ผู้เขียน หัวข้อ: สรุปข่าวเด่นในรอบสัปดาห์ 19-26 ม.ค.2557  (อ่าน 1147 ครั้ง)

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9785
    • ดูรายละเอียด
สรุปข่าวเด่นในรอบสัปดาห์ 19-26 ม.ค.2557
« เมื่อ: 24 กุมภาพันธ์ 2014, 00:42:03 »
 1. รบ. งัด พ.ร.ก.ฉุกเฉินจัดการม็อบ สะพัด บิ๊กเหล่าทัพไม่เอาด้วย ด้าน “สุเทพ” ไม่สน เดินหน้าค้านเลือกตั้ง พร้อมแฉ “ทักษิณ” สั่ง ตร. จัดชุด ฉก. สังหาร!

       ความคืบหน้าการชุมนุมของคณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข(กปปส.) ที่มีนายสุเทพ เทือกสุบรรณ เป็นเลขาธิการ หลังปฏิบัติการชุมนุมปิดกรุงเทพฯ ตั้งแต่เมื่อวันที่ 13 ม.ค.เป็นต้นมา เพื่อเรียกร้องให้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ลาออกจากรักษาการนายกฯ เพื่อเปิดทางให้มีการปฏิรูปก่อนเลือกตั้ง ซึ่งแม้การชุมนุมและเดินขบวนจะเป็นไปด้วยความสงบ แต่กลับมีมือมืดก่อความรุนแรงใส่ผู้ชุมนุมอย่างต่อเนื่อง ทั้งปาระเบิดเข้าใส่และลอบยิงทั้งกลางวันและกลางคืน โดยเฉพาะการขว้างระเบิดจากตึกร้างย่านบรรทัดทองใส่ขบวนนายสุเทพที่กำลังเดินรณรงค์ชวนประชาชนออกมาร่วมชุมนุมเมื่อวันที่ 17 ม.ค. ส่งผลให้มีผู้บาดเจ็บเกือบ 40 ราย และเสียชีวิต 1 ราย
      
       ให้หลังแค่ 2 วัน ก็ได้เกิดเหตุขว้างระเบิดใส่ผู้ชุมนุมในเวลากลางวันอีกที่เวทีชุมนุมอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ โดยระเบิดตกที่ด้านหลังเวทีใกล้เต๊นท์สื่อมวลชน จากนั้นคนร้ายได้วิ่งหนี เมื่อการ์ดและผู้ชุมนุมวิ่งไล่ตาม คนร้ายก็ได้ขว้างระเบิดเข้าใส่อีก 1 ลูก ส่งผลให้มีผู้บาดเจ็บรวม 28 ราย ในจำนวนนี้มีผู้สื่อข่าวหญิงของหนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์ได้รับบาดเจ็บด้วย ขณะที่คนร้ายได้วิ่งหนีเข้าซอยตัน และยิงใส่ผู้ที่วิ่งไล่ตาม จนบาดเจ็บ 1 ราย ก่อนที่คนร้ายจะหลบหนีลอยนวล
      
       ทั้งนี้ มีกล้องวงจรปิดสามารถจับภาพคนร้ายขณะขว้างระเบิดใส่ผู้ชุมนุมได้ เป็นชายใส่หมวกและสะพายกระเป๋าสีดำ ซึ่งต่อมาได้มีการแชร์ภาพผู้ต้องสงสัยทางโซเชียลเน็ตเวิร์คที่น่าจะเป็นมือปาระเบิดครั้งนี้ คือ ส.ท.รชต หรือ กบ วงศ์ยอด ทหารสังกัด ร.152 พัน 3 กองพลทหารราบที่ 15 จ.ประจวบคีรีขันธ์ ลูกน้องของ พล.ต.ขัตติยะ สวัสดิผล หรือ เสธ.แดง อดีตผู้ทรงคุณวุฒิกองทัพบก ที่เคยมีภาพปรากฏเป็นชายชุดดำในการชุมนุมของคนเสื้อแดงเมื่อปี 2553 ปัจจุบันอยู่ระหว่างถูกสั่งพักราชการ และมีข่าวว่า มาอยู่กับนายวุฒิพงศ์ กชธรรมคุณ หรือโกตี๋ แกนนำเสื้อแดงปทุมธานี อย่างไรก็ตาม เจ้าตัวได้ส่งทนายเข้าแจ้งความต่อตำรวจ โดยอ้างว่า ไม่ใช่คนก่อเหตุดังกล่าว พร้อมฝากถึงคนก่อเหตุด้วยว่า “ไอ้พวกที่ปาระเบิดอ่ะหยุดได้แล้วนะ มองตาก็รู้แล้วว่าเป็นใคร ขว้างเสร็จก็ไปซุกคลองเตย อย่านึกว่าไม่รู้ รู้ๆกันอยู่”
       ด้าน พ.ต.อ.กำธร อุ่ยเจริญ ผู้กำกับการกลุ่มงานเก็บกู้และตรวจพิสูจน์วัตถุระเบิด เผยว่า ระเบิดที่อนุสาวรีย์ชัยฯ เป็นระเบิดชนิดเดียวกับที่ ถ.บรรทัดทอง คือ อาร์จีดี 5 (RGD5) ผลิตในรัสเซียหรือจีน ไม่ได้นำมาใช้ในราชการไทย ปรากฏตามแนวชายแดนเท่านั้น และว่า ย้อนหลังกลับไป 10 ปี ยังมีการใช้ระเบิดชนิดนี้ในการก่อเหตุอาชญากรรม
      
