ผู้เขียน หัวข้อ: ความคิดคำนึงของคนแผ่นดินเดียว  (อ่าน 1256 ครั้ง)

pani

  • Hero Member
  • *****
  • กระทู้: 756
    • ดูรายละเอียด
ความคิดคำนึงของคนแผ่นดินเดียว
« เมื่อ: 08 ธันวาคม 2011, 00:16:01 »
ผู้เขียนเกิดภายหลังการขึ้นครองราชย์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลปัจจุบัน 2 ปี แต่เกิดก่อนพิธีบรมราชาภิเษกเป็นพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวตามโบราณราชประเพณี 2 ปีเหมือนกัน

ที่ต้องเกริ่นเรื่องนี้ขึ้นมาเนื่องจากมักมีการสับสนระหว่างวันขึ้นครองราชย์ (9 มิถุนายน พ.ศ.2489) กับวันทรงเข้าพิธีบรมราชาภิเษกเป็นพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวตามโบราณราชประเพณี (5 พฤษภาคม พ.ศ.2493 วันฉัตรมงคล) และเพื่อเป็นการยืนยันตามหัวเรื่องว่าผู้เขียนเกิดในสมัยรัชกาลที่ 9 และมีความภาคภูมิใจเป็นอย่างสูงที่เป็นคนแผ่นดินเดียว ทั้งๆ ที่ชอบอ่านหนังสือเรื่อง สี่แผ่นดินของ ม.ร.ว.คึกฤทธ์ ปราโมช มาตั้งแต่เด็ก

ความภาคภูมิใจของผู้เขียนที่เป็นคนแผ่นดินเดียวเนื่องจากผู้เขียนได้เกิดมาภายใต้พระบรมโพธิสมภารของพระมหากษัตริย์ผู้ทรงคุณอันประเสริฐดังพระวรธรรมคติของสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายกได้แสดงถึงเรื่องส่วนพระองค์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวของปวงชนชาวไทยองค์ปัจจุบันไว้อันเป็นความจริงแท้ที่มีกาลเวลาเป็นเครื่องพิสูจน์ว่า

"สมเด็จพระบรมบพิตร พระราชสมภารเจ้า พระผู้ทรงคุณอันประเสริฐ

ไม่ทรงเป็นโทษเป็นภัยแก่พสกนิกร ไพร่ฟ้า ข้าแผ่นดิน

ไม่ทรงอาศัยความโลภ ความโกรธ ความหลงใดๆ ทั้งสิ้น

ในความทรงเกี่ยวข้องกับผองชาวประชา

ทรงอาศัยพระมหากรุณาเป็นที่ตั้งจริง

ปรากฏชัดในสารพัดสิ่งที่ทรงกระทำเพื่อข้าแผ่นดินทั้งนั้น

ทรงปกครองประเทศชาติชาวประชาได้ร่มเย็นเป็นสุข"

ตัวผู้เขียนเองมิได้มีบุญวาสนาตามเสด็จพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวไปในที่ต่างๆ แต่ก็ได้เห็น ได้ยินและได้อ่านพระราชกรณีกิจที่ทรงทำอยู่เป็นกิจวัตรและที่ประทับใจยิ่งคือข้อเขียนของท่าน อาจารย์ ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล ที่เขียนไว้ ดังนี้คือ

"สมัยก่อนประชาชนยังยากจนอยู่ ในช่วงแรกๆ ของ พ.ศ.2524 ที่ผมได้มีโอกาสได้เข้าไปถวายงาน ช่วงแรกๆ นั้น ทั้งปีแทบไม่ได้อยู่บ้านเลย เพราะเสด็จแปรพระราชฐานแห่งละ 2 เดือน เดือนละ 4 ภาค ก็ 8 เดือน ที่เหลือ 2 เดือนเท่านั้นเองที่อยู่กรุงเทพฯ ได้ตามเสด็จฯ ทุกวัน เหนื่อยยากมาก เมื่อเวลาที่จะทรงให้ออกไป ณ ที่ใด จะรับสั่งอย่างเรียบง่ายว่า ′เดี๋ยวบ่ายวันนี้ไปเที่ยวกัน′ การไปเที่ยวของพระองค์คือการออกไปเดินบุกป่าฝ่าดง ลุยน้ำลุยท่าตากแดดตากฝน ขึ้นเขาลูกแล้วลูกเล่า

