ผู้เขียน หัวข้อ: สรุปข่าวเด่นในรอบสัปดาห์ 4-10 พ.ค.2557  (อ่าน 701 ครั้ง)

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9759
    • ดูรายละเอียด
สรุปข่าวเด่นในรอบสัปดาห์ 4-10 พ.ค.2557
« เมื่อ: 26 พฤษภาคม 2014, 10:46:17 »
1. “ในหลวง” เสด็จออกมหาสมาคมวันฉัตรมงคล วังไกลกังวล พสกนิกรเฝ้ารับเสด็จเนืองแน่น -วันพืชมงคล พระโคกินน้ำและหญ้า น้ำท่าจะบริบูรณ์!
       
       เมื่อวันที่ 5 พ.ค. เวลา 10.15น. พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้เสด็จฯ โดยรถยนต์พระที่นั่งจากพระตำหนักเปี่ยมสุข วังไกลกังวล อ.หัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์ เพื่อเสด็จออกมหาสมาคม ณ ท้องพระโรง ศาลาราชประชาสมาคม วังไกลกังวล พร้อมด้วยพระบรมวงศานุวงศ์ ในการพระราชพิธีฉัตรมงคล ประจำปี 2557
       
       ทั้งนี้ ตั้งแต่ช่วงเช้า ได้มีพสกนิกรจากทั่วประเทศพร้อมใจกันใส่เสื้อสีเหลืองและสีชมพู มาจับจองพื้นที่ริมถนนเพชรเกษมเพื่อเฝ้ารับเสด็จ และเมื่อรถยนต์พระที่นั่งเคลื่อนออกจากพระตำหนักเปี่ยมสุข ประชาชนต่างโบกธงชาติและธงตราสัญลักษณ์พระปรมาภิไธยย่อ ภปร. พร้อมเปล่งเสียง “ทรงพระเจริญ” ดังกึกก้องไปทั่วบริเวณ ขณะที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระพักตร์แจ่มใส ทรงแย้มพระสรวล และโบกพระหัตถ์ให้ประชาชนที่มาเฝ้ารับเสด็จอย่างเนืองแน่นตลอดสองข้างทาง โดยประชาชนต่างปลื้มปีติที่ได้เห็นพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมีพระพลานามัยแข็งแรง หลายคนถึงกับกลั้นน้ำตาไว้ไม่อยู่ที่ได้ชื่นชมพระบารมีอย่างใกล้ชิด
       
       สำหรับพระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญประจำปี 2557 ในวันพืชมงคลเมื่อวันที่ 9 พ.ค.นั้น สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร ได้เสด็จฯ แทนพระองค์ทรงเป็นประธานในพระราชพิธีดังกล่าว ณ มณฑลพิธีท้องสนามหลวง สำหรับผู้ที่ทำหน้าที่พระยาแรกนาในปีนี้ คือ นายชวลิต ชูขจร ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ส่วนพระโคแรกนาขวัญ ได้แก่ พระโคฟ้าและพระโคใส
       
       ทั้งนี้ ผลการเสี่ยงทายผ้านุ่งของพระยาแรกนา หยิบได้ผ้า 6 คืบ พยากรณ์ว่า น้ำจะน้อย นาในที่ลุ่มจะได้ผลบริบูรณ์ดี แต่นาในที่ดอนจะเสียหายบ้าง ไม่ได้ผลเต็มที่ ส่วนการเสี่ยงทายของกิน 7 สิ่งที่ตั้งเลี้ยงพระโคนั้น พระโคกินน้ำและหญ้า พยากรณ์ว่า น้ำท่าจะบริบูรณ์พอสมควร ธัญญาหาร ผลาหาร ภักษาหาร มังสาหาร จะอุดมสมบูรณ์ดี
       
       2. ศาล รธน.มีมติเอกฉันท์ 9 : 0 ชี้ “ยิ่งลักษณ์-9 รมต.” สิ้นสภาพ เหตุกระทำการต้องห้าม รธน.แทรกแซงย้ายถวิล!

       เมื่อวันที่ 7 พ.ค. ศาลรัฐธรรมนูญได้นัดฟังวินิจฉัยกรณีที่ประธานวุฒิสภาส่งคำร้องของนายไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ว.สรรหา และคณะ ขอให้ศาลฯ วินิจฉัยว่าความเป็นรัฐมนตรีของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร สิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 182 วรรคหนึ่ง (7) ประกอบมาตรา 268 หรือไม่ จากกรณีใช้อำนาจโยกย้ายนายถวิล เปลี่ยนศรี เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ(สมช.) โดยมิชอบ ซึ่งศาลฯ ได้ไต่สวนพยานเพิ่มเติม 4 ปากเมื่อวันที่ 6 พ.ค. ประกอบด้วย นายไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ว.สรรหา ผู้ร้อง ,น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ผู้ถูกร้อง ,พล.ต.อ.วิเชียร พจน์โพธิ์ศรี อดีตผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ และนายถวิล เปลี่ยนศรี เลขาธิการ สมช.
       
