ผู้เขียน หัวข้อ: มหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐบาล ไม่ใช่ มหาวิทยาลัยนอกระบบ  (อ่าน 1338 ครั้ง)

pani

  • Hero Member
  • *****
  • กระทู้: 756
    • ดูรายละเอียด
"เป็นความเข้าใจที่ผิดหรือเป็นเจตนาที่ต้องการทำให้เกิดความเข้าใจว่า มหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐบาลเป็นมหาวิทยาลัยนอกระบบ ที่รัฐตรากฎหมายให้มีความเป็นอิสระทางการบริหาร สามารถเลือกใช้อำนาจและเลือกปฏิบัติเฉพาะกลุ่มบุคคลได้ โดยไม่จำเป็นต้องคำนึงถึงความเสมอภาคในการอยู่ร่วมกัน"

คนส่วนใหญ่เชื่อว่า มหาวิทยาลัยคือดินแดนของปัญญาชน ที่มีเสรีภาพและมีความเสมอภาค ภาพลักษณ์ที่กล่าวมาเป็นภาพสะท้อนที่ได้มาจากการทำหน้าที่ของมหาวิทยาลัยในการจัดการเรียนการสอนและการให้บริการสังคม รวมถึงการเป็นผู้นำในการวิพากษ์วิจารณ์ผู้ที่ลดรอนเสรีภาพ สร้างความไม่เสมอภาคและความไม่เป็นธรรมในสังคม

แต่ในความเป็นจริงแล้ว มีมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐบาลหลายแห่งที่กำลังใช้กระบวนการลิดรอนเสรีภาพ และความไม่เสมอภาค เป็นเครื่องมือบริหารบุคลากร บีบบังคับให้ข้าราชการเปลี่ยนสถานภาพไปเป็นพนักงาน เพื่อให้สามารถใช้การบริหารและจัดการแบบอำนาจนิยม (authoritarianism) ได้อย่างสมบูรณ์

ต้นเหตุของปรากฏการณ์ดังกล่าวเกิดมาจากการบริหารงานของมหาวิทยาลัยที่เป็นส่วนราชการมีความไม่คล่องตัวในการบริหารงานภายใต้ระบบราชการ โดยเฉพาะด้านการบริหารเงินงบประมาณที่มีความเกี่ยวโยงไปถึงการจัดการการศึกษา การวิจัยและการบริหารงานบุคลากร อันเป็นสาเหตุสำคัญในการนำไปสู่การเรียกร้องและผลักดันให้มีการแปรรูปไปเป็นมหาวิทยาลัยที่ไม่เป็นส่วนราชการ แต่อยู่ในการกำกับดูแลของรัฐบาล

ดังนั้น เราจึงเห็นมหาวิทยาลัยของรัฐที่สร้างใหม่ถูกกำหนดให้เป็นมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐบาลตั้งแต่เริ่มก่อตั้ง ส่วนมหาวิทยาลัยที่เป็นส่วนราชการส่วนใหญ่ต้องรอโอกาสในการแก้พระราชบัญญัติของมหาวิทยาลัยเพื่อเปลี่ยนสถานะไปเป็นมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐบาล

ความจริงแล้ว มหาวิทยาลัยที่เป็นส่วนราชการมีความคล่องตัวในการบริหารงบประมาณมากกว่าหน่วยงานที่เป็นส่วนราชการอื่นๆ เพราะมีเงินรายได้มาจากค่าหน่วยกิตและค่าบำรุง และสามารถนำไปใช้ในการบริหารงานได้คล่องตัวกว่าเงินงบประมาณ

ดังนั้น ในการบริหารงานบุคลากร วัสดุ ครุภัณฑ์ งานวิชาการและงานวิจัยที่ไม่สามารถรอหรือใช้เงินงบประมาณได้ มหาวิทยาลัยจะใช้เงินรายได้ดำเนินการแทน

