ผู้เขียน หัวข้อ: “เราหลงลืมอะไรบางอย่าง” โกมาตร จึงเสถียรทรัพย์  (อ่าน 1313 ครั้ง)

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9760
    • ดูรายละเอียด
เป็นหมอที่ชอบคลุกคลีกับชาวบ้าน เป็นนักวิจัยที่ชอบทำงานกับชุมชน เป็นนักคิดที่สนใจทุกเรื่อง และผู้ประสบภัยที่กลายเป็นอาสาสมัคร

เคยได้ยินบ่อยๆ ว่า เวลาคุณหมอคนนี้ไปบรรยายที่ไหน มักจะช่วยกระตุกต่อมคิดคนจำนวนมาก โดยเฉพาะคนในแวดวงสาธารณสุข เพราะเขาสนใจทั้งเรื่องสังคม ชุมชน และจิตวิญญาณ จริงๆ แล้วสนใจไปเกือบทุกเรื่อง ชอบคลุกคลีช่วยเหลือให้แนวคิดกับชาวบ้าน พร้อมๆ กับเก็บเกี่ยวภูมิปัญญามาใช้กับการทำงานและชีวิต 

 นายแพทย์ โกมาตร จึงเสถียรทรัพย์ ผู้อำนวยการสำนักวิจัยสังคมและสุขภาพ กระทรวงสาธารณสุข หมอในคราบนักมานุษยวิทยา กับวิถีที่อ่อนโยนกับชีวิตและธรรมชาติ
 ความอ่อนโยนเหล่านี้แฝงอยู่ในงาน วิธีพูด คิด และการกระทำ

 วิธีการทำความเข้าใจกับมนุษย์ของเขา จึงมีมิติหลากมุม โดยเฉพาะในช่วงน้ำท่วม เขาเป็นผู้ประสบภัยที่ผันตัวลงพื้นที่เป็นอาสาสมัคร บางครั้งทำงานกลุ่ม บางครั้งฉายเดี่ยว ไม่เว้นแม้กระทั่งออกแรงช่วยสร้างสะพาน
 หากถามว่า ถ้าจะสร้างอาสาสมัครในแผ่นดินนี้อย่างเป็นเรื่องเป็นราว ต้องทำอย่างไร คุณหมอมีคำตอบตามแบบฉบับของเขา พร้อมๆ กับบทเรียนภัยพิบัติครั้งนี้...

ก่อนจะคุยเรื่องอาสาสมัคร ภัยพิบัติครั้งนี้ คุณหมอคิดว่า สังคมได้บทเรียนอะไรบ้าง
 ภัยพิบัติครั้งนี้เป็นสัญญาณเตือนครั้งสำคัญกับวิธีคิดที่ไม่มีความพร้อม ตั้งอยู่บนความประมาท หลายหน่วยงานเคยซ้อมรับมือภัยพิบัติและไฟไหม้ แต่ในระดับชุมชนไม่มีการเตรียมพร้อม ทั้งๆ ที่มีอยู่ในแผนบรรเทาสาธารณภัยเขียนไว้ว่า เมื่อเกิดภัยพิบัติต้องรู้สภาพพื้นที่ จุดรวมพล เส้นทางอพยพและทรัพยากรในพื้นที่มีใครบ้างที่จะระดมมาช่วย เมื่อเกิดเหตุไม่มีวิธีคิดชุดนี้เลย ทั้งๆ ที่มีแผนเหล่านี้อยู่
 แต่เรื่องนี้ก็ต้องมีองค์ประกอบสองเรื่อง คือ 1.พลังฝ่ายวิชาการที่น่าเชื่อถือ และ 2.กลไกจัดการภาครัฐ ต้องทำให้วิชาการเหล่านี้จริงจังและน่าเชื่อ แต่สถานการณ์นี้ขาดทั้งภาวะผู้นำในภาครัฐและภาควิชาการ เมื่อเกิดภัยพิบัติระยะหนึ่งประชาชนจึงเลือกที่จะฟังข้อมูลข่าวสารสถานีโทรทัศน์ช่องที่อธิบายให้เข้าใจได้ หรือคลิปวีดิโอที่กลุ่มนักศึกษาคณะนิเทศศาสตร์ จุฬาฯ ผลิตขึ้น เพราะมีหลักการน่าเชื่อถือ และไม่ใช่ว่าคนไทยไม่กระตือรือร้นเรื่องข่าวสาร แต่ขาดองค์ประกอบสองอย่างที่ผมกล่าวมา

