ผู้เขียน หัวข้อ: ตั้งท้อง แล้ว ให้ออก มุมมืด สิทธิแรงงานไทย  (อ่าน 740 ครั้ง)

seeat

  • Sr. Member
  • ****
  • กระทู้: 470
    • ดูรายละเอียด
 “..ตั้งแต่ 30 ต.ค. 2557-31 ธ.ค. 2558 เจ้าหน้าที่ผู้หญิงทุกท่านให้กินยาคุมกำเนิด (ห้ามท้อง) ถ้าท้องให้ลาออกไปเลย..”!!!

กลายเป็นกระแสวิพากษ์วิจารณ์
ขึ้นมาทันที กับป้ายประกาศที่มีข้อความดังกล่าว ที่ในเวลาต่อมาได้รับการเปิดเผยว่าเป็นป้ายที่ติดในโรงพยาบาลรัฐชื่อดังย่านอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ โดยที่มาที่ไปเกิดขึ้นที่แผนกหนึ่งของโรงพยาบาลแห่งนี้ ซึ่งมีพนักงานส่วนใหญ่เป็นหญิง และที่ผ่านมามักประสบปัญหาพนักงานตั้งครรภ์บ่อยครั้ง จนมีความกังวลว่าอาจกระทบต่อการปฏิบัติหน้าที่

แม้ล่าสุด ผู้อำนวยการโรงพยาบาลแห่งนี้จะยืนยันว่านโยบายของโรงพยาบาลไม่เคยมีประกาศดังกล่าว และคาดว่าน่าจะเป็นเรื่องภายในที่แผนกงานนั้นทำกันเอง อีกทั้งยังสั่งการให้ยกเลิกประกาศนี้แล้ว เพราะไม่สามารถทำได้เนื่องจากเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน แต่ในมุมของพนักงานและอดีตพนักงานในแผนกนี้ ยังรู้สึกกังวลใจ

เพราะ “ไม่ใช่ครั้งนี้เป็นครั้งแรก”!!!

คำบอกเล่าของอดีตพนักงานรายหนึ่ง เล่าถึงพฤติกรรมของหัวหน้าแผนก ที่มักจะพูดถึงหญิงตั้งครรภ์ในทางลบ เช่น “ไม่มีประสิทธิภาพในการทำงาน” ให้พนักงานได้ยินเสมอ นอกจากนี้ หากฝ่ายหญิงแผนกนี้ ตั้งครรภ์กับฝ่ายชายที่ทำงานในแผนกเดียวกัน ก็จะถูกกดดันให้ออกจากงานทั้งคู่ ขณะที่พนักงานรายหนึ่งที่ยังทำงานอยู่ ตั้งข้อสังเกตว่าเหตุที่พนักงานมีจำนวนไม่เพียงพอ เพราะรับกับพฤติกรรมของหัวหน้าแผนกรายนี้ไม่ได้หรือไม่? ทั้งที่มีผู้มาสมัครงานใหม่อย่างต่อเนื่อง แต่กลับไม่ค่อยมีใครอยู่ได้นาน

เฉลี่ยแล้ว “ไม่เกิน 1 ปี” เท่านั้น!!!

ประเด็นที่น่าสนใจ..ปัญหานี้มิได้เกิดขึ้นเฉพาะโรงพยาบาล หรือกิจการประเภทสถานบริการด้านสาธารณสุขเท่านั้น ที่ผ่านมา บนสื่อสังคมออนไลน์ มักจะมีผู้โพสต์เรื่องราวร้องทุกข์กรณีถูกเลิกจ้างเพราะตั้งครรภ์อยู่เสมอจากหลายภาคส่วน ทั้งพนักงานฝ่ายผลิตในโรงงานบ้าง พนักงานฝ่ายขาย (เซลส์) บ้าง หรือพนักงานประจำออฟฟิศบ้าง

ทุกรายมีจุดร่วมอย่างหนึ่ง..คือ “ถูกบีบให้เขียนใบลาออก”!!!