       ขณะที่นายถาวร เสนเนียม แกนนำ กปปส. มั่นใจว่า นักการเมืองมีส่วนรู้เห็นเหตุระเบิดในครั้งนี้ เพราะจากการตรวจสอบเป็นระเบิดชนิดเดียวกับที่ ถ.บรรทัดทอง และเป็นชนิดเดียวกับที่กลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ(นปช.) ใช้เมื่อปี 2553
      
       ซึ่งสอดคล้องกับที่ พล.ร.ต.วินัย กล่อมอินทร์ ผู้บัญชาการหน่วยบัญชาการสงครามพิเศษทางเรือ ให้สัมภาษณ์ยืนยันว่า คนร้ายตามภาพในกล้องวงจรปิดที่ขว้างระเบิดใส่ผู้ชุมนุมที่อนุสาวรีย์ชัยฯ ดูจากลักษณะการขว้างก็รู้ว่าพวกนี้มาจากไหน พร้อมมั่นใจว่าเป็นผู้ที่อยู่ในกลุ่มชายชุดดำเมื่อปี 2552-2553 ที่อยู่ในการจัดตั้งของคนเสื้อแดง พล.ร.ต.วินัย ยังเผยด้วยว่า เมื่อปี 2553 คนเสื้อแดงมีการใช้บริการเขมร และครั้งนี้ก็มีการใช้บริการเขมรอีกเช่นกัน โดยมีการขนเข้ามาตั้งแต่ก่อนหน้านี้แล้ว และล่าสุดมีการขนเข้ามาอีกประมาณ 10 คันรถตู้จากชายแดนฝั่งตะวันออก เพื่อเข้ามาก่อความไม่สงบ จึงไม่เข้าใจว่า ทำไมตำรวจซึ่งมีหูตาเป็นสัปปะรดถึงปล่อยปละละเลย พล.ร.ต.วินัย ยังเผยจุดยืนหากรัฐบาลประกาศ พ.ร.ก.บริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินด้วยว่า ถ้าสั่งให้ทหารออกมาก็ต้องออกตามหน้าที่ แต่ถ้าสั่งให้ทำเรื่องเลวๆ ตนไม่ทำ เพราะจุดยืนของตนคือ เป็นทหารของชาติ ทหารของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และทหารของประชาชน
      
       เป็นที่น่าสังเกตว่า หลังเกิดความรุนแรงกับผู้ชุมนุมถี่ขึ้นและแรงขึ้น หลายฝ่ายเริ่มมองว่า อาจเป็นการสร้างสถานการณ์จากฝ่ายรัฐเพื่อฉวยโอกาสประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉินก่อนจะถึงวันเลือกตั้ง 2 ก.พ. และวันเลือกตั้งล่วงหน้า 26 ม.ค. เพื่อไม่ให้ผู้ชุมนุมขัดขวางการเลือกตั้งได้ ซี่งก็จริงดังคาด เพราะเมื่อวันที่ 21 ม.ค. รัฐบาลได้ประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน โดยให้มีผลบังคับตั้งแต่วันที่ 22 ม.ค. เป็นเวลา 60 วัน บังคับใช้ในพื้นที่ที่มีการประกาศ พ.ร.บ.ความมั่นคง คือ กรุงเทพฯ ,นนทบุรี ,สมุทรปราการ เฉพาะ อ.บางพลี และปทุมธานี เฉพาะ อ.ลาดหลุมแก้ว พร้อมตั้งศูนย์อำนวยการรักษาความสงบ(ศรส.) ขึ้นมาแทน ศอ.รส. โดยให้ ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รักษาการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เป็นผู้อำนวยการ ศรส. ขณะที่ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติและปลัดกระทรวงกลาโหมเป็นรองผู้อำนวยการ ศรส. อย่างไรก็ตาม หลายฝ่ายตั้งข้อสังเกตว่า ทหารไม่เอาด้วยกับการประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน สังเกตได้จากไม่มีบิ๊กเหล่าทัพร่วมอยู่ใน ศรส. แต่อย่างใด นอกจากนี้ ยังน่าสังเกตด้วยว่า ทั้งผู้บัญชาการทหารอากาศและสำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหม ต่างไม่อนุญาตให้ ศรส.ใช้สถานที่เป็นที่ตั้ง ศรส. สุดท้าย ศรส.ต้องไปใช้พื้นที่ของตำรวจแทน คือ กองบัญชาการตำรวจปราบปรามยาเสพติด(บก.ปส.)
      
