ผู้เขียน หัวข้อ: KING BHUMIBOL ADULYADEJ: A LIFE'S WORK พระเจ้าอยู่หัวในสายตาฝรั่ง  (อ่าน 1305 ครั้ง)

pani

  • Hero Member
  • *****
  • กระทู้: 756
    • ดูรายละเอียด
บางสิ่งที่คนไทยรู้และเชื่อมั่น อาจเป็นเพียงเสียงลือเสียงเล่าอ้าง...

อุณหภูมิทางการเมืองไทยที่ร้อนแรงสร้างความเปลี่ยนแปลงต่อชุดความเชื่อหลายประการในสังคมไทย ที่เห็นเด่นชัดคือคนไทยแบ่งฝักแบ่งฝ่ายด้วยเชื่อมั่นว่าฝ่ายตนคือฝ่ายถูก เหตุการณ์ทั้งหลายบานปลายกลายเป็นการชุมนุมเรียกร้อง ผลกระทบค่อยๆ ลุกลามสู่ภาคส่วนต่างๆ แต่แล้วสิ่งที่ไม่น่าเชื่อก็บังเกิดเมื่อสถาบันกษัตริย์ถูกดึงลงมาเกี่ยวข้องกับความขัดแย้งครั้งนี้ด้วยลมปาก อารมณ์ และชุดความเชื่อผิดๆ ของคนบางคนหรือบางกลุ่ม
 ประเด็นนี้สร้างความหมองหม่นใจแก่ชาวไทยมากมาย เพราะศูนย์รวมจิตใจอันแท้จริงคือสถาบันพระมหากษัตริย์ ซึ่งถ้าหากสังเกตให้ดีจะพบว่ายังไม่มีพื้นที่ใดเลยสำหรับให้พระองค์ท่านเล่าแถลงข้อเท็จจริง มีเพียงเสียงจากด้านหนึ่งด้านเดียวเท่านั้นที่สาดเสียเทเสียอย่างไม่ยั้งคิด
 กระทั่งวันนี้ที่แผงหนังสือบางแห่งเริ่มปรากฏหนังสือเล่มหนา มีพระบรมฉายาลักษณ์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ อยู่บนปก นัยหนึ่ง...นี่บ่งชี้ว่าใกล้ถึงวันเฉลิมพระชนมพรรษา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ อีกครั้ง
 แต่อีกนัยหนึ่ง พื้นที่บอกเล่าเรื่องราวอันแท้จริงเกี่ยวกับพระองค์ท่านเพิ่มขึ้นแล้ว...
 -1-
 ด้วยชื่อหนังสือ King Bhumibol Adulyadej: A Life's Work พอจะเดาได้แล้วว่าเนื้อความภายในนั้นจะต้องเป็นภาษาอังกฤษ เกี่ยวกับในหลวง ด้วยขนาดเล่มอันใหญ่โต จำนวนหน้าถึง 384 หน้า บางคนอาจตัดสินไปแล้วว่าต้องน่าเบื่อ เพราะเรื่องเกี่ยวกับในหลวงได้รับการถ่ายทอดลงบนหน้ากระดาษนับครั้งไม่ถ้วน แต่ละครั้งก็แทบจะซ้ำเดิมเสมอมา
 ทว่า หากรู้ว่าหนังสือ King Bhumibol Adulyadej: A Life's Work เกิดขึ้นจากฝีไม้ลายมือนักเขียนชาวต่างชาติเกือบสิบชีวิต อาทิ ดร.คริส เบเกอร์ ซึ่งเป็นอาจารย์สอนวิชาประวัติศาสตร์เอเชียและการเมืองที่มหาวิทยาลัยเคมบริดจ์และเป็นผู้เขียนหนังสือเกี่ยวกับประเทศไทยหลายเล่ม รวมทั้งหนังสือ A History of Thailand เดวิด สเตร็คฟัสส์ ผู้เขียน Truth on Trial in Thailand รศ.ดร.