ผู้เขียน หัวข้อ: มองอนาคตมาตรฐานการแพทย์ไทยด้วยความห่วงใย การบริหารการเงินกองทุนหลักประกันสุขภาพ  (อ่าน 627 ครั้ง)

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9787
    • ดูรายละเอียด
 ภาระการเงินของประเทศในด้านการแพทย์และสาธารณสุขภายหลังจากมีระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ
       
       จะเห็นได้ว่าหลังจากที่ได้เริ่มระบบหลักประกันสุขภาพในปี พ.ศ. 2545 มาถึงปัจจุบันเป็นปีที่ 14 งบประมาณกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (ไม่รวมงบบุคลากร) เพิ่มขึ้นจาก 27,612 ล้านบาท ไปเป็น 114,964 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 416 % และได้ใช้งบประมาณแผ่นดินไปแล้ว 1,049,446 ล้านบาท ในขณะที่ใช้งบบริหารสำนักงานไป 15,065 ล้านบาท


รูปที่ 1งบประมาณกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติและงบบริหารสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.)
 
       งบประมาณขาขึ้นที่ สปสช.ขอไปยังสำนักงบประมาณและงบประมาณขาลงที่ สปสช.จัดสรรให้แก่ “สถานบริการ” นั้นไม่ตรงกัน กล่าวคือในเวลาที่ สปสช.จะเขียนคำของบประมาณไปยังสำนักงบประมาณนั้น สปสช.คำนวณจากต้นทุนของหน่วยบริการ (เพื่อให้ดูน่าเชื่อถือสมเหตุสมผล) ทั้งนี้การคำนวณต้นทุนของหน่วยบริการและการทำคำของบประมาณนั้น ดำเนินการโดยคณะอนุกรรมการพัฒนาการเงินการคลัง สปสช. แล้วเสนอไปยังคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ และเสนอไปยังสำนักงบประมาณและรัฐบาลเพื่อขออนุมัติ
       
       เมื่อได้รับอนุมัติงบประมาณมาแล้ว คณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติจะออกประกาศและออกคู่มือให้แก่หน่วยบริการว่าจะจัดสรรงบประมาณเหมาจ่ายรายหัวอย่างไรและสถานบริการจะเบิกเงินอย่างไร และระเบียบที่ สปสช.ประกาศและคู่มือให้หน่วยบริการนี้ สปสช.จะเปลี่ยนแปลงทุกปี ซึ่งทำให้หน่วยบริการสับสนในวิธีการ ทำให้เจ้าหน้าที่การเงินของโรงพยาบาลมีปัญหาในการเบิกจ่ายเนื่องจากระเบียบเปลี่ยนไปทุกปี
       
       ปัญหาสำคัญก็คือ ถ้าเจ้าหน้าที่การเงินทำการบันทึกรายละเอียดของข้อมูลผู้ป่วยไม่ครบถ้วนตามคู่มือของ สปสช. สปสช.ก็จะจ่ายเงินไม่เท่ากับค่าใช้จ่ายจริงของโรงพยาบาล นี่จึงเป็นที่มาของคำกล่าวที่ว่า คีย์(ลงบันทึก)ข้อมูลแลกเงิน ซึ่งเป็นการเพิ่มภาระงานให้แก่โรงพยาบาลโดยไม่จำเป็น และเป็นวิธีการที่ สปสช.นำมาใช้เพื่อที่จะไม่ “จ่ายเงินให้แก่หน่วยบริการตามที่เป็นจริง” เนื่องจากรายละเอียดของข้อมูลนั้น เป็นการเพิ่มภาระงานให้แก่หน่วยบริการมากเกินความจำเป็น


รูปที่ 2 การจัดทำคำของบประมาณกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ และการจัดสรรกองทุนให้แก่หน่วยบริการ
 
       ในขณะเดียวกัน ตามพ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2545 มาตรา 38 กำหนดไว้ว่าให้จัดตั้งกองทุนหนึ่งในสปสช.เรียกว่า “กองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ” มีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นค่าใช้จ่าย สนับสนุน และส่งเสริมการจัดบริการของหน่วยบริการ”และมาตรา 3 วรรค 3 กำหนดไว้ว่า “หน่วยบริการ” หมายความว่า สถานบริการที่ได้ขึ้นทะเบียนไว้ตามพระราชบัญญัตินี้
       
