ผู้เขียน หัวข้อ: ตามรอยจาริกพระบรมศาสดา-สารคดี-เนชั่นแนลจีโอกราฟฟิก  (อ่าน 906 ครั้ง)

pani

  • Hero Member
  • *****
  • กระทู้: 756
    • ดูรายละเอียด

ภาพ : ตามรอยจาริกพระบรมศาสดา
ภาพโดย : ทรงวุฒิ อินทร์เอม
คำบรรยายภาพ : พระสงฆ์ในพุทธศาสนาต่างนิกายล้อมวงนั่งสมาธิรอบต้นโพธิ์ริมสระสรงสนาน ณ ลุมพินีวัน สถานที่ประสูติของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ซึ่งตั้งอยู่ระหว่างกรุงกบิลพัสดุ์และเมืองเทวทหะ ลุมพินีวันเป็นหนึ่งในสี่สังเวชนียสถาน ปัจจุบันอยู่ในเขตประเทศเนปาล

ย้อนรอยเส้นทางชีวิตจากเจ้าชายแห่งแว่นแคว้นเล็กๆ สู่สมณะผู้ละทางโลกและเคลื่อนกงล้อแห่งธรรม

ผผมกำลังเดินเท้าผ่านด่านพรมแดนโสเนาว์รี ปราการด่านสุดท้ายในรัฐอุตตรประเทศของอินเดีย ก่อนเข้าสู่เขตประเทศเนปาล พร้อมนักท่องเที่ยววัยแสวงหาอีกหลายสิบชีวิต พวกเขาล้วนมีจุดหมายปลายทางอยู่ที่สาครมาทา “หน้าผากแห่งท้องฟ้า” หรือชื่อในภาษาท้องถิ่นของเอเวอเรสต์  ยอดเขาสูงที่สุดในโลก  ทว่าเส้นทางของผมนั้นต่างออกไป เพราะการมาเยือนเนปาลครั้งนี้ คือการตามรอยจาริกของมหาบุรุษผู้หนึ่ง ซึ่งอุทิศชีวิตแสวงหาความจริงอันยิ่งใหญ่ ทว่าธรรมดาสามัญอย่างยิ่ง  จนค้นพบสัจจธรรมที่เรียกว่า “ธรรมะ” อันนำไปสู่การพ้นทุกข์  มหาบุรุษผู้นั้นคือพระศาสดาพุทธโคดม หรืออดีตเจ้าชายสิทธัตถะ

จากพรมแดนเนปาล  ผมโดยสารรถประจำทางท้องถิ่นไปยังตลาดเมืองเตาลิฮาวา เพื่อต่อรถไปยังเมืองติเลาราโกฏ  [เมืองโบราณติเลาราโกฏ (Tilaurakot) ในปัจจุบัน อยู่ห่างจากกรุงกาฐมาณฑุ เมืองหลวงของเนปาลประมาณ 300 กิโลเมตร] เป็นที่ตั้งของนครกบิลพัสดุ์ เมืองหลวงแห่งแคว้นสักกะ แคว้นอิสระที่ปกครองตนเองโดยศากยวงศ์ สถานที่ประสูติของเจ้าชายสิทธัตถะและประทับอยู่จนกระทั่งพระชนมายุ 29 พรรษา

