง เนื่องจากการเป็น รพท.จะทำให้มีการเพิ่มศักยภาพในการรักษาพยาบาลมากขึ้น มีการขยายกรอบอัตรากำลัง และงบประมาณจาก สธ.ลงไป เพิ่มเติมห้องผ่าตัดและเครื่องมือแพทย์ ซึ่งจะเป็นประโยชน์กับ รพ. และประชาชนเอง แต่มีบางแห่งที่เป็นการยกระดับโดย สธ.เอง อย่างที่ รพ.มาบตาพุด เนื่องจากเป็นที่พื้นที่เขตอุตสาหกรรรม มีประชากรจำนวนมาก จำเป็นต้องมีโรงพยาบาลที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านประจำอยู่ หรือที่ รพ. เทพารักษ์ จ.นครราชสีมา ที่ต้องยกระดับเพื่อแบ่งเบาภาระการดูแลผู้ป่วยจาก รพ.มหาราชนครราชสีมาที่แน่นขนัด จนเป็นปัญหาการเข้าถึงการรักษาของประชาชน” รองปลัด สธ. กล่าว

ส่วนที่มีแพทย์และบุคลากร รพ. บางส่วนเป็นห่วงเรื่องค่าตอบแทนที่อาจลดลง หลังปรับเป็น รพท. เพราะจะทำให้ไม่ได้รับเบี้ยทุรกันดาร เบี้ยเลี้ยงเหมาจ่ายนั้น นพ.วชิระ กล่าวว่า เป็นข้อกังวลที่ สธ.เองรับทราบ และการันตีว่าค่าตอบแทนภายหลังยกระดับเป็น รพท.จะไม่ต่ำกว่าเดิมแน่นอน เพียงแต่อาจต้องใช้เวลา รวมไปถึงการจ่ายอาจต้องมีการปรับเปลี่ยนไปตามวิธี ตามสถานะของ รพ. อีกทั้งบุคลากรใน รพ.เหล่านี้มีงานที่มากอยู่แล้ว เมื่อคำนวณตามภาระงานเชื่อว่าค่าตอบแทนที่จะได้รับนั้นไม่ต่ำกว่าเดิมแน่นอน และบางวิชาชีพอาจได้มากกว่าเดิม

“ช่วงเปลี่ยนผ่าน สธ.คงไม่ได้ตัดโดยทันที มีกระบวนการที่ค่อยๆ ปรับเปลี่ยนไป โดย สธ.ไม่มีแนวคิดที่จะไปลดค่าตอบแทนใคร และที่ผ่านมาได้มีการตั้งคณะทำงานเพื่อลงทำรายละเอียดในช่วงเปลี่ยนผ่านแบบค่อยเป็นค่อยไป” รองปลัด สธ. กล่าว และว่า สำหรับตำแหน่ง ผอ.รพท.นั้น นพ.วชิระ กล่าวว่า  ตำแหน่ง ผอ.ยังคงเป็น ผอ.รพช.คนเดิม เพียงแต่อยู่ในตำแหน่งรักษาการไปก่อน แต่พอเป็น รพท.เต็มรูปแบบ ต้องใช้หลักเกณฑ์เดียวกับ รพท. โดยต้องมีการโยกย้าย  แต่เรื่องนี้คงต้องใช้เวลา เนื่องจากอยู่ระหว่างการปรับขยายเพิ่มตำแหน่ง

นพ.วชิระ กล่าวว่า การยกระดับ รพช. เป็น รพท.ของ สธ.ไม่ใช่เรื่องใหม่ ในอดีตมีการดำเนินการมาต่อเนื่อง เพียงแต่ได้มีการเว้นวรรคไปช่วงหนึ่ง โดยล่าสุดได้มีการยกระดับ รพ.บึงกาฬ เป็นโรงพยาบาลจังหวัด เนื่องจากได้มีการแยก อ.บึงกาฬ ออกจาก จ.หนองคาย เพื่อตั้งเป็นจังหวัดใหม่ และการยกระดับ รพ.กระทุ่มแบน เนื่องจากจำนวนผู้รับบริการที่มีจำนวนมาก แต่ทั้ง 2 แห่ง การขยับตำแหน่งในส่วนของ ผอ.ยังไม่เรียบร้อย ทั้งนี้การยกระดับ รพช. 20 แห่งนั้น เป็นจำนวนไม่มากเมื่อเปรียบเทียบกับ รพช.ที่มีจำนวนกว่า 800 แห่ง อีกทั้งทิศทางการพัฒนาของทาง สธ.อยู่แล้ว ในการเพิ่มศักยภาพการรักษาพยาบาลให้กับหน่วยบริการในสังกัด เพื่อให้ประชาชนเข้าถึงการรักษาเพิ่มมากขึ้น