       แต่การณ์ปรากฏว่าสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ได้เอาเงินกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ไปจ่ายให้แก่หน่วยงานอื่นที่ไม่ใช่ “หน่วยบริการ” (ตามรูปที่ 2) ตามความหมายในพระราชบัญญัติหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เช่น มูลนิธิต่างๆ สมาคม องค์กร และสถาบันต่างๆ “ที่ไม่ใช่หน่วยบริการ” ตามที่บัญญัติไว้ใน พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2545 ทำให้หน่วยบริการของรัฐที่ต้องรับรักษาผู้ป่วยที่มี “สิทธิ์ในการรับบริการสาธารณสุข” ที่กำหนดไว้ตามมาตรา 5 แห่ง พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติพ.ศ. 2545
       
       จึงเห็นได้ว่า งบประมาณขาขึ้นที่ สปสช. ขอไป กับงบประมาณขาลงที่ สปสช.จัดสรรให้แก่หน่วยบริการต่างๆ นั้นไม่เท่ากับเหตุผลที่อธิบายประกอบการจัดทำงบประมาณตามรูปที่ 3
       
       จึงสามารถสรุปได้ว่า สปสช.โดยคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติสุ่มเสี่ยงที่จะทำผิดกฎหมายหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ และการทำผิดกฎหมายนี้ ไม่ใช่ความประมาทเลินเล่อแต่เป็นการจงใจทำเพื่ออะไร?


        ตั้งข้อสังเกตว่าเงินกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติที่ สปสช.จัดสรรให้แก่หน่วยงานอื่นที่ไม่ใช่ “หน่วยบริการ” นั้น สปสช.ส่งให้หน่วยงานใดบ้าง พบว่ามีหน่วยงานที่สปสช.ส่งเงินกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (ที่ต้องใช้ในการรักษาความเจ็บป่วย”ของประชาชนที่มีสิทธิ์ในระบบ 30 บาท นั้นไปให้องค์กรหรือมูลนิธิที่มีผู้บริหารหรือกรรมการเป็นคนที่มี “ตำแหน่งเป็นกรรมการหรืออนุกรรมการ(บอร์ด)หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ
       
       การนำเงินกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติไปแจกให้หน่วยงานที่ไม่ใช่หน่วยบริการ เกิดจากการมีผลประโยชน์ทับซ้อน แต่ทำให้โรงพยาบาลไม่ได้รับงบประมาณในการรักษาผู้ป่วยเต็ม 100%


รูปที่ 4 จากรายงานของกรมสอบสวนคดีพิเศษ

        พบว่า สปสช.นำเอาเงินกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติไปจัดซื้อยาและเวชภัณฑ์เอง ซึ่งส่วนมากซื้อจากองค์การเภสัชกรรม โดยส่วนมากยาหรือเวชภัณฑ์นั้น ไม่ใช่ยาหรือเวชภัณฑ์ที่องค์การเภสัชผลิตขึ้นเอง แต่องค์การเภสัชไป “ซื้อ” มาจากผู้ผลิตอื่น (ทั้งจากต่างประเทศหรือจากในประเทศอีกต่อหนึ่ง) โดยการกระทำเช่นนี้จึงอาจเปรียบได้ว่า องค์การเภสัชกรรมเป็น “โบรกเกอร์” ของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติอีกต่อหนึ่ง และองค์การเภสัชกรรมก็ต้องได้ผลประโยชน์จากการนำงบประมาณกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ
       
       ฉะนั้นเพื่อการมีผลประโยชน์ต่างตอบแทน จึงเห็นได้ว่าองค์การเภสัชกรรมได้จ่ายเงินกลับคืนให้แก่ สปสช.ในช่วงปีพ.ศ. 2553-2556 เป็นจำนวนถึง 231.65 ล้านบาท (ตามรูปที่ 4)
       
