ผู้เขียน หัวข้อ: จากป่าสู่บ้าน(สารคดี-เนชั่นแนลจีโอกราฟฟิก)  (อ่าน 2147 ครั้ง)

pani

  • Hero Member
  • *****
  • กระทู้: 756
    • ดูรายละเอียด
“หวัดดี! เป็นไงบ้างเจ้าหนู”

ลุดมีลา ทรูต กล่าวทักทาย พลางก้มลงเปิดประตูกรงที่มีป้ายชื่อ “มาวริค” ติดอยู่  เรายืนอยู่ระหว่างกรงที่เรียงเป็นแถวยาวสองแถวในฟาร์มนอกเมืองโนโวซีบีร์สค์ในไซบีเรียตอนใต้  ลุดมีลา นักชีววิทยาวัย 76 ปี ไม่ได้ทักทายผม  แต่เป็นเจ้าขนฟูที่อยู่ในกรง มาวริคมีขนาดไล่เลี่ยกับสุนัขเลี้ยงแกะพันธุ์เชตแลนด์  มันมีขนสีส้มออกน้ำตาล และแถบขนสีขาวไล่ลงมาจากแผงคอถึงอก มันกระดิกหาง นอนกลิ้งไปมา หายใจแรงๆ อย่างกระตือรือร้นเพราะอยากให้คนสนใจ  ในอีกหลายกรงข้างๆกันนั้น  หมาจิ้งจอกสีเงินแบบเดียวกับเจ้ามาวริคนับสิบตัวต่างออกอาการอย่างเดียวกัน “อย่างที่คุณเห็นนั่นแหละค่ะ” ทรูตพูดแข่งกับเสียงอึกทึกรอบตัว “พวกมันอยากสื่อสารและได้ใกล้ชิดกับคนกันทั้งนั้น”

            เว้นเสียแต่ว่ามาวริคไม่ใช่สุนัขด้วยซ้ำไป แต่เป็นหมาจิ้งจอก  มันกับญาติๆ อีกหลายร้อยตัว คือหมาจิ้งจอกสีเงินเพียงกลุ่มเดียวในโลกที่ถูก  “ปรับให้กลายเป็นสัตว์บ้าน” ที่ผมบอกว่า “ปรับให้กลายเป็นสัตว์บ้าน” (domestication) นั้น     ผมไม่ได้หมายถึงการจับพวกมันมาจากธรรมชาติแล้วฝึกให้เชื่อง  แต่ผมหมายถึงการผสมพันธุ์เพื่อให้เป็นสัตว์บ้านที่เชื่องพอๆ กับเจ้าเหมียวหรือสุนัขพันธุ์ลาบราดอร์ของคุณ  หมา จิ้งจอกเหล่านี้ปฏิบัติต่อมนุษย์ทุกคนราวกับเป็นคนที่จะมาเป็นเพื่อนกับพวก มัน ซึ่งเป็นพฤติกรรมอันเป็นผลของการทดลองผสมพันธุ์ที่ว่ากันว่าน่าทึ่งที่สุด เท่าที่เคยมีมา

            การ วิจัยนี้เริ่มต้นขึ้นเมื่อ 50 กว่าปีก่อนตอนที่ทรูตยังเป็นนักศึกษาปริญญาโท โดยมีนักชีววิทยาชื่อ ดมิทรี เบลเยฟเป็นหัวหน้าโครงการ นักวิจัยที่สถาบันวิทยาเซลล์และพันธุศาสตร์ซึ่งอยู่ใกล้ๆ ได้รวบรวมหมาจิ้งจอก 130 ตัวจากฟาร์มที่เพาะเลี้ยงไว้ตัดขนขาย  จาก นั้นก็ผสมพันธุ์พวกมันโดยมีเป้าหมายในการสร้างวิวัฒนาการแบบเดียวกับที่หมา ป่ากลายเป็นสุนัขบ้าน อันเป็นกระบวนการเปลี่ยนแปลงที่เริ่มต้นขึ้นเมื่อกว่า 15,000 ปีก่อน   

