ผู้เขียน หัวข้อ: สรุปข่าวเด่นในรอบสัปดาห์ 24-30 เม.ย.2559  (อ่าน 716 ครั้ง)

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9785
    • ดูรายละเอียด
สรุปข่าวเด่นในรอบสัปดาห์ 24-30 เม.ย.2559
« เมื่อ: 19 มิถุนายน 2016, 21:41:44 »
1. กกต.คลอดเกณฑ์สิ่งที่ทำได้-ทำไม่ได้ ตาม พ.ร.บ.ประชามติ ด้านทหารรวบ 8 แอดมินโพสต์ต้าน คสช. ผิด ม.116 - พ.ร.บ.คอมฯ โยง “จตุพร-พานทองแท้”!

        เมื่อวันที่ 29 เม.ย. นายธนิศร์ ศรีประเทศ รองเลขาธิการคณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.) แถลงว่า ที่ประชุม กกต. มีมติเห็นชอบร่างประกาศ กกต. ว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการในการแสดงความคิดเห็นในการออกเสียงประชามติ ซึ่งคาดว่าจะประกาศในราชกิจจานุเบกษา และมีผลใช้บังคับในสัปดาห์หน้า โดยมีข้อกำหนดเกี่ยวกับสิ่งที่ประชาชนทำได้ 6 ข้อ คือ 1. ศึกษาค้นคว้าข้อมูลเกี่ยวกับร่างรัฐธรรมนูญ และประเด็นเพิ่มเติมให้เข้าใจอย่างครบถ้วน จากเว็บไซต์ หรือสิ่งพิมพ์ และสื่ออิเล็กทรอนิกส์ เพื่อใช้เป็นข้อมูลในการแสดงความคิดเห็นของตน 2. แสดงความเห็นโดยใช้ถ้อยคำที่สุภาพ 3. แสดงความเห็น ด้วยข้อมูลที่มีความชัดเจน ไม่กำกวม อันอาจทำให้บุคคลอื่นเห็นว่าเป็นการบิดเบือนไปจากข้อเท็จจริง 4. การนำเสนอหรืออ้างอิงงานวิจัยตามหลักวิชาการ เพื่อประกอบการแสดงความคิดเห็น ให้ผู้มีสิทธิออกเสียงบุคคลนั้น ควรตรวจสอบความถูกต้องและแสดงที่มาของงานวิจัยนั้นด้วย 5. การสัมภาษณ์ผ่านสื่อเพื่อแสดงความคิดเห็นพร้อมเหตุผลอย่างใดอย่างหนึ่งของตน 6. การนำเข้าข้อมูลเกี่ยวกับความคิดเห็นพร้อมแสดงเหตุผลอย่างใดอย่างหนึ่งของตน ในเว็บไซต์ และสื่ออิเล็กทรอนิกส์ หรือการส่งต่อข้อมูลดังกล่าว โดยไม่มีการแสดงความเห็นเพิ่มเติม
       
        ส่วนที่ทำไม่ได้มี 8 ข้อ คือ 1. การสัมภาษณ์ผ่านสื่อด้วยข้อความอันเป็นเท็จ หรือมีลักษณะก้าวร้าว รุนแรง หยาบคาย ปลุกระดม หรือข่มขู่ 2. การนำเข้าข้อมูลอันเป็นเท็จหรือมีลักษณะก้าวร้าว รุนแรง หยาบคาย ปลุกระดม หรือข่มขู่ ในเว็บไซต์ และสื่ออิเล็กทรอนิกส์ หรือส่งต่อข้อมูลในลักษณะดังกล่าว 3. การทำ หรือส่งสัญลักษณ์ หรือเครื่องหมาย อันมีลักษณะก้าวร้าว รุนแรง หยาบคาย ปลุกระดม หรือข่มขู่ 4. การจัดเวทีสัมมนา อภิปราย โดยกลุ่มองค์กรต่าง ๆ ที่ไม่มีหน่วยงานราชการ สถาบันการศึกษา องค์กรสื่อมวลชนตามกฎหมายเข้าร่วม และมีเจตนาเพื่อปลุกระดมทางการเมือง 5. การชักชวนให้ใส่เสื้อ หรือติดป้าย เข็มกลัด ธง ริบบิ้น หรือเครื่องหมายที่แสดงสัญลักษณ์ความเห็นอย่างใดอย่างหนึ่ง หรือการขาย การแจกจ่ายสิ่งของดังกล่าว ในลักษณะรณรงค์ทั่วไป เพื่อนำไปสู่การปลุกระดมทางการเมือง 6. การใช้เอกสาร ใบปลิว หรือแผ่นพับ ที่มีข้อความอันเป็นเท็จ หรือมีลักษณะก้าวร้าวรุนแรงหยาบคาย หรือปลุกระดมทางการเมือง 7. การรายงานข่าว หรือการจัดรายการของสื่อมวลชนที่นำไปสู่การปลุกระดม หรือสร้างความวุ่นวายในสังคม 8. การรณรงค์เพื่อให้เกิดการคล้อยตามของคนในสังคม เพื่อให้ออกเสียงอย่างใดอย่างหนึ่ง มีลักษณะการปลุกระดมหรือขัดขวางการออกเสียง
       
        ทั้งนี้ กกต.ได้ประเดิมแจ้งความดำเนินคดีผู้ทำผิด พ.ร.บ.ประชามติ เป็นรายแรกเมื่อวันที่ 27 เม.ย.โดยผู้ถูกดำเนินคดีเป็นกลุ่มกองทุนกลุ่มหนึ่งใน จ.ขอนแก่น ซึ่งโพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กโดยใช้ถ้อยคำหยาบคาย ก้าวร้าว รุนแรง ปลุกระดม เจตนาส่งเสริมให้ประชาชนรับหรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ โดย กกต.แจ้งความไว้ที่ สน.ทุ่งสองห้อง
       