นายสุรพงษ์ กองจันทึก ประธานคณะอนุกรรมการสิทธิมนุษยชนด้านชนชาติ ผู้ไร้สัญชาติ แรงงานข้ามชาติและผู้พลัดถิ่น สภาทนายความในพระบรมราชูปถัมภ์ ในฐานะนักกฎหมายด้านสิทธิมนุษยชน ที่ย้ำว่าการเลิกจ้างแรงงานด้วยเหตุตั้งครรภ์นั้นไม่สามารถทำได้ ซึ่งไม่ใช่แต่เป็นข้อห้ามตามกฎหมายแรงงานเท่านั้น แต่ยังเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรงอีกด้วย

เพราะ “สิทธิในการสืบทอดเผ่าพันธุ์” เป็นสิทธิขั้นพื้นฐานที่ติดตัวมนุษย์ทุกคน!!!

นักกฎหมายจากสภาทนายความรายนี้ เล่าต่อไปว่า ที่ผ่านมาในส่วนของสภาทนายความ มีผู้ถูกเลิกจ้างอย่างไม่เป็นธรรม ด้วยการกดดันให้เขียนใบลาออกจากสาเหตุต่างๆ รวมถึงการตั้งครรภ์ด้วย เข้ามาร้องเรียนอยู่พอสมควร ซึ่งก็ได้ให้การ
ช่วยเหลือไปแล้วหลายราย

“เป็นหน้าที่ของนายจ้างที่ต้องดูแลลูกจ้าง แม้กระทั่งการท้องยิ่งต้องดูแลเป็นพิเศษ ไม่ใช่เห็นว่าทำงานให้เราไม่มีประสิทธิภาพมากนัก ก็เลยไปให้เขาลาออก” นายสุรพงษ์ กล่าว และเสริมว่า ผู้ถูกเลิกจ้างด้วยเหตุไม่เป็นธรรม เช่น เพราะ
ตั้งครรภ์ สามารถร้องเรียนได้ที่สภาทนายความ ซึ่งก็มีหน่วยงานรับเรื่องร้องทุกข์อยู่ด้วย

เช่นเดียวกับ นายวรานนท์ ปีติวรรณ รองอธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน กล่าวถึงประเด็นนี้ว่า กรณีลูกจ้างถูกนายจ้างหรือหัวหน้างาน กดดันให้ลาออกนั้น ที่ผ่านมาเคยมีกรณีทำนองนี้ แล้วพิสูจน์ได้ว่าลูกจ้างถูกกลั่นแกล้งจริง และศาลก็พิพากษาให้ลูกจ้างชนะคดีมาแล้ว

ถึงกระนั้น ก็ยอมรับว่าการสืบสวนข้อเท็จจริงลักษณะนี้ค่อนข้างทำได้ยาก เช่น หากเป็นการกดดันให้ลาออกเพราะเรื่องตั้งครรภ์ นายจ้างก็มักจะอ้างสาเหตุอื่น ดังนั้นจึงแนะนำกับลูกจ้างว่า “อย่าเขียนใบลาออกเด็ดขาด” แล้วให้มาร้องเรียนกับกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน หรือสำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดทั่วประเทศ

“ไม่ต้องเซ็นใบลาออกหรอกครับ ลูกจ้างเองก็ต้องทราบสิทธิของตัวเองด้วย ไม่แนะนำให้เขียนใบลาออกใดๆ เพราะ
ตัวเองไม่ได้มีความผิดอะไร การท้องเป็นเรื่องธรรมชาติ แล้วถ้าบอกว่าโดนกลั่นแกล้ง ขอให้ไปร้องเรียนที่กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน หรือสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดทุกจังหวัด หรือสำนักงานอีก 10 พื้นที่ทั่วกรุงเทพมหานคร

สะดวกตรงไหนไปตรงนั้น ไม่จำเป็นต้องอยู่ในพื้นที่ที่นายจ้างมีภูมิลำเนา เช่น ลูกจ้างทำงานอยู่กรุงเทพฯ ไปร้องที่ขอนแก่นก็ทำได้ครับ เราอำนวยความสะดวกให้” รองอธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน ฝากทิ้งท้าย