            เบลเย ฟกับเพื่อนร่วมงานทดสอบปฏิกิริยาที่มีต่อมนุษย์ของลูกหมาจิ้งจอกแต่ละรุ่น และคัดเลือกตัวที่เป็นมิตรที่สุดมาเพาะเลี้ยงและขยายพันธุ์รุ่นต่อไป  พอถึงกลางทศวรรษ 1960 การทดลองก็ดำเนินมาไกลกว่าที่คาด  พวกเขาสร้างหมาจิ้งจอกอย่างเจ้ามาวริคที่ไม่เพียงไม่กลัวมนุษย์ แต่ยังหาทางเข้ามาผูกสัมพันธ์กับคนอย่างกระตือรือร้น  เบลเยฟสามารถบีบอัดเวลานับพันๆ ปีในการปรับสัตว์ป่าเป็นสัตว์บ้านให้เหลือเพียงไม่กี่ปีได้ราวกับปาฏิหาริย์   แต่เขาไม่ได้ทำเพียงเพื่อพิสูจน์ว่าสามารถเพาะหมาจิ้งจอกที่เป็นมิตรได้เท่านั้น  แต่ยังเชื่อลึกๆว่าอาจใช้พวกมันไขความลี้ลับในระดับโมเลกุลของกระบวนการปรับสัตว์ป่าให้เป็นสัตว์บ้าน

            เป็นที่รู้กันว่าสัตว์บ้านจะมีลักษณะเฉพาะเหมือนๆ กันชุดหนึ่ง  พวกมันมีแนวโน้มที่จะตัวเล็กกว่า หูลู่  และหางม้วนมากกว่าบรรพบุรุษที่เป็นสัตว์ป่า  คุณลักษณะเช่นนี้ทำให้พวกมันดูน่ารักอ่อนเยาว์ในสายตามนุษย์  บางครั้งขนมีลักษณะเป็นแต้มๆ (ศัพท์เฉพาะทางวิทยาศาสตร์เรียกว่า piebald หรือลายด่าง) ขณะที่บรรพบุรุษสัตว์ป่ามักมีขนสีเดียว  ลักษณะเฉพาะเหล่านี้และอื่นๆ ซึ่งบางครั้งเรียกว่าฟีโนไทป์ (phenotype) หรือลักษณะปรากฏของการเป็นสัตว์บ้าน  พบได้ในสัตว์หลากหลายสายพันธุ์ในระดับต่างกันไป  ตั้งแต่สุนัข หมู และวัว ไปจนถึงสัตว์ที่ไม่ได้เลี้ยงลูกด้วยนม เช่น ไก่ และแม้แต่ปลาบางชนิด

            เบลเยฟสงสัยว่าขณะที่หมาจิ้งจอกกลายเป็นสัตว์บ้าน  พวกมันอาจเริ่มแสดงฟีโนไทป์ของการเป็นสัตว์บ้านด้วยเช่นกัน  และเขาก็คิดถูกอีกครั้ง  เพราะการเลือกว่าจะนำหมาจิ้งจอกตัวไหนมาขยายพันธุ์โดยดูเพียงว่ามันเข้ากับมนุษย์ได้ดีเพียงไร  ดูเหมือนจะเปลี่ยนแปลงลักษณะทางกายภาพของพวกมันไปพร้อมกับนิสัยใจคอด้วย  หลังผ่านไปเพียงเก้ารุ่น นักวิจัยบันทึกว่าลูกหมาจิ้งจอกที่เกิดมามีหูลู่กว่าและบางตัวมีขนด่าง  ถึงตอนนี้หมาจิ้งจอกก็พากันส่งเสียงครวญครางและกระดิกหางเวลาเห็นคน ซึ่งเป็นพฤติกรรมที่ไม่เคยพบในหมาจิ้งจอกตามธรรมชาติมาก่อน