ประกอบกับตั้งแต่ปี พ.ศ.2546 สำนักงบประมาณได้ทำการปรับปรุงการบริหารงบประมาณของหน่วยงานราชการให้มีความสะดวก คล่องตัว และมีความยืดหยุ่นมากขึ้น โดยการจัดสรรงบประมาณให้ตามแผนการปฏิบัติงานและแผนการใช้จ่ายงบประมาณ มอบอำนาจให้หน่วยงานราชการนำเงินงบประมาณไปใช้ให้บรรลุผลสำเร็จตามภารกิจ ใช้แผนกลยุทธ์ แผนการปฏิบัติงาน และแผนการใช้จ่ายงบประมาณ และการติดตาม รายงานผล เป็นเครื่องมือในการกำกับดูแลการดำเนินงาน ผู้บริหารสามารถโอนหรือเปลี่ยนแปลงรายการงบประมาณได้ เพื่อให้เกิดผลสัมฤทธิ์ของงานตามเป้าหมายที่กำหนดไว้

ความพยายามในการแปรรูปมหาวิทยาลัยที่เป็นส่วนราชการไปเป็นมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐบาลในอดีตไม่มีความคืบหน้ามากนัก จนเมื่อมีการรัฐประหารในปี พ.ศ.2549 ทำให้กลุ่มนายกสภามหาวิทยาลัยและอธิการบดีมหาวิทยาลัยที่ได้รับการแต่งตั้งเป็นฝ่ายนิติบัญญัติและฝ่ายบริหารของประเทศ ทำการนำร่องแปรรูปมหาวิทยาลัยที่เป็นส่วนราชการหลายแห่งทั้งขนาดใหญ่และขนาดเล็ก ทั้งในส่วนกลางและในส่วนภูมิภาคไปเป็นมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐบาล โดยการหยิบเอาร่างพระราชบัญญัติที่ค้างอยู่ในกระบวนการตราเป็นกฎหมายหรือจัดทำขึ้นมาใหม่ ผลักดันเข้าสู่สภาเพื่อให้บรรลุเป้าหมายและแสดงให้เห็นเป็นผลงานที่เกิดขึ้นในการบริหารงานของรัฐบาล

ความจริงแล้ว ก่อนการรัฐประหาร รัฐบาลมีแนวทางในการปรับปรุงแก้ไขร่างกฎหมายของมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐบาลให้เป็นหน่วยงานที่มีการบริหารจัดการที่ดี (good governance) อยู่แล้ว ซึ่งเป็นข้อมูลที่ได้มาจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในวงกว้าง มี 10 ประเด็น คือ

1.กำหนดสถานภาพของมหาวิทยาลัยให้ชัดเจนว่ายังเป็น "มหาวิทยาลัยของรัฐ"

2.กำหนดความผูกพันให้มหาวิทยาลัยต้องดำเนินการภายใต้กรอบการศึกษาของชาติ

3.กำหนดหน้าที่ให้รัฐบาลจัดสรรเงินอุดหนุนทั่วไปแก่มหาวิทยาลัยอย่างมีหลักเกณฑ์ และรับผิดชอบดูแล มิให้นิสิตนักศึกษาต้องรับภาระจ่ายค่าบำรุงและค่าธรรมเนียมจนเกินสมควร

4.กำหนดที่มาของกรรมการสภามหาวิทยาลัยผู้ทรงคุณวุฒิ ให้มาจากการสรรหาและเสนอชื่อโดยระบบใหม่

5.กำหนดบทบาทของคณะกรรมการส่งเสริมกิจการมหาวิทยาลัยให้สมบูรณ์ขึ้น และเพิ่มคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาของชุมชนในท้องถิ่น

6.กำหนดเพิ่มบทบาทของสภาบุคลากรมหาวิทยาลัย ให้ดูแลปัญหาการบริหารงานบุคคลและสิทธิประโยชน์ของบุคลากรด้วย

