ผู้เขียน หัวข้อ: สปสช.จัมมือ สธ.ทุ่ม 2 พันล้านฟื้นฟู 'ผู้ป่วย-หน่วยบริการ-ชุมชน'  (อ่าน 1321 ครั้ง)

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9760
    • ดูรายละเอียด
เลขาธิการ สปสช. เผยร่วมมือ สธ. ระดมงบ 2 พันล้าน เร่งแผนฟื้นฟูประชาชน หน่วยบริการทุกระดับ และชุมชนท้องถิ่น หลังน้ำลดให้กลับมามีประสิทธิภาพภายในปี 55...

เมื่อวันที่ 25 พ.ย. 2554 ที่ รพ.พระนครศรีอยุธยา นพ.วินัย สวัสดิวร เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ลงพื้นที่ รพ.พระนครศรีอยุธยา เพื่อเยี่ยมและรับทราบสถานการณ์ปัญหาและอุปสรรคของโรงพยาบาล ตลอดจนแผนการฟื้นฟูโรงพยาบาลหลังน้ำลด เพื่อให้บริการผู้ป่วยในระบบหลักประกันสุขภาพได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งทาง รพ.พระนครศรีอยุธยา คาดว่าจะสามารถเปิดให้บริการเบื้องต้นได้ในวันที่ 28 พ.ย.54 และจะเปิดให้บริการเต็มรูปแบบได้ในวันที่ 1 ธ.ค.54

เลขาธิการ สปสช. กล่าวถึงแผนการฟื้นฟูหลังอุทกภัยภายใต้ระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติว่า ขณะนี้หน่วยบริการสาธารณสุขที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมหลายแห่ง ระดับน้ำเริ่มลดลง และกลับเข้าสู่สภาวะปกติแล้ว ในส่วนของหน่วยบริการสาธารณสุขนั้น ขณะนี้มีประชาชนที่ต้องดูแลช่วยเหลือทางด้านร่างกายและจิตใจเป็นเรื่องเร่งด่วน ขณะที่หน่วยบริการที่อยู่ในพื้นที่ประสบภัยนั้น ต้องให้บริการทางด้านการรักษาดูแลอย่างใกล้ชิด จึงได้ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งหามาตรการและแนวทางช่วยเหลือเร่งด่วน ซึ่งบทบาทของ สปสช. ในการฟื้นฟูนั้นจะเป็นบทบาทเสริมร่วมกับกระทรวงสาธารณสุข โดยเน้นในการจัดการระบบ เช่น การเงินการคลัง และการทำงานร่วมกับท้องถิ่นและภาคประชาชน รวมถึงการจัดหาบริการให้กับประชาชน ให้สามารถเข้าถึงบริการได้อย่างเท่าเทียม ซึ่งแผนฟื้นฟูนี้เน้นกลุ่มเป้าหมายสำคัญ 3 กลุ่ม คือ ผู้ป่วย หน่วยบริการสาธารณสุข/ผู้ให้บริการสาธารณสุข และชุมชนท้องถิ่น เพื่อฟื้นฟูให้ผู้ป่วยได้เข้าถึงบริการในการรักษาพยาบาลได้ปกติเร็วขึ้น โดยตั้งเป้าไว้ปี 55 คาดว่าจะใช้งบประมาณ 2,000 ล้านบาท

นพ.วินัย กล่าวถึงรายละเอียดของแผนฟื้นฟูว่า สำหรับกลุ่มที่ 1 ประชาชนจะต้องได้รับการดูแลสุขภาพในทุกมิติอย่างดี เน้นการส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรค จัดบริการเชิงรุกป้องกันโรค โดยโรงพยาบาลสาธารณสุขประจำตำบล (รพ.สต) องค์การปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) คลินิกชุมชนอบอุ่นในกรุงเทพมหานคร ขยายความร่วมมือกับ รพ.เอกชน ที่มีความพร้อมในการให้บริการแก่ผู้ป่วย โดยเฉพาะผู้ป่วยที่สามารถรอการผ่าตัดไว้ หรือการผ่าตัดที่ไม่เร่งด่วน จำนวน 1,200 ราย ขยายเวลาการให้บริการผู้ป่วยกับรพ.เอกชน ที่ไม่อยู่ในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ที่เข้าร่วมโครงการออกไปอีก 2 เดือน โดยมีเป้าหมายผู้ป่วยใน 2,000 ราย ผู้ป่วยนอก 1,000 ราย การบริการรักษากลุ่มเฉพาะ ได้แก่ ติดตามผู้ป่วยที่มีโรคเรื้อรังต่างๆ เช่น ไตวายเรื้อรัง เอดส์ ให้ได้รับยาอย่างต่อเนื่อง โดยเฝ้าระวังผู้ป่วยไตจำนวน 16,754 ราย ผู้ป่วยเอดส์ 41,673 ราย และจัดส่งน้ำยาล้างไตทางช่องท้องให้ผู้ป่วยถึงบ้านผ่านหน่วยบริการในพื้นที่ อปท. เครือข่ายผู้ป่วยโรคไต จำนวน 8,861 ราย เตรียมเวชภัณฑ์จำเป็น ให้เพียงพอ ได้แก่ ยากำพร้า ยา CL (การบังคับใช้สิทธิตามสิทธิบัตร) การฟื้นฟูสภาพคนพิการ โดยการจัดซ่อมและหาอุปกรณ์ทดแทนให้กับคนพิการที่อุปกรณ์ชำรุดจากอุทกภัย เช่น ขาเทียม

สำหรับกลุ่มที่ 2 หน่วยบริการทุกระดับสามารถกลับมาให้บริการได้อย่างมีประสิทธิภาพ จัดงบประมาณ ร่วมกับกระทรวงสาธารณสุข เพื่อการซ่อมแซมโครงสร้าง ครุภัณฑ์ แก่หน่วยบริการที่ประสบปัญหาอุทกภัย เร่งรัดการโอนงบประมาณเหมาจ่ายรายหัวให้หน่วยบริการ ให้ได้ร้อยละ 50

กลุ่มที่ 3 ชุมชน ท้องถิ่น และภาคประชาชน มีส่วนร่วมในการวางแผน ดูแล ป้องกันสุขภาพของคนในชุมชน ทั้งในระยะฟื้นฟูและในอนาคต สนับสนุนให้กองทุนตำบลในเขตที่ประสบปัญหาอุทกภัย พิจารณาสนับสนุนงบประมาณจากกองทุนตำบลในการจัดสุขาภิบาลสิ่งแวดล้อม ได้แก่ การกำจัดขยะ ล้างบ่อน้ำ จัดประชุมระดมสมอง ร่วมกันระหว่าง อปท. ชุมชน รพ.สต หน่วยงานอื่นในพื้นที่ เพื่อจัดทำแผนฟื้นฟูสุขภาพของประชาชนในพื้นที่หลังน้ำลด และแผนพัฒนาระบบหากเกิดเหตุฉุกเฉินในอนาคต.

ไทยรัฐออนไลน์ 26 พย 2554