ผู้เขียน หัวข้อ: ทำไมต้องจับ? "ออกซิโคโดน" ยาแก้ปวด หรือ ยาเสพติด?!  (อ่าน 659 ครั้ง)

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9796
    • ดูรายละเอียด
 ข่าวคราวการจับตัวคุณจูลี แฮมป์ วัย 55 ปี อดีตผู้บริหารของโตโยต้า มอเตอร์ คอร์ปฯ ในข้อหาต้องสงสัยว่านำเข้ายาระงับปวด ออกซิโคโดน (Oxycodone) จำนวน 57 เม็ด จากอเมริกา เพื่อใช้บรรเทาอาการปวดเข่า โดยให้ส่งมายังโรงแรมที่เธอพักในนครโตเกียว โดยอัยการญี่ปุ่นเผยว่า ยาตัวนี้เป็นยาที่อยู่ในการควบคุมตามกฎหมายควบคุมยาเสพติดของญี่ปุ่น ส่งผลให้พี่ไทยเราแชร์เรื่องนี้ทางโลกออนไลน์ แถมว่ากันไปเรื่อยว่า มียาอะไรอีกบ้างที่ห้ามพกไปญี่ปุ่น
       
       (ณ จุดนี้ อาจจะมีคนบางคนบอกว่า พกปืนจิ๋วไปอาจจะมีโทษน้อยกว่าซะอีก อิอิอิ)

        ยา “ออกซิโคโดน” แม้จะได้ขึ้นชื่อว่าเป็นแค่ “ยาระงับอาการปวด” แต่ทำไมถึงโดนจับ และที่สำคัญ ด้วยจำนวนเพียงแค่ 57 เม็ดเท่าน้ัน ก็เพราะความที่ตัวมันมีทั้งด้านสีขาวและด้านสีดำ จึงทำให้มันถูกยกระดับขึ้นมาอยู่ในหมวดหมู่สารที่ก่อให้เกิดการเสพติดให้โทษ กล่าวคือ แม้ยาตัวนี้จะให้คุณประโยชน์ทางการแพทย์ดังเช่นที่คุณแฮมป์เธอใช้เพื่อบรรเทาปวดเข่า แต่ขณะเดียวกัน ด้านมืดของมันก็ก่อให้เกิดโทษมหันต์ต่อผู้ที่ใช้ในทางที่ผิดๆ (ย้ำนะคะว่า ในทางที่ผิด)
       
       ในประเทศไทย เมื่อว่ากันตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ ปี พ.ศ.2522 (แปลเป็นภาษาชาวบ้านได้ว่า กฎหมายที่มีไว้ใช้ควบคุมยาเสพติดให้โทษ) ก็จัดให้ตัวยา “ออกซีโคโดน” เป็นยาเสพติดให้โทษ แต่ด้วยความที่ “ออกซีโคโดน” ยังคงมีประโยชน์ในทางการแพทย์ มันจึงได้รับการจัดสรรอีกต่อหนึ่งให้อยู่ในกลุ่มยาเสพติดให้โทษประเภทที่ 2 คือห้ามมีไว้ในครอบครองและจัดจำหน่าย เว้นเสียแต่จะได้รับอนุญาตจากคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ว่ากันง่ายๆ ก็คือมีจำหน่ายได้แค่ในโรงพยาบาลและจะต้องให้แพทย์เป็นผู้สั่งใช้เท่านั้น ที่สำคัญ ทุกๆ เดือน ทางโรงพยาบาลจะต้องทำรายงานไปยังคณะกรรมการอาหารและยาเพื่อควบคุมการใช้
       
       แต่เรื่องที่น่าสนใจกว่านั้นสำหรับผู้บริโภคทั่วไปก็คือ จริงๆ แล้ว ยาตัวนี้มันดีหรือไม่ดี ถ้าไม่ดีแล้วทำไมหมอยังสั่งจ่าย อะไรคืออันตรายที่ซ่อนเร้นและควรระวัง ถ้าเผื่อวันหนึ่ง จะต้องใช้จริงๆ ขึ้นมา
       