ปัญหาคือการขาดข้อมูลทางวิชาการที่น่าเชื่อถือ  ?
 น้ำท่วมครั้งนี้ส่งผลกว้างตั้งแต่ชุมชนเกษตรจนถึงนิคมอุตสาหกรรม คนจนในเมืองไปจนถึงคนมีบ้านร้อยล้าน ทั้งๆ ที่มีความหลากหลายทางสังคม แต่การรับมือดูเหมือนมีการปฏิบัติต่อสังคมในแบบเดียวกันทั้งหมด ทั้งๆ ที่แต่ละชุมชนมีประวัติศาสตร์ของตัวเอง พี่น้องชุมชนมุสลิม เมื่ออพยพมาอยู่ศูนย์พักพิง พวกเขาอยู่ไม่ได้ เพราะมีแต่เสียงดนตรีและเสียงดังๆ จึงขอไปอยู่ในมัสยิด เขาบอกว่า ไม่ใช่เวลาของการสังสรรค์ ควรเป็นเวลาแห่งการทบทวนชีวิตและการภาวนา แต่วิธีการจัดการปฏิบัติราวกับว่าทุกคนเหมือนกันหมด ทั้งๆ ที่ความรู้การจัดการภัยพิบัติมีหลายมิติ ผมคิดว่า สังคมไทยขาดการจัดการความรู้เพื่อรับมือภัยพิบัติ ความรู้มีหลายรูปแบบ แต่สิ่งที่สื่อนำเสนอออกมามีแต่มิติของมวลน้ำ ส่วนมิติของชุมชนหรือแม้กระทั่งศาสนธรรมเกี่ยวข้องกับภัยพิบัติอย่างไร ก็มีเรื่องพวกนี้น้อยมาก

การจัดการความรู้ค่อนข้างล้มเหลว ?
 ถ้าเราแยกไม่ออกระหว่างการเตรียมรับมือ การเผชิญกับน้ำและเตรียมฟื้นฟู ทั้งสามระยะแยกจากกันไม่ได้ ถ้าเรารับมือไม่ดีตั้งแต่แรก การฟื้นฟูก็ต้องมาแก้โจทย์ที่รับมือไม่ดี ไม่ใช่แค่การสูญเสียทางกายภาพและเศรษฐกิจ ยังต้องมีการฟื้นฟูทางมิติสังคมและจิตวิญญาณในสังคมไทย  เมื่อเรารับมือไม่ดี ผลกระทบทางสังคมที่เห็น คือ คนเกลียดและโกรธรัฐบาล  คนต่างชุมชนทะเลาะกัน ภัยพิบัติครั้งนี้ได้มาซ้ำเติมความเหลื่อมล้ำทางสังคม เพราะบางพื้นที่ถูกปกป้องราวกับไข่แดง พื้นที่ไม่ได้รับการปกป้องก็จมน้ำไปสามเดือน โดยใช้ข้ออ้างคำเดียว เพื่อรักษาศูนย์กลางเศรษฐกิจ ซึ่งผมไม่ได้มีปัญหา แต่แผนด้านอื่นๆ  ต้องดีด้วย ตอนนี้คนรู้สึกว่าถูกละเลย ถูกทอดทิ้ง ถูกปฏิบัติไม่เป็นธรรม

