ผู้เขียน หัวข้อ: ความจริงและความเท็จของระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ  (อ่าน 647 ครั้ง)

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9760
    • ดูรายละเอียด
จากวารสารของสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุขฉบับพิเศษ ทศวรรษที่ 2 สู่ “หลักประกันสุขภาพที่เป็นธรรมและยั่งยืน” ใน
http://old.hsri.or.th/…/default/files/browse/hsri-journal-f…
HSRI
Forum
ฉบับพิเศษ
: ทศวรรษที่ 2 สู่ “หลักประกันสุขภาพที่เป็นธรรมและยั่งยืน”
ซึ่งเมื่อข้าพเจ้า(ผู้เขียน) อ่านงานวิจัยที่งตีพิมพ์ในวารสาร HSRI (Health System Research Institute) หรือชื่อภาษาไทยว่า “สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) ฉบับพิเศษ “ทศวรรษที่สองสู่ระบบหลักประกันสุขภาพที่เป็นธรรมและยั่งยืน” แล้ว ก็ขอวิเคราะห์วิจารณ์ในบทความที่บอกว่าเขียนโดยนักวิจัย 2 คน ที่รับทุนวิจัยจากสวรส.คือคืออ.นวลน้อย ตรีรัตน์และแบ๊งค์ งามอรุณโชติ ผู้ซึ่งได้เขียนไว้ว่า
การเมืองและดุลอํานาจในระบบ
หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า
การปฏิรูประบบสาธารณสุขเกิดจากทฤษฎีสามเหลี่ยมเขยื้อนภูเขาของนพ.ประเวศ วะสี และคณะกลุ่มบุคคลที่ผลักดันให้เกิดองค์กรทั้ง 4 ก็คือนพ.ประเวศ วะสีและกลุ่มชมรมแพทย์ชนบท และเป็นประเด็นความขัดแย้งของแนวคิดเกี่ยวกับบทบาทการผูกขาดบทบาทในการปฏิรูประบบสาธารณสุข (intellectual monopoly) โดยนักวิจัยทั้งสองเขียนว่า ฝ่ายที่ต่อต้านแนวคิด 30 บาทเป็นผู้มีสายสัมพันธ์อย่างใกล้ชิดกับผู้บริหารระดับสูงในกระทรวง
แต่ทั้งสองคนนี้ได้ยกย่องว่า กลุ่มนพ.ประเวศ วะสีมีการสร้างเครือข่ายภาคประชาสังคมเอาไว้เป็นจำนวนมากเพื่อเอามาต่อรองกับฝ่ายการเมือง เรียกได้ว่ามีความต่อเนื่องทางปัญญา (continuity of wisdom) แต่ก็ทำให้เกิดกลุ่มแนวคิดต่อต้านเครือข่ายนพ.ประเวศ
ผู้วิจัยยังเห็นอีกว่า แพทย์ที่คัดค้านนโยบาย 30 บาทเป็นพวกที่ยึดติดกับ “ระบบสงเคราะห์” และคิดว่าความขัดแย้งเหล่านี้เป็นความขัดแย้งทางผลประโยชน์ โดยอ้างว่ากลุ่มที่มีผลประโยชน์จากการมีกำไรที่สูงกว่าปกติก่อนจะมีสปสช.คือโรงพยาบาลและบริษัทยา ฉะนั้นเมื่อเกิดสปสช.ขึ้นมาพวกโรงพยาบาลและบริษัทยาจึงต้องทำทุกอย่างเพื่อคงกำไรของตนเอาไว้ จึงต้องต่อต้านนโยบาย 30 บาท หรือวิ่งเต้นติดสินบนเพื่อเข้าไปยึดกุมการจัดการในระบบหลักประกันสุขภาพ ผู้วิจัยทั้งสองคนยังเขียนอีกว่า มาตรการที่ส่งผลกระทบต่อผลประโยชน์ของบริษัทยาและแพทย์อย่างเห็นได้ชัด เริ่มตั้งแต่นพ.สงวน นิตยารัมภ์พงศ์ เลขาธิการสปสช.คนแรก ได้สร้างบัญชียาหลักแห่งชาติ เพื่อจัดหายาที่ได้มาตรฐาน ปลอดภัย และประหยัด เป็นการยึดสิทธ์ในการเลือกใช้ยาไปจากแพทย์ รวมทั้งดึงเปอร์เซ็นต์ค่ายาที่ร.พ.เคยได้รับจากบริษัทยาไปด้วย