       ทั้งนี้ ศาลกำหนดประเด็นพิจารณาคำร้องดังกล่าวไว้ 3 ประเด็น ประกอบด้วย 1.พิจารณาว่าเมื่อมีการยุบสภาผู้แทนราษฎรแล้ว นายกรัฐมนตรีพ้นจากตำแหน่งตามรัฐธรรมนูญมาตรา 180 วรรคหนึ่ง (2) ความเป็นรัฐมนตรีสิ้นสุดลงแล้วหรือไม่ 2.การกระทำของนายกฯ เป็นการกระทำต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญมาตรา 268 ประกอบมาตรา 266 (2) (3) เป็นการทำให้ความเป็นรัฐมนตรีของนายกฯ ต้องสิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญมาตรา 182 วรรคหนึ่งหรือไม่ และ 3.เมื่อความเป็นรัฐมนตรีของนายกฯ สิ้นสุดลงตามมาตรา 182 วรรคหนึ่ง (7) จะทำให้ความเป็นรัฐมนตรีของคณะรัฐมนตรีทั้งคณะต้องสิ้นสุดลงด้วยหรือไม่
       
       สำหรับประเด็นแรก ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาแล้วเห็นว่า แม้จะมีการยุบสภาแล้ว แต่นายกฯ ยังไม่พ้นจากตำแหน่งโดยเด็ดขาด จนกว่าคณะรัฐมนตรีชุดใหม่จะเข้ามาทำหน้าที่ ซึ่งแตกต่างจากกรณีอื่น เช่น คดีของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ที่ถูกปลดออกจากราชการทหาร เพราะกรณีดังกล่าว นายอภิสิทธิ์ไม่ได้ดำรงตำแหน่ง ส.ส.แล้ว แต่กรณี น.ส.ยิ่งลักษณ์ยังคงปฏิบัติหน้าที่อยู่ ดังนั้นศาลรัฐธรรมนูญจึงมีอำนาจรับกรณีนี้ไว้พิจารณา
       
       ส่วนประเด็นที่สองและสาม การกระทำของนายกฯ ในการโอนย้ายนายถวิลเป็นการกระทำต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญ และทำให้ความเป็นรัฐมนตรีของนายกฯ และ ครม.ทั้งคณะต้องสิ้นสุดลงหรือไม่นั้น ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาแล้วเห็นว่า การโอนย้ายนายถวิล ใช้เวลาเพียง 4 วัน แสดงให้เห็นว่าเป็นการดำเนินการที่เร่งรีบผิดสังเกต รวบรัด และปราศจากเหตุผลอันสมควรที่ต้องรวดเร็ว ทั้งยังปรากฏการให้ข้อมูลอันเป็นเท็จ ให้เห็นเป็นพิรุธจากภาพถ่ายเอกสารราชการสำคัญ ได้แก่ บันทึกข้อความจากสำนักนายกรัฐมนตรี สำนักเลขาธิการนายกฯ ที่ศาลมีคำสั่งเรียกมาจากสำนักเลขาธิการนายกฯ ระบุวันที่ทำหนังสือดังกล่าวเป็นวันที่ 5 ก.ย.2554 แต่ภาพถ่ายบันทึกข้อความฉบับเดียวกันที่ได้จากนายถวิลก่อนหน้านั้นกลับระบุวันที่เป็นวันที่ 4 ก.ย.2554 แสดงว่าต้องมีการแก้ไขวันที่ ทำให้เอกสารผิดไปจากความจริง จึงส่อให้เห็นถึงความไม่ปกติในการดำเนินการ เพื่อเอื้อประโยชน์ให้ พล.ต.อ.เพรียวพันธ์ ดามาพงศ์ อดีตผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ซึ่งเป็นญาตินายกฯ ถือว่าได้กระทำโดยไม่สุจริต ไม่ชอบด้วยหลักนิติธรรม
       
       “เมื่อการกระทำดังกล่าวเป็นการเอื้อประโยชน์ พล.ต.อ.เพรียวพันธ์ ดามาพงศ์ ซึ่งเป็นญาติของผู้ถูกร้อง(น.ส.ยิ่งลักษณ์) มีโอกาสขึ้นดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ การกระทำของผู้ถูกร้องจึงมีลักษณะเป็นการใช้อำนาจในตำแหน่ง โดยมีประโยชน์ทับซ้อนและมีวาระซ่อนเร้น ถือได้ว่าเป็นการกระทำที่ไม่สุจริต การดำเนินการดังกล่าวจึงไม่ถูกต้องด้วยหลักนิติธรรมตามรัฐธรรมนูญมาตรา 3 วรรคสองอีกประการหนึ่งด้วย”
       
       ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญจึงมีมติเอกฉันท์ 9 ต่อ 0 ว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์ใช้สถานะหรือตำแหน่งการเป็นนายกรัฐมนตรีเข้าไปก้าวก่ายหรือแทรกแซงเพื่อประโยชน์ของตนเองหรือผู้อื่นในเรื่องการบรรจุแต่งตั้งโยกย้าย โอน หรือการพ้นจากตำแหน่งของข้าราชการตามรัฐธรรมนูญมาตรา 266 (2) และ (3) และถือว่าเป็นการกระทำต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 268 ซึ่งมีผลทำให้ความเป็นรัฐมนตรีของ น.ส.ยิ่งลักษณ์สิ้นสุดลงเฉพาะตัวตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 182 วรรคหนึ่ง (7)
       
       พร้อมกันนี้ ศาลรัฐธรรมนูญยังวินิจฉัยว่า รัฐมนตรีที่ร่วมลงมติในการประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 6 ก.ย.2554 ในการอนุมัติโยกย้ายนายถวิลโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ถือว่ามีส่วนร่วมในการก้าวก่ายและแทรกแซงข้าราชการประจำเช่นกัน อันเป็นการกระทำต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 268 ประกอบมาตรา 266 (2) และ (3) เป็นเหตุให้ความเป็นรัฐมนตรีของรัฐมนตรีเหล่านั้นต้องสิ้นสุดลงเฉพาะตัวตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 182 วรรคหนึ่ง (7) ไปด้วยเช่นกัน
       
       ส่วนกรณีที่ผู้ร้อง ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยเกี่ยวกับการดำเนินการแต่งตั้งนายกฯ คนใหม่ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 172 และ 173 นั้น ศาลรัฐธรรมนูญเห็นว่าไม่อยู่ในขอบเขตการเสนอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยในคดีนี้ จึงยกคำร้อง
       
       ทั้งนี้ ผลจากคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ทำให้รัฐมนตรีในรัฐบาลรักษาการชุดปัจจุบัน 10 คนต้องสิ้นสภาพรัฐมนตรีทันที เนื่องจากได้เข้าร่วมประชุม ครม.และเห็นชอบการโยกย้ายนายถวิลโดยไม่ชอบในครั้งนั้น ประกอบด้วย น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร รักษาการนายกฯ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ,นายสุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล รักษาการรองนายกฯ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ,นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รักษาการรองนายกฯ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ,นายปลอดประสพ สุรัสวดี รักษาการรองนายกฯ ,พล.ต.อ.ประชา พรหมนอก รักษาการรองนายกฯ ,ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รักษาการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ,พล.อ.ยุทธศักดิ์ ศศิประภา รักษาการรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหม ,นายสันติ พร้อมพัฒน์ รักษาการรัฐมนตรีประจำสำนักนายกฯ ,น.อ.อนุดิษฐ์ นาครทรรพ รักษาการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร และนายศิริวัฒน์ ขจรประศาสน์ รักษาการรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์
       
       เป็นที่น่าสังเกตว่า หลังรู้ผลคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ได้แถลงผ่านทีวีพูล โดยยืนยันว่า ที่ผ่านมาได้ทำหน้าที่นายกฯ อย่างเต็มที่ โดยยึดหลักความซื่อสัตย์สุจริต และไม่มีพฤติกรรมการทุจริตหรือเอื้อประโยชน์ให้ผู้ใด หรือฝ่าฝืนบทบัญญัติรัฐธรรมนูญอย่างที่กล่าวหา พร้อมย้ำอีกว่า ตนทำงานด้วยความทุ่มเทเป็นเวลา 2 ปี 9 เดือน 2 วัน ภูมิใจที่ได้ทำหน้าที่นายกฯ จากการเลือกตั้งของประชาชน และว่า ต่อจากนี้ไม่ว่าสถานะใดจะขอเดินตามเส้นทางประชาธิปไตย ยึดมั่นในหลักนิติรัฐ นิติธรรม ไม่ว่าอยู่ในตำแหน่งใด ขอยืนเคียงข้างประชาชนคนไทยตลอดไป ผู้สื่อข่าวถามว่า ได้วางอนาคตการเมืองและคิดว่าจะเล่นการเมืองอีกหรือไม่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ บอกว่า วันนี้เร็วไปที่จะตอบคำถามนี้
       
       3. ป.ป.ช.มีมติเอกฉันท์ 7 : 0 ชี้มูลความผิด “ยิ่งลักษณ์” คดีทุจริตจำนำข้าว เตรียมส่งวุฒิสภาถอดถอน!

       เมื่อวันที่ 8 พ.ค. คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.) ได้นัดพิจารณาและลงมติกรณีประธานวุฒิสภาได้ส่งคำร้องขอถอดถอน น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เนื่องจากมีพฤติการณ์ส่อว่าจงใจใช้อำนาจหน้าที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญหรือกฎหมาย ปล่อยให้มีการทุจริตในโครงการรับจำนำข้าวและการระบายข้าว ทั้งนี้ หลังประชุม นายปานเทพ กล้าณรงค์ราญ ประธาน ป.ป.ช.ได้นำทีมแถลงข่าวพร้อมด้วยนายวิชา มหาคุณ และนายประสาท พงษ์ศิวาภัย กรรมการ ป.ป.ช.
       
