ผู้เขียน หัวข้อ: สรุปข่าวเด่นในรอบสัปดาห์ 27 ต.ค.-2 พ.ย.2556  (อ่าน 788 ครั้ง)

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9782
    • ดูรายละเอียด
1.“ขุนค้อน-พท.” ใช้เวลาแค่ 19 ชม. ดันร่างนิรโทษฯ ฉบับสุดซอย ผ่านสภาวาระ 2-3 ด้าน “สุเทพ” เป่านกหวีดชุมนุมต้าน ขณะที่ กก.บห.แห่ลาออก ป้องกันยุบพรรค!

       จากกรณีที่รัฐบาลและพรรคเพื่อไทย(พท.) พยายามเร่งผลักดันร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมฯ ฉบับเหมาเข่ง หรือฉบับสุดซอยให้ผ่านสภาฯ สังเกตได้จากกรณีที่คณะกรรมการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.นิรโทษฯ ที่ส่วนใหญ่เป็น ส.ส.พรรคเพื่อไทย พยายามเร่งการแปรญัตติ จากเดิมที่กำหนดไว้วันที่ 30-31 ต.ค. เป็นวันที่ 24-25 ต.ค. เพื่อให้การแปรญัตติแล้วเสร็จโดยเร็ว จะได้เสนอเรื่องเข้าสภาเพื่อพิจารณาในวาระ 2 และ 3 ต่อไป สร้างความไม่พอใจให้พรรคประชาธิปัตย์อย่างมาก
       
       ปรากฏว่า เมื่อวันที่ 28 ต.ค. กมธ. ได้รีบประชุมนัดสุดท้ายเพื่อรับรองรายงานก่อนสรุปผลประชุมส่งให้นายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ ประธานสภาฯ เพื่อบรรจุเรื่องเข้าสู่วาระการประชุมพิจารณาในวาระ 2 ขณะที่หลายฝ่ายได้แสดงท่าทีคัดค้าน เช่น องค์กรต่อต้านคอร์รัปชั่น (ประเทศไทย) ที่มีนายประมนต์ สุธีวงศ์ เป็นประธาน พร้อมด้วยสมาชิกองค์กรภาคธุรกิจ การเงินและการลงทุน ได้แก่ สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สมาคมธนาคารไทย ฯลฯ ได้แถลงแสดงจุดยืนคัดค้านร่าง พ.ร.บ.นิรโทษฯ ดังกล่าว เพราะมาตรา 3 มีการล้างผิดคดีทุจริตคอร์รัปชั่น ทั้งที่คดีทุจริตต้องเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมจนถึงที่สุด เพื่อสร้างบรรทัดฐานที่ถูกต้องของสังคมไทย
       
       ด้านนายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ ประธานสภาฯ ไม่สน หลังจากได้รับรายงานผลสรุปของ กมธ.ก็รีบนัดประชุมสภาฯ เพื่อพิจารณาร่าง พ.ร.บ.นิรโทษฯ ฉบับสุดซอยในวาระ 2 ในวันที่ 31 ต.ค. พร้อมอ้างว่า ไม่ได้เร่งพิจารณาร่างกฎหมายฉบับนี้เพื่อประโยชน์ของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร และไม่ได้ทำตามใบสั่งของใคร “ถ้าจะมีใครสั่งก็สั่งมาจากในคุกนั่นแหละ... ถ้าจะถามว่าด่วนหรือไม่ ส่วนตัวเห็นว่าด่วน ถ้าใครบอกว่าไม่ด่วน ก็ลองไปติดคุกดู...”
       
       เป็นที่น่าสังเกตว่า หลังคนเสื้อแดงและญาติผู้เสียชีวิตจากการชุมนุมเมื่อปี 2553 ประกาศคัดค้านร่าง พ.ร.บ.นิรโทษฯ ฉบับสุดซอย เพราะไม่ต้องการให้แกนนำหรือผู้สั่งการได้รับอานิสงส์จากร่างฉบับนี้ ขณะเดียวกันอดีตแกนนำ นปช.ที่เป็น ส.ส.อยู่ในพรรคเพื่อไทย ก็ส่งสัญญาณไม่เห็นด้วยกับร่างดังกล่าว และจะไม่โหวตหนุนร่างดังกล่าวในวาระ 2 และ 3 ด้วย ส่งผลให้พรรคเพื่อไทยกลัวจะเกิดเสียงแตกในการโหวต จึงเรียกประชุม ส.ส.เมื่อวันที่ 29 ต.ค. ก่อนมีมติให้ ส.ส.เข้าร่วมประชุมพิจารณาร่าง พ.ร.บ.นิรโทษฯ ในวันที่ 31 ต.ค.อย่างพร้อมเพรียง นอกจากนี้ยังมีรายงานด้วยว่า ที่ประชุมมีการกำชับให้ ส.ส.ทำตามมติพรรค หากใครฝืนมติ จะไม่ส่งลงสมัคร ส.ส.สมัยหน้า
       