ส่วนมิติทางเศรษฐกิจ นั้นผู้วิจัยก็เขียนว่า สปสช.สามารถไปแทรกแซงและต่อรองราคายา รวมทั้งไปทำ CLยาทำให้ได้ยาราคาถูก ทำให้บริษัทยาและโรงพยาบาลสูญเสียผลประโยขน์ จึงทำให้คนเหล่านี้พยายามที่จะเข้าไปเป็นกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ และสรุปว่าความขัดแย้งที่เกิดขึ้นระหว่างสปสช.กับกลุ่มต่อต้าน นั้นมีมิติที่ทับซ้อนกันของการเมือง อำนาจและผลประโยชน์
เมื่อข้าพเจ้า (ผู้เขียนเรื่องนี้) ได้อ่านบทความนี้แล้ว ก็ขอสรุปประเด็นที่นักวิจัยกล่าวอ้าง ที่เป็นหัวข้อใหญ่ 6 เรื่องคือ
1. มีการผูกขาดบทบาทในการปฏิรูประบบสาธารณสุขโดยกลุ่มนพ.ประเวศ วะสี เจ้าของทฤษฎี สามเหลี่ยมเขยื้อนภูเขา
2. ฝ่ายที่ต่อต้านกลุ่มนี้เป็นพวกที่มีสายสัมพันธ์กับผู้บริหารระดับสูงในกระทรวงสาธารณสุข
3. นพ.ประเวศ วะสี มีความฉลาดทางปัญญาอย่างต่อเนื่อง จึงได้สร้างเครือข่ายภาคประชาสังคมเอาไว้ต่อรองกับฝ่ายการเมือง แต่ก็ทำให้เกิดกลุ่มแนวคิดต่อต้าน 30 บาท
4. ผู้วิจัยยังเห็นว่าแพทย์ที่ต่อต้านระบบ 30 บาท เป็นพวกที่ยึดติดกับระบบสงเคราะห์ (ที่ทำให้แพทย์มีอำนาจจะ “ช่วยสงเคราะห์ผู้ป่วยคนไหนก็ได้”
5. ผู้วิจัยคิดว่าความขัดแย้งเหล่านี้เกิดขึ้นเนื่องจากมี “ผู้สูญเสียผลประโยชน์” จากการที่เคยมีกำไรสูงก่อนที่จะมีระบบ 30 บาท ได้แก่แพทย์ โรงพยาบาล และบริษัทยา เนื่องจากนพ.สงวน นิตยารัมภ์พงศ์ เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) คนแรก ได้สร้างบัญชียาหลักแห่งชาติขึ้นมา เพื่อจัดหายาที่มีมาตรฐาน ปลอดภัยและประหยัด เป็นการยึดสิทธิ์การสั่งยาไปจากแพทย์ รวมทั้งดึงเปอร์เซ็นต์ที่โรงพยาบาลเคยได้จากบริษัทยาไปด้วย
6. ผู้วิจัยยังอ้างว่าการที่สปสช.ไปซื้อยาเอง ทำ CL ยา ทำให้สปสช.ซื้อยาได้ในราคาถูก ทำให้บริษัทยาและโรงพยาบาลเสียผลประโยชน์ไปมาก จึงทำให้คนเหล่านี้พยายามที่จะเข้าไปเป็นกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เพราะมีทั้งผลประโยชน์และอำนาจ
จากข้อความข้างต้นทั้งหมดที่ผู้เขียนยกมาอ้างอิงนั้น ลงตีพิมพ์ในวารสาร on line ของสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข ที่อ้างว่ากลุ่มผู้ต่อต้านนโยบาย 30 บาทนั้นคือกลุ่มที่สูญเสียผลประโยชน์จากที่เคยได้กำไรจากการขายยา สูญเสียอำนาจในการสั่งยาและสูญเสียผลประโยชน์ตอบแทนจากการได้รับเปอร์เซ็นต์จากการสั่งซื้อยา
ในขณะที่ทั้งสองคนเขียนยอมรับว่านพ.ประเวศ วะสี และกลุ่ม(แกนนำชมรม)แพทย์ชนบทเป็นผู้ผลักดันให้เกิดองค์กรสวส. สสส. สปสช. สช.และเป็นพวกที่มี “ความต่อเนื่องทางปัญญา”ในการสร้าง “เครือข่าย”ภาคประชาสังคมเอาไว้ต่อรองกับฝ่ายการเมือง
ซึ่งเมื่อข้าพเจ้า(ผู้เขียนเรื่องนี้) อ่านงานวิจัยที่งตีพิมพ์ในวารสาร HSRI ฉบับพิเศษ “ทศวรรษที่สองสู่ระบบหลักประกันสุขภาพที่เป็นธรรมและยั่งยืน” แล้ว ก็ขอวิเคราะห์วิจารณ์ดังนี้