       โดยนายปานเทพ กล่าวสรุปว่า ป.ป.ช.มีมติเอกฉันท์ 7 : 0 เสียง เห็นว่าพฤติการณ์ของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ผู้ถูกกล่าวหา มีมูลส่อว่าจงใจใช้อำนาจหน้าที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญมาตรา 178 และส่อว่าจงใจใช้อำนาจหน้าที่ขัดต่อกฎหมาย อันเป็นเหตุแห่งการถอดถอนออกจากตำแหน่ง
       
       ด้านนายวิชา แถลงรายละเอียดการลงมติของ ป.ป.ช.ว่า ป.ป.ช.พิจารณาแล้วเห็นว่า การที่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ดำรงตำแหน่งนายกฯ และอยู่ในฐานะหัวหน้ารัฐบาล ซึ่งได้กำหนดนโยบายจำนำข้าวมาตั้งแต่ต้น และในฐานะประธานคณะกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติ(กขช.) ที่มีอำนาจหน้าที่ในการกำหนดนโยบายและการมีส่วนร่วมในการบริหารโครงการ ซึ่ง ป.ป.ช.ได้มีหนังสือแจ้งไปยัง น.ส.ยิ่งลักษณ์ถึง 2 ครั้งว่า โครงการดังกล่าวจะก่อให้เกิดปัญหาและความเสียหายอย่างยิ่ง ทั้งจะก่อให้เกิดการทุจริตในทุกขั้นตอนของกระบวนการรับจำนำข้าว นอกจากนี้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ยังรับทราบปัญหาในการดำเนินโครงการจากการอภิปรายในสภาผู้แทนราษฎร รวมทั้งรายงานผลการดำเนินโครงการว่ามีผลขาดทุนสะสมสูงถึง 3 แสนกว่าล้านบาท ขณะที่สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน(สตง.) ก็ได้ทำหนังสือแจ้งผลการตรวจสอบโครงการสรุปว่าโครงการมีจุดอ่อนหรือความเสี่ยงในทุกขั้นตอน ตั้งแต่การขึ้นทะเบียนเกษตรกรจนถึงการระบายข้าว
       
       แม้พยานหลักฐานยังไม่ปรากฏชัดเจนว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์มีส่วนร่วมในการทุจริตหรือสมยอมให้เกิดการทุจริตหรือไม่ก็ตาม แต่การที่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ไม่บริหารราชการแผ่นดินให้เป็นไปตามนโยบายที่แถลงไว้ต่อสภาผู้แทนราษฎรว่าจะป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบในภาครัฐอย่างจริงจัง ทั้งยังไม่พิจารณาระงับยับยั้งโครงการตั้งแต่เริ่มรับทราบความเสียหายอันร้ายแรงที่สุดของประเทศจากการดำเนินโครงการ ที่ประชุม ป.ป.ช.จึงมีมติเอกฉันท์ 7 ต่อ 0 เสียงว่า พฤติการณ์ของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ เป็นการส่อว่าจงใจใช้อำนาจหน้าที่ขัดรัฐธรรมนูญ มาตรา178 และส่อว่าจงใจใช้อำนาจหน้าที่ขัดต่อกฎหมายตาม พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน มาตรา 11 (1) อันเป็นเหตุแห่งการถอดถอน น.ส.ยิ่งลักษณ์ ออกจากตำแหน่งตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 270 โดย ป.ป.ช.จะส่งสำนวนการถอดถอนส่งไปยังวุฒิสภาเพื่อดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ต่อไปในสัปดาห์หน้า
       
       ส่วนในแง่คดีอาญา ป.ป.ช.มีมติให้ไต่สวนข้อเท็จจริงต่อไปจนกว่าจะสิ้นกระแสความ โดยจะไม่ตัดพยานที่ น.ส.ยิ่งลักษณ์อ้างมาในคำร้องขอนำสืบแก้ข้อกล่าวหาครั้งหลังสุด ส่วนกรณีที่มีข่าวแพร่สะพัดว่า คณะกรรมการ ป.ป.ช.รับลูกมาลงมติ เพื่อดำเนินการกับ ครม.ทั้งชุดนั้น นายวิชา ยืนยันว่า ไม่เป็นความจริงแต่อย่างใด
       