"สิ่งนี้คือไปเที่ยว ซึ่งความสุขของพระองค์อยู่ตรงนั้น ทรงสนุกสนาน และก็จะได้เห็นพระองค์ท่านประทับอยู่ท่ามกลางพสกนิกร และผมรู้สึกจริงๆ ว่าทรงมีความสุข

"ถึงแม้ว่าทรงจะเหน็ดเหนื่อยพระวรกาย พระเสโทไหลอาบพระวรกาย อาบพระพักตร์หมดก็ตาม พระองค์จะเสด็จออกจากพื้นที่กลับมาตี 1 ตี 2 ถือว่าเป็นเรื่องปกติ เพราะฉะนั้นจากพระราชภารกิจของพระองค์ ผมจึงคิดว่าเราอยู่ได้ทุกวันนี้เพราะพระมหากษัตริย์ คิดว่าคำพูดนี้ไม่ใช่เป็นเรื่องที่เกินเลยแม้แต่น้อย ผมคิดว่าเหล่าพสกนิกรของพระองค์ล้วนประจักษ์ในความจริงข้อนี้ เพราะฉะนั้นพระองค์จึงทรงอยู่ใกล้ชิดประชาชน ทรงประทับอยู่ในดวงใจของประชาชนทุกผู้คน พระองค์รับสั่งว่า เรา จะอยู่สุขสบายได้อย่างไร หากคนที่อยู่รอบข้างเรานั้นยังเดือดร้อนอยู่ ต้องแบ่งเบาความทุกข์ยากของเขาบ้างตามกำลังและความสามารถเท่าที่จะทำได้

"เพราะฉะนั้นจะเห็นได้ว่าตลอดเวลา 60 ปีนั้น ภาพของพระองค์ท่านทรงอยู่ใกล้ชิดประชาชน ทรงโน้มพระวรกายลงไปหาประชาชนที่มาเฝ้าแหนเฝ้าฯ กันเป็นชั่วโมงๆ ภาพของพระเจ้าแผ่นดินที่ทรงคุกเข่าต่อหน้าประชาชน ภาพที่ประทับนั่งพับเพียบอยู่กลางดินกลางทราย กลางถนนลูกรัง หรือทรงสนทนากับประชาชนนั้น เป็นภาพที่เราคนไทยเห็นกันมาตลอดระยะเวลา 60 ปี ซึ่งเป็นภาพที่หายากที่พระเจ้าแผ่นดินพระองค์ใด จะมาประทับนั่งพับเพียบอยู่กับประชาชนกลางดินกลางทรายเช่นนั้น"

ข้อเขียนของ ดร.วิษณุ เครืองาม ที่เสนอต่อไปนี้ก็ตอกย้ำถึงความจริงแท้ของพระวรธรรมคติของสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายกในเชิง Empirical อย่างแท้จริง

"ในการมีพระราชดำริ พระราชดำรัส และการทรงงานใดๆ ไม่มีเลยสักเรื่องที่จะแสดงว่าทรงรับเอาประโยชน์ส่วนพระองค์แม้พสกนิกรจะเต็มใจถวาย

"สมัยจอมพลถนอมเป็นนายกฯ คราวหนึ่งประจวบโอกาสครองราชย์ครอบ 25 ปี (พ.ศ.2514) รัฐบาลจะสร้างพระบรมราชานุสาวรีย์และถาวรวัตถุใหญ่โต ′ที่สุดในประเทศ′ ถวาย รับสั่งว่าสิ้นเปลืองและไม่เป็นประโยชน์แก่ประชาชน สร้างถนนกันรถติดดีกว่า นี่คือที่มาของถนนรัชดาภิเษก

"สมัยคุณบรรหารเป็นนายกฯ เคยกราบบังคมทูลว่า จะสร้างทาวเวอร์หรือหอคอยสูงใหญ่ข้างสะพานพระราม 9 ใช้เป็นหอดูวิว หอโทรคมนาคม และเฉลิมพระเกียรติ รับสั่งว่าเทคโนโลยีสมัยนี้ไม่ต้องสร้างหอโทรคมนาคมและเปลืองเงินเปล่าๆ