ด้าน นพ.ภูษิต ประคองสาย ผอ.สำนักงานพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศ (IHPP) กล่าวว่า กรณีการยกระดับ รพช. เป็น รพท.นั้น เนื่องจากพบว่า มี รพช.ในบางอำเภอ โดยเฉพาะพื้นที่ซึ่งมีสภาพเศรษฐกิจดี มีจำนวนประชากรมาก ได้เกิดการพัฒนา รพ.ให้มีขนาดใหญ่ขึ้น จำนวนเตียงเพิ่มมากขึ้น มีแพทย์เฉพาะทางมากขึ้น รวมถึงศักยภาพในการรักษาจนสามารถรองรับการดูแลประชากรในพื้นที่ได้แม้แต่โรคซับซ้อน ด้วยเหตุนี้ทาง สธ.จึงสนับสนุนด้วยการยกระดับให้เป็น รพท. ที่ไม่เพียงแต่จะจัดทรัพยากรสนับสนุนลงไปเพิ่มขึ้น แต่ยังขยายอัตราตำแหน่งและความก้าวหน้าให้กับบุคลากรใน รพ.เพิ่มมากขึ้น อาทิ ตำแหน่งแพทย์เฉพาะทาง นับเป็นสิ่งที่เป็นประโยชน์ในแง่การพัฒนาศักยภาพ   

นพ.ภูษิต กล่าวว่า แม้ว่าภาพรวมของการยกระดับ รพช.เป็น รพท. จะเป็นผลบวกในภาพรวม ทั้งในแง่การพัฒนาศักยภาพ รพ. รวมถึงการรักษาประชาชน แต่ก็มีปัญหาเช่นกัน เนื่องจากหลักเกณฑ์การจ่ายค่าตอบแทนของ รพช. และ รพท.ที่แตกต่างกัน  โดย รพช.เป็นรูปแบบเบี้ยเลี้ยงเหมาจ่าย เมื่อต้องจ่ายตามหลักเกณฑ์ รพท. อาจทำให้ได้ค่าตอบแทนที่ไม่เท่ากัน จึงอาจเป็นปัญหา  เช่นเดียวกับตำแหน่ง ผอ. ซึ่งในกรณีที่เป็น ผอ.รพช. จะสามารถดำรงตำแหน่งเป็น ผอ.รพช.ไปอย่างต่อเนื่องได้ แต่หากปรับเป็น ผอ.รพท.แล้ว จะต้องมีการหมุนเวียนตำแหน่ง มีการโยกย้ายที่ขึ้นอยู่กับปลัด สธ. ด้วยเหตุนี้อาจทำให้ รพช.บางแห่งไม่อยากที่จะยกระดับเป็น รพท. ได้

“เชื่อว่าทาง สธ.คงต้องหาทางออกในเรื่องปัญหาค่าตอบแทนและตำแหน่งข้างต้นนี้ เพื่อกันความขัดแย้งที่อาจเกิดขึ้น ทั้งนี้การยกระดับ รพช.เป็น รพท.นับเป็นประโยชน์ทั้งกับ รพ.และประชาชนในพื้นที่ เพราะเป็นการพัฒนาศักยภาพการรักษาพยาบาลที่ช่วยให้ประชาชนเข้าถึงการรักษา”  นพ.ภูษิต กล่าว   

ทั้งนี้รายชื่อ รพช.ที่ยกระดับเป็น รพท. 20 แห่ง ได้แก่
1.รพ.จอมทอง จ.เชียงใหม่
2.รพ.ฝาง จ.เชียงใหม่
3.รพ.บางละมุง จ.ชลบุรี
4.รพ.บางพลี จ.สมุทรปราการ
5.รพ.กบินทร์บุรี จ.ปราจีนบุรี
6.รพ.แกลง จ.ระยอง
7.รพ.ชุมแพ จ.ขอนแก่น
8.โรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราช (รพร.) สว่างแดนดิน จ.สกลนคร
9.รพ.กุมภวาปี จ.อุดรธานี
10.รพ.นางรอง จ.บุรีรัมย์
11.รพ.ปากช่องนานา จ.นครราชสีมา
12.รพ.เทพรัตน์ นครราชสีมา จ.นครราชสีมา
13.รพ.ปราสาท จ.สุรินทร์
14.รพ.วารินชำราบ จ.อุบลราชธานี
15.รพ.เดชอุดม จ.อุบลราชธานี
16.รพ.50 พรรษามหาวชิราลงกรณ์ จ.อุบลราชธานี
17.รพ.ทุ่งสง จ.นครศรีธรรมราช
18.รพ.สิชล จ.นครศรีธรรมราช
19.รพ.อรัญประเทศ จ.สระแก้ว และ
20.รพ.มาบตาพุด จ.ระยอง


Tue, 2014-09-30 18:27 -- hfocus

Mynameiskks

  • Newbie
  • *
  • กระทู้: 2
    • ดูรายละเอียด
    • gclub
เป็นข้อมูลที่ดีเยี่ยมเลยครับชอบ มาก ๆ เลยครับ