นำไปสู่ผลกระทบทางสังคมค่อนข้างมาก ?
 ในช่วงแรกที่น้ำท่วมในต่างจังหวัด เสียงคนเหล่านั้นไม่ค่อยปรากฏในสื่อและนโยบายของรัฐ ผมอยากเรียกว่ามีกรุงเทพฯเป็นศูนย์กลาง ด้วยการมองโลกจากประสบการณ์ผู้คนในเมือง เมื่อน้ำท่วมเข้าสู่ภาคกลาง เริ่มได้เห็นว่า นี่ไม่ใช่ปรากฏการณ์ธรรมชาติอย่างเดียว แต่มีการแทรกแซงจากน้ำมือมนุษย์ในการกำหนดการไหลของน้ำ บางคนกำหนดบางอย่างได้มากกว่าคนอื่น ทำให้รู้สึกว่า เราถูกกำหนดจากกลไกบางอย่าง ส่วนการเยียวยาความขัดแย้งทางสังคม เป็นภารกิจสำคัญที่ต้องใส่ใจในช่วงฟื้นฟู

การฟื้นฟูหลังน้ำท่วม จึงไม่ควรมองข้ามมิติทางสังคม ?
 มิติหนึ่งของการฟื้นฟู เราจะตั้งคำถามว่า ภัยพิบัติครั้งนี้มีความหมายกับคนไทยอย่างไร ถ้าเราค้นพบว่า ภัยพิบัติครั้งนี้ได้นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงของคนไทย อาทิ แก้ไขนิสัยการทิ้งขยะของคนไทย แก้ไขกลไกรัฐที่ละเลยเพิกเฉยต่อผังเมือง เราจะแก้ไขความไม่รับผิดชอบการโกงกินแม้กระทั่งถุงยังชีพได้อย่างไร ถ้าเราสร้างความหมายให้กับภัยพิบัติครั้งนี้ได้ เหตุการณ์ครั้งนี้น่าจะเป็นโอกาสสำคัญในการรื้อหรือปรับแก้ปฏิรูปใหญ่ เพื่อแก้ปัญหา ไม่ว่าปัญหาผังเมือง ซึ่งแทบจะเรียกได้ว่า กฎหมายเรื่องนี้ไร้ประสิทธิภาพ ส่งผลให้เกิดความเสียหายหลายแสนล้าน น่าจะได้เวลาทำเรื่องนี้จริงจัง แต่ปัญหาที่เราอาจจะสูญเปล่าไปกับภัยพิบัติครั้งนี้ คือ ไร้ซึ่งสภาวะผู้นำที่จะสร้างกระบวนการเปลี่ยนแปลงใหญ่เพื่อให้ประเทศไทยเข้มแข็งกว่าเดิม ถ้าเกิดภัยพิบัติครั้งใหม่ เราจะมีความพร้อมมากขึ้นแค่ไหน เป็นคำถามที่ต้องถามทุกภาคส่วนในสังคม ถ้าจะคาดหวังจากภาครัฐ หรือผู้นำรัฐบาล เราน่าจะสรุปบทเรียนว่า เราคาดหวังได้จำกัด

เรื่องของสภาวะผู้นำเป็นอีกเรื่องที่ต้องไตร่ตรอง?
 เคยมีนักวิชาการบอกว่า สภาวะผู้นำ กับการยอมรับในสภาวะผู้นำ เป็นสองอย่างที่ประกอบกัน คนที่มาเป็นผู้นำ เพราะมีคนจำนวนหนึ่งยอมรับว่าเป็นผู้นำได้ แต่วิธีการของสังคมไทยในการรับมือกับภัยพิบัติ ถ้ามองจากวาทกรรมที่พูดถึงภัยพิบัติครั้งนี้ ค่อนข้างชัดว่าได้มาซ้ำเติมสภาวะผู้นำซึ่งอ่อนแออยู่ ยิ่งล้มเหลวลงไปอีก เพราะวิธีคิดและวาทกรรมเกี่ยวกับภัยพิบัติ ทำให้คนที่เรียกตัวเองว่า ผู้ประสบภัยไม่ได้ลุกขึ้นมาช่วยเหลือตัวเอง เราเห็นกระบวนการขนข้าวกล่องเข้าไปเป็นเดือนๆ ทำไมไม่สร้างระบบครัวชุมชน เพื่อให้พวกเขาลุกขึ้นมาจัดการชีวิตตัวเอง
 ในสถานการณ์แบบนี้ การลุกขึ้นมาช่วยเหลือกันในชุมชนคือการเยียวยาแล้ว นี่คือการฟื้นคืนศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ซึ่งผมเห็นว่า มีน้อยมากที่ชุมชนมีระบบการจัดการเอง เมื่อผู้ประสบภัยอพยพแล้ว กลายเป็นคนที่รอรับความช่วยเหลือ วาทกรรมชุดนี้ก็ยิ่งตอกย้ำให้เห็นผ่านสื่อว่า "หมู่บ้านนั้นนี้น้ำท่วมถึงเอว ไม่เห็นมีใครมาแจกของ หรือสนใจเลย"

