ผู้เขียน หัวข้อ: จากคำเตือนของ อย. มากกว่า 80% ของคนเป็นหวัดซื้อยาปฏิชีวนะผิด และยาอมเจ็บคอทำให้  (อ่าน 843 ครั้ง)

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9759
    • ดูรายละเอียด
 เมื่อวันที่ 1 กันยายน พ.ศ. 2557 กองพัฒนาศักยภาพผู้บริโภค ได้มีข่าวแจกที่ได้เผยแพร่ในเว็บไซต์ของสำนักสารนิเทศ สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข ในหัวข้อ “หน้าฝนนี้ อย.เตือนผู้บริโภคอย่าซื้อยาปฏิชีวนะมาใช้เอง อาจได้รับอันตรายจากการใช้ยาไม่เหมาะสม และเสี่ยงต่อการเกิดเชื้อแบคทีเรียดื้อยา”
       
        ข่าวที่เผยแพร่ครั้งนี้ก็คงเป็นอีกครั้งหนึ่งจากหลายๆครั้งในรอบหลายปีที่กระทรวงสาธารณสุขพยายามจะส่งสัญญาณการใช้ยาปฏิชีวนะของประชาชน เพียงแต่ครั้งนี้ ดร.นพ.ปฐม สวรรค์ปัญญาเลิศ รองเลขาธิการองค์การอาหารและยา ได้ให้สัมภาษณ์เผยแพร่ในเรื่องดังกล่าวความตอนหนึ่งว่า
       
        “อาการเจ็บคอ น้ำมูกไหล ไอ มีเสมหะ หรือ อาจมีไข้ร่วมด้วย และเมื่อมีอาการเหล่านี้คนส่วนใหญ่มักเข้าใจว่าจะต้องกินยาปฏิชีวนะ ซึ่งเป็นความเข้าใจที่ไม่ถูกต้อง ประชาชนควรมีความรู้ก่อนว่าอาการหวัดเจ็บคอที่เป็นนั้นมีสาเหตุจากอะไร
       
       เนื่องจากคนส่วนใหญ่ของหวัดเจ็บคอ (ร้อยละ 80) มักเกิดจากเชื้อไวรัส ไม่ต้องกินยาปฏิชีวนะ มีเพียงส่วนน้อย (ร้อยละ 20) ที่อาจเกิดจากเชื้อแบคทีเรีย และอาจจำเป็นต้องได้รับยาปฏิชีวนะ หากประชาชนไม่รู้ข้อเท็จจริงนี้ ทุกครั้งที่เป็นหวัดเจ็บคอ เขาจะได้รับยาปฏิชีวนะโดยไม่จำเป็นบ่อยถึงร้อยละ 80 เลยทีเดียว
       
       วิธีการเบื้องต้นในการแยกแยะระหว่างการติดเชื้อไวรัสและแบคทีเรีย คือ หากเป็นหวัดเจ็บคอจากเชื้อไวรัส มักมีอาการ
       
       1.คัดจมูก น้ำมูกไหล
       2.ไอ มีเสมหะ เสียงแหบ
       3.คันคอ เจ็บคอ
       4.หรืออาจมีไข้ร่วมด้วย
       
       การมีไข้นั้นอาจนาน ประมาณ 7-14 วัน อาการจะมากสุดในช่วงวันที่ 3-5
       หลังจากนั้นอาการโดยรวมจะค่อยๆดีขึ้น น้ำมูกจะน้อยลงและข้นขึ้น บางทีอาจมีสีออกเหลืองโดยเฉพาะช่วงเช้า แต่อาการไออาจอยู่นานกว่า 2 สัปดาห์ งานวิจัยชี้ชัดว่า ยาปฏิชีวนะไม่ช่วยให้อาการไอและหวัดหายเร็วขึ้นแต่อย่างใด การรักษาที่ดีที่สุดคือการพักผ่อนและดื่มน้ำอุ่น เพื่อให้ร่างกายสร้างภูมิต้านทานมาต่อสู้กับเชื้อไวรัส และอาจปรึกษาเภสัชกรเกี่ยวกับการใช้ยาเพื่อบรรเทาอาการหวัด ไอ คัดจมูก หรือเจ็บคอ
       
       ส่วนอาการเจ็บคอที่อาจเกิดจากเชื้อแบคทีเรีย (ซึ่งพบน้อย) มักมีอาการอย่างน้อย 3 ใน 4 ข้อนี้รวมกันคือ
       
       (1) ไม่ไอ
       (2) มีไข้
       (3) ต่อมทอนซิลมีจุดขาวหรือเป็นหนอง
       (4) ต่อมน้ำเหลืองใต้ขากรรไกกดเจ็บ
       
       ทั้งนี้ประชาชนสามารถสำรวจต่อมน้ำเหลืองของตนเองโดยการคลำบริเวณใต้ขากรรไกร
       เพื่อดูว่าต่อมน้ำเหลืองบริเวณนี้โตหรือกดเจ็บหรือไม่ และสามารถดูต่อมทอนซิลของตนเองโดยการอ้าปากและส่องกระจกดูที่ต่อมทอนซิลว่ามีจุดขาวหรือเป็นหนองหรือไม่ หากมีอาการ 3 ใน 4 ข้อ หรือมีอาการครบทั้ง 4 ข้อดังกล่าว ควรไปพบแพทย์เพื่อรับการรักษาที่ถูกต้องต่อไป
       
