ผู้เขียน หัวข้อ: ขอเรียกร้องให้ สปสช. คืนสิทธิในการเลือกวิธีรักษา และคืนบทบาทในการมีส่วนร่วมในการ  (อ่าน 552 ครั้ง)

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9787
    • ดูรายละเอียด
ผู้เขียนได้รับข่าวนี้จากเพื่อนแพทย์ ต่อมาก็เห็นเรื่องเดียวกันใน เฟสบุ๊ก “แฉ NGOs และ องค์กรอิสระ”ข้อความว่า หมอช่วยชีวิตคนไข้ด้วยเครื่องช่วยหายใจ แล้ว สปสช. มาตรวจพบว่าไม่เป็นตามเกณฑ์เลยเรียกเงินคืน
       
       
เหตุการณ์จริง
       หมอ A “จะไม่ให้เจ๊งได้ไง สปสช. มันมาตรวจโรงพยาบาลXXX มันเรียก เงินคืนจากโรงพยาบาล บอกว่า ใส่เครื่องช่วยหายใจไม่เป็นไปตามเกณฑ์ของ สปสช.”
       เพื่อนหมอ A “แสดงว่าปัญหาอยู่ที่ สปสช. น่ะสิ”
       หมอ A “มันเอาเกณฑ์นี้กะไม่จ่ายเงินใครจะมาถอดเครื่องช่วยหายใจแล้วรอคนไข้ใกล้ตายแล้วค่อยใส่ ใหม่ สปสช. มันบ้าเกินไปแล้ว”

       
       อันที่จริงปัญหาการควบคุมค่าใช้จ่ายของโรงพยาบาลโดยให้ทำการรักษาแบบตายตัว โดยยาที่ สปสช. จัดซื้อ แบบเหมาโหล แพทย์ร้องเรียนมานานแล้ว วันที่ 22 มีนาคม 2560 ผู้เขียนได้มีโอกาสเข้าประชุมร่วมกับคณะกรรมาธิการสาธารณสุข ของ สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ ผมได้ถามในที่ประชุมว่า “ถ้าย้อนเวลากลับไป และท่านป่วยด้วย นิ่วในถุงน้ำดี ท่านอยากจะเป็นคนไทยที่ใช้สิทธิการรักษาแบบใด ระหว่าง สิทธิข้าราชการ สิทธิประกันสังคม เอกชน และสิทธิบัตรทอง” เชื่อได้ว่าทุกคนจะตอบเป็นเสียงเดียวกันว่า “สิทธิอะไรก็ได้ แต่ไม่ใช่สิทธิบัตรทอง”
       
       ทั้งนี้เพราะอาจารย์แพทย์ที่เป็นตัวแทนจากโรงพยาบาลศิริราชได้ให้ข้อมูลว่า สิทธิบัตรทองจะต่างจากสิทธิอื่นตรงที่ สปสช. เป็นผู้กำหนดวิธีรักษาในขณะที่สิทธิอื่นแพทย์ผู้รักษาเป็นผู้กำหนด เช่น การรักษาผ่าตัดถุงน้ำดีมี 2 วิธี ได้แก่การผ่าตัดด้วยกล้องและการผ่าตัดเปิดหน้าท้อง ซึ่งการผ่าตัดด้วยกล้องเป็นการผ่าตัดที่ดีกว่า แผลเล็กกว่า ผลแทรกซ้อนจากการผ่าตัดน้อยกว่า ที่สำคัญการผ่าตัดด้วยกล้องไม่ต้องนอนโรงพยาบาลเป็นอาทิตย์ ในอดีต สปสช. ได้กำหนดให้นิ่วในถุงน้ำดีต้องผ่าตัดเปิดหน้าท้องเท่านั้น ถึงแม้ว่าในปัจจุบัน สปสช. ได้ยอมให้แพทย์ทำการผ่าตัดรักษานิ่วในถุงน้ำดีด้วยการส่องกล้องแล้ว แต่ก็มีโรคอื่นๆ อีกมากมายที่ สปสช. เป็นผู้กำหนดยาและวิธีการรักษา ดังนั้นผู้ที่ใช้สิทธิบัตรทองย่อมได้รับการรักษาในรูปแบบที่จำกัดกว่ามาตรฐานสากลเสมอไป
       
       สปสช. เข้ามากำหนดยาและการรักษาในหลายรูปแบบ เป็นที่น่าห่วงกังวลอย่างยิ่งว่า การเข้ามากำหนดยาและการรักษาของ สปสช. มักจะส่งผลต่อความพิการและการตายที่ไม่สมควรด้วย เช่น โครงการผ่าต้อกระจกของ สปสช ในอดีตจะใช้วิธีส่งรถตู้มาตรวจกรองผู้ป่วยจากจังหวัดหนึ่งแล้วขนคนไปรับการผ่าตัดอีกจังหวัดหนึ่ง (ดังที่เกิดอุบัติเหตุรถตู้คว่ำทำให้คุณตาคุณยายเสียชีวิตไปสองคน บาดเจ็บอีก 12 คน ดูได้ใน www.thairath.co.th/content/529501) ซึ่งได้มีการคำนวณประมาณการว่า มีการผ่าต้อในคนที่ไม่จำเป็นต้องผ่า รวมทั้งไม่ได้ผ่าต้อในคนที่จำเป็นต้องผ่าเป็นจำนวนมาก ที่สำคัญเมื่อเกิดปัญหาจากการผ่าตัดจะเป็นการยากที่ผู้ป่วยจะเดินทางข้ามจังหวัดเพียงแค่เพื่อให้แพทย์ที่ทำการผ่าตัดตรวจวินิจฉัยและรักษา เป็นต้น
       
