ผู้เขียน หัวข้อ: เรียนรู้วิถีนกล่าเหยื่ออพยพข้ามถิ่น ประเทศไทยคือเส้นทางหลัก!!  (อ่าน 1124 ครั้ง)

pani

  • Hero Member
  • *****
  • กระทู้: 756
    • ดูรายละเอียด
ในช่วงปลายเดือนกันยายนภูมิอากาศทางตอนเหนือของโลก แถบประเทศรัสเซีย มองโกเลีย จีน เกาหลี และญี่ปุ่น เริ่มมีอากาศหนาวเย็นและมีหิมะ ส่งผลให้การดำรงชีวิตและหาอาหารของนกล่าเหยื่อทั้งหลายที่อาศัยอยู่แถบซีกโลกตอนเหนือ เริ่มทำได้ยากขึ้น นกเหล่านี้จึงต้องเดินทางลงมาทางซีกโลกตอนใต้ ซึ่งมีอากาศอบอุ่นและมีอาหารที่อุดมสมบูรณ์มากกว่า ซึ่งประเทศไทยเป็นอีกหนึ่งในเส้นทางที่นกล่าเหยื่อเหล่านี้ต้องอพยพผ่าน จึงทำให้เกิดเทศกาลดูเหยี่ยวอพยพขึ้น

การใช้ชีวิตตลอดเส้นทางของนกอพยพนั้น ในแต่ละวันเมื่อถึงเวลาเย็นนกล่าเหยื่อจะหาที่พักผ่อนในเวลากลางคืน เพื่อเตรียมอพยพในวันรุ่งขึ้น เป็นอย่างนี้ทุกวันจนกว่าจะถึงเป้าหมายที่จะอาศัยอยู่ตลอดช่วงฤดูหนาว บริเวณประเทศแถบใกล้เส้นศูนย์สูตรในประเทศไทย มาเลเซีย สิงคโปร์ และอินโดนิเซีย เป็นประเทศหลักๆ โดยเมื่อเวลาผ่านไปถึงช่วงเดือนกุมภาพันธ์ถึงเดือนพฤษภาคมของปีถัดไป นกล่าเหยื่อเหล่านี้จะบินอพยพกลับไปถิ่นฐานเดิมเพื่อรังวางไข่อีกครั้ง

สิ่งสำคัญที่มีผลต่อการบินของนกล่าเหยื่ออพยพคือ มวลอากาศร้อนและกระแสลม มวลอากาศร้อนเป็นสิ่งสำคัญต่อการบินอพยพของนก เพื่อลดการสูญเสียพลังงานในระหว่างการบินอพยพเมื่อดวงอาทิตย์ส่องแสงส่งความร้อนมายังพื้นผิวโลก มีการดูดซับพลังงานความร้อนไว้แล้วค่อยๆ ลอยตัวสูงขึ้นรวมตัวกันจนมีความหนาแน่นมาก เรียกว่า มวลอากาศ ซึ่งอาจเกิดในที่โล่งหรือแนวเทือกเขาก็ได้ เมื่อมีกระแสลมพัดเอามวลอากาศร้อนที่อยู่ตามทุ่งไปปะทะกับภูเขาซึ่งเปรียบเสมือนกำแพงกั้น ทำให้มวลอากาศร้อนรวมกันเป็นก้อนใหญ่ลอยสูงขึ้นสู่ฟ้า นกล่าเหยื่อที่บินอพยพจะมองเห็นและใช้มวลอากาศร้อนพยุงตัวไปข้างหน้า

ประเทศไทย มีนกล่าเหยื่อทั้งหมดจำนวน 55 ชนิด มากกว่า 32 ชนิดเป็นนกอพยพย้ายถิ่นในฤดูหนาว หรือนกอพยพผ่านประเทศไทยไปประเทศอื่นในคาบสมุทรมลายู จากการสำรวจของกลุ่มศึกษาเหยี่ยวและนกอินทรีในประเทศไทย ตลอด 6 ปีที่ผ่านมาในภาคใต้ พบว่าในฤดูกาลอพยพต้นหนาว ระยะเวลา 2 เดือน พบเหยี่ยวและนกอินทรีอพยพผ่านภาคใต้ จำนวน 27ชนิด นับเป็นแหล่งเรียนรู้เกี่ยวกับเหยี่ยวอพยพที่มีความโดดเด่นในแง่ความหลากหลายของชนิด จำนวนต่อฤดูกาลและทำเลสถานที่ดูเหยี่ยวอพยพที่สะดวก เช่น เขาดินสอ เขาเรดาห์ โดยมีเหยี่ยวอพยพ 6 ชนิดหลัก ที่มีจำนวนมากกว่า 1,000 ตัวต่อฤดูกาล คือ เหยี่ยวกิ้งก่าสีดำ เหยี่ยวนกเขาพันธุ์จีน เหยี่ยวหน้าเทา เหยี่ยวผึ้ง เหยี่ยวนกเขาพันธุ์ญี่ปุ่น และเหยี่ยวนกเขาชิครา