7.กำหนดให้การโอนสถานภาพของบุคลากรจากข้าราชการไปเป็นพนักงาน ต้องเป็นไปโดยสมัครใจอย่างแท้จริง และต้องปฏิบัติต่อบุคลากรทั้งสองประเภทนี้โดยเสมอภาคด้วย

8.กำหนดอำนาจหน้าที่กำกับดูแลของรัฐมนตรีให้ชัดเจน

9.กำหนดให้การบัญชีของมหาวิทยาลัยต้องอยู่ภายใต้อำนาจตรวจสอบของสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน

10.กำหนดการได้มาของสภามหาวิทยาลัยและผู้บริหารตามระบบใหม่ ให้เป็นไปโดยสมเหตุผล

แนวทางการปรับปรุงแก้ไขร่างกฎหมายของรัฐบาลที่กล่าวมา ส่วนใหญ่ปรากฏให้เห็นเป็นข้อกฎหมายอยู่ในพระราชบัญญัติของมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐบาลอย่างชัดเจน เช่น ด้านสถานภาพ ด้านการศึกษา ด้านงบประมาณ ด้านการกำกับดูแล

แต่ส่วนที่มีการวางแผนทางกฎหมายสำหรับนำมาใช้ออกเป็นข้อบังคับและกฎเกณฑ์เพื่อสร้างอำนาจทางการบริหารมากที่สุด คือ ด้านการบริหารองค์กร ได้แก่ สภามหาวิทยาลัย สภาบุคลากรมหาวิทยาลัย ตำแหน่งทางการบริหาร และการบริหารบุคลากร โดยเฉพาะการนำมากำหนดให้ผู้ปฏิบัติงานในมหาวิทยาลัยกลุ่มใดมีสิทธิและไม่มีสิทธิในงานใดของมหาวิทยาลัย (กลุ่มข้าราชการคือกลุ่มเป้าหมายที่ถูกตัดสิทธิมากที่สุด) รวมถึงการตัดการมีส่วนร่วมที่ได้จากการเลือกตั้งตามระบอบประชาธิปไตยในขั้นตอนสุดท้ายหรือนำไปใช้เพียงเพื่อประกอบการพิจารณาเท่านั้น

ประกอบกับมีช่องว่างในกระบวนการยุติธรรมที่มีข้อกฎหมายกำหนดไม่ให้ผู้เดือดร้อนหรือเสียหาย หรืออาจจะเดือดร้อนหรือเสียหายมีสิทธิฟ้อง แม้ว่าการกระทำนั้นเป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้อง

จึงทำให้การแปรรูปไปเป็นมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐบาลเอื้อต่อการทำลายระบบคุณธรรม (merit system) และสร้างระบบอุปถัมภ์ (patronage system) ขึ้นมาใหม่

ประเด็นสำคัญที่เกี่ยวข้องกับการบริหารบุคลากรที่เป็นข้าราชการตามแนวทางการปรับปรุงแก้ไขร่างกฎหมายของมหาวิทยาลัยนอกระบบก่อนการรัฐประหาร เป็นเรื่องที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการแปรรูปมหาวิทยาลัยให้ความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง เพราะมีการกำหนดให้การโอนสถานภาพของบุคลากรจากข้าราชการไปเป็นพนักงาน ต้องเป็นไปโดยสมัครใจอย่างแท้จริง และต้องปฏิบัติต่อบุคลากรทั้งสองประเภทนี้โดยเสมอภาคด้วย

รวมถึงที่ประชุมวุฒิสภาก็มีหลักเกณฑ์ว่า "การเข้าดำรงตำแหน่งผู้บริหารในทุกระดับ จะต้องขึ้นอยู่กับความรู้ความสามารถของบุคคลนั้น รัฐจะวางข้อกำหนดกีดกันไม่ให้บุคลากรที่เป็นข้าราชการเข้าสู่ตำแหน่งบริหารไม่ได้"

