ผู้เขียน หัวข้อ: สธ. จ่ายค่าตอบแทน 1,700 ล้านบาท แก่บุคลากรแพทย์  (อ่าน 2173 ครั้ง)

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9772
    • ดูรายละเอียด
กระทรวงสาธารณสุข พร้อมจ่ายค่าตอบแทน 1,700 ล้านบาท แก่บุคลากรทางการแพทย์ในกลางเดือนสิงหาคม 2554 ตามระเบียบราชการ พร้อมเร่งแก้ไขปัญหาข้อจำกัดกำลังคนด้านสุขภาพในสังกัด โดยตั้งทีมวิชาการ ศึกษาทั้งในระดับประเทศและระดับกระทรวงร่วมกับ ก.พ.

       นายแพทย์ไพจิตร์ วราชิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ภายหลังตรวจเยี่ยมราชการจังหวัดนครราชสีมาเมื่อเช้าวันนี้ (27 กรกฎาคม 2554)ว่า ขณะนี้กระทรวงสาธารณสุข ได้เร่งแก้ไขปัญหาและพัฒนาระบบบริการสุขภาพ เพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงในอนาคตทั้งเรื่องโรคภัยต่างๆสภาพสังคมเศรษฐกิจได้อย่างเหมาะสม  โดยได้ประชุมระดมสมองจากผู้บริหารระดับสูงประกอบด้วยรองปลัดกระทรวง ผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข สาธารณสุขนิเทศก์ ผู้อำนวยการสำนักต่างๆ ใน 4 เรื่องใหญ่ที่มีความจำเป็นเร่งด่วน ได้แก่ กำลังคนกระทรวงสาธารณสุข ค่าตอบแทนบุคลากรที่เหมาะสม การจัดทำระบบฐานข้อมูลของกระทรวงสาธารณสุขเพื่อนำมาใช้กำหนดยุทธศาสตร์และนโยบายต่างๆ และแผนการจัดบริการประชาชนในแต่ละพื้นที่ใน 4 ระบบใหญ่คือบริการรักษาพยาบาล การป้องกันโรค การสร้างเสริมสุขภาพ และการคุ้มครองผู้บริโภค เนื่องจากกระทรวงสาธารณสุขมีหน่วยงานบริการประชาชนกระจายทั่วประเทศรวมกว่า 10,000 แห่ง หรือประมาณร้อยละ 80 ของหน่วยให้บริการรักษาพยาบาลทั้งหมด เพื่ออำนวยความสะดวกให้ประชาชนที่เจ็บป่วยให้เข้าถึงบริการได้ทุกโรค อย่างเท่าเทียม และมีคุณภาพดีเหมือนกันทุกแห่ง 

        นายแพทย์ไพจิตร์กล่าวว่า สำหรับความคืบหน้าเรื่องการจ่ายค่าตอบแทนบุคลากรที่ได้รับอนุมัติก้อนแรก 1,700 ล้านบาท จากวงเงินที่ครม.อนุมัติ 4,200 ล้านบาทในเบื้องต้น และจะมีการทยอยจ่ายเป็นระยะ ขณะนี้กระทรวงการคลังได้อนุมัติให้ใช้ระเบียบการเบิกจ่ายเงินบำรุงของกระทรวงสาธารณสุขได้ คาดว่าจะเริ่มจ่ายในกลางเดือนสิงหาคม 2554