        นอกจากนี้สัปดาห์ที่ผ่านมา ทหารได้ใช้อำนาจตามมาตรา 44 ควบคุมตัวผู้มีพฤติกรรมกระทำผิด พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 และผิดประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116 จำนวน 8 คน ประกอบด้วย 1.นายชัยธัช รัตนจันทร์ 2.น.ส.วณัฏฐิกา วรธัยวิชญ์ 3.นายนพเก้า คงสุวรรณ 4.นายวรวิทย์ ศักดิ์สมุทรนันท์ 5.นายโยธิน มั่งคั่งสง่า 6.นายธนวรรธน์ บูรณศิริ 7.นายศุภชัย สายบุตร และ 8.นายหฤษฏ์ มหาทน โดยมีรายงานว่า เจ้าหน้าที่ได้นำตัวทั้ง 8 คนเข้าพูดคุยในค่ายทหารและเซ็นชื่อรับทราบการให้การต่อเจ้าหน้าที่ ก่อนที่ฝ่ายกฎหมายของ คสช.จะเข้าแจ้งความร้องทุกข์ดำเนินคดีบุคคลทั้ง 8 คนต่อตำรวจกองปราบปราม ซึ่งต่อมาตำรวจกองปราบฯ ได้ขอศาลออกหมายจับผู้กระทำผิด 9 คน โดย 1 คนที่เพิ่มขึ้นมา อยู่ต่างประเทศ คือนายกัณสิทธิ์ ตั้งบุญธินา
       
        ทั้งนี้ พล.ต.อ.ศรีวราห์ รังสิพราหมณกุล รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ได้นำทีมแถลงเมื่อวันที่ 28 เม.ย.ถึงพฤติการณ์การกระทำผิดของบุคคลที่ถูกควบคุมตัวว่า เจ้าหน้าที่ด้านความมั่นคงตรวจสอบพบบุคคลกลุ่มหนึ่งมีการกระทำที่เป็นการต่อต้านการทำงานของ คสช.รวมถึงรัฐบาลและผู้นำรัฐบาล โดยมีภาพและข้อความเผยแพร่ทางเฟซบุ๊กต่างๆ ซึ่งเป็นข้อความที่ทำให้เกิดความกระด้างกระเดื่องในหมู่ประชาชนในระดับที่จะก่อให้เกิดความไม่สงบขึ้น มีการยุยงปลุกปั่น โดยมีการแบ่งงานกันทำอย่างเป็นขั้นเป็นตอน มีผู้บงการ มีผู้รับคำสั่ง มีหัวหน้า มีผู้ปฏิบัติในการทำเว็บเพจขึ้นมา โดยเริ่มจากผู้สั่งการคือ นายชัยธัช ต่อด้วยนายหฤษฏ์ ที่ทำเพจ “เรารัก พล.อ.ประยุทธ์” และเพจยูดีดีไทยแลนด์ จากนั้นนายหฤษฏ์ เป็นผู้คัดเลือกข้อมูลกำหนดแนวทางให้ น.ส.วณัฏฐิกา ซึ่งจะมีทีมงาน ได้แก่ นายนพเก้า นายวรวิทย์ นายโยธิน นายธนวรรธน์ นายศุภชัย
       
        เป็นที่น่าสังเกตว่า การแถลงข่าวครั้งนี้ มีการโชว์แผนผังความเชื่อมโยงของกลุ่มบุคคลกลุ่มนี้ด้วย ซึ่งในแผนผังมีชื่อ นายจตุพร พรหมพันธุ์ จ้างให้ น.ส.วณัฏฐิกา ดูแลเว็บเพจ ซึ่ง น.ส.วณัฏฐิกาเป็นแอดมินเพจทั้งหมด 6 แห่ง โดยในจำนวนนี้ มีเว็บเพจจตุพร พรหมพันธุ์ และพีซทีวีด้วย รวมถึงเว็บเพจนายสมบัติ บุญงามอนงค์ หรือ บ.ก.ลายจุด นอกจากนี้จากการตรวจสอบเว็บเพจส่วนตัวของนายหฤษฎ์ และ น.ส.วณัฏฐิกา พบว่ามีการกล่าวก้าวล่วงสถาบันเบื้องสูง ทาง คสช.จึงได้แจ้งข้อหาเพิ่มเติมในความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ด้วย
       
        ด้าน น.ส.วณัฏฐิกา ซึ่งถูกนำตัวมาแถลงข่าวด้วย ยอมรับว่า ได้รับเงินค่าจ้างจากบริษัทพีซทีวีในการดูแลเพจจตุพร พรหมพันธุ์ และเพจพีซทีวี จำนวน 20,000 บาทต่อเดือน แต่ยืนยันว่าไม่ได้พูดจาก้าวล่วงสถาบันเบื้องสูง
       
        ทั้งนี้ เจ้าหน้าที่ได้นำตัวผู้ต้องหาทั้งหมดไปขออำนาจศาลทหารฝากขังผัดแรกเป็นเวลา 12 วัน ตั้งแต่วันที่ 29 เม.ย.-10 พ.ค.นี้ ซึ่งในคำร้องขอฝากขังผู้ต้องหาดังกล่าว มีระบุตอนหนึ่งด้วยว่า นายชัยธัช ซึ่งเป็นผู้จ่ายเงินให้บุคคลต่างๆ ในกลุ่ม เป็นผู้ที่รู้จักและสนิทสนมกับนายพานทองแท้ ชินวัตร บุตรชายนายทักษิณ ชินวัตร และเป็นผู้รับฝากเงินจากนายพานทองแท้มาให้กับนายหฤษฏ์อีกทอด ก่อนที่นายหฤษฏ์จะนำเงินมาให้ น.ส.ณัฏฐิกา และ น.ส.ณัฏฐิกา จะเป็นคนจ่ายเงินค่าจ้างในการทำงานของกลุ่มผู้ต้องหาดังกล่าว
       
        ด้านศาลทหารได้อนุญาตให้ฝากขังผู้ต้องหาทั้ง 8 คน และไม่อนุญาตให้ประกันตัว เนื่องจากพนักงานสอบสวนคัดค้านการประกันตัว ประกอบกับศาลเห็นว่า ผู้ต้องหามีพฤติการณ์ร้ายแรงและทำเป็นขบวนการ
       
