ผู้เขียน หัวข้อ: กลุ่มหมอ-พยาบาลลูกจ้าง รพ.สงขลานครินทร์ บุกพบ “พงศ์เทพ” วอนบรรจุเป็น ขรก.  (อ่าน 895 ครั้ง)

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9782
    • ดูรายละเอียด
 กลุ่มสหวิชาชีพหมอ-พยาบาล รพ.สงขลานครินทร์ บุกพบ “พงศ์เทพ” วอนหนุนยกฐานะจากลูกจ้าง รพ.สังกัดมหา’ลัย เป็น ขรก.เต็มตัว มีสิทธิ สวัสดิการเหมือนหมอ-พยาบาลสังกัด สธ.ระบุ ปัจจุบันต้องใช้สิทธิประกันสังคม โชว์สถิติ 3 ปี หมอ พยาบาลหนีซบอก รพ.เอกชนกว่า 300 คน พร้อมชี้ รพ.สงขลานครินทร์ เป็น รพ.หลักในพื้นที่ดูแลผู้ป่วยใน 14 จ.ภาคใต้ โดยเฉพาะทหาร-ตร.ที่บาดเจ็บจากเหตุรุนแรง
       
       วันนี้ (3 ธ.ค.) เมื่อเวลา 12.00 น. ตัวแทนกลุ่มสหสาขาวิชาชีพสุขภาพ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลสงขลานครินทร์ นำโดย นายมนูญ หมวดเอียด พยาบาลวิชชาชีพ โรงพยาบาลสงขลานครินทร์ เดินทางมาขอพบนายพงศ์เทพ เทพกาญจนา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เพื่อติดตามความคืบหน้ากรณีที่ตัวแทนแพทย์ พยาบาล เภสัชศาสตร์ ทันตแพทย์ นักกายภาพบำบัด ของโรงพยาบาลสงขลานครินทร์ ได้เคยยื่นหนังสือถึง น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ในการประชุม ครม.สัญจร ที่จังหวัดสุราษฎร์ธานี เมื่อเร็วๆ นี้ เพื่อขอให้บรรจุบุคลากรทางการแพทย์ของโรงพยาบาลสงขลานครินทร์เป็นข้าราชการ
       
       โดย นายมนูญ กล่าวว่า โรงพยาบาลสงขลานครินทร์ เป็นโรงพยาบาลของมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (มอ.) สังกัดกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) จึงถือว่าเป็นโรงเรียนแพทย์ในสังกัด ศธ. ดังนั้น ที่ผ่านมา บุคลากรของโรงพยาบาลสงขลาฯ จึงไม่ได้รับการดูแลจากกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เหมือนแพทย์และพยาบาลทั่วไปของโรงพยาบาลที่สังกัด สธ.โดยเฉพาะเวลาที่ สธ.มีการเพิ่มสิทธิประโยชน์อะไรให้กับบุคลากรในสังกัด พวกเราก็จะไม่ได้รับ ในขณะที่ในส่วนของ ศธ.เองก็มักจะนึกถึงแต่บุคลากรในระดับการศึกษาขั้นพื้นฐานเท่านั้น แต่ลืมนึกถึงกลุ่มบุคลากรลูกจ้างที่อยู่ในโรงเรียนแพทย์ ที่ยังต้องการความดูแลเช่นเดียวกัน ทั้งนี้ การดำเนินการของมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ในปัจจุบันต้องปฏิบัติตามมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในช่วงปี พ.ศ.2541-2544 ที่มีนโยบายให้ลดจำนวนข้าราชการลง เพื่อควบคุมรายจ่ายของรัฐบาล ขณะเดียวกัน รัฐบาลก็พยายามผลักดันมหาวิทยาลัยออกนอกระบบ เพราะฉะนั้นมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ จึงไม่มีการบรรจุบุคลากรทางการแพทย์เป็นข้าราชการตั้งแต่ พ.ศ.2541 แต่จะจ้างในตำแหน่งพนักงานมหาวิทยาลัย หรือลูกจ้างชั่วคราวแทน ซึ่งก็ไม่ต่างกันเพราะได้รับสิทธิแค่ประกันสังคม
       