       ทั้งนี้ ศรส.ได้ออกประกาศห้ามเข้าสถานที่ต่างๆ 11 แห่ง เช่น ทำเนียบรัฐบาล ,รัฐสภา ,ศูนย์ราชการแจ้งวัฒนะ ,สโมสรตำรวจ ฯลฯ พร้อมกันนี้ยังได้ห้ามบุคคลหรือกลุ่มบุคคลที่มีพฤติการณ์ก่อความไม่สงบใช้ถนน 26 เส้นทาง และห้ามนำอาวุธหรือสิ่งเทียมอาวุธออกนอกเคหะสถานในเขตพื้นที่ประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ฯลฯ
      
       ด้านนายสุเทพ เทือกสุบรรณ เลขาธิการ กปปส. ไม่สน พ.ร.ก.ฉุกเฉิน โดยประกาศว่า ไม่ว่า ศรส.ออกประกาศอะไรมา กปปส.จะฝ่าฝืนทุกข้อ ถนนที่ห้ามใช้ ก็จะเดินให้ครบทั้ง 26 สาย และว่า ในวันที่ 26 ม.ค. กปปส.ก็จะไปรณรงค์คัดค้านการเลือกตั้งที่หน่วยเลือกตั้งทุกแห่งเท่าที่จะทำได้ นายสุเทพ ยังแฉด้วยว่า มีตำรวจส่งข่าวให้ตนรู้ว่า พ.ต.ท.ทักษิณได้มอบหมายให้ พล.ต.ต.สุชาติ ธีระสวัสดิ์ รองผู้บัญชาการศูนย์ปฏิบัติการตำรวจจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยให้ตำแหน่งผู้บัญชาการประจำสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ทำหน้าที่ประสานสำนักนายกรัฐมนตรี เพื่อนำชุดเฉพาะกิจกว่า 40 นาย นำอาวุธและรถดักฟังมาใช้ดำเนินการกับตน ซึ่ง พล.ต.ต.สุชาติรับปาก พ.ต.ท.ทักษิณด้วยว่า จะดำเนินการให้ได้ โดยร่วมมือกับ พล.ต.ท.คำรณวิทย์ ธูปกระจ่าง ผู้บัญชาการตำรวจนครบาล พล.ต.อ.วรพงษ์ ชิวปรีชา รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ หากสบโอกาสก็ให้ดำเนินการทันที
      
       ด้านนายสุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล รักษาการรองนายกฯ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ในฐานะประธานที่ปรึกษา ศรส.ได้สั่งให้ ศรส.เร่งเจรจาขอคืนพื้นที่ราชการที่ กปปส.และ คปท.ไปปิด เพื่อให้ข้าราชการทำงานได้ พร้อมขู่ จะเรียกเจ้าของโรงแรมหรือบ้านเช่าที่ให้ที่หลบซ่อนแก่ผู้ที่ถูกออกหมายจับมาชี้แจงก่อนดำเนินการตามกฎหมาย
      
       ขณะที่นายธาริต เพ็งดิษฐ์ อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ(ดีเอสไอ) ในฐานะกรรมการ ศรส.ได้เตรียมขอศาลออกหมายจับอีก 16 แกนนำ นอกจากนี้ยังขู่เช็กบิลกลุ่มทุนที่สนับสนุนการชุมนุม โดยดีเอสไอและสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน(ปปง.) จะสอบสวนว่า บริษัทห้างร้านหรือโรงแรมใดสนับสนุนหรือให้ที่หลบซ่อนแกนนำทั้ง 58 ราย หากพบ จะยึดและอายัดทรัพย์ตามที่ พ.ร.ก.ฉุกเฉินให้อำนาจ
      
       ทั้งนี้ เริ่มมีหลายฝ่ายเห็นว่า รัฐบาลประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉินไม่ชอบ เช่น เครือข่ายสิทธิมนุษยชน 7 องค์กร และสมาคมวิชาชีพสื่อ 4 องค์กร โดยชี้ว่า หากรัฐบาลใช้อำนาจตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินแบบครอบจักรวาลโดยไม่สุจริตหรือไม่เที่ยงธรรม อาจเป็นการปิดหูปิดตาประชาชนและใช้กฎหมายเป็นเครื่องมือจัดการสื่อที่ไม่อยู่ภายใต้อาณัติและใช้สื่อเพื่อสร้างความชอบธรรมให้กับตนเองเท่านั้น
      
       ด้านนายไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ว.สรรหา และนายวิรัตน์ กัลยาศิริ อดีต ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ ได้ยื่นเรื่องต่อศาลรัฐธรรมนูญเมื่อวันที่ 24 ม.ค. ขอให้วินิจฉัยว่าการประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉินของรักษาการนายกฯ และ ครม.พรรคเพื่อไทย ขัดต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 68 พร้อมขอให้ศาลฯ สั่งระงับ พ.ร.ก.ดังกล่าว และวินิจฉัยยุบพรรคเพื่อไทย
      
       ขณะที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.) ได้ออกแถลงการณ์ระบุว่า การประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน และออกข้อกำหนดหรือคำสั่งต่างๆ อาจขัดรัฐธรรมนูญและ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.และการได้มาซึ่ง ส.ว.รวมทั้งขัดต่อระเบียบของ กกต. เนื่องจากปรากฏชัดว่าผู้ออกประกาศและผู้สั่งการเป็นผู้สมัครรับเลือกตั้งในครั้งนี้ด้วย ซึ่งอาจมีผลกระทบต่อกระบวนการจัดการเลือกตั้ง การหาเสียงของผู้สมัคร การรับรู้ข้อมูลข่าวสารของประชาชน และการใช้ทรัพยากรของรัฐหรือบุคลากรของรัฐเพื่อการกระทำการใดซึ่งจะมีผลต่อการเลือกตั้ง
      
       2. เลือกตั้งเลือด เสื้อแดงควงอาวุธยิงแกนนำ กปท.ดับ 1 เจ็บนับสิบ หลัง รบ.-กกต.เดินหน้าเลือกตั้งล่วงหน้า ด้านศาล รธน. มีมติเอกฉันท์เลื่อนเลือกตั้งได้!

