ผู้เขียน หัวข้อ: “หมอบุญ” เผย รพ.เครือธนบุรี ใช้ AI ให้บริการทางการแพทย์เกือบ 100%  (อ่าน 74 ครั้ง)

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9760
    • ดูรายละเอียด
“หมอบุญ” เผยเครือธนบุรี ใช้ AI ให้บริการทางการแพทย์เกือบ 100% หนึ่งเดียวของไทยไม่ใช้กระดาษใน รพ.

วันนี้ (21 มิถุนายน 2566) ที่คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล มีการประชุมและจัดแสดงนวัตกรรมทางการแพทย์ ในงานประชุมวิชาการนานาชาติด้านการแพทย์และการสาธารณสุข พ.ศ.2566 หรือ Siriraj International Conference In Medicine And Public Health 2023 (SICMPH 2023) ในหัวข้อ AI Disruption In Healthcare Industry

นายฐิติพงศ์ นันทาภิวัฒน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการ บริษัท โรงพยาบาลธนบุรี บำรุงเมือง จำกัด เปิดเผยว่า ปัจจุบันมีการนำ AI หรือปัญญาประดิษฐ์มาใช้ในชีวิตประจำวันโดยไม่รู้ตัว เช่น นาฬิกาตรวจวัดสุขภาพ (Smart Watch) การเล่นเฟซบุ๊ก หรือแม้แต่การใช้เว็บไซต์กูเกิลที่มี AI วิเคราะห์พฤติกรรมของผู้ใช้ จากนั้น ก็จะประมวลผลออกมานำเสนอทางเลือกที่ใกล้เคียงกับพฤติกรรมนั้นๆ โดยทางการแพทย์นำ AI มาใช้ประโยชน์ 4 ด้าน ได้แก่

1.ด้านการดูแลผู้ป่วย เช่น การใช้แอพพลิเคชั่นดูแลผู้ป่วย ช่วยลดการเดินทางไปโรงพยาบาล (รพ.) โดยผู้ป่วยเองสามารถปรึกษาและวินิจฉัยโรคเบื้องต้นได้อย่างแม่นยำ ในบางประเทศมีการใช้ AI ในลักษณะของจินตภาพเสมือนจริง (Virtual Reality) ให้คำปรึกษาด้านสุขภาพจิต โดยระบบจะวิเคราะห์ว่า หากเป็นคำปรึกษาลักษณะนี้ ควรจะมีคำแนะนำอย่างไรบ้าง ซึ่งเรื่องนี้มีความเป็นไปได้ในประเทศไทย

2.ด้านการวินิจฉัยโรค เพื่อเป็นเหมือนผู้ช่วยแพทย์ (Co- Pilot) ในการดูผลการตรวจรักษาต่างๆ ที่จะนำมาสู่การวินิจฉัยโรคให้แม่นยำยิ่งขึ้น แต่ต้องย้ำว่า แม้จะมีการใช้ AI แต่ในการตัดสินใจกระบวนการรักษาผู้ป่วย ยังคงเป็นดุลยพินิจของแพทย์ที่มีความเชี่ยวชาญในเรื่องนั้นๆ ตัวอย่างการใช้ AI ในปัจจุบันที่สามารถดูฟิล์มเอกซเรย์ได้เป็นร้อยๆ แผ่นต่อวัน ซึ่งถ้าเป็นแพทย์ดูคนเดียวก็อาจเกิดความเหนื่อยล้าจนอาจมองข้ามบางจุดไปได้ แต่ถ้าใช้ AI เข้ามาช่วยวิเคราะห์ว่า แต่ละฟิล์มมีความเสี่ยงในโรคใดบ้าง ก็จะช่วยลดภาระงานของแพทย์ ทั้งนี้ AI จำเป็นต้องมีข้อมูลมากพอในการวิเคราะห์ข้อมูล จึงต้องอาศัยมนุษย์ในการสอนหรือเพิ่มข้อมูลลงไป

3.ด้านการบริหารจัดการ ซึ่งแต่ละ รพ. จำเป็นต้องบริหารทรัพยากรให้เกิดประโยชน์มากที่สุด ที่เห็นได้ชัดคือ การใช้ AI เข้ามาช่วยดูแลเครื่องมือแพทย์ที่จัดซื้อมา ว่ามีการใช้งานเต็มประสิทธิภาพหรือไม่ เพราะหลายครั้งที่เครื่องมือเหล่านี้ไม่ได้ถูกใช้งานอย่างเต็มศักยภาพสูงสุด รวมถึงการเตือนว่าถึงกำหนดเวลาบำรุงรักษาเครื่องมือนั้นๆ ได้ นอกจากนั้น ยังสามารถใช้ AI เข้ามาดูแลการตลาด การบริหารความเสี่ยงต่างๆ

และ 4.ด้านการวิจัยและพัฒนา ซึ่งจะเป็นประโยชน์อย่างมากใน รพ. ที่มีการทำวิจัยจำนวนมาก เพราะจะทำให้เห็นผลลัพธ์ของการวิจัยเร็วขึ้นกว่าเดิม รวมถึงการพัฒนายาก็ทำได้เร็วขึ้น จากที่ใช้เวลามากกว่า 10 – 20 ปี ซึ่ง AI ก็สามารถช่วยวิเคราะห์ข้อมูลต่างๆ ออกมาทำให้ร่นระยะเวลาเหลือเป็นหลักเดือนได้