อีกเรื่องที่คุณหมอเน้นคือ สังคมแบบปัจเจกชนนิยม?
 ในยุคสมัยของปัจเจกชนนิยมที่คิดว่า เราอยู่ได้ พึ่งตัวเองได้ มีเครื่องปั๊มน้ำ ทำกำแพงกั้นบ้าน กันน้ำได้ เวลาเจอภัยพิบัติใหญ่ๆ มีบางเรื่องราวเราทำตามลำพังไม่ได้ ต้องร่วมกันทำ เราลืมไปว่า ความสัมพันธ์ฉันเพื่อนบ้านทดแทนด้วยวัตถุไม่ได้ อย่างทฤษฎีทางสังคมที่ได้กล่าวไว้เยอะว่า ความสัมพันธ์ที่มีการเชื่อมโยงกันเป็นเครือข่าย มันเป็นองค์ประกอบสำคัญในการแก้ไขปัญหา

ส่วนเรื่องการมองโลกจากส่วนกลาง ก็เป็นเรื่องเดิมๆ ที่พบเห็นบ่อยในสังคมไทย ?
 ผมคิดว่าเป็นมรดกทางประวัติศาสตร์ของการพัฒนา มองว่าประเทศไทยคือกรุงเทพฯ สื่อมวลชนก็นำเสนอข่าวในมุมมองคนกรุง ยกตัวอย่าง พิธีกรคนหนึ่งบอกว่า น่าจะมีนวัตกรรมตึกหรือสวนสาธารณะสวยๆ ในกรุงเทพฯ บ้าง แล้วทำไมต้องเป็นกรุงเทพฯ ทั้งๆ ที่สื่อทีวีเป็นของคนทั้งประเทศ ไม่ต่างจากข่าวภัยพิบัติ ก่อนหน้านั้นคนต่างจังหวัดต้องรู้เรื่องการป้องกันไฟฟ้าช็อตตายไหม หรือเรื่องอื่นๆ ไหม แต่พอน้ำท่วมกรุงเทพฯ สื่อบอกทุกขั้นตอน