ข้าพเจ้ามีความเห็นว่า บทความที่ผู้วิจัยทั้งสองเขียนนั้น มีทั้งความจริงและความเท็จปนกันอยู่ ซึ่งข้าพเจ้าจะขอแยกความจริงออกจากความเท็จ เพื่อให้ผู้อ่านที่ไม่ได้อยู๋ในแวดวงการแพทย์และสาธารณสุขได้เข้าใจเรื่องราวในระบบหลักประกันสุขภาพและระบบสาธารณสุขของประเทศไทย ตามการสรุปในประเด็นต่างๆ 6 ประเด็นที่บทความในHSRI กล่าวแล้วดังนี้คือ
1.ความจริงก็คือมีการผูกขาดการบริหารงานในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติจริง ระบบนี้ก่อตั้งโดยนพ.ประเวศ วะสี เจ้าของทฤษฎีสามเหลี่ยมเขยื้อนภูเขาและกลุ่มสมาชิกชมรมแพทย์ชนบทจริง ทั้งนี้จะเห็นได้ว่า กลุ่มสมาชิกชมรมแพทย์ชนบท สามารถยึดตำแหน่งเลขาธิการสปสช.และกรรมการ(บอร์ด) หลักประกันสุขภาพแห่งชาติมาตลอด เช่น นพ.สงวน นิตยารัมภ์พงศ์ เลขาธิการสมัยแรกและถึงแก่กรรมในขณะเป็นเลขาธิการสมัยที่ 2 และนพ.วินัย สวัสดิวร รองเลขาธิการก็ได้เข้ามาเป็นเลขาธิการต่อมาจนจะครบ 2 วาระในเดือนพ.ย.ปีนี้ แต่ถูกคำสั่งหัวหน้าคสช.ย้ายออกจากตำแหน่งไป เพื่อสอบสวนการบริหารที่ผิดกฎหมายและไม่ตรงต่อวัตถุประสงค์ของพ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ
2.ฝ่ายที่ต่อต้านกลุ่มนี้เป็นผู้มีสายสัมพันธ์กับผู้บริหารระดับสูงของกระทรวงสาธารณสุข ข้อนี้ก็มีทั้งที่เป็นจริง กล่าวคือรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขในยุคปี 2555 นั้นมาจากพรรคเพื่อไทย และเป็นผู้บังคับบัญชาโดยตรงของข้าราชการกระทรวงสาธารณสุข (จะเรียกว่ามีสายสัมพันธ์กันก็ได้ แต่ไม่ใช่เป็นสายสัมพันธ์ส่วนตัว แต่เป็นสายสัมพันธ์ตามตำแหน่างหน้าที่ในราชการ) ซึ่งประสบกับปัญหาการขาดเงินทุนในการทำงานรักษาผู้ป่วยในระบบ 30 บาท และข้าราชการเหล่านั้นทั้งระดับทั่วไปหรือระดับผู้บริหาร ต่างก็ต้องรายงานให้รัฐมนตรีเจ้ากระทรวงทราบถึงอุปสรรคในการทำงานให้การดูแลรักษาประชาชน ว่างบประมาณกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติที่สปสช.จะต้องส่งมาให้แก่โรงพยาบาลนั้น เป็นงบประมาณขาดดุล กล่าวคือมีจำนวนเงินน้อยกว่าที่รัฐบาลจัดสรรให้สปสช. (มีการรั่วไหลของงบประมาณกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ) ซึ่งทำให้รพ.กระทรวงสาธารณสุขขาดทุนในการดำเนินการให้การรักษาพยาบาลแก่ผู้ป่วยที่มีสิทธิ์ในระบบ 30 บาท
3.ที่กล่าวว่านพ.ประเวศ วะสี เป็นผู้มีปัญญาอย่างต่อเนื่องในการสร้างเครือข่ายประชาสังคมไว้เป็นเครื่องต่อรองทางการเมือง (ในการที่จะไม่เลิกระบบ 30 บาท) แต่ทำให้เกิดกลุ่มต่อต้าน เรื่องนี้เป็นจริง(ที่สุด) ที่นพ.