        ก่อนกินยาปฏิชีวนะทุกครั้งต้องมั่นใจว่าโรคที่เป็นมีสาเหตุมากจาก เชื้อแบคทีเรีย ไม่ควรกินยาปฏิชีวนะโดยไม่รู้ว่าป่วยด้วยโรคติดเชื้อแบคทีเรียหรือไม่ โดยสอบถามแพทย์หรือ เภสัชกรซ้ำทุกครั้งเพื่อความมั่นใจ และขอเตือนประชาชนอย่าซื้อยาปฏิชีวนะมากินเอง อย่าใช้ยาปฏิชีวนะตามที่คนอื่นแนะนำ และอย่าแบ่งยาปฏิชีวนะของตนเองให้แก่ผู้อื่น เพราะเราไม่รู้ว่าเขาจำเป็นต้องใช้ยาปฏิชีวนะหรือไม่ เนื่อจากยาปฏิชีวนะมีหลายชนิด เช่น เพนนิซิลลิน อะม็อกซิซิลลิน เตตร้าซัยคลิน อิริทโทรมัยซิน โคทรัยม็อกซาโซล เป็นต้น เชื้อแต่ละชนิดใช้กับเชื้อแบคทีเรียต่างวกัน และสำคัญเราไม่รู้ว่าเขาแพ้ยาหรือไม่ และมีโรคประจำตัวอะไร”
       
        ลำพังข่าวที่กล่าวมาข้างต้นก็น่าเป็นห่วงอยู่แล้ว ต่อมาเมื่อวันที่ 22 ตุลาคม 2557 เภสัชกรประพนธ์ อางตระกูล รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา ได้ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีที่มีนักวิชาการด้านเภสัชศาสตร์ เรียกร้อง อย.ถอนทะเบียนตำรับยาอมบรรเทาอาการเจ็บคอที่มีส่วนผสมของยานีโอมัยซิน และเบซิทราซิน ซึ่งเป็นยาปฏิชีวนะแต่มีปริมาณการผสมน้อยไม่เพียงพอที่จะฆ่าเชื้อ แต่กลับก่อให้เกิดปัญหาเชื้อแบคทีเรียดื้อยาปฏิชีวนะว่า ยาอมบรรเทาอาการเจ็บคอเป็นหนึ่งในรายชื่อตำรับยาที่คณะอนุกรรมการทบทวนตำรับยาแผนปัจจุบันสำหรับมนุษย์ อย.กำลังพิจารณาถอนทะเบียนตำรับยา ซึ่งขณะนี้มีมากกว่า 10 รายการ โดยอยู่ระหว่างการหาข้อมูลทางด้านวิชาการมาประกอบพิจารณาให้มากเพียงพอต่อการพิจารณาถอนตำรับยาหรือปรับปรุงสูตรใหม่ คาดว่าน่าจะใช้เวลาสักระยะ
       
        เภสัชกร ประพนธ์ กล่าวว่า “ยาอมบรรเทาอาการเจ็บคอมีการอนุมัติขึ้นทะเบียนตำรับยามาเป็นเวลานาน ซึ่งช่วงเวลานั้นมีการพิสูจน์ว่ามีประโยชน์อะไรบ้าง แต่ขณะนี้งานวิชาการและวิวัฒนาการทางการแพทย์เจริญก้าวหน้า ทำให้ทราบว่าตำรับยานี้มีความไม่เหมาะสม และมีโอการทำให้เชื้อดื้อยา ก็มีสิทธิจะนำมาทบทวน ซึ่งเมื่อเห็นพ้องต้องกัน มีข้อมูล มีรายงานการศึกษาวิจัยที่ชัดเจนมาสนับสนุนว่าไม่เหมาะสม ก็จะต้องแจ้งเจ้าของผลิตภัณฑ์ให้มาแก้ไขสูตรตำรับ ซึ่งขณะนี้มีผู้ประกอบการอยู่หลายสิบรายที่จำหน่ายยาอมบรรเทาอาการเจ็บคอ ส่วนสุดท้ายแล้วยกเลิกการจำหน่ายหรือไม่ อยู่ที่มติของอนุกรรมการ”
       
        ก่อนอื่นต้องขอขอบคุณและให้กำลังใจทั้ง ดร.นพ.ปฐม สวรรค์ปัญญาเลิศ และเภสัชกรประพนธ์ อางตระกูล ข้าราชการกระทรวงสาธารณสุขที่ได้มีความกล้าหาญส่งสัญญาณให้ประชาชนได้รับทราบเรื่องสำคัญเช่นนี้
       