       เมื่อวันที่ 24 ม.ค. คณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญได้ประชุมพิจารณาคำร้องที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.) ขอให้วินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญมาตรา 214 ว่า การกำหนดวันเลือกตั้งขึ้นใหม่สามารถทำได้หรือไม่ และอำนาจในการกำหนดวันเลือกตั้ง ส.ส.ใหม่ เป็นอำนาจขององค์กรใด หลังใช้เวลาพิจารณานานกว่า 7 ชั่วโมง คณะตุลาการฯ ได้มีมติเอกฉันท์ว่า วันเลือกตั้ง ส.ส. เป็นการทั่วไป ตามที่กำหนดไว้ใน พ.ร.ฏ.ยุบสภาฯ สามารถกำหนดขึ้นใหม่ได้ เนื่องจากมาตรา 108 วรรคสองของรัฐธรรมนูญ ไม่ได้บังคับเด็ดขาดว่า จะมีการกำหนดวันเลือกตั้งทั่วไปขึ้นใหม่ไม่ได้เลย เพราะหากเกิดเหตุสุดวิสัยหรือเหตุจำเป็นอย่างอื่นขัดขวางทำให้การจัดการเลือกตั้งทั่วไปตามกำหนดเดิม ไม่อาจดำเนินการให้บรรลุผลตามความมุ่งหมายของรัฐธรรมนูญได้ หรืออาจเป็นเหตุให้เกิดความเสียหายแก่ประเทศชาติ ความมั่นคงแห่งรัฐ หรือภัยพิบัติสาธารณะที่สำคัญ ก็สามารถกำหนดวันเลือกตั้งทั่วไปขึ้นใหม่ได้ เหมือนที่เคยเกิดขึ้นมาแล้วเมื่อครั้งใช้รัฐธรรมนูญ 2540
      
       ซึ่งครั้งนั้น วันเลือกตั้งทั่วไปที่กำหนดไว้ใน พ.ร.ฏ.ยุบสภาฯ พ.ศ.2549 คือวันที่ 2 เม.ย. 49 แต่ต้องถูกกำหนดขึ้นมาใหม่ตาม พ.ร.ฎ.แก้ไขเพิ่มเติมกำหนดวันเลือกตั้ง ส.ส. เป็นวันที่ 15 ต.ค.49 หลังจากที่ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยชี้ขาดให้การเลือกตั้งทั่วไปในวันที่ 2 เม.ย. ไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ เนื่องจากดำเนินการไปไม่ถูกต้องตามที่กำหนดไว้
      
       ส่วนประเด็นเรื่องการกำหนดวันเลือกตั้ง ส.ส. ขึ้นใหม่เป็นอำนาจขององค์กรใดนั้น ตุลาการฯ มีมติเสียงข้างมากว่า เป็นอำนาจหน้าที่และความรับผิดชอบร่วมกันของนายกรัฐมนตรีและประธาน กกต. เนื่องจากเห็นว่ารัฐธรรมนูญ มาตรา 235 บัญญัติให้ กกต. เป็นผู้ควบคุมและดำเนินการหรือจัดให้มีการเลือกตั้ง ส.ส. ให้เป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรม และวรรคสองบัญญัติให้ประธาน กกต.เป็นผู้รักษาการตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. และการได้มาซึ่งส.ว. ซึ่งจะต้องเป็นผู้รับผิดชอบในการบริหารจัดการให้การเลือกตั้งเป็นไปโดยชอบด้วย พ.ร.บ.ดังกล่าว อีกทั้ง พ.ร.ฎ.ยุบสภาฯ พ.ศ. 2556 มาตรา 5 ก็บัญญัติให้ประธาน กกต.เป็นผู้รักษาการตาม พ.ร.ฎ.ดังกล่าวร่วมกับนายกรัฐมนตรีด้วย เพื่อให้บุคคลทั้งสอง เป็นผู้รับผิดชอบการจัดการเลือกตั้งทั่วไป ให้เป็นไปโดยสุจริต เที่ยงธรรม ตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ
      
       ทั้งนี้ หากมีความจำเป็นที่จะต้องกำหนดวันเลือกตั้งทั่วไปขึ้นใหม่จากวันเลือกตั้งเดิม กกต.ต้องแจ้งให้นายกรัฐมนตรีหรือคณะรัฐมนตรีทราบ เพื่อพิจารณาดำเนินการตรา พ.ร.ฎ.กำหนดวันเลือกตั้งทั่วไปขึ้นใหม่ตามอำนาจหน้าที่และความรับผิดชอบของนายกรัฐมนตรี และประธาน กกต. เพื่อให้การเลือกตั้ง ส.ส. สำเร็จลุล่วงด้วยดีตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ
      
       มีรายงานว่า การประชุมคณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญในวันดังกล่าว มีตุลาการฯ เข้าประชุม 8 คน ขาดไป 1 คน คือนายชัช ชลวร เนื่องจากลาประชุม สำหรับมติเสียงข้างมากประเด็นเรื่องอำนาจในการกำหนดวันเลือกตั้ง ส.ส.ขึ้นใหม่เป็นขององค์กรใดนั้น เสียงข้างมากมีมติ 7 ต่อ 1 เห็นว่าเป็นอำนาจและความรับผิดชอบร่วมกันของนายกรัฐมนตรีและประธาน กกต. ขณะที่ เสียงข้างน้อย 1 เสียง คือนายนุรักษ์ มาประณีต ซึ่งเห็นว่า เป็นอำนาจเต็มของ กกต. ที่จะเป็นผู้กำหนดวันเลือกตั้งใหม่
      