       สำหรับกรรมการ ป.ป.ช.2 คนที่ไม่ได้ร่วมพิจารณาและลงมติคดีถอดถอน น.ส.ยิ่งลักษณ์ คือ พล.ต.อ.สถาพร หลาวทอง ที่ขอถอนตัว เพราะเคยดำรงตำแหน่งจเรตำรวจ และได้รับมอบหมายจากกระทรวงพาณิชย์ให้เข้าร่วมเป็นคณะอนุกรรมการตรวจสอบและติดตามการรับจำนำข้าวที่มีนายภูมิ สาระผล รัฐมนตรีข่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์เป็นประธาน จึงเกรงว่าหากมาทำคดีนี้ จะเกิดปัญหาประโยชน์ทับซ้อนได้ ส่วนกรรมการ ป.ป.ช.อีก 1 คน คือ นายใจเด็ด พรไชยา เนื่องจากได้เกษียณอายุราชการไปก่อนหน้านี้แล้ว ซึ่งล่าสุด ที่ประชุมวุฒิสภาเมื่อวันที่ 9 พ.ค.ได้มีมติเห็นชอบให้ น.ส.สุภา ปิยะจิตติ อดีตรองปลัดกระทรวงการคลัง เป็นกรรมการ ป.ป.ช.ตามที่คณะกรรมการสรรหาคัดเลือกด้วยคะแนน 122 เสียง ไม่เห็นด้วย 19 เสียง ไม่ลงมติ 4 เสียง และบัตรเสีย 2 ใบ
       
       ทั้งนี้ หากที่ประชุมวุฒิสภามีมติถอดถอน น.ส.ยิ่งลักษณ์ จะส่งผลให้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ต้องห้ามดำรงตำแหน่งทางการเมืองเป็นเวลา 5 ปี
       
       4. “สุเทพ” วอน ปธ.วุฒิฯ หารือ ปธ.3 ศาล-ปธ. กกต. ตั้งนายกฯ คนกลาง ปูทางปฏิรูป -เตรียมย้ายกลับราชดำเนิน 12 พ.ค.!

       ความเคลื่อนไหวหลังศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร รักษาการนายกฯ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม รวมทั้งรัฐมนตรีที่เคยร่วมประชุมเห็นชอบให้โยกย้ายนายถวิลโดยไม่ชอบ พ้นสภาพความเป็นรัฐมนตรี ปรากฏว่า ทั้งพรรคเพื่อไทยและแกนนำกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ(นปช.) ได้ออกมาดิสเครดิตศาลรัฐธรรมนูญเป็นการใหญ่ โดยพรรคเพื่อไทยออกแถลงการณ์กล่าวหาว่า มีขบวนการสมคบคิดเพื่อล้มล้างประชาธิปไตย ล้มล้างการเลือกตั้ง และเสนอให้มีนายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรีที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง
       
       นอกจากนี้พรรคเพื่อไทยยังพยายามทำทุกวิถีทางเพื่อไม่ให้เกิดสุญญากาศจากกรณีไม่มีนายกฯ รักษาการ เพื่อไม่ให้นายสุเทพ เทือกสุบรรณ เลขาธิการคณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข(กปปส.) เสนอตั้งนายกฯ คนกลางและ ครม.เพื่อนำไปสู่การปฏิรูปก่อนเลือกตั้งได้ โดยมีการดันให้นายนิวัฒน์ธำรง บุญทรงไพศาล รักษาการรองนายกฯ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ขึ้นมาทำหน้าที่รักษาการนายกฯ แทน น.ส.ยิ่งลักษณ์ ซึ่งมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ว่า รักษาการรองนายกฯ ไม่น่าจะทำหน้าที่รักษาการแทนรักษาการนายกฯ ที่พ้นสภาพไปได้ นอกจากนี้ยังมีปัญหาว่า รักษาการรองนายกฯ จะทำหน้าที่ทูลเกล้าฯ ร่าง พ.ร.ฎ.กำหนดวันเลือกตั้งใหม่ได้หรือไม่ ซึ่งหลายฝ่ายมองว่า ไม่ได้ แต่พรรคเพื่อไทยพยายามอ้างว่าได้ ซึ่งปัญหาเรื่องร่าง พ.ร.ฎ.กำหนดวันเลือกตั้งนั้น กกต.ได้นัดหารือกับฝ่ายต่างๆ ทั้งฝ่ายรัฐบาล และฝ่ายความมั่นคง โดยมีการเชิญผู้นำเหล่าทัพมาร่วมหารือด้วยในวันที่ 14 พ.ค.นี้
       
       ส่วนความเคลื่อนไหวของ กปปส.นั้น หลังศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยสถานภาพ น.ส.ยิ่งลักษณ์และ ครม. นายสุเทพก็ได้ประกาศเลื่อนวันเผด็จศึกจากวันที่ 14 พ.ค. เป็นวันที่ 9 พ.ค. ซึ่งเมื่อถึงกำหนด นายสุเทพได้แบ่งมวลชนและแกนนำ กปปส.ออกเป็น 7 ขบวน โดยขบวนนายสุเทพเคลื่อนไปยังทำเนียบรัฐบาล ส่วนอีก 6 ขบวนเคลื่อนไปยังสถานีโทรทัศน์ช่องต่างๆ ประกอบด้วย ช่อง 3 ,5 ,7 ,9 และ 11 โดยไปขอร้องให้ทุกช่องเลิกถ่ายทอดแถลงการณ์ของศูนย์อำนวยการรักษาความสงบเรียบร้อย(ศอ.รส.) เนื่องจากมีการบิดเบือนข้อเท็จจริง พร้อมขอให้ถ่ายทอดการแถลงข่าวของ กปปส.
       