ปัญหาการจัดการภัยพิบัติ กลายเป็นรอยร้าวในใจคนไทย เรื่องนี้ต้องแก้ไขอย่างไร
 ผมตั้งคำถามว่า เมื่อภัยพิบัติครั้งนี้ผ่านพ้นไป เราจะมีความทรงจำทางสังคมในการบอกเล่าให้ลูกหลานฟังอย่างไร ถ้าจำได้แค่ว่า ผู้ว่าฯ กทม.กับผู้บริหาร ศปภ.(ศูนย์ปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย) ทะเลาะกัน ,ถ้าจำได้แค่ ศปภ.ล้มเหลว ต้องอพยพย้ายกองบัญชาการเพราะน้ำท่วมสองครั้ง และจำได้แค่ว่า น้ำท่วมสามเดือนไม่มีใครใส่ใจเหลียวแล เพราะรัฐมุ่งปกป้องบางพื้นที่ ถ้าความทรงจำเป็นแบบนี้ ภัยพิบัติก็เป็นรอยร้าวรอยแยกของสังคมต่อไปไม่จบสิ้น ถ้าจำได้แค่นั้นน่าเสียดาย ยังมีเรื่องราวอื่นๆ ที่น่าบอกเล่า ความสำเร็จหลายชุมชนที่ลุกขึ้นมาจัดการปัญหาตัวเอง ตอนผมไปช่วยตั้งศูนย์พักพิงในโรงเรียน ชุมชนคลองมหาสวัสดิ์  เพราะคนที่นั่นไม่อยากย้ายออก จึงต้องวางแผนจัดการให้อยู่กับน้ำได้
 ผมอยากถามว่า เมื่อเหตุการณ์น้ำท่วมผ่านไป อะไรคือความทรงจำของคนที่นี่ ถ้าพวกเขาอยู่กับน้ำได้ มันจะเป็นเรื่องราวที่พวกเขาจดจำเป็นประวัติศาสตร์ท้องถิ่นช่วงน้ำท่วมปี 2554 คุณคงได้ยินเรื่องราวของคน อ.เสนา จ.พระนครศรีอยุธยา น้ำท่วมทุกปี พวกเขาทำสะพานทั้งตลาด เขาภูมิใจเรื่องนี้มาก ต่อไปภัยพิบัติจะเกิดบ่อยครั้ง ผมไม่ได้คิดว่าโลกจะดับ แต่มีข้อมูลภัยพิบัติระดับโลกออกมาชัดเจนว่า ทั้งความถี่และขนาดของปัญหาจะมากขึ้น

จำเป็นต้องสร้างจิตสำนึกใหม่ในสังคมไทย ?
 ถ้ามองจิตสำนึกเหมือนการเอาชิปไปฝังในตัวคน หรือใส่โปรแกรม ผมไม่เห็นด้วย ในความคิดผมจิตสำนึกสัมพันธ์กับระบบโครงสร้าง มีคนบอกว่า คนญี่ปุ่นมีระเบียบเข้าแถวเวลารับสิ่งของ แต่คนไทยแย่งชิงสิ่งของกัน ไม่มีจิตสำนึก ผมอยากอธิบายว่า พฤติกรรมกับโครงสร้างเชิงระบบมีความสัมพันธ์กัน ผมไปลงพื้นที่ดอนเมือง เจอป้าคนหนึ่งมารับถุงยังชีพ ผมถามว่า "รู้ข่าวได้อย่างไร" เธอบอกว่า "ไม่รู้ สุ่มๆ เอา" ผมถามต่อว่า "ถ้าวันนี้ไม่ได้ถุงยังชีพจะทำอย่างไร" เธอตอบว่า "พรุ่งนี้...มาใหม่"
 ถ้าระบบความช่วยเหลือมีหลักประกันว่า ทุกคนที่มาวันนั้นได้ถุงยังชีพ มีการกำหนดเวลาจ่ายของแน่นอน ถ้าใครไม่ได้วันนี้ จดชื่อไว้ พรุ่งนี้มาก็ให้ไป ผมถามว่า ถ้ามีระบบแน่นอน พวกเขาจะแย่งกันทำไม เห็นไหมครับว่า จิตสำนึกเป็นเรื่องของความสัมพันธ์เชิงระบบ ถ้าเราสร้างระบบดี ธรรมชาติฝ่ายดีของมนุษย์แสดงออก ถ้าเราสร้างระบบไม่ดี ธรรมชาติฝ่ายเลวแสดงออก อันนี้เป็นตรรกะง่ายๆ คนจะทำดีหรือเลว  การปลูกฝังจากครอบครัว โรงเรียนและการศึกษา ก็สำคัญ แต่ผมอยากเปรียบเทียบให้เห็นว่า ผมเป็นหมอ พ่อแม่สอนมาตั้งแต่เด็ก ถ้าผมไปทำงานในโรงพยาบาลเอกชน พฤติกรรมของผมจะต่างจากทำงานโรงพยาบาลรัฐไหม จิตสำนึกผมเปลี่ยนเมื่อผมไปอยู่โรงพยาบาลเอกชน โครงสร้างที่นั่นก็กำหนดพฤติกรรมเรา