        ส่วนท่าทีของนายจตุพร พรหมพันธุ์ ประธาน นปช.กล่าวถึงกรณีมีชื่ออยู่ในผังล้ม คสช.กับผู้ต้องหาทั้ง 8 คนที่ถูกจับกุม โดยยอมรับว่า น.ส.ณัฏฐิกา และนายนพเก้า เป็นลูกน้องของตน ที่ดูแลเพจให้ตนและพีซทีวี พร้อมถามกลับว่า การที่พีซทีวีจ้างคนมาดูแลเพจ ผิดกฎหมายข้อไหน พร้อมพูดเหมือนเตือนทหารว่า “ย่ำยีกันมาก ผมสู้ ไม่ได้ทำอะไรผิดเลย แต่จะเอาตัวไปขัง ไม่กลัวเลย ผ่านอะไรมามากมาย แล้วเจอผังบ้าบอแบบนี้ ผมใกล้จะหมดความอดทนแล้ว อย่าไล่ให้จนตรอก ผมจะสู้นะจะบอกให้ อย่ามองว่าจับไปขังแล้วจะจบ” นายจตุพร ได้โพสต์ข้อความที่เขียนด้วยลายมือตัวเองทำนองสั่งเสียผ่านเฟซบุ๊กด้วยว่า “ผมไม่รู้ว่า หนทางข้างหน้าจะเป็นอย่างไร? จึงขอสั่งเสียว่า...จงใช้ชีวิตและอิสรภาพของผม เพื่อเปลี่ยนแปลงบ้านเมืองให้งดงาม...”
       
       2. “ธัมมชโย” เลื่อนรับทราบข้อกล่าวหาอีก อ้างป่วย ด้านดีเอสไอขอศาลออกหมายจับ แต่ศาลยกคำร้อง จึงออกหมายเรียกใหม่ 16 พ.ค.!

        เมื่อวันที่ 25 เม.ย. ซึ่งเป็นวันที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ(ดีเอสไอ) ออกหมายเรียกครั้งที่ 2 ให้พระเทพญาณมหามุนี หรือพระธัมมชโย เจ้าอาวาสวัดพระธรรมกาย มารับทราบข้อกล่าวหาสมคบกันฟอกเงิน ร่วมกันฟอกเงิน และร่วมกันรับของโจร กับนายศุภชัย ศรีศุภอักษร อดีตประธานสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่น หลังพระธัมมชโยและพระวัดพระธรรมกายมีชื่อเป็นผู้รับเช็คจากนายศุภชัยจำนวนมาก โดยไม่มีมูลหนี้
       
        ปรากฏว่า พระธัมมชโยไม่เข้ารับทราบข้อกล่าวหาต่อดีเอสไอตามหมายเรียก และได้ให้นายสัมพันธ์ เสริมชีพ ทนายความเข้ายื่นหนังสือต่อดีเอสไอ ขอเลื่อนเข้ารับทราบข้อกล่าวหาออกไปอีกเป็นครั้งที่สอง หลังจากครั้งแรกอ้างว่า ต้องเตรียมงานวันเกิดพระธัมมชโยในวันที่ 22 เม.ย. ทั้งนี้ ทนายให้เหตุผลในการขอเลื่อนครั้งที่ 2 ว่า พระธัมมชโยป่วย
       
        ด้านคณะพนักงานสอบสวนคดีพิเศษ พร้อมด้วยอัยการที่ร่วมสอบสวนและที่ปรึกษาคดีพิเศษได้ประชุมหารือเรื่องการขอเลื่อนเข้ารับทราบข้อกล่าวหาของพระธัมมชโย ก่อนมีความเห็นร่วมกันว่า การที่พระธัมมชโยขอเลื่อนการเข้ารับทราบข้อกล่าวหาถึง 2 ครั้ง โดยอ้างเหตุเกี่ยวกับการประกอบศาสนกิจและการป่วย โดยใช้ใบรับรองแพทย์จากคลินิกเอกชน แต่ปรากฏว่า พระธัมมชโยกลับมีการร่วมพิธีกรรมทางศาสนาต่างๆ ได้อย่างปกติ จึงไม่มีเหตุอันสมควรที่จะขอเลื่อนการมาพบพนักงานสอบสวน ที่ประชุมเห็นว่า พฤติการณ์ดังกล่าวเป็นไปในลักษณะหลีกเลี่ยงที่จะไม่เข้าสู่กระบวนการยุติธรรม และเนื่องจากคดีที่ถูกกล่าวหา เป็นคดีที่มีอัตราโทษจำคุกสูงเกิน 3 ปี ซึ่งทางคดี มีหลักฐานพอสมควรว่า พระธัมมชโยน่าจะได้กระทำความผิดดังกล่าว จึงมีเหตุตามกฎหมายที่จะออกหมายจับได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 66(1) จึงมีมติให้ยื่นคำร้องต่อศาลอาญาเพื่อขออนุมัติหมายจับพระธัมมชโยมาดำเนินคดีต่อไป
       
        เป็นที่น่าสังเกตว่า ช่วงบ่ายวันเดียวกัน(25 เม.ย.) หลังจากทางวัดพระธรรมกายทราบมติของดีเอสไอว่าจะออกหมายจับพระธัมมชโย ทางวัดพระธรรมกายจึงได้เปิดแถลงข่าวเกี่ยวกับอาการป่วยของพระธัมมชโย โดยพระสนิทวงศ์ วุฑฒิวํโส ผู้อำนวยการสำนักสื่อสารองค์กร วัดพระธรรมกาย ร่วมกับ ร.ท.นพ.ชูชัย พรพัฒนาพันธุ์ แพทย์ประจำสหคลินิกรัตนเวช โดยอ้างว่า เนื่องจากการปฏิบัติศาสนกิจตั้งแต่วันที่ 22 เม.ย. ที่ผ่านมา พระธัมมชโยมีอาการเวียนศีรษะ บ้านหมุนรุนแรงเฉียบพลัน มีปัญหาในการทรงตัว และมีอาการปวดหลัง ปวดขาซ้าย เนื่องจากกล้ามเนื้ออักเสบรุนแรง ประกอบกับมีอาการป่วยเรื้อรังและรุนแรงจากโรคเบาหวาน ภูมิแพ้ เส้นเลือดอุดตันที่โคนขาซ้าย มีแผลติดเชื้อที่เท้าเรื้อรัง คณะแพทย์ผู้รักษาจึงมีความเห็นว่า สมควรพักและงดภารกิจเป็นเวลา 15 วัน จึงไม่สามารถไปพบพนักงานสอบสวนได้
       