       ด้าน นพ.เหวง โตจิราการ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย และอดีตแกนนำ นปช. ได้ออกมาประกาศว่า ในการประชุมสภาพิจารณาร่าง พ.ร.บ.นิรโทษฯ ส.ส.เสื้อแดง 3 คน คือ ตน ,นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ ส.ส.บัญชีรายชื่อ และนายวรชัย เหมะ ส.ส.สมุทรปราการ พรรคเพื่อไทย จะลงมติงดออกเสียง
       
       ขณะที่ความเคลื่อนไหวของพรรคประชาธิปัตย์ โดยเฉพาะนายสุเทพ เทือกสุบรรณ ส.ส.สุราษฎร์ธานี ที่เคยประกาศก่อนหน้านี้ว่า หากร่าง พ.ร.บ.นิรโทษฯ เข้าสภาเพื่อพิจารณาวาระ 3 เมื่อใด จะเป่านกหวีดเรียกชุมนุมเพื่อคัดค้านร่างดังกล่าวนั้น ปรากฏว่า หลังจากเห็นว่าพรรคเพื่อไทยเล่นเกมเร็ว หากเป่านกหวีดหลังร่างเข้าสภาวาระ 3 อาจไม่ทัน นายสุเทพ จึงได้นำทีม ส.ส.ของพรรคกว่า 50 คน เปิดแถลงเมื่อวันที่ 30 ต.ค. ซึ่งนอกจากจะประกาศคัดค้านร่าง พ.ร.บ.นิรโทษฯ ที่จะล้างผิดให้ พ.ต.ท.ทักษิณ ที่จะเข้าสภาในวันที่ 31 ต.ค.แล้ว ยังออกแถลงการณ์ขอให้ประชาชนออกมาร่วมชุมนุมคัดค้านร่างดังกล่าวด้วยในวันที่ 31 ต.ค.เวลา 18.00น. ที่บริเวณสถานีรถไฟสามเสน ซึ่งอยู่นอกเขต พ.ร.บ.ความมั่นคงฯ “ขอประกาศว่า กลุ่มสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร นำโดยผม จะร่วมกับประชาชนทั่วประเทศเคลื่อนไหวต่อต้านร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมอย่างเข้มข้น จนกว่ารัฐบาลและพรรคเพื่อไทยจะยอมยกเลิกร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม”
       
       นายสุเทพ ยังเผยด้วยว่า รองหัวหน้าพรรคทั้ง 4 ภาคของพรรคประชาธิปัตย์ ได้ลาออกจากการเป็นกรรมการบริหารพรรคเรียบร้อยแล้ว เพื่อให้การเคลื่อนไหวร่วมกับประชาชนไม่เกี่ยวข้องกับพรรค เพราะอาจถูกร้องเพื่อนำไปสู่การยุบพรรคได้ ได้แก่ นายกรณ์ จาติกวณิช รองหัวหน้าพรรคภาคกลาง นายถาวร เสนเนียม รองหัวหน้าพรรคภาคใต้ ,นายอิสสระ สมชัย รองหัวหน้าพรรคภาคอีสาน และนางศิริวรรณ ปราศจากศัตรู รองหัวหน้าพรรคภาคเหนือ อย่างไรก็ตาม ล่าสุดได้มี ส.ส.อีก 2 คนลาออกจากกรรมการบริหารพรรคแล้วเช่นกัน เพื่อจะได้เคลื่อนไหวคัดค้านร่าง พ.ร.บ.นิรโทษฯ ได้เต็มที่ คือ นายสาทิตย์ วงศ์หนองเตย ส.ส.ตรัง และนายศุภชัย ศรีหล้า ส.ส.อุบลราชธานี ในฐานะรองเลขาธิการพรรค
       
       ทั้งนี้ ได้มีกระแสคัดค้านร่าง พ.ร.บ.นิรโทษฯ อย่างกว้างขวาง เช่น กลุ่ม 40 ส.ว.ที่เรียกร้องให้ กมธ.ถอนร่าง พ.ร.บ.นิรโทษฯ ออกจากวาระการประชุมสภาฯ ,กลุ่มนิติราษฎร์ ออกแถลงการณ์คัดค้านร่าง พ.ร.บ.นิรโทษฯ ที่จะเข้าสู่วาระ 2 เนื่องจากเป็นร่างที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ เพราะมีการแก้ไขในชั้น กมธ.เกินกว่าตอนรับร่างในวาระ 1 , กลุ่มแพทย์ไทยหัวใจรักชาติและกลุ่มคนไทยต้านนิรโทษช่วยโกง ออกแถลงการณ์คัดค้านร่างนิรโทษฯ เช่นกัน โดยชี้ว่า การออกกฎหมายนิรโทษกรรมให้คนผิดพ้นโทษโดยใช้เสียงข้างมาก เป็นการขัดหลักนิติรัฐนิติธรรมและทำลายกระบวนการยุติธรรม
       