            เบลเยฟสันนิษฐานว่า  ปัจจัยหรือกลไกที่ขับเคลื่อนให้เกิดการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว  คือยีนชุดหนึ่งที่ถ่ายทอดลักษณะความเชื่องให้สัตว์  ซึ่งเป็นรูปแบบพันธุกรรมหรือจีโนไทป์ (genotype) ที่หมาจิ้งจอกอาจมีเหมือนกับสัตว์อื่นๆ ที่สามารถนำมาเพาะเลี้ยงเป็นสัตว์บ้านได้  ปัจจุบันสิ่งที่ทรูตและกำลังทำอยู่ที่ฟาร์มหมาจิ้งจอกแห่งนี้คือการค้นหายีนเหล่านั้นนั่นเอง  ส่วนนักวิจัยในที่อื่นๆ กำลังเจาะลึกลงไปในดีเอ็นเอของหมู ไก่ ม้า และสัตว์เลี้ยงอื่นๆ งานวิจัยเหล่านี้มุ่งตอบคำถามพื้นฐานทางชีววิทยาข้อหนึ่งว่า “การเปลี่ยนแปลงขนานใหญ่จากสัตว์ป่ามาเป็นสัตว์บ้านเกิดขึ้นได้อย่างไร” ลีฟ แอนเดอร์สสัน อาจารย์ด้านชีววิทยาจีโนม กล่าว  คำตอบของคำถามนี้ไม่เพียงช่วยให้เราเข้าใจว่า  เราจะนำสัตว์ป่ามาเลี้ยงเป็นสัตว์บ้านได้อย่างไร  แต่ยังทำให้เราเรียนรู้ที่จะลดความดิบเถื่อนในตัวเราลงอีกด้วย

                 

แต่การจะชี้ชัดลงไปว่ายีนตัวใดกำหนดคุณสมบัติความเป็นสัตว์ป่าหรือสัตว์บ้านกลับเป็นเรื่องยาก ประการแรก  นัก วิทยาศาสตร์ต้องระบุยีนที่กำหนดพฤติกรรมเป็นมิตรและก้าวร้าวให้ได้เสียก่อน ทว่าในความเป็นจริงรูปแบบพฤติกรรมทั่วไปเหล่านั้นเป็นการผสมผสานของพฤติกรรม ที่มีรูปแบบเฉพาะเจาะจงกว่า  ไม่ว่าจะเป็นความกลัว ความกล้า ความเฉยชา หรือความอยากรู้อยากเห็น  ซึ่งนักวิจัยต้องจำแนกแยกแยะออกจากกันอย่างชัดเจน จากนั้นจึงนำมาตรวจสอบและแกะรอยไปจนถึงยีนใดยีนหนึ่งหรือชุดของยีนที่ทำงานประสานกัน  เมื่อใดที่ระบุยีนเหล่านั้นได้  นักวิจัยจะสามารถทดสอบได้ว่า  ยีน ที่มีผลต่อพฤติกรรมยังมีส่วนกำหนดลักษณะภายนอกอย่างใบหูที่ตกลู่และขนที่ เป็นลายด่าง ตลอดจนคุณลักษณะอื่นๆที่บ่งบอกความเป็นสัตว์บ้านด้วยหรือไม่