แนวทางดังกล่าวน่าจะเป็นเจตนารมณ์ที่แท้จริงของพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐบาลมากกว่าการกล่าวอ้างลอยๆ หรือตีความเพื่อให้กระบวนการกำจัดการเป็นข้าราชการให้หมดสิ้นไปจากมหาวิทยาลัย โดยไม่คำนึงถึงความแตกต่างของการเป็นมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐบาลที่สร้างใหม่ ที่ไม่มีข้าราชการเลย กับมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐบาลที่เปลี่ยนสถานะมาจากส่วนราชการที่ยังมีข้าราชการอยู่จำนวนมาก และยังไม่พร้อมที่จะเปลี่ยนสถานะไปเป็นพนักงาน หรือตั้งใจเป็นข้าราชการตลอดไปเพราะมีเจตจำนงที่จะรับราชการตั้งแต่บรรจุจนถึงเกษียณ หรืออายุราชการยังน้อยเมื่อเปลี่ยนสถานะไปเป็นพนักงานแล้วทำให้เสียประโยชน์ที่ควรได้ เช่น ได้รับเงินบำนาญต่ำ ไม่มีระบบสวัสดิการที่เทียบเท่ามารองรับ เป็นต้น

ในอดีตและปัจจุบัน มหาวิทยาลัยที่เป็นส่วนราชการมีทั้งข้าราชการและพนักงาน เคยมีประเด็นทางกฎหมายว่า พนักงานสามารถเป็นผู้บริหารได้หรือไม่ ซึ่งสำนักงานกฤษฎีกาก็มีการตีความที่เป็นประโยชน์ต่อพนักงาน โดยให้เหตุผลว่า ทั้งข้าราชการและพนักงานต่างก็เป็นคณาจารย์ประจำด้วยกัน เมื่อก่อนยังไม่มีพนักงานมีแต่ข้าราชการ การใช้ข้อความที่แตกต่างกันน่าจะมีเจตนารมณ์ให้มีความหมายเช่นเดียวกัน ประกอบกับเพื่อเป็นการแก้ไขปัญหาในการพิจารณาแต่งตั้งผู้ที่เหมาะสมมาดำรงตำแหน่งบริหาร พนักงานจึงสามารถดำรงตำแหน่งบริหารของมหาวิทยาลัยได้

แต่เมื่อเปลี่ยนสถานะของมหาวิทยาลัยไปเป็นมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐบาลแล้ว ข้าราชการกลับถูกกีดกันทุกวิถีทางในการดำรงตำแหน่งบริหารของมหาวิทยาลัย รวมถึงการเป็นกรรมการในคณะกรรมการบริหารกิจการต่างๆ ของมหาวิทยาลัย

ปัจจุบัน พระราชบัญญัติของมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐบาลที่เปลี่ยนสถานะมาจากการเป็นส่วนราชการส่วนใหญ่มีบทบัญญัติให้ "ผู้ปฏิบัติงานในมหาวิทยาลัย" หมายถึง พนักงานมหาวิทยาลัย ข้าราชการลูกจ้าง และพนักงานราชการ ผู้ที่เป็น "คณาจารย์" มีสถานะเป็นทั้งข้าราชการ และพนักงานมหาวิทยาลัย

แต่ในความเป็นจริงบุคคลภายนอกก็สามารถมาเป็นอาจารย์อันเป็นตำแหน่งหนึ่งของคณาจารย์ได้เช่นกัน และมีการออกข้อบังคับให้สามารถขอตำแหน่งทางวิชาการได้ด้วย

แต่ในการออกข้อบังคับในการบริหารงานมหาวิทยาลัยทั้งในการเลือกตั้งและแต่งตั้งตำแหน่งที่เกี่ยวข้องกับการบริหารมหาวิทยาลัย เลือกใช้คำว่า"พนักงานหรือบุคคลภายนอกมหาวิทยาลัย" หลีกเลี่ยงการใช้คำว่า "ผู้ปฏิบัติงานในมหาวิทยาลัย" เพราะจะทำให้ข้าราชการมีสิทธิด้วย เพียงแต่กำหนดให้ข้าราชการเป็นผู้มีสิทธิเลือกหรือเสนอชื่อผู้ดำรงตำแหน่งที่เกี่ยวข้องกับการบริหารงานเท่านั้น