       แต่ดูเหมือนกระแสคัดค้านจะไม่ได้ผล เพราะในที่สุด ที่ประชุมสภาฯ เมื่อวันที่ 31 ต.ค.ที่ ส.ส.พรรคเพื่อไทย เสนอให้ประชุมต่อเนื่องข้ามวันข้ามคืน ซึ่งนายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ ประธานสภาฯ ก็รับลูก โดยเสียงข้างมากสามารถใช้วิธีเสนอปิดอภิปรายและลงมติผ่านฉลุยทั้งวาระ 2 และ 3 หลังใช้เวลาประชุมจนถึงเวลา 04.25น.วันที่ 1 พ.ย. รวมเวลา 19 ชม. ซึ่งเป็นที่น่าสังเกตว่า ช่วงหลังๆ ที่ประชุมใช้เวลาพิจารณาอย่างรวดเร็ว แค่ 1 ชม. สามารถพิจารณา 5 มาตรารวด โดยหลังจากนี้ จะมีการส่งร่าง พ.ร.บ.นิรโทษฯ ดังกล่าวให้วุฒิสภาพิจารณาต่อไป ด้านนายนิคม ไวยรัชพานิช ประธานวุฒิสภา คาดว่า ที่ประชุมวุฒิฯ จะพิจารณาร่าง พ.ร.บ.นิรโทษฯ ได้ประมาณวันที่ 8 พ.ย. หรืออย่างช้าวันที่ 11 พ.ย.
       
       ขณะที่กระแสคัดค้านร่าง พ.ร.บ.นิรโทษฯ เริ่มกว้างขวางขึ้นเรื่อยๆ โดยชมรมแพทย์ชนบท ก็ออกแถลงการณ์คัดค้าน ขณะที่สภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ ก็ออกแถลงการณ์ชี้ว่า รัฐที่ดีต้องปกครองด้วยกฎหมาย และต้องไม่ใช่กฎหมายที่มาจากเสียงข้างมากที่ไม่ได้ทำเพื่อผลประโยชน์ของชาติและประชาชนอย่างแท้จริง แต่ทำเพื่อตนเองและพวกพ้อง และว่า พ.ร.บ.นิรโทษฯ ฉบับนี้ เปิดช่องให้เกิดการทุจริต และบั่นทอนคนดี หากออกกฎหมายที่สามารถยกเลิกหรือเพิกถอนคำพิพากษาได้ การปฏิบัติตามกฎหมายก็จะไม่สำคัญอีกต่อไป สภาการหนังสือพิมพ์ฯ จึงขอคัดค้านร่าง พ.ร.บ.นิรโทษฯ ฉบับนี้ และขอสนับสนุนบุคคลหรือกลุ่มบุคคล รวมทั้งกระบวนการคัดค้านร่างกฎหมายนิรโทษกรรมอย่างถึงที่สุด และขอเรียกร้องให้วุฒิสภาใช้วิจารณญาณในการพิจารณากฎหมายฉบับนี้อย่างรอบคอบเพื่อประโยชน์สุขของประเทศชาติ และเพื่อคุณค่าของความดีและคนดีของสังคมนี้
       
       สำหรับบรรยากาศการชุมนุมที่สามเสนของ ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์นั้น ล่าสุด(2 พ.ย.) มีรายงานว่า นายสุเทพ เทือกสุบรรณ ส.ส.สุราษฎร์ธานี ได้ประกาศว่า วันที่ 4 พ.ย.จะยกระดับการชุมนุม แต่ยังไม่ยอมเปิดเผยว่าจะยกระดับอย่างไร
       
       2.อสส. รับลูกดีเอสไอ สั่งฟ้อง “มาร์ค-สุเทพ” ฐานฆ่าม็อบแดง พร้อมอ้าง ป.ป.ช.ไม่มีสิทธิไต่สวนคดีนี้ ขณะที่ ป.ป.ช. ยัน กม.ให้อำนาจ!