"นายกฯคนหนึ่งเคยกราบบังคมทูลถามว่า ที่พระอนุสาวรีย์กรมหลวงชุมพรฯ หน้าทำเนียบรัฐบาลนั้น ตอนพลบค่ำคนมักมาจุดประทัดแก้บน บางทีก็ยิงปืนสนั่นหวั่นไหว ดังรบกวนมาถึงสวนจิตรฯ หรือไม่ รับสั่งว่า อยู่ที่หลักการว่าทำอย่างนั้นผิดกฎหมายไหม ถ้าผิดก็ต้องห้าม แต่ถ้าเป็นเสรีภาพก็ต้องปล่อยไป รำคาญหนวกหูก็ต้องทน อย่าใช้มาตรฐานสวนจิตรฯ หรือทำเนียบรัฐบาลมาตัดสิน

"สมัยนายกฯทักษิณ เคยกราบบังคมทูลว่า เมื่อประทับรักษาพระองค์ที่วังไกลกังวลอย่างนี้ รัฐบาลจะขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้สำนักพระราชวังปรับปรุงวังไกลกังวล ให้สะดวกสบายสมกับที่จะใช้เป็นที่ประทับยาวนนาน รวมทั้งจะปรับปรุงโรงพยาบาลหัวหินให้ทันสมัยพร้อมทุกประการ

"รับสั่งว่า การปรับปรุงโรงพยาบาลเป็นประโยชน์แก่ทุกคนถ้ามีงบก็ควรทำ แต่การปรับปรุงวังไกลกังวลเป็นเรื่องพระสำราญ "แค่นี้ก็พออยู่พอเพียงแล้ว"

รัฐบาลหลายคณะ เคยออกกฎหมายที่มุ่งจะเฉลิมพระเกียรติเช่นมีคำว่า "พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช" มีพระราชกระแสให้รัฐบาลนำกลับไปปรับปรุงเพราะ "ไม่อาจทรงสถาปนาพระองค์เองได้" เช่นเดียวกับที่ใน พ.ศ.2512 ไม่ทรงลงพระปรมาภิไธยในร่างพระราชบัญญัติยศทหารซึ่งถวายพระยศทางทหารเป็น จอมพล จนร่างพระราชบัญญัตินั้นตกไปเองในที่สุด

รัชกาลนี้ทรงลงพระปรมาภิไธยตรากฎหมายมาแล้ว ทั้งที่เป็นพระราชบัญญัติ พระราชกำหนด พระราชกฤษฎีกานับหมื่นฉบับ ทรงวินิจฉัยฎีกานักโทษ ฎีการ้องทุกข์ขอพระราชทานความเป็นธรรมอีกหลายพันราย บางรายขอพระราชทานยืมเงิน บางรายขอความเป็นธรรมเรื่องแต่งตั้งโยกย้ายราย หนึ่งพ่อตาย ลูกชายบวชหน้าไฟให้พ่อ อยู่มาก็ไม่ยอมสึก แม่มีลูกชายคนเดียวทำหนังสือถวายฎีกาว่าเดือดร้อนหนัก ขอพระมหากรุณาให้ลูกสึกมาช่วยเลี้ยงแม่เถิด โปรดให้ตรวจสอบแล้วมีพระราชกระแสว่า แท้จริงแม่ไม่ได้อยากให้ลูกสึก แต่ปัญหาคือแม่ลำบากยากจน จึงโปรดให้กรมประชาสงเคราะห์เข้าไปช่วยดูแล สอนอาชีพให้และหาเครื่องมือทำมาหากินไปให้แม่

ลงท้ายแม่ก็ทำมาหากินได้ ส่วนลูกก็อยู่ไปจนเป็นสมภาร

ขอจงทรงพระเจริญในวาระมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 7 รอบ 5 ธันวาคม 2554 นี้

โดย โกวิท วงศ์สุรวัฒน์
มติชนออนไลน์  7 ธันวาคม พ.ศ. 2554