การใช้โอกาสทางการเมืองแปรรูปมหาวิทยาลัยที่เป็นส่วนราชการไปเป็นมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐบาล ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงชนชั้นทางสังคมภายในมหาวิทยาลัยอย่างชัดเจน โดยมีการแบ่งชนชั้นระหว่าง (พวก) ข้าราชการและ (พวก) พนักงานมหาวิทยาลัย

กล่าวคือ กลุ่มพนักงานมหาวิทยาลัยได้มีโอกาสเข้าสู่การเป็นชนชั้นผู้ปกครอง (ผู้บริหาร) ส่วนข้าราชการถูกลดชั้นให้กลายไปเป็นผู้ถูกปกครอง (ผู้ถูกบริหาร) หากไม่ยอมเปลี่ยนสถานะไปเป็นพนักงานมหาวิทยาลัย โดยอาศัยข้อกฎหมายในพระราชบัญญัติที่เขียนเป็นบทบัญญัติแบบปลายเปิดให้นำไปออกเป็นข้อบังคับ

ดังนั้น ข้อบังคับต่างๆ ที่ออกมาจึงมีโวหารทั้งปิดกั้นไม่ให้สิทธิและกดดันให้เปลี่ยนสถานะไปสู่ชนชั้นใหม่ โดยกล่าวอ้างว่านี่คือ เจตนารมณ์ของกฎหมาย จึงทำให้เกิดเป็นชนชั้นระหว่างผู้ปกครองและผู้ถูกปกครองในมหาวิทยาลัยไปโดยปริยาย (ข้าราชการบางคนถึงกับกล่าวว่าเราเป็นพวกไพร่ เขาไม่ให้สิทธิและไม่สนใจข้อร้องเรียนของพวกเราหรอก)

โดยทั่วไปแล้วการห้ามเข้าสู่ตำแหน่งหรือดำรงตำแหน่งต่างๆ ที่เห็นกันอย่างแพร่หลาย เป็นการห้ามบุคคลมีผลประโยชน์ทับซ้อน มีปัญหาด้านจริยธรรม และมีปัญหาด้านกายและใจที่เป็นอุปสรรคต่อการปฏิบัติหน้าที่ และน่าจะเป็นเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2550 ที่มีบทบัญญัติที่ไม่เคยมีมาก่อนในรัฐธรรมนูญฉบับก่อนหน้านี้ คือ มาตรา 31 ที่กำหนดไว้ว่า

"บุคคลผู้เป็นทหาร ตำรวจ ข้าราชการ เจ้าหน้าที่อื่นของรัฐ และพนักงานหรือลูกจ้างขององค์กรของรัฐ ย่อมมีสิทธิและเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญเช่นเดียวกับบุคคลทั่วไป เว้นแต่ที่จำกัดไว้ในกฎหมายหรือกฎที่ออกโดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย เฉพาะในส่วนที่เกี่ยวกับการเมือง สมรรถภาพ วินัย หรือจริยธรรม"

การห้ามข้าราชการไม่ให้ดำรงตำแหน่งบริหารและกรรมการต่างๆ ในมหาวิทยาลัย จึงไม่มีความเกี่ยวข้องกับการเมือง สมรรถภาพ วินัย หรือจริยธรรม หรือหากเกี่ยวข้องก็ต้องไม่เลือกปฏิบัติแต่เฉพาะข้าราชการ ต้องรวมถึงพนักงานด้วย

นอกจากเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญที่กล่าวมาแล้ว หากข้าราชการไม่สามารถเป็นผู้บริหารในมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐบาลได้จริง พระราชบัญญัติของแต่ละมหาวิทยาลัยก็สามารถระบุไว้ในมาตราใดมาตราหนึ่งได้ว่า ห้ามข้าราชการดำรงตำแหน่งบริหาร แต่ก็ไม่ปรากฏให้เห็นอยู่ในพระราชบัญญัติของมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐบาลแห่งใดเลย

ส่วนที่มีการกล่าวกันว่า ข้าราชการเป็นผู้บริหารในมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐบาลไม่ได้ คงเป็นคำกล่าวอ้างที่ไม่สามารถใช้ได้อีกต่อไป เพราะมีมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐบาลที่เปลี่ยนสถานะมาจากส่วนราชการบางแห่ง ก็ให้ข้าราชการเป็นผู้บริหารได้เช่นเดียวกับพนักงาน

นี่แสดงให้เห็นว่า การห้ามข้าราชการดำรงตำแหน่งบริหารในมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐไม่สามารถทำได้ การกระทำที่เกิดขึ้นจึงเป็นการแสดงให้เห็นถึงการจงใจเลือกปฏิบัติต่อข้าราชการที่เป็นผู้ปฏิบัติงานในมหาวิทยาลัยอย่างชัดเจน

แนวคิดการบริหารทรัพยากรมนุษย์ในมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐบาลของสภามหาวิทยาลัย โดยการออกข้อบังคับเพื่อจงใจบีบบังคับให้ข้าราชการเปลี่ยนสถานะไปเป็นพนักงานทั้งทางตรงและทางอ้อม แสดงให้เห็นว่า สภามหาวิทยาลัย (ประกอบด้วยข้าราชการบำนาญ เอกชน พนักงานมหาวิทยาลัย และข้าราชการของส่วนราชการ) พยายามนำเอาแนวคิดแบบอาณาจักรนิยม (colonialism) ที่กำลังสูญหายไปและไม่เป็นที่ปรารถนาของนานาประเทศมาใช้ในการบริหารหน่วยงานทางวิชาการมากกว่าการใช้แนวคิดแบบมืออาชีพ (professionalism) ที่กำลังนิยมอย่างแพร่หลาย

กล่าวคือ การออกข้อบังคับกีดกันไม่ให้ข้าราชการในมหาวิทยาลัยเป็นผู้บริหารทำให้เกิดการแบ่งแยกผู้ปฏิบัติงานในมหาวิทยาลัยเป็น 2 ขั้วคือ ขั้วของพนักงานและขั้วของข้าราชการ เมื่อพนักงานมีโอกาสเข้าสู่ตำแหน่งบริหาร จึงอาศัยอำนาจการต่อสัญญาจ้างหรือยุติการจ้าง สร้างเครือข่ายฐานคะแนนเสียง รวมถึงการแต่งตั้งผู้บริหารในตำแหน่งอื่นตามมา

เป็นการสร้างอาณาจักรทางการบริหารโดยความร่วมมือของคนในมหาวิทยาลัยกับกลุ่มคนนอกมหาวิทยาลัย (สมาชิกสภาส่วนใหญ่เป็นคนนอกมหาวิทยาลัย)

การกีดกันข้าราชการพลเรือนในมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐไม่ให้มีส่วนร่วมในการบริหารงานมีความชัดเจนอย่างยิ่ง (ทำให้มีส่วนร่วมด้วยการให้เสนอความคิดเห็นผ่านพนักงานที่เป็นตัวแทนในกระบวนการเลือกตั้งและการบริหารงาน)

ทั้งที่ข้าราชการมีคุณสมบัติไม่แตกต่างไปจากพนักงานและประชาชนทั่วไปรวมถึงข้าราชการที่มีอายุมากกว่า 60 ปีขึ้นไปที่เกษียณแล้ว ก็ได้รับการต้อนรับเข้าสู่ตำแหน่งบริหารอย่างแพร่หลาย