การบินอพยพของเหล่านกล่าเหยื่อแต่ละชนิดจะขึ้นอยู่กับความเหมาะสมของลมฟ้าอากาศเป็นหลัก อย่างในช่วงกระแสลมในฤดูกาลอพยพต้นหนาว ประมาณเดือนกันยายน กระแสลมในช่วงนี้จะพัดมาจากทิศตะวันตกเฉียงใต้ กระแสลมปะทะนกล่าเหยื่อ แทบจะไม่มีลมส่งท้าย นกล่าเหยื่อที่บินอพยพในช่วงเวลานี้ ได้แก่ เหยี่ยวผึ้ง เหยี่ยวนกเขาพันธุ์ญี่ปุ่น และเหยี่ยวนกเขาพันธุ์จีน ช่วงกลางเดือนตุลาคมและเดือนพฤศจิกายน กระแสลมจากทิศตะวันออกเฉียงเหนือจะพัดส่งกระแสลมมาจากด้านหลังของนกล่าเหยื่อ หรือลมส่งท้ายประกอบกับมวลอากาศร้อนจะช่วยหนุนให้นกล่าเหยื่อบินอพยพได้ไกลมากขึ้น

สำหรับกระแสลมในฤดูกาลปลายหนาวเวลาที่นกล่าเหยื่อบินอพยพกลับจากหมู่เกาะอินโดนิเซียและคาบสมุทรมลายู เส้นทางอพยพของนกล่าเหยื่อจะบินเลียบแนวสันเขาที่อยู่ทางทิศตะวันตกตามแนวเทือกเขาตะนาวศรีและชายฝั่งทะเลตะวันตก บางชนิดเปลี่ยนทิศทางไปยังภาคตะวันออกเฉียงเหนือเข้าสู่ประเทศลาว เวียดนามเหนือ และไปยังประเทศจีน เกาหลีเหนือ เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น รัสเซีย และแถบไซบีเรีย ซึ่งเป็นถิ่นผสมพันธุ์ กระแสลมที่นกล่าเหยื่อใช้บินอพยพขึ้นมาจากภาคใต้ของประเทศไทย คือ ระหว่างเดือนกุมภาพันธ์-พฤษภาคม นกล่าเหยื่อที่พบในช่วงนี้ ได้แก่ เหยี่ยวกิ้งก่าสีดำ เหยี่ยวนกเขาพันธุ์จีน และเหยี่ยวหน้าเทา

ในประเทศไทยจะมีการจัดงานเทศกาลดูเหยี่ยวอพยพขึ้นทุกปีที่จังหวัดชุมพร โดยมีการจัดขึ้นครั้งแรกตั้งแต่ปี 2545 ที่บริเวณทุ่งนา เทศบาลตำบลท่ายาง อ.เมือง จ.ชุมพร หลังจากได้รับความสนใจมากขึ้นทุกปีจากกลุ่มผู้เชี่ยวชาญทางด้านการดูนกและมือสมัครเล่นที่อยากดูนก ทำให้มีการพัฒนาสถานที่ดูนกแห่งใหม่ขึ้น ณ เขาดินสอ ต.บางสน อ.ปะทิว จ.ชุมพร ซึ่งห่างจากตัวเมืองชุมพรประมาณ 30 กิโลเมตร นอกจากนี้ยังมีจุดูนกที่นักดูนกตัวยงรู้จักกันอย่างแพร่หลาย ได้แก่ บริเวณเขาเรดาห์ อ.บางสะพานน้อย จ.ประจวบคีรีขันธ์

ใครที่มีความสนใจจะเรียนรู้วิถีชีวิตของนกล่าเหยื่ออพยพที่ต้องใช้เส้นทางของประเทศไทยเป็นเส้นทางหลัก สามารถเดินทางไปท่องเที่ยวเพื่อชมเหยี่ยวสายพันธุ์ต่างๆได้ที่ จุดชมวิวและเหยี่ยวอพยพ เขาดินสอ ต.บางสน อ.ปะทิว จ.ชุมพรตลอดช่วงเดือนตุลาคม – พฤศจิกายน

ทีมเดลินิวส์ออนไลน์
21 ตุลาคม 2555