ผู้เขียน หัวข้อ: สรุปข่าวเด่นในรอบสัปดาห์ 27 เม.ย.-3 พ.ค.2557  (อ่าน 694 ครั้ง)

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9784
    • ดูรายละเอียด
1. “อภิสิทธิ์” แถลงทางออก ปท.แนะ “ยิ่งลักษณ์” ยอมถอยลาออก เปิดทาง รบ.เฉพาะกาลทำกรอบปฏิรูป-จัดเลือกตั้งใหม่ใน 6 เดือน!

       ความคืบหน้าการอาสาหาทางออกประเทศของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ หลังเดินสายพบหารือกับหลายฝ่าย เช่น พล.อ.ธนะศักดิ์ ปฏิมาประกร ผู้บัญชาการทหารสูงสุด ,คณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.) ,นายบรรหาร ศิลปอาชา ประธานที่ปรึกษาหัวหน้าพรรคชาติไทยพัฒนา ,นายสุวัจน์ ลิปตพัลลภ ประธานที่ปรึกษาพรรคชาติพัฒนา ,นายสนธยา คุณปลื้ม รักษาการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม ในฐานะหัวหน้าพรรคพลังชล แต่ไม่ได้มีการหารือกับรัฐบาลหรือคณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข(กปปส.) นั้น
       
       ล่าสุด(3 พ.ค.) นายอภิสิทธิ์ ได้แถลงรายละเอียดข้อเสนอ “ทางออกประเทศ” ให้สาธารณชนได้ทราบ โดยบอกว่า ข้อเสนอทำขึ้นเพื่อหลีกเลี่ยง 3 อย่าง คือ 1.หลีกเลี่ยงความสูญเสียชีวิตของประชาชนจากความขัดแย้ง 2.หลีกเลี่ยงการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองที่ไม่เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ คือ รัฐประหาร 3.หลีกเลี่ยงการดึงสถาบันพระมหากษัตริย์ หรือศาล เข้ามาอยู่ในวังวนความขัดแย้ง ซึ่งถ้าทุกฝ่ายยอมรับข้อเสนอ ประเทศจะเดินหน้าปฏิรูปได้ทันที โดยจะใช้เวลาประมาณ 1 ปีครึ่ง และภายใน 150-180 วัน จะมีการเลือกตั้งที่เสรี สุจริต และเที่ยงธรรมเป็นที่ยอมรับของทุกฝ่ายได้
       
       สำหรับขั้นตอนการดำเนินการตามแผนดังกล่าว ก็คือ รัฐบาลต้องชะลอการตรา พ.ร.ฎ.กำหนดวันเลือกตั้ง ,กกต. ต้องใช้เวลาช่วงนี้ปฏิรูปการบริหารจัดการเลือกตั้ง ,เครือข่ายเดินหน้าปฏิรูปร่วมกับ กปปส. ใช้เวลา 15-30 วัน จัดทำข้อเสนอจัดตั้งสภาปฏิรูปที่จะมาทำข้อเสนอปฏิรูปทั้งหมด โดยปลอดนักการเมือง กำหนดกรอบเวลาและแนวทางให้ประชาชนมีส่วนร่วม ,เมื่อได้ข้อเสนอปฏิรูปที่ชัดเจนแล้ว นำไปทำประชามติให้ประชาชนเห็นชอบโดยใช้เวลา 90 วัน เพื่อให้การลงประชามติมีผลผูกมัดรัฐบาลหลังเลือกตั้งว่าต้องดำเนินการปฏิรูป
       
       นายอภิสิทธิ์ ยังบอกด้วยว่า เพื่อสร้างความมั่นใจในการทำประชามติและการเลือกตั้ง นายกรัฐมนตรีต้องนำรัฐมนตรีลาออกจากตำแหน่ง หรืออาจไม่ลาออก แต่อาจปรับรัฐมนตรีออกจากตำแหน่ง แล้วตัวเองลาออก เพื่อเปิดทางไปสู่การมีรัฐบาลเฉพาะกาลคนกลางที่ทุกฝ่ายยอมรับ มาบริหารจัดการการทำข้อเสนอปฏิรูป การทำประชามติ และจัดการเลือกตั้ง โดยรัฐบาลเฉพาะกาลจะมีอำนาจจำกัด ทำภารกิจช่วงเปลี่ยนผ่านไปสู่การเลือกตั้งเท่านั้น ไม่มีอำนาจตรากฎหมายหรือแก้ไขกฎหมายใดๆ และไม่มีส่วนได้ส่วนเสียกับการเลือกตั้งครั้งต่อไป เมื่อทำประชามติเสร็จ การปฏิรูปเดินหน้า จัดการเลือกตั้งภายใน 45-60 วัน โดยทุกพรรคที่ลงเลือกตั้งต้องยืนยันว่าจะสนับสนุนการปฏิรูปหลังเลือกตั้ง หากไม่ทำจะถือว่าผิดกฎหมายเลือกตั้ง ถูกเพิกถอนสิทธิทางการเมืองและยุบพรรค สุดท้ายเมื่อการเลือกตั้งแล้วเสร็จ รัฐบาลหลังการเลือกตั้งจะต้องปฏิรูปประเทศให้เสร็จภายใน 1 ปี แล้วเลือกตั้งใหม่อีกรอบ ทุกอย่างก็จะกลับเข้าสู่ภาวะปกติ
       