            อย่างไรก็ตาม  ตอนนี้ทรูตและแอนนา คูเคโควา  เพื่อนนักวิจัยชาวอเมริกันที่ให้การสนับสนุนโครงการวิจัยหมาป่าในไซบีเรีย กำลังมุ่งความสนใจไปที่ขั้นตอนแรก  นั่นคือการโยงพฤติกรรมที่เป็นมิตรเข้ากับยีน ทุกปีเมื่อถึงช่วงปลายฤดูร้อน  คู เคโควาจะเดินทางไปยังโนโวซีบีร์สค์เพื่อประเมินและรวบรวมข้อมูลจากลูกหมา จิ้งจอกเกิดใหม่ในปีนั้น เธอจะใช้เครื่องมือในการวิเคราะห์แบบเดียวกัน สำหรับหมาจิ้งจอกทุกตัว  เพื่อเก็บข้อมูลเชิงปริมาณ เกี่ยวกับท่าทาง การเปล่งเสียง และพฤติกรรมอื่นๆของหมาจิ้งจอก จากนั้นจะนำไปประเมินร่วมกับข้อมูลสายพันธุ์หรือเพดิกรี (pedigree) ซึ่งเป็นบันทึกที่ติดตามหมาจิ้งจอกที่เป็นมิตร ก้าวร้าว และกลุ่มที่เป็น “ลูกผสม” (หมาจิ้งจอกที่เกิดจากพ่อแม่แต่ละกลุ่ม)

            จากนั้นทีมวิจัยร่วมอเมริกัน-รัสเซียจะสกัดดีเอ็นเอจากตัวอย่างเลือดหมาจิ้งจอกแต่ละตัว  และวิเคราะห์หาความแตกต่างที่ชัดเจนในจีโนมระหว่างกลุ่มที่ประเมินพฤติกรรมว่าดุร้ายกับกลุ่มที่เชื่อง  ทีมวิจัยรายงานว่าพวกเขาพบดีเอ็นเอหมาจิ้งจอกสองบริเวณที่แสดงออกเป็นพฤติกรรมที่แตกต่างกันอย่างมากสองแบบ  และนี่อาจเป็นตำแหน่งของยีนสำคัญในการปรับเปลี่ยนสัตว์ป่าให้กลายเป็นสัตว์บ้าน  พวกเขาได้ข้อสรุปที่ชัดเจนขึ้นเรื่อยๆว่า  การเปลี่ยนผ่านจากสัตว์ป่าสู่สัตว์บ้านไม่ได้เกิดจากยีนใดยีนหนึ่ง  แต่เป็นผลจากการเปลี่ยนแปลงทางพันธุกรรมหลายประการ หรือพูดง่ายๆคือเกิดจากยีนหลายยีนนั่นเอง
                แน่ นอนว่าสิ่งที่เกิดขึ้นในฟาร์มหมาจิ้งจอกแห่งนี้เป็นเพียงแค่การทดลองทาง วิทยาศาสตร์ ตลอดระยะเวลาหลายสิบปีที่ผ่านมา โครงการต้องผ่านร้อนผ่านหนาวและช่วงเวลาอันยากลำบาก ตั้งแต่ยุคคอมมิวนิสต์จนถึงการล่มสลายของสหภาพโซเวียต  หลายครั้งที่โครงการจำเป็นต้องจัดการและควบคุมประชากรหมาป่า  โดยขายพวกที่เชื่องน้อยเกินไปหรือไม่ก้าวร้าวมากพอที่จะเป็นสัตว์วิจัยให้แก่ฟาร์มขนสัตว์  ใน ช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ทางสถาบันกำลังดำเนินการขอใบอนุญาตจำหน่ายหมาจิ้งจอกเชื่องๆ ซึ่งเป็นส่วนเกินของงานวิจัยให้เป็นสัตว์เลี้ยงทั้งในและต่างประเทศ  โดยบอกว่า ไม่ เพียงเป็นการช่วยหาบ้านที่ดีกว่าให้หมาจิ้งจอกที่ไม่มีใครต้องการ แต่ยังเป็นการระดมเงินทุนเพื่อช่วยให้โครงการวิจัยเดินหน้าต่อไปด้วย ทรูตบอกว่า “สถานการณ์ที่เป็นอยู่ตอนนี้คือ เราพยายามทำดีที่สุดเพื่อให้ประชากรหมาจิ้งจอกของเรามีชีวิตอยู่อย่างสุข สบายตามอัตภาพค่ะ”

 เมษายน 2554