ประเวศ วะสี สามารถสร้างเครือข่ายประชาสังคมไว้มาก ซึ่งข้าพเจ้าคิดว่า เขาวางแผนไว้ตั้งแต่ตอนยกร่างพ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแล้ว โดยการกำหนดให้มีกลุ่มองค์กรเอกชนทางสาธารณสุข สามารถคัดเลือกกันเองเข้ามาเป็นกรรมการ(บอร์ด)หลักประกันสุขภาพได้ถึง 5 คน และยังกำหนดให้มีผู้ทรงคุณวุฒิมาเป็นกรรมการได้อีกถึง 7 คน ซึ่งในการคัดเลือกกรรมการ(บอร์ด) ในวาระแรกนั้น ผู้คัดเลือกก็คือกลุ่มนพ.ประเวศ วะสี ก็สามารถคัดเลือก “พรรคพวก”หรือคนที่มีแนวคิดเหมือนกันมาเป็นกรรมการได้ใน 2 ประเภทนี้ถึง 12 คน และยังกำหนดให้มีผู้แทนเทศบาลและผู้แทนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นอีก 6 คน ซึ่งพวกเขาก็คงสามารถเลือกได้เองอีกทั้งหมด ทำให้มีกรรมการพวกเดียวกันเป็นต้นทุนแล้วถึง 18 คน ในจำนวนกรรมการทั้งหมด 30 คน และในวาระแรก รัฐมนตรีก็มาจากรัฐบาลที่เห็นชอบกับโครงการ 30 บาท จึงทำให้คณะกกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ “กุมเสียงข้างมาก”ในองค์กร ทำให้สามารถ “ขับเคลื่อน”การบริหารงานได้ตามที่กลุ่มสามเหลี่ยมเขยื้อนภูเขาต้องการ
และกรรมการที่มาจากกลุ่มองค์กรเอกชนที่ถูกกลุ่ม”สามเหลี่ยมเขยื้อนภูเขา”เลือกมา ก็ได้เป็นกรรมการติดต่อกัน 2 วาระเป็นส่วนมาก และกรรมการเหล่านี้หลายคน ยังไปตั้งองค์กรไว้คอยรับงบประมาณในการทำโครงการของตน เช่น โครงการโรคเอดส์ กรรมการที่เป็ฯผู้แทนองค์กรเอกชนด้านเอดส์ ก็ได้รับงบประมาณจากการเขียนโครงการขอรับทุนจากสปสช.ไปดำเนินการในองค์กรของตนได้หลายร้อยล้านบาท และฯลฯ ทำให้พวก NGO เหล่านี้เกิดความ “รักระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ” (ไม่รักได้ไง แจกเงินกันทีละเป็นสิบๆล้าน) เมื่อรัฐบาลพรรคเพื่อไทยต้องการจะเปลี่ยนจากการไม่ต้องจ่ายเงิน 30 บาทในยุครัฐมนตรีมงคล ณ สงขลา (กลุ่มสามเหลี่ยมฯ) กลับมาเก็บเงินครั้งละ 30 บาทอีก ก็มีNGO รวมดัวกันเป็นกลุ่ม “คนรักหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ” ออกมาต่อต้านการกลับไปเก็บเงินครั้งละ 30 บาท จนทำให้รัฐมนตรีต้องยอมออกประกาศว่ายกเว้นไม่ต้องเก็บ 30 บาทในผู้ป่วย 21 ประเภท (ซึ่งประเภทสุดท้ายคือไม่อยากจ่ายเงิน) ทำให้โครงการกลับมาเก็บ 30 บาทอีกไม่ประสบความสำเร็จ เพราะรพ.คงไม่อยากมาเสียเวลาตรวจสอบว่าผู้ป่วยคนไหนอยู่ในข่ายต้องจ่ายเงินหรืออยากจ่ายเงินบ้าง)
4.การที่กล่าวว่าแพทย์ผู้ต่อต้านระบบ 30 บาทเป็นพวกติดกับระบบสงเคราะห์ก็ไม่จริง แพทย์ที่ออกมาต่อต้านนั้นเขาได้เห็นว่าสปสช.บังคับไม่ไห้แพทย์จ่ายยาที่เหมาะสมที่สุดในการรักษาผู้ป่วยให้ใช้ยาเฉพาะยาในบัญชียาหลักแห่งชาติเท่านั้น ซึ่งหลายโรคไม่อาจรักษาให้หายจากยาที่มีในบัญชียาหลักแห่งชาติ ทำให้ผู้ป่วยพลาดโอกาสที่จะหายจากโรค