พอพันธ์ อุยยานนท์ เจ้าของผลงานวิจัยเกี่ยวกับประวัติศาสตร์เศรษฐกิจและการพัฒนาประเทศไทย รวมถึงนักหนังสือพิมพ์ชาวต่างประเทศ ได้แก่ จูเลียน เกียริ่ง อดีตผู้สื่อข่าวประจำกรุงเทพฯ ของนิตยสารเอเชียวีค พอล วิเดล ประธานสถาบันคีนันแห่งเอเชีย อดีตผู้สื่อข่าวของสำนักข่าวยูพีไอและอดีตนายกสมาคมผู้สื่อข่าวต่างประเทศแห่งประเทศไทย โรเบิร์ต ฮอร์น ซึ่งเคยเป็นผู้สื่อข่าวประจำประเทศไทยให้กับนิตยสารไทม์และสำนักข่าวเอพี รวมทั้งเขียนบทความให้กับนิตยสารฟอร์จูน บิสซิเนสวีคและอินสติ-ติวชั่นนัล อินเวสเตอร์ และริชาร์ด เออร์ริค ซึ่งทำหน้าที่ผู้สื่อข่าวประจำประเทศไทยให้กับเดอะ วอชิงตันไทมส์ สถานีวิทยุบีบีซีและเว็บไซต์ของซีเอ็นเอ็น
 และได้รับการตรวจทานจากคณะกรรมการที่ปรึกษากองบรรณาธิการ ซึ่งมีอดีตนายกรัฐมนตรี อานันท์ ปันยารชุน เป็นประธาน โดยคณะกรรมการที่ปรึกษาประกอบด้วยผู้เชี่ยวชาญจากหลากหลายสาขาที่เกี่ยวข้องกับพระราชกรณียกิจ ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสถาบันพระมหากษัตริย์ อาทิ ท่านผู้หญิงบุตรี วีระไวทยะ, ดร.ธีรวัต ณ ป้อมเพชร, ดร.ดวงทิพย์ สุรินทาธิป, ปราโมทย์ ไม้กลัด, ดร.พิสุทธิ์ วิจารณ์สรณ์, ดร.สนธิ เตชานันท์, ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล, ธีรกุล นิยม และ ดร.วิษณุ เครืองาม
 ผู้เรียบเรียงเนื้อหาของหนังสือ ได้แก่ นิโคลัส กรอสแมน บรรณาธิการหนังสือ Chronicle of Thailand: Headline News Since 1946 และ โดมินิค ฟาวเดอร์ ซึ่งเคยรับหน้าที่บรรณาธิการเรียบเรียงหนังสือ The King of Thailand in World Focus ให้กับสมาคมผู้สื่อข่าวต่างประเทศแห่งประเทศไทย ซึ่งเขาเคยดำรงตำแหน่งนายกสมาคมฯ มาแล้ว โดยมี กริสรินทร์ จูงศิริวัฒน์ รับหน้าที่หัวหน้าทีมตรวจสอบข้อมูลและค้นคว้ารูปภาพ
 เมื่อเรื่องราวของพระมหากษัตริย์ไทยถูกถ่ายทอดผ่านสายตาชาวฝรั่งมังค่าย่อมไม่ใช่พระราชประวัติหรือพระราชกรณียกิจในมุมมองที่คนไทยคุ้นเคยเป็นแน่
 -2-
 ดร.ธีรวัต ณ ป้อมเพชร เล่าให้ฟังหลังจากที่ได้อ่านถึง 5 รอบว่า ในฐานะนักประวัติศาสตร์พบว่าการเขียนหนังสือที่เกี่ยวกับพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ มักจะเป็นการเยินยอ หรือในอินเทอร์เน็ตก็เป็นเพียงการถกเถียงกัน แต่หนังสือเล่มนี้เป็นข้อเท็จจริงและไม่ชวนเชื่อให้ไปทางใดทางหนึ่งซึ่งสำหรับคนที่ศึกษาประวัติศาสตร์เป็นเรื่องสำคัญมาก
 อีกสิ่งที่อาจารย์ธีรวัตมองเห็นคล้ายกับที่คนไทยเห็นมาโดยตลอดคือระยะหลังประเด็นพระราชประวัติ พระราชกรณียกิจ หรือสถาบันฯ ถูกดึงลงต่ำมาก มิหนำซ้ำยังถูกโจมตีด้วยข่าวลือข่าวโคมลอย