       รายงานของกรมสอบสวนพิเศษระบุว่า การใช้เงินดังกล่าวของ สปสช. น่าจะเป็นการดำเนินการที่ไม่ถูกต้องและใช้จ่ายไม่เหมาะสม เนื่องจากการจัดซื้อยาและเวชภัณฑ์ของ สปสช. เป็นเงินกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติหรือเงินเหมาจ่ายรายหัวของประชาชน 48 ล้านคน ซึ่งเป็นเงินงบประมาณแผ่นดิน ที่จะต้องจ่ายให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ และ สปสช. ก็ไม่ใช่หน่วยบริการและเครือข่ายหน่วยบริการที่ให้บริการสาธารณสุขกับ ประชาชน (เป็นเพียงตัวแทนผู้ซื้อบริการแทนประชาชน 48 ล้านคน) แต่ สปสช. ได้นำเงินดังกล่าวไปเป็นค่าใช้จ่ายในกองทุนสวัสดิการสำนักงาน ทั้งๆ ที่ พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ กำหนดให้คณะกรรมการเสนอขอรับเงินงบประมาณรายจ่ายประจำปีต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อ เป็นค่าใช้จ่ายในการบริหารงานของสำนักงานอยู่แล้ว (เงินค่าบริหาร ได้ 1% ของเงินงบประมาณเหมาจ่ายรายหัว อาทิ ปี 2558 จำนวน 114,963.64 ล้านบาท เป็นเงินค่าบริหารของสำนักงาน สปสช. 1,149.63 ล้านบาท)
       
       อีกประการหนึ่งคือ สปสช. ได้นำเงินส่วนดังกล่าวไปใช้อย่างไม่เหมาะสม เช่น โครงการจัดหารถยนต์เพื่อสนับสนุนภารกิจสร้างหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ, โครงการศึกษาดูงานและแลกเปลี่ยนประสบการณ์ ประเทศออสเตรเลีย เป็นต้น (ดูรายละเอียดเพิ่มเติมว่าเงินส่วนลดแต่ละปี สปสช. ใช้ทำอะไรบ้าง ปี 2553, ปี 2554, ปี 2555 และปี 2556)
       
       อย่างไรก็ตาม ทางกรมสอบสวนคดีพิเศษได้เสนอว่า เงินจำนวน 75 ล้านบาท ที่เป็นเงินส่วนลดจากองค์การเภสัชกรรมนั้น สปสช. ต้องคืนให้กองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (เงินเหมาจ่ายรายหัวของประชาชน)
       
       ความเกี่ยวข้องระหว่างบอร์ดองค์การเภสัชกรรมกับบอร์ดหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ
       
       ถ้ามาพิจารณาถึงความเกี่ยวข้องระหว่างองค์การเภสัชกรรมกับสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ จะพบว่ากรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติคนหนึ่งคือ นพ.วิชัย โชควิวัฒน ยังมีตำแหน่งเป็นประธานอนุกรรมการประสานยุทธศาสตร์ของ สปสช.และมีตำแหน่งเป็นประธานบอร์ดองค์การเภสัชกรรมอีกด้วย
       
       เมื่อมาดูตำแหน่งหน้าที่ของคณะอนุกรรมการประสานยุทธศาสตร์แล้วพบว่ามีหน้าที่สำคัญข้อหนึ่งคือ “พัฒนาและจัดทำข้อเสนอในภาพรวมของการพัฒนายุทธศาสตร์ของระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ” และข้อสองคือ “ประสานยุทธศาสตร์ที่กำหนดขึ้นโดยคณะกรรมการชุดต่างๆให้เป็นไปตามทิศทางที่สอดคล้องกัน เพื่อนำเสนอให้คณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติพิจารณาให้ความเห็นชอบ”
       
       จึงเห็นได้ว่า นพ.วิชัย โชควิวัฒน เป็นผู้มีความสำคัญในการ “ขับเคลื่อนยุทธศาสตร์” ในการดำเนินงานของคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติและ สปสช.
       