5. การที่ผู้วิจัยบอกว่าผู้ที่ต่อต้านระบบ 30 บาท คือผู้สูญเสียผลประโยชน์จากการเคยได้กำไรสูง ได้แก่แพทย์ โรงพยาบาลและบริษัทยานั้นไม่เป็นความจริง กล่าวคือเป็นการกล่าวเท็จ ”ความเท็จ” ในรายงานการวิจัยนี้ ก็คือ การกล่าวหาว่า กลุ่มต่อต้านคือบริษัทยา โรงพยาบาลหรือแพทย์เป็นผู้เสียผลประโยชน์จากการที่สปสช.สร้างบัญชียาหลักแห่งชาติ และไปต่อรองและแทรกแซง.ราคายา รวมทั้งการทำ cl ยานั้น เป็นการกล่าวหาที่เป็นเท็จ ผู้ที่คัดค้านการซื้อยาของสปสช.นั้นคือแพทย์ผู้รักษาผู้ป่วยที่ได้ทราบว่ายาที่สปสช.จัดซื้อเองนั้น ทำให้ผู้ป่วยที่ได้รับยาทั้นมีผลลัพธ์การรักษาด้อยกว่าผู้ป่วยในระบบสวัสดิการข้าราชการ กล่าวคือการที่สปสช.บังคับให้แพทย์ใช้ยาแต่เพียงยาในบัญชียาหลักแห่งชาตินั้น ทำให้ผู้ป่วยในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ “พลาดโอกาสในการที่จะได้รับยาที่เหมาะสมที่สุดสำหรับรักษาอาการป่วยของตน”
ผู้ที่สูญเสียผลประโยชน์ตัวจริงส่วนหนึ่งได้แก่ผู้ป่วยที่ป่วยด้วยโรคร้ายแรงที่ไม่ได้รับยาที่เหมาะสมที่สุดในการรักษาความเจ็บป่วยของตน แต่ผู้ป่วยเหล่านี้ไม่รู้ความจริงว่ามียาที่ดีกว่าและเหมาะสมกว่าในการรักษาความเจ็บป่วยของตน มีแต่แพทย์ผู้รักษาเท่านั้นที่รู้ว่าไม่สามารถให้ยาที่ดีที่สุดหรือเหมาะสมที่สุดกับอาการป่วยของผู้ป่วยของตนได้ เนื่องจากข้อจำกัดจากระเบียบข้อบังคับในการจ่ายยาของสปสช. ซึ่งทำให้แพทย์ที่มีจริยธรรมหรือจรรยาบรรณทางการแพทย์รู้สึกเศร้าใจและเสียใจที่แพทย์เอง ไม่สามารถสั่งยาหรือการรักษาที่เหมาะสมกับผู้ป่วยได้ และรู้สึกอึดอัดคับข้องใจที่ต้องรักษาผู้ป่วยด้วยยาที่ไม่เหมาะสมขัดกับจริยธรรมทางการแพทย์ แต่ถ้าไม่ให้ยาเหล่านั้น ก็ต้องให้ผู้ป่วยออกเงินซื้อยาเอง ซึ่งผู้ป่วยที่ไม่เข้าใจก็จะกล่าวหาว่าแพทย์เรียกรับผลประโยชน์จากผู้ป่วย แพทย์จึงต้อง “จำใจ” จ่ายยาหรือเครื่องมือแพทย์ (เช่นเล็นส์แก้วตาเทียมชนิดคุณภาพต่ำที่สปสช.ไปเหมาซื้อมา” ใส่ให้แก่ผู้ป่วย) นอกจากนั้นผู้ป่วยโรคเรื้อรังและร้ายแรง เช่นมะเร็ง หัวใจขาดเลือด ความดันโลหิตสูง เบาหวานและโรคหลอดเลือดสมองตีบ ที่แพทย์ต้อง “จำใจ” จ่ายยาที่สปสช.ไปเหมาซื้อมาให้แก่ผู้ป่วยนั้น ทำให้ผู้ป่วยในระบบ 30 บาทมีอัตราตายสูงกว่าผู้ป่วย(ป่วยด้วยโรคเดียวกันกลุ่มอายุเดียวกัน)ในระบบสวัสดิการข้าราชการ(ที่ไม่ต้องใช้ยาที่สปสช.ไปเหมาซื้อมา) อย่างเห็นได้ชัดเจน
จึงเห็นได้ว่าแพทย์ผู้ออกมาต่อต้านระบบ 30 บาทมั้น ไม่ได้สูญเสีบยผลประโยชน์อะไร แต่ทนมองเห็นความเสียหายที่ผู้ป่วยได้รับจากการ “บังคับใช้ยาของสปสช.”ไม่ได้
การอ้างว่าสปสช.สามารถประหยัดในการซื้อยา ทำให้รพ.ไม่ได้เปอร์เซ็นต์จากการซื้อยาเองนั้น สำนักงานตรวจเงินแผ่นดินได้เคยวินิจฉัยแล้วว่า สปสช.ไม่มีอำนาจทตามกฎหมาย(หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ)ในการเอาเงินกองทุนหลักประกันสุขภาพไปซื้อยาเอง สปสช.มีหน้าที่ “จ่ายเงินค่าบริการสาธารณสุข” ให้แก่โรงพยาบาลหรือสถานพยาบาล และเมื่อสปสช.เอาเงินนี้ไปซื้อยาและได้เปอร์เซ็นต์ตอบแทน สปสช.ก็ “ต้อง”เอาค่าตอบแทนนี้ไปให้แก่โรงพยาบาล ไม่ใช่เก็บเอาไปใช้เอง เพราะเงินนี้เป็นเงินที่ต้องจ่ายให้โรงพยาบาล เปรียบเหมือนแม่(รัฐบาล) ให้เงินพี่เลี้ยง(สปสช.) ไว้ไปจ่ายให้แก่ลูก(โรงพยาบาล) แต่เมื่อพี่ลี้ยงเอาเงินนั้นไปซื้อยา(แทนลูกคือรพ.) เมื่อมีเงินทอน ก็ต้องเอามาคืนให้ลูก(คือรพ.) ไม่ใช่เม้มเอาไปใช้เองแบบที่สปสช.ทำมาแล้ว