       ด้าน กกต.ได้ประชุมหารือเมื่อวันที่ 25 ม.ค.เกี่ยวกับการเลื่อนวันเลือกตั้ง โดยก่อนประชุม นายสมชัย ศรีสุทธิยากร กกต.ด้านกิจการบริหารงานเลือกตั้ง บอกว่า ถ้ารัฐบาลแสดงท่าทีว่าจะเลื่อนการเลือกตั้งในวันที่ 2 ก.พ. กกต.จะได้มีมติให้เลื่อนวันเลือกตั้งล่วงหน้าวันที่ 26 ม.ค.ออกไปก่อน เพราะจะช่วยประหยัดงบประมาณได้ 100 ล้านบาท อย่างไรก็ตามรัฐบาลไม่ได้มีท่าทีที่ชัดเจนออกมา มีแต่บอกว่า นายกฯ พร้อมหารือกับ กกต.ในวันที่ 28 ม.ค.เท่านั้น ทั้งนี้ หลัง กกต.เสร็จสิ้นการประชุม นายภุชงค์ นุตราวงศ์ เลขาธิการ กกต.แถลงว่า กกต.มีมติเชิญนายกรัฐมนตรีมาหารือในวันที่ 28 ม.ค.เวลา 14.00น. เพื่อพิจารณากำหนดวันเลือกตั้งใหม่ ส่วนสถานที่ ให้นายกฯ และ ครม.กำหนด
      
       เป็นที่น่าสังเกตว่า เมื่อรัฐบาลไม่ส่งสัญญาณเลื่อนวันเลือกตั้งล่วงหน้า ทำให้ กกต.ต้องจัดให้มีการเลือกตั้งล่วงหน้าตามกำหนดเดิม 26 ม.ค. ขณะที่ผู้ชุมนุม กปปส.ก็ได้ทำตามที่ประกาศไว้ คือไปคัดค้านการเลือกตั้งที่หน่วยเลือกตั้งต่างๆ ทั้งใน กทม.และต่างจังหวัด ส่งผลให้หลายหน่วยประกาศงดการลงคะแนนเลือกตั้ง แต่บางหน่วยก็เดินหน้าเลือกตั้งได้ ขณะที่บางหน่วยมีการกระทบกระทั่งกันบ้างแต่ไม่มีอะไรรุนแรง ยกเว้นที่หน่วยเลือกตั้งวัดศรีเอี่ยม เขตบางนา ที่ผู้ชุมนุมกลุ่มกองทัพประชาชนโค่นระบอบทักษิณ(กปท.) นำโดย นพ.รวี มาศฉมาดล และนายสุทิน ธาราทิน ได้เดินทางไปคัดค้านการเลือกตั้ง โดยได้เข้าเจรจากับผู้อำนวยการหน่วยเลือกตั้ง กระทั่งทางหน่วยได้ประกาศปิดการลงคะแนน แกนนำ กปท.จึงเตรียมนำผู้ชุมนุมเคลื่อนกลับ แต่เคลื่อนออกมาได้ไม่เท่าไหร่ ก็เจอกลุ่มคนเสื้อแดงนับร้อยคนดักรออยู่พร้อมอาวุธ ด้านนายสุทิน แกนนำ กปท.ได้ขึ้นรถปราศรัยบอกให้มวลชนหลีกเลี่ยงการปะทะ แต่สุดท้ายกลับถูกฝ่ายเสื้อแดงกราดยิงเสียชีวิต และมีผู้บาดเจ็บอีกนับสิบคน โดยนายสุทิน ถูกยิงที่บริเวณศีรษะ ลำคอ และหน้าอกขวา
      
       ทั้งนี้ มีผู้บันทึกภาพเหตุการณ์ขณะเกิดเหตุไว้ได้จากคอนโดมีเนียมศุภาลัย ปาร์ค ศรีนครินทร์ ซึ่งชัดเจนว่า นอกจากมีการใช้อาวุธปืนในการทำร้ายกลุ่ม กปท.แล้ว ยังมีการใช้ระเบิดด้วย โดยมีเสียงระเบิดดังสนั่นอย่างชัดเจน ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ระหว่างเกิดเหตุคนเสื้อแดงทำร้ายกลุ่ม กปท. ปราฏว่า พ.ต.ท.กุลธน ประจวบเหมาะ ผู้สมัคร ส.ส.เขตบางนา พรรคเพื่อไทย อยู่ในกลุ่มเสื้อแดงด้วย จึงมีการวิพากษ์วิจารณ์ว่า พ.ต.ท.กุลธน คือผู้ที่นำกลุ่มเสื้อแดงมาทำร้ายกลุ่ม กปท.ใช่หรือไม่ ขณะที่ พ.ต.ท.กุลธน รีบออกมาปฏิเสธ โดยอ้างว่า ตนกับลูกน้องแค่ออกไปดูเหตุการณ์เท่านั้น
      
