ผู้เขียน หัวข้อ: ต้นแบบรพ.สีเขียว ลดคาร์บอนฟุตปริ๊นท์  (อ่าน 892 ครั้ง)

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9789
    • ดูรายละเอียด
ปัญหาโลกร้อนอันเป็นผลจากการเปลี่ยนแปลงของภูมิอากาศและการเพิ่มขึ้นของปริมาณก๊าซเรือนกระจก อย่างคาร์บอนไดออกไซด์ มีเทน ไนตรัสออกไซด์ ซึ่งเกิดจากการเผาเชื้อเพลิง ขยะ น้ำเสีย และการใช้สารเคมี ล้วนเป็นสาเหตุของปรากฏการณ์ ที่เรียกว่า ภาวะเรือนกระจก

ภาวะเรือนกระจก หรือที่ฝรั่งเรียกว่า Greenhouse Effect ซึ่งนับวันยิ่งรุนแรงและขยายวงกว้างไปทั่วโลก คือ ตัวแปรสำคัญที่ก่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงของสภาพแวดล้อมหลายอย่าง

เป็นต้นว่า ยามฤดูแล้งก็แห้งแล้งเสียจนไม่เคยแล้งระดับนี้มาก่อน หรือบทจะเกิดน้ำท่วมขึ้นมา ก็ท่วมชนิดพายุพากันตบเท้าโถมกระหน่ำไล่เรียงกัน 4-5 ลูกซ้อน เป็นต้น

นอกเหนือจากภาคอุตสาหกรรมและขนส่ง ซึ่งเป็นจำเลยใหญ่ในการก่อภาวะเรือนกระจกขึ้นทั่วโลก

สถานบริการสาธารณสุข ทั้งประเภท โรงพยาบาล คลินิก และสถานีอนามัย ยังถูกมองว่าเป็นอีกหนึ่งในจำเลย ที่ผลิตก๊าซเรือนกระจก และก่อให้เกิดปัญหาโลกร้อน ในระดับรองลงมา

เนื่องจากหน่วยงานดังกล่าวทั่วประเทศมีจำนวนรวมกันหลายพันแห่ง ในแต่ละวันต้องให้บริการประชาชนทั้งในด้านป้องกันและรักษาเป็นจำนวนมาก จึงทำให้เกิดกิจกรรมอันหลากหลายจากคนหลายล้านราย

เช่น ปริมาณการใช้กระแสไฟฟ้า การเดินทางของผู้ป่วย ญาติผู้ป่วย บุคลากรทางการแพทย์ การขนส่งวัสดุ อุปกรณ์ การใช้ยาหรือสารเคมี และเครื่องมือทางการแพทย์หลายชนิด รวมทั้งการบริโภคสินค้าและบริการของผู้คนในสถานที่เหล่านั้น

ทุกกิจกรรมล้วนก่อให้เกิดการเผาผลาญเชื้อเพลิงรวมกันวันละมหาศาล ปล่อยปฏิกูล น้ำเสีย มูลฝอยติดเชื้อ จากตึกผู้ป่วยและโรงอาหารวันละนับไม่ถ้วน

แม้แต่การใช้สารเคมีบางอย่าง เช่น ไนตรัสออกไซด์ เป็นองค์– ประกอบหลักในยาสลบ ซึ่งปล่อยก๊าซเรือนกระจกปริมาณมหาศาล ล้วนเป็นกิจกรรมที่เข้าข่ายช่วยกันข่มขืนสิ่งแวดล้อมให้ป่นปี้

กระทรวงสาธารณสุขตระหนักดีถึงปัญหาที่เกิด จึงได้มอบหมายให้กรมอนามัย ทำ โครงการสาธารณสุขรวมใจรณรงค์ลดโลกร้อน โดยใช้หลักการสุขาภิบาลที่ยั่งยืน และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

คำว่า เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม หมายถึง ภายในสถานพยาบาลที่เข้าร่วมโครงการต้องมีการจัดการขยะ และใช้ประโยชน์จากขยะที่เกิดขึ้นในแต่ละวัน ต้องมีการจัดการส้วม หรือสุขา ให้ได้มาตรฐานส้วมสาธารณะไทย (HAS) ต้องลดใช้พลังงานเชื้อเพลิงในสถานพยาบาลด้วยวิธีการต่างๆ