       นายอภิสิทธิ์ ย้ำด้วยว่า ตนพูดตั้งแต่วันแรกแล้วว่าไม่มีฝ่ายไหนจะได้ 100% จากสิ่งที่ตนเสนอ แต่ฝ่ายต่างๆ น่าจะได้สิ่งที่เป็นความต้องการหลักของตัวเอง รัฐบาลได้เห็นการเลือกตั้งในกรอบเวลาที่ชัดเจน คนในรัฐบาลได้กลับไปลงเลือกตั้ง เพียงแต่ขอให้ท่านทั้งหลายเหล่านั้นถอยออกไปเป็นเวลาสั้นๆ 5-6 เดือน กปปส. ก็ได้รัฐบาลคนกลาง ได้สภาปฏิรูป ได้มั่นใจว่าการขัดขวางการปฏิรูปจะทำไม่ได้ เพียงแต่ไม่ได้สภานิติบัญญัติ หรือรัฐบาลที่ กปปส. จะเสนอ แต่สิ่งที่ได้ 100% คือประเทศ ได้ทั้งการเลือกตั้ง การปฏิรูป ไม่มีการนองเลือด ไม่มีรัฐประหาร สถาบันไม่ถูกละเมิด เศรษฐกิจได้รับการประคับประคอง ชาวนาได้เงิน ปัญหาต่างๆ แก้ไขได้ด้วยความคล่องตัวมากขึ้น
       
       นายอภิสิทธิ์ บอกด้วยว่า จะส่งข้อเสนอทั้งหมดนี้ให้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ และ กปปส.ในวันที่ 6 พ.ค. เพื่อให้ทั้งสองฝ่ายพิจารณาข้อเสนออย่างละเอียด "คุณยิ่งลักษณ์ต้องการให้ประเทศเดินหน้าหรือไม่ สิ่งเดียวที่ต้องเสียสละ คือคุณยิ่งลักษณ์ต้องถอยออกไปจากอำนาจ 5-6 เดือน ถามว่าคุณยิ่งลักษณ์ถอยออกไป 5-6 เดือนได้ไหม ผมเป็นนักการเมืองโดยอาชีพ 20 ปี ยังยอมถอยออกจากการเมืองได้กว่า 2 ปี เพื่อบ้านเมือง แค่ 5-6 เดือนคุณยิ่งลักษณ์ถอยให้ประเทศได้หรือไม่" นายอภิสิทธิ์ ยังฝากถึงนายสุเทพด้วยว่า อย่าเพิ่งรีบปฏิเสธข้อเสนอ เพราะข้อเสนอนี้ไม่ได้บั่นทอนการต่อสู้ เพียงแต่วิธีที่จะเดินไปสู่เป้าหมายแตกต่างกัน หากรัฐบาลตอบรับ นายสุเทพจะเห็นภาพรัฐบาลคนกลางและการปฏิรูป ซึ่งถือว่าบรรลุเป้าหมายของการต่อสู้แล้ว
       
       ทั้งนี้ นายอภิสิทธิ์ได้ประกาศเมื่อวันที่ 1 พ.ค.ว่า หากทุกฝ่ายยอมรับข้อเสนอของตน ตนพร้อมจะเว้นวรรคทางการเมือง ไม่ลงสมัครรับเลือกตั้งในการเลือกตั้งครั้งต่อไป เพื่อพิสูจน์ว่า ตนเสนอทางออกประเทศในฐานะประชาชนที่สนับสนุนให้การปฏิรูปประสบผลสำเร็จ ไม่ได้ทำเพื่อประโยชน์ส่วนตนแต่อย่างใด
       
       2. กกต.จับมือรัฐบาลเคาะวันเลือกตั้งแล้ว 20 ก.ค. ด้าน “สมชัย” ไม่รับข้อเสนอ “อภิสิทธิ์” ชี้ อยู่ที่ รบ.ตัดสินใจ!

       เมื่อวันที่ 30 เม.ย. ซึ่งเป็นวันที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.) นัดหารือกับ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร รักษาการนายกฯ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม และรัฐบาล เพื่อกำหนดวันเลือกตั้ง ปรากฏว่า ก่อนการหารือ ได้มีตัวแทนพรรคการเมืองขนาดเล็ก 53 พรรค หรือกลุ่มสหพรรคประชาธิปไตย มารอฟังผลการหารือ พร้อมยื่นหนังสือถึงรักษาการนายกฯ เพื่อย้ำจุดยืนของสหพรรคฯ ว่า ต้องการให้จัดการเลือกตั้งในวันที่ 15 มิ.ย. แต่ไม่เกิน 22 มิ.ย. และขอให้พรรคประชาธิปัตย์ลงเลือกตั้งด้วย
       