       จึงไม่ต้องสงสัยเลยว่า ทั้งองค์การเภสัชกรรมและ สปสช. ต่างดำเนินการโดยสุ่มเสี่ยงที่จะเอาเงินงบประมาณกองทุนหลักประกันสุขภาพห่งชาติไปแสวงหาผลประโยชน์โดยมิชอบ ซึ่งทั้งสำนักงานตรวจเงินแผ่นดินและกรมสอบสวนคดีพิเศษ ได้สรุปความเห็นแล้วว่า ทั้ง สปสช.และองค์การเภสัชกรรม ไม่มีหน้าที่ที่จะทำเช่นนั้นได้
       
       สปสช.แจกเงินให้มูลนิธิและองค์กรที่ไม่ใช่หน่วยบริการ
       
       นอกจากสปสช.จะนำเงินกองทุนไปจัดซื้อยาและเวชภัณฑ์เองโดยไม่ถูกต้องดังกล่าวแล้ว สปสช.ยังนำเงินกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ไปจัดสรรให้แก่มูลนิธิต่างๆ ที่ไม่ใช่หน่วยบริการตามความหมายใน พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2545 ซึ่งมูลนิธิเหล่านั้นยังมีความเกี่ยวเนื่องกับบุคคลต่างๆ ที่เป็นกรรมการหรืออนุกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เช่น มูลนิธิแพทย์ชนบท มูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ และอีกหลายๆมูลนิธิ [2] และให้แก่องค์กรอื่นๆ ถึง 51 หน่วยงานและเมื่อสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน(สตง.) ได้ตรวจสอบทักท้วงแล้ว สปสช. ก็ออกระเบียบย้อนหลัง
       
       สัญญาระหว่างสปสช.และมูลนิธิไม่ถูกระเบียบราชการ
       
       อนึ่ง นอกจากความผิดที่ สปสช. นำเงินกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ไปแจกจ่ายให้หน่วยงานอื่นที่มิใช่สถานบริการแล้ว ยังมีผู้เปิดเผยสัญญาที่ สปสช.ทำกับมูลนิธิต่างๆ ในการรับเงินจาก สปสช.ไปดำเนินการตามโครงการต่างๆ นั้น มิได้มีรายละเอียดของโครงการ ให้มีการยกเว้นการวางหลักประกันเพื่อเป็นการประกันการปฏิบัติตามสัญญาและเป็นหลักประกันความเสียหาทั้งปวงตามสัญญานี้ เป็นการปฏิบัติที่ผิดระเบียบของทางราชการในการจัดซื้อจัดจ้าง ทั้งสิ้น และไม่มีรายงานผลการปฏิบัติงานหรือการประเมินผลว่ามูลนิธิหรือองค์กรต่างๆ นั้น ได้ใช้เงินของมูลนิธิอย่างคุ้มค่าหรือมีผลผลิตที่เกิดประโยชน์แก่ประเทศชาติอย่างไรบ้าง
       
       มูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติและ สปสช.
       
       มีการรวบรวมจำนวนเงินที่มูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ ที่มีประธานมูลนิธิชื่อ นพ.ประเวศ วะสี และเลขาธิการมูลนิธิชื่อ นพ.สมศักดิ์ ชุณหรัศมิ์ ได้ทำสัญญารับเงินจากสปสช.เป็นจำนวนเงิน 14,829,085 บาท (สิบสี่ล้านแปดแสนสองหมื่นเก้าพันแปดสิบห้าบาท) โดยนพ.สมศักดิ์ ชุณหรัศมิ์ เลขาธิการมูลนิธิ เป็นผู้ลงนามเซ็นสัญญากับเลขาธิการสปสช.
       
       อาจจะยังมีรายการอื่นอีกที่ สปสช.แจกให้แก่มูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ แต่ประชาชนที่ติดตามเรื่องนี้ยังไม่สามารถสืบค้นพบเจอได้ จึงน่าจะถือว่านี่เป็นเพียงตัวอย่างเล็กน้อย เป็นต้นทางที่ผู้มีหน้าที่ตรวจสอบและแก้ไขปัญหาการทุจริตคอรัปชันภาครัฐจะต้องติดตามตรวจสอบนำงันกลับคืนมาให้เป็นเงินสำหรับรักษาความเจ็บป่วยของประชาชนให้ถูกต้อง


รูปที่ 5 ข้อมูลการรับเงินจาก สปสช.ของเลขาธิการมูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ

        ผลกระทบจากการบริหารที่อาจไม่สุจริตและอาจผิดกฎหมายของสปสช.
       
