แสดงกระทู้

This section allows you to view all posts made by this member. Note that you can only see posts made in areas you currently have access to.


Topics - story

หน้า: 1 ... 5 6 [7] 8 9 ... 536
91
“วาการี” (Whakaari) หรือ “เกาะขาว” (White Island) คือภูเขาไฟที่ยังไม่ดับชื่อดังของนิวซีแลนด์ และเป็นหนึ่งในสถานที่ท่องเที่ยวยอดนิยม แต่เมื่อวันที่ 9 ธ.ค. 2019 เกิดเหตุสลด เมื่อภูเขาไฟเกิดระเบิดขณะที่มีนักท่องเที่ยวอยู่บนเกาะ ทำให้มีผู้เสียชีวิต 22 ราย

ขณะเกิดเหตุ มีคนอยู่บนเกาะ 47 คน โดยผู้ที่รอดชีวิตมาได้นั้น หลายคนก็ถูกไฟไหม้หรือลวกอย่างรุนแรงจากก๊าซและเถ้าถ่านร้อน เหยื่อส่วนใหญ่เป็นนักท่องเที่ยวต่างชาติจากประเทศต่าง ๆ เช่น ออสเตรเลีย สหรัฐฯ และมาเลเซีย

ล่าสุด ศาลนิวซีแลนด์พิพากษาสั่งให้บริษัททัวร์และผู้จัดการของเกาะขาว ต้องจ่ายเงินชดเชยให้กับผู้รอดชีวิตมากกว่า 10 ล้านดอลลาร์นิวซีแลนด์ (ราว 218 ล้านบาท) และปรับพวกเขาเป็นเงินอีก 2.6 ล้านดอลลาร์นิวซีแลนด์ (เกือบ 57 ล้านบาท)
ที่มีคำพิพากษาดังกล่าว เพราะศาลประเมินว่า บริษัททัวร์ White Island Tours, Volcanic Air Safaris, Kahu New Zealand และ Aerius พร้อมด้วยบริษัท Whakaari Management Ltd ซึ่งเป็นผู้จัดการเกาะ ไม่ได้รับประกันความปลอดภัยของผู้มาเยือนเกาะอย่างเพียงพอ

อีวานเจลอส โทมัส ผู้พิพากษาศาลแขวงโอ๊คแลนด์ กล่าวว่า Whakaari Management จะต้องจ่ายค่าชดเชย 4.88 ล้านดอลลาร์นิวซีแลนด์ ในขณะที่ White Island Tours จะต้องจ่ายเงิน 5 ล้านดอลลาร์นิวซีแลนด์ และ Volcanic Air Safaris 330,000 ดอลลาร์นิวซีแลนด์

โทมัสกล่าวว่า แม้ว่าบริษัททัวร์จะทำการประเมินความเสี่ยงแล้ว แต่ก็ยังไม่เพียงพอ “บริษัททัวร์ให้บริการข้อมูลด้านความปลอดภัยแก่ลูกค้าที่เสียเงินไม่เพียงพอ โดยไม่ได้แจ้งให้ลูกค้าที่ชำระเงินทราบถึงอันตราย ความเสี่ยง และผลที่ตามมาของการเกิดภูเขาไฟปะทุอย่างเพียงพอ”

ทั้งนี้ บริษัททัวร์ระบุว่าพวกเขาไม่มีความสามารถในการจ่ายค่าปรับ และบริษัททั้ง 5 แห่งที่เกี่ยวข้องอยู่ในสถานะเลิกกิจการ มีสถานะทางการเงินที่อ่อนแอ หรือไม่มีทรัพย์สินเหลือแล้ว

เรียบเรียงจาก The Guardian

PPTVHD36
1 มีค 2567

92
สลด พยาบาลแม่ลูกอ่อน เพิ่งลาคลอดไม่กี่เดือน ขับเก๋งเสียหลักชนคนยืนโบกรถ ก่อนพุ่งอัดเสาป้ายตกร่องน้ำข้างทาง เสียชีวิตติดภายในรถ

เมื่อเวลา 09.00 น. วันที่ 29 ก.พ.2567 ร.ต.ท.มารุต นิตย์จินต์ รองสารวัตร(สอบสวน) สภ.เมืองจันทบุรี รับแจ้งเหตุรถเก๋งเฉี่ยวชนคนเดินเท้าริมถนน ส่วนรถเก๋งพุ่งตกร่องน้ำข้างทาง ริมถนนสุขุมวิท ขาเข้าเมือง ม.14 ต.คลองนารายณ์ อ.เมือง จ.จันทบุรี จึงรุดไปตรวจสอบพร้อมกู้ภัยสมาคมสว่างกตัญญูธรรมสถาน จันทบุรี ทีมแพทย์ฉุกเฉิน รถอุปกรณ์ตัดถ่าง และกำลังเจ้าหน้าที่กู้ภัยฯ

ที่เกิดเหตุพบรถบรรทุกพ่วง 22 ล้อ บรรทุกท่อซีเมนต์ขนาดใหญ่ สภาพเสียหลักตกอยู่ในร่อง ขณะกำลังเจ้าหน้าที่กู้ภัยกำลังเร่งให้การช่วยเหลือนำร่างผู้บาดเจ็บ เบื้องต้นเป็นชายอายุประมาณ 50 ปี ขึ้นมาจากร่องน้ำข้างทาง สภาพขาด้านขวาผิดรูปมีอาการทางกระดูก รีบปฐมพยาบาลนำตัวส่งโรงพยาบาลพระปกเกล้าฯ

ห่างกันประมาณ 10 เมตร พบรถเก๋ง ยี่ห้อฟอร์ด ทะบียน กต852 จันทบุรี สภาพเสียหลักพุ่งชนหมุนฟาดกับเสาป้ายและโคนเสาไฟฟ้าแรงสูง พุ่งตกลงไปในร่องน้ำข้างทางพังเสียหาย ภายในรถพบผู้เสียชีวิตเป็นหญิง 1 ราย สภาพถูกแรงอัดติดอยู่บนที่นั่งคนขับ
ต่อมาตำรวจได้ประสานกู้ภัยฯ ใช้เครื่องตัดถ่างงัดซากรถ ช่วยนำร่างผู้เสียชีวิตมาออกมาชันสูตร โดยใช้เวลาประมาณ 10 นาที จึงสามารถนำร่างผู้เสียชีวิตออกมาได้สำเร็จ

จากการสอบสวน นายบี (ขอสงวนนามสกุล) อายุ 36 ปี ผู้ที่อยู่ในเหตุการณ์ ให้การว่า ขณะเกิดเหตุ ตนพร้อมกับชายผู้บาดเจ็บ กำลังช่วยยืนโบกรถให้สัญญาณจราจรรถบรรทุกพ่วง 22 ล้อ บรรทุกท่อซีเมนต์ ที่เสียหลักตกลงไปในร่อง

นายบี กล่าวต่อว่า ต่อมามีรถเก๋งสีดำที่ขับมาทางตรง เสียหลักพุ่งเฉี่ยวชนลุงที่ยืนโบกรถอยู่ท้ายบรรทุกพ่วง ก่อนเสียหลักชนเสาป้ายตกลงไปในร่องน้ำจนทำให้เสียชีวิตดังกล่าว

ส่วนผู้เสียชีวิตจากการตรวจสอบเอกสารพบบัตรประจำตัวข้าราชการพยาบาล คือ น.ส.เพ็ญพิชชา (ขอสงวนนามสกุล) อายุ 33 ปี เป็นพยาบาลวิชาชีพปฏิบัติการ แผนกกุมารเวชกรรมโรงพยาบาลแห่งหนึ่ง

ขณะผู้สื่อข่าวได้ติดต่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม ทราบข่าวเศร้าว่า น.ส.เพ็ญพิชชา เพิ่งจะลาคลอดลูกได้ไปเพียงไม่กี่เดือน ก่อนจะมาประสบอุบัติเหตุเสียชีวิต อย่างไรก็ตามสาเหตุยังอยู่ในระหว่างการสอบสวนของตำรวจ