       ด้านนายเอกณัฐ พร้อมพันธุ์ โฆษก กปปส.แถลงแฉว่า เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นสะท้อนว่า มีขบวนการจับมือระหว่างรัฐบาล ม็อบรัฐบาล และเจ้าหน้าที่ตำรวจ ทำร้ายคุกคามชีวิตประชาชนผู้บริสุทธิ์ ท่ามกลางการประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน จึงขอเรียกร้องให้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกฯ และ ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง ผู้อำนวยการ ศรส.รับผิดชอบเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นทั้งหมด ไม่เช่นนั้นประชาชนจะลุกฮือขึ้นมาทั้งประเทศ
      
       สำหรับผลการเลือกตั้งล่วงหน้าทั้งในและนอกเขตจังหวัดทั่วประเทศเมื่อวันที่ 26 ม.ค. นายสมชัย ศรีสุทธิยากร กกต.ด้านกิจการบริหารงานเลือกตั้ง เผยว่า มี 89 เขต จากทั้งหมด 375 เขตทั่วประเทศที่มีการปิดล้อม ไม่สามารถจัดการลงคะแนนเลือกตั้งล่วงหน้าได้ โดย 89 เขตดังกล่าว แยกเป็น กทม. 33 เขต และภาคใต้ 56 เขต ทำให้มีผู้ที่ขอลงทะเบียนเลือกตั้งล่วงหน้านอกเขตจังหวัดที่ไม่สามารถใช้สิทธิได้ 440,000 คน หรือคิดเป็น 22% จากจำนวนผู้ลงทะเบียนขอใช้สิทธิเลือกตั้งนอกเขตจังหวัดทั่วประเทศ 2,210,018 คน หลังจากนี้ กกต.จะพิจารณาว่าสามารถจัดลงคะแนนเลือกตั้งล่วงหน้าใหม่นอกเขตจังหวัดทดแทนที่เสียไปในวันที่ 26 ม.ค.ได้หรือไม่ เพราะยังมีปัญหาข้อกฎหมาย ทั้งนี้ นายสมชัย กังวลว่า เหตุการณ์ความรุนแรงที่เกิดขึ้นที่วัดศรีเอี่ยม จนมีผู้บาดเจ็บและเสียชีวิต อาจเกิดขึ้นอีกในการเลือกตั้งวันที่ 2 ก.พ. ดังนั้น กกต.จะนำปัญหานี้ไปคุยกับรัฐบาล
      

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9785
    • ดูรายละเอียด
Re: สรุปข่าวเด่นในรอบสัปดาห์ 19-26 ม.ค.2557
« ตอบกลับ #1 เมื่อ: 24 กุมภาพันธ์ 2014, 00:42:14 »
       3. ชาวนาหลาย จว.สุดทน ลุกฮือปิดถนน-ศาลากลาง จี้ รบ.จ่ายหนี้จำนำข้าว ด้าน รบ. ถังแตกรอกฤษฎีกาชี้ช่องกู้ 1.3 แสนล้าน หลัง กกต.ไม่วินิจฉัย!

       ตลอดสัปดาห์ที่ผ่านมา ได้เกิดกระแสความไม่พอใจของชาวนาในจังหวัดต่างๆ ทั่วทุกภาคต่อกรณีที่รัฐบาลยิ่งลักษณ์ไม่ยอมจ่ายหนี้ที่ค้างชาวนาในโครงการรับจำนำข้าว ส่งผลให้ชาวนาออกมาชุมนุมปิดถนนในหลายจังหวัด ขณะที่บางจังหวัดชาวนาใช้วิธีไปชุมนุมปิดล้อมศาลากลางฯ นายกิตติศักดิ์ รัตนวราหะ ประธานเครือข่ายชาวนา 17 จังหวัดภาคเหนือ บอกว่า ชาวนาภาคเหนือมีมติจะชุมนุมทุกจังหวัด โดยชุมนุมจังหวัดใครจังหวัดมัน และจะปิดล้อมศาลากลางทุกจังหวัด เพื่อไม่ให้ข้าราชการทำงานและขับไล่รัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ พร้อมกับใช้กระบวนการยุติธรรมดำเนินคดีกับรัฐบาล
       
       ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 21 ม.ค.ได้มีชาวนาจากหลายจังหวัด นำโดยนายประสิทธิ์ บุญเฉย นายกสมาคมชาวนาข้าวไทย เดินทางมายังสภาทนายความใน กทม. เพื่อหารือแนวทางยื่นฟ้องทางแพ่งและอาญา น.ส.ยิ่งลักษณ์ ในฐานะประธานคณะกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติ(กขช.) กรณีผิดนัดชำระเงินโครงการรับจำนำข้าวเปลือกนาปี 2555/2556 และ 2556/2557 จนได้รับความเดือดร้อน ไม่มีเงินลงทุน และต้องกู้เงินนอกระบบ
       
       ด้านนายเดชอุดม ไกรฤทธิ์ นายกสภาทนายความ เผยหลังหารือว่า สภาทนายความจะช่วยดำเนินคดีให้ชาวนาที่ต้องการฟ้องหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยแบ่งเป็น 3 กรณี 1.กลุ่มที่ถูกธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร(ธ.ก.ส.) ผิดนัดชำระหนี้ จะฟ้อง ธกส.จนถึงรัฐบาลซึ่งเป็นผู้ดำเนินนโยบายและพรรคการเมืองที่เป็นผู้กำหนดนโยบาย 2.กรณีผิดสัญญารับจำนำข้าว คือเกษตรกรที่มีใบประทวน แต่ ธ.ก.ส.ปฏิเสธการรับใบประทวน สามารถฟ้อง ธ.ก.ส.ให้รับจำนำได้ และ 3.ชาวนานำข้าวเข้าโครงการรับจำนำกับโรงสีแล้ว แต่ไม่ได้รับใบประทวน ซึ่งจะพิจารณาว่าเข้าข่ายยักยอกหรือฉ้อโกงหรือไม่
       