ถ้าอย่างนั้น...สังคมไทยกำลังหลงลืมอะไรไป
 เวลาเราพูดเรื่องการปลูกฝังจิตสำนึก เราลืมไปว่า เราต้องปรับระบบโครงสร้างควบคู่ไปด้วย ถ้าไม่ทำ เราไม่สามารถสร้างจิตสำนึกอะไรขึ้นมาได้ จิตสำนึกของคนสัมพันธ์กับความรู้สึกของชุมชน เวลาเราพูดถึงเรื่องจิตสำนึกเราพูดในความหมายว่าเรามีชีวิตอยู่ท่ามกลางคนอื่น มันเป็นมิติทางสังคม คนญี่ปุ่นจะรู้สึกว่าเป็นส่วนหนึ่งของส่วนรวม มีความจงรักภักดีต่อคนในกลุ่ม แต่ในสังคมไทยโครงสร้างเชิงระบบอนุญาตให้เรามีสำนึกเช่นนั้นน้อย ยกตัวอย่าง เราเห็นตู้โทรศัพท์ถูกทำลาย ระบบเปิดโอกาสให้เราช่วยดูแลไหม เราแจ้งความว่า มีคนทำลายสมบัติสาธารณะ รัฐจะปกป้องเราไหม เราฟ้องได้ไหม เป็นเรื่องที่พลเรือนไทยไม่สามารถมีบทบาทได้

ระบบโครงสร้างไม่เปิดโอกาสให้แสดงออกในเรื่องจิตสำนึกเพื่อส่วนรวม ?
 ไม่อนุญาตให้คนได้แสดงออกทางจิตสำนึก ถ้าคนได้แสดงออกบ่อยๆ ก็จะมีจิตสำนึกสาธารณะ ผมขอยกตัวอย่างในอเมริกา ผู้ชายคนหนึ่งออกไปออกกำลังกายในยิมฯ แต่ถูกปฏิเสธว่า โรงยิมแห่งนี้ให้ผู้หญิงออกกำลังกายเท่านั้น เขาฟ้องร้องว่า ทำไมต้องแบ่งแยก ฟ้องในฐานะผู้ถูกละเมิดสิทธิส่วนรวม แบบนี้เรียกว่า คนคนหนึ่งมีสถานะเป็นตัวแทนของส่วนรวม ระบบกฎหมายอนุญาตให้จิตสำนึกเหล่านี้แสดงออกได้อย่างเป็นรูปธรรม มีกระบวนการรองรับ ไม่เป็นภาระสำหรับเจ้าของเรื่อง

ควรวางรากฐานเรื่องนี้อย่างไร
 ถ้าอิงมาทางพุทธศาสนา จิตสำนึกเป็นกระบวนการศึกษาหรือสิกขาที่ยกระดับจิตสำนึก มีทั้งศีล สมาธิ และปัญญา ศีล คือ การอยู่ร่วมกับคนอื่น เวลาเราพูดถึงจิตสำนึก ถ้าเราพูดว่า ให้นั่งปฏิบัติธรรมใส่ชุดขาว ซึ่งผมคิดว่า ไม่เพียงพอในการเชื่อมโยงกับความทุกข์ร้อนของคนอื่น ถ้าปัจเจกชนเหล่านั้นคิดว่า แม้จะมีคนเอารัดเอาเปรียบในบ้านเมือง มีความเหลื่อมล้ำขนาดไหน ก็ไม่เป็นไร ขอนั่งเงียบๆ จิตนิ่ง สุขสงบร่มเย็นก็พอแล้ว แบบนั้นไม่ได้หรอก ไม่ผิดแต่ไม่พอ พุทธมหายานเน้นให้ออกมาทำงานช่วยเหลือคนอื่น ผมรู้สึกว่าแนวโน้มการปฏิบัติธรรมในสังคมไทยคือ ปลีกตัวออกจากสังคม  และผมอยากยกตัวอย่างอีกเรื่อง ตอนเกิดภัยพิบัติ คนจำนวนมากอยากเป็นอาสาสมัคร ผมไปทำงานสร้างสะพาน มีน้องๆ ถามว่า มาได้ยังไง ผมบอกว่า เปิดเฟซบุ๊คเจอ ผมมองว่า ถ้าคนทุกวัยต้องการแสดงออก เราพร้อมที่จะหล่อเลี้ยงให้จิตสำนึกพวกเขาเติบโตเพียงใด ก็ต้องช่วยกันคิด เพราะมีคนจำนวนมากออกมาช่วย แล้วระบบไม่เอื้อให้แสดงออก