 "ถ้ามีหนังสือเล่มนี้ อย่างน้อยคนเขียนก็อยู่บนพื้นฐานของข้อเท็จจริง ซึ่งเป็นหนังสือเล่มแรกที่เวลาผมไม่แน่ใจข้อมูลจะโทรไปถามหน่วยงานในวังหรือกระทรวงหรืออะไรที่เกี่ยวข้องว่าอันนี้จริงหรือเปล่า เพราะฉะนั้นการตรวจสอบข้อมูลค่อนข้างเข้มแข็ง"
 แต่ก่อนที่เนื้อหาจะได้รับการร้อยเรียงอย่างงดงาม ผู้เขียนซึ่งเป็นชาวต่างชาติจำเป็นต้องศึกษาประวัติศาสตร์ชาติและสถาบันกษัตริย์ไทยอย่างถ่องแท้ เมื่อสืบค้นลงลึกจึงพบว่ามีหลายสิ่งที่คนไทยไม่รู้ แต่ทั้งหมดทั้งมวลพวกเขาถักทอขึ้นออย่างตรงไปตรงมาที่สุด การสรรเสริญเยินยออย่างไร้เหตุผลจึงไม่ปรากฏ
 โดมินิค ฟาวเดอร์ ผู้เรียบเรียงและบรรณาธิการ กล่าวถึงความตรงไปตรงมาของหนังสือเล่มนี้ว่าไม่ได้มีจุดประสงค์เพื่อสนับสนุนใครหรือกลุ่มใด เพียงต้องการเสนอความจริง
 "การเริ่มต้นของการเขียนหนังสือเล่มนี้ไม่ได้มีจุดประสงค์เพื่อสนับสนุน ส่งเสริม เพื่อที่จะไปวิจารณ์อะไรใดๆ บวกหรือลบ ผมมีจุดมุ่งหมายเดียวคือเสนอความจริงที่เกิดขึ้นอย่างตรงไปตรงมา ผมเชื่อมั่นว่าคนที่อ่านหนังสือเล่มนี้ไม่ว่าจะคนไทยเองก็ดี หรือชาวต่างชาติก็ดี จะได้อ่านความจริงที่เกิดขึ้น มีหลักฐานพร้อม ผมใช้ข้อมูลที่เยอะมาก เสนอในรูปแบบที่น่าอ่านน่าติดตาม ส่วนอ่านแล้วผู้อ่านมีความคิดเห็นทางใดก็เป็นเรื่องของวิจารณญาณ แต่ในฐานะของผู้เขียนข้อมูลต่างๆ นี้จะทำให้ผู้อ่านรับทราบข้อมูลได้ดีขึ้น เป็นข้อมูลที่ผมเชื่อว่าหลายคนไม่เคยทราบไม่เคยรู้มาก่อน
 หลังจากเขียนเสร็จแล้ว ผมได้รู้ ได้ทราบอะไรมากขึ้นซึ่งน่าจะส่งผลดีต่อผู้อ่านด้วย"
 สำหรับ ดิดิเยร์ มิลเยต์ ผู้บริหารสำนักพิมพ์ เอดิซิยองส์ ดิดิเยร์ มิลเยต์ ผู้จัดพิมพ์หนังสือเล่มนี้ เปิดเผยว่า หัวใจของหนังสือเล่มนี้อยู่ที่การทำงานอย่างตรงไปตรงมาของนักเขียน ยังประโยชน์ให้ถ่ายทอดเรื่องราวได้อย่างอิสระ ไม่มีสิ่งใดครอบทับไว้
 "ชาวต่างชาตินี้เขาสนใจ และเขาทำงานอย่างจริงจังตั้งใจเพื่อนำเสนอความจริงอย่างตรงไปตรงมาที่เกี่ยวกับพระราชประวัติ พระราชกรณียกิจและสิ่งที่เราเรียกว่าสถาบันพระมหากษัตริย์ โดยองค์รวมเลยนักเขียนอิสระเหล่านี้ก็ทำงานร่วมกันกับทีมที่ปรึกษาซึ่งนำทีมโดยท่านอานันท์ ปันยารชุน ตรงนี้ถือเป็นจุดขายหลัก ที่ทำให้หนังสือเล่มนี้น่าสนใจ ถึงแม้จะดูหนา ดูเป็นหนังสือที่น่าเบื่อ อ่านแล้วง่วงนอน บอกได้เลยว่าไม่นะครับ น่าสนใจ น่าติดตาม สมดุล ไม่เอียงไปด้านใดด้านหนึ่ง"
 -3-