       ด้านนายศุภชัย สมเจริญ ประธาน กกต. กล่าวก่อนหารือกับรัฐบาลว่า ได้เตรียมเสนอกรอบวันเลือกตั้งให้รัฐบาลพิจารณา 3 แนวทาง คือ เลือกตั้งวันที่ 20 ก.ค. ,วันที่ 17 ส.ค. ,วันที่ 14 ก.ย. โดย กกต.ยืนยันว่าวันที่ 20 ก.ค.เหมาะสมที่สุด พร้อมกันนี้จะเสนอผลหารือระหว่าง กกต.กับฝ่ายความมั่นคง พรรคการเมือง และหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ให้รัฐบาลทราบด้วยว่า แต่ละฝ่ายมีความเห็นอย่างไร เพื่อเป็นข้อมูลประกอบการตัดสินใจของรัฐบาลในการกำหนดวันเลือกตั้ง
       
       ทั้งนี้ ภายหลังการหารือระหว่าง กกต.กับรัฐบาล นายภุชงค์ นุตราวงศ์ เลขาธิการ กกต. แถลงว่า บรรยากาศเป็นไปด้วยดี ทั้งสองฝ่ายเห็นตรงกันว่าจะจัดเลือกตั้ง ส.ส.ครั้งใหม่ในวันที่ 20 ก.ค. โดยวันที่ 6 พ.ค. กกต.จะไปยกร่าง พ.ร.ฎ.แก้ไขเพิ่มเติมกำหนดวันเลือกตั้ง ส.ส. ก่อนนำเสนอ ครม.เพื่อให้ความเห็นชอบ จากนั้นนายกฯ จะเป็นผู้นำร่าง พ.ร.ฎ.ขึ้นกราบบังคมทูลต่อไป คาดว่า สัปดาห์หน้าจะเสนอเข้าที่ประชุม ครม.ได้
       
       ต่อมา(2 พ.ค.) นายสมชัย ศรีสุทธิยากร กกต.ด้านกิจการบริหารงานเลือกตั้ง เผยว่า การร่าง พ.ร.ฎ.แก้ไขเพิ่มเติมกำหนดวันเลือกตั้งยังไม่เสร็จสิ้น อยู่ระหว่างตรวจสอบถ้อยคำ โดยจะนำร่างเข้าสู่การพิจารณาของ กกต.ในวันที่ 6 พ.ค. หากที่ประชุม กกต.เห็นชอบ ก็จะเสนอร่าง พ.ร.ฎ.ไปยัง ครม.เพื่อให้ทูลเกล้าฯ ทันที แต่ถ้าไม่สามารถยื่นในวันที่ 6 พ.ค.ได้ ก็ไม่กระทบต่อปฏิทินกำหนดการเลือกตั้ง เพราะนายพงศ์เทพ เทพกาญจนา รักษาการรองนายกฯ ได้บอกเองว่า กกต.สามารถส่งร่าง พ.ร.ฎ.วันที่ 7-8 พ.ค.ก็ยังทัน และว่า หาก พ.ร.ฎ.มีผลบังคับใช้วันที่ 22 พ.ค.ก็จะทำให้การจัดการเลือกตั้งเป็นไปตามกรอบ 60 วัน
       
       ล่าสุด(3 พ.ค.) นายสมชัย ได้พูดถึงข้อเสนอทางออกประเทศของนายอภิสิทธิ์ ที่ให้ชะลอการเลือกตั้งไว้ก่อน แล้วให้นายกฯ ลาออก เพื่อตั้งรัฐบาลคนกลางมาทำแผนปฏิรูปก่อนจัดการเลือกตั้งว่า กกต.คงไม่พิจารณาข้อเสนอดังกล่าว เนื่องจากเป็นข้อเสนอที่มาในจังหวะเวลาที่ กกต.ได้มีการประชุมร่วมกับรัฐบาลเพื่อกำหนดวันเลือกตั้งไปแล้ว ดังนั้นจึงเป็นหน้าที่ของฝ่ายการเมืองหรือรัฐบาลที่จะต้องพิจารณาและตัดสินใจเองว่าจะเดินหน้าจัดการเลือกตั้งในวันที่ 20 ก.ค.หรือไม่ ซึ่งการเลือกตั้งอาจจะสำเร็จหรือเป็นปัญหาก็ได้ หรือจะเลือกแนวทางที่นายอภิสิทธิ์เสนอให้มีการชะลอการเลือกตั้งออกไปก่อนระยะหนึ่ง หากรัฐบาลเห็นว่าข้อเสนอดังกล่าวเป็นประโยชน์ ก็ควรประกาศท่าทีต่อสาธารณะ และนัดหมาย กกต.เพื่อชะลอการทูลเกล้าฯ ขอพระราชทานพระราชกฤษฎีกากำหนดวันเลือกตั้ง แต่หากไม่มีท่าทีใดๆ กกต.ก็จะนำร่างพระราชกฤษฎีกา ส่งถึงรัฐบาลในวันที่ 6 พ.ค. อย่างไรก็ตาม มีความเป็นไปได้ที่ กกต.บางท่านอาจมีการนำข้อเสนอของนายอภิสิทธิ์เข้าสู่ที่ประชุมในวันที่ 6 พ.ค. ซึ่งต้องรอผลการประชุมที่เป็นทางการในวันนั้นอีกครั้ง
       
       3. “สุเทพ” นัดชุมนุมใหญ่เผด็จศึก 14 พ.ค. - พร้อมใจใส่เสื้อเหลืองถวายพระพร 5 พ.ค.หน้าวัดพระแก้ว ด้าน “นปช.” เลื่อนชุมนุมจาก 5 เป็น 10 พ.ค.!