       เมื่อวันที่ 28 ต.ค. นายนันทศักดิ์ พูลสุข อธิบดีอัยการสำนักงานอัยการสูงสุด และโฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด ได้แถลงผลการสั่งคดีของนายอรรถพล ใหญ่สว่าง อัยการสูงสุด ในคดีที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ(ดีเอสไอ) ได้ส่งสำนวนเอกสารหลักฐาน 61 แฟ้ม กว่า 1.1 หมื่นแผ่น พร้อมความเห็นสมควรสั่งฟ้องนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรี และนายสุเทพ เทือกสุบรรณ อดีตรองนายกรัฐมนตรี และอดีตผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน(ศอฉ.) ผู้ต้องหาที่ 1-2 ในข้อหาร่วมกันก่อให้ผู้อื่นฆ่าและพยายามฆ่าคนตายโดยเจตนาเล็งเห็นผล กรณี ศอฉ.มีคำสั่งใช้กำลังเจ้าหน้าที่ในการขอคืนพื้นที่จากการชุมนุมของกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ(นปช.) ระหว่างเดือน เม.ย.-พ.ค.2553 บริเวณถนนราชดำเนินและแยกราชประสงค์ ส่งผลให้มีผู้ได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิตหลายราย
       
       นายนันทศักดิ์ เผยว่า คดีนี้ ดีเอสไอกล่าวหานายอภิสิทธิ์ กรณีออกประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินและตั้ง ศอฉ. โดยแต่งตั้งนายสุเทพเป็นผู้อำนวยการ ศอฉ. ซึ่งช่วงเวลาเกิดเหตุ ผู้ต้องหาทั้งสองร่วมกันออกคำสั่งให้พนักงานเจ้าหน้าที่ ศอฉ.สกัดกั้นและขอคืนพื้นที่ชุมนุมโดยอนุญาตให้พนักงานเจ้าหน้าที่ ศอฉ.ใช้อาวุธปืนและเครื่องกระสุนปืนในการปฏิบัติการขอคืนพื้นที่การชุมนุม “เป็นการใช้อาวุธเกินกว่าความจำเป็น เป็นเหตุให้มีประชาชนกลุ่มผู้ชุมนุม และประชาชนบริเวณใกล้เคียงถึงแก่ความตาย ได้รับอันตรายสาหัสตามสำนวนการไต่สวนชันสูตรพลิกศพของศาล และรายงานการชันสูตรศพหรือบาดแผลของแพทย์หลายราย อันเป็นการกระทำผิดฐานร่วมกันก่อหรือใช้ผู้อื่นกระทำผิดฐานฆ่า และพยายามฆ่าผู้อื่นโดยเจตนาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 59 ,80 ,83 ,84 ,288”
       
       ซึ่งนายอรรถพล ใหญ่สว่าง อัยการสูงสุด มีความเห็นว่า คดีนี้เป็นเรื่องของการใช้หรือก่อให้ผู้อื่นกระทำความผิดฐานฆ่า หรือพยายามฆ่า ไม่ใช่ความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ทางราชการ จึงไม่อยู่ในอำนาจของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.) ที่จะดำเนินการไต่สวน และว่า แม้ผลของการออกคำสั่งให้เจ้าหน้าที่ ศอฉ.ปฏิบัติหน้าที่ จะมีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บต่างเวลาต่างสถานที่กันก็ตาม แต่เป็นการออกคำสั่งที่ต่อเนื่องกันขณะมีการชุมนุม ซึ่งมีเจตนาเดียวกันเพื่อสลายการชุมนุม จึงเป็นการกระทำเพียงกรรมเดียว อัยการสูงสุดจึงมีคำสั่งฟ้องนายอภิสิทธิ์และนายสุเทพ ฐานร่วมกันก่อหรือใช้ให้ผู้อื่นกระทำผิดฐานฆ่าและพยายามฆ่าผู้อื่นโดยเจตนา
       
       เป็นที่น่าสังเกตว่า ในสำนวนของดีเอสไอไม่มีการกล่าวถึงกรณีชายชุดดำที่ปะปนอยู่กับผู้ชุมนุมและใช้อาวุธปืนยิงใส่เจ้าหน้าที่จนได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิตแต่อย่างใด โดยนายนันทศักดิ์ บอกว่า “หากผู้ต้องหาทั้งสองจะต่อสู้โดยนำประเด็นการออกคำสั่งเกิดขึ้นระหว่างดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ซึ่งหากจะมีการกล่าวหาว่ากระทำผิดจะต้องอยู่ภายใต้การไต่สวนของ ป.ป.ช. หรือถ้าหากจะกล่าวอ้างถึงการปะทะกันของเจ้าหน้าที่กับกลุ่มชายชุดดำ ก็เป็นสิทธิที่จะโต้แย้งได้ แต่ในสำนวนที่ดีเอสไอส่งมาไม่มีการกล่าวอ้างถึงข้อเท็จจริงที่มีกลุ่มชายชุดดำอยู่ด้วยในครั้งนี้”
       