       “ออกซิโคโดน” จัดเป็นยาระงับอาการปวดชนิดเสพติดได้ที่อยู่ในกลุ่มโอปิออยด์ (Opioid analgesics) ยาในกลุ่มนี้ที่เราคุ้นเคยชื่อเสียงและชื่อเสียของมันดีก็คือ มอร์ฟีน และโคดีอีน แม้กระทั่งเฮโรอีนก็จัดอยู่ในกลุ่มโอปิออยด์ (แต่มิได้นำมาใช้เป็นยานะจะบอกให้) ดังนั้น ยาในกลุ่มนี้จึงสำแดงฤทธิ์เฉกเช่นเดียวกับมอร์ฟีนนั่นเอง
       
       ออกซีโคโดน จัดเป็นยาที่อยู่ในกลุ่มโอปิออยด์ที่มีฤทธิ์ค่อนข้างแรง ตัวยาที่มีเป็นตัวเป็นตนในท้องตลาดอาจจะอยู่ในรูปตัวยาเดี่ยว ๆ หรืออาจจะอยู่ในสูตรผสมกับยาระงับปวดตัวอื่นๆ ที่ไม่ใช่กลุ่มโอปิออยด์ เช่น พาราเซทตามอล หรือแอสไพริน เมื่อเทียบรุ่นกับยาตัวแม่ของกลุ่มนี้ คือ มอร์ฟีน พบว่า “ออกซีโคโดน” สามารถระงับปวดได้ไม่น้อยหน้ามอร์ฟีน (แต่จะระงับปวดได้เทียบเท่ากับมอร์ฟีนเมื่อมันรวมแรงรวมใจทำงานกับยาแก้ปวดตัวอื่นที่อยู่ในสูตรผสมของมัน)
       
       อาการข้างเคียงที่พบได้ ก็ไม่ต่างจากเมื่อใช้ยามอร์ฟีนและยาตัวอื่นๆ ในกลุ่มเดียวกัน ที่พบบ่อยก็ได้แก่ ท้องผูก (พบได้ร้อยละ 25-30 ของผู้ใช้) คลื่นไส้ (ร้อยละ 25-30 ของผู้ใช้) และง่วงซึม (ร้อยละ 25 ของผู้ใช้) อาเจียน (ร้อยละ 15) อาการข้างเคียงอื่นๆ ที่พบได้บ้างแล้วแต่บุคคล เช่น ปากแห้ง คอแห้ง ปัสสาวะคั่ง ซึ่งพบได้น้อยมากคือน้อยกว่าร้อยละ 5 ของผู้ใช้ แต่เรากลับพบว่าอาการข้างเคียงจำพวกคลื่นไส้ อาเจียน กลับเกิดขึ้นได้น้อยกว่าการใช้ยามอร์ฟีน นอกจากนี้ อาการจำพวกประสาทหลอน (hallucination) กลับเกิดน้อยมาก หรือแทบจะไม่พบเลยในคนที่ใช้ยาออกซีโคโดน
       
