ผู้เขียน หัวข้อ: ก๊วยเจ๋ง-เอี้ยคัง : คนโง่รักชาติ-คนฉลาดขายดินแดน?!?  (อ่าน 2068 ครั้ง)

seeat

  • Sr. Member
  • ****
  • กระทู้: 470
    • ดูรายละเอียด
 สำหรับเรื่อง “มังกรหยก” นี้ นอกจาก “ก๊วยเจ๋ง” และ “อึ้งย้ง” แล้ว เรายังคุ้นเคยกับตัวละครต่างๆ ที่เรียกขานเป็นห้าสุดยอดแห่งยุทธภพ (ตามท้องเรื่อง) ไม่ว่าจะเป็น “เทพมัชฌิม-เฮ้งเตงเอี้ยง แห่งสำนักช้วนจินก่า” -“มารบูรพา-อึ้งเอี๊ยะซือ” - “ยาจกอุดร-อั้งฉิกกง” - “ราชันย์ทักษิณ-กษัตริย์ต้วนแห่งต้าลี่” - “พิษประจิม-อาวเอี้ยงฮง”
       
       ทั้งหมดทั้งปวงนี้ ไม่ว่าจะเป็น “เทพมัชฌิม-มารบูรพา-ยาจกอุดร-ราชันย์ทักษิณ-พิษประจิม” ทั้งห้าคนนี้ ต่างเป็นองค์ประกอบสำคัญในนิยายจีนกำลังภายใน “มังกรหยก” ได้รับการยกย่องให้เทียบเคียง “มหากาพย์” ที่ส่วนใหญ่นั้นจะต้องมีองค์ประกอบสำคัญเชิงแฟนตาซีในรูปแบบเทพนิยายของสากลนิยมไม่ว่าจะเป็นทางตะวันตกหรือตะวันออก
       
       กล่าวคือ “ห้าสุดยอดฝีมือแห่งยุทธภพ” นอกจากในฐานะสุดยอดฝีมือเชิงยุทธแล้ว ยังเป็นการสร้างสัญลักษณ์เชิงมหากาพย์ ที่มักจะสร้างตัวละครที่เป็นตัวแทนคนแต่ละชั้น แต่ละกลุ่ม ที่เรามักจะเห็นกันในมหากาพย์เทพนิยายทั้งฝั่งตะวันตกและตะวันออก ตัวละคร “กษัตริย์-นักบวช(หรือพ่อมด)-เทพ-มาร-มนุษย์” ถือเป็นองค์ประกอบสำคัญในความเป็น “มหากาพย์” และแต่ละตัวแทนต่างก็ต้องมี “บทบาทหน้าที่” และ “อิทธิฤทธิ์” ต่างๆ กันไป
       
       หากมองวรรณคดีลักษณะมหากาพย์เช่นนี้ คงจะนึกภาพของ “กษัตริย์” เช่น “พระราม-พระลักษณ์” ในการต่อสู้กับ “ยักษ์มาร” อย่าง “ทศกัณฑ์” และสัตว์ในจิตนาการอย่าง “หนุมานและพวกพ้อง” ใน “รามเกียรติ์” ได้เป็นอย่างดี หรือหากจะสมัยใหม่หน่อย ใครที่เคยดูหนังเรื่อง “ลอร์ด ออฟ เดอะ ริง” ก็คงนึกออก
       
       นอกจากนี้ องค์ประกอบสำคัญอีกอย่างในเชิง “มหากาพย์” ของนิยายจีนกำลังภายใน “มังกรหยก” ก็คือ เรื่องของการ “ต่อสู้เพื่อรักษาชาติ” นั่นก็เป็นสิ่งที่สำคัญที่ทำให้ “มหากาพย์” เป็นโครงสร้างที่ยิ่งใหญ่ และสร้างความกินใจในหมู่มวลมหาชน บางคนอาจจะมองถึงความต้องการสะท้อนอีกมุมของ “สำนึกในความเป็นชาติ” หรือบางท่านอาจจะมองเป็น “มหากาพย์เพื่อชาตินิยม” นั่นแล
       
       สำหรับเรื่อง “มังกรหยก” นี้ มีนักวิจารณ์บางท่านกล่าวถึงเอาไว้ว่า นอกจากในฐานะนิยายจีนกำลังภายในแล้ว เรื่องนี้ยังสะท้อนการแสดงออกในฐานะการสะท้อนภาพ “เชื้อชาตินิยม” ของ ชาวฮั่น แสดงออกถึงความภาคภูมิใจในเชื้อชาติของชาวจีน ซึ่งอาจจะมีการพาดพันกันระหว่างความรู้สึกของ “เชื้อชาตินิยม” และการแสดงออกไปถึง “อนุรักษ์นิยมโบราณ” ที่บางครั้งโดนวิพาษ์วิจารณ์ว่าอาจจะเป็นปัจจัยหนึ่งที่สะท้อนความพยายามจะคงสภาพระบอบดั้งเดิม และเป็นขวากหนามทางความคิดต่อ “การเปลี่ยนแปลง” สู่ “ระบอบก้าวหน้า” ทั้งในด้าน “โครงสร้างการเมือง” และในด้าน “วัฒนธรรม-จารีต-ประเพณี”
       