       เมื่อวันที่ 30 เม.ย. ซึ่งเป็นวันที่นายสุเทพ เทือกสุบรรณ เลขาธิการ กปปส.นัดหมายว่าจะประกาศแผนเผด็จศึกครั้งใหญ่ ปรากฏว่า แผนที่ว่ามี 3 ขั้นตอน ขั้นตอนที่ 1 วันที่ 5 พ.ค. ซึ่งเป็นวันฉัตรมงคล นายสุเทพได้นัดหมายให้มวลชนใส่เสื้อสีเหลืองเพื่อไปร่วมพิธีตั้งสัตยาธิษฐาน ทำดีให้แผ่นดิน สู้เพื่อแผ่นดินให้สำเร็จ ที่หน้าวัดพระศรีรัตนศาสดาราม สนามหลวง ในเวลา 17.00น.โดยพิธีจะเริ่มด้วยการถวายพระพรชัยมงคลพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จากนั้นจะตั้งสัตยาธิษฐานว่า จะสันติ อหิงสา เพื่อนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงบ้านเมือง ขับไล่ผู้ที่คิดร้ายต่อบ้านเมืองให้พ้นไป และร่วมกันสรรหาคนดีที่ซื่อสัตย์สุจริต พร้อมทำประโยชน์ให้ประชาชนมาเป็นรัฐบาล เพื่อนำไปสู่การปฏิรูปก่อนเลือกตั้ง ขั้นตอนที่ 2.วันที่ 13 พ.ค.ตรงกับวันวิสาขบูชา ซึ่งเป็นวันพระใหญ่ จะจัดพิธีทำบุญประเทศ เพื่อขับไล่เสนียดจัญไรของแผ่นดินให้หมดสิ้นไป ขั้นตอนที่ 3.มวลมหาประชาชนจะร่วมกันปฏิบัติการทวงคืนอำนาจอธิปไตยให้กลับมาเป็นของประชาชนตั้งแต่วันที่ 14 พ.ค.เป็นต้นไป
       
       สำหรับความเคลื่อนไหวของหลวงปู่พุทธะอิสระ ผู้ดูแลการชุมนุมของ กปปส.ที่เวทีแจ้งวัฒนะนั้น ได้มีการเดินสายรณรงค์แก้ปัญหาประเทศด้วยการถวายคืนพระราชอำนาจ ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 3 พร้อมประกาศแผนโรดแมปว่าจะเคลื่อนขบวนไปยัง อ.หัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์ เป็นเวลา 3 วัน 3 คืน ระหว่างวันที่ 16-18 พ.ค.โดยคาดว่าช่วงเวลานั้น น่าจะรู้ผลคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญและคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.) ที่จะชี้มูลความผิด น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร รักษาการนายกรัฐมนตรีแล้ว
       
       หลวงปู่พุทธะอิสระ ยังยืนยันด้วยว่า การเคลื่อนไหวไม่ได้ขัดแย้งกับนายสุเทพ โดยพร้อมเข้าร่วมกิจกรรมในวันที่ 5 พ.ค.และวันที่ 14 พ.ค. ตามที่นายสุเทพประกาศระดมมวลชนเผด็จศึก แต่หากนายสุเทพยังปิดเกมไม่ได้ จะขอให้นายสุเทพและแกนนำ กปปส.หันมาใช้มาตรา 3 ถวายคืนพระราชอำนาจในวันที่ 16-18 พ.ค. โดยวิธีการดังกล่าวจะไม่ทำให้แกนนำและผู้ชุมนุม กปปส.เสียความรู้สึกหรือเสียหน้า แต่เป็นการให้เกียรติผู้ร่วมอุดมการณ์
       
       ส่วนความเคลื่อนไหวของกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ(นปช.) ตอนแรกนายจตุพร พรหมพันธุ์ ประธาน นปช.ได้ประกาศนัดหมายชุมนุมคนเสื้อแดงที่ถนนอักษะในวันที่ 6 พ.ค. แต่พอเห็นแผนเผด็จศึกของนายสุเทพที่มีการนัดหมายมวลชนตั้งแต่วันที่ 5 พ.ค.เพื่อถวายพระพรและตั้งสัตยาธิษฐานที่หน้าวัดพระแก้ว นายจตุพรจึงประกาศเลื่อนการชุมนุมคนเสื้อแดงจากวันที่ 6 พ.ค.มาเป็นวันที่ 5 พ.ค. แต่เมื่อถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่าไม่เหมาะสม เพราะเป็นวันฉัตรมงคล นายจตุพรจึงได้ประกาศเลื่อนวันชุมนุมคนเสื้อแดงอีก จากวันที่ 5 พ.ค.ไปเป็นวันที่ 10 พ.ค.แทน โดยก่อนหน้าจะถึงวันที่ 10 นปช.จะมีการจัดเวทีปราศรัยในจังหวัดต่างๆ ก่อน
       