ทั้งที่แนวคิดการให้ผู้เกษียณแล้วทำงานต่อในหน่วยงานของรัฐตามมติของคณะรัฐมนตรี ต้องเป็นการปฏิบัติหน้าที่ในทางวิชาการหรือหน้าที่ที่ต้องใช้ความสามารถเฉพาะตัวในตำแหน่งประเภทวิชาการระดับเชี่ยวชาญ และระดับทรงคุณวุฒิ กับตำแหน่งประเภททั่วไประดับอาวุโส และระดับทักษะพิเศษ ไม่ใช่การดำรงตำแหน่งในสายงานด้านการบริหาร

การเป็นผู้บริหารในมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐของผู้สูงวัยเบื้องต้นมีกรอบอยู่ที่ 70 ปี แต่สามารถขยายออกไปได้เป็นกรณีพิเศษเฉพาะรายโดยสภามหาวิทยาลัย หากเป็นผู้ที่มีความรู้ในสาขาขาดแคลน

หากดูจากเงื่อนไขดังกล่าวแล้วจะเห็นว่า ตรงข้ามกับแนวนโยบายของรัฐ ที่ต้องการให้ผู้ที่มีความรู้ความสามารถพิเศษไปทำหน้าที่ทางวิชาการ เงื่อนไขเหล่านี้ถูกเปลี่ยนแปลงมาอย่างต่อเนื่องและน่าจะมีการเปลี่ยนแปลงต่อไปอีก เพื่อให้สอดคล้องกับความต้องการของกลุ่มผู้บริหาร

โครงสร้างการบริหารมหาวิทยาลัยที่เป็นหน่วยงานราชการและหน่วยงานของรัฐบาล ที่มีสภามหาวิทยาลัยเป็นหน่วยงานเชิงนโยบายและนิติบัญญัติ จำลองระบบคล้ายระบบสภาของประเทศ แต่มหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐบาลไม่ได้สร้างระบบสภาของมหาวิทยาลัยให้เป็นต้นแบบเพื่อสอนวิธีการบริหารงานแบบประชาธิปไตยให้นิสิต/นักศึกษาได้เรียนรู้

แต่สร้างระบบคณาธิปไตยมาใช้ในการบริหารการศึกษาของมหาวิทยาลัย

กล่าวคือ การได้มาซึ่งกรรมการที่เป็นสมาชิกสภามหาวิทยาลัยส่วนใหญ่ ใช้การสรรหามากกว่าการเลือกตั้ง

นั่นหมายความว่า สมาชิกของสภาได้มาจากเครือข่ายอำนาจที่ครองอำนาจทางการบริหารอยู่ในระดับมหาวิทยาลัยและส่วนงานต่างๆ ของมหาวิทยาลัย ผู้ที่ได้รับการเสนอชื่อเพื่อเข้าไปเป็นกรรมการสภาจะถูกบอกกล่าวผ่านช่องทางการสื่อสารที่ไม่เป็นทางการ ให้หน่วยงานต่างๆ เสนอชื่อเข้าไปสู่กระบวนการสรรหา

เมื่อได้รับการแต่งตั้งเป็นกรรมการสภามหาวิทยาลัยแล้ว ก็กลายเป็นผู้มีสิทธิเลือกนายกสภามหาวิทยาลัยในลำดับต่อไป

ความแยบยลในการออกแบบระบบองค์กรดังกล่าว อาจมาจากประสบการณ์หรือมุมมองที่ได้มาจากระบบสภาของประเทศที่มีแต่ความวุ่นวายขาดอำนาจในการควบคุมสมาชิกสภา จึงนำเอาความคิดดังกล่าวมาออกแบบระบบสภามหาวิทยาลัยให้เกิดการรวบอำนาจแบบเบ็ดเสร็จมีความเข้มแข็งทางการบริหาร

มหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐบาลเคยเป็นองค์กรในอุดมคติที่ปราศจากโซ่ตรวนจากระบบราชการ แต่เมื่อหลุดพ้นจากมาจากวงจรของระบบราชการแล้ว กลับไม่สามารถสร้างองค์กรในอุดมคติตามที่ต้องการได้ เพราะยังต้องลอกระเบียบจำนวนมากจากระบบราชการมาใช้ในการบริหารงาน เน้นการสร้างกฎและกติกาในการควบคุมมากกว่าการขับเคลื่อน สร้างความยืดหยุ่นในการใช้อำนาจและให้ผลประโยชน์ตอบแทนเฉพาะกลุ่มที่เป็นเครือข่ายภายใต้ระบบอุปถัมภ์ในโครงสร้างทางการบริหาร ยังไม่สามารถผนึกกำลังและผนวกรวมประโยชน์ที่เกิดจากความแตกต่าง/ความสามารถของข้าราชการกับพนักงานนำมาช่วยกันขับเคลื่อนมหาวิทยาลัยแต่ใช้โอกาสและอำนาจที่มีอยู่สร้างความเหลื่อมล้ำทางสังคม เพียงเพื่อนำไปสู่การเป็นมหาวิทยาลัยที่ปราศจากข้าราชการ แต่ไม่สามารถสลัดคราบระบบราชการออกไปจากการบริหารงานได้

การแปรรูปมหาวิทยาลัยของรัฐบาล มีวัตถุประสงค์สำคัญอยู่ที่ การทำให้มหาวิทยาลัยของรัฐบาลเป็นองค์กรนอกระบบที่อยู่นอกระบบความไม่คล่องตัวของระบบราชการ แต่สิ่งที่ไม่คาดคิดว่าจะเกิดขึ้นในมหาวิทยาลัยกลับกลายเป็นเรื่องของการเลือกปฏิบัติทางการบริหารบุคคล การจำกัดสิทธิข้าราชการพลเรือนในมหาวิทยาลัยที่เริ่มจากตำแหน่งบริหาร กำลังขยายวงไปสู่การเลือกปฏิบัติในด้านอื่นๆ เช่น การเป็นกรรมการการบริหารงานวิชาการ และการให้สวัสดิการ เป็นต้น

ระบบ "2 มาตรฐาน" ในมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐบาลกำลังพัฒนาไปอย่างเงียบๆ ภายใต้ความพยายามปรองดองความแตกแยกทางสังคมของประเทศ

ปัจจุบันมีมหาวิทยาลัยที่เป็นส่วนราชการหลายแห่งต้องการเปลี่ยนสถานะไปเป็นมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐบาล ประเด็นสำคัญที่คนส่วนใหญ่ให้ความสำคัญและไม่เห็นด้วยคือ เรื่องผลกระทบด้านค่าเทอมของนักศึกษาที่อาจต้องเสียค่าใช้จายที่แพงขึ้น ส่วนฝ่ายสนับสนุนก็จะอ้างเรื่องของความคล่องตัวทางการบริหาร เพื่อทำให้มหาวิทยาลัยมีความเจริญก้าวหน้าทัดเทียมนานาประเทศ

แต่ไม่มีใครคิดและให้ความสนใจถึงปัญหาด้านการบริหารบุคลากรตามที่กล่าวมา

หากรัฐบาลไม่สามารถป้องกันการเลือกปฏิบัติต่อข้าราชการในมหาวิทยาลัยได้ ตัวแบบของความไม่เสมอภาคทางสังคมน่าจะหาดูได้ไม่ยาก เพราะมีให้เห็นอยู่ในสถาบันอุดมศึกษาของรัฐบาล และเสียงศรัทธาจากสังคมต่อคนในมหาวิทยาลัยของรัฐบาลในการเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลงเรื่องการลิดรอนเสรีภาพ ความไม่เสมอภาค และความไม่เป็นธรรม น่าจะลดน้อยถอยลงจนไม่สามารถเชื่อถือได้อีกต่อไป

(ที่มา หนังสือพิมพ์มติชนรายวัน ฉบับประจำวันที่ 14 ธันวาคม 2554)