ผู้เขียน หัวข้อ: น่าเป็นห่วง ! ชายสูงวัยฮ่องกงฆ่าตัวตายมากที่สุด ทนรู้สึกไร้ค่าต่อไปไม่ไหว  (อ่าน 48 ครั้ง)

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9772
    • ดูรายละเอียด
ปัญหาคนรุ่นปู่ย่าตายายฆ่าตัวตายเป็นภัยเงียบ ที่กำลังคุกคามสังคมของฮ่องกง

อัตราการฆ่าตัวตายในหมู่ผู้สูงอายุในเมืองศูนย์กลางการเงินระดับโลกแห่งนี้มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น และผู้สูงอายุชายจัดเป็นกลุ่มเปราะบางมากที่สุด

จากข้อมูลของ “ สะมาริตัน บีเฟรนเดอร์ส ฮ่องกง” (Samaritan Befrienders Hong Kong) กลุ่มเอ็นจีโอ ซึ่งให้คำปรึกษาแก่ผู้ไม่อยากมีชีวิตอยู่บนโลกใบนี้ระบุว่า ผู้มีอายุตั้งแต่ 70 ปีขึ้นไปในฮ่องกงฆ่าตัวตายทั้งหมด 282 คนในปี 2565 เป็นชายมากกว่าหญิง คือ 168 - 144 คน

จำนวนผู้สูงอายุที่ฆ่าตัวตายเหล่านี้คิดเป็นสัดส่วนกว่า 1 ใน 4 ของผู้ฆ่าตัวตายทั้งหมด 1,080 คนในฮ่องกงเมื่อปีที่แล้ว ทำสถิติสูงสุดในรอบ 10 ปี

นอกจากนั้น หากดูในกลุ่มผู้มีอายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไป มีการฆ่าตัวตาย 477 คนในปีที่แล้ว ซึ่งสูงสุดในรอบ 50 ปี นับตั้งแต่ปี 2516 โดยในจำนวนนี้เป็นชาย 287 คน หญิง 190 คน

จากประสบการณ์ทำงานที่ผ่านมา นาย คลาเรนซ์ ซัง ฉิน-กว็อก ผู้อำนวยการบริหารของ“ สะมาริตัน บีเฟรนเดอร์ส ฮ่องกง” เล่าว่า ผู้ชายที่อยากฆ่าตัวตาย จะสะดวกโทรศัพท์สายด่วนเพื่อขอคำปรึกษามากกว่าการมาพบหน้าค่าตากัน

นายซังมองว่า ผู้ชายเป็นเพศที่ชอบแสดงให้เห็นว่าตนเองนั้นเข้มแข็ง มักกล้ำกลืนความเครียดแทนการเปิดใจ ดังนั้นเมื่อเข้าสู่วัยชรา ผู้ชายจึงมักเผชิญกับความรู้สึกที่เจ็บปวดจากการสูญเสียสถานภาพในฐานะหัวหน้าหาเลี้ยงครอบครัว การปรับตัวให้เข้ากับสถานภาพใหม่และกับสภาพเสื่อมถอยของร่างกายจึงทำให้รู้สึกคับข้องใจ

บรรดาผู้เชี่ยวชาญด้านสังคมสงเคราะห์และนักจิตวิทยาของฮ่องกง เรียกร้องหน่วยงานของรัฐปรับปรุงแนวทางการช่วยเหลือผู้สูงอายุ ที่เสี่ยงฆ่าตัวตาย โดยมุ่งเน้นที่ผู้สูงอายุชายมากขึ้น ชายชราเหล่านี้อาจใช้ชีวิตอย่างโดดเดี่ยวเดียวดาย หรืออยู่กับภรรยาสองคนตายาย เพราะลูกหลานย้ายไปทำงานที่อื่น หลายคนอาจเป็นพวกไม่ชอบเปิดเผยความรู้สึก หรือขอความช่วยเหลือ แต่ชอบเก็บตัว และอาจกำลังต่อสู้กับปัญหาสุขภาพ หรือความเงียบเหงาอยู่ตามลำพังก็ได้ ผู้เชี่ยวชาญยังวิงวอนให้คนหนุ่มสาวฮ่องกงเอาใจใส่ดูแลพ่อแม่ ซึ่งกำลังกลัดกลุ้มกังวลใจอย่างอดทนให้มากขึ้น

รองศาสตราจารย์ พอล หว่อง ไว-ชิง นักจิตวิทยาคลินิกประจำภาควิชาสังคมสงเคราะห์และการบริหารสังคมของมหาวิทยาลัยฮ่องกง แนะนำการบำบัดด้วยสัตว์เลี้ยงเยียวยาจิตใจผู้สูงอายุชาย ซึ่งตัดขาดสังคม น้องหมาสักตัวที่กระดิกหางเข้ามาหา อาจทำให้ผู้สูงวัยระลึกถึงช่วงชีวิตในวัยเยาว์ และมีความสุข จนรู้สึกกระตือรือร้นที่จะพบปะกับผู้คนก็ได้

ที่มา : เซาท์ไชน่ามอร์นิงโพสต์

22 ส.ค. 2566  ผู้จัดการออนไลน์