เบื้องต้นได้ตรวจสอบถ่ายภาพร่องรอยที่เกิดเหตุ พร้อมสอบปากคำพยานแวดล้อม บันทึกไว้เป็นหลักฐาน จากนั้นได้ประสานกู้ภัยฯ นำร่างผู้เสียชีวิตส่งโรงพยาบาลพระปกเกล้า เพื่อให้แพทย์ชันสูตรอย่างละเอียดอีกครั้ง ก่อนมอบให้ญาติรับไปประกอบพิธีทางศาสนาต่อไป

29 ก.พ.2567
ข่าวสด

93
งานเข้าวิลล่าหรูภูเก็ต จนท.ตรวจสอบ สั่งรื้อบันไดทิ้ง เหตุรุกที่สาธารณะ หลังหมอโดนทำร้าย ถูกกล่าวหาบุกรุก ไปนั่งในจุดบันไดลงชายหาดวิลล่าหรู

จากกรณี พญ.น้อง อายุ 32 ปี เป็นแพทย์เวชปฏิบัติทั่วไป ประจำคลินิก รพ.เอกชนแห่งหนึ่ง เข้าแจ้งความกับตำรวจ สภ.ถลาง จ.ภูเก็ต ว่าถูกชายชาวต่างชาติทำร้ายร่างกาย และกล่าวหาว่าบุกรุก ไปนั่งในจุดบันไดลงชายหาดวิลล่าหรู

โดยคุณหมอเผยต้องการขอความเป็นธรรม เนื่องจากภรรยาชาวต่างชาติที่เป็นคนไทย อ้างว่ามีลูกชายเป็นตำรวจและรู้จักกับนายตำรวจใหญ่ของ จ.ภูเก็ต ซึ่งตนเกรงว่าจะไม่ได้รับความเป็นธรรม และได้แจ้งความไว้กับพ.ต.ท.ปฏิวัติ ยอดขวัญ รอง ผกก.(สอบสวน) สภ.ถลาง เพื่อดำเนินคดีกับบุคคลที่เกี่ยวข้อง

สำหรับความคืบหน้า เมื่อเวลา 10.00 น. วันที่ 29 ก.พ.67 นายไพโรจน์ ศรีละมุล นายอำเภอถลาง จ.ภูเก็ต พร้อมด้วยเจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดภูเก็ต อำเภอถลาง และนายปัณยา สำเภารัตน์ นายกเทศมนตรีเทศบาลตำบลป่าคลอก นำเจ้าหน้าที่เข้าตรวจสอบแนวเขตที่ดิน บริเวณวิลล่าที่เกิดเหตุ ต.ป่าคลอก อ.ถลาง

จากการตรวจสอบพบว่า เจ้าของวิลล่าเคยนำชี้ขอออกโฉนด ซึ่งปัจจุบันยังคงเป็น นส.3 ก. โดยแนวที่นำชี้คือ ขั้นบันไดที่ 1 ดังนั้นขั้นบันไดลงมา 2-4 เป็นการรุกล้ำที่ดินสาธารณะบริเวณแนวชายหาดทรายสาธารณะ จึงมอบหมายนายกเทศบาลตำบลป่าคลอก เข้าแจ้งความดำเนินคดีบุกรุกตามกฎหมาย และดำเนินการรื้อถอน

ด้านพ.ต.อ.ภาสกร สนธิกุล รองผบก.ภ.จว.ภูเก็ต กล่าวว่า สำหรับผู้ถูกกล่าวหากระทำความผิดตามข้อกล่าวหาก็จะออกหมายเรียก เข้าสู่กระบวนการยุติธรรม เจ้าหน้าที่ไม่กังวลอะไร เพราะในวันนี้ทางคุณหมอนำรายงานการตรวจจากแพทย์โรงพยาบาลมาประกอบสำนวนแล้ว เพราะความหนักเบาของข้อหาอยู่ที่ลักษณะของบาดแผล และการรักษาที่แพทย์ลงความเห็นมา

ตอนนี้ผู้ว่าราชการจังหวัด ตั้งคณะตรวจสอบความประพฤติของต่างชาติที่เข้ามาในภูเก็ต ผ่านคณะกรรมการ โดยมีตรวจคนเข้าเมืองเป็นเลขา เพราะในช่วงที่ผ่านมาจะมีชาวต่างชาติบางคน ประพฤติตนไม่เหมาะสม ก็จะมาเข้าคณะกรรมการชุดนี้ ถ้าเข้าข่ายในการเพิกถอนหนังสือเดินทาง ก็จะมีการดำเนินการอย่างเด็ดขาด

29 ก.พ. 2567
ข่าวสด

94
ไทยวิกฤติขาดพยาบาลราว 50,000  คน  สธ.เห็นชอบผลิตเพิ่ม 5,000 คน หลักสูตรเร่งรัดรับจบป.ตรี มาเรียน 2.6 ปี  ขณะที่ครม.เห็นชอบงบกว่า 37,000 ล้านบาท ผลิต “ทีมหมอครอบครัว” 9 สาขา ระยะ 10 ปี ราว 62,000 คน

เมื่อวันที่ 21 ก.พ.2567 ที่กระทรวงสาธารณสุข นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รมว.สาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ภายหลังการประชุมผู้บริหารระดับสูงสธ.ว่า ที่ประชุมเห็นชอบในหลักการเรื่องการเพิ่มการผลิตบุคลากร สาขาวิชาพยาบาลศาสตร์ เพื่อรองรับวิกฤติการขาดแคลนบุคลากรทางการพยาบาลตามที่สถาบันพระบรมราชชนกและสภาการพยาบาลเสนอ โดยเป็นการผลิตพยาบาลเพิ่มแบบเร่งรัดระยะเวลา 2 ปี ปีละ 2,500คน รวม 5,000 คน

เป็นการรับผู้สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีทุกสาขาแต่ถ้าจะดีจบสาขาวิทยาศาสตร์การแพทย์ มาเรียนเพิ่มเติม 2.6 ปี จะเริ่มดำเนินการในปี 2568  มอบหมายให้สถาบันฯไปพิจารณาต่อเรื่องของหลักสูตร แหล่งผลิต และงบประมาณก่อนนำเข้าสู่การพิจารณาของครม.ต่อไป

ความจำเป็นที่ต้องผลิตพยาบาลเพิ่มอย่างเร่งด่วน เนื่องจากมีความขาดแคลนอยู่อีกราว 50,000 คน ซึ่งตามข้อกำหนดขององค์การอนามัยโลกหรือ WHO สัดส่วนพยาบาลต่อประชากรอยู่ที่ 1 ต่อ270 คน แต่ภาพรวมของประเทศไทยอยู่ที่ 1 ต่อ 343 คน

อีกทั้งยังมีปัญหาเรื่องการกระจายด้วยมี 42 จังหวัดที่มีสัดส่วนพยาบาลต่อประชากรอยู่ที่ 1 ต่อ  400 คน  15 จังหวัดสัดส่วน 1 ต่อมากกว่า 500 คน และ 5 จังหวัดที่สัดส่วนสูง คือ หนองบัวลำภู 1 ต่อ 712 คน บึงกาฬ 1 ต่อ 608 คน เพชรบูรณ์ 1 ต่อ 572 คน กำแพงเพชร 1 ต่อ 571 คน และศรีสะเกษ 1 ต่อ 569 คน