       ยาในกลุ่ม “ออกซีโคโดน” มีหน้าที่หลักในการบรรเทาอาการปวดสารพัดปวด เช่น ปวดหัว ปวดหลัง ปวดกล้ามเนื้อ ปวดคอ อาการปวดภายหลังจากการผ่าตัด รวมไปถึงอาการปวดที่เกิดจากโรคมะเร็ง แต่ทว่าไม่ได้ใช้ระงับอาการปวดแบบพร่ำเพรื่อ ถ้าว่ากันตามหลักการระงับความปวดที่องค์การอนามัยโลกกำหนดมาให้ (WHO pain Ladder) คือจะยอมให้ใช้ยากลุ่มโอปิออยด์ เมื่อคนไข้มีความปวดในระดับปวดปานกลางจนถึงปวดรุนแรงมาก ซึ่งคนไข้จะบอกได้ดีที่สุดว่าปวดในระดับใด (ปกติระดับความปวดต่าง ๆ จะประเมินได้ด้วยให้ผู้ป่วยให้คะแนนอาการปวดที่มีตั้งแต่ 0-10 โดย 0 = ไม่มีอาการปวด 10 = ปวดมากที่สุด) และแพทย์จะเป็นผู้พิจารณาสั่งจ่ายโดยคำนึงถึงความเหมาะสมกับอาการปวดของผู้ป่วยแต่ละราย ขนาดยาที่ใช้ก็จะแตกต่างกันไปในผู้ป่วยแต่ละราย

       
ยากลุ่มนี้ส่วนใหญ่มักจะออกฤทธิ์ระงับอาการปวดไม่ต่างกันมากนัก จะต่างกันก็ตรงความแรง และผลต่อสมองและไขสันหลัง เนื่องจากสมองและไขสันหลังเป็นเป้าหมายสำคัญที่ยาจะไปออกฤทธิ์ ผลก็คือเมื่อทานยาแล้วจะมีผลที่พอจะสรุปได้ ดังนี้
       
       1.ระงับอาการปวด
       เป็นสิ่งที่ผู้ใช้ยาพึงปรารถนามากที่สุด ข้อดีของมันคือสามารถระงับปวดให้เราได้โดยที่ไม่ทำให้เราเกิดอาการที่ดูเหมือนเบลอๆ งงๆ หรือเซื่องซึมมากนัก (ซึ่งก็แล้วแต่ความไวของแต่ละบุคคลด้วย) แถมยังไม่ทำให้เรารู้สึกอ่อนเปลี้ยเพลียแรง และไม่ทำให้เกิดความสับสนหรือหมดสติสัมปชัญญะดังเช่นยาสลบ
       
       2.ทำให้รูม่านตาหรี่เล็กลง
       แสงจึงเข้าไปได้น้อยลง แต่ผู้ใช้ยามักทนได้ เพราะไม่ก่อให้เกิดความรำคาญแต่อย่างใด แต่วันเลวคืนร้าย รูม่านตาหดเล็กเหลือเท่ารูเข็ม ไม่มีการตอบสนองใดๆ ต่อแสงสว่าง (ง่ายๆ ก็คือม่านตาไม่หรี่ เมื่อมีแสงสว่างจ้า) นั่นคืออันตรายกำลังจะมาเยือนท่าน ซึ่งมักจะพบในคนที่ได้รับมอร์ฟีนเกินขนาดหรือในคนที่เสพติดยากลุ่มโอปิออยด์ เพราะคนพวกนี้จะมีระดับยาโอปิออยด์ในเลือดที่สูงจึงทำให้รูม่านตาหดตัวอย่างต่อเนื่อง
       
       3.มีการเปลี่ยนแปลงทางอารมณ์
       คือครึ้มอกครึ้มใจ สบายใจและเคลิบเคลิ้ม คาดว่าเป็นผลจากยากลุ่มโอปิออยด์ไปมีผลต่อสมองบริเวณไฮโปทาลามัส จึงทำให้ผู้ใช้อารมณ์ดีขึ้น มีความสุข ความกลัวและความหวั่นไหวก็ลดน้อยถอยลง แถมรู้สึกสงบและเยือกเย็นขึ้น ทางการแพทย์เราเรียกว่า euphoria ซึ่งเป็นตัวการใหญ่ทำให้ผู้ใช้ยาเข้าสู่วงการการใช้ยาโอปิออยด์แบบผิดๆ โดยหารู้ไม่ว่า สภาวะสุขแบบ euphoria ที่เกิดขึ้นนี้คงอยู่ไม่นาน แล้วมันก็จะจากไป และแต่ละคนก็จะเข้าสู่ช่วง slow life คือเริ่มบังเกิดความเฉื่อยชา สมองและร่างกายจะทำงานได้น้อยลง สุดท้ายก็จะเข้าสู่โหมดแห่งการนอนหลับ
       