        อย่างไรก็ตาม มีรายงานข่าวแจ้งว่า ดีเอสไอได้ส่งเจ้าหน้าที่เข้าไปแฝงตัวเป็นกลุ่มญาติธรรมภายในวัดพระธรรมกายและได้บันทึกคลิปวิดีโอพระธัมมชโย เมื่อวันที่ 22 เม.ย.ที่ผ่านมา เป็นภาพขณะพระธัมมชโยเดินลงจากรถตู้และเดินทักทายพร้อมรับซองจากญาติโยมที่มารอ ซึ่งคลิปวิดีโอนี้น่าจะเป็น 1 ในพยานหลักฐานที่ดีเอสไอเชื่อว่าพระธัมมชโยไม่ได้ป่วยรุนแรงตามที่ทนายอ้าง จึงนำไปสู่การพิจารณาขอศาลออกหมายจับ
       
        ด้านพระสนิทวงศ์ วุฑฺฒิวํโส ผู้อำนวยการสำนักสื่อสารองค์กร วัดพระธรรมกาย ยอมรับว่าคลิปดังกล่าวเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจริงเมื่อช่วงบ่ายวันที่ 22 เม.ย. “ในช่วงเช้าหลวงพ่อไม่ได้ออกมาร่วมงานแต่อย่างใด โดยในช่วงบ่าย สมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์(ช่วง วรปุญฺโญ) ผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช เดินทางมามอบโล่ประกาศเกียรติคุณแด่พระสงฆ์ 90 กว่ารางวัล หลวงพ่อธัมมชโยจึงฝืนสังขารออกมาร่วมกิจกรรมประมาณ 2 ชั่วโมง บวกกับหลวงพ่อต้องรับโล่เกียรติยศ จึงทำให้มีอาการป่วยเฉียบพลัน เวียนศีรษะรุนแรง มีปัญหาในการทรงตัว และมีอาการปวดหลัง ปวดขาซ้าย เนื่องจากกล้ามเนื้ออักเสบรุนแรง” พระสนิทวงศ์ ยืนยันด้วยว่า ตั้งแต่วันที่ 23 เม.ย.เป็นต้นมา พระธัมมชโยยังคงอยู่ที่วัด ไม่ได้ออกไปไหนหรือไปต่างประเทศ เนื่องจากไม่มีพาสปอร์ต
       
        ด้าน พ.ต.ท.ปกรณ์ สุชีวกุล ผู้บัญชาการสำนักคดี การเงินการธนาคาร และพนักงานสอบสวนดีเอสไอ ได้ไปขอศาลเพื่ออนุมัติหมายจับพระธัมมชโยเมื่อวันที่ 26 เม.ย.พร้อมกับนำเอกสารพยานหลักฐานกว่า 2 ลังไปให้ศาลพิจารณาด้วย ขณะที่นายสัมพันธ์ เสริมชีพ ทนายความของพระธัมมชโย ได้เดินทางไปศาลเพื่อยื่นคัดค้านการออกหมายจับเช่นกัน ซึ่งในที่สุด ศาลได้มีคำสั่งยกคำร้องขอออกหมายจับของดีเอสไอ โดยให้เหตุผลว่า ผู้ต้องหายังไม่มีพฤติการณ์ที่จะหลบหนี ทั้งนี้ หลังศาลไม่อนุมัติหมายจับ คณะพนักงานสอบสวนของดีเอสไอและพนักงานอัยการที่ร่วมสอบสวน ได้มีมติให้พระธัมมชโยเข้ารับทราบข้อกล่าวหาในวันที่ 16 พ.ค. เวลา 09.00 น. ที่อาคารกรมสอบสวนคดีพิเศษ
       
        ด้านนายสัมพันธ์ เสริมชีพ ทนายความของพระธัมมชโย พูดถึงกรณีที่ดีเอสไอออกหมายเรียกพระธัมมชโยเป็นครั้งที่ 3 ว่า จะหารือกับทางวัดพระธรรมกายอีกครั้งว่า พระธัมมชโยจะเดินทางไปรับทราบข้อกล่าวหาตามหมายเรียกในวันที่ 16 พ.ค.นี้หรือไม่ เพราะยังเหลือเวลาอีกหลายวัน
       
        ทั้งนี้ นายสัมพันธ์ ได้รับมอบอำนาจจากพระธัมมชโยให้เข้าแจ้งความร้องทุกข์ต่อตำรวจ สภ.คลองหลวง จ.ปทุมธานี เมื่อวันที่ 28 เม.ย.ว่า สืบเนื่องจากเมื่อช่วงบ่ายวันที่ 4 มิ.ย.2558 พ.ต.ท.ปกรณ์ สุชีวกุล และคณะดีเอสไอ ได้นำเอกสารสำเนาเช็คธนาคารกรุงไทย สาขาการเคหะแห่งชาติ ลงวันที่ 15 ต.ค.2552 สั่งจ่ายพระราชภาวนาวิสุทธิ์ หรือพระธัมมชโย 100 ล้านบาท มาสอบถามว่าพระธัมมชโยเคยเห็นเช็คหรือรับเช็คดังกล่าวหรือไม่ ซึ่งพระธัมมชโยตอบว่า ไม่เคยเห็นและไม่เคยได้รับ จึงได้ทราบว่ามีการนำเช็คดังกล่าวไปเรียกเก็บเงิน และมีลายเซ็นกำกับหลังเช็ค โดยพระธัมมชโยได้ปฏิเสธว่าลายเซ็นหลังเช็คไม่ใช่ลายเซ็นของตน และไม่มีการนำเช็คดังกล่าวไม่เข้าบัญชี ดังนั้น หากมีผู้ใดนำเช็คดังกล่าวไปใช้เป็นหลักฐานหรืออ้างอิง ทำให้พระธัมมชโยได้รับความเสียหาย จะร้องทุกข์ดำเนินคดีต่อไป
       