 หนังสือ King Bhumibol Adulyadej: A Life's Work กล่าวถึงพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชซึ่งทรงเป็นองค์พระประมุขที่ครองราชย์ยาวนานที่สุดในโลกและทรงเป็นหนึ่งในผู้นำที่น่าสนใจที่สุดของโลก พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ เสด็จขึ้นครองราชย์ โดยมิได้มีผู้ใดคาดคิดมาก่อนเมื่อพ.ศ.2489 ทั้งที่พระองค์เสด็จพระราชสมภพในสหรัฐอเมริกาและทรงศึกษาในยุโรป
 อาจมีคำถามมากมาย อาทิ กษัตริย์หนุ่มของไทยทรงปรับเปลี่ยนพระองค์ไปพร้อมๆ กับสถาบันพระมหากษัตริย์อย่างไร, ในรัชสมัยของพระองค์เกิดเหตุการณ์ใดบ้างที่เป็นช่วงเวลาแห่งความปลื้มปิติและช่วงเวลาแห่งวิกฤติ หรือ ทำไมพระองค์จึงเป็นกษัตริย์ที่ได้รับการเคารพมากที่สุดพระองค์หนึ่งในประวัติศาสตร์ชาติไทย ซึ่งล้วนมีคำตอบ
 คณะผู้เขียนได้บันทึกพระราชประวัติของพระองค์ตลอดเกือบเก้าทศวรรษที่เต็มไปด้วยเหตุการณ์ต่างๆ และความก้าวหน้าทั้งภายในและภายนอกประเทศ ทำให้ทราบว่าเหตุใดเรื่องการพัฒนาประเทศจึงเป็นพระราชปณิธานหลักของพระองค์ รวมทั้งแนวทางที่พระองค์ทรงนำมาใช้เพื่อยกระดับความมั่นคงและชีวิตความเป็นอยู่ของราษฎร
 นอกจากนั้นยังนำเสนอมุมมองใหม่ๆ ในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับสถาบันพระมหากษัตริย์ที่ไม่มีผู้ใดศึกษามากนักและยังมีความเข้าใจอย่างคลาดเคลื่อน เช่น เรื่องของคณะองคมนตรี สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ กฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพและการสืบราชสันตติวงศ์ หลายเรื่องกำลังเป็นที่ถกเถียงในสังคมเพราะขาดองค์ความรู้เหล่านี้
 หลายต่อหลายเรื่องทั้งประเด็นใหญ่กระทั่งเบ็ดเตล็ด ก็ถูกนำมาเล่าผ่านปลายปากกาของกลุ่มผู้เขียนฝรั่งซึ่งยืนยันว่าตรงและสมดุล อาทิ
 ...พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดลและสมเด็จพระอนุชาทรงไม่เคยเสด็จห่างกัน พระองค์พี่ทรงอ่อนโยน สุขุม ทรงยอมผ่อนผันและปกป้องพระองค์น้อง ผู้ทรงเป็นเสมือนพระสหายที่สนิทที่สุดอยู่เสมอ สมเด็จพระพี่นางเธอเจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนาฯ ทรงเล่าไว้ว่า “ทรงเป็นมากกว่าพี่น้อง ทรงเป็นเหมือนฝาแฝดกันเลยและทรงเป็นเพื่อนที่รักกันมากกว่าเพื่อนอื่นๆ จะพอพระทัยในการเล่นด้วยกันมากกว่าเล่นกับผู้อื่น”...(พระราชประวัติ (พระชนมพรรษาครบ  2 รอบ) หน้า 72)
 ...ในทางกฎหมาย สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์เป็นนิติบุคคล สำนักงานฯ มิใช่ส่วนหนึ่งของการบริหารงานในพระราชวัง และในขณะเดียวกันก็มิได้เป็นองค์กรเอกชน แต่เป็นสถาบันที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัวและเป็นสถาบันที่มีความซับซ้อน สำนักงานฯ ไม่มีหน้าที่ต้องแสดงให้สาธารณชนเห็นถึงรายละเอียดข้อมูลบัญชีและกิจกรรมต่างๆ หากแต่ว่าในหลายปีที่ผ่านมาทางสำนักงานฯ ได้ตอบสนองต่อความต้องการที่จะแสดงข้อมูลต่อสาธารณชนให้มากขึ้น...(ทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ หน้า 283)