       4. ป.ป.ช. มีมติชี้มูลความผิด 36 ส.ว. คดีแก้ รธน.ที่มา ส.ว. เตรียมส่งวุฒิสภาถอดถอน ขณะที่ 14 ส.ว.รอด!

       เมื่อวันที่ 29 เม.ย. คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.) ได้ประชุมพิจารณาผลการไต่สวนข้อเท็จจริงคดีถอดถอน ส.ส.-ส.ว.ออกจากตำแหน่งตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 270 จำนวน 308 คน เนื่องจากมีพฤติการณ์ส่อว่าจงใจใช้อำนาจหน้าที่ขัดรัฐธรรมนูญกรณีร่วมลงชื่อเสนอญัตติแก้ไขรัฐธรรมนูญประเด็นที่มา ส.ว. และลงมติเห็นชอบร่างดังกล่าวในวาระที่ 1 ,2 และ 3 โดยวันดังกล่าวเป็นการพิจารณาเฉพาะในส่วนของ ส.ว.จำนวน 50 คน
       
       หลังประชุม นายสรรเสริญ พลเจียก เลขาธิการ ป.ป.ช.แถลงว่า ที่ประชุมมีมติแบ่งออกเป็น 6 กลุ่ม กลุ่มที่ 1 มี 3 คน ประกอบด้วย นายประสงค์ ตันมณีวัฒนา ส.ว.สรรหา ,พล.ต.ท.สมยศ ดีมาก ส.ว.สรรหา และนายมานพ น้อยวานิช ส.ว.พังงา ซึ่งได้ร่วมลงชื่อเสนอญัตติแก้ไขรัฐธรรมนูญประเด็นที่มา ส.ว. แต่ไม่ได้ร่วมลงมติในวาระที่ 1 ,2 และ 3 ป.ป.ช.จึงมีมติเอกฉันท์ว่า ยังฟังไม่ได้ว่ามีพฤติการณ์ส่อว่าจงใจใช้อำนาจหน้าที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญหรือกฎหมาย เห็นควรให้ข้อกล่าวหาตกไป
       
       กลุ่มที่ 2 มี 2 คน ประกอบด้วย นางภารดี จงสุขธนามณี ส.ว.เชียงราย และพล.ท.พงศ์เอก อภิรักษ์โยธิน ส.ว.พะเยา ได้ร่วมลงชื่อเสนอญัตติแก้ไขรัฐธรรมนูญฯ และร่วมลงมติเห็นชอบในวาระที่ 3 แต่มิได้ร่วมลงมติในวาระ 1 และ 2 ป.ป.ช.จึงมีมติให้ข้อกล่าวหาตกไป
       
       กลุ่มที่ 3 มี 22 คน ประกอบด้วย 1.นายประสิทธิ์ โพธสุธน ส.ว.สุพรรณบุรี 2.นายสมชาติ พรรณพัฒน์ ส.ว.นครปฐม 3.พล.ต.ต.องอาจ สุวรรณสิงห์ ส.ว.เลย 4.นายดิเรก ถึงฝั่ง ส.ว.นนทบุรี 5.นายประวัติ ทองสมบูรณ์ ส.ว.มหาสารคาม 6.นายกฤช อาทิตย์แก้ว ส.ว.กำแพงเพชร 7.พล.ต.ท.พิชัย สุนทรสัจบูลย์ ส.ว.อุดรธานี 8.นายภิญโญ สายนุ้ย ส.ว.กระบี่ 9.นายไพบูลย์ ซำศิริพงษ์ ส.ว.ปทุมธานี 10.นายสุเมธ ศรีพงษ์ ส.ว.นครราชสีมา
       