       เป็นที่น่าสังเกตว่า ชาวนาหลายจังหวัดนอกจากใช้วิธีชุมนุมปิดถนนประท้วงเรียกร้องให้รัฐบาลจ่ายเงินจำนำข้าวแล้ว ยังมีการเข้าชื่อเพื่อยื่นถวายฎีกาด้วย ขณะที่ชาวนาบางส่วนขู่ว่า หากรัฐบาลไม่จ่ายเงินให้ จะเคลื่อนเข้ากรุง เพื่อร่วมชุมนุมกับ กปปส.นอกจากนี้ชาวนาบางจังหวัดยังขู่ว่า จะบอยคอตการเลือกตั้ง จะไม่เลือกพรรคร่วมรัฐบาลในการเลือกตั้งครั้งนี้ ขณะที่เครือข่ายชาวนา 6 จังหวัดอีสานใต้ ประกอบด้วย จ.กาฬสินธุ์ อุบลราชธานี ศรีสะเกษ สุรินทร์ บุรีรัมย์ และ จ.ยโสธร ได้มีมติยกระดับการชุมนุมด้วยการปิดถนนพร้อมกันทุกจังหวัดตั้งแต่วันที่ 26 ม.ค. พร้อมขอให้ประธานสภาทนายความแต่ละจังหวัด ช่วยเรียกร้องค่าเสียหายจากรัฐบาลด้วย
       
       ส่วนความเคลื่อนไหวของรัฐบาล ซึ่งต้องการกู้เงิน 1.3 แสนล้านมาชำระหนี้ชาวนา แต่ต้องถาม กกต.ก่อนว่ารัฐบาลสามารถกู้ได้หรือไม่ เพราะโดยกฎหมาย ห้ามรัฐบาลรักษาการกระทำการใดๆ ที่จะมีผลผูกพันไปยังรัฐบาลชุดต่อไป โดย กกต.ได้เชิญนายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รักษาการรองนายกฯ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เข้าชี้แจงเรื่องการกู้เงินดังกล่าวเมื่อวันที่ 21 ม.ค. ซึ่งนายกิตติรัตน์ พยายามยืนยันว่า การกู้เงิน 1.3 แสนล้าน เป็นความต่อเนื่องของแผนบริหารหนี้สาธารณะที่ได้พิจารณาไว้ตั้งแต่ก่อนยุบสภา ไม่ได้เป็นการอนุมัติโครงการใหม่
       
       อย่างไรก็ตาม กกต.พิจารณาแล้วเห็นว่า เรื่องนี้ไม่อยู่ในอำนาจของ กกต.ที่จะวินิจฉัย และว่า หากรัฐบาลจะดำเนินการ ก็ขึ้นอยู่กับดุลพินิจของรัฐบาลที่จะต้องเป็นผู้รับผิดชอบ หากมีองค์กรใดชี้ขาดว่าการดำเนินการดังกล่าวเป็นการฝ่าฝืนหรือละเมิดรัฐธรรมนูญ รัฐบาลต้องรับผิดชอบในทางกฎหมายและทางการเมือง
       
       หลัง กกต.ไม่วินิจฉัยกรณีดังกล่าว ดูเหมือนรัฐบาลเตรียมเดินหน้ากู้เงิน 1.3 แสนล้าน แต่ภายหลังเกิดเปลี่ยนใจ โดยทำเรื่องสอบถามไปยังคณะกรรมการกฤษฎีกาก่อน ด้านนายยรรยง พวงราช รักษาการรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ เผยถึงวิธีหาเงิน 1.3 แสนล้านว่า เบื้องต้นมี 4 แนวทาง คือ 1.การกู้ยืมเงิน 2.การระบายข้าวของกระทรวงพาณิชย์ 3.ระบบงบประมาณ และ 4.สภาพคล่องของสถาบันการเงิน พร้อมมั่นใจว่า กฤษฎีกาจะเร่งพิจารณาเรื่องนี้ เพราะมีความสำคัญเร่งด่วน
       
       เป็นที่น่าสังเกตว่า ระหว่างที่รัฐบาลพยายามหาเงิน 1.3 แสนล้านมาจ่ายหนี้ชาวนานั้น มีข่าวแพร่สะพัดว่า รัฐบาลจะใช้เงินสำรองของ ธ.ก.ส.ไปจ่ายชาวนา ส่งผลให้ทางสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจ ธ.ก.ส.ออกมาคัดค้านจำนวนมาก จากนั้นมีข่าวว่ารัฐบาลจะเปลี่ยนไปใช้เงินของธนาคารออมสินและธนาคารกรุงไทย จึงได้เกิดกระแสต่อต้านอีก ซึ่งแกนนำ กปปส.ได้นำมวลชนเดินไปชุมนุมที่ธนาคารออมสินสำนักงานใหญ่ เพื่อคัดค้านแนวคิดดังกล่าวด้วย จากนั้นก็มีข่าวว่า รัฐบาลจะหันไปกู้เงินจากกองทุนประกันสังคมแทน ส่งผลให้เครือข่ายแรงงานออกมาต่อต้านเช่นกัน
       
       4. คนร้าย ควงอาก้ายิงถล่ม “ขวัญชัย” แกนนำแดงอุดรฯ กว่า 40 นัด เจ็บคาบ้านพัก ด้าน “ทักษิณ” รีบโทรเยี่ยม ขณะที่ รบ.สั่งไล่ล่าคนร้าย!