       นพ.สุทัศน์ ศรีวิไล ผู้อำนวยการโรงพยาบาลเชียงรายประชานุเคราะห์ และประธานชมรมโรงพยาบาลศูฯย์/โรงพยาบาลทั่วไป [3] กล่าวว่า “ความจริงที่ทุกคนรับรู้คือ เงินเหมาจ่ายรายหัว 2,895 บาท ถึงหน่วยบริการโดยเฉลี่ยไม่ถึง 60% บางพื้นที่ได้เพียงหลักร้อยบาทต่อหัวประชากร ซึ่งสะท้อนการจัดสรรงบที่ไม่มีประสิทธิภาพ รวมถึงการบริหารงบที่ไม่ชอบด้วย พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพฯ พอมีปัญหาในการบริหารจัดการขึ้นมา โดยหน่วยบริการเกิดปัญหาขาดสภาพคล่องทางการเงินกว่า 400 แห่ง และที่เกิดวิกฤติเรื้อรังจนยากจะฟื้นฟูสภาพ 105 แห่ง ซึ่งเกิดจากปัจจัยหลักๆ คือการได้รับงบน้อย เนื่องจากประชากรน้อย การบริหารภายใต้งบจำกัดก็จะส่งผลกระทบกับประชาชน ซึ่งเราไม่อยากให้เกิดกับประชาชน เพราะประชาชนต้องได้รับการดูแลที่ดีที่สุด เราก็มีข้อเสนอเพื่อมีการปรับปรุง ปรับเปลี่ยน ขบวนการจัดสรร กระบวนการบริหาร จัดการในเรื่องการเงินการคลัง เป็นเงินของรัฐบาล (เงินงบประมาณ) ที่ สปสช. นำมาบริหาร โดยเราเป็นโรงพยาบาลผู้ให้บริการ ดังนั้น ถ้าเมื่อไหร่ที่การบริหารจัดการมีปัญหา คงต้องมาคุยกัน มาหาทางแก้ไขให้ดีขึ้น เพื่อประชาชนจะได้รับบริการที่ดีขึ้น”


รูปที่ 6 ภาระงานของบุคลากรในรพ.กระทรวงสาธารณสุข

        ทวงสัญญาคืนความสุขให้ประชาชนจาก คสช. ครม. และนายกรัฐมนตรี
       
       ถามหาความรับผิดชอบของรัฐบาลในการตรวจสอบแก้ไขและปราบคอรัปชั่น เพื่อคืนความสุขและสุขภาพดีให้แก่พี่น้องประชาชนไทย
       
       ขอฝากคำถามนี้ไปถึง พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้าคสช. นายกรัฐมนตรี และประธานกรรมการปราบทุจริตของประเทศไทยว่า ถึงเวลาที่ท่านคนเดียวที่สวมหมวกทุกใบในการบริหารประเทศจะหันมาแก้ปัญหาในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติที่เป็นอุปสรรคต่อการจัดบริการสาธารณะด้านสาธารณสุขของข้าราชการและบุคลากรกระทรวงสาธารณสุขหรือยัง? รีบมาแก้ไขปัญหาให้โรงพยาบาลได้รับงบประมาณในการดูแลรักษาสุขภาพประชาชนได้ตามมาตรฐาน ไม่ใช่รับฟังแต่รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายสังคม ที่รายงานท่านว่า เรื่องสาธารณสุขเรื่องเล็ก เขาจะดูแลแก้ไขเอง
       
       แต่ความจริงที่เกิดขึ้นก็คือ โรงพยาบาลที่เป็นหน่วยบริการตามพ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ได้รับเงินเพียง 60% ของงบประมาณเหมาจ่ายรายหัวที่รัฐบาลจัดสรรมาสำหรับประชาชน 48 ล้านคน แต่ สปสช.นำเงินนี้ไปแจกจ่ายแก่หน่วยงานอื่นแทนที่จะจัดสรรให้แก่โรงพยาบาลดังกล่าวแล้ว ส่งผลให้โรงพยาบาลขาดเงินทำงาน ผู้ป่วยไม่รับยาตามมาตรฐาน ทำให้ผู้ป่วยได้รับความเสียหาย เกิดความทุกข์ทั้งข้าราชการ บุคลากรที่ทำงานดูแลรักษาและให้บริการประชาชน
       