6.การอ้างซ้ำอีกครั้งว่าสปสช.สามารถซื้อยาได้ในราคาถูกรวมทั้งไปทำ CL ยามานั้น สามารถประหยัดงบประมาณได้มาก แต่สปสช.ไปซื้อยาที่ทำ CL มาโดยให้องค์การเภสัชกรรมเป็นผู้ไปซื้อยา ที่บริษัทในอินเดียผลิตเป็นยาเลียนแบบ แต่องค์การเภสัชไม่ได้ตรวจสอบคุณภาพมาตรฐานสารเคมีในเม็ดยา ทำให้ได้รับยาที่ไม่มีคุณภาพมาตรฐาน เช่นยารักษาโรคเอดส์ ทำให้ผู้ป่วยที่ได้รับยาจากองค์การเภสัชไม่หายจากโรค ดื้อยา นอกจากนี้ ยาที่สปสช.ไปเหมาโหลซื้อมาในราคาถูกนั้น ก็เป็นยาใกล้กับวันหมดอายุ (Expire date) บางครั้งพบว่าเมื่อยามาถึงรพ.ก็หมดอายุก่อนที่จะได้จ่ายให้แก่ผู้ป่วย (ข้อมูลนี้ได้มาโดยตรงจากหัวหน้าห้องยาในรพ.รัฐขนาดใหญ่แห่งหนึ่งในกทม.นี่เอง) การประหยัดเงินแต่ได้ยาที่ไม่มีคุณภาพนั้น ถ้าเอามาใช้กับบุคลากรหรือญาติพีน้องของสปสช.จะยินยอมหรือไม่?
นอกจากนั้นการอ้างว่าการเป็นกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาตินั้นได้ทั้งเงินและอำนาจ จนกลุ่มคนที่ต่อต้าน 30บาท ก็พยายามที่จะเข้าไปเป็นกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาตินั้น ก็เป็นความจริงที่สุด ที่พวก “สามเหลี่ยมเขยื้อนภูเขา” ย่อมเห็นประจักษ์ด้วยตนเอง ในการที่กลุ่มตน “ยึดอำนาจในระบบสาธารณสุขและหลักประกันสุขภาพมาได้อย่างยาวนาน” ได้ทั้งเงินตามที่สมควรได้ (เงินเดือน เงินประจำตำแหน่ง เบี้ยประชุม) และได้ทั้งเงินที่ไม่ถูกกฎหมาย (เลขาธิการแจกเงินให้แก่มูลนิธิต่างๆ องค์กรที่ไม่ใช่หน่วยบริการ)และได้ค่าตอบแทนจากการซื้อยา ให้ผลประโยชน์ที่ไม่ถูกกฎหมายแก่พวกพ้อง และอาจจะมีปัญหาการแบ่งผลประโยชน์จากการซื้อน้ำยาล้างไตอีกมากมายมหาศาล
และได้อำนาจในการ”สั่งการหรือออกระเบียบข้อบังคับ “ ให้โรงพยาบาลหรือกระทรวงสาธารณสุข “ต้องทำตาม (ทั้งๆที่ไม่ถูกกฎหมาย) ทั้งนี้เพราะสปสช.ใช้ “เงิน” เป็นอำนาจ(นอกระบบ)ในการบังคับให้กระทรวงสาธารณสุขและโรงพยาบาลต้องทำตาม ดังที่เห็นชัดอยู่แล้ว
ส่วนการอ้างว่า กลุ่มที่คัดค้านหรือต่อต้านการทำงานของสปสช.นั้น มีความพยายามที่จะเข้าไปเป็นกรรมการ(บอร์ด)ของสปสช.เพื่อต้องการอำนาจและผลประโยชน์นั้น ก็เป็นการอ้างที่เป็นความจริงว่า คนกลุ่มอื่นที่ไม่ใช่กลุ่มนพ.ประเวศ วะสี พยายามที่จะเข้าไปเป็นกรรมการหรือเลขาธิการสปสช.แต่ไม่ใช่ต้องการเงินและอำนาจ แต่ต้องการเข้าไปเพื่อแก้ปัญหาการบริหารจัดการที่ไม่เหมาะสมต่างๆของสปสช.ดังกล่าวแล้ว และที่ยังไม่ได้กล่าวอีกมากนั้น แต่กลุ่มสามเหลี่ยมเขยื้อนภูเขาของของนพ.ประเวศ วะสีนั้นสามารถยึดกุมอำนาจในการบริหารองค์กร 30 บาทเป็นเสียงข้างมากได้ตลอดมา กล่าวคือ เลขาธิการคนแรก ก็คือแกนนำชมรมแพทย์ชนบท เลขาธิการคนทั้ 2 ก็คือผู้ที่เป็นรองเลขาธิการในสมัยแรก และได้ดำรงตำแหน่งต่อมาจนเกือบครบสมัยที่สอง และถูกคำสั่งมาตรา 44 ให้ย้ายออกไปก่อนเพื่อดำเนินการสอบสวน