       “ชาตินิยม” นั้นจะว่าไปแล้ว คือสำนึกให้เรารักชาติในฐานะดินแดนแห่งรากวัฒนธรรมประเพณีอันยาวนาน หาใช่เรื่อง “คลั่งชาติ” ในฐานะยึดติดแห่งพื้นที่หรือดินแดน เช่นนั้นก็หาไม่
       
       “กิมย้ง” วางโครง “ชาวฮั่น” ผู้อยู่ในสภาวะคับขัน ถูกรุกรานโดยชนเผ่าที่ยิ่งใหญ่กว่า อย่าง “ไต้กิม” และ “มองโกล” สร้างตัวละคร “บุรุษหนุ่มผู้รักชาติ” อย่าง “ก๊วยเจ๋ง” ขึ้นมา และวางบทบาท “ผู้ทรยศต่อชาติ” อย่าง “เอี้ยคัง”
       
       นิยายจีนกำลังภายในเรื่อง “มังกรหยก” นี้จึงเป็นทั้ง “มหากาพย์เชิงแฟนตาซี” และ “เรื่องราวปลูกจิตสำนึกให้รักชาติ” ไปพร้อมๆ กัน
       
       อย่างไรก็ดี “มังกรหยก” ยังคงรูปแบบและสไตล์ที่อาจกล่าวได้ว่าเป็นเอกลักษณ์ของ “กิมย้ง” ในบางประเด็น เช่น การสร้างตัวละครที่เริ่มต้นเท่ากัน ให้แยกออกเป็นสองทาง และสร้างความขัดแย้งในบุคลิกเชิงตรงกันข้าม เราจะเห็นแนวทางนี้ในหลายเรื่องของ “กิมย้ง” ไม่ว่าจะเป็น “สองพี่น้องตระกูลเจี๊ยะ” ในเรื่อง “มังกรทลายฟ้า” (เคยกล่าวถึงไปแล้วในคอลัมน์นี้) ที่เป็นพี่น้องฝาแฝดถูกจับแยกไปเลี้ยงในต่างสภาพแวดล้อม และหล่อหลอมออกมาเป็นฝ่ายดีและฝ่ายชั่วร้าย
       
       และไม่ว่าจะเป็น “เซียวฮื้อยี้” และ “ฮวยบ้อข่วย” สองพี่น้องฝาแฝดอีกเช่นกัน ที่ถูกจับไปแยกเลี้ยงแยกอบรมต่างสภาพแวดล้อม จนได้ตัวละครสองบุคลิกที่ต่างกันออกมา
       
        “ก๊วยเจ๋ง” และ “เอี้ยคัง” แม้จะไม่ใช่สองพี่น้องฝาแฝดเช่นสองพี่น้องตระกูลเจี๊ยะ หรือเซียวอื้อยี้และฮวยบ้อข่วย แต่ทั้งสองก็ถือกำเนิดขึ้นมาจากสองครอบครัวที่พ่อของแต่ละคนเป็นพี่น้องร่วม สาบาน เกิดในเวลาไล่เลี่ยกัน ด้วยจุดมุ่งหมายให้ “รักชาติและกู้ชาติ” เหมือนกัน แต่ถูกแยกออกไปต่างสภาพแวดล้อม ให้คนหนึ่งกลายเป็น “ตัวดี” และ “ตัวร้าย”
       
       นอกจากนี้ ดูเหมือนว่า “กิมย้ง” จะโปรดปรานในการสร้างบุคลิกตัวละครที่ “สัตย์ซื่อจนดูเหมือนโง่งม” (แต่ไม่โง่งม) บุคลิกลักษณะนี้ ผมเคยเขียนถึงตัวละครเช่น “เจี๊ยะพั่วเทียน” ไปแล้ว ในนิยายจีนกำลังภายในเรื่อง “มังกรทลายฟ้า” ที่สะท้อนปรัชญาที่ว่า “ว่างเปล่าจึงกินอิ่ม”
       
       “ก๊วยเจ๋ง” นี้ก็เช่นกัน “เจ็ดประหลายแดนกังหนำ” ที่เป็นอาจารย์ของเขากล่าวถึงบุคลิกของเขาไว้ว่า “เป็นเด็กหนุ่มที่ไม่ฉลาดเฉลียวปราดเปรื่อง เปรียบเทียบกับคนธรรมดายังโง่เขลากว่าเสียสามส่วน แถมพอบังเกิดความตระหนกลนลานยิ่งมือไม้ปั่นป่วน” และพอจะระดมสั่งสอนวิชามากหลายของแต่ละคนทั้งเจ็ด กลับปรากฏสภาพที่ว่า “คิดเร่งเร็วกลับไม่บรรลุ-ตะกละตะกลามกลับเคี้ยวไม่ละเอียด”
       