นพ.ชลน่าน กล่าวอีกว่า เมื่อวันที่ 20 ก.พ.2567 ครม.ได้เห็นชอบงบประมาณรว 37,200 ล้านบาทตามที่สธ.เสนอ  ใช้จ่ายจากงบประมาณรายจ่ายประจำปี ตั้งแต่ปีงบประมาณ 2568-2583 รวม 16 ปี เป็นโครงการผลิตแพทย์ที่มุ่งเน้นการพัฒนาระบบบริการปฐมภูมิ (Primary care service) หรือทีมหมอครอบครัว ใน  9 สาขา  ประกอบด้วย

แพทย์เวชศาสตร์
พยาบาล
นักวิชาการสาธารณสุข
ผู้ช่วยพยาบาล
ผู้ช่วยสาธารณสุข
ทันตแพทย์
เภสัชกร
นักฉุกเฉินการแพทย์
แพทย์แผนไทย

ครอบคลุมระยะเวลา 10 ปี ระหว่างปีการศึกษา 2568-2577 เมื่อครบระยะเวลาโครงการจะสามารถผลิตบุคลากรทางการแพทย์ได้ 62,000 คน โดยให้สถาบันพระบรมราชชนกผลิตเช่นกัน

การสร้างแรงจูงใจเพื่อให้คนมาเข้าศึกษาเป็นทีมหมอครอบครัว อาทิ

1.ปรับแก้ระเบียบการจ่ายค่าตอบแทนให้สอดรับกับงาน

2.เงินตอบแทนวิชาชีพหรือพตส.จาก 10,000 บาทต่อคนต่อเดือน เสนอขอเป็น 15,000 บาทต่อคนต่อเดือน

3.อายุงานของผู้ที่ลงไปปฏิบัติงานในระกับปฐมภูมิ กำลังหารือร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน(ก.พ.) เพื่อให้นับอายุงานตั้งแต่ยังเรียน แต่ค่าตอบแทนได้รับเมื่อเรียนจบและปฏิบัติงานแล้ว

4.ความก้าวหน้า สามารถเป็นผู้เชี่ยวชาญและผู้ทรงคุณวุฒิได้

และ5.การจัดสรรงบประมาณให้สอดรับกับเนื้องาน เช่น งบฯเหมาจ่ายรายหัว ให้จัดสรรเรื่องของการส่งเสริมป้องกันโรคของปฐมภูมิแยกออกมา

นพ.ชลน่าน กล่าวด้วยว่า ที่ประชุมยังเห็นชอบเรื่องการช่วยผู้ป่วยจิตเวชที่อาการรุนแรงไม่ยอมทานยา โดยให้จัดหายาฉีด LONG ACTING ANTIPSYCHOTIC INJECTABLE มาใช้ดูแลผู้ป่วย เนื่องจากมีผู้ป่วยที่เป็นเป้าหมายที่เป็นผู้ป่วยจิตเวชเข้าข่ายสร้างความรุนแรงต่อสังคม 4.2 หมื่นคน แยกเป็นระดับ V1 ที่ทำร้ายตัวเอง และV4ที่ทำร้ายสังคม  เบื้องต้นให้รพ.ศูนย์/รพ.ทั่วไป มีสำรองยาไว้ใช้ได้ราว 3 เดือน

 “ยาตัวนี้ยังเป็นยานอกบัญชียาหลักแห่งชาติ จึงยังไม่อยู่ในสิทธิประโยชน์ประกันสุขภาพภาครัฐ ที่ประชุมจึงมีมติให้นำเสนอยาตัวนี้เข้าสู่ขั้นตอนเพื่อบรรจุในบัญชีบาหลักแห่งชาติ ส่วนระหว่างที่มีการพิจารณาให้เสนอเข้าสู่คณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(บอร์ดสปสช.) เพื่อใช้เงื่อนไขเชิงนโยบาย พิจารณาใช้งบประมาณอุดหนุนมาจัดหาให้ผู้ป่วยใช้ก่อน”นพ.ชลน่านกล่าว

21 ก.พ. 2567
https://www.bangkokbiznews.com/health/public-health/1114254

95
ครม. เห็นชอบผลิตแพทย์ฯ 9 สาขาวิชาชีพ 10 ปี จำนวน 62,000 คน โดยอนุมัติรายการผูกพันข้ามปีงบประมาณที่มีวงเงินตั้งแต่ 1,000 ล้านบาทขึ้นไปสำหรับโครงการผลิตแพทย์ฯ รวมกว่า 3.7 หมื่นล้านบาท

วันนี้ (20 ก.พ. 67) นายชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุม ครม.วันนี้มีมติเห็นชอบในหลักการโครงการผลิตแพทย์และทีมนวัตกรรมสุขภาพเพื่อเวชศาสตร์ครอบครัวตอบสนองต่อระบบสุขภาพปฐมภูมิทั่วไทย

พร้อมกันนี้ได้อนุมัติรายการผูกพันข้ามปีงบประมาณที่มีวงเงินตั้งแต่ 1,000 ล้านบาทขึ้นไป สำหรับโครงการผลิตแพทย์ฯ จำนวนทั้งสิ้น 37,234.48 ล้านบาท ตามที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เสนอ
 
นายชัย โฆษกประจำสำนักนายกฯ กล่าวว่า โครงการผลิตแพทย์ฯ เป็นโครงการที่มุ่งเน้นการพัฒนาระบบบริการปฐมภูมิ (Primary care service) ซึ่งเป็นระบบบริการสุขภาพด่านแรกของระบบบริการสาธารณสุขเพื่อดูแลสุขภาพของประชาชนในท้องถิ่นที่จะช่วยให้ประชาชนสามารถเข้าถึงบริการสุขภาพได้อย่างทั่วถึง ประกอบด้วย แพทย์เวชศาสตร์ครอบครัว และสหวิชาชีพ รวม 9 สาขาวิชาชีพ ได้แก่

1.แพทย์เวชศาสตร์
2.พยาบาล
3.นักวิชาการสาธารณ์สุข
4.ผู้ช่วยพยาบาล
5.ผู้ช่วยสาธารณสุข
6.ทันตแพทย์
7.เภสัชกร
8.นักฉุกเฉินการแพทย์
9.แพทย์แผนไทย
 
สำหรับโครงการผลิตแพทย์ฯ มีวัตถุประสงค์ เพื่อผลิตบุคลากรทางการแพทย์ การพยาบาล และการสาธารณสุข และกระจายโอกาสทางการศึกษาไปสู่ประชาชนในส่วนภูมิภาค ครอบคลุมระยะเวลา 10 ปี ระหว่างปีการศึกษา 2568 – 2577 ซึ่งเมื่อครบระยะเวลาโครงการจะสามารถผลิตบุคลากรทางการแพทย์ได้ 62,000 คน

โดยกรอบวงเงินงบประมาณที่ใช้ในโครงการผลิตแพทย์ฯ มีจำนวนทั้งสิ้น 37,234.48 ล้านบาท ใช้จ่ายจากงบประมาณรายจ่ายประจำปี ตั้งแต่ปีงบประมาณ 2568-2583 รวมระยะเวลา 16 ปี ผลที่คาดว่าจะได้รับ
1.บุคลากรทางการแพทย์ การพยาบาล และการสาธารณสุขสามารถพัฒนาระบบสุขภาพปฐมภูมิของประเทศตามแนวคิดเวชศาสตร์ครอบครัว
2.บุคลากรของสถาบันพระบรมราชชนกและหน่วยงานเครือข่ายใน สธ. ได้รับการพัฒนาให้มีสมรรถนะตอบสนองความต้องการการผลิตบุคลากรตามแนวคิดเวชศาสตร์ครอบครัว
3.กระจายโอกาสทางการศึกษาทางการแพทย์ การพยาบาล และการสาธารณสุขไปสู่ประชาชนในส่วนภูมิภาค

20 ก.พ. 2567
https://www.bangkokbiznews.com/news/news-update/1114136

96
“ปัญหาคนไม่พอ เร่งผลิต ถ้าให้คิดคือคุณดึงคนอยู่ในระบบไม่ได้…​วันนี้ คุณวิเคราะห์ปัญหาถึงรากเหง้ากันหรือยัง?” เป็นเสียงสะท้อนจากสหภาพพยาบาลแห่งประเทศไทย หลังมีข่าวนโยบายเพิ่มจำนวนพยาบาลเข้าสู่ระบบ