       บุคลากรทำงานหนัก ค่าตอบแทนการทำงานเหมือนข้าราชการทั่วไป แต่มีภาระที่ต้องรับผิดชอบอาการเจ็บป่วยของผู้ป่วยตลอดเวลา ในขณะเดียวกัน ก็ถูกกำหนดบังคับให้จ่ายยาหรือใช้อุปกรณ์การแพทย์ที่ไม่เหมาะสมในการรักษาความเจ็บป่วยของประชาชน ต้องสู้รบตบตีกับ สปสช. เพื่อร้องขอให้ได้รับงบประมาณที่รัฐบาลจัดสรรมาแล้วให้เต็มตามจำนวนที่จำเป็นต้องใช้กับผู้ป่วย และเศร้าใจที่มองเห็นหายนะของระบบบริการสาธารณสุขที่กำลังดิ่งเหวจากการที่ สปสช. ดำเนินการสุ่มเสี่ยงที่จะผิดกฎหมาย ผิดคุณธรรม ไม่มีธรรมาภิบาล

มองอนาคตมาตรฐานการแพทย์ไทยด้วยความห่วงใย การบริหารการเงินกองทุนหลักประกันสุขภาพที่ไม่มีประสิทธิภาพ และไม่มีประสิทธิผลเป็นอันตรายต่อประชาชนและการเงินการคลังของประเทศ
รูปที่ 7 ความเชื่อมโยงระหว่างกรรมการบอร์ดหลักประกันสุขภาพแห่งชาติกับผลประโยชน์จากงบประมาณแผ่นดิน
        ถามหาความรับผิดชอบของรัฐบาลในการตรวจสอบแก้ไขและปราบคอรัปชั่น เพื่อคืนความสุขและสุขภาพดีให้แก่พี่น้องประชาชนไทย
       
       ถามหาความรับผิดชอบของหน่วยงานที่มีหน้าที่ประเมินความคุ้มค่าและมีประสิทธิภาพในการใช้จ่ายเงินงบประมาณกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติในรอบ 13 ปี เพื่อตรวจสอบและทวงคืนเงินกองทุนมาให้ผู้ป่วยในระบบ 30 บาท
       
       เอกสารอ้างอิง :
       1.http://thaipublica.org/2015/03/public-health-services-57/
       เปิด รายงานดีเอสไอระบุ สปสช. ไม่มีหน้าที่ซื้อยา-เวชภัณฑ์ แถมเอาเงินส่วนลดจากองค์การเภสัชไปใช้เอง เที่ยวต่างประเทศ ซื้อรถตู้ ให้เงินทำวิจัย – 4 ปี ได้เงินไปกว่า 240 ล้านบาท
       2.http://thaipublica.org/2015/01/public-health-services-53/
       บอร์ด สปสช.ใช้เงินเหมาจ่ายรายหัวของประชาชนผิดประเภท ผลประโยชน์ทับซ้อน สวมหมวกหลายใบ “นพ.วิชัย – นพ.ณรงค์ศักดิ์-นิมิตร์-สุนทรี” รับเงินจากสปสช. เข้าข่ายผิดพ.ร.บ.กองทุนหลักประกัน- กฏหมายป.ป.ช.มาตรา100
       3.http://thaipublica.org/2015/01/sutas-sriwilai/
       นพ.สุทัศน์ ศรีวิไล ประธานชมรม รพศ./รพท. ตั้งคำถาม “อนาคตระบบสาธารณสุขไทย” ต่ออาการกัดกร่อนผู้ให้บริการสุขภาพ – ทวงข้อเสนอแก้ปัญหาเรื้อรัง 12 ปีจาก สปสช.

19 พฤษภาคม 2558 15:56 น.
       
พญ.เชิดชู อริยศรีวัฒนา
       ที่ปรึกษากิตติมศักดิ์ กรรมาธิการสาธารณสุข สภานิติบัญญัติแห่งชาติ

http://manager.co.th/Daily/ViewNews.aspx?NewsID=9580000056962