แม้ปัจจุบัน กรุงกบิลพัสดุ์จะเหลือเพียงกองซากอิฐ แต่ความพยายามฟื้นฟูสถานที่สำคัญทางประวัติศาสตร์แห่งนี้ดำเนินการมายาวนานแล้ว  ย้อนหลังไปเมื่อปี พ.ศ. 2439  ดร.เอ.เอ. ฟือห์เรอร์  นักโบราณคดีชาวเยอรมัน และคัคก้า ซัมเชอร์ จุง บาฮาดูร์ ราณา นักโบราณคดีชาวอินเดีย ได้รับการว่าจ้างจากรัฐบาลอังกฤษให้เข้ามาฟื้นฟูอุทยานลุมพินี สถานที่ประสูติของเจ้าชายสิทธัตถะ อจิตมัน ตามัง สมาชิกและเลขานุการของกองทุนพัฒนาลุมพินี (Lumbini Development Trust) บอกว่า "เจ้าชายประสูติที่นี่ครับ ผมคิดว่าถ้ารวมหลักฐานต่างๆ ที่ค้นพบมากมายที่นี่ รวมทั้งสถานที่ที่เกี่ยวข้องอื่นๆ  น่าจะมากและหนักแน่นพอที่จะยืนยันได้ว่า เจ้าชายสิทธัตถะมีตัวตนจริงในประวัติศาสตร์ครับ”         

อุทยานลุมพินีเป็นหนึ่งในสี่สังเวชนียสถานในพุทธศาสนา  อยู่ห่างจากนครกบิลพัสดุ์ไปทางตะวันออกประมาณ 25 กิโลเมตร  ปัจจุบันตั้งอยู่ในเขตประเทศเนปาล หลักฐานสำคัญที่ไม่อาจมองข้ามคือจารึกข้อความอักษรพราหมี (นักวิชาการบางคนแย้งว่า เป็นภาษามคธ) บนเสาอโศก เสาหินทรายขนาดใหญ่ซึ่งสร้างขึ้นตั้งแต่พุทธศตวรรษที่สาม ถอดความได้ว่า “...สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวปริยทรรศี [พระนามของพระเจ้าอโศกมาหราช] ผู้เป็นที่รักแห่งทวยเทพ เมื่ออภิเษกแล้วได้ 20ปี ได้เสด็จมาด้วยพระองค์เอง  ด้วยว่าพระพุทธศากยมุนีได้ประสูติ ณ ที่นี้ โปรดให้สร้างรูปสลักหิน [บางท่านแปลว่ารั้วหิน] และประดิษฐานหลักศิลาไว้เป็นที่หมาย  โดยที่พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ประสูติ ณ สถานที่นี้ จึงโปรดให้ยกเว้นภาษีแก่หมู่บ้านลุมพินี และทรงให้เสียแต่เพียงหนึ่งในแปดของผลผลิต เป็นค่าภาษีที่ดิน...”  [ถอดเป็นภาษาไทยโดยเจ้าคุณราชธรรมมุนี)

ข้อความในจารึกและลักษณะทางภูมิศาสตร์สนับสนุนความเป็นไปได้ที่ว่า เจ้าชายสิทธัตถะน่าจะประสูติในสวนป่าลุมพินีแห่งนี้ เนื่องจากที่ตั้งของสวนป่าอยู่ระหว่างกรุงกบิลพัสดุ์และกรุงเทวทหะ บ้านเกิดของพระนางมายาเทวีพระมเหสีของพระเจ้าสุทโธทนะ ผู้ครองกรุงกบิลพัสดุ์ และพระมารดาของเจ้าชายสิทธัตถะ เมื่อใกล้ถึงเวลามีพระประสูติกาล พระนางน่าจะมีพระประสงค์เสด็จกลับสู่เมืองเทวทหะ เพื่อให้กำเนิดราชบุตรตามธรรมเนียมพราหมณ์แต่อาจมีเหตุสุดวิสัยบางประการที่ทำให้พระนางมีพระประสูติกาลราชบุตรในสวนป่าแห่งนี้     