นอกจากนี้ ยังต้องจัดการสิ่งแวดล้อมในลักษณะที่มีส่วนช่วยลดโลกร้อนและเอื้อต่อสุขภาพของผู้ที่อยู่ในสถานพยาบาล รวมทั้งรณรงค์ให้ลดใช้สารเคมี เป็นต้น

รวมความแล้ว เป้าหมายหลักในการลดภาวะโลกร้อนในสถานบริการสาธารณสุข ก็คือ ลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกนั่นเอง โดยเริ่มจากการสำรวจ และคำนวณปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของแต่ละสถานพยาบาล เพื่อใช้เป็นแนวทางเลือกมาตรการที่เหมาะสมกับแต่ละสถานพยาบาล

เช่น รู้ว่าสถานบริการสาธารณสุขของตนปล่อยก๊าซเรือนกระจกปริมาณเท่าใด จากแผนกใด และกิจกรรมใดบ้าง โดยใช้เครื่องมือช่วยในการคำนวณ เรียกว่า คาร์บอน ฟุตปริ๊นท์ (Carbon Footprint)

ซึ่งหมายถึงเกณฑ์วัดการปลดปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ และก๊าซเรือนกระจกอื่นๆ ตลอดวงจรอายุของผลิตภัณฑ์ บริการหรือกระบวนการทำงานของแต่ละองค์กร แสดงผลออกมาเป็นหน่วยกิโลกรัม หรือตันคาร์บอนฯต่อปี เทียบเท่ากับที่ก่อให้เกิดปรากฏการณ์เรือนกระจก

ยกตัวอย่าง “คาร์บอน ฟุตปริ๊นท์ของมนุษย์” เป็นเรื่องที่เกี่ยวกับกิจกรรมในชีวิตประจำวันของคนเรา ตั้งแต่การเดินทาง การใช้ชีวิตที่บ้าน และที่ทำงาน แม้กระทั่งการรับประทานอาหาร

แต่ละกิจกรรมล้วนส่งผลต่อการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั้งสิ้น โดยค่าเฉลี่ยของคาร์บอน ฟุตปริ๊นท์ อันเกิดจากน้ำมือมนุษย์ สำหรับประเทศไทยปัจจุบันมีการคำนวณไว้ว่า มีอัตราการปล่อยก๊าซเรือนกระจกโดยเฉลี่ยที่ 5.3–5.5 ตันคาร์บอนไดออกไซด์ ต่อคน ต่อปี

หรือกรณี “คาร์บอน ฟุตปริ๊นท์ขององค์กร” หมายถึง ปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่ปล่อยออกจากกิจกรรมของแต่ละองค์กร หรือหน่วยงาน เช่น โรงพยาบาล โรงเรียน แต่ละแห่ง ฯลฯ โดยคำนวณออกมาในรูปของน้ำหนักคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า

เช่น โรงพยาบาลแห่งหนึ่งมีขยะเกิดขึ้นปีละประมาณ 100,000 กิโลกรัม หากโรงพยาบาลดังกล่าวไม่มีการคัดแยกขยะ เพื่อให้เทศบาลนำไปกำจัดโดยการฝังกลบ ที่บ่อขยะซึ่งอยู่ห่างจากโรงพยาบาล 5 กิโลเมตร

การจัดการขยะมูลฝอยของโรงพยาบาลแห่งนี้ เมื่อใช้สูตรคำนวณทางวิทยาศาสตร์ จะก่อให้เกิดปริมาณคาร์บอน ฟุตปริ๊นท์ คิดเป็นน้ำหนักเทียบเท่าถึง ปีละ 84.2 ตันคาร์บอนฯ

แต่หากโรงพยาบาลดังกล่าวดำเนินการคัดแยกขยะอินทรีย์ (ย่อย

สลายได้) ออกจากขยะทั่วไปเพียง 20,000 กก.ต่อปี โดยนำขยะอินทรีย์ไปทำเป็นปุ๋ยหมัก ปริมาณคาร์บอน ฟุตปริ๊นท์ จะลดลงเหลือเพียงแค่ปีละ 70.9 ตันคาร์บอนฯ หรือลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลงได้ถึง 13.3 ตันคาร์บอนฯต่อปี เป็นต้น