       4.กดการหายใจ
       คาดว่าเป็นเพราะยาไปสำแดงเดชที่ก้านสมองซึ่งเป็นตัวควบคุมการหายใจของคน เราพบว่าขนาดยาที่ทำให้ผู้ใช้หมดความรู้สึก จะตามมาด้วยหมดลมหายใจได้เช่นกัน ซึ่งเราจะเห็นข่าวการเสียชีวิตบ่อยๆ จากการใช้ยาโอปิออยด์ สาเหตุที่ทำให้เสียชีวิตก็เนื่องมาจากระบบการหายใจที่ล้มเหลว สันนิษฐานได้ว่าผู้ใช้เสพยากลุ่มโอปิออยด์เกินขนาดนั้นเอง
 

        ผลจากการใช้ยาในข้อที่ 1 และ 3 นี่เองที่ทำให้มันเป็นที่ต้องการของผู้ที่อยากระงับความเจ็บปวด และทำให้คนไข้มักจะเกิด “สภาวะพึ่งพิงยา” หรือ drug dependence ซึ่งดีกรีของมันแตกต่างกับศัพท์ที่ฝรั่งใช้คำว่า “addiction” หรือติดยาอันเป็นคำที่เราคุ้นเคยกว่า เพราะจริงๆ แล้ว กว่าที่จะกินยากลุ่มนี้แล้วเลยเถิดมาถึงขั้นติดยามันก็ต้องผ่านอีกสองสามอย่าง เนื่องจากคุณลักษณะเด่นอีกประการหนึ่งของยากลุ่มโอปิออยด์ทุกตัวจะปรากฎให้เห็นได้เมื่อใช้ยาดังกล่าวเป็นประจำ เมื่อใช้ยาไปได้สักพักหนึ่ง เจ้าตัวจะรู้สึกว่าอาการปวดมันไม่หายไปสักที ทั้งๆ ที่กินยาเป็นประจำ จนสุดท้ายต้องเพิ่มขนาดยาไปเรื่อยๆ กลายเป็นวงจรอุบาทว์ไปในที่สุด ลักษณะเช่นนี้เราเรียกว่า “เกิดการทนยา” (tolerance) การทนยาจะเกิดขึ้นได้ง่ายเมื่อใช้ยาในขนาดที่สูงและใช้ถี่เกินความจำเป็น แต่ถ้าใช้ในขนาดที่ต่ำ แต่ยังคงระงับปวดได้ และเว้นระยะในการใช้ให้ห่างกัน โอกาสที่จะเกิดการทนยาก็จะน้อยกว่า
       
       ทีนี้ เมื่อใช้ยาติดต่อกันนานๆ เข้า ด้วยเหตุว่าทนต่อความปวดไม่ไหว เช่น คนไข้ที่มีอาการปวดจากตัวโรคมะเร็ง ก็จะมีแนวโน้มส่งตัวเองเข้าสู่สภาวะที่เรียกว่า เกิดอาการพึ่งพายาทางกาย (physical dependence) คือเป็นอาการทางร่างกายจากการใช้ยาเป็นประจำเป็นเวลานาน จำเป็นต้องได้ยาต่อเนื่องเพื่อให้ร่างกายอยู่ในสภาวะปกติ แต่นั่นไม่ใช่ว่าผู้ป่วยติดยาแต่อย่างใด แต่ถ้าวันเลวคืนร้ายใช้ยากลุ่มนี้ไปเรื่อยๆ จนเป็นความรู้สึกที่เกิดเป็นแรงบันดาลใจและผลักดันให้ใช้ยาอยู่เรื่อย ๆ เพื่อความพึงพอใจหรือเลี่ยงอารมณ์เสียที่ไม่ได้ใช้ยา นั่นแสดงว่าผู้ใช้เข้าสูสภาวะที่สามคือ เกิดการพึ่งพายาทางจิตใจ (psychic dependence) สุดท้ายเมื่อไม่สามารถถอนตัวและถอนใจจากความเลวร้ายนั้นได้ ก็จะเข้าสู่ภาวะติดยาหรือ drug addict โดยสมบูรณ์แบบ แต่โชคดีบนโชคร้ายก็ยังมี เนื่องจากในโลกแห่งความเป็นจริง ยังไม่มีรายงานว่าพบการพึ่งพายาทางจิตใจจากการใช้ยากลุ่มโอปิออยด์ในขนาดที่ระงับปวดแต่อย่างใด
       
