ผู้เขียน หัวข้อ: รพ.รร.แพทย์ขอแยกบัญชี'ดีอาร์จี' ระบุต้องรักษาโรคซับซ้อนชี้ทางออกปชช.ร่วมจ่ายถามรัฐบาลกล้าไหม?  (อ่าน 918 ครั้ง)

ABBA

  • Hero Member
  • *****
  • กระทู้: 2105
    • ดูรายละเอียด
สาธารณสุข * "ศิริราช" เสนอแยกคำนวณดีอาร์จี-บัญชียาหลักแห่งชาติของ รร.แพทย์-รพ.ตติยภูมิ เพราะเป็นหน่วยรับส่งต่อ รักษาผู้ป่วยโรคซับซ้อน หวั่นนโยบายคงงบเหมาจ่ายรายหัว 3 ปี ซ้ำเติมปัญหางบประมาณ ทำคุณภาพการรักษาถดถอย ชี้ทางออกควรให้ประชาชนร่วมจ่าย ถามรัฐบาลกล้าหรือเปล่า
ศ.คลินิก นพ.อุดม คชินทร คณบดีคณะแพทย ศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวถึงกรณีที่รัฐบาลมีนโยบายให้คงงบเหมาจ่ายรายหัวระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า (บัตรทอง) ในอัตรา 2,755 บาท เป็นเวลา 3 ปี ตั้งแต่ปี 2555-2557 ว่า เดิม รพ.ศิริราชเราขาดทุนอยู่แล้ว 400-500 ล้านบาทต่อปี ทั้งจากระบบบัตรทองและระบบประกันสังคม และเมื่อคงงบเหมาจ่ายย่อมส่งผลกระทบเพิ่มขึ้นทั้งนี้ ที่ผ่านมารัฐบาลพยายามควบคุมค่าใช้จ่าย รพ.โดยออกมาตรการต่างๆ ซึ่งศิริราชก็พยายามควบคุมตามนโยบาย แต่การควบคุมค่าใช้จ่ายต้องเข้าใจว่า รพ.ตติยภูมิ อย่าง รร.แพทย์ จะใช้เกณฑ์การจ่ายเงินรักษาเดียวกับ รพ.ระดับอื่นไม่ได้เพราะเป็น รพ.เน้นรับส่งต่อผู้ป่วย รักษาโรคซับซ้อน ค่ารักษาย่อมสูงกว่า ทั้งเครื่องมือแพทย์ ค่ายา และบุคลากร จึงไม่ควรจ่ายค่ารักษาจากฐานการคำนวณค่าใช้จ่ายเหมือนกัน

"การทำคลอดที่ รพ.ชุมชนใช้หมอ 1 คน พยาบาล 1 คน แต่มาตรฐาน รร.แพทย์มีสูตินรีแพทย์ กุมารแพทย์ วิสัญญีแพทย์ และพยาบาลที่ดูแล 2-3 คน ที่เป็นมาตรฐานระดับสากล แค่ค่าใช้จ่ายด้านบุคลากรก็ต่างกันแล้ว และการจะให้ รร.แพทย์ลดมาตรฐานการรักษาเท่ากับ รพ.ในต่างจังหวัดคงทำไม่ได้ ไม่เช่นนั้นจะมี รพ.ตติยภูมิเพื่ออะไร"ศ.นพ.คลินิก นพ.อุดม กล่าว

ศ.คลินิก นพ.อุดม กล่าวว่า ที่ผ่านมีการจัด การที่กระบวนการแทน ตั้งคณะกรรมการกลางทำหน้าที่กำหนดมาตรฐานบริการ อัตราค่าใช้จ่ายรักษาพยาบาล รวมไปถึงจัดซื้อยา ทำให้เกิดปัญหาในระบบบริการมากขึ้น เพราะเป็นการบีบมาตรฐานการรักษาที่ไม่ได้อยู่บนความเป็นจริง จึงควรมีการแบ่งระดับ รพ.เพื่อคิดค่าใช้จ่ายรักษาพยาบาลในการคำนวณดีอาร์จี และเท่าที่ทราบกำลังจะมีการใช้ดีอาร์จีกับผู้ป่วยนอกเช่นเดียวกับผู้ป่วยใน หากเป็นเช่นนั้นจริงจะก่อให้เกิดปัญหาแน่นอน

ศ.คลินิก นพ.อุดม กล่าวว่า เช่นเดียวกับการใช้ยาที่ไม่ควรกำหนดทุก รพ.ต้องใช้ยาบัญชียาหลักแห่งชาติเหมือนกัน ซึ่งสวนทางกับความเป็นจริงในการรักษาพยาบาล เนื่องจากเราเป็นรพ.รักษาโรคซับซ้อน ต้องใช้ยาที่มีคุณภาพและมั่นใจ หากเป็นไปได้ควรแยกบัญชียา รพ.ทั่วไปและ รพ.ตติยภูมิ เพราะศักยภาพการรักษาพยาบาลของ รพ.แตกต่างกัน

"ในการเบิกค่ารักษาเมื่อคำนวณดีอาร์จีศิริราชจะอยู่ที่ 16,000 บาท เพื่อนำไปคำนวณกับเกณฑ์ค่าน้ำหนักโรค (ค่าอาร์ดับบลิว) แต่ข้อเท็จจริงกลับเบิกได้แค่ 4,000 บาท เพื่อคำนวณกับค่าอาร์ดับบลิวโดยบอกว่างบเหมาจ่ายรายหัวมีเท่านี้ และเมื่อสิ้นปีงบประมาณ 30 กันยายนที่ผ่านมาก็เช่นกัน ส่วนเงินต่างที่ไม่ได้ต้องลงบัญชีเป็นหนี้สูญ" คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาลกล่าว และว่า ยอมรับว่าแต่ละปีศิริราชได้รับเงินบริจาคปีละ 400-500 ล้านบาทที่ช่วยชดเชยภาวะขาดทุน พร้อมบริหารจัดการหารายได้ทดแทน อย่างการเปิด รพ.ปิยมหาราชการุณย์ สิ่งที่เกิดขึ้นล้วนเป็นผลกระทบจากการประกาศนโยบายรัฐและปล่อยเป็นภาระ รพ.แก้ไขปัญหากันเอง