        ด้าน พล.อ.ไพบูลย์ คุ้มฉายา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม กล่าวถึงกรณีที่ทนายพระธัมมชโย ปฏิเสธว่า พระธัมมชโยไม่ได้รับเช็ค 100 ล้านบาทจากนายศุภชัย ศรีศุภอักษร อดีตประธานสหกรณ์ฯ คลองจั่นว่า ให้เขาต่อสู้ไป เพราะเขามีสิทธิ แต่ดีเอสไอก็มีหลักฐานเพื่อต่อสู้ ตนได้สอบถามดีเอสไอแล้ว ยืนยันว่า คดีมีหลักฐานเพียงพอที่จะเรียกมารับทราบข้อกล่าวหา
       
        ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากข้อมูลที่พนักงานสอบสวนดีเอสไอตรวจสอบได้ ทราบว่า เช็คที่สั่งจ่ายในชื่อพระราชภาวนาวิสุทธิ์ หรือพระธัมมชโย และวัดพระธรรมกาย มีกว่า 20 ฉบับ รวมมูลค่ากว่า 1,200 ล้านบาท เข้าบัญชีพระธัมมชโยโดยตรง มี 8 ฉบับ มูลค่า 431 ล้านบาท เข้าบัญชีวัดพระธรรมกาย 10 ฉบับ มูลค่า 642 ล้านบาท และเข้าบัญชีมูลนิธิมหารัตนอุบาสิกาจันทร์ ขนนกยูง 5 ฉบับ มูลค่า 142 ล้านบาท และทางอ้อมคือ เงินที่เข้าสู่บัญชีเครือข่าย ขณะที่เช็คมูลค่า 100 ล้านบาท ที่เป็นปัญหา มีชื่อของ น.ส.ศศิธร โชคประสิทธิ์ เป็นผู้เซ็นสลักหลังเช็ค ก่อนนำไปขึ้นเงิน โดยเงินดังกล่าวนำไปใช้ในกิจการของวัดพระธรรมกาย
       
       3. ครป.แถลงจี้ ป.ป.ช.อย่าถอนฟ้องคดีสลายกลุ่มพันธมิตรฯ 7 ต.ค.51 เตือนหากดึงดัน จะจับมือภาค ปชช.เคลื่อนไหวต่อต้านถึงที่สุด!

        เมื่อวันที่ 27 เม.ย. คณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย(ครป.) ที่มีนายสุริยันต์ ทองหนูเอียด เป็นเลขาธิการ ได้ออกแถลงการณ์เกี่ยวกับท่าทีและข้อเรียกร้องของ ครป.ต่อกรณีที่มีข่าวว่า คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) มีแนวคิดจะถอนฟ้องคดีสลายการชุมนุมกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย เมื่อวันที่ 7 ต.ค.51 จนมีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บจำนวนมาก ซึ่ง ป.ป.ช.เป็นโจทก์ฟ้องนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ อดีตนายกรัฐมนตรี, พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ อดีตรองนายกฯ , พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ อดีตผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ และ พล.ต.ท.สุชาติ เหมือนแก้ว อดีตผู้บัญชาการตำรวจนครบาล เป็นจำเลยต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง หลังจำเลยบางรายยื่นขอความเป็นธรรมต่อ ป.ป.ช. ว่า มีหลักฐานใหม่ และขอให้ถอนฟ้องคดี ซึ่งที่ประชุม ป.ป.ช.มีมติ 6 ต่อ 1 ว่า ตามข้อกฎหมาย ป.ป.ช.มีสิทธิในการยื่นคำร้องถอนฟ้องคดี มีเพียงแต่ น.ส.สุภา ปิยะจิตติ เท่านั้นที่ลงมติไม่เห็นด้วย โดยให้เหตุผลว่า กฎหมายของ ป.ป.ช.เป็นกฎหมายมหาชน เมื่อไม่ได้บัญญัติเรื่องนี้ไว้ จึงไม่มีอำนาจที่จะดำเนินการถอนฟ้อง ครป.ได้แถลงท่าทีและข้อเรียกร้อง ดังนี้
       
          1.ครป.เห็นว่ามติที่ประชุมดังกล่าวอาจเป็นการกระทำที่เกินอำนาจของ ป.ป.ช. และส่อว่ากระทำผิดต่อกฎหมาย ป.ป.ช. เนื่องจากคดีดังกล่าวอยู่ในชั้นการพิจารณาของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองแล้ว และกฎหมายก็ไม่ได้ให้อำนาจ ป.ป.ช.ไปถอนฟ้องได้ การจะถอนฟ้องคดีดังกล่าว ทำให้สังคมสงสัยในความเป็นอิสระ และความซื่อสัตย์สุจริตในการปฏิบัติหน้าที่ของ ป.ป.ช.
       