       จริงๆ กลุ่มยากลุ่มเดียวกันนี้ก็ไม่ใช่เรื่องใหม่สำหรับคนชอบเสพความบันเทิงจากสหรัฐอเมริกา ใครเป็นแฟนซีรีย์ทางด้านแพทย์ ๆ ของอเมริกา คงจะคุ้นเคยกับซีรีย์เรื่อง “House M.D.” เรื่องราวของคุณหมอ Gregory House (แสดงโดย Hugh Laurie) ที่เก่งกล้าทั้งทางสติปัญญาและทางปาก แถมพฤตติกรรมแปลกๆ อีกมากมาย และทีมแพทย์ที่เขาคัดเลือกมาช่วยกันไขปัญหาทางการแพทย์ให้กับคนไข้ที่หมออื่นๆ มักจะหาไม่เจอ แถมคนไข้เหล่านั้นมักจะอยู่ในขั้นวิกฤติอีกต่างหาก

ทำไมต้องจับ? ออกซิโคโดน ยาแก้ปวด หรือ ยาเสพติด?!
        แต่ปัญหาของคุณหมอเฮาส์ก็คือ แกมักจะปวดที่ขาของแกอันเป็นผลมาจากร่องรอยของการที่ลิ่มเลือดไปอุดตันตรงหลอดเลือดที่ขา ทำให้เลือดไปเลี้ยงไม่พอ กล้ามเนื้อบริเวณนั้นจึงขาดเลือดไปเลี้ยง ผลที่ตามมาคือกล้ามเนื้อที่ขาก็ตาย ทำให้คุณหมอต้องใช้ไม้เท้าช่วยในการเดิน แต่เหนืออื่นใด คุณหมอมักจะมีอาการปวดที่ขาข้างดังกล่าวแถมเป็นอาการปวดที่เรื้อรัง วิธีการระงับอาการปวดดังกล่าว คุณหมอเฮาส์เลือกใช้ยาตัวหนึ่งที่มีชื่อทางการค้าว่า “ไวโคดิน (Vicodin)” [ซึ่งเป็นส่วนผสมของยาไฮโดรโคโดน (Hydrocodone) และ พาราเซทตามอล (paracetamol)]
       
       ตลอดทั้งซีซั่น เราจะเห็นภาพของหมอเฮาส์แกกินไวโคดิน ซึ่งกินไปกินมาเหมือนกินลูกอมว่างั้นเถอะ จนหมอเฮาส์ยอมรับกับเพื่อนสนิทของตัวเองซึ่งก็คือ “คุณหมอวิลสัน” ว่าตัวเขาอยู่ในโหมดของการติดยาแก้ปวดตัวนี้ จนถอนตัวถอนใจไม่ขึ้น ซึ่ง “ไวโคดีน” ของหมอเฮ้าส์ กับ “ออกซีโคโดน” ของคุณจูลี่ แฮมป์ ก็คือญาติกัน มีโครงสร้างทางยาต่างกัน แต่มีฤทธิ์ใกล้เคียงกัน แถมมีผลข้างเคียงเหมือนๆ กันอีกด้วย
       