       เมื่อวันที่ 22 ม.ค. เวลาประมาณ 10.00น. ได้เกิดเหตุคนร้ายใช้อาวุธสงครามกราดยิงนายขวัญชัย สาราคำ หรือไพรพนา ประธานชมรมคนรักอุดร ที่หน้าบ้านพักภายในอาณาจักรเสื้อแดง เนื้อที่ 14 ไร่ หมู่ 11 ต.สามพร้าว อ.เมือง จ.อุดรธานี ซึ่งเป็นที่ตั้งสถานีวิทยุชมรมคนรักอุดรด้วย ทั้งนี้ นายขวัญชัย ถูกยิงเข้าที่ต้นแขน 1 นัด และบริเวณหัวเข่า 1 นัด ก่อนถูกนำตัวส่งโรงพยาบาลเอกอุดร อาการพ้นขีดอันตรายแล้ว
       
        นายขวัญชัย เล่าว่า เหตุเกิดขณะตนนั่งดื่มกาแฟและอ่านหนังสือพิมพ์อยู่หน้าบ้าน ซึ่งทำเป็นกิจวัตรประจำวัน หลังจากนั้นจังหวะที่ลุกขึ้นจะเดินเข้าบ้าน ได้ยินเสียงปืนหลายนัด และรู้สึกว่ากระสุนถูกบริเวณขาและต้นแขน จึงกลิ้งหลบกระสุนเข้าไปในบ้าน
       
        หลัง พล.ต.อ.บุญลือ กอบางยาง ผู้บังคับการตำรวจภูธร จ.อุดรธานี นำกำลังไปตรวจสอบที่เกิดเหตุ พบปลอกกระสุนปืนเอเค 47 หรืออาก้า ตกกระจายอยู่ 42 ปลอก จากการตรวจสอบกล้องวงจรปิดพบว่า คนร้ายใช้รถปิกอัพโตโยต้า วีโก้ แค็บ สีบรอนซ์ทอง ไม่ทราบทะเบียน มาจอดริมถนนนอกรั้ว ซึ่งอยู่ห่างจากบ้านพักนายขวัญชัยประมาณ 120 เมตร จากนั้นคนร้าย 2 คนได้ลงจากรถพร้อมปืนอาก้าคนละกระบอก ก่อนยิงเข้าไปที่บ้าน โดยใช้เวลาลงมือ 12 วินาที จากนั้นรีบขับรถหลบหนีไป
       
        ด้าน พล.ต.ต.สุรพล พินิจชอบ รองผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 4 บอกว่า คดีนี้เป็นคดีสะเทือนขวัญ เป็นการกระทำที่อุกอาจ ดังนั้น พล.ต.อ.ประชา พรหมนอก รักษาการรองนายกฯ และ พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ จึงให้ความสำคัญ พร้อมเร่งรัดตำรวจภูธรภาค 4 ให้ดำเนินการอย่างเฉียบขาด และหาตัวคนร้ายให้ได้โดยเร็ว
       
       เป็นที่น่าสังเกตว่า ระหว่างที่นายขวัญชัยพักรักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาลเอกอุดร ได้มีตำรวจมาคอยดูแลความปลอดภัยมากกว่า 50 นาย ทั้งในและนอกโรงพยาบาล รวมทั้งที่บ้านพัก เพื่อป้องกันคนร้ายกลับมาก่อเหตุซ้ำ โดยที่โรงพยาบาล ตำรวจมีการตรวจรถทุกคันที่เข้ามายังโรงพยาบาลด้วย
       
       นายขวัญชัย เผยด้วยว่า ภรรยาบอกว่า พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ได้โทรศัพท์มาเยี่ยม และพร้อมจะให้ตนไปรักษาตัวที่โรงพยาบาลพระราม 9 กรุงเทพฯ แต่ตนขอรักษาตัวที่อุดรธานี เพราะคิดว่าหากไปรักษาที่กรุงเทพฯ คงถูกพวก กปปส.มาล้อมโรงพยาบาล รักษาที่อุดรธานีดีกว่า เพราะหากมีอะไร คนเสื้อแดงพร้อมจะออกมาปกป้องตนที่โรงพยาบาลทันที นายขวัญชัย ยังพูดถึงกรณีที่มีข่าวว่านายสมคิด เชื้อคง ผู้สมัคร ส.ส.อุบลราชธานี พรรคเพื่อไทย ออกมาระบุว่าเหตุลอบยิงตนเป็นความขัดแย้งกับคนเสื้อแดง โดยยืนยัน ไม่มีความขัดแย้ง คนเสื้อแดงรักกัน นอนกลางดินกินกลางแดดมาด้วยกัน ผ่านความเป็นความตาย จะมาขัดแย้งกันได้อย่างไร คนเสื้อแดงไม่โหดเหี้ยมอย่างนั้น เราอยู่ในม็อบมาด้วยกัน

ASTVผู้จัดการออนไลน์    26 มกราคม 2557