       การคิดค้นแนวทางการบริหารจัดการผู้ป่วยแบบนี้ของ สปสช. พบได้อีกในหลาย ๆ โครงการ เช่น โครงการรักษาผู้ป่วยไตวาย ซึ่ง ตามหลักสากลมีวิธีรักษา 2 ทางเลือกคือการฟอกเลือด และการล้างช่องท้อง หรือ CAPD แต่ สปสช. บังคับให้ใช้ CAPD ก่อน เรียกว่า CAPD-first ผลคือมีผู้ป่วยเสียชีวิตเร็วกว่าผู้ป่วยไตวายสิทธิอื่น หรือผู้ป่วยที่ยอมจ่ายค่ารักษาด้วยตนเองเพื่อได้ฟอกเลือดจำนวนมาก ซึ่งแตกต่างจากในต่างประเทศที่ การรักษาด้วย CAPD ได้ผลดีเท่าๆ กับการฟอกเลือด ผู้เขียนได้ทราบจากนายแพทย์กฤษณพงศ์ มโนธรรม มาว่าในที่ประชุมกรรมาธิการสาธารณสุข สภานิติบัญญัติแห่งชาติ มีแพทย์โรคไตจำนวนหนึ่งที่รับใช้ สปสช. และ สปสช. เองก็ยังจะตะแบงอ้างผลจากต่างประเทศมาใช้กับคนไทยทั้งๆ ที่คนไข้โรคไตที่รักษาในโรงพยาบาลที่ตัวเองทำงานก็ตายมากกว่า แต่ก็ไม่สนใจไม่ใส่ใจคนไข้ในโรงพยาบาลของตัวเอง ตะแบงอ้างแต่ต่างประเทศ
       
       ในขณะที่อาจารย์แพทย์โรคไตอีกคนยังมาเล่าในที่ประชุมว่า คนไข้โรคไตของ สปสช. ที่ถูกบังคับรักษาฟอกไตทางหน้าท้อง CAPD-First แล้วแกล้งทำให้ติดเชื้อในช่องท้องเพื่อจะได้ฟอกเลือดทางหลอดเลือด (HD) แล้วหัวเราะลั่นห้องประชุมในรัฐสภา ไม่ทราบว่าความเป็นแพทย์และจรรยาแพทย์ตายสนิทอยู่ที่ไหน คำว่า First of all, do no harm! อยู่ตรงไหน คงท่องไว้แต่คำว่า CAPD-First! เป็นหรือไร?
       
       ผู้เขียนได้ศึกษาความแตกต่างของ CAPD ที่ทำในต่างประเทศและ CAPD-first ของ สปสช. พบว่ามีความแตกต่างที่อาจส่งผลต่อการเสียชีวิตเร็ว ได้หลายประการ
       
       1.เกิดจากการติดเชื้อ เนื่องจากผู้ป่วยไม่มีความเข้าใจในเรื่องการป้องกันการติดเชื้อ (aseptic technic for prevention of infection) หรือ น้ำยาปนเปื้อน ซึ่งมีหลักฐานสนับสนุนว่ามีการติดเชื้อมากขึ้นจริง โดย สปสช.ได้เพิ่มงบประมาณในการจัดซื้อยาฆ่าเชื้อ (antibiotic) เพิ่มขึ้นปีละ 3 พันล้านบาท
       2.เกิดจากน้ำยาขาดคุณภาพ เนื่องจากปัญหาในการจัดซื้อ จัดเก็บและการขนส่งน้ำยาของบริษัท ไปยังไปรษณีย์ และจากไปรษณีย์ส่งถึงผู้ป่วย เพราะการจัดซื้อในโครงการนี้ของ สปสช เนื่องจากเป็นการจัดซื้อแบบเหมาโหล แต่ละปี ต้องมีการจัดซื้อและจัดเก็บถุงน้ำยาถึงมากกว่า 25 ล้านถุง การตรวจสอบคุณภาพถุงทั้งต้นทาง จัดเก็บ จนถึงปลายทาง ว่าถุงและน้ำยามีคุณภาพดี ไม่รั่ว ไม่ปนเปื้อนและไม่เสื่อมเพราะอุณหภูมิสูงกว่า 30 องศาเซลเซียส ทำได้ยากมาก
       