       นายนันทศักดิ์ ยังกล่าวถึงกรณีที่ไม่ได้มีการกล่าวหาผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ(ผบ.ตร.) และนายธาริต เพ็งดิษฐ์ อธิบดีดีเอสไอ รวมทั้งเจ้าหน้าที่อื่นๆ ฐานร่วมกันกระทำผิดว่า เพราะตามสำนวนไม่ได้พบว่าร่วมกันออกคำสั่ง แต่หากภายหลังมีการสอบสวนจนได้ผลชัดเจนว่า เจ้าหน้าที่คนใดเป็นผู้ใช้อาวุธยิงจะถือว่าเป็นคดีวิสามัญฆาตกรรม ที่การเสียชีวิตเกิดจากการปฏิบัติงานของเจ้าพนักงาน แต่การตั้งคดีต้องพิจารณาว่าจะมีความผิดฐานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบด้วยหรือไม่
       
       ด้านนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ และอดีตนายกรัฐมนตรี ได้ออกมายืนยันความบริสุทธิ์ และพร้อมที่จะต่อสู้คดี และว่า สังคมต้องอยู่กับกติกา ถ้าสิ่งที่ตนและนายสุเทพกระทำ แล้วกระบวนการยุติธรรมไปสุดทางแล้วบอกว่าผิด ก็ต้องยอมรับ ทั้งนี้ นายอภิสิทธิ์และนายสุเทพ ได้เข้ารับทราบคำสั่งฟ้องของอัยการสูงสุดเมื่อวันที่ 31 ต.ค. ซึ่งตอนแรกอัยการได้นัดให้ดีเอสไอนำผู้ต้องหาทั้งสองมาส่งฟ้องต่อศาลในวันที่ 31 ต.ค. แต่เนื่องจากยังอยู่ในสมัยประชุมสภาฯ ผู้ต้องหาสามารถใช้เอกสิทธิ์ความเป็น ส.ส.คุ้มครองได้ จึงเลื่อนนัดส่งตัวผู้ต้องหาต่อศาลเป็นวันที่ 12 ธ.ค.เวลา 10.00 น. ซึ่งเป็นช่วงปิดสมัยประชุมแล้ว
       
       ขณะที่นายชวนนท์ อินทรโกมาลย์สุต โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ ได้ออกมาเตือนอัยการสูงสุดที่ระบุว่าคดีนี้ไม่ได้อยู่ในอำนาจการสอบสวนของ ป.ป.ช.แต่เป็นหน้าที่ของดีเอสไอ เพราะไม่ใช่ความผิดต่อการปฏิบัติหน้าที่ราชการว่า เป็นคำวินิจฉัยที่แปลกประหลาดอย่างยิ่ง “แต่ไม่แปลกใจ เพราะวันนี้สังคมไทย ราชการไทยภายใต้ระบอบทักษิณนั้นได้ทำลายระบบนิติรัฐและนิติธรรมของประเทศลงอย่างชัดเจน เมื่ออัยการสูงสุดกล้ามีคำสั่งก็ต้องรับผิดชอบหากมีการร้องเรียนว่าเป็นการกระทำที่มิชอบ หรือการใช้อำนาจเกินขอบเขต”
       
       ด้านนายถาวร เสนเนียม รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ส่งสัญญาณอาจฟ้องอัยการสูงสุด “สิ่งที่ไม่น่าไว้วางใจอย่างมากจากคำวินิจฉัยของอัยการสูงสุดคือ ในขณะที่ผู้ใช้ถูกฟ้องฐานใช้ให้ไปฆ่าผู้อื่น แต่ปรากฏว่าผู้ที่ปฏิบัติหน้าที่ ไม่ว่าจะเป็นผู้บัญชาการเหล่าทัพ หรือ ผบ.ตร. และเจ้าหน้าที่ของรัฐทุกคนที่ไปปฏิบัติงานตามคำสั่ง กลับไม่ถูกฟ้อง ซึ่งไม่เคยมีการวินิจฉัยที่ไหนทำแบบนี้ มีแต่อัยการชุดนี้ ดังนั้นผมจะหารือกับนายอภิสิทธิ์และนายสุเทพว่าจะดำเนินคดีกับนายอรรถพลและคณะหรือไม่”
       