ตามพ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มีบทบัญญัติว่าด้วยการคุ้มครองแรงงานหญิงที่ตั้งครรภ์หลายประการ เช่น มาตรา 43 ห้ามมิให้นายจ้างเลิกจ้างซึ่งเป็นหญิงเพราะเหตุมีครรภ์, มาตรา 41 ให้ลูกจ้างซึ่งเป็นหญิงมีครรภ์มีสิทธิลาเพื่อคลอดบุตรครรภ์หนึ่งไม่เกินเก้าสิบวัน และวันลาตามวรรคหนึ่ง ให้นับรวมวันหยุดที่มีในระหว่างวันลาด้วย,

มาตรา 42 ในกรณีที่ลูกจ้างซึ่งเป็นหญิงมีครรภ์มีใบรับรองของแพทย์แผนปัจจุบันชั้นหนึ่งมาแสดงว่าไม่อาจทำงานในหน้าที่เดิมต่อไปได้ ให้ลูกจ้างนั้นมีสิทธิขอให้นายจ้างเปลี่ยนงานในหน้าที่เดิมเป็นการชั่วคราวก่อนหรือหลังคลอดได้ และให้นายจ้างพิจารณาเปลี่ยนงานที่เหมาะสมให้แก่ลูกจ้างนั้น

ซึ่งหาก นายจ้าง หรือ ผู้ที่ได้รับมอบหมายให้ทำหน้าที่แทนนายจ้าง (เช่น หัวหน้างาน) รายใดฝ่าฝืน จะมีความผิดตาม มาตรา 144 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหกเดือน หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และหากฝ่าฝืนมาตรา 42
จนทำให้ลูกจ้างได้รับอันตรายแก่กายหรือจิตใจ หรือถึงแก่ความตาย ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินสองแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

ทว่าแม้กฎหมายจะเขียนบทบัญญัติไว้ชัดเจน แต่ในทางปฏิบัติกลับพบอุปสรรคไม่น้อย เช่น นายจ้างบางรายใช้วิธีให้
ออกจากงานด้วยปากเปล่า เมื่อลูกจ้างหลงเชื่อและไม่มาทำงานมากกว่า 3 วัน นายจ้างย่อมอ้างเหตุขาดงานโดยไม่บอกกล่าวเกิน 3 วัน เพื่อจะไม่จ่ายค่าชดเชยตามกฎหมายได้

ดังนั้นจึงมีคำแนะนำจากอดีตพนักงานรายหนึ่งที่เคยพบกรณีทำนองนี้เพิ่มเติมว่า นอกจากไม่ควรยอมเขียนใบลาออกตามที่ถูกกดดันข่มขู่แล้ว ให้ไปแจ้งความลงบันทึกประจำวัน ที่สถานีตำรวจในพื้นที่ตั้งของสถานประกอบการนั้น ทันทีหลังได้รับการกดดันข่มขู่ด้วย เพื่อเป็นหลักฐานใช้ในการร้องทุกข์หรือฟ้องคดีต่อไป

อีกด้านหนึ่ง คงต้องยอมรับว่ากระบวนการสืบสวนและฟ้องร้องที่กินเวลายาวนาน และมีค่าใช้จ่ายมากพอสมควร ทำให้นายจ้างบางรายมองว่าลูกจ้างที่มีฐานะด้อยกว่าตน คงเลือกที่จะยอมจำนนด้วยการยอมเขียนใบลาออกมากกว่าจะไปฟ้องคดี

เป็นความเหลื่อมล้ำทางสังคมอีกประการ..ที่ต้องได้รับการแก้ไขอย่างเร่งด่วน!!!

หมายเหตุ : ล่าสุด 13 พ.ย. 2557 มีรายงานเพิ่มเติมว่า หัวหน้าแผนกเวชกรรมโรงพยาบาลดังกล่าว ที่ออกคำสั่งห้ามพนักงานตั้งครรภ์ ถูกย้ายออกจากแผนกไปแล้ว โดยให้ไปประจำฝ่ายวิชาการแทน

SCOOP@NAEWNA.COM
วันศุกร์ ที่ 14 พฤศจิกายน พ.ศ. 2557