ส่วนกรรมการบอร์ดองค์กรทั้ง 4 คือสวรส. สสส. สปสช. สช.นั้น ก็จะพบว่ากลุ่มสามเหลี่ยมเขยื้อนภูเขาและเครือข่ายภาคประชาสังคมของเขา ต่างก็ผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนกันมาเป็นกรรมการและอนุกรรมการหลายคน ได้แก่ นพ.ประเวศ วะสี เป็นกรรมการบอร์ดสวรส.ตั้งแต่พ.ศ. 2535-2555 (20 ปี เป็นเข้าไปได้ไง?) และเป็นที่ปรึกษาของสสส.ตั้งแต่ปี 2544-2549 และเป็นประธานมูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติตั้งแต่พ.ศ. 2534-ปัจจุบัน และมูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาตินี้ รับเงินจากสปสช.หลายครั้งต่างกรรมต่างวาระกันเป็นจำนวนเงินกี่ร้อยกี่พันล้านบาท ยังไม่มีผลการตรวจสอบจากผู้ที่มีอำนาจในการตรวจสอบการใช้เงินของสปสช.
นพ.สุวิทย์ วิบุลผลประเสริฐ เป็นกรรมการมูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในบอร์ดสวรส. สสส. สปสช.เป็นกรรมการ HITAP IHPP และกรรมการองค์การเภสัชกรรมและเป็นประธานอนุกรรมการกำกับนโยบายการวิจัยของสวรส. ในขณะเดียวกันนพ.สุวิทย์ วิบุลผลประเสริฐ ก็รับเงินจากสวรส. สสส. สปสช. เป็นจำนวนเงินอีกกี่ร้อยกี่พันล้านบาท ยังไม่มีผลการตรวจสอบ
นพ.สมศักดิ์ ชุณหรัศมิ์ เป็นเลขาธิการมูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติตั้งแต่พ.ศ. 2543-ปัจจุบัน เป็นผู้อำนวยการสวรส.คนแรกติดต่อกัน 2 วาระ เป็นอดีตกรรมการชมรมแพทย์ชนบท เป็นกรรมการ HITAPพ.ศ. 2550-2558 เป็นเลขานุการมส.ผส. (2550-ปัจจุบัน) เป็นผู้จัดการเครือข่ายวิจัยของสกว. ตั้งแต่พ.ศ. 2542-2551 นพ.สมศักดิ์ ชุณหรัศมิ์รับเงินจากหลายองค์กรไม่ว่าจะเป็นสสส. สวรส. สปสช.ทั้งในนามเลขาธิการมสช. และในนามส่วนตัว ยังไม่มีผลการตรวจสอบ
นพ.วิชัย โชควิวัฒน เป็นอดีตกรรมการชมรมแพทย์ชนบท เป็นกรรมการมูลนิธิแพทย์ชนบท ปัจจุบันประธานมูลนิธิแพทย์ชนบท เป็นกรรมการสสส.ตั้งแต่ปีปี 2547-2552 เป็นกรรมการสปสช.ตั้งแต่2550-ปัจจุบัน เป็นกรรมการสช.ตั้งแต่พ.ศ.2550-ปัจจุบัน เป็นประธานบอร์ดองค์การเภสัชกรรมตั้งแต่พ.ศ.2549-2555 และเป็นกรรมการองค์กรเอกชนผู้สูงอายุ โดยมูลนิธิแพทย์ชนบทรับเงินจากสปสช.ส่วนตัวนพ.วิชัย โชควิวัฒน์ก็รับเงินจาก สสส. สวรส.ผ่านโครงการต่างๆอีกมากมาย ยังไม่มีผลการตรวจสอบ
นพ.อำพล จินดาวัฒนะ เป็นอดีตเลขานุการมูลนิธิแพทย์ชนบท เป็นเลขาธิการสช. ตั้งแต่ปีพ.ศ. 2550-ปัจจุบัน เป็นกรรมการมูลนิธิ HITAP ตั้งแต่ปีพ.ศ. 2550-ปัจจุบัน รับเงินจากสสส.มากแค่ไหน ยังไม่มีผลการตรวจสอบ