ในยุคสมัยที่เจ้าชายสิทธัตถะประสูตินั้น ศาสนาพราหมณ์แผ่อิทธิพลไปทั่วชมพูทวีป ระบบวรรณะใช้ปกครองสังคมของชาวอารยันมาช้านาน หลังประสูติได้ 5 วัน  คณะพราหมณ์จำนวนหนึ่งได้ขอเข้าเฝ้าพระเจ้าสุทโธทนะเพื่อตรวจดวงชะตาและลักษณะของราชกุมาร คำพยากรณ์ต่างเห็นพ้องต้องกันในสองทางคือ “หากเจ้าชายครองฆราวาสก็จักได้เป็นจักรพรรดิผู้ยิ่งใหญ่ แต่หากครองเพศบรรพชิตก็จักได้เป็นศาสดาเอกของโลก” [น่าสนใจที่คำพยากรณ์เป็นไปในลักษณะเดียวกันกับพระมหาวีระ ศาสดาแห่งศาสนาเชน  ซึ่งมีพระชนม์ชีพอยู่ในยุคสมัยเดียวกัน]

 

สู่เพศปริพาชก

การค้นหาคำตอบว่า เพราะเหตุใดเจ้าชายหนุ่มจึงตัดสินพระทัยละทิ้งราชสมบัติ  แล้วเสด็จออกไปครองเพศปริพาชก เป็นประเด็นที่น่าสนใจมาก เมื่อศึกษาประวัติศาสตร์และสังคมชมพูทวีในอดีต เราจะพบว่ายุคสมัยของเจ้าชายสิทธัตถะอยู่ในช่วงเปลี่ยนผ่านจากยุคสำริดเข้าสู่ยุคเหล็ก (1,200 – 200 ปีก่อนคริสตกาล) ประชากรเพิ่มขึ้นรวดเร็ว ความยากจนข้นแค้น ผู้คนเกิด แก่ เจ็บ ตาย มีให้เห็นเป็นปกติ น่าจะมีความเหลื่อมล้ำระหว่างชนชั้นอย่างเห็นได้ชัด ตลอดจนความเบื่อหน่ายในการครองเรือนและเต็มอิ่มในโลกียะที่พระองค์ทรงได้รับการปรนเปรอมาตั้งแต่ครั้งยังทรงพระเยาว์

นอกจากนี้ในทางการเมือง ดร.อัมเพทการ์ รัฐบุรุษ “จัณฑาล” ของชาวอินเดียได้วิเคราะห์สาเหตุการออกผนวชของเจ้าชายสิทธัตถะไว้ในหนังสือ The Buddha and His Dhamma หรือ “พระพุทธเจ้าและธรรมะของพระองค์” ว่าเกิดจากข้อพิพาทในการใช้น้ำจากแม่น้ำโรหิณี ซึ่งเป็นพรมแดนระหว่างกรุงกบิลพัสดุ์กับกรุงเทวทหะ แม่น้ำสายนี้เกิดแล้งในบางฤดู จนนำไปสู่การแย่งชิงน้ำระหว่างสองนคร ในที่สุดสภากรุงกบิลพัสดุ์ลงมติต้องการประกาศสงคราม ทว่าเจ้าชายสิทธัตถะซึ่งเป็นหนึ่งในผู้ออกเสียงไม่เห็นด้วย

เจ้าชายหนุ่มวัย 29 พรรษาเสด็จออกจากประตูเมืองกบิลพัสดุ์ทางทิศตะวันออก พร้อมด้วยนายฉันนะ ผู้ดูแลม้าทรงและกัณฐกะซึ่งเป็นม้าทรง มุ่งหน้าเป็นระยะทางกว่า 120 กิโลเมตรมาจนถึงริมฝั่งแม่น้ำอโนมา ปัจจุบันแม่น้ำสายนี้อยู่ในประเทศอินเดีย ทางใต้ของเมืองโคราฆปูระ ในรัฐอุตตรประเทศ (ชาวบ้านเรียกว่า “แม่น้ำอามี”) เจ้าชายสิทธัตถะทรงใช้พระขรรค์ปลงพระเกศาจนเหลือประมาณสององคุลี (ประมาณสองนิ้วตามมาตรวัดปัจจุบัน) และเปลี่ยนเครื่องทรงวรรณะกษัตริย์เป็นชุดสมณเพศสีเหลืองหม่น จากนั้นจึงออกจาริกเพียงลำพังมุ่งหน้าสู่แคว้นมคธต่อไป

