ผู้เขียน หัวข้อ: สธ.เสนองานด้านสุขภาพ 4 ประเด็น คสช.เน้นงานบริการเชิงรุก  (อ่าน 610 ครั้ง)

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9763
    • ดูรายละเอียด
สธ.เสนอ 4 ประเด็นต่อฝ่ายสังคมจิตวิทยา คสช. เดินหน้าระบบบริการสุขภาพเชิงรุก 5 กลุ่มวัย-เขตบริการสุขภาพ-สร้างขวัญกำลังใจเจ้าหน้าที่-แยกตัวออกจาก ก.พ.
       
       วันนี้ (27 พ.ค.) นพ.ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ให้สัมภาษณ์ภายหลังประชุมร่วมกับ พล.ร.อ.ณรงค์ พิพัฒนาศัย ผู้บัญชาการทหารเรือ (ผบ.ทร.) ในฐานะรองหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) และหัวหน้าฝ่ายสังคมจิตวิทยา ประกอบด้วย 7 กระทรวง คือ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กระทรวงวัฒนธรรม กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ และกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ว่า สธ. ได้เสนอยุทธศาสตร์และนโยบายในการดำเนินงาน 4 ประเด็นคือ

1. การจัดระบบบริการสุขภาพ ซึ่ง คสช. ได้ให้ความสำคัญในเรื่องการจัดระบบบริการที่เป็นไปตามความต้องการของประชาชน มีคุณภาพมาตรฐาน ประชาชนเข้าถึงบริการ และต้องทำงานในแบบเชิงรุก ซึ่งสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ของ สธ.อยู่แล้วใน 5 กลุ่มอายุ แบ่งเป็น เด็ก เด็กวัยเรียน สตรี ผู้สูงอายุ และผู้พิการ
       
2. การจัดเขตบริการสุขภาพ เพื่อให้เกิดการจัดสรรและใช้ทรัพยากรร่วมกันของหน่วยบริการภายในเขต นำไปสู่ความเท่าเทียมของการรับบริการสาธารณสุขของประชาชน

3. ขวัญกำลังใจของเจ้าหน้าที่ คือ การบรรจุลูกจ้างชั่วคราวเป็นข้าราชการ ซึ่ง สธ. ยังค้างการบรรจุอีก 2 ปี ซึ่งเดิมทียังติดอยู่ในขั้นตอนการพิจารณาของคณะกรรมการกำหนดเป้าหมายและนโยบายกำลังคนภาครัฐ (คปร.) ซึ่งมีรองนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน แต่จากนี้สามารถดำเนินการได้เลย โดยเสนอตรงให้ฝ่ายสังคมจิตวิทยา คสช.พิจารณา รวมถึงค่าตอบแทนที่เป็นธรรม และ

4. การเตรียมออกนอกสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) ซึ่ง สธ. มีแนวทางศึกษาอยู่แล้ว แต่จะต้องศึกษาประสบการณ์การออกนอก ก.พ. ของหน่วยงานอื่นด้วย
       
       ผู้สื่อข่าวถามว่าในการประชุมฝ่ายสังคมจิตวิทยา ได้มีการหารือเรื่องการปรับทัศนคติของหมู่บ้านเสื้อแดงด้วยหรือไม่ นพ.ณรงค์ กล่าวว่า ก็มีการพูดคุย เป็นเรื่องที่ฝ่ายสังคมจิตวิทยาต้องทำ เนื่องจาก คสช. ได้ให้ทุกกระทรวงมีหน้าที่ทำความเข้าใจในการสร้างความปรองดองของคนในชาติ ไม่ใช่หน้าที่ของกระทรวงใดกระทรวงหนึ่ง ซึ่งทุกกระทรวงได้รับมอบหมายให้ไปหารือร่วมกัน แต่คงต้องรอให้ฝ่ายสังคมจิตวิทยาให้นโยบายก่อน
       
       “ส่วนของ สธ. ได้มีการจัดตั้งทีมประสานงานกับฝ่ายสังคมจิตวิทยาไว้เรียบร้อยแล้ว สำหรับส่วนตัวเห็นว่าควรมีการศึกษาถึงสาเหตุที่มีคณะกรรมการหลายคณะได้ทำการศึกษาไว้แล้ว เช่น สาเหตุของความเหลื่อมล้ำในเรื่องต่างๆ หรือทัศนคติยอมรับการโกงได้ ซึ่งเป็นค่านิยมที่ผิด เป็นต้น” ปลัด สธ. กล่าว

ASTVผู้จัดการออนไลน์    27 พฤษภาคม 2557