        2.การปราบปรามประชาชนในเหตุการณ์ 7 ต.ค.2551 เป็นที่รับทราบร่วมกันของสังคมไทยแล้วว่า เจ้าหน้าที่ของรัฐได้กระทำเกินกว่าเหตุ ทำให้มีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บจำนวนมาก ดังจะเห็นได้จากรายงานการตรวจสอบข้อเท็จจริงของคณะกรรมาธิการสิทธิมนุษยชน สิทธิเสรีภาพ และการคุ้มครองผู้บริโภค วุฒิสภา ที่ระบุว่า มีผู้บาดเจ็บจากเหตุการณ์ดังกล่าว 471 ราย และมีผู้เสียชีวิต 2 ราย อีกทั้งที่ประชุม ป.ป.ช.ได้มีมติเมื่อ 7 ก.ย.2552 ชี้มูลความผิดทางอาญาจำเลยในคดีนี้ ฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 ดังนั้น ป.ป.ช.จะมาเขียนด้วยมือแล้วลบด้วยเท้า ด้วยการยื่นถอนฟ้องคดีนี้ไม่ได้
       
        3.ครป.ขอเรียกร้องต่อคณะกรรมการ ป.ป.ช.ชุดปัจจุบัน ได้ทบทวนมติการประชุมที่จะถอนฟ้องคดีดังกล่าว เพื่อสร้างความเชื่อมั่นต่อประชาชนในการปฏิบัติตามอำนาจหน้าที่ของ ป.ป.ช.ให้เป็นไปโดยอิสระ โปร่งใส และสุจริตยุติธรรม แถลงการณ์ ครป. ยังระบุด้วยว่า “หาก ป.ป.ช.ยังดึงดันที่จะทำตามมติที่ประชุมดังกล่าว ครป.ก็พร้อมจะประสานงานกับองค์กรภาคประชาชนเพื่อเคลื่อนไหวต่อต้านการใช้อำนาจหน้าที่ที่มิชอบ และสร้างมาตรฐานที่ถูกต้องเป็นธรรมต่อกรณีดังกล่าวอย่างถึงที่สุด”
       
       ส่วนความคืบหน้าคดีที่ ป.ป.ช. เป็นโจทก์ยื่นฟ้องนายสมชาย, พล.อ.ชวลิต, พล.ต.อ.พัชรวาท และ พล.ต.ท.สุชาติ ต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองนั้น เมื่อวันที่ 29 เม.ย. ศาลได้นัดไต่สวนพยานโจทก์นัดที่ 2 อย่างไรก็ตาม เมื่อถึงเวลาไต่สวน ทนายความ ป.ป.ช.แถลงต่อศาลว่า พยานทั้ง 5 ปาก ประกอบด้วย พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา ผบ.ตร., พล.ต.ต.วิบูลย์ บางท่าไม้ อดีต ผบช.สตม., พล.ต.ต.ลือชัย สุดยอด รอง ผบช.ภ.3 , พล.ต.ต.ลิขิต กลิ่นอวน อดีต รอง ผบช.น. และ พล.ต.ท.อนันต์ ศรีหิรัญ ผช.ผบ.ตร. ติดภารกิจ และบางคนติดต่อไม่ได้ โดย ป.ป.ช.โจทก์ ไม่ติดใจจะไต่สวนพยาน 5 ปากนี้อีกต่อไป แต่จะยื่นเป็นคำให้การของพยานดังกล่าวที่ให้ไว้ในชั้นไต่สวนของ ป.ป.ช.ต่อศาลแทน ขณะที่ศาลสอบถามฝ่ายจำเลยแล้ว ทนายความจำเลย แถลงว่า ฝ่ายจำเลยยังติดใจไต่สวนพยานทั้ง 5 ปากตามบัญชีพยานที่เคยยื่นไว้ต่อศาล ศาลพิเคราะห์แล้ว เห็นว่า จำเลยยังติดใจจะไต่สวนพยานดังกล่าว จึงให้มีการไต่สวนพยานทั้งห้าต่อไปพร้อมกับ พล.ต.อ.ปานศิริ ประภาวัต อดีต รอง ผบ.ตร. และ พล.ต.อ.วิโรจน์ พหลเวชช์ อดีต รอง ผบ.ตร. โดยศาลนัดไต่สวนพยานโจทก์ดังกล่าวในวันที่ 1 ก.ค.นี้ เวลา 09.30 น. พร้อมกันนี้ ศาลได้กำชับให้ ป.ป.ช.โจทก์ ขอหมายเรียกพยานและติดตามพยานมาไต่สวนให้ได้ตามกำหนดนัด
       
        เป็นที่น่าสังเกตว่า หลังศาลเลื่อนการไต่สวน นายสมชาย อดีตนายกฯ ได้เดินทางกลับทันที ขณะที่ พล.อ.ชวลิต ปฏิเสธที่จะตอบคำถามผู้สื่อข่าวกรณีมีกระแสข่าวว่า ป.ป.ช.กำลังตรวจสอบข้อกฎหมายเกี่ยวกับการถอนฟ้องคดีสลายการชุมนุมกลุ่มพันธมิตรฯ โดย พล.อ.ชวลิต กล่าวเพียงสั้นๆ เป็นภาษาอีสานว่า "บ่ฮู้ บ่เห็น บ่หัน"
       
       

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9785
    • ดูรายละเอียด
สรุปข่าวเด่นในรอบสัปดาห์ 24-30 เม.ย.2559(ต่อ)
« ตอบกลับ #1 เมื่อ: 19 มิถุนายน 2016, 21:41:57 »
4. ศาลฎีกาฯ เลื่อนไต่สวนคดี “บุญทรง” กับพวก ทุจริตข้าวจีทูจี ด้าน “เสี่ยเปี๋ยง” นอน รพ.ตำรวจแทนคุก พร้อมส่งญาติเจรจา ก.พาณิชย์ให้ยอมความ!