       11.พ.ต.ท.จิตต์ ศรีโยหะ มุกดาธนพงศ์ ส.ว.มุกดาหาร 12.นายสุรพงษ์ ตันธนศรีกุล ส.ว.กาญจนบุรี 13.นายพีระ มานะทัศน์ ส.ว.ลำปาง 14.นายสิทธิศักดิ์ ยนต์ตระกูล ส.ว.กาฬสินธุ์ 15.นายสุรชัย ชัยตระกูลทอง ส.ว.ชลบุรี 16.นายสุวิศว์ เมฆเสรีกุล ส.ว.สมุทรสาคร 17.นายรักพงษ์ ณ อุบล ส.ว.หนองบังลำภู 18.นายบวรศักดิ์ คณาเสน ส.ว.อำนาจเจริญ 19.นายจตุรงค์ ธีระกนก ส.ว.ร้อยเอ็ด 20.นายสิงห์ชัย ทุ่งทอง ส.ว.อุทัยธานี 21.นายยุทธนา ยุพฤทธิ์ ส.ว.ยโสธร 22.นายชูชัย เลิศพงศ์อดิศร ส.ว.เชียงใหม่ ได้ร่วมลงชื่อเสนอญัตติแก้ไขรัฐธรรมนูญฯ และได้ร่วมลงมติทั้ง 3 วาระ โดยเฉพาะการลงมติเห็นชอบมาตรา 6 ในวาระ 2 เกี่ยวกับการยกเลิกข้อความในมาตรา 116 ของรัฐธรรมนูญ แล้วแก้ไขโดยเปิดช่องให้ผู้ที่เคยดำรงตำแหน่ง ส.ว.ยังไม่เกิน 2 ปี สามารถลงสมัคร ส.ว.ได้ ป.ป.ช.จึงมีมติเอกฉันท์ว่า ส.ว.ทั้ง 22 รายมีพฤติการณ์ส่อว่าจงใจใช้อำนาจหน้าที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 291 (1) วรรคหนึ่ง
       
       กลุ่มที่ 4 มี 13 คน ประกอบด้วย 1.นายประเสริฐ ประคุณศึกษาพันธ์ ส.ว.ขอนแก่น 2.นายโสภา ศรีมาเหล็ก ส.ว.น่าน 3.นายต่วนอับดุลเล๊าะ ดาโอ๊ะมารียอ ส.ว.ยะลา 4.พล.ต.อ.โกวิท ภักดีภูมิ ส.ว.อ่างทอง 5.นายประดิษฐ์ ตันวัฒนพงษ์ ส.ว.สกลนคร 6.พล.ต.กลชัย สุวรรณบูรณ์ ส.ว.ชุมพร 7.นายวรวิทย์ บารู ส.ว.ปัตตานี 8.นายสุโข วุฑฒิโชติ ส.ว.สมุทรปราการ 9.นายทวีศักดิ์ คิดบรรจง ส.ว.บุรีรัมย์ 10.นายสุริยา ปันจอร์ ส.ว.สตูล 11.นายถนอม ส่งเสริม ส.ว.อุบลราชธานี 12.นายบุญส่ง โควาวิสารัช ส.ว.แม่ฮ่องสอน 13.นายวรวิทย์ วงษ์สุวรรณ ส.ว.ลพบุรี ได้ร่วมลงชื่อเสนอญัตติแก้ไขรัฐธรรมนูญฯ และร่วมลงมติในวาระ 1 และ 3 แต่มิได้ร่วมลงมติในวาระ 2 ป.ป.ช.ก็มีมติเสียงข้างมากว่า การกระทำของ ส.ว.ทั้ง 13 รายถือว่าเป็นพฤติการณ์ส่อว่าจงใจใช้อำนาจหน้าที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 291 (1) วรรคหนึ่ง
       
       กลุ่มที่ 5 มี 9 คน ประกอบด้วย นายสุพจน์ เลียดประถม ส.ว.ตราด 2.พล.ต.อ.วงกต มณีรินทร์ ส.ว.สรรหา 3.พล.ต.ท.มาโนช ไกรวงศ์ ส.ว.สุราษฎร์ธานี 4.นางจิตร์ธนา ยิ่งทวีลาภ ส.ว.ชัยนาท 5.นายบรรชา พงศ์อายุกูล ส.ว.พิจิตร 6.นายธันว์ ออสุวรรณ ส.ว.ประจวบคีรีขันธ์ 7.นายสุรเดช จิรัฐิติเจริญ ส.ว.ปราจีนบุรี 8.นายธันยรัศม์ อัจฉริยฉาย ส.ว.ภูเก็ต 9.นายศุภวัฒน์ เทียนถาวร ส.ว.สิงห์บุรี ซึ่งได้ร่วมลงชื่อเสนอญัตติแก้ไขรัฐธรรมนูญฯ และร่วมลงมติเห็นชอบในวาระที่ 1 เท่านั้น ป.ป.ช.จึงมีมติเสียงข้างมากว่า พฤติการณ์ยังฟังไม่ได้ว่าส่อจงใจใช้อำนาจหน้าที่ขัดรัฐธรรมนูญ จึงเห็นควรให้ข้อกล่าวหาตกไป
       
       ส่วนกลุ่มที่ 6 มี 1 คน คือนายวิทยา อินาลา ส.ว.นครพนม ซึ่งได้ร่วมลงชื่อเสนอญัตติแก้ไขรัฐธรรมนูญฯ และร่วมลงมติเห็นชอบในวาระที่ 2 แต่ไม่ได้ร่วมลงมติในวาระ 3 ป.ป.ช.เห็นว่า การกระทำของนายวิทยาที่ได้ร่วมลงมติเห็นชอบในวาระ 2 โดยเฉพาะมาตรา 6 ถือว่าเป็นการกระทำส่อว่าจงใจใช้อำนาจหน้าที่ขัดรัฐธรรมนูญ มาตรา 291 (1) วรรคหนึ่ง โดยหลังจากนี้ ป.ป.ช.จะส่งรายงานไปยังวุฒิสภาเพื่อดำเนินการถอดถอน ส.ว.ทั้ง 36 คนต่อไป ส่วนการดำเนินคดีอาญา อยู่ระหว่างไต่สวนข้อเท็จจริง
       
       5. ศาลปกครอง พิพากษาให้ “ประชา-ทายาทสมัคร” ชดใช้ค่าเสียหายคดีทุจริตรถดับเพลิง 587 ล้าน ด้าน “วัฒนา-อภิรักษ์” รอด!