       ด้าน ศอ.รส.ไม่พอใจ รีบออกแถลงการณ์ขู่ผู้บริหารสื่อทุกแห่ง ให้งดเว้นการถ่ายทอดสัญญาณหรือช่วยเหลือ กปปส. หาไม่แล้วจะต้องรับผิดทั้งทางอาญาและแพ่งฐานสนับสนุนผู้กระทำผิดฐานกบฏหรือก่อการร้าย อย่างไรก็ตาม ศอ.รส.อ้างว่า ที่ห้ามผู้บริหารสื่อนั้น ห้ามทำตามคำขู่หรือคำสั่งของ กปปส.เท่านั้น ไม่ได้ห้ามการเสนอข่าวสารของ กปปส.ตามปกติ
       
       เป็นที่น่าสังเกตว่า ระหว่างที่ กปปส.ดาวกระจายไปปักหลักพักค้างยังทีวีช่องต่างๆ หลวงปู่พุทธะอิสระ ได้นำมวลชน กปปส.แจ้งวัฒนะ ไปชุมนุมที่หน้า ศอ.รส. สโมสรตำรวจ แต่กลับถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจฉีดน้ำแรงดันสูงและยิงแก๊สน้ำตาเข้าใส่ ส่งผลให้มีผู้บาดเจ็บหลายราย โดยหลวงปู่พุทธะอิสระได้รับผลกระทบจากแก๊สน้ำตาถึงขั้นหายใจไม่สะดวกเช่นกัน
       
       ด้านนายสุเทพ นอกจากนำมวลชนไปปักหลักที่หน้าทำเนียบรัฐบาลแล้ว วันเดียวกัน(9 พ.ค.) ยังได้นำมวลชนเดินไปยังรัฐสภา เพื่อยื่นหนังสือต่อนายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย รองประธานวุฒิสภา คนที่ 1 ด้วย โดยเรียกร้องให้มีการหารือกันระหว่างประธานวุฒิสภา ประธานศาลฎีกา ประธานศาลรัฐธรรมนูญ ประธานศาลปกครองสูงสุด และประธาน กกต.เพื่อหานายกรัฐมนตรีใหม่ เนื่องจากรัฐบาลขณะนี้หมดความชอบธรรมแล้ว ด้านนายสุรชัย ซึ่งอยู่ระหว่างทำหน้าที่ประธานที่ประชุมวุฒิสภาเพื่อเลือกประธานและรองประธานวุฒิสภา ได้สั่งพักการประชุม เพื่อลงมารับหนังสือจากนายสุเทพ ก่อนกลับไปประชุมอีกครั้ง ซึ่งผลการเลือกประธานวุฒิสภา ปรากฏว่า นายสุรชัย ได้รับเลือกเป็นประธานวุฒิสภา โดยคะแนนทิ้งห่างคู่แข่งอย่าง พล.ต.อ.จงรัก จุฑานนท์ ส.ว.สรรหา ที่พรรคเพื่อไทยให้การสนับสนุน แบบขาดลอย 96 : 51 ส่วนผู้ที่ได้เป็นรองประธานวุฒิสภา คนที่ 2 คือ นายพีระศักดิ์ พอจิต ส.ว.อุตรดิตถ์ ที่ชนะนายจองชัย เที่ยงธรรม ส.ว.สุพรรณบุรีแบบขาดลอยเช่นกัน 89 : 57
       
       ด้านพรรคเพื่อไทย ไม่พอใจที่นายสุรชัยได้รับเลือกเป็นประธานวุฒิสภา จึงออกมาอ้างว่า การเลือกประธานวุฒิสภาดังกล่าวอาจขัดรัฐธรรมนูญ เพราะ พ.ร.ฎ.เรียกประชุมวุฒิสภาสมัยวิสามัญครั้งนี้มี 2 วาระเท่านั้น คือเห็นชอบผู้ดำรงตำแหน่ง ป.ป.ช.และสรรหาตุลาการศาลปกครอง
       