นายฐิติพงศ์ กล่าวว่า อย่างไรก็ตาม หากนำ AI มาใช้ในทางการแพทย์ ก็จำเป็นต้องใช้ร่วมกับเทคโนโลยีอื่นๆ อย่างหุ่นยนต์ทางการแพทย์ (Robotic) จินตภาพเสมือนจริง (Virtual Reality) ที่ปัจจุบันก็มีการใช้เพื่อผ่าตัดผู้ป่วยให้เกิดความแม่นยำ ดังนั้น เทคโนโลยีเหล่านี้ จะทำให้แพทย์ทำงานได้สะดวกและรวดเร็วขึ้น อย่างไรก็ตาม ความกังวลว่าจะมีการใช้ AI ที่ฉลาดมากขึ้น จนมนุษย์ไม่สามารถควบคุมได้นั้น เรื่องนี้จะต้องมีการออกแบบระบบให้มีภูมิคุ้มกันกันเรื่องนี้ ผ่านการออกมาตรการมากำกับดูแล ไม่ให้เกิดการใช้ AI ในการสร้างปัญหาสงครามการสู้รบ

“คนในยุคปัจจุบันทุกเจนเนอเรชั่น ต้องปรับตัวกับการใช้ AI เพราะหากมีการแข่งขันทางตลาดโดยบริษัทคู่แข่งที่ใช้ AI ทำให้การบริการนั้นๆ ออกมารวดเร็ว มีคุณภาพ ก็ทำให้ผู้บริโภคเลือกใช้บริการมากขึ้น ดังนั้น ถ้าใครที่ยังไม่คุ้นเคยกับ AI ก็สามารถปรับตัวจากการเล่นอะไรใกล้ๆ ตัว เช่น แชตจีพีที (ChatGPT) ที่เป็นหัวเชื้อให้กับสตาร์ทอัพ (Start-Up) นำไปต่อยอดเทคโนโลยีต่างๆ ได้” นายฐิติพงศ์ กล่าว

ผู้สื่อข่าวถามถึงความหวังที่จะเห็นการใช้ AI ใน รพ.ของรัฐในประเทศไทย นายฐิติพงศ์ กล่าวว่า มองว่า รพ.ของรัฐมีการให้บริการจำนวนมาก สิ่งหนึ่งที่ รพ.ทั้งรัฐและเอกชน พยายามทำคือ การใช้การแพทย์ทางไกล (Telemedicine) พบแพทย์ผ่านอุปกรณ์สื่อสาร ซึ่งช่วยลดการเดินทางไป รพ. ได้มาก คาดว่าในอนาคตก็จะมีการพัฒนาที่มากขึ้น อย่างการใช้แพทย์เสมือนจริง (Virtual Doctor) แต่ก็อาจมีข้อจำกัดในการยอมรับ ซึ่งต้องใช้เวลาในการปรับตัว แต่ในต่างประเทศเริ่มทำกันหลายประเทศแล้ว

ด้าน นพ.บุญ วนาสิน ผู้ก่อตั้งธนบุรี เฮลท์แคร์ กรุ๊ป หรือ THG กล่าวเพิ่มเติมว่า ขณะนี้ทาง THG ใช้ AI เกือบทุกเรื่องแล้ว ตั้งแต่การวางแผนการตลาด การวางแผนวินิจฉัยโรค การบริการผู้ป่วย โดย THG เป็นหนึ่งเดียวของประเทศไทยที่ไม่ใช้กระดาษใน รพ.

นพ.บุญ ยังกล่าวถึงความกังวลการใช้ AI จะมีความแม่นยำต่างจากแพทย์ ทำให้ผู้รับบริการขาดความมั่นใจว่าทาง THG ก็ได้นำระบบ Good Doctor ที่เป็นการดูแลสุขภาพทางไกลมาใช้ โดยผู้ป่วยต้องได้รับการตรวจร่างกายอย่างละเอียดเพื่อให้เป็นข้อมูลพื้นฐานสุขภาพ จากนั้น ผู้ป่วยสามารถเลือกได้ว่า จะรับบริการโดย Good Doctor หรือจะไปรับบริการในคลินิกของ THG ที่ตั้งอยู่ในปั๊มน้ำมันพีทีที สเตชั่น กระจายอยู่ทั่วประเทศ ซึ่ง AI จะสามารถวิเคราะห์ว่า ผู้ป่วยรายนั้นๆ มีความจำเป็นต้องไปพบแพทย์เพื่อรักษาอย่างละเอียดต่อไปหรือไม่

“การใช้ AI มีประโยชน์ 2 ด้าน คือ 1.ช่วยลดปัญหาความแออัดใน รพ. ได้อย่างแน่นอน เพราะกว่าร้อยละ 70 ของผู้ป่วยไม่จำเป็นต้องพบแพทย์ เช่น ท้องเสีย นอนไม่หลับ หรือเครียด 2.โรคเฉพาะทางที่ต้องใช้อุปกรณ์ อย่างตอนนี้ THG ร่วมกับกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) จัดทำศูนย์หัวใจ และกำลังร่วมกับมหาวิทยาลัยในต่างประเทศ ทำเทคโนโลยีดูแลผู้ป่วยโรคเส้นเลือดสมองตีบ โดยการใส่สายสวนไปเอาลิ่มเลือดที่อุดตันออกมา ดังนั้น การใช้ AI จะเป็นการปฏิวัติระบบสาธารณสุขบ้านเรา” นพ.บุญ กล่าว


21 มิถุนายน 2566
มติชน