‘1 ต่อ 343 คน’ คือตัวเลขเฉลี่ยของสัดส่วนพยาบาลวิชาชีพต่อจำนวนประชากรในประเทศไทย และ 1 ต่อ 712 คน คือสัดส่วนในจังหวัดหนองบัวลำภูซึ่งพยาบาลขาดแคลนมากที่สุด ในขณะที่องค์การอนามัยโลก (WHO) ระบุสัดส่วนที่ควรจะเป็นไว้ที่ 1 ต่อ 270 คนเท่านั้น โดยพบว่าเฉลี่ยแล้ว ไทยยังขาดแคลนพยาบาลอยู่มากถึง 51,420 คน

จากข้อมูลที่สะท้อนปัญหาขาดแคลนพยาบาลในการดูแลประชาชนนี้ สถาบันพระบรมราชชนก (สบช.) ร่วมกับสภาการพยาบาล จึงมีข้อเสนอในการผลิตพยาบาลเพิ่มเฉลี่ยปีละ 2,500 คน โดยให้ผู้ที่เรียนจบปริญญาตรีจากสาขาใดก็ได้ เรียนต่อในคณะพยาบาลศาสตร์อีก 2 ปีครึ่ง โดยเมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีกระทรวงสาธารณสุข บอกว่าเห็นชอบกับนโยบายนี้ และจะเริ่มดำเนินการในปี 2568

การเพิ่มคนเข้าระบบเพียงอย่างเดียวจะเป็นการแก้ไขปัญหาพยาบาลขาดแคลนได้จริงหรือ?​ หรือมีปัจจัยอะไรมากกว่านั้น? นี่เป็นประเด็นที่บุคลากรทางการแพทย์ รวมถึงประชาชนทั่วไปกำลังวิจารณ์ถึงนโยบายนี้บนโซเชียลมีเดีย The MATTER จึงไปรวบรวมคำตอบต่อคำถามเหล่านี้มาให้

สรุปปัจจัย ทำไมพยาบาลถึงลาออก

1.ไม่มีความก้าวหน้า : พยาบาลจำนวนมากตำแหน่งเงินเดือนตันเนื่องจากระบบ ระบบก้าวหน้าไม่เป็นไปตามความรู้ความสามารถ แม้จะจบปริญญาโท–เอก แต่ก็ยังต้องอยู่ในระดับชำนาญการ
2. งานหนัก : พยาบาลต้องทำงานติดต่อกันถึง 24 ชั่วโมง และเพราะคนไม่เพียงพอ จึงมีภาระงานมากถึง 80 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ สวนทางกับประกาศจากสภาการพยาบาลเรื่องนโยบายชั่วโมงการทำงาน ว่าพยาบาลไม่ควรทำงานเกินสัปดาห์ละ 40 ชั่วโมง หรือหากมากกว่านั้นต้องเป็นไปตามความสมัครใจ และควรหลีกเลี่ยงการทำงานเกิน 12 ชั่วโมงต่อวันติดกันเกิน 3 วันใน 1 สัปดาห์
3. เงินน้อย : ค่าตอบแทนพยาบาลวิชาชีพ ตามประกาศจากกระทรวงสาธารณสุข อยู่ที่ 1,000-22,800 บาทต่อเดือน ซึ่งคิดจากค่าเวร 600 บาทต่อวัน และเวรบ่าย–ดึก 240 บาทต่อวัน นอกจากนั้นยังมีค่าตอบแทนที่ประมาณการไม่ได้ เช่น การช่วยผ่าตัด ช่วยเตรียมผู้ป่วย หรือคลินิกนอกเวลา
4. สวัสดิการบ้านพัก : สภาพบ้านไม่พร้อมแก่การอยู่อาศัยเพราะโครงสร้างไม่ได้รับการซ่อมแซมมาเป็นเวลานาน และจากสถิติในปี 2561 บ้านพักพยาบาลยังไม่เพียงพออีกกว่า 7,000 แห่ง

โดยผลสำรวจจากสหภาพพยาบาลแห่งประเทศไทย ในปี 2563 เก็บข้อมูลจากพยาบาลและบุคลากรสาธารณสุขจำนวน 4,563 คน พบว่า ‘เบื่อระบบ ไม่ก้าวหน้า และรายได้ไม่เพียงพอ’ เป็นปัจจัยสามอันดับแรกที่ทำให้อยากลาออก ผู้ตอบแบบสอบถามจำนวน 46% ตอบว่าคิดจะลาออกก่อนเกษียณ ซึ่งในปัจจุบัน ข้อมูลจากสภาการพยาบาลเผยว่า มีจำนวนพยาบาลลาออกเฉลี่ยปีละ 7,000 คน

The MATTER ไปคุยกับ เตย (นามสมมติ) นักศึกษาพยาบาลจบใหม่ ถึงความรู้สึกที่มีต่อประเด็นนี้ เตยบอกเราว่า “เรามีความกังวลกับการทำอาชีพพยาบาลในอนาคต เพราะจบแล้วยังต้องใช้ทุนในโรงพยาบาลรัฐ แบกรับความเสี่ยงเรื่องการฟ้องร้อง และงานหนัก แต่เงินน้อย” 

เตยจึงเห็นว่านโยบายการแก้ไขปัญหานี้ไม่ตรงจุด และยังกังวลกับการให้เรียนพยาบาลต่อเพียงสองปีครึ่ง โดยเห็นว่าจำนวนเวลาที่น้อยอาจไม่เพียงพอต่อเนื้อหาทั้งหมดและไม่มีประสบการณ์มากเพียงพอ จึงอาจไม่เป็นผลดีกับผู้เข้าใช้บริการหรือผู้ป่วยได้

ในด้านของประชาชนทั่วไป มีการแสดงความเห็นบนโลกออนไลน์ทั้งไม่เห็นด้วยกับนโยบาย เพราะมองว่าเป็นการแก้ปัญหาไม่ถูกจุด และคิดว่าทักษะที่ได้จากเวลาเพียงสองปีครึ่งอาจไม่มีคุณภาพ

อย่างไรก็ดี อีกฝั่งหนึ่งเห็นด้วยกับการให้เรียนจบปริญญาตรีสาขาใดก็ได้และเรียนต่อพยาบาลอีกสองปีครึ่ง เพราะพยาบาลเป็นอาชีพที่ขาดแคลนทั้งในและนอกประเทศ และเห็นว่าจะได้มีคนเพิ่มขึ้นเพื่อมาช่วยแบ่งเบาภาระงาน

โดย นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว เล่าถึงรายละเอียดหลักสูตรนี้ว่า “เป็นหลักสูตรเร่งรัดมาตรฐาน ใช้เวลาผลิต 2 ปีครึ่ง รับจากผู้จบการศึกษาปริญญาตรี ไปต่อยอดเร่งรัดการผลิต ซึ่งที่ประชุมเห็นด้วยในหลักการ แต่มีข้อสังเกตกระบวนการผลิต หลักสูตรการรับรอง ความพร้อมของแหล่งผลิต เรื่องงบประมาณ จึงให้ทาง สบช. และผู้เกี่ยวข้องไปจัดทำรายละเอียดเพื่อนำเสนอต่อ ครม. ต่อไป”

หลังจากมีการวิพากษ์วิจารณ์จำนวนมากถึงความไม่เหมาะสมของนโยบาย จึงต้องติดตามต่อไปว่าจะมีการแก้ไขนโยบายให้สอดคล้องกับสภาพความเป็นจริงมากขึ้นหรือไม่ รวมถึงสถานการณ์การขาดแคลนพยาบาล รวมถึงบุคลากรทางสาธารณสุขต่างๆ จะถูกแก้ไขอย่างไรไม่ให้เกิดภาวะสมองไหลออกจากระบบดังที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน

23 February 2024
https://thematter.co/brief/thai-nurse-problems-in-system/222940

97
สธ.แก้ปัญหาพยาบาลขาดแคลน เพิ่มหลักสูตรเรียนพยาบาลจบใน 2 ปีครึ่ง เปิดโอกาสให้ผู้ปริญญาตรีทุกสาขา เรียนหลีกสูตรพยาบาลจบใน 2 ปีครึ่ง หลังพบบางพื้นที่พยาบาล 1 คน ต้องดูแลประชากร 700 คน

วันนี้ (21 ก.พ.2567) นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รมว.สาธารณสุข กล่าวว่า ที่ประชุมผู้บริหารกระทรวงสาธารณสุข เห็นชอบข้อเสนอจากสถาบันพระบรมราชชนก(สบช.) ร่วมกับสภาการพยาบาล ในการผลิตพยาบาลเพิ่มในได้ภายใน 10 ปี หรือจำนวน 10,000 คน เฉลี่ยปีละ 2,500 คน โดยเปิดโอกาสให้ผู้จบการศึกษาปริญญาตรีสาขาใดก็ได้ มาศึกษาต่อในคณะพยาบาลศาสตร์อีก 2 ปีครึ่ง เพื่อแก้ไขปัญหาพยาบาลขาดแคลน

โดยจะเริ่มดำเนินการในปีการศึกษา 2568 เนื่องจากปัจจุบันพบว่า มีปัญหาขาดแคลนพยาบาลในการดูแลประชาชน บางพื้นที่มีพยาบาล 1 คน ต่อประชากร 700 คน อย่างไรก็ตาม จากภาพรวมเฉลี่ยยังขาดแคลนอยู่ถึง 51,420 คน ในภาพรวมพบว่าพยาบาล1 คนต้องดูแลประชากร 343 คน ขณะที่องค์การอนามัยโลกกำหนดเกณฑ์และสัดส่วนของพยาบาล 1 คน ต่อประชากร 270 คนเท่านั้น

สำหรับประเทศไทย พบว่า มีปัญหาการกระจายกำลังคนด้านสุขภาพในส่วนภูมิภาค 42 จังหวัดที่มีสัดส่วนมากกว่า พยาบาล 1 คน ต่อประชากร 400 คน และมี 15 จังหวัดที่มีสัดส่วน พยาบาล 1 คน ต่อประชากร 500 คน
และมีถึง 5 จังหวัด ที่พบสัดส่วนพยาบาล 1 คน ต่อประชากรจำนวนมาก คือ 
1.หนองบัวลำภู สัดส่วนพยาบาล 1 คน ต่อประชากร 712 คน
2.บึงกาฬ สัดส่วนพยาบาล 1 คน ต่อพยาบาล 608 คน
3.เพชรบูรณ์ สัดส่วนพยาบาล 1 คน ต่อประชากร 572 คน
4.กำแพงเพชร สัดส่วนพยาบาล 1 คน ต่อประชากร 571 คน และ
5.ศรีสะเกษ สัดส่วนพยาบาล 1คน ต่อประชากร 569 คน

นพ.ชลน่าน กล่าวต่อว่า ไม่เพียงแต่เรื่องการผลิตพยาบาล ยังมีอีกโครงการที่ล่าสุด ครม.มีมติเห็นชอบผลิตทีมหมอครอบครัว ซึ่งเป็นการผลิตบุคลากรทางการแพทย์ 9 สาขา เพื่อไปประจำในหน่วยบริการปฐมภูมิ เช่น แพทย์เวชศาสตร์ฯ พยาบาล ทันตแพทย์ชุมชน เภสัชกรชุมชน แพทย์แผนไทย ผู้ช่วยทันตแพทย์ ผู้ช่วยพยาบาล นักจัดการฉุกเฉินชุมชน และนักวิชาการสาธารณสุข คาดจะใช้งบประมาณทั้งสิ้น 37,234.48 ล้านบาทในระยะเวลา 10 ปี เมื่อผลิตครบจะมีคนเข้าสู่ระบบราว 6.2 หมื่นคน

21 ก.พ. 67
ไทยพีบีเอส

98
ครม. เห็นชอบโครงการผลิตแพทย์และทีมนวัตกรรมสุขภาพฯ 62,000 คน ครอบคลุมระยะเวลา 10 ปี แต่ใช้งบรายจ่ายประจำปีตั้งแต่ 2568-2583

เมื่อเวลา 13.00 น. วันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2567 นายชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงผลประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า ที่ประชุมมีมติเห็นชอบในหลักการโครงการผลิตแพทย์และทีมนวัตกรรมสุขภาพเพื่อเวชศาสตร์ครอบครัว ตอบสนองต่อระบบสุขภาพปฐมภูมิทั่วไทย และอนุมัติรายการผูกพันข้ามปีงบประมาณ ที่มีวงเงินตั้งแต่ 1,000 ล้านบาทขึ้นไป โครงการผลิตแพทย์ฯ จำนวนทั้งสิ้น 37,234.48 ล้านบาท ตามที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เสนอ

สำหรับโครงการผลิตแพทย์ฯ เป็นโครงการที่มุ่งเน้นการพัฒนาระบบบริการปฐมภูมิ ซึ่งเป็นระบบบริการสุขภาพด่านแรกของระบบบริการสาธารณสุขเพื่อดูแลสุขภาพของประชาชนในท้องถิ่น ที่จะช่วยให้ประชาชนสามารถเข้าถึงบริการสุขภาพได้อย่างทั่วถึง ประกอบด้วย แพทย์เวชศาสตร์ครอบครัว และสหวิชาชีพ รวม 9 สาขาวิชาชีพ

ทั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อผลิตบุคลากรทางการแพทย์ การพยาบาล และการสาธารณสุข กระจายโอกาสทางการศึกษาไปสู่ประชาชนในส่วนภูมิภาค ครอบคลุมระยะเวลา 10 ปี ระหว่างปี 2568-2577 ซึ่งจะสามารถผลิตบุคลากรทางการแพทย์ได้ 62,000 คน โดยใช้จ่ายจากงบประมาณรายจ่ายประจำปี ตั้งแต่ปีงบประมาณ 2568-2583 รวม 16 ปี.

20 ก.พ. 2567
ไทยรัฐ

99
คติธรรมเนื่องในวันมาฆบูชาวันเสาร์ที่ ๒๔ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๗

“ดิถีมาฆบูชาได้เวียนมาบรรจบอีกคำรบหนึ่งแล้ว ดิถีเช่นนี้ชวนให้พุทธบริษัท น้อมรำลึกถึงเหตุการณ์ที่สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงแสดงโอวาทปาติโมกข์ ประทานแก่พระอรหันตสาวก ๑,๒๕๐ รูป ซึ่งล้วนอุปสมบทโดยวิธีเอหิภิกขุ เหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้น ณ ดิถีเพ็ญเดือน ๓ หลังสมเด็จพระบรมศาสดา ตรัสรู้และประกาศพระศาสนาแล้ว ๙ เดือน

