ผู้เขียน หัวข้อ: 'เมืองแก' ต้นแบบจัดระบบสุขภาพตนเอง  (อ่าน 1050 ครั้ง)

ABBA

  • Hero Member
  • *****
  • กระทู้: 2105
    • ดูรายละเอียด
 หนังสือพิมพ์บ้านเมือง -- อาทิตย์ที่ 2 ธันวาคม 2555 00:00:30 น.
สำนักงานวิจัยและพัฒนาระบบสุขภาพชุมชน (สพช.) ร่วมกับกระทรวงสาธารณสุข สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุขและองค์การอนามัยโลกประจำประเทศไทยและเทศบาลเมืองแก ได้จัดกระบวนการการพัฒนาสมรรถนะการเรียนรู้ เข้าใจ ปรับประยุกต์ใช้เครื่องมือเพื่อพัฒนาระบบสุขภาพชุมชนที่เทศบาลตำบลเมืองแก อ.ท่าตูม จ.สุรินทร์ โดยมีเจ้าหน้าที่ที่ทำงานด้านสาธารณสุข และเจ้าหน้าที่ท้องถิ่นจากหลากหลายพื้นที่ทั่วประเทศเข้าร่วมอบรม


 
พ.ญ.สุพัตรา ศรีวณิชชากร ผู้อำนวยการสำนักงานวิจัยและพัฒนาระบบสุขภาพชุมชน (สพช.) กล่าวถึงวัตถุประสงค์ในการอบรมครั้งนี้ว่า เรามีความคิดพื้นฐานที่ว่าทุกพื้นที่มีต้นทุนอยู่แล้ว การทำงานของเราจึงเน้นสร้างและเสริมให้พื้นที่เหล่านี้แข็งแกร่งมากยิ่งขึ้น ซึ่งการจัดอบรมในครั้งนี้นั้นเราจะนำคนทำงานด้านสาธารณสุข และเจ้าหน้าที่ท้องถิ่น จาก 11 พื้นที่ อาทิ จ.สมุทรสงคราม สุรินทร์ ยโสธร อุบลราชธานี ชัยภูมิ อำนาจเจริญ และหนองคาย เข้ามาเรียนรู้การทำงานของชุมชนที่มีความเข้มแข็งเพื่อนำความรู้จากการอบรมในครั้งนี้ไปปรับและประยุกต์ใช้ในพื้นที่ของตนเองได้ รวมทั้งเพื่อขยายองค์ความรู้ต่อให้ชุมชนในพื้นที่ใกล้เคียงได้ร่วมสร้างระบบสุขภาพชุมชนให้เข้มแข็ง ซึ่งผู้เข้าร่วมอบรมในครั้งนี้จะได้ลงพื้นที่จากคนทำงานด้านสุขภาพที่ประสบความสำเร็จ โดยใช้คนทำงานเหล่านี้เป็นต้นแบบ อาทิ ผู้นำองค์กร กลุ่มชมรมต่างๆ อาสาสมัคร รวมทั้งได้เรียนรู้กระบวนการทำงานของ ต.เมืองแก ที่มีการทำงานด้านสุขภาพชุมชนที่โดดเด่น และสำเร็จ อาทิ เรื่องการจัดการสวัสดิการชุมชน การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมในการป้องกันโรคติดต่อ ระบบเกษตรอินทรีย์ ทั้งนี้เราตั้งเป้าว่าเราจะขยายการทำงานเรื่องระบบสุขภาพชุมชนออกไปให้ได้ 600 ตำบลภายใน 3 ปี เพื่อให้ประชาชนและชุมชนจัดการสุขภาพตนเองได้ ดูแลตนเองได้อย่างมีศักดิ์ศรี