 ...ตำรวจ ศาลและอัยการของไทยเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐเช่นเดียวกับในทุกๆ ประเทศ แต่กลับขาดหลักปฏิบัติที่ชัดเจนในกรณีการหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ซึ่งเป็นผลให้เจ้าหน้าที่ โดยเฉพาะตำรวจเกรงกลัวที่จะถูกกล่าวหาว่ากระทำมิชอบในหน้าที่ หากไม่ตอบสนองต่อการร้องทุกข์ในกรณีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพใดๆ ที่ได้รับแจ้งที่สถานีตำรวจ...(กฏหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ หน้า 309)
 -4-
 สำหรับ อานันท์ ปันยารชุน ผู้รับใช้เบื้องพระยุคลบาทมาเกือบตลอดชีวิต หนังสือเล่มนี้เปรียบดั่งสิ่งแทนความจงรักภักดี และประวัติศาสตร์ของชาติที่คนไทยควรรู้ หลังจากที่ไม่รู้หรือรู้ผิด
 "ผมอยากจะเล่าความหลังสักหน่อย ตั้งแต่สมัยที่ผมเป็นเด็ก หลายสิบปีแล้ว ตอนที่จะไปเรียนหนังสือที่เมืองนอก ก็อยากจะรู้เรื่องเมืองไทยมากขึ้น เพราะรู้สึกว่าสิ่งที่เรารู้อาจจะไม่พอ ถ้าไปถึงต่างประเทศแล้วคนถามถึงเรื่องประเทศไทยในแง่ประวัติศาสตร์ก็ดี ในแง่ศาสนาก็ดี หรือในแง่อื่นๆ ก็ดี เราไม่รู้จะตอบอย่างไร ผมจำได้ว่าเมื่อตอนอายุ 16 ปี มีคนแนะนำให้ผมอ่านหนังสือประวัติศาสตร์เมืองไทย
 เท่าที่ผ่านมา ชีวิตของผมไม่ว่าจะทำงานที่ไหน จะมีปัญหาอยู่ว่าสิ่งที่คนไทยจะขาดและคนไทยค่อนข้างจะอ่อนหัด คือ เราคนไทยทั้งหลายไม่ว่าจะเป็นนักการเมือง ข้าราชการหรือบุคคลทั่วไป ไม่สามารถอธิบายให้คนต่างชาติเข้าใจได้ เราไปประเทศไหนก็แล้วแต่ ถ้าเราจะไปถามคนชาตินั้นว่าควรจะอ่านหนังสืออะไร คนส่วนใหญ่จะตอบได้ทันที ทั้งนี้ทั้งนั้นคนไทยควรจะอ่านหนังสืออะไรเกี่ยวกับเมืองไทย คำแนะนำที่เราจะได้รับส่วนใหญ่จะเป็นหนังสือเกี่ยวกับการท่องเที่ยว ซึ่งไม่ได้บอกว่ามันไม่สำคัญ แต่ชีวิตของประเทศชาติ ชีวิตของสังคมไม่ได้อยู่ที่การท่องเที่ยวเท่านั้น มันอยู่ด้วยเรื่องของประวัติศาสตร์ ซึ่งเราน้อยมากที่จะอ่านหนังสือไทย หนังสือประวัติศาสตร์ในภาษาอื่นที่ไม่ใช่ภาษาไทย และสิ่งสำคัญของสังคม คือ Social History เราก็ไม่ค่อยมี แต่สิ่งที่สำคัญที่สุดคือ วัฒนธรรมไทยคืออะไร"