นพ.ประทีป ธนกิจเจริญ เป็นรองเลขาธิการสปสช.มาตลอดตั้งแต่เริ่มต้น ปัจจุบันทำหน้าที่รักษาการแทนเลขาธิการสปสช. เป็นผู้เซ็นสัญญาในนามเลขาธิการสปสช.จ่ายเงินให้แก่มูลนิธิต่างๆหลากหลายมูลนิธิ ฯลฯ
นอกจากนั้นยังมีการจ่ายเงินจากองค์กรต่างๆ ทั้งจากสสส. สวรส. สปสช.สช.ให้แก่โครงการต่างๆมากมาย เช่น
1.ให้แก่โครงการเครือข่ายพัฒนาศักยภาพผู้นำ ที่มีนพ.ประเวศ วะสี เป็นหัวหน้าโครงการมีนพ.วิจารณ์ พานิช นพ. วิชัย โชควิวัฒน์ นพ.สุวิทย์ วิบุลผลประเสริฐ นพ.ศิริวัฒน์ ทิพย์ธราดล เป็นกรรการ
2.ให้แก่สมัชชาปฏิรูปประเทศในยุคนายอภิสิทธ์ เวชชาชีวะ
3.ให้แก่โครงการรางวัลเจ้าฟ้ามหิดล
4.ให้โครงการวิจัยต่างๆที่มีบุคคลรับเงินไปเป็นจำนวนคนละหลายร้อยหลายพันล้านบาท เช่นนพ.วิโรจน์ ตั้งเจริญเสถียร นพ.โกมาตร จึงเสถียรทรัพย์ นพ.สุชาติ สรณสถาพรทพญ.สาวิตรี เมาฬีกุลไพโรจน์ พญ.วัชรา ริ้วไพบูลย์ นพ.บัณฑิต ศรไพศาล นพ.พินิจ ฟ้าอำนวยผล ดร.เดชรัต สุขกำเนิด น.ส.ปาจรีย์ ธนะสมบูรณ์กิจ ภก.สรชัย จเนียรดำรงการ นพ.ฑิณกร โนรี นายโคทม อารียา พ.สุพัตรา ศรีวณิชชากร นพ.สุธีร์ รัตนมงคลกุลนพ.สัมฤทธิ์ ศรีธำรงสวัสดิ์ นพ.ยศ ตีระวัฒนานนท์ นพ.วิชัย เอกพลากร ดร.ชื่นฤทัย กาญจนจิตรานพ.ปรีดา แต้อารักษ์ ทญ.โสภิดา ชวนิชกุลนพ.วันชัย วนะชิวนาวิน นพ.อนุวัฒน์ ศุภชุติกุล นพ.ยุทธพงศ์ บุญใจ นพ.ประทีป ธนกิจเจริญ นส.กรรณิการ์ กิจติเวชกุล
ไม่ทราบว่ามีผลงานวิจัยจากบุคคลเหล่านี้ เพื่อมาต่อยอดให้เป็นประโยชน์แก่ประเทศชาติหรือไม่ อย่างไร?
อนึ่ง การที่เลขาธิการสปสช.ดำเนินการใดๆไม่ว่าเกี่ยวข้องกับการเงินหรือไม่ก็ตาม ล้วนเป็นการกระทำภายใต้ความรับผิดชอบของคณะกรรมการ(บอร์ด)หลักประกันสุขภาพทั้งสิ้น ถ้าคณะกรรมการบอร์ดไม่ได้ทักท้วงหรือยับยั้งต่อการกระทำหรือการบริหารที่ไม่ถูกกฎหมายหรือธรรมาภิบาลของเลขาธิการสปสช. คณะกรรมการบอร์ดก็ไม่พ้นความรับผิดชอบอย่างแน่นอน
ซึ่งการโยงใยเครือข่ายผลประโยชน์กลุ่มสามเหลี่ยเขยื้อนภูเขา ที่นำเงินจากองค์กรส.ต่างๆเหล่านี้ไปเพื่อผลประโยชน์ของกลุ่มหรือองค์กรเอกชนต่างๆ แทนที่จะได้ใช้เงินตามวัตถุประสงค์อันแท้จริงของการจัดตั้งกองทุนสวรส. สสส. สปสช. สช.และส.อื่นๆ นี้ ขอร้องเรียนมายังพลเอกปรยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้าคสช. โปรดพิจารณาดำเนินการตรวจสอบและยุติการกระทำที่ผิดกฎหมายโดยด่วน ตามปณิธานของหัวหน้าคสช.ที่ได้ประกาศเป็นสัญญาประชาคมว่า จะปราบปรามการทุจริตคอรัปชันให้สิ้นไปจากแผ่นดินไทย

พญ.เชิดชู อริยศรีวัฒนา
กรรมการแพทยสภา
ที่ปรึกษาสำนักกฎหมายการแพทย์ กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข
ที่ปรึกษากิติมศักด์ กรรมาธิการสาธารณสุข สนช.
2 ต.ค. 58