เมื่อระบบไม่เอื้อ จะแก้ไขอย่างไร
 เมื่อคนเดินออกมาอาสาช่วยงาน เรามีหน้าที่สำคัญคือ ทำระบบเพื่อให้ศักยภาพของเขาถูกใช้เต็มที่ ตอนที่มหาวิทยาลัยจุฬาลงกรณราชวิทยาลัยถูกน้ำท่วม แต่ไม่ปิดตัว เพราะพวกเขาถามตัวเองว่า ในเมื่อทุกคนมีความสามารถด้านใดด้านหนึ่ง เมื่อเป็นผู้ประสบภัย ทำไมต้องทำให้เขากลายเป็นคนไร้ความสามารถ เมื่อคนมารวมกันเป็นร้อยๆ มีช่างตัดผม คนจะไม่อยากตัดผมบ้างไหม  ถ้ามีการสร้างระบบรองรับ ก็ทำให้จิตสำนึกเติบโต ผมไปเห็นอาสาสมัครวัยรุ่นเป็นพันๆ คนที่ ศปภ. พวกเขานั่งเป็นแถวยาวเพื่อแพ็คยา จำนวนยา 25 รายการ จะมี 25 คนที่ทำงานอย่างมีคุณค่า ที่เหลืออีก 50-60 คนแค่ส่งถุงยาต่อๆ ไป แค่นี้พวกเขาก็ดีใจที่มาช่วย สังคมไทยยังมีประสบการณ์เรื่องงานอาสาสมัครน้อย กลุ่มที่มีประสบการณ์มากคือ กลุ่มกระจกเงา เมื่อมีอาสาสมัครเข้ามา พวกเขาจะดูทักษะ แล้วให้ใช้ศักยภาพที่มีอยู่ อาสาสมัครกลับไปก็ภูมิใจและจดจำตลอดชีวิต การเป็นอาสาสมัครจึงเป็นทั้งผู้ให้และผู้รับ เป็นการลดอัตตา ไม่ใช่การเสริมอัตตา

โมเดลการสร้างอาสาสมัครในความคิดคุณหมอเป็นอย่างไร
 จำเป็นต้องสร้างระบบคู่กันไปด้วย ระบบต้องทำให้จิตสำนึกสาธารณะแสดงออก ทำให้คนเป็นอาสาสมัครได้รู้สึกว่า ทุกคืนที่ล้มตัวลงนอน คิดถึงเรื่องนี้แล้วดีใจที่ได้ทำ เคยมีการวิเคราะห์เปรียบเทียบให้เห็นว่า จำนวนชั่วโมงการทำงานอาสาสมัครของไทย เทียบกับอาสาสมัครในประเทศอาเซียน แค่เทียบกับเวียดนามและสิงคโปร์ จำนวนชั่วโมงการทำงานอาสาสมัครไทยน้อยมาก ไม่ต้องเปรียบเทียบกับอเมริกาเลย อาสาสมัครเยอะมาก
 ผมคิดว่า ต้องมีการเปิดพื้นที่ให้กับการทำงานอาสาสมัคร ผมยกตัวอย่างง่ายๆ โรงเรียนในประเทศไทยจะไม่ยอมรับให้พ่อแม่ไปปรากฏตัวในชั้นเรียนของลูก ต่างจากโรงเรียนเด็กเล็กในอเมริกาจะมีอาสาสมัครพ่อแม่เข้าไปช่วย  นั่นเพราะพ่อแม่ไทยเวลาไปเป็นอาสาสมัครในชั้นเรียน เวลาแบ่งของกินหรือดูแลเด็ก ก็เน้นลูกตัวเองก่อน ถ้าระบบไม่ดี พ่อแม่ตามใจตัวเอง ระบบก็ต้องถูกยกเลิก