 

ตรัสรู้และเผยแผ่หลักธรรม

ตลอดหกปีนับตั้งแต่เจ้าชายหนุ่มเสด็จออกจากประตูพระราชวัง พระองค์ทรงตระเวนแสวงหาความรู้ตามสำนักลัทธิต่างๆมากมาย  ทรงกระทำอัตตกิลมถานุโยคหรือทุกรกิริยา ซึ่งถือเป็นการทำร้ายหรือทรมานร่างกายตนเองอย่างรุนแรง ทว่ากลับไม่มีประโยชน์อันใด นักบวชหนุ่มกลับมารับบิณฑบาตรข้าวมธุปายาสจากนางสุชาดาเพื่อฟื้นฟูร่างกาย  แล้วใช้เวลาทบทวนความรู้โดยใช้สมาธิบนพื้นฐานสติปัญญาและร่างกายที่สมบูรณ์แข็งแรงอีกครั้ง จนกระทั่งบรรลุอนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณในที่สุด

ในช่วงเวลาที่คลื่นความร้อนในอินเดียกำลังรุนแรง ผมและผู้ช่วยออกเดินทางจากมหาเจดีย์พุทธคยา สถานที่ ตรัสรู้ของพระพุทธองค์มุ่งหน้าสู่เมืองสารนาถ ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน แคว้นกาสี หรือเมืองพาราณสีในปัจจุบัน ตามรอยเส้นทางที่พระพุทธองค์ทรงแสดงปฐมเทศนาแก่เหล่าปัญจวัคคีย์ทั้งห้าที่เคยร่วมศึกษาแสวงหาความหลุดพ้นมาด้วยกัน

พระพุทธองค์ทรงค้นพบหลักธรรมอันลึกซึ้งว่าด้วยธรรมชาติของชีวิต ทว่าการอธิบายให้ผู้คนในยุคสมัยที่มีความเชื่อหลากหลายเข้าใจได้นั้นย่อมไม่ใช่เรื่องง่าย นักประวัติศาสตร์บางคนวิเคราะห์ว่า การเผยแผ่หลักธรรมใหม่โดยนักบวชวัยเพียง 35 ปี  นับว่าเสี่ยงมาที่จะล้มเหลว เหล่าปัญจวัคคีย์ทั้งห้าซึ่งเพียบพร้อมด้วยคุณวุฒิและวัยวุฒิ เมื่อได้รับฟังและมีดวงตาเห็นธรรมในเวลาไม่นาน จึงเป็นพุทธสาวกกลุ่มสำคัญที่ช่วยกระจายหลักธรรมคำสอนของพระพุทธองค์จนเป็นที่ยอมรับของเหล่ากษัตริย์ พราหมณ์ ตลอดจนเจ้าลัทธิต่างๆ

                ตลอด 45 พรรษาหลังจากตรัสรู้ พระพุทธองค์ทรงจาริกเพื่อเผยแผ่หลักธรรมคำสอนในแคว้นต่างๆ ได้แก่ โกศล มัลละ วัชชี วังสะ มคธ สักกะ พระองค์ทรงอธิบายหลักธรรมที่เที่ยงตรง และเป็นความจริงของธรรมชาติแก่ผู้คนในหลายลัทธิความเชื่อ  โดยมุ่งหมายให้เข้าถึงสัจธรรมของชีวิตอันเท่าเทียมและไม่ได้ถูกกำหนดโดยชนชั้นวรรณะ

 