 ซึ่งอดีตนายกรัฐมนตรียังกล้าท้าทายคนไทยส่วนมากได้เลยว่าหากมีใครถาม อยากรู้เรื่องเมืองไทย เรื่องวัฒนธรรม น้อยคนนักจะตอบได้ด้วยข้อเท็จจริง
 "เมืองไทยคืออะไร เมืองสยามคืออะไร เราจะรู้แต่ว่ามาจากเมืองจีนทางใต้ มีคนมอญ คนเขมร คนนู่นคนนี่ เรารู้ถึงเรื่องพ่อขุนรามคำแหง รู้ถึงเรื่องสุโขทัย รู้ถึงเรื่องอยุธยา แต่หนังสือที่ผ่านมาที่พวกเราอ่านแล้วแค่บอกว่าอะไรเกิดขึ้น แต่ไม่ได้อธิบายว่าทำไมจึงเป็นอย่างนั้น ถามว่าวัฒนธรรมเกิดขึ้นได้อย่างไร วัฒนธรรมเกิดขึ้นได้จากหลายอย่าง มีหลายแขนง มีหลายส่วน ที่เกี่ยวข้องที่ผูกพันกัน ผูกโยงกัน จนทำให้ได้ว่า นี่คือคนสยาม นี่คือคนไทย นี่คือประเทศสยาม นี่คือประเทศไทย"
 และสยามหรือไทยที่ก่อกำเนิด เติบโตมาจนทุกวันนี้ ก็ด้วยพระบารมีของพระมหากษัตริย์ทั้งสิ้น อานันท์ อธิบายว่า ไม่ว่าจะคุณความดีหรือข้อบกพร่องตั้งแต่อดีต ผ่านมาทุกราชวงศ์ ทุกแผ่นดิน เป็นสิ่งที่คนไทยจำเป็นต้องรู้ ทว่า ยังไม่เคยมีใครเขียนเรื่องเหล่านี้เป็นเรื่องเป็นราวไม่ว่าจะภาษาไทยหรือฝรั่ง กระทั่ง 20-30 ปีที่ผ่านมา เขาสังเกตได้ว่าทั้งคนไทยและต่างชาติเริ่มตื่นตัว มีการพูดถึงสถาบันกษัตริย์มากขึ้น รวมทั้งเรื่องที่เกี่ยวโยงกับสถาบันฯ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องคณะองคมนตรี ที่มาที่ไป หน้าที่ ถูกต้องหรือไม่ หรือทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ เกิดมาได้อย่างไร มีประวัติศาสตร์อย่างไร
 "สิ่งเหล่านี้ต้องจารึกไว้ และเราต้องพูดความจริง หนังสือเล่มนี้พูดความจริงครับ พูดความจริงในทุกๆ เรื่อง เรื่องเมืองไทย ซึ่งสถาบันพระมหากษัตริย์เป็นที่เคารพรัก ที่สักการะ และอื่นๆ เราพูดความจริงถึงที่มาที่ไปของประวัติศาสตร์ เราพูดความจริง ถึงแม้จะเป็นจุดอ่อนเราก็พูด ในประเด็นใดที่มีการถกเถียงหรือการทะเลาะเบาะแว้งในสังคมไทยเราก็พูดทั้งสองด้าน เราไม่หนีความจริง เราไม่หนีข้อโต้แย้ง และเราไม่ตัดสินใจแทน แต่เรายกระดับของการถกเถียง การถกเถียงกัน การมีความเห็นแตกต่างกันไม่ใช่ของแปลก ไม่ใช่ของน่าอาย จริงๆ แล้วเป็นของที่น่าจะส่งเสริม แต่ขออย่างเดียวได้ไหม การถกเถียงทั้งหลายขอให้อยู่กับข้อเท็จจริง ไม่ได้ขึ้นอยู่กับข่าวลือ...
 ...อันนี้แหละครับที่ผมคิดว่าเป็นช่องว่างของสังคมไทย ผมคิดว่าหนังสือเล่มนี้จะเติมช่องว่างนี้ ช่องว่างของความรู้เกี่ยวกับเมืองไทย เกี่ยวกับคนไทย เกี่ยวกับชาติไทย เกี่ยวกับสถาบันของชาติ ไม่ใช่แค่ความรู้ แต่นำไปสู่สิ่งที่เรียกว่าความฉลาด"

โดย : ปริญญา ชาวสมุน
กรุงเทพธุรกิจ 4 ธันวาคม 2554