เมื่อพิจารณาจากประวัติการณ์แห่งวันจาตุรงคสันนิบาต ย่อมเห็นประจักษ์ว่า พระภิกษุผู้มาประชุมกันเป็นมหาสังฆสันนิบาตนั้น ต่างพรั่งพร้อมกันมา ณ เวฬุวันมหาวิหาร ด้วยอานุภาพแห่ง “คารวธรรม” พุทธบริษัททั้งหลายผู้เป็นอนุชน จึงพึงเทิดทูนจริยาของพระอรหันต์ทั้งนั้น ขึ้นเป็นแบบอย่างทางประพฤติแห่งตน ๆ โดยสำนึกว่า ถึงแม้พระสาวกทุกรูป ได้บรรลุถึงคุณธรรมสูงสุด ดับกิเลสเพลิงทุกข์ได้สิ้นเชิงแล้ว แต่ก็ยังคงเคารพนอบน้อมอย่างยิ่งต่อพระบรมศาสดา และพระธรรม เพราะฉะนั้น พุทธบริษัทผู้มุ่งหมายความสุขความเจริญทั้งทางโลกและทางธรรม จึงจำเป็นต้องมี “นิวาตธรรม” คือความอ่อนน้อมถ่อมตน เป็นพื้นอุปนิสัย ขอจงระลึกไว้ว่า คุณธรรมแห่งพระอรหันต์นั้น สูงส่งเหนือกว่าอิสริยยศทั้งปวงในโลก หากแต่พระอรหันต์กลับปราศจากความอวดดื้อถือดี ปราศจากความเนรคุณลบหลู่ดูหมิ่น เพราะทุกรูปต่างมีความคารวะนอบน้อมอย่างมั่นคง ต่อพระรัตนตรัย ต่อการศึกษา ต่อความไม่ประมาท และต่อการปฏิสันถาร ดังนี้ บรรดาผู้ยังมีธุลีในดวงตา มีกิเลสเครื่องเศร้าหมองครอบงำใจอยู่ จึงพึงเพียรหมั่นเพิ่มพูนคารวธรรม ให้งอกงามขึ้นในตนอยู่เสมอ ให้สมด้วยธรรมภาษิตที่ว่า “มหตฺตปตฺโตปิ นิวาตวุตฺติ” แปลความว่า “ถึงแม้จะดำรงตำแหน่งใหญ่ คืออิสริยยศที่กว้างขวาง แต่ก็ไม่ผยองด้วยยศ ถ่อมตน ทำตามโอวาทของบัณฑิต.” เพื่อความผาสุกร่มเย็นในจิตใจตน ตลอดจนประเทศชาติ และโลกนี้ได้อย่างยั่งยืน

ขอพระสัทธรรมของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า จงดำรงมั่นคงอยู่ในโลกนี้ตลอดกาลนาน และขอสาธุชนทั้งหลายจงพร้อมเพรียงกันศึกษาพระสัทธรรมนั้น เพื่อบรรลุถึงความรุ่งเรืองสถาพรสืบไป เทอญ.”

สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก
วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม

100
ตำรวจหญิง สังกัดพิสูจน์หลักฐาน จ.นนทบุรี ยื่นใบลาออก ร่ายยาวเหตุผล แต่ละอย่างสุดพีก ทั้งเหนื่อย อึดอัด อ้างนายลำเอียง ปัญหาไม่ได้รับการแก้ไข จนป่วยซึมเศร้า

วันที่ 23 ก.พ.67 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากกรณี ในโลกโซเชียลมีการแชร์ บันทึกข้อความขอลาอออก ของเจ้าหน้าที่ตำรวจหญิงนายหนึ่ง สังกัดพิสูจน์หลักฐาน จ.นนทบุรี ซึ่งระบุว่า ตัวเองเข้ารับราชการเมื่อวันที่ 21 พฤศจิกายน 2554 พร้อมอ้างว่ามีความประสงค์ขอลาออกจากราชการเพราะอึดอัด เหนื่อย ปัญหาที่ทำงานเยอะ นายเลือกที่รักมักที่ชัง ลำเอียง ปัญหาไม่ได้รับการแก้ไข ทำให้เป็นโรคซึมเศร้า และคิดจะฆ่าตัวตาย จึงเรียนมาเพื่อโปรดพิจารณา

ต่อมา ผู้สื่อข่าวได้เดินทางไปยังพิสูจน์หลักฐานจังหวัดนนทบุรี ริมถนนนนทบุรี 1 เพื่อสอบถามเรื่องการลาออกดังกล่าว โดยเจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติหน้าที่อยู่ให้ข้อมูลว่า ตอนนี้ ว่าที่ พ.ต.ท.หญิง คนดังกล่าว ได้เดินทางไปยัง ศปก.ตร. เพื่อชี้แจ้งถึงเหตุผลในการลาออกครั้งนี้แล้ว.

23 ก.พ.2567
ไทยรัฐ

101
มีการเปิดเวที High Level Policy Forum “ทิศทางการพัฒนาทักษะทุนชีวิต เพื่ออนาคตที่ยั่งยืนของประเทศไทย” จัดโดยกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา(กสศ.) และธนาคารโลก (เวิลด์แบงก์) และมีการเปิดผลโครงการวิจัย สำรวจทักษะและความพร้อมของกลุ่มประชากรวัยแรงงาน หรือ ASAT 

ซึ่งได้ออกแบบมาเพื่อวัดทักษะรากฐาน (Foundational Skills)  ของเยาวชนและผู้ใหญ่อายุ 15-64 ปี ประกอบด้วย ทักษะการรู้หนังสือ ทักษะดิจิทิล  และทักษะทางอารมณ์และสังคม  ครอบคลุม 6 ภูมิภาค ได้แก่ กรุงเทพมหานคร ภาคกลาง ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคใต้ และ EEC  โดยออกแบบเพื่อสร้างตัวชี้วัดที่สามารถเป็นตันแทนในระดับประเทศและระดับภูมิภาค

นายโคจิ มิยาโมโตะ นักเศรษฐศาสตร์อาวุโสด้าน Global Practice จากธนาคารโลก นำเสนอผลวิจัยระบุว่า   ประเทศไทยกำลังเผชิญกับปัญหาวิกฤตทักษะทุนชีวิต คล้ายกับหลายๆประเทศในภูมิภาคนี้  คือมีสัดส่วนที่ใหญ่มากของเยาวชนและผู้ใหญ่ที่มีทักษะทุนชีวิต หรือ Foundational Skills ต่ำกว่าเกณฑ์ กลุ่มคนเหล่านี้ไม่มีความสามารถในการอ่านหนังสือขั้นพื้นฐานและการคำนวณอย่างง่ายๆ และไม่แสดงออกว่าจะสามารถมีส่วนร่วมกับผู้อื่นหรือเปิดกว้างรับแนวคิดใหม่ๆ 

ทั้งนี้เกือบสองในสาม หรือ ร้อยละ 64.7  ของประชากรเยาวชนและผู้ใหญ่ในประเทศไทยมีทักษะด้านการรู้หนังสือที่ต่ำกว่าเกณฑ์ หมายความว่า กลุ่มบุคคลเหล่านี้ไม่สามารถที่จะอ่านและเข้าใจข้อความสั้นเพื่อแก้ปัญหาง่ายๆ เช่น การทำตามฉลากยา

ขณะที่จำนวนสามในสี่ หรือร้อยละ 74.1 ของประชากรเยาวชนและผู้ใหญ่มีทักษะทุนชีวิตด้านดิจิทัลที่ต่ำกว่าเกณฑ์ หมายความว่า กลุ่มบุคคลเหล่านี้ประสบปัญหาในการใช้อุปกรณ์ชี้ตำแหน่ง (pointing device) และแป้นพิมพ์ (keyboard) บนคอมพิวเตอร์พกพาและไม่สามารถทำงานง่ายๆ เช่น การค้นหาราคาที่ถูกต้องของสินค้าจากเว็บไซต์ขายสินค้าออนไลน์ ยิ่งไปกว่านั้น