       ผู้เขียนแค่ลองค้นคำ “น้ำยาล้างไต รถขนส่ง” ใน google พบว่ามีการหาคนมารับจ้างต่อในการขนส่งน้ำยาล้างไตจำนวนมาก และขอแค่มีรถกระบะซึ่งไม่ได้เป็นห้องเย็นควบคุมอุณหภูมิแต่อย่างใด และหากจะติดตั้งก็ต้องลงทุนอีกมาก จนเกิดความสงสัยว่าการรับจ้างขนส่งต่อในประเทศไทยที่เป็นเมืองร้อนจะรักษาอุณหภูมิระหว่างขนส่งไม่ให้เกิน 30 องศาเซลเซียสได้หรือไม่

ขอเรียกร้องให้ สปสช. คืนสิทธิในการเลือกวิธีรักษา และคืนบทบาทในการมีส่วนร่วมในการดูแลสุขภาพของตนเองให้แก่แพทย์ ผู้ป่วย และคนไทยทุกๆ คน
       


        3.ขาดแพทย์ผู้เชี่ยวชาญในการวางสายส่งน้ำยาเข้าช่องท้อง ทำให้ได้รับการรักษาช้า หรือ อาจทำได้ไม่ถูกวิธี
       
       ปัญหาสำคัญที่ สปสช. ละเลยคือ สิทธิในการเลือกวิธีรักษา ในหลายๆ กรณีการเลือกวิธีรักษาไม่ได้เกี่ยวข้องกับข้อบ่งชี้ในทางการแพทย์ เช่น CAPD เป็นวิธีที่ไม่เหมาะเลยสำหรับผู้ที่ยังทำงานอยู่ เพราะ คนไข้ต้องให้ญาติช่วยล้างช่องท้องวันละ 4 ครั้ง ครั้งละชั่วโมง มีผู้ใช้เฟซบุ๊กในชื่อ Add Suparat ได้ให้ความเห็นว่า “ดิฉันเป็นผู้ป่วยไตวายเรื้อรังต้องฟอกไตอาทิตย์ละสองครั้งแต่ดิฉันอยู่คนเดียวไม่มีลูกหลานอยู่ด้วยมีอาชีพค้าขายเลี้ยงตนเองคนเดียวจึงไม่เหมาะกับการล้างไตทางช่องท้องที่ต้องทำเองที่บ้าน บ้านก็เป็นห้องเช่าไม่มีเนื้อที่พอที่จะทำห้องปลอดเชื้อล้างเองวันละ 4 ครั้งก็ไม่ต้องทำมาหากินกันแล้วให้เหตุผลไปตามนี้ก็ไม่ได้ แพทย์ให้เซนต์การสละสิทธิ์การใช้บัตรทองทันทีดิฉันต้องยอมเสียเงินเองในการทำเส้นฟอกไตและการล้างไตเพื่อความอยู่รอดของชีวิต หาก สปสช. จะช่วยประชาชนจริงควรคำนึงถึงชีวิตมากกว่าเงินคงจะดีกว่านี้คนจนเจ็บป่วยไม่มีเงินก็ตายอย่างเดียวค่ะ” กรณีนี้ ดร.อานนท์ ศักดิ์วรวิชญ์ ได้ให้ความเห็นว่า “ผู้พิพากษาศาลรัฐธรรมนูญท่านหนึ่ง ถึงกับเอ่ยปากว่า CAPD-first นั้นผิดกฎหมายรัฐธรรมนูญแน่นอน เพราะเป็นการลิดรอนสิทธิ์ของผู้ป่วย เป็นการเลือกปฏิบัติโดยไม่เท่าเทียม (Unfair treatment and discrimination) ซึ่งรัฐธรรมนูญของไทยตั้งแต่ปี 2550 ได้กล่าวเรื่องนี้ไว้อย่างชัดเจน”
       
       โดยสรุป สปสช. มีวิธีบังคับการรักษา 2 วิธี
       วิธีแรก ให้เขียนรายงาน หากเขียนไม่ตรงกับที่กำหนดก็จะเบิกค่าใช้จ่ายที่โรงพยาบาลใช้ไปล่วงหน้าไม่ได้
       วิธีที่สอง คือ การออกโครงการย่อย ที่ชัดเจนที่สุดคือโครงการ CAPDFIRST
       
       ผู้เขียนจึงอยากขอกราบขอร้อง สปสช. ให้ เปลี่ยนวิธีการบริหาร เสีย เพื่อประโยชน์สุขของคนไทยทุกๆ คน โดย สปสช.เลิกบังคับ ให้เขียนรายงาน และเลิก CAPD first มาเป็นให้เลือกวิธีที่เหมาะสม จะเป็น HD หรือ CAPD (PD) ก็แล้วแต่ความเหมาะสมของผู้ป่วยแต่ละคน

โดย ศ.ดร.นพ.อภิวัฒน์ มุทิรางกูร       9 เมษายน 2560
http://manager.co.th/Daily/ViewNews.aspx?NewsID=9600000036237