        นายแพทย์ไพจิตร์ กล่าวต่อไปว่า เรื่องกำลังคนนั้นจัดเป็นเรื่องใหญ่ ที่เป็นปัญหาของกระทรวงสาธารณสุขมานาน ทั้งในเรื่องการขาดแคลนและความมั่นคงในอาชีพ  เพราะถูกจำกัดด้านการบรรจุอัตรากำลังใหม่มาตั้งแต่ พ.ศ.2548 ไม่ได้รับการบรรจุเป็นข้าราชการ เนื่องจากไม่ได้รับอัตราเพิ่มใหม่จากมาตรการควบคุมกำลังคนภาครัฐ  ทำให้บุคลากรต้องทำงานในลักษณะเป็นลูกจ้างชั่วคราว และใช้เงินบำรุงของสถานบริการเป็นค่าตอบแทนในระหว่างที่รอตำแหน่งบรรจุ ซึ่งจนถึงปี 2554 มีสะสมประมาณ 30,087 คน โดยล่าสุดนี้คณะรัฐมนตรีได้มีมติอนุมัติตำแหน่งข้าราชการใหม่ให้กระทรวงสาธารณสุข 4,846 อัตรา เพื่อบรรจุให้พยาบาลในโครงการแก้ไขปัญหาขาดแคลนในจังหวัดชายแดนใต้ พยาบาลวิชาชีพที่เป็นลูกจ้างชั่วคราว และนักเรียนทุนรัฐบาลในสายงานแพทย์ ทันตแพทย์ และเภสัชกรที่จบและทำงานเมื่อ 1 เมษายน 2554 โดยกระทรวงสาธารณสุขจะเร่งดำเนินการบรรจุโดยเร็วที่สุด  เพื่อขวัญกำลังใจของบุคลากร

        อย่างไรก็ตาม ทางออกของเรื่องกำลังคน กระทรวงสาธารรณสุขได้วางทิศทางแก้ไข 3 เรื่องใหญ่ ได้แก่ 1. การศึกษากำลังคนสุขภาพในระดับประเทศและระดับกระทรวงสาธารณสุข  ขณะนี้ได้ตั้งทีมวิชาการศึกษากำลังคนในสาขาต่างๆ ที่จำเป็นทั้งระบบ ประกอบด้วยสำนักนโยบายและแผนยุทธศาสตร์ สำนักพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศ สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ สถาบันพระบรมราชชนก และกลุ่มบริหารงานบุคคล มีนายแพทย์ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข เป็นหัวหน้าทีม ทำงานควบคู่กับสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน โดยจะศึกษาข้อมูลเชิงลึกในหน่วยบริการระดับโรงพยาบาลศูนย์ โรงพยาบาลทั่วไป โรงพยาบาลชุมชน และศึกษาในหน่วยจัดการศึกษาทุกแห่ง เพื่อให้ได้ข้อมุลการใช้กำลังคนที่แท้จริง คาดว่าจะได้ข้อสรุปในปลายปีนี้ 

         2.การเตรียมการออกนอกระบบ ไม่สังกัดกับ ก.พ. เพื่อบริหารกำลังคนแบบอิสระโดยมีพระราชบัญญัติรองรับคล้ายกับกระทรวงศึกษาธิการ เพื่อให้เกิดความคล่องตัวในการจัดบริการประชาชนอย่างมีคุณภาพทุกพื้นที่และเป็นไปตามสถานการณ์จริง โดยจะศึกษาข้อดีข้อเสียอย่างรอบคอบ ได้มอบหมายนายแพทย์สุพรรณ ศรีธรรมมา หัวหน้าผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุขดำเนินการ     

         3.การจัดระบบบริหารลูกจ้างชั่วคราวให้อยู่ได้ในระบบ โดยจัดเป็นพนักงานกระทรวงสาธารณสุขรูปแบบเฉพาะ มีกองทุนสำรองเลี้ยงชีพพนักงานกระทรวงสาธารณสุข สวัสดิการเช่นเดียวกับข้าราชการ ค่าตอบแทนสูงกว่าราชการประมาณ 1-2 เท่าตัว ผู้ที่ทำงานมานานจะได้รับค่าประสบการณ์เพิ่ม มีกองทุนสำรองเลี้ยงชีพเมื่อเกษียณอายุ เบื้องต้นจะมีพนักงาน 3 กลุ่มคือ กลุ่มวิชาชีพเฉพาะ เช่น แพทย์ ทันตแพทย์ เภสัชกร พยาบาล              เป็นต้น กลุ่มเชี่ยวชาญพิเศษ และกลุ่มเทคนิคบริการ บริหารทั่วไป  มอบหมายให้ นายแพทย์สุพรรณ ศรีธรรมมา รับผิดชอบ ซึ่งทั้ง 3 เรื่องที่กล่าวมาจะต้องมีความสอดคล้องกับภารกิจและโครงสร้างของกระทรวงสาธารณสุข  นายแพทย์ไพจิตร์ กล่าว

กรุงเทพธุรกิจ 27 กรกฎาคม 2554