ขณะที่ น.พ.มงคล ณ สงขลา อนุกรรมการกำกับดูแลแผนงานการพัฒนาระบบสุขภาพชุมชน และ อดีต รมว.สาธารณสุข กล่าวว่า ระบบสุขภาพชุมชนถือเป็นระบบที่ดีที่ประเทศไทยควรพัฒนาให้ทุกชุมชนกลายเป็นชุมชนที่เข้มแข็งจัดการและพึ่งพิงตนเองได้ โดยชุมชนที่เข้มแข็งจะต้องเกิดจากการมีกระบวนการร่วมกันคิด ร่วมกันทำของชุมชน และประชาชนมีอำนาจในการดำเนินโครงการต่างๆ อย่างแท้จริงตามความต้องการ จนได้ผลลัพธ์ออกมาตามที่ชุมชนคาดหวัง มีสุขภาพดี มีความเป็นอยู่ที่ดีในทุกมิติ ส่วนหน่วยงานภาครัฐ นักวิชาการ ท้องถิ่น ก็ต้องมีหน้าที่หนุนเสริมในการสร้างระบบสุขภาพที่ดี ทั้งการเสริมทักษะ เสริมความรู้ หรือเสริมสิ่งที่ชุมชนยังขาด

"ปัจจุบันเมืองไทยมีชุมชนไม่น้อยกว่าร้อยละ 60 ที่เป็นชุมชนสามารถจัดการตนเองได้ แต่เรามีปัญหาอุปสรรคบางสิ่งบางอย่างที่ทำให้การพัฒนาระบบสุขภาพชุมชนพัฒนาไปได้ช้า ทั้งปัญหาการเมือง ปัญหาเศรษฐกิจ ทำให้ชาวบ้านไม่สามารถที่จะพึ่งพาตนเองได้ แต่ทั้งนี้หากเรายังยึดมั่นตามกระบวนการและมีการเรียนรู้จากชุมชนต้นแบบ มีการแลกเปลี่ยนโครงการดีๆ ระหว่างชุมชนกัน ก็จะทำให้ชุมชนไทยพัฒนาสู่ชุมชนที่เข้มแข็ง มีระบบสุขภาพที่ดีได้ไม่ยาก" น.พ.มงคล กล่าว นายบุญนะ ลิมกุล เจ้าหน้าที่โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลบ้านคลองพลับ อ.อัมพวา จ.สมุทรสงคราม กล่าวถึงความรู้สึกในการเข้าร่วมอบรมในครั้งนี้ว่าเป็นกระบวนการที่ดีมาก และสามารถนำไปปรับใช้ในพื้นที่ของตนเองได้ ซึ่งพื้นที่ของเราได้มีการจัดทำโครงการในลักษณะนี้ หากแต่ไม่ได้มีการร้อยเรียงการทำงานให้เชื่อมประสานกันเหมือนที่ ต.เมืองแก ดังนั้นเราจะนำโมเดลของเมืองแกไปปรับใช้ในพื้นที่เรา ให้เกิดการทำงานที่เป็นหนึ่งเดียวกันมากขึ้น โดยเฉพาะในประเด็นเรื่องการจัดการระบบสุขภาพชุมชน การปรับเปลี่ยนพฤติกรรม และการออกแบบเครื่องมือในการควบคุมโรคติดต่อ จะเป็นโครงการอันดับแรกที่เราจะนำกลับไปพัฒนาให้เห็นเป็นรูปธรรมโดยเร็วที่สุด

สำหรับบรรยากาศในการอบรม ผู้เข้าร่วมอบรมจาก 11 พื้นที่ ได้ลงพื้นที่เพื่อศึกษาข้อมูลการทำงานของตำบลเมืองแก 7 โครงการ ในประเด็นการจัดสวัสดิการชุมชน เกษตรอินทรีย์ สิ่งแวดล้อม การปรับเปลี่ยนพฤติกรรม เด็กและเยาวชน การควบคุมและป้องกันโรคติดต่อ และการบริหารจัดการท้องถิ่น โดยผู้เข้าร่วมอบรมได้ร่วมแลกเปลี่ยนหารือภายหลังจากลงพื้นที่ และสร้างโมเดลจำลองการทำงานเพื่อนำไปปรับใช้กับพื้นที่ตนเองด้วย