        แต่อย่าแปลกใจเลยว่าทำไมคนในยุคหลังๆต้องเปลี่ยนยาปฏิชีวนะบ่อยขึ้น ตัวยารุนแรงขึ้น หรือกินปริมาณมากขึ้น และ/หรือกินนานมากขึ้น ก็เพราะคนไทยจำนวนไม่น้อยดื้อยาปฏิชีวนะรุ่นเดิมไปแล้ว
       
       1.ทั้งจากการซื้อยากินเองอย่างไม่ถูกต้อง ไม่ตรงโรค กินไม่ครบ จนดื้อยา
       2.จากยาอม ที่อมเป็นประจำโดยที่สามารถซื้อหากันได้ง่ายแม้แต่ในร้านสะดวกซื้อจนดื้อยา
       3.จากเนื้อสัตว์ที่เราบริโภค ที่มีการฉีดยาปฏิชีวนะในระดับต่ำๆ(เพื่อป้องกันการติดเชื้อในสัตว์) ทำให้ผู้บริโภคเนื้อสัตว์ได้รับยาปฏิชีวนะในระดับต่ำไปด้วย จนเชื้อก่อโรคในร่างกายดื้อยาและพัฒนาสายพันธุ์ให้แข็งแรงขึ้น
       
       แต่ความสำคัญนอกจากการดื้อยาแล้วยังทำให้ร่างกายเรานั้นเกิดความไม่สมดุลของ
       จุลินทรีย์ กล่าวคือยาปฏิชีวนะคือยาที่ฆ่าแบคทีเรีย ทำให้แบคทีเรียชนิดดีในร่างกายถูกทำลายไปด้วย โดยที่ไม่ได้ทำลายไวรัส ยีสต์ เชื้อรา โปรโตซัว ยิ่งถึงขนาดกินยาผิดเพราะติดเชื้อไวรัสแต่กลับไปกินยาทำลายแบคทีเรียก็ยิ่งทำให้แบคทีเรียที่ดีในร่างกายของเราถูกทำลายไปได้ด้วย
       
        ถามว่าความไม่สมดุลของจุลินทรีย์ที่แบคทีเรียชนิดดีร่างกายเราเช่น แลคโตบาซิลลัส หรือ บิฟิโดแบคทีเรียม ตายลงเพราะอ่อนไหวกับยาปฏิชีวนะจะเกิดอะไรขึ้น สิ่งที่จะเกิดขึ้นก็คือจุลินทรีย์ชนิดอื่นก็จะเพิ่มจำนวนชิงพื้นที่ในร่างกายเรามากขึ้นนั้นเอง ซึ่งรวมถึง ยิสต์ เชื้อรา และแบคทีเรียก่อโรค
       
        เช่น เชื้อยิสต์แคนดิด้า อัลบิแคนส์ ชิงพื้นที่ได้มากขึ้นจากอาหารที่มีน้ำตาลและแป้งมาก ในขณะที่แบคทีเรียชนิดดีถูกยาปฏิชีวนะทำลายจนลดจำนวนลง ก็จะทำให้เกิดภาวะติดเชื้อยีสต์ในช่องคลอด เกิดภาวะลำไส้รั่ว ระบบการย่อยอาหารไม่ดี และเกิดภูมิแพ้ที่เกิดจากอาหารได้ง่าย เกินภูมิแพ้ผิวหนังง่าย ภูมิแพ้ทางเดินหายใจง่าย เกิดแผลช่องปากง่าย
       
        ในขณะเดียวกัน เชื้อแบคทีเรียชนิดดีลดลงก็ยังอาจจะเป็นผลทำให้ คลอสตริเดียม ดิฟฟิไซล์ ที่ทนยาปฏิชีวนะได้มากกว่าทำให้เกิดอาการท้องร่วงได้ด้วย
       
        และยังรวมถึงการเจริญเติบโตของแบคที่เรียชนิดที่ไม่ดีมีมากเพราะแบคทีเรียชนิดดีถูกทำลาย เช่น สเตร๊ปโตค็อกคัส มิวแตนส์ ที่เป็นสาเหตุขอโรคฟันผุ หรือ แบทีเรียพอร์ไฟโรมาแนส กินกิวานิส ที่ทำให้เกิดโรคเหงือกอักเสบ
       
        หรือแม้กระทั่งหากแลกโตบาซิลลัสน้อยเพราะกินยาปฏิชีวนะมาก ก็อาจทำให้เกิดแผลในกระเพาะอาหารเพราะ แบคทีเรีย เฮลิโคแบ็กเตอร์ ไพโลริ ในกระเพาะอาหารที่หลั่งสารสะเทินความเป็นกรดบริเวณรอบๆมีมากเกินไป
       
        การกินยาปฏิชีวนะโดยกินแบบทั้งตรงโรคหรือเลวร้ายกว่านั้นคือไม่ตรงโรคต้องยอมรับว่าจะมีผลข้างเคียงที่ไม่พึงประสงค์มากมาย ดังนั้นหยุดซื้อยาปฏิชีวนะแบบมั่วๆให้ตัวเองและคนในครอบครัวก่อนจะดีไหม?


ณ บ้านพระอาทิตย์
       โดย...ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์
       
ASTVผู้จัดการรายวัน    24 ตุลาคม 2557