       เหมือนในบทสนทนาที่ ดร.เฮ้าส์ แกคุยกับ ดร. วิลสัน เพื่อนซี้คนเดียวของแกถึงการใช้ยาไวโคดีนในเรื่องว่า

        House: "ข้าติดยาว่ะ"
       Wilson: "เออ ไม่เป็นไร"
       House: "แล้วข้าไม่อยากเลิกด้วย"
       Wilson: "เอ็งต้องเข้าใจว่านี่คือโปรแกรมรักษา คัดดี้ให้เวลาเอ็งอยู่แล้ว เอ็งจะค่อยๆ ก้าวผ่านความเจ็บปวดไปทีละนิดๆ เอง"
       House: "แต่ข้าไม่อยากหยุดยานี่หว่า"
       Wilson: "เออ ข้ารู้ เอ็งเพิ่งบอกข้าไป"
       House: "ข้าเพิ่งบอกเอ็งว่า ข้าติดยา แต่ข้าไม่ได้บอกว่าข้ามีปัญหา ข้ารักษาคนไข้ได้ ทำอาหารเองได้ สภาพของตัวข้ายังคงแจ๋วอยู่มันทำงานได้ทุกอย่าง"
       Wilson: "โถ่ ไอ้... ไร้สาระว่ะ นี่เอ็งไม่คิดว่าแกเปลี่ยนไปในช่วงสองสามปีนี้เหรอ?"
       House: "เออ ข้าเปลี่ยน...ใช่เลย ข้าแก่ขึ้น ผมก็บางลง บางทีข้าก็เบื่อมาก บางทีข้าก็รู้สึกเหงา บางทีก็มานั่งนึกว่าไอ้ทุกอย่างนี้ รอบตัวนี้ มันหมายความว่าอะไร"
       Wilson: "ไม่เลย ข้าอยู่ตรงนั้นกับเอ็งตลอด เอ็งไม่ใช่แค่คนปกติที่เริ่มแก่ตัว แต่เอ็งเปลี่ยนไปมาก เอ็งซึมเศร้า เอ็งกลายเป็นคนที่กลัวแม้กระทั่งจะเผชิญหน้ากับตัวเอง"
       House: "โอเค ๆ ข้าเปลี่ยนไปก็ได้"
       Wilson: "แล้วทุกอย่างมันเกี่ยวกับขาเอ็งหรอก? แต่เป็นเพราะไอ้ยานี่? มันไม่ได้ทำอะไรให้เอ็งเลยจริงๆ?"
       House: "แต่มันช่วยว่ะ มันทำให้ข้าทำงานของข้าได้ แล้วมันก็ช่วยให้ข้าหายปวดด้วย"

        กรณีคุณหมอเฮาส์ มีความจำเป็นต้องใช้ยากลุ่มโอปิออยด์ที่ชื่อว่า “ไวโคดิน” เพื่อระงับอาการปวดที่ขาของเขา ที่มันไม่หายเสียที จึงทำให้คุณหมอเฮาส์เข้าสู่ปรากฏการณ์การทนยาและพึ่งพิงยาไวโคดิน และตามมาด้วยการติดยาในที่สุด (แต่สติสัมปชัญญะยังมีอยู่ครบถ้วน) แถมคุณหมอยังใช้ยาในวัตถุประสงค์อื่นนอกเหนือจากเพื่อระงับปวดที่ขาแล้ว คือใช้เพื่อความบันเทิงทางด้านอารมณ์อีกต่างหาก เพราะคุณหมอเฮาส์เชื่อว่า ยาไวโคดินเป็นผู้ช่วยที่ดีมากที่ทำให้เขาก้าวผ่านอาการปวดที่ขา แถมทำให้เขาสามารถดำรงชีวิตอย่างเป็นปกติสุข ทำงานได้ เมื่อกายกับใจมอบให้แด่ไวโคดินขนาดนี้ มีหรือที่คุณหมอผู้ซึ่งทราบผลดีและผลเสียของยาจะรอดพ้นเงื้อมมือมัจจุราชอย่าง “การติดยา”
       