        เมื่อวันที่ 27 เม.ย. ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ได้นัดไต่สวนพยานโจทก์ครั้งแรก ในคดีที่อัยการสูงสุดเป็นโจทก์ฟ้องนายบุญทรง เตริยาภิรมย์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ กับพวกรวม 28 รายเป็นจำเลยในความผิดฐานร่วมกันทุจริตโครงการขายข้าวแบบรัฐต่อรัฐ(จีทูจี) ทั้งนี้ องค์คณะผู้พิพากษา ได้ชี้แจงกับคู่ความทั้งสองฝ่ายว่า เมื่อวันที่ 20 เม.ย.ที่ผ่านมา นิติบุคคล 5 ราย ของหน่วยงานรัฐ ได้ยื่นคำร้องขอให้จำเลยที่ 7-15 และ 17-28 ร่วมกันชดใช้ค่าเสียหายเป็นเงิน 26,000 ล้านบาทรวมดอกเบี้ย ซึ่งศาลได้สอบถามโจทก์แล้วไม่คัดค้าน
       
        ศาลพิเคราะห์แล้ว ให้รับคำร้องดังกล่าว และเพื่อเป็นการให้โอกาสจำเลยได้ต่อสู้ตามกระบวนการของกฎหมายอย่างเต็มที่ จึงให้จำเลยยื่นคำให้การเป็นเอกสารภายใน 30 วัน และให้เลื่อนนัดไต่สวนพยานโจทก์ครั้งแรกออกไปเป็นวันที่ 15 มิ.ย.นี้ พร้อมให้เพิ่มนัดไต่สวนอีก 8 นัด โดยให้นัดไต่สวนพยานครั้งสุดท้ายในวันที่ 28 มิ.ย. 2560 นอกจากนี้ ศาลยังได้กำชับคู่ความทั้งสองฝ่ายห้ามให้สัมภาษณ์ในข้อเท็จจริงเกี่ยวกับคดีนี้และคดีที่เกี่ยวข้องในลักษณะชี้นำ หรือกระทบกระบวนการยุติธรรม หากฝ่าฝืน ศาลอาจมีคำสั่งอย่างหนึ่งอย่างใดได้
       
        นอกจากนี้ สัปดาห์ที่ผ่านมา ยังมีความเคลื่อนไหวที่น่าสนใจเกี่ยวกับ 1 ในจำเลยที่ถูกฟ้องร่วมกับนายบุญทรง คดีทุจริตขายข้าวแบบจีทูจี คือ นายอภิชาติ จันทร์สกุลพร หรือ เสี่ยเปี๋ยง อดีตพ่อค้าข้าวชื่อดังของประเทศไทย ผู้ก่อตั้งบริษัทสยามอินดิก้า จำกัด ซึ่งปัจจุบันถูกคุมขังอยู่ที่เรือนจำกลางสมุทรปราการ หลังศาลอุทธรณ์ภาค 1 มีคำพิพากษาในคดีที่พนักงานอัยการคดีศาลแขวงสมุทรปราการ เป็นโจทก์ยื่นฟ้องบริษัทเพรสซิเดนท์ อะกิ เทรดดิ้ง จำกัด และเสี่ยเปี๋ยง เป็นจำเลยที่ 1-2 ในความผิดฐานยักยอกทรัพย์ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 352 วรรคแรก โดยพิพากษายืนให้จำคุกเสี่ยเปี๋ยง สำนวนละ 3 ปี ปรับสำนวนละ 6,000 บาท รวมจำคุกสองสำนวนเป็นเวลา 6 ปี ไม่รอลงอาญา และปรับ 12,000 บาท นอกจากนี้ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันคืนข้าวสารที่ยักยอกไปจำนวน 16,400 ตัน หรือใช้เป็นเงินแทนจำนวน 175,480,000 บาท ให้กับกรมการค้าต่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ ผู้เสียหาย และให้ร่วมกันคืนข้าวสารอีกจำนวน 4,742.96 ตัน หรือใช้เงินแทน 54,385,902.07 บาท รวมวงเงิน 229,865,902.07 บาท
       
        ทั้งนี้ สำนักข่าวอิศรา รายงานว่า การถูกจำคุกในคดีดังกล่าว เป็นเหตุผลสำคัญที่ทำให้นายอภิชาติ หรือเสี่ยเปี๋ยง ไม่ได้เดินทางไปศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง เพื่อนัดตรวจหลักฐานใหม่ ในคดีที่อัยการสูงสุดเป็นโจทก์ยื่นฟ้องนายบุญทรง และพวก ในความผิด ตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการเสนอราคาต่อหน่วยงานรัฐ(ฮั้วประมูล) พ.ศ. 2542 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 151 และ 157 และ พ.ร.บ.ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 พร้อมทั้งขอให้สั่งปรับจำเลย เป็นเงิน 35,274,611,007 บาท กรณีทุจริตระบายข้าวแบบจีทูจี ในช่วงที่ผ่านมา
       
        นอกจากนี้สำนักข่าวอิศรา ยังรายงานด้วยว่า ได้รับการเปิดเผยข้อมูลจากแหล่งข่าวเรือนจำกลางสมุทรปราการว่า เมื่อช่วงกลางเดือน มี.ค.ที่ผ่านมา เสี่ยเปี๋ยงได้ถูกส่งตัวไปที่โรงพยาบาลตำรวจ เพื่อรักษาอาการป่วย โดยอยู่ที่ตึกเฉลิมพระเกียรติ ฉก 5/1 ต่อมา เมื่อวันที่ 26 เม.ย.59 ผู้สื่อข่าวได้เดินทางไปตรวจสอบข้อมูลที่ตึกเฉลิมพระเกียรติ ฉก 5/1 โรงพยาบาลตำรวจ พบว่า นายอภิชาติ หรือเสี่ยเปี๋ยงมาพักรักษาตัวอยู่จริง โดยมีผู้คุมเรือนจำนั่งเฝ้าอยู่หน้าห้อง ชั้น 5 จำนวน 2 นาย และปฏิเสธที่จะให้ข้อมูลกับผู้สื่อข่าว ถึงอาการป่วยของเสี่ยเปี๋ยง นอกจากนี้ ระหว่างที่กำลังพูดคุยกับผู้คุมเรือนจำ พบว่ามีผู้หญิงรายหนึ่งมาเข้าเยี่ยมเสี่ยเปี๋ยง เมื่อเยี่ยมเสร็จ ได้รีบกลับออกไปขึ้นรถเบนซ์ สีดำ ที่จอดรออยู่ โดยไม่ให้สัมภาษณ์ผู้สื่อข่าวแต่อย่างใด
       