       เป็นที่น่าสังเกตว่า เมื่อวันที่ 31 ต.ค. นายวิชา มหาคุณ กรรมการ ป.ป.ช.ได้แถลงกรณีอัยการสูงสุดมีคำสั่งฟ้องนายอภิสิทธิ์และนายสุเทพ ซึ่งหลายฝ่ายจับตาว่า ป.ป.ช.ยังจะดำเนินการไต่สวนข้อเท็จจริงกรณีที่มีการร้องขอให้ถอดถอนบุคคลทั้งสองหรือไม่ หลังอัยการสูงสุดระบุว่า คดีนี้ไม่อยู่ในอำนาจของ ป.ป.ช.ที่จะสอบสวน ปรากฏว่า นายวิชา ยืนยันว่า ป.ป.ช.ไม่อาจหยุดการไต่สวนคดีนี้ได้ เนื่องจากรัฐธรรมนูญ มาตรา 250 (1) และ 272 ประกอบ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต มาตรา 19 (1) และมาตรา 63 บัญญัติให้คณะกรรมการ ป.ป.ช.เท่านั้นที่มีอำนาจในการไต่สวนข้อเท็จจริง และจัดทำรายงานเสนอต่อวุฒิสภา
       
       ส่วนที่มีผู้ร้องให้ดำเนินคดีอาญานายอภิสิทธิ์และนายสุเทพว่ามีความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการตามประมวลกฎหมายอาญานั้น นายวิชา ก็ยืนยันว่า รัฐธรรมนูญ มาตรา 250 (2) (3) ประกอบ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริตฯ มาตรา 19 (2) (4) และมาตรา 66 บัญญัติให้เป็นอำนาจหน้าที่ของ ป.ป.ช.ในการไต่สวนเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่หรือความผิดที่เกี่ยวข้องกัน ยิ่งกว่านั้น พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ก็ยืนยันถึงอำนาจของ ป.ป.ช.ในมาตรา 24 ว่า การฟ้องคดีอาญาสำหรับการกระทำกรรมเดียวแต่ผิดกฎหมายหลายบท อยู่ในอำนาจ ป.ป.ช.ที่จะไต่สวนและอยู่ในอำนาจของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองเท่านั้นที่จะพิจารณา ดังนั้น ป.ป.ช.จึงมีมติให้ไต่สวนข้อเท็จจริงเรื่องดังกล่าวต่อไป
       
       3.รมว.ต่างประเทศไทย-กัมพูชา ยัน ไม่ว่าศาลโลกตัดสินอย่างไร จะไม่กระทบความสัมพันธ์ ด้าน ส.ว.นนทบุรี แนะ รบ. หากไทยแพ้ ควรทำประชามติ-อย่ารีบยกดินแดน!

       เมื่อวันที่ 28 ต.ค. นายสุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล รองนายกฯ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ได้เดินทางไปยังเมืองปอยเปต ประเทศกัมพูชา เพื่อหารือกับนายฮอ นัมฮง รองนายกฯ และรัฐมนตรีต่างประเทศกัมพูชา หลังหารือ ทั้งสองได้เปิดแถลงข่าวร่วมกัน โดยนายสุรพงษ์ บอกว่า การหารือครั้งนี้เพื่อรักษาความสัมพันธ์อันดี และเห็นพ้องกันว่า ไม่ว่าผลตัดสินของศาลโลกในวันที่ 11 พ.ย.จะออกมาอย่างไร ทั้งสองฝ่ายจะไม่ให้กระทบความสัมพันธ์ระหว่างกัน และสนับสนุนให้มีการพบปะหารือเกี่ยวกับสาระสำคัญของคำตัดสินและการดำเนินการที่เกี่ยวข้องต่อไปตามลำดับ
       
       ขณะที่นายฮอ นัมฮง ก็ยืนยันเช่นกันว่า ไม่ว่าคำตัดสินของศาลโลกจะออกมาอย่างไร จะรักษาชายแดนให้เป็นชายแดนแห่งสันติภาพและมิตรภาพ และกัมพูชาจะปฏิบัติตามคำตัดสินของศาลโลกโดยดี นายฮอ นัมฮง ยังบอกด้วยว่า เหตุที่กัมพูชาต้องนำเรื่องปราสาทพระวิหารขึ้นสู่ศาลโลกให้ตีความคำพิพากษาเดิมเมื่อปี 2505 เป็นการจำใจทำ เพราะรัฐบาลไทยเมื่อปี 2551 สร้างปัญหากับกัมพูชามาก เกิดการกระทบกระทั่งกันอย่างหนักในพื้นที่ดังกล่าว ดังนั้นเพื่อหลีกเลี่ยงสงคราม ทำให้กัมพูชาจำใจเอาคดีไปขึ้นศาลโลก เพื่อให้ศาลตัดสินให้เหมาะสมสำหรับประเทศทั้งสอง
       