       หากถามว่า “ออกซีโคโดน” ปลอดภัยสำหรับผู้ใช้ไหม เราคงต้องย้อนกลับไปถามก่อนว่า “แล้วมีความจำเป็นแค่ไหนที่จะต้องใช้ตัวนี้” ถ้าคำตอบคือ “จำเป็นต้องใช้เพราะว่ามีอาการปวด” คำถามที่ตามมาก็คงไม่พ้นว่า “อาการปวดที่ว่า มันทนได้ไหม ถ้าใช้วิธีการบำบัดอื่น ๆ มันโอเคไหม หรือว่าสามารถกำจัดความปวดดังกล่าวได้ยากลุ่มอื่นๆ ที่ไม่ใช่กลุ่มโอปิออยด์ได้หรือไม่” ถ้าได้ก็จงใช้หนทางนั้นไปก่อน
       
       แต่ถ้าความเจ็บปวดนั้นมันปวดมาก ปวดจนรบกวนชีวิตประจำวันของเรา ทำให้เราไม่สามารถทำงานหรือทำกิจวัตรประจำวันได้เป็นปกติ บั่นทอนจิตใจของเราไปด้วย ก็คงจะได้คำตอบกันว่า แล้วเราจะทนกับการเจ็บปวดที่มันทุกข์ทรมานทำไม ถ้ามันจำเป็นต้องใช้ มันก็แค่ใช้มันให้ถูกวิธีของมัน กล่าวคือเมื่อหายปวดก็หยุดใช้ก็แค่นั้น หรือเมื่อมันปวดน้อยลงแล้ว ก็เปลี่ยนมาใช้ยากลุ่มอื่นที่ไม่ใช่กลุ่มโอปิออยด์แทนหรือจะบำบัดด้วยทางเลือกอื่นๆ ความเสี่ยงที่จะเกิดผลข้างเคียงหรืออันตรายจากยาออกซีโคโดนก็จะไม่บังเกิดขึ้น
       
       เพราะเอาเข้าจริงๆ แล้ว แพทย์จะสั่งจ่ายตัวนี้หรือไม่ ส่วนหนึ่งก็มาจากผู้ใช้เองนั่นเอง

        __________________________________

       
เอกสารอ้างอิง
       1.Pöyhiä R, Vainio A, Kalso E. A review of oxycodone's clinical pharmacokinetics and pharmacodynamics. J Pain Symptom Manage. 1993; 8(2): 63-7.
       2.Espinosa E1, González Barón M, Zamora P, Ordóñez A, Arranz P. Oxycodone: a pharmacological and clinical review. Clin Transl Oncol. 2007; 9: 298-307.
       3.Benyamin R, Trescot AM, Datta S, et al. Pain Physician. 2008; 11(2 Suppl): S105-20.
       4.Riley J, Eisenberg E, Müller-Schwefe G, et al. Oxycodone: a review of its use
       5.in the management of pain. Curr Med Res Opin. 2008 Jan; 24(1): 175-92.
       6.Furlan AD1, Sandoval JA, Mailis-Gagnon A, Tunks E. Opioids for chronic noncancer pain: a meta-analysis of effectiveness and side effects. CMAJ. 2006 May 23; 174(11): 1589-94.
       7.Reisine T and Pasternak G. Opioid analgesics. In: Brunton LL, Parker KL, eds. Goodman & Gilman’s Manual of Pharmacology and Therapeutics, 11th ed. NY: McGraw-Hill Companies; 2008: 349-356.


โดย “ภญ.สุอาภา พลอยเลื่อมแสง”
ASTVผู้จัดการออนไลน์    18 กรกฎาคม 2558