ร้อยละ 30.3 ของเยาวชนและผู้ใหญ่มีทักษะรากฐานทางอารมณ์และสังคมที่ต่ำกว่าเกณฑ์  หมายความว่า กลุ่มบุคคลเหล่านี้ไม่มีแนวโน้มที่จะคิดริเริ่มเพื่อสังคมหรือมีความกระตือรือร้นอยากรู้อยากเห็นและมีจินตนาการซึ่งเป็นลักษณะสำคัญที่ช่วยให้ผู้คนรับมือและประสบความสำเร็จในที่ทำงาน
ทักษะทางอารมณ์และสังคมเหล่านี้ยังเป็นที่ทราบกันดีว่าช่วยให้บุคคลสามารถผ่านความไม่แน่นอน ความเสี่ยง และความตื่นตระหนกในชีวิตประจำวัน รวมถึงการระบาดล่าสุดของโควิด-19 และภัยธรรมชาติที่ประเทศไทยมักประสบ

 งานวิจัยยังพบว่า ประเทศไทยมีประชากรเยาวชนและผู้ใหญ่เกือบหนึ่งในห้า หรือร้อยละ 18.7 ที่ไม่สามารถพึ่งพาตนเองได้ เพราะขาดทักษะทุนชีวิตทั้งสามด้าน 

การขาดทักษะหลาย ๆ ด้านนั้น หมายความว่าบุคคลนั้นแทบจะไม่สามารถทำอะไรได้ด้วยตนเองเลย และมีแนวโน้มว่าจะเหลือเพียงทางเลือกที่จำเป็นต้องพึ่งพาผู้อื่นเพื่อชดเชยวิกฤตด้านทักษะ ประเด็นนี้อาจก่อให้เกิดความท้าทายอย่างมาก เนื่องจากประเทศไทยมุ่งมั่นที่จะก้าวไปเป็นประเทศที่มีรายได้สูง ลดความเหลื่อมล้ำ และปรับปรุงความเป็นอยู่ที่ดีของสังคม

นอกจากนี้ ยังพบว่า ร้อยละ 70 ของผู้ที่อยู่ในชนบทมีระดับการรู้หนังสือต่ำกว่าเกณฑ์(ค่าเฉลี่ยทั่วประเทศ ร้อยละ 65)  ร้อยละ 80 ของผู้ที่มีอwายุ 40 ปีขึ้นไปมีระดับทักษะด้านดิจิทัลต่ำกว่าเกณฑ์(ค่าเฉลี่ยทั้งประเทศ ร้อยละ 75)   ร้อยละ 60 ของผู้ที่มีอายุต่ำกว่า 40 ปั และมีการศึกษาไม่ถึงระดับอุดมศึกษา มีระดับการรู้หนังสือต่ำกว่าเกณฑ์(ค่าเฉลี่ยทั้งประเทศ ร้อยละ 65)

กลุ่มผู้ที่อยู่ในพื้นที่ชนบทอาศัยอยู่ในภาคเหนือและภาคใต้ ที่มีอายุ 40 ปีขึ้นไป และมีการศึกษาไม่ถึงระดับอุดมศึกษา    ร้อยละ 89 ของผู้ที่อยู่ในภาคเหนือมีระดับการรู้หนังสือต่ำกว่าเกณฑ์(ค่าเฉลี่ยทั้งประเทศ ร้อยละ 65)  ร้อยละ 84 ของผู้ที่อยู่ภายใต้มีระดับทักษะด้านดิจิทัลต่ำกว่าเกณฑ์(ค่าเฉลี่ยทั้งประเทศ 75%)

นายโคจิ กล่าวว่า ผลลัพธ์นี้สามารถเปรียบเทียบกับตัวเลขที่คล้ายกันจากการสำรวจทักษะผู้ใหญ่ของ OECD ซึ่งรวมถึงผลลัพธ์จากฟินแลนด์ (ร้อยละ 37.1 ในปี 2555) เอสโตเนีย (ร้อยละ 47.3 ในปีพ.ศ. 2555) เกาหลี (ร้อยละ 49.9 ในปีพ.ศ. 2555) สหรัฐอเมริกา (ร้อยละ 49.1 ในปีพ.ศ. 2555) และสิงคโปร์ (ร้อยละ 56.6 ในปีพ.ศ. 2558) (OECD 2562)  ผลการศึกษาจำนวนมากจากการสำรวจทักษะผู้ใหญ่ของ OECD ชี้ให้เห็นว่าทักษะเหล่านี้เป็นตัวขับเคลื่อนหลักของตลาดแรงงานและผลลัพธ์ทางสังคมในระดับบุคคล ตลอดจนการเติบโตทางเศรษฐกิจในระดับประเทศ

“การที่มีสัดส่วนที่ใหญ่ของเยาวชนและผู้ใหญ่มีทักษะต่ำกว่าเกณฑ์นั้น เป็นต้นทุนทางเศรษฐกิจทมหาศาล  โดยมีมูลค่าถึง 3.3 ล้านล้านบาท หรือคิดเป็น ร้อยละ 20.1 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมประชาชาติ (Gross Domestic Product: GDP)  ในปี พ.ศ. 2565  โดยมูลค่าดังกล่าวมีจำนวนสูงกว่างบประมาณภาครัฐ ประจำปี พ.ศ. 2565 (3.1 ล้านล้านบาท) ขณะที่ความแตกต่างหรือช่องว่างของรายได้แรงงานต่อเดือนระหว่างผู้ที่มีทักษะต่ำกว่าเกณฑ์และสูงกว่าเกณฑ์ มีรายได้ต่างกันถึง 6,300 บาท หรือ 190 ดอลลาร์สหรัฐต่อเดือน” 
   
สำหรับ Foundational Skills หรือทักษะทุนชีวิต คือทักษะด้านสมรรถนะที่เด็ก เยาวชนและประชากรวัยแรงงานจำเป็นต้องมี ประกอบด้วย ด้านการอ่านออกเขียนได้ ด้านดิจิทัล ด้านสังคมและอารมณ์  เพื่อเผชิญกับความท้าทาย สามารถแก้ปัญหาที่เข้ามาในชีวิตประจำวัน  ช่วยพัฒนาความสามารถของบุคคลให้ก้าวไปข้างหน้า และใช้ประโยชน์จากโอกาสในศตวรรษที่ 21 

ด้าน ดร.ประสาร ไตรรัตน์วรกุล ประธานกรรมบริหารกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา กล่าวว่า  ประเทศไทย ได้รับการจัดอันดับเข้าสู่กลุ่มประเทศรายได้ปานกลางมาตั้งแต่ปี พ.ศ.2519 หรือกว่า 48 ปีมาแล้ว แต่ปัจจุบันก็ยังคงติดอยู่ในสถานะที่ทางธนาคารโลกเรียกว่า “กับดักรายได้ปานกลาง” อยู่ และประเทศไทยจำเป็นจะต้องมีรายได้ต่อหัวประชากรเพิ่มขึ้นอีกราว 40% เพื่อก้าวขึ้นสู่การเป็นประเทศรายได้สูงได้สำเร็จ ภายใต้ความร่วมกับธนาคารโลกในการดำเนินโครงการวิจัย สำรวจทักษะและความพร้อมของกลุ่มประชากรวัยแรงงาน หรือ ASAT ในครั้งนี้ กสศ.มุ่งใช้ข้อมูลและพัฒนางานวิจัยที่มีคุณภาพสูงในระดับนานาชาติ เพื่อนำไปสู่การกำหนดทิศทางนโยบายระดับชาติให้ประเทศไทยการก้าวออกจากกับดักรายได้ปานกลางได้ด้วยพลังของคนไทยทุกคนภายในระยะเวลาอีกไม่กี่ปีข้างหน้านี้ได้

ดร.ประสาร ชี้ว่า จากข้อค้นพบในงานวิจัยกสศ.มีข้อเสนอนโยบายต่อรัฐบาล 3 ด้าน ได้แก่

1.การเร่งลงทุนเพื่อเสริมสร้างทักษะทุนชีวิต(Foundational Skills) ทั้ง 3 ด้าน ด้วยการพัฒนาคุณภาพการเรียนรู้ที่มีอยู่ในทุกระดับการศึกษา และการฝึกอบรมพัฒนาประชากรวัยแรงงาน อย่างเสมอภาค โดยเฉพาะประชากรกลุ่มที่เปราะบาง การมีทักษะทุนชีวิตนี้เพิ่มขึ้นในประชากรวัยแรงงานของไทย ถือเป็นตัวชี้วัดสำคัญของพัฒนาการทางเศรษฐกิจของไทยในศตวรรษที่ 21