       ด้านนายดิเรก ถึงฝั่ง ส.ว.นนทบุรี แถลงเสนอแนวทางต่อรัฐบาล หากศาลโลกตัดสินให้ไทยแพ้คดีว่า 1.รัฐบาลอย่าเร่งรีบยกพื้นที่ทับซ้อน 4.6 ตร.กม.ให้กัมพูชาตามคำพิพากษาศาลโลก 2.ควรใช้มติรัฐสภาทำประชามติ เพื่อให้ประชาชนทั้งประเทศร่วมพิจารณาว่าจะยอมยกดินแดนให้กัมพูชาหรือไม่ 3.หากผลการทำประชามติออกมาว่า ไม่ยอมยกพื้นที่ให้กัมพูชา ไทยจะขัดกับคำพิพากษาศาลโลกและจะมีปัญหาตามมาหรือไม่นั้น เห็นว่าเรื่องนี้เคยเกิดขึ้นแล้ว และมีการฝ่าฝืนคำตัดสินศาลโลก เนื่องจากกฎหมายระหว่างประเทศไม่สามารถบังคับใช้ถึงกิจการภายในประเทศได้ และไม่ได้ให้อำนาจศาลโลกลงโทษ ดังนั้น ไทยหรือกัมพูชาสามารถร้องไปยังคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาชาติ ให้เป็นตัวกลางในการเจรจาเพื่อให้ใช้ประโยชน์ร่วมกันและรักษาดินแดนไว้ได้ และว่า ที่เสนอแนวทางนี้ต่อนายกรัฐมนตรี เพราะเป็นแนวทางที่ช่วยไม่ให้เกิดการขยายผลทางการเมืองและเป็นแนวทางตามรัฐธรรมนูญ
       
       4. ศาลฎีกา พิพากษายืนจำคุก “กลม บางกรวย” กับพวก 6 ปี คดีหวยล็อก ด้านศาลออกหมายจับแล้ว!

       เมื่อวันที่ 28 ต.ค. ศาลอาญา ได้นัดอ่านคำพิพากษาคดีที่พนักงานอัยการฝ่ายคดีอาญา 7 เป็นโจทก์ยื่นฟ้องนายสมตระกูล จอบกระโทก ,พ.อ.อ.กิตติชาติ กุลประดิษฐ์ ,นายณรงค์ อุ่นแพทย์ หรือกลม บางกรวย ผู้กว้างขวางย่านบางกรวย จ.นนทบุรี ,นายสุริยัน ดวงแก้ว หรือผู้ใหญ่หมึก และนายพิชัย เทพอารักษ์ หรือชัย โคกสำโรง เป็นจำเลยที่ 1-5 ฐานฉ้อโกงและซ่องโจร ในคดีหวยล็อกเมื่อปี 2544
       
        คดีนี้ โจทก์ฟ้องว่า ระหว่างวันที่ 15 ธ.ค.2542-10 พ.ย.2544 จำเลยทั้ง 5 กับพวกที่ยังไม่ได้ตัวมาฟ้อง ได้ร่วมกันทุจริตด้วยการเกณฑ์คนรับชมการออกรางวัลสลากกินแบ่งรัฐบาล งวดประจำวันที่ 1 มิ.ย.2544 โดยพฤติการณ์ของจำเลยมีการบ้วนของเหลวที่อมในปากลงในภาชนะพลาสติกทรงกลม แล้วเลือกตักลูกบอลที่มีคราบสีขาวติดอยู่ ทำให้ผลออกสลากรางวัลที่ 1 เป็นเลขที่ออก คือ 113311
       
        ทั้งนี้ ศาลชั้นต้นพิพากษาเมื่อวันที่ 29 ธ.ค.2547 ว่าการกระทำของพวกจำเลยเป็นความผิดต่อสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล ที่เป็นหน่วยงานรัฐ ต้องออกสลากด้วยความบริสุทธิ์ยุติธรรม พฤติกรรมของจำเลยกระทบความน่าเชื่อถือของสำนักงานสลากฯ และสร้างความเสียหาย ไม่คำนึงถึงประโยชน์ส่วนรวม พิพากษาจำคุกจำเลยที่ 1-5 ฐานฉ้อโกงคนละ 2 ปี และฐานซ่องโจรคนละ 4 ปี รวมจำคุกคนละ 6 ปี ต่อมาจำเลยทั้ง 5 ยื่นอุทธรณ์
       
       ซึ่งศาลอุทธรณ์พิพากษาเมื่อวันที่ 23 มิ.ย.2549 ยืนตามศาลชั้นต้นให้จำคุกจำเลยที่ 1-4 คนละ 6 ปี ส่วนจำเลยที่ 5 ให้จำคุกเฉพาะความผิดฐานฉ้อโกง 2 ปี ต่อมาโจทก์ยื่นฎีกาให้ลงโทษนายพิชัย จำเลยที่ 5 ฐานซ่องโจรด้วย ขณะที่จำเลยที่ 1 ,3-5 ยื่นฎีกาต่อสู้คดี โดยจำเลยที่ 5 ขอให้ศาลลงโทษสถานเบาและรอลงอาญา
       