       เมื่อวันที่ 30 เม.ย. ศาลปกครองกลาง ได้อ่านคำพิพากษาคดีที่อดีตรัฐมนตรีหลายคนร้องศาล ขอให้เพิกถอนคำสั่งของกรุงเทพมหานคร(กทม.) และผู้ว่าฯ กทม.ที่ให้รัฐมนตรีหลายคนที่เกี่ยวข้องกับการทำสัญญาซื้อขายรถ เรือดับเพลิง และอุปกรณ์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยในราคาแพงเมื่อปี 2547 ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่ กทม. หลังอดีตรัฐมนตรีหลายคนถูกคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.) ชี้มูลความผิดคดีจัดซื้อรถและเรือดับเพลิงฯ
       
        สำหรับคดีที่เกี่ยวข้องกับคำสั่ง กทม.นี้ แบ่งเป็นหลายคดี ได้แก่ คดีที่นายวัฒนา เมืองสุข อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ฟ้อง กทม.และผู้ว่าฯ กทม. ว่ากระทำการโดยมิชอบที่สั่งให้ตนชดใช้ค่าสินไหมทดแทน หลังถูก ป.ป.ช.ชี้มูลความผิดทางอาญากล่าวหาว่าขณะที่ตนดำรงตำแหน่งรัฐมนตรี มีพฤติการณ์ร่วมกับบริษัท สไตเออร์ เดมเลอร์ พุค สเปเชียล ฟาห์ซอยก์ จำกัด ประเทศออสเตรีย กระทำความผิดเกี่ยวกับการจัดซื้อรถและเรือดับเพลิง ด้านศาลพิเคราะห์แล้ว เห็นว่า แม้นายวัฒนาจะมีส่วนเกี่ยวข้องในบางขั้นตอนของการทำสัญญาซื้ออุปกรณ์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเมื่อปี 2547 โดยเฉพาะสัญญาสินค้าต่างตอบแทนประเภทไก่ต้มสุกแช่แข็ง แต่ก็เป็นผลสืบเนื่องจากที่ ครม.มีมติเมื่อวันที่ 24 ส.ค.2547 ให้พิจารณาผลักดันการส่งออกสินค้าประเภทไก่ต้มสุกแช่แข็ง เนื่องจากขณะนั้นเกษตรกรผู้เลี้ยงไก่ประสบปัญหาไข้หวัดนก
       
       ส่วนที่มีการอ้างว่านายวัฒนามีส่วนเกี่ยวข้องกับการแก้ไขระเบียบกระทรวงพาณิชย์ในการกำหนดประเภทสินค้านั้น ก็ไม่ปรากฏหลักฐานชัดแจ้งว่านายวัฒนาเกี่ยวข้องกับการแก้ไขระเบียบ ประกอบกับก่อนหน้านี้ ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง มีคำพิพากษายกฟ้องนายวัฒนาแล้ว พยานหลักฐานในชั้นนี้จึงยังฟังไม่ได้ว่านายวัฒนากระทำการประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง จนทำให้ กทม.ต้องซื้ออุปกรณ์บรรเทาสาธารณภัยในราคาแพง จึงพิพากษาเพิกถอนคำสั่ง กทม.ที่ให้นายวัฒนาชดใช้ค่าสินไหมทดแทนในคดีจัดซื้อรถและเรือดับเพลิง โดยให้มีย้อนหลังตั้งแต่วันที่ 24 พ.ย.2553 ที่มีการออกคำสั่ง
       
       นอกจากนี้ยังมีคดีที่ กทม.ยื่นฟ้องคุณหญิงสุรัตน์ สุนทรเวช ภรรยานายสมัคร สุนทรเวช เมื่อครั้งเป็นผู้ว่าฯ กทม. ,นางกาญจนากร ไชยลาภ และนางกานดาภา มุ่งถิ่น ซึ่งเป็นผู้รับมรดกนายสมัคร ที่เสียชีวิตแล้ว ให้ร่วมกันชดใช้ค่าเสียหายให้ กทม. กรณีที่นายสมัครกระทำผิดเกี่ยวกับการจัดซื้อรถและเรือดับเพลิง หลัง ป.ป.ช.ชี้มูลความผิดว่าได้ร่วมกับบริษัท สไตเออร์ฯ กำหนดราคาซื้อขายสูงเกินจริง
       