       ซึ่งตรงนี้ต่างกับคู่ชีวิตของเขา “อึ้งย้ง” อย่างสิ้นเชิง ขณะที่ “อึ้งย้ง” เป็นผู้ฉลาดเฉลียว เรียนรู้เร็ว “ก๊วยเจ๋ง” ในเบื้องแรกจึงด้อยวิชากว่า “อึ้งย้ง” มากนัก
       
       อย่างไรก็ดี “สัตย์ซื่อถือเป็นชามเปล่า” ดังที่ “จิวแป๊ะทง” ผู้มีฉายา “เฒ่าทารก” ศิษย์ร่วมสำนักของ “เทพมัชฌิม” ได้กล่าวว่า “ชามใบหนึ่งเพราะตรงกลางว่างเปล่า จึงสามารถบรรจุใส่ข้าว หากเป็นดินเหนียวตัน จะใส่ข้าวได้อย่างไร” ซึ่งสะท้อนหลัก “ปั้นดินเหนียวเป็นภาชนะจากความว่างเปล่า ก่อเกิดคุณสมบัติของภาชนะ”
       
       ดังนั้น เมื่อ “บุรุษเข้าใจช้า” อย่าง “ก๊วยเจ๋ง” เหม่อมองกลุ่มดาวเหนือบนท้องฟ้า เข้าใจหลักธรรมชาติ ตีแตกความซับซ้อนของ “คัมภีร์นพยม” อันลึกซึ้ง เป็นการบรรลุจาก “ด้านใน” จึงก่อเกิดเป็นยอดฝีมือขึ้นมาได้ เหมือนดังก่อนหน้าที่ “กิมย้ง” เคยเขียนให้ความสำคัญ “ภายใน” มากกว่า “ภายนอก” มาแล้ว ตอนที่ “เจ็ดประหลาดแดนกังหนำ” ต่างพากันสั่งสอนยอดวิชาของตัวเองให้ “ก๊วยเจ๋ง” เท่าไร แต่กลับไม่คืบหน้า ขณะที่มี “นักพรตช้วนจินก่า” ลอบถ่ายทอดพื้นฐาน “ลมปราณ” อันเป็นการ “ก่อเกิดจากข้างใน” พลังฝีมือของ “ก๊วยเจ๋ง” จึงรุดหน้า
       
        “ภายนอก” แม้จะมากหลาย แต่มิใช่การเรียนรู้ที่สร้าง “ปัญญากระจ่าง” หากแต่ การก่อเกิดจาก “ภายใน” ต่างหากเล่า “ปัญญา” จึงบรรลุเป็นผลเด่นล้ำ
       
       นอกจากนี้ “ก๊วยเจ๋ง” ยังดีเด่นในด้าน “คุณธรรม” เหตุแก่ประโยชน์ส่วนรวม มากกว่าของส่วนตัว คุณธรรมและจิตสำนึกรักชาติของ “ก๊วยเจ๋ง” จึงทำให้เขามีคำนำหน้าเรียกขานว่า “วีรบุรุษ”
       
       ด้าน “เอี้ยคัง” นั้น แท้จริงแล้วมีบุคลิก “หล่อและฉลาด” หากแต่ “เอี้ยคัง” เหตุแก่ตนเองเป็นที่ตั้ง “เอี้ยคัง” นั้น เติบโตขึ้นมาภายใต้ “สถาบันที่เก่าแก่ ยิ่งใหญ่ และมีอำนาจ” สืบสายทายาทของอ๋องแห่งไต้กิม เมื่อ “เอี้ยคัง” พบว่าแท้จริงนั้นตนคือ “ชาวซ้อง” ที่ถูกฝากความหวังให้ “กู้ชาติ” แต่ “เอี้ยคัง” กลับยึดติด “กับดักแห่งความยิ่งใหญ่ของสถาบันอันเก่าแก่ทางการเมือง” หลงใหลในลาภยศสรรเสริญ โดยมุ่งหวังจะรักษาตำแหน่ง “อ๋อง” ไว้เพื่อตัวเองได้ยิ่งใหญ่ มากกว่าการสำนึกเพื่อชาติและดินแดน “เอี้ยคัง” จึงตัดสินใจที่จะทรยศต่อชาติของส่วนรวม เพียงเพื่อรักษาความเป็น “อ๋องแห่งไต้กิม” ที่เป็นสถานะส่วนตัว
       
       และสุดท้าย “เอี้ยคัง” ก็พบจุดจบที่ไม่สวยงามตามท้องเรื่องในนิยายจีนกำลังภายในเรื่องนี้

ASTVผู้จัดการรายวัน    
4 กุมภาพันธ์ 2554