ดับขันธปรินิพพาน

“เจ้าชายทรงข้ามแม่น้ำตรงนี้ครับ” อจิต กุมาร เด็กหนุ่มผู้เป็นตัวแทนชาวบ้านในหมู่บ้านอันธยะดูกระตือรือร้นเป็นพิเศษเมื่อได้พบกับผม “ประมาณสิบกว่าปีที่แล้ว เคยมีคนของทางการเข้ามาที่นี่ครับ หลังจากนั้นก็ไม่มีใครเข้ามาอีกเลย แม้ผมและคนในหมู่บ้านจะนับถือศาสนาฮินดู แต่ปู่ย่าตายายของเราเคยเล่าเรื่องการข้ามแม่น้ำผามูหรือแม่น้ำกกุธานที ก่อนที่เจ้าชายจะสิ้นพระชนม์ ณ ป่าสาลวันใกล้กรุงกุสินารา เราก็เลยพอทราบเรื่องราวอยู่บ้าง” อจิตบอก

ภารกิจตามรอยจาริกของพระพุทธองค์ของผมใกล้จะถึงจุดสิ้นสุดแล้ว เมื่อผมมาถึงริมฝั่งแม่น้ำกกุธานทีสีเขียวใส มองเห็นท้องน้ำและฝูงปลาแหวกว่าย ผมเดินลัดเลาะไปตามสายน้ำเล็กๆ บางช่วงตื้นเขินจนเด็กเล็กๆ สามารถเดินลุยข้ามได้ ที่นี่อยู่ใกล้กับบ้านของนายจุนทะ ผู้ศรัทธาถวายภัตตาหาร “สูกรมัททวะ” แด่พระพุทธองค์เป็นมื้อสุดท้าย ก่อนจะทรงอาพาธหนักและเสด็จดับขันธปรินิพพาน

ปัจจุบัน หมู่บ้านของนายจุนทะเป็นชุมชนมุสลิมเรียกว่า ปาวานคร อยู่ห่างจากนครกุสินาราราว18 กิโลเมตร ลักษณะคล้ายซากสถูปขนาดใหญ่ และยังไม่มีการขุดค้น อย่างไรก็ตาม ทางการอินเดียกำลังมีแผนบูรณะฟื้นฟูที่นี่อีกครั้งในฐานะสถานที่สำคัญทางประวัติศาสตร์พุทธศาสนา “คงต้องใช้เวลาอีกหลายเดือนครับ กว่าที่นี่จะเสร็จสมบูรณ์เราทำงานควบคู่กับนักโบราณคดีที่ทางการส่งมา พวกเราจะทำให้ดี เพราะผมรู้มีความหมายสำหรับพวกคุณ” นิสรูดิน หัวหน้าฝ่ายบูรณะบอกกับผม

ที่หมู่บ้าน “เจ้าชายสิ้นชีพ” ตามคำนิยามของชาวบ้านท้องถิ่นมาตั้งแต่อดีต  ปัจจุบัน สถานที่แห่งนี้ตั้งอยู่ใน ตำบลกาเซีย จังหวัดกุศินาคาร์ รัฐอุตตรประเทศ แม้เรื่องราวจะผ่านมากว่า 2,500 ปี ทว่าภายในสวนป่าสาลวัลแห่งนี้ซึ่งปัจจุบันแปรสภาพเป็นหมู่บ้านและพุทธสถานนานาชาติ กลับยังคงอบอวลไปด้วยบรรยาเศร้าหมอง นี่คือสถานที่สุดท้ายที่พระพุทธองค์ทรงแสดงปัจฉิมโอวาทแก่เหล่าพุทธสาวก  เป็นสัจจธรรมที่ยังคงดังก้องดั่งคำเตือนของพุทธบิดาที่ประทานแก่พุทธบุตรพุทธิดาทั้งปวงว่า

"สังขารทั้งหลายย่อมมีความเสื่อมสลายไปเป็นธรรมดา เธอทั้งหลายจงยังกิจทั้งปวงอันเป็นประโยชน์ของตนและประโยชน์ของผู้อื่นให้บริบูรณ์ด้วยความไม่ประมาทเถิด”

 เรื่องโดย ทรงวุฒิ อินทร์เอม
สิงหาคม 2558