       ขณะที่นายสุเทพ ได้แถลงข่าวเมื่อวันที่ 10 พ.ค.โดยย้ำว่า ขณะนี้ประเทศไทยไม่มีนายกฯ หรือผู้ที่จะปฏิบัติหน้าที่นายกฯ ได้โดยชอบด้วยกฎหมาย และไม่มีสภาผู้แทนราษฎรที่จะทำหน้าที่เลือกนายกฯ คนใหม่ได้ทันที วุฒิสภาจึงเป็นองค์กรเดียวที่เหลืออยู่ มวลมหาประชาชนจึงขอเรียกร้องวิงวอนให้ประธานวุฒิสภารีบปรึกษาหารือกับประธานศาลฎีกา ประธานศาลรัฐธรรมนูญ ประธานศาลปกครองสูงสุด และประธาน กกต.เพื่อดำเนินการให้มีนายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรีมาบริหารประเทศ และทำการปฏิรูปประเทศตามเจตนารมณ์ของมวลมหาประชาชน ทั้งนี้ นายสุเทพ บอกด้วยว่า ประธานวุฒิสภาได้เรียกประชุม ส.ว.นัดพิเศษในวันที่ 12 พ.ค.นี้แล้ว
       
       พร้อมกันนี้ นายสุเทพยังแนะให้นายนิวัฒน์ธำรง บุญทรงไพศาล รักษาการรองนายกฯ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ลาออกด้วย เพราะรักษาการรองนายกฯ ไม่มีอำนาจตามกฎหมายที่จะรักษาการนายกฯ ได้
       
       นอกจากนี้นายสุเทพ ยังประกาศด้วยว่า วันที่ 12 พ.ค. จะยุบเวทีที่สวนลุมฯ แล้วไปปักหลักที่ทำเนียบรัฐบาล โดยยึดถนนราชดำเนินทั้งสาย และว่า ถ้ากระบวนการเลือกนายกฯ โดยวุฒิสภาเป็นไปโดยราบรื่น ได้คนดี คนเก่ง ตรงใจประชาชน ได้นายกฯคนใหม่ ตั้งรัฐบาลใหม่ รับมอบภารกิจในการปฏิรูปประเทศตามเจตนารมณ์มวลมหาประชาชน กปปส.จะจุดพลุฉลองชัยแล้วกลับบ้าน แต่ถ้ากระบวนการที่ได้นายกฯ คนใหม่ ไม่เป็นไปตามความคาดหวัง ประชาชนก็ไม่มีทางเลือกอื่น นอกจากจัดการด้วยมือของประชาชนให้มีนายกฯ คนใหม่ขึ้นมาให้ได้ จึงจะถือว่าจบภารกิจ
       
       ด้านแกนนำ นปช.ได้นัดชุมนุมใหญ่ที่ถนนอักษะ พุทธมณฑล ตั้งแต่วันที่ 10 พ.ค. โดยประกาศจะชุมนุมยืดเยื้อ และว่า คู่ต่อสู้ของ นปช.คือตัวอำมาตย์ใหญ่ นปช.จะต่อสู้กับทุกองค์กรที่เข้ามาแทรกแซงการดำรงอยู่ของประชาธิปไตย
       
       5. เกิดเหตุแผ่นดินไหวใหญ่ที่เชียงราย 6.3 ริกเตอร์ รู้สึกได้ถึง กทม. เสียหายหลายพื้นที่ พบผู้เสียชีวิต 1 ศพ!

       เมื่อวันที่ 5 พ.ค.เวลา 18.08น. ได้เกิดแผ่นดินไหวครั้งใหญ่ในภาคเหนือ วัดแรงสั่นสะเทือนได้ 6.3 ริกเตอร์ จุดศูนย์กลางอยู่บริเวณ ต.ทรายขาว อ.พาน จ.เชียงราย รู้สึกถึงแรงสั่นไหวได้ในหลายพื้นที่ เช่น ลำปาง ,ลำพูน ,พะเยา ,น่าน ,หนองคาย ,เลย และ กทม. โดยมีรายงานความเสียหายหลายแห่ง นอกจากนี้ยังพบผู้เสียชีวิตด้วย 1 ราย คือ นางแสง รินคำ อายุ 83 ปี ชาวบ้านห้วยล้านเหมืองลึก อ.แม่ลาว ถูกฝาผนังบ้านพังทับ
       
        ทั้งนี้ หลังเกิดแผ่นดินไหวดังกล่าว ยังได้เกิดอาฟเตอร์ช็อกตามมาอีกหลายร้อยครั้งกินเวลาหลายวัน สำหรับจุดที่ได้รับความเสียหายหนักจากแผ่นดินไหวอยู่ใน อ.พาน และ อ.แม่ลาว โดยพบรอยแยกบริเวณสะพานข้ามแม่น้ำลาว เขตติดต่อ ต.ธารทอง อ.พาน และ อ.แม่ลาว เป็นทางยาว รวมถึงถนนสายเชียงราย-เชียงใหม่ บริเวณบ้านหนองเก้าห้อง ต.ดงมะดะ อ.แม่ลาว โดยผิวถนนตรงกลางแตกร้าวเป็นทางยาวหลายสิบเมตร และลึกประมาณ 1-1.5 เมตร
       