ศ.คลินิก นพ.อุดม กล่าวต่อว่า ทางออกปัญหาคือต้องเปิดให้มีการร่วมจ่ายของผู้ป่วย รัฐบาลเองต้องกล้าตัดสินใจ เพราะผู้ที่อยู่ในระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าเกินครึ่งสามารถจ่ายค่ารักษาพยาบาลได้ แต่รัฐบาลกลับบังคับไม่ให้จ่าย ถือเป็นเรื่องที่แปลกที่ผ่านมารัฐบาลบอกว่าการรักษาพยาบาลในระบบกองทุนวันนี้มีมาตรฐานคุณภาพ แต่ในความเป็นจริงศิริราชยังต้องยอมรับว่ามาตรฐานการรักษาเราเองเริ่มขยับลง แม้จะพยายามคงประสิทธิภาพให้ได้มากที่สุด และหากยังปล่อยไว้แบบนี้เชื่อว่าระบบรักษาพยาบาลบ้านเราจะแย่ลงไปเรื่อยๆแน่นอน

ด้าน นพ.สัมพันธ์ คมฤทธิ์ เลขาธิการแพทย สภา ผอ.รพ.สมุทรปราการ กล่าวว่า เดิมทาง รพ. ขาดทุนอยู่แล้ว ยิ่งเมื่อรัฐบาลมีนโยบายคงงบเหมาจ่ายรายหัวลง 3 ปี ประกอบกับนโยบายเพิ่มค่าแรงปริญญาตรีเป็น 15,000 บาท และค่าแรงวันละ 300 อีกทั้งภาระค่าใช้จ่ายด้านอื่นๆก็เพิ่มขึ้น ทั้งค่าน้ำ ค่าไฟ ยาและเครื่องมือแพทย์ยิ่งทำให้ทาง รพ.ประสบปัญหาขาดทุนมากกว่าปีละ 30 ล้านบาท โดยที่ไม่มีงบประมาณอะไรมาสนับสนุนเลย ทำให้ต้องหาเงินจากนอกระบบด้วยการสร้างสัมพันธภาพกับทางเทศบาล องค์การบริการส่วนจังหวัด องค์การบริหารส่วนตำบลเพื่อขอให้ทางรพ.ไปตรวจสุขภาพของประชาชน คาดว่าจะทำให้ รพ.มีรายได้เข้ามาประมาณปีละ 10 ล้านบาท ซึ่งแทบจะไม่มีจังหวัดไหนทำเลย ซึ่งตอนนี้ก็พยายามปรับให้เข้ากับกฎเกณฑ์ของท้องถิ่นอยู่ เพราะถึงยังไงก็ยังดีกว่ารองบประมาณอย่างเดียว นอกจากนี้ยังผลักดันให้มีการขึ้นทะเบียนแรงงานต่างด้าวด้วย เพราะการที่แรงงานต่างด้าวไม่ขึ้นทะเบียนนั้น หากเขาไม่จ่ายเราก็ไม่สามารถไปเรียกเก็บจากใครได้ ซึ่งที่ผ่านมาต้องเสียงบประมาณตรงนี้ไปกว่าปีละ 1 ล้านบาท

"ตรงนี้เราต้องคิดและวางแผนต่อไปข้างหน้าอีก 5-10 ปี แม้เราจะมีเงินสำรองของ รพ.อยู่บ้างก็ตาม แต่เมื่อมีคนไข้เยอะก็ต้องจ้างบุคลากรเพิ่ม อย่างตอนนี้เราต้องจ้างหมอเพิ่ม 20 คนเพื่อทำงานที่รพ.สต. และทำงานให้กับ รพ.ด้วย โดยให้ค่าจ้างคนละ 80,000 บาทต่อเดือน ปีหนึ่งคนหนึ่งก็ประมาณเกือบล้านบาท และก็ยังจ้างพยาบาลอีกประมาณ 100 คน ตรงนี้ไม่มีใครรู้ ต้องยอมรับว่าบริหารงานยากมาก เราเลยไม่พยายามงอมืองอเท้า" นพ.สัมพันธ์กล่าว

นพ.สัมพันธ์กล่าวต่อว่า อย่างไรก็ตาม รพ.ไม่ได้ลดมาตรฐานการให้บริการผู้ป่วยลงแต่อย่างใด อย่างนโยบายลดค่าใช้จ่ายด้านยาที่กำหนดให้ รพ.ต้องใช้ยาในบัญชียาหลักเท่านั้น ก็ไม่ได้เป็นปัญหา และไม่ได้ทำให้มาตรฐานการรักษาพยาบาลลดลง ทั้งนี้ ก็ต้องยอมรับว่ายาบางตัวอาจจะมีประสิทธิภาพแตกต่างกับยานอกบัญชียาหลักบ้าง แต่ก็ไม่รู้ว่าประสิทธิภาพต่างกันเท่าไหร่ เพราะไม่เคยมีใครทำวิจัย เราก็ต้องมาดูเป็นกรณีๆ ไป แต่จะไม่ให้ใช้ยานอกบัญชีเลยก็ไม่ถูก ส่วนตัวเห็นว่าเป็นนโยบายที่ดีเพื่อลดค่าใช้จ่ายยาที่ไม่สมเหตุสมผลออกไป.