ในช่วงบ้านน้ำท่วมสองเดือนกว่าๆ คุณหมอเลือกจะเป็นอาสาสมัคร  ?
 ตอนนั้นประชาชนกำลังทุกข์ทั้งแผ่นดิน ถ้ามานั่งประชุมเรื่องงานกันคงไม่ใช่เวลา พวกเราหมอชุมชนก็ไปช่วยผู้ประสบภัย บางครั้งผมก็ทำคนเดียว บางครั้งทำเป็นกลุ่ม นอกจากเข้าไปช่วยวางระบบศูนย์พักพิงคลองมหาสวัสดิ์ให้อยู่กับน้ำได้ ก็ไปดูให้กำลังใจหมออนามัยทำงานในชุมชน ประสานเครือข่ายช่วยเหลือกัน

โดยส่วนตัวแล้วได้เรียนรู้อะไรบ้าง
 สี่เรื่องที่ผมเห็น คือ 1.หัวใจที่ไม่ยอมพ่ายแพ้ ผมเข้าไปในชุมชน บางคนมีอาชีพตัดผม น้ำท่วมบ้าน ตัดผมไม่ได้ ก็ออกไปรับจ้างถูบ้านช่วงน้ำลด ตอนน้ำท่วมก็สะพายแหไปด้วย ตรงไหนมีปลาก็ทอดแห เขาไม่ได้รอรับความช่วยเหลืออย่างเดียว 2.ปัญญาที่ไม่อับจน  มีนวัตกรรมเกิดขึ้นมากมาย 3.มิตรภาพที่ไม่ทอดทิ้งกัน มีเครือข่าย พี่น้องจากภาคใต้เอารถขนอาหารมาให้ และ 4.ศรัทธาที่เชื่อมั่นว่า ถ้าผ่านภัยพิบัติครั้งนี้จะกลับมาเข้มแข็งกว่าเดิม และไม่ใช่ศรัทธาลมๆ แล้งๆ นะ ผมไปลงพื้นที่แม่น้ำท่าจีน เรือที่เราไปเป็นเรือชุมชนน้ำเค็ม จ.พังงา พวกเขาเคยประสบภัยเกือบพินาศ ปัจจุบันกลายเป็นหน่วยกู้ภัยชุมชนน้ำเค็มที่เข้มแข็งที่สุดของจังหวัด

ภัยพิบัติครั้งนี้ ทำให้คนเดือดร้อนจำนวนมาก แต่คนไทยก็ยังยิ้มได้ ถือว่าเป็นข้อดีไหม
 อย่างช่างภาพต่างชาติที่มาถ่ายภาพทำข่าวน้ำท่วม พวกนี้จะเครียดมาก เพราะไม่ได้ภาพธรรมชาติอย่างที่คาดหวัง เนื่องจากคนไทยเวลาเห็นกล้อง ก็ยิ้มใส่กล้อง แล้วทำท่าชูสองนิ้วให้ถ่ายรูป คนไทยมีวิธีคิดที่ไม่ซีเรียส หากถามว่าเป็นจุดอ่อนไหม ผมว่าเป็นทั้งจุดแข็งและจุดอ่อน ในแง่หนึ่งทำให้คนในสังคมไม่ทุกข์จนเกินไป ทั้งๆ ถูกน้ำท่วม ก็ไม่ค่อยหดหู่ซึมเศร้า จริงๆ แล้วตายเพราะถูกไฟช็อตมากกว่าซึมเศร้า แต่ในขณะเดียวกันก็กลายเป็นจุดอ่อน  คนไทยไม่ได้จริงจังกับหลายเรื่องที่ควรจะจริงจัง

โดย : เพ็ญลักษณ์ ภักดีเจริญ
กรุงเทพธุรกิจ  13 ธันวาคม 2554