        เหตุแผ่นดินไหวครั้งนี้ นอกจากส่งผลให้บ้านเรือนประชาชนได้รับความเสียหายจำนวนมากแล้ว ยังมีโบราณสถานวัดวาอารามได้รับความเสียหายหลายแห่ง เช่น วัดร่องขุ่น ตั้งอยู่ที่ ต.ป่าอ้อดอนชัย อ.เมือง จ.เชียงราย ซึ่งอาจารย์เฉลิมชัย โฆษิตพิพัฒน์ ศิลปินแห่งชาติ เผยถึงความเสียหายของวัดร่องขุ่นว่า นอกจากยอดพระธาตุจะเสียหายอย่างหนักแล้ว ภาพฝาผนังในโบสถ์ที่เขียนลงบนผนังปูนก็เสียหายทั้งหมด หลังคาหอศิลป์ที่เก็บและจัดแสดงภาพเขียนและงานรูปแบบต่างๆ ก็ยุบพังลงมา โดยจะเร่งฟื้นฟูให้แล้วเสร็จภายใน 1 ปี
       
        ด้านนายพงษ์ศักดิ์ วังเสมอ ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย ได้สั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งสำรวจความเสียหาย พร้อมตั้งศูนย์ช่วยเหลือผู้ประสบภัยแผ่นดินไหว ก่อนประกาศให้ 7 อำเภอเป็นพื้นที่ภัยพิบัติจากแผ่นดินไหวในเวลาต่อมา จากการสำรวจพบว่า มีบ้านเสียหายทั้งหลังจำนวน 4 หลัง เสียหายบางส่วน 3,500 หลัง วัดเสียหาย 10 แห่ง โรงเรียน 10 แห่ง โรงพยาบาล 3 แห่ง โรงแรม 1 แห่ง และถนนทางหลวงแผ่นดินเสียหาย 1 เส้นทาง ระยะทาง 200 เมตร
       
        ทั้งนี้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้มูลนิธิราชประชานุเคราะห์ในพระบรมราชูปถัมภ์ นำเครื่องอุปโภคบริโภคพระราชทานไปมอบให้ราษฎรที่ประสบเหตุแผ่นดินไหวที่ จ.เชียงราย ระหว่างวันที่ 8-9 พ.ค.จำนวน 5,000 ชุด ขณะที่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.) เมื่อวันที่ 6 พ.ค.ได้ตั้งคณะกรรมการช่วยเหลือผลกระทบจากเหตุแผ่นดินไหวภาคเหนือ พร้อมอนุมัติงบช่วยเหลือ 500 ล้านบาท
       
        ด้าน ผศ.ปัญญา จารุศิริ ผู้เชี่ยวชาญด้านแผ่นดินไหว ภาควิชาธรณีวิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณมหาวิทยาลัย เผยว่า เหตุแผ่นดินไหวครั้งนี้ อาจมาจากกลุ่มรอยเลื่อนพะเยาตอนเหนือ ซึ่งเป็นกลุ่มรอยเลื่อนขนาดกลางที่นักธรณีหรือนักแผ่นดินไหวไม่ได้ให้ความสำคัญเท่ากับรอยเลื่อนแม่จันที่มีขนาดใหญ่ อย่างไรก็ตาม เหตุแผ่นดินไหวในภาคเหนือครั้งนี้ถือว่ารุนแรงที่สุดในรอบ 1,000 ปี และค่อนข้างอันตราย เนื่องจากเป็นแผ่นดินไหวบนพื้นดินระดับตื้นประมาณ 7.5 กิโลเมตรเท่านั้น
       
        ขณะที่นายวรศาสน์ อภัยพงษ์ รองอธิบดีกรมทรัพยากรธรณี แถลงว่า เหตุแผ่นดินไหวครั้งนี้เป็นการเกิดซ้ำกับที่เคยเกิดขึ้นเมื่อปี 2537 หรือ 20 ปีที่แล้ว บริเวณ อ.พาน ซึ่งครั้งนั้นมีความรุนแรงขนาด 5.2 ริกเตอร์ และว่า สิ่งที่ต้องระวังคือ การส่งพลังไปถึงรอยเลื่อนอื่นๆ บริเวณใกล้เคียงอีก 5 รอยเลื่อน คือ รอยเลื่อนแม่จัน รอยเลื่อนแม่อิง รอยเลื่อนปัว รอยเลื่อนแม่ทา และรอยเลื่อนเถิน โดยรอยเลื่อนที่ใกล้รอยเลื่อนพะเยามากที่สุด คือรอยเลื่อนแม่จัน พร้อมเตือนว่า สิ่งที่ต้องระวังในพื้นที่เสี่ยงภัย คือดินถล่ม เพราะหลังเกิดแผ่นดินไหว จะมีรอยแยกและเกิดการเคลื่อนตัวของชั้นดิน โดยเฉพาะในช่วงฤดูฝน ฝนจะเป็นตัวเร่งให้เกิดดินถล่มเร็วขึ้นในรัศมี 30 กิโลเมตร

ASTVผู้จัดการออนไลน์    11 พฤษภาคม 2557