       ทั้งนี้ ศาลปกครองพิเคราะห์แล้วเห็นว่า พฤติการณ์ของนายสมัครและ พล.ต.ต.อธิลักษณ์ ตันชูเกียรติ อดีตผู้อำนวยการสำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กทม.ตั้งแต่เริ่มโครงการจนถึงการลงนามในสัญญา มีลักษณะเร่งรีบ เพื่อให้มีการดำเนินการตามสัญญา แม้จะอ้างเหตุจำเป็นในการดำเนินโครงการจากการเติบโตของ กทม. แต่ทั้งสองไม่ได้ดำเนินการอย่างรอบคอบตามขั้นตอนที่ ครม.มีมติ พยานหลักฐานจึงฟังได้ว่าการกระทำของนายสมัคร จงใจประมาทเลินเล่อ ทำให้ กทม.เสียหาย จึงพิพากษาให้ทายาท ซึ่งเป็นผู้รับมรดก ชดใช้เงินค่าเสียหายร้อยละ 30 ของความเสียหายทั้งหมดจำนวน 1,958 ล้านบาทเศษ หรือคิดเป็นเงิน 587,580,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี นับจากวันฟ้อง โดยให้ชำระให้เสร็จภายใน 60 วันตั้งแต่วันที่มีคำพิพากษา
       
       ด้านนายสุขสันต์ สุขสวัสดิ์ ทนายความของคุณหญิงสุรัตน์ บอกว่า จะปรึกษาคุณหญิงฯ และทายาทเรื่องอุทธรณ์คดีต่อศาลปกครองสูงสุด โดยจะต่อสู้ว่าศาลปกครองไม่มีอำนาจพิพากษาคดีนี้ เพราะเรื่องที่เกี่ยวข้องกับมรดก ต้องยื่นฟ้องคดีต่อศาลแพ่ง
       
       ส่วนคดีที่นายประชา มาลีนนท์ อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย ยื่นฟ้อง กทม.และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย พร้อมขอให้ศาลปกครองเพิกถอนคำสั่งของ กทม.ที่ให้ตนชดใช้ค่าเสียหาย จากกรณีที่ถูก ป.ป.ช.ชี้มูลความผิดในคดีจัดซื้อรถและเรือดับเพลิงนั้น ศาลได้พิพากษาให้นายประชาต้องจ่ายเงินชดใช้ค่าเสียหายแก่ กทม.เป็นเงิน 587,580,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี เช่นเดียวกับทายาทของนายสมัคร เนื่องจากขณะเกิดเหตุ นายประชาดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย เกี่ยวข้องกับการเริ่มโครงการและกระบวนการจัดซื้อ อย่างไรก็ตาม ขณะนี้นายประชาอยู่ระหว่างหลบหนีคดีที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองออกหมายจับ หลังถูกพิพากษาจำคุก 12 ปี ในคดีทุจริตจัดซื้อรถและเรือดับเพลิง
       
       นอกจากนี้ศาลปกครองกลางยังมีคำพิพากษาเพิกถอนคำสั่ง กทม.กรณีที่ให้นายอภิรักษ์ โกษะโยธิน อดีตผู้ว่าฯ กทม.ชดใช้ค่าเสียหายให้ กทม.ที่ได้รับความเสียหายจากการทำสัญญาซื้อขายรถและเรือดับเพลิง เนื่องจากศาลเห็นว่า นายอภิรักษ์ได้แสดงให้เห็นถึงความพยายามปกป้องผลประโยชน์ของทางราชการ โดยเมื่อเห็นว่าการซื้อขายรถและเรือดับเพลิงมีข้อบกพร่องของกฎหมาย ก็ได้ยื่นขอระงับการเปิดหนังสือค้ำประกัน(แอลซี) กับธนาคารกรุงไทย 2 ครั้ง รวมทั้งทำหนังสือถึงอธิบดีกรมการค้าต่างประเทศและนายโภคิน พลกุล อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย 2 ครั้ง ให้ทบทวนการทำสัญญา แต่นายโภคินยืนยันว่าไม่สามารถทำได้ ขณะที่นายอภิรักษ์ไม่มีอำนาจที่จะบอกเลิกสัญญาซื้อขายที่ได้ดำเนินการไปแล้ว ศาลจึงเห็นว่านายอภิรักษ์ได้ระมัดระวังตามกรอบอำนาจหน้าที่ ไม่มีเจตนาทุจริตหรือทำให้เกิดความเสียหาย ประกอบกับศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ได้พิพากษาว่าการกระทำของนายอภิรักษ์ไม่เป็นความผิด จึงพิพากษาให้เพิกถอนประกาศ กทม.ดังกล่าว
       
       ทั้งนี้ คดีที่ศาลปกครองกลางพิพากษาทั้ง 4 คดีดังกล่าวยังไม่ถึงที่สุด โดยคู่ความสามารถอุทธรณ์คดีต่อศาลปกครองสูงสุดได้ภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ศาลปกครองกลางมีคำพิพากษา

ASTVผู้จัดการออนไลน์    4 พฤษภาคม 2557