ผู้เขียน หัวข้อ: ปฏิบัติการแช่แข็งก.สาธารณสุข (ด้วยตัวรัฐบาลเอง)  (อ่าน 647 ครั้ง)

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9782
    • ดูรายละเอียด
 ระบบสุขภาพไทยที่มีกระทรวงสาธารณสุขและสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เป็นกลไกหลักในการขับเคลื่อนระบบสาธารณสุขนั้น ถูกรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตรแช่แข็งอย่างเงียบๆ ด้วยการไม่เพิ่มงบในระบบหลักประกันสุขภาพเป็นเวลา 3 ปี ทั้งๆที่โรงพยาบาลมีรายจ่ายเพิ่ม เงินเดือนเพิ่ม ภาระผู้ป่วยก็เพิ่มขึ้นด้วย ในขณะที่รัฐบาลแช่แข็งระบบสุขภาพภาครัฐนั้น รัฐบาลกลับมีนโยบายส่งเสริมการเติบโตของภาคเอกชนภายใต้นโยบายเมดิคัลฮับ หวังดึงดูดชาวต่างชาติระดับวีไอพีเข้ามารักษาในโรงพยาบาลเอกชน ซึ่งกำลังส่งผลต่อการเกิดสมองไหลออกจากภาครัฐตามมา
       
       ระบบสาธารณสุขมีภาระงานการให้บริการด้านสุขภาพแก่ประชาชนเพิ่มขึ้นทุกปี ทำให้โรงพยาบาลของรัฐทุกแห่งแออัด รอนาน คิวนัดก็นาน จนมีความเครียดสูงกันทุกฝ่าย งานที่หนักทำให้เจ้าหน้าที่ยิ้มไม่ออก พูดจาไม่ชวนฟัง อีกทั้งยังได้รับงบประมาณอย่างอัตคัดมาโดยตลอด ขาดการสนับสนุนด้านอาคารสถานที่ที่เหมาะสมมายาวนาน ซึ่งล้วนมีส่วนต่อการพัฒนาที่เชื่องช้าของโรงพยาบาลของรัฐ สวนทางกับนโยบายการฟื้น 30 บาทรักษาทุกโรคที่โฆษณาชวนเชื่อว่า สามสิบบาทยุคนี้จะมากมีด้วยคุณภาพบริการ
       
       รัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตรได้ดองแช่แข็งงบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าเป็นเวลา 3 ปี ตามคำแนะนำของกุนซือการเมือง โดยปัจจุบันจำกัดงบรายหัวอยู่ที่ 2,755 บาท/คน/ปี ซึ่งงบรายหัวนี้รวมเงินเดือนส่วนของข้าราชการอยู่ในยอดเงินนี้ด้วย ส่วนภาระเงินเดือนของลูกจ้างชั่วคราวนั้นจ่ายจากเงินบำรุงหรือเงินสะสมของโรงพยาบาล การที่รัฐบาลมีนโยบายไม่เพิ่มงบรายหัวนั้น หากพิจารณาโดยสัมพัทธ์กับค่าใช้จ่ายมากมายที่เพิ่มขึ้นก็เท่ากับการลดงบประมาณลงนั่นเอง เพราะเงินเดือนเพิ่มขึ้น 6% ทุกปี ค่ายาเวชภัณฑ์ก็เพิ่มขึ้น เงินเฟ้อสินค้าแพงขึ้นทุกปี แม้แต่ข้าวสารและกับข้าวที่หุงเลี้ยงผู้ป่วยก็แพงขึ้น เงินเดือนลูกจ้างก็เพิ่มขึ้นเป็นเดือนละ 15,000 บาทไปแล้ว และที่สำคัญที่สุดคือ ภายใต้งบประมาณที่เท่าเดิม ปริมาณผู้ป่วยที่มารับบริการยังมีอัตราเพิ่มขึ้นทุกปีทั้งผู้ป่วยนอกและผู้ป่วยใน ดังนั้นภาระที่เพิ่มขึ้นทั้งหมดจึงตกเป็นภาระของโรงพยาบาล
       
       
       แม้งบจะหมดแต่โรงพยาบาลก็ต้องให้บริการ วิธีการทั่วไปคือการค้างหนี้ค่ายา ค้างจ่ายเงินโอทีเจ้าหน้าที่ ค้างชำระค่าน้ำค่าไฟ หรือหลายโรงพยาบาลใช้วิธีหยุดการพัฒนา หยุดสร้างชลอการปรับปรุง หยุดการซื้อเครื่องมือแพทย์ หยุดการพัฒนาความรู้ของแพทย์พยาบาลเพราะไม่มีงบสำหรับการไปฝึกอบรม หยุดการจ้างคนเพิ่มแม้เจ้าหน้าที่จะยังไม่พอ และวิธีสุดท้ายที่อาจต้องนำมาใช้ในกรณีที่ไม่มีทางเลือกอื่นคือ การลดคุณภาพบริการลง เช่นลดการตรวจเลือดเพื่อตรวจสุขภาพประจำปีของผู้ป่วยเบาหวาน/ความดันโลหิตสูงเพื่อประหยัดค่าใช้จ่าย เป็นต้น
       
       การแช่แข็งระบบสาธารณสุขภาครัฐด้วยการแช่แข็งงบประมาณรายหัวไม่ให้เพิ่มขึ้นเป็นเวลา 3 ปีนั้น ผลกระทบหลักก็ตกกับประชาชน เมื่อคุณภาพบริการในโรงพยาบาลของรัฐลดลง บริการยังคงแออัด สถานพยาบาลดูซอมซ่อไม่ได้รับการพัฒนา คนชั้นกลางก็เบื่อหน่ายและหันไปใช้บริการจากโรงพยาบาลเอกชนมากขึ้นก็เท่ากับเป็นการส่งเสริมการเติบโตของโรงพยาบาลเอกชนนั่นเอง หรือนี่คือเบื้องหลังความคิดที่แท้จริงของรัฐบาลที่มีนายทุนโรงพยาบาลเอกชนอยู่เบื้องหลัง
       
       รัฐบาลหยุดกระบวนแช่แข็งประเทศไทยไปแล้วด้วยกองกำลังตำรวจที่ออกปฏิบัติการหลายหมื่นคน แต่ปฏิบัติการแช่แข็งระบบสาธารณสุขด้วยการแช่แข็งไม่เพิ่มงบประมาณรายหัวสำหรับหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าด้วยมือรัฐบาลเองยังคงทำร้ายระบบสาธารณสุขไทยอยู่ เพราะการไม่เพิ่มงบ ในขณะที่รายจ่ายประจำเพิ่มขึ้น งบพัฒนาจึงลดลง จึงเท่ากับการลดคุณภาพบริการนั่นเอง หรือว่าข่าวลือที่ว่ารัฐบาลถังแตก เพราะเอาเงินไปถมกับการจำนำข้าวจนหมดตัวนั้นจะเป็นความจริง
       
       หากคุณภาพบริการของโรงพยาบาลด้อยลงไปบ้างใน 3 ปีนี้ ขอประชาชนอย่ามาโทษโรงพยาบาล แต่ให้รู้ว่า ต้นเหตุเพราะรัฐบาลแช่แข็งระบบสาธารณสุขไทย

โดย นพ.สุภัทร ฮาสุวรรณกิจ
ASTVผู้จัดการออนไลน์    11 ธันวาคม 2555