        มีรายงานด้วยว่า เมื่อเร็วๆ นี้ ญาติเสี่ยเปี๋ยงได้วางเงินประกันที่ศาล เป็นจำนวน 229,865,902.07 บาท (มูลค่าเงินที่ต้องชดใช้ในคดียักยอกข้าวทั้ง 2 สำนวน) พร้อมยื่นคำร้องขอเจรจายอมความกับกรมการค้าต่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ ซึ่งกระทรวงพาณิชย์ได้ทำเรื่องหารือไปที่อัยการสูงสุด แต่ยังไม่ได้รับคำตอบว่าจะเจรจายอมความหรือไม่ เพราะการเจรจาจะมีผลกระทบต่อคดีที่อยู่ระหว่างการพิจารณาในชั้นฎีกา
       
       5. ตำรวจ ส่งสำนวนทายาท “เลนโซ่กรุ๊ป” ซิ่งเบนซ์ชนฟอร์ด ดับ 2 ศพให้อัยการแล้ว ตั้ง 8 ข้อหาหนัก ด้านญาติผู้เสียชีวิตเล็งฟ้องเพิ่มข้อหา “เจตนาฆ่า”!

        เมื่อวันที่ 26 เม.ย. พล.ต.อ.พงศพัศ พงษ์เจริญ รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ได้เดินทางไปตรวจดูความเรียบร้อยและความครบถ้วนของสำนวนคดีที่นายเจนภพ วีรพร ทายาทเลนโซ่กรุ๊ป ผู้ต้องหาขับรถเบนซ์ด้วยความเร็วสูงชนท้ายรถยนต์ฟอร์ด จนเกิดไฟลุมท่วม เป็นเหตุให้ น.ส.ธัญฐภัทร์ ฮ้อแสงชัย และนายกฤษณะ ถาวร สองนักศึกษาปริญญาโท ถูกไฟคลอกเสียชีวิต เหตุเกิดที่บริเวณทางต่างระดับบางปะอิน จ.พระนครศรีอยุธยา ก่อนจะมีการนำสำนวนส่งให้พนักงานอัยการ เพื่อสั่งฟ้องผู้ต้องหา โดยมีญาติผู้เสียชีวิตทั้ง 2 ราย เดินทางมาติดตามคดีด้วย
       
        พล.ต.อ.พงศพัศ กล่าวว่า ได้รับมอบหมายจาก พล.ต.อ.จักทิพย์ ชัยจินดา ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ให้มาตรวจสอบสำนวนร่วมกับผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 1 เบื้องต้นพนักงานสอบสวนได้แจ้ง 8 ข้อหาแก่นายเจนภพ ประกอบด้วย 1. ขับรถโดยประมาทเป็นเหตุให้ทรัพย์สินผู้อื่นเสียหาย และผู้อื่นถึงแก่ความตาย 2. ขับรถในขณะหย่อนความสามารถ 3. ขับรถในขณะเมาสุรา หรือของเมาอย่างอื่นเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย 4. ขับรถไม่คำนึงถึงความปลอดภัย หรือความเดือดร้อนของบุคคลอื่น 5.ขับรถด้วยความเร็วเกินกว่ากฎหมายกำหนด 6.เป็นผู้ขับขี่เสพยาเสพติดให้โทษหรือเสพวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท และเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย 7.เป็นผู้ขับขี่ฝ่าฝืน หรือไม่ปฏิบัติตามคำสั่งพนักงานสอบสวนที่สั่งให้มีการทดสอบผู้ขับขี่ว่าหย่อนความสามารถ ในการที่จะขับขี่จากการเมาสุราหรือของเมาอย่างอื่น และ 8.ทราบคำสั่งของเจ้าพนักงานซึ่งสั่งการตามหน้าที่ที่กฎหมายให้ไว้ แต่ไม่ปฏิบัติตามคำสั่ง โดยไม่มีข้อแก้ตัวและเหตุผลอันสมควร
       
       ส่วนข้อหาฆ่าผู้อื่นโดยเจตนา ที่ญาติของผู้เสียชีวิตขอให้พนักงานสอบสวนแจ้งเพิ่มด้วยนั้น พนักงานสอบสวนเห็นว่า ยังไม่มีข้อบ่งชี้ชัดว่า ผู้ต้องหามีเจตนาฆ่าผู้อื่น แต่หากญาติจะไปฟ้องเอง หรือจะยื่นหลักฐานต่ออัยการเพิ่มเติม ก็สามารถทำได้ พร้อมยืนยันว่า ข้อกล่าวหาที่แจ้งทั้งหมดนั้น อยู่บนพื้นฐานของข้อมูลพยานหลักฐานทุกด้าน มีประจักษ์พยานที่หนักแน่น
       
        ต่อมา พล.ต.อ.พงศพัศ พร้อมคณะ ได้นำสำนวนไปส่งให้อัยการจังหวัดพระนครศรีอยุธยา เพื่อพิจารณาส่งฟ้องศาล ด้านนายยงยุทธ เกียรติศักดิ์โสภณ อธิบดีอัยการภาค 1 เผยว่า ทางอัยการสูงสุดได้มอบหมายให้ดูแลคดีนี้อย่างใกล้ชิด เพราะเป็นเรื่องที่ประชาชนสนใจ และว่า อัยการมีเวลาตรวจสอบสำนวน 40 วัน รับรองว่าจะส่งฟ้องต่อศาลจังหวัดพระนครศรีอยุธยาได้ทันเวลา
       
        ขณะที่นางนงครัตน์ รุ่งแสง น้องสาวนายกฤษณะที่เสียชีวิต กล่าวว่า เบื้องต้นพอใจใน 8 ข้อหาที่ตำรวจตั้ง ส่วนข้อหาฆ่าคนตายโดยเจตนา ที่ไม่มีในสำนวนนั้น จะขอเวลา 2 สัปดาห์ในการหารือกับญาติและทนายความว่า จะยื่นฟ้องเองหรือไม่

 MGR Online       30 เมษายน 2559