       เป็นที่น่าสังเกตว่า จำเลยที่ 1 และ 5 ได้เดินทางมาฟังคำพิพากษาศาลฎีกา แต่กลม บางกรวย จำเลยที่ 3 และผู้ใหญ่หมึก จำเลยที่ 4 ไม่ได้เดินทางมา ซึ่งก่อนหน้านี้ศาลได้ออกหมายจับแล้ว ศาลจึงอ่านคำพิพากษาลับหลังจำเลยที่ 3 และ 4 ส่วนจำเลยที่ 2 ไม่ยื่นฎีกา จึงไม่ต้องมาฟังคำพิพากษา ทั้งนี้ ศาลฎีกาพิจารณาข้อเท็จจริงแล้วรับฟังได้ว่า จำเลยที่ 1 , 2 และพวกมีการวางแผนและซักซ้อมตักลูกบอลที่รีสอร์ตแห่งหนึ่งใน จ.สระบุรี มีการซักซ้อมวิธีการอมและกัดหลอดพลาสติกที่มีสารเคมีในปาก นอกจากนี้ก่อนร่วมชมการออกสลากยังได้มีการนัดรวมตัวของผู้เข้าร่วมชมการออกสลากร่วมร้อยคนที่ห้องประชุมโรงแรมใกล้สำนักงานสลากฯ ทั้งยังมีผู้ขับขี่มอเตอร์ไซค์รับจ้าง เบิกความว่าได้รับการติดต่อให้เข้าร่วมชมการออกสลากรางวัลด้วย โดยได้ค่าจ้าง 200 บาท
       
       ไม่เท่านั้นพนักงานสอบสวนยังพบด้วยว่า จำเลยที่ 1 ,2 กับพวก ได้เข้าร่วมชมการการสลากรางวัลของธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร(ธ.ก.ส.) เมื่อวันที่ 10 ม.ค.2544 แม้จะไม่มีพยานยืนยันว่า จำเลยที่ 3 ,4 อยู่ในวันเกิดเหตุ แต่พยานฟังได้ว่า จำเลยได้ร่วมสนับสนุนการเงิน โดยว่าจ้างคนเข้าร่วมชมการออกสลากรางวัลคราวละ 70-80 คน คนละ 200 บาท จึงรับฟังโดยปราศจากข้อสงสัยว่า จำเลยที่ 1-4 ร่วมวางแผนแบ่งหน้าที่กันทำ ส่วนจำเลยที่ 5 แม้จะรับฟังได้ว่า ไม่ได้เกี่ยวข้องในการวางแผน แต่พบว่า จำเลยที่ 5 ซื้อสลากกินรวบ(ใต้ดิน) หมายเลข 11 จากนายฮุย เจ้ามือใน จ.สุรินทร์ โดยได้รับรางวัล 15 ล้านบาท ซึ่งนายฮุยได้ต่อรองขอจ่ายเงินรางวัลครึ่งหนึ่ง แต่หลังจากโอนเงินให้แล้ว 3.5 ล้านบาท จำเลยที่ 5 ได้พาจำเลยที่ 3 กับพวกติดตามเงินด้วยการข่มขู่นายฮุยให้โอนเงิน 5 ล้านบาทเข้าบัญชี นายฮุยจึงเข้าแจ้งความให้ดำเนินคดีจำเลยที่ 5 กับพวกฐานร่วมกันฉ้อโกง
       
       ทั้งนี้ ศาลฎีกาพิจารณาแล้วพิพากษายืนตามศาลอุทธรณ์ ให้จำคุกจำเลยที่ 1-4 คนละ 6 ปี ส่วนจำเลยที่ 5 ให้จำคุกเฉพาะความผิดฐานฉ้อโกง 2 ปี เพราะไม่มีพยานยืนยันว่าจำเลยที่ 5 ได้ร่วมจัดหาที่ประชุมหรือชักชวนบุคคล จึงไม่เข้าข่ายผิดฐานซ่องโจร ส่วนที่จำเลยที่ 5 ขอให้ศาลลงโทษสถานเบานั้น ศาลฎีกาเห็นว่า การออกสลากกินแบ่งรัฐบาลจะต้องดำเนินการด้วยความยุติธรรม แต่จำเลยกลับมุ่งหาผลประโยชน์ส่วนตัวโดยไม่คำนึงถึงความเดือดร้อน ถือว่าเป็นพฤติการณ์ร้ายแรง ศาลฎีกาจึงเห็นว่า ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์กำหนดโทษเหมาะสมแล้ว

ASTVผู้จัดการออนไลน์    3 พฤศจิกายน 2556