ไม่เพียงแต่ลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ต้นเหตุของปัญหาโลกร้อนและอีกสารพัดปัญหาที่ตามมา ยังนำปุ๋ยหมักที่ได้ไปใช้ปลูกต้นไม้ภายในโรงพยาบาล ลดการใช้ปุ๋ยเคมี และหากโรงพยาบาลดำเนินการคัดแยกขยะรีไซเคิลออกจากขยะทั่วไปอีก ก็จะยิ่งช่วยลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้เพิ่มขึ้นอีก

ดังกรณีตัวอย่าง โรงพยาบาลปราสาท จ.สุรินทร์ 1 ใน 13 สถานพยาบาลที่ได้รับรางวัลสถานบริการสาธารณสุขต้นแบบลดโลกร้อน ด้วยคาร์บอน ฟุตปริ๊นท์ ภายในโรงพยาบาลได้มีการจัดการที่ดีหลายประการ

เช่น ลดปริมาณน้ำขยะติดเชื้อ (ปกติต้องส่งให้บริษัทกำจัดของเสีย) โดยแยกน้ำทิ้งลงโถชักโครก ก่อนนำเข้าสู่บ่อบำบัดของโรงพยาบาล งดใช้สเปรย์ดับกลิ่นในห้องน้ำชนิดกระป๋อง โดยใช้มะกรูดแทน สนับสนุนให้ใช้สินค้าชนิดเติมแทนการซื้อขวดบรรจุภัณฑ์ใหม่ ลดการใช้ถุงพลาสติก โดยการใช้ปิ่นโตและถุงผ้าแทน

ส่งน้ำยาล้างฟิล์มเอกซเรย์เก่า และขวดบรรจุสารเคมีฟอร์มาดีไฮด์ สำหรับเครื่องอบก๊าซ กลับคืนบริษัทผู้จำหน่าย นำผ้าห่ออุปกรณ์ต่างๆ

ที่ชำรุด มาทำเป็นผ้าเช็ดมือ และผ้าเช็ดโต๊ะ นำเครื่องมือที่ชำรุดมาถอดออกเป็นอะไหล่ เก็บไว้ใช้งานคราวต่อไป และรณรงค์ไม่ขับขี่รถยนต์และจักรยานยนต์ภายในบริเวณโรงพยาบาล

ท้ายสุด นำเงินรายได้จากการขายขยะรีไซเคิล ปีละประมาณ 150,000 บาท ไปเป็นของรางวัลซื้อทองคำ จับสลากแจกให้บุคลากรในโรงพยาบาล หรือโครงการแจกรถจักรยานแก่เจ้าหน้าที่ในวันปีใหม่ เป็นต้น

หรือกรณี โรงพยาบาลพิจิตร จ.พิจิตร ซึ่งเป็นอีกโรงพยาบาลที่ได้รับรางวัลเดียวกัน นำเจลเหลว ที่เรียกว่า สโนว์ แพค ซึ่งบรรจุมากับยาและน้ำยา จากแผนกไตเทียม ไปดัดแปลงใช้แทน โคลด์ ฮอต แพค หรือถุงประคบเย็นเพื่อบรรเทาอาการบาดเจ็บ โดยแช่เย็นไว้ที่อุณหภูมิ 2-8 องศาเซลเซียส สำรองไว้ใช้กับผู้ป่วยที่มีอาการบาดเจ็บ หรือมีไข้ขึ้นสูง

นอกจากช่วยให้ประหยัดงบประมาณในการจัดซื้อโคลด์ ฮอต แพค ของทางราชการได้ปีละมหาศาล ยังช่วยลดปริมาณขยะทางการแพทย์ ที่ก่อให้เกิดปัญหาต่อสิ่งแวดล้อมอีกด้วย

ตัวอย่างกิจกรรมน่าชื่นชมเหล่านี้ ไม่สงวนสิทธิ์เฉพาะโรง-พยาบาล เพื่อช่วยยืดเวลาให้โลกใบนี้คงความสดสวยและสดใสนานวันขึ้น ไม่ว่าใคร หรือที่ไหน ก็ทำได้.

จรรยารัตน์ หน.ศูนย์คุณภาพ รพ.ปราสาท  -  จารุดา  กลุ่มงานสุขศึกษา รพ.พิจิตร
ไทยรัฐออนไลน์   30 มีค 2555