       นายมนูญ กล่าวต่อว่า อย่างไรก็ตาม ตั้งแต่ พ.ศ.2541 เป็นต้นมา บุคลากรทางการแพทย์ของโรงพยาบาลที่ไม่สามารถบรรจุเป็นข้าราชการได้ก็ทยอยลาออก เพราะรู้สึกขาดขวัญกำลังใจในการทำงาน ในขณะที่การทำงานได้รับเงินเดือนน้อย ดูแลคนจำนวนมาก แต่กลับไม่สามารถใช้สวัสดิการแบบข้าราชการได้ ต้องไปใช้ประกันสังคม แม้แต่แพทย์ระดับรองศาสตราจารย์ (รศ.) ยังใช้สิทธิเบิกค่ายาบางรายการไม่ได้ เพราะถือว่าเป็นลูกจ้างต้องใช้สิทธิประกันสังคมเท่านั้น ดังนั้นบุคลากรทางการแพทย์ของโรงพยาบาล จึงลาออกและหันไปทำงานโรงพยาบาลเอกชนแทน เพราะแม้ว่าจะใช้สิทธิประกันสังคมเท่ากันแต่เงินเดือนสูงกว่า และงานเบากว่า ดังนั้น จึงอยากขอให้ รมว.ศึกษาธิการ ช่วยเร่งแก้ไขเรื่องดังกล่าวมีการเสนอให้แก้ไขมติครม.ที่เกี่ยวข้อง เพื่อเปิดช่องให้โรงพยาบาลสามารถบรรจุข้าราชการได้
       
       “เดิมบุคลากรทางการแพทย์ของโรงพยาบาลมีทั้งหมด 894 คน แต่ในช่วงพ.ศ.2552-2555 มีแพทย์ พยาบาล ขอลาออกประมาณ 300 คน เด็กใหม่ที่เพิ่งจบและบรรจุเป็นพยาบาลส่วนใหญ่อยู่ได้แค่ปีเดียวก็ลาออกไปอยู่โรงพยาบาลเอกชนหมด เพราะเงินเดือนมากกว่า งานสบายกว่าเพราะผู้ป่วยส่วนใหญ่ไม่ใช่ผู้ป่วยหนัก ที่สำคัญโรงพยาบาลสงขลานครินทร์เป็นโรงพยาบาลหลัก สำหรับพื้นที่ 14 จังหวัดภาคใต้ เป็นโรงพยาบาลศูนย์กลางที่รองรับตำรวจ และทหารที่บาดเจ็บและส่งตัวมาแต่พอมีแพทย์และพยาบาลลาออกไปจำนวนมาก ทำให้ต้องลดจำนวนเตียงลงจากเดิม 1,000 เตียง เหลือ 800 เตียง ส่วนตึกใหม่ขนาด 300 เตียงที่สร้างเสร็จแล้วก็ยังไม่สามารถเปิดใช้ได้ ทั้งที่ศูนย์ดังกล่าวจะเป็นศูนย์ที่จะรองรับทหารและตำรวจและทหารที่ได้รับบาดเจ็บ ซึ่งตึกดังกล่าวเป็นนโยบายรัฐบาลในการดูแลผู้ได้รับบาดเจ็บ อย่างเมื่อเหตุการณ์ระเบิดครั้งใหญ่ที่โรงแรมลีการ์เด้น พลาซ่า ที่ จ.สงขลา ทางโรงพยาบาลก็ไม่สามารถรับผู้บาดเจ็บได้ทั้งหมด เพราะขาดแคลนแพทย์และพยาบาล เพราะฉะนั้น ควรจะมีการแก้ปัญหาดังกล่าวมิฉะนั้นจะไม่มีแพทย์ พยาบาลไว้ดูแลทหาร ตำรวจในจังภาคใต้ ” นายมนูญ กล่าว
       
       ด้าน นายพงศ์เทพ กล่าวว่า ตนขอศึกษารายละเอียดต่างๆ ก่อน เพราะเพิ่มทราบเรื่อง แต่ถ้าหากมีช่องทางก็ยินดีจะช่วยเหลือ


ASTVผู้จัดการออนไลน์    3 ธันวาคม 2555