2.การสร้างวัฒนธรรมแห่งการเรียนรู้ (Learning Culture) ให้ทุกภาคส่วนในสังคมไทยร่วมมือกันสนับสนุนการพัฒนาทักษะทุนชีวิตของเด็กเยาวชนและประชากรวัยแรงงานทุก ๆ คน เพื่อให้เกิดระบบนิเวศที่สนับสนุนการพัฒนาที่ยั่งยืนของการลงทุนในทักษะทุนชีวิต 

3.การลงทุนในทุนมนุษย์อย่างทักษะทุนชีวิต รวมทั้งการลงทุนในมาตรการอื่น ๆที่เกี่ยวข้องถือเป็นเป็นการแก้ไขปัญหาความยากจนข้ามรุ่น และการพาประเทศไทยออกจากกับดักรายได้ปานกลางที่ตรงจุดและมีความคุ้มค่าทางเศรษฐกิจและสังคมสูงสุดที่ต้องการการนำ (Leadership) จากรัฐบาลในการส่งเสริมให้ทุกหน่วยงาน ทุกภาคส่วนได้ร่วมกันใช้ประโยชน์จากงานวิจัยฉบับนี้สู่การปฏิบัติแก่ประชาชนคนไทยทุกคน

ด้านนายอนุทิน ชาญวีรกุล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า รัฐบาลให้ความสำคัญต่อการพัฒนาแนวทางเชิงกลยุทธ์ ผ่านโครงการครั้งนี้ ซึ่งถือเป็นครั้งแรกที่มีการใช้ข้อมูลการวัดระดับทักษะ เพื่อให้เราได้เห็นภาพศักยภาพทรัพยากรมนุษย์ของเรา ตามความเป็นจริง  จะช่วยให้รัฐบาลและภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง เห็นจุดสำคัญ ทั้งในด้านช่องว่างทางทักษะ (หรือ skill gaps) และการขาดแคลนทักษะที่จำเป็นต่อการบรรลุเป้าหมายในชีวิต ในศตวรรษที่ 21

รัฐบาลเห็นสัญญาณของปัญหาที่เกิดจากความเหลื่อมล้ำนี้มาเป็นเวลานาน ทั้งจากการวัดผลด้านทักษะระดับประเทศ และระดับนานาชาติ ความแตกต่างระหว่างผู้มีโอกาสและผู้ด้อยโอกาส มีช่วงห่างที่กว้างขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งเราไม่ได้นิ่งนอนใจ 

ที่ผ่านมา รัฐบาลมีนโยบายส่งเสริมและพัฒนาทักษะให้แก่ เด็ก เยาวชนและประชาชน ผ่านการศึกษาและการฝึกอบรม เพื่อสร้างโอกาสและเส้นทางสู่การสร้างงาน สร้างรายได้ที่ดีขึ้น เช่น นโยบาย “Thailand Zero Dropout” หรือ “Learn to Earn” สำหรับทุกช่วงวัย รวมถึงการที่รัฐบาลพยายามเชิญชวนภาคธุรกิจเอกชนจากทั่วโลก ที่มีจุดแข็ง ที่หลากหลาย เข้ามาร่วมลงทุน ซึ่งหนึ่งในประเด็นสำคัญก็คือ ความร่วมมือเพื่อยกระดับการพัฒนาทุนมนุษย์ สนับสนุนการเรียนรู้ และการฝึกอบรมทักษะที่ต้องมีในตลาดแรงงาน สำหรับคนไทยทุกช่วงวัย

“ข้อค้นพบ และข้อเสนอนโยบายจากงานวิจัยนี้ จะช่วยให้ประเทศไทยมี Roadmap  การพัฒนาทุนมนุษย์ทุกช่วงวัยที่ตรงจุด และสร้างผลลัพธ์ในการพัฒนาคนได้สูงที่สุด  รวมทั้งช่วยให้ภาคเอกชน ทั้งในประเทศไทยและในระดับนานาชาติ มีความมั่นใจในการลงทุนเพื่ออนาคต ช่วยยกระดับเศรษฐกิจของประเทศไทย ผมขอย้ำว่ารัฐบาลมีความมุ่งมั่นและให้ความสำคัญต่อการพัฒนาทุนมนุษย์ เพื่อยกระดับประเทศไทย ให้เป็นประเทศที่มีรายได้สูง  ประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดี”

รองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ประเทศไทยเดินมาถึงจุดเปลี่ยน ที่ต้องการ “การบูรณาการความร่วมมือจากทุกภาคส่วน” ในการสร้างระบบนิเวศของการศึกษา และการฝึกอบรม ให้เข้มแข็ง ยืดหยุ่นและยั่งยืนความพยายามทั้งหมดนี้ คือ “สัญญาประชาคม สู่สังคมแห่งการเรียนรู้” ที่รัฐบาลมีต่อคนไทยทุกคน เพื่อให้เยาวชนและคนไทยทุกคนมีโอกาสที่จะเรียน ไม่ว่าจะอยู่ในสภาวะที่เปราะบางเพียงใด เพราะเราเชื่อว่า “สังคมแห่งการเรียนรู้” เป็นรากฐานสำคัญของประเทศ ไม่ว่าจะในเชิงเศรษฐกิจหรือสังคม

Thansettakij
22 กพ 2567

102
ศาลสูงสุดแห่งรัฐแอละบามาของสหรัฐฯ มีมติ 7 ต่อ 2 เสียง ตัดสินให้ตัวอ่อนแช่แข็งมีสภาพเป็นเด็ก ภายใต้กฎหมายของรัฐ และมีสิทธิได้รับสิทธิตามกฎหมายเช่นเดียวกับเด็กทารกในครรภ์คนอื่น ๆ

ในคำแถลงของผู้พิพากษาเจย์ มิตเชลส์ ประจำศาลสูงสุดแห่งรัฐแอละบามา ระบุว่า เด็กที่ยังไม่เกิด ให้ถือเป็น “เด็ก” โดยไม่มีข้อยกเว้น อ้างอิงจากพื้นฐานของระยะพัฒนาการ ตำแหน่งทางกายภาพ หรือลักษณะเฉพาะอื่น ๆ

คำตัดสินดังกล่าวมีขึ้นเพื่อตอบสนองต่อการฟ้องร้องดำเนินคดีในกรณีการเสียชีวิตโดยมิชอบ (Wrongful death) กับคลินิกรักษาผู้มีบุตรยากในเมืองโมบาย เมื่อปี 2021 หลังจากผู้ป่วยรายอื่น บุกเข้าไปในห้องเก็บตู้แช่แข็งตัวอ่อนสำหรับการผสมเทียม และทำให้ถาดบรรจุตัวอ่อนแช่แข็งหล่นและเสียหายหลายถาด
ทั้งนี้ คำตัดสินของศาลสูงสุดแห่งรัฐแอละบามา เปิดทางให้คู่รัก 3 คู่ สามารถฟ้องร้องคลินิกในกรณีการเสียชีวิตโดยมิชอบได้

PPTVHD36
22กพ2567

103
เป็นประเด็นถกเถียงกันอย่างมาก หลังจากที่ นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ให้สัมภาษณ์ ว่า สธ.จ่อเปิดโอกาสให้ผู้สำเร็จการศึกษาปริญญาตรีทุกสาขา สามารถมาเรียนพยาบาล 2 ปีครึ่ง แก้ไขปัญหา “พยาบาล” ขาดแคลนนั้น
 
ล่าสุดเมื่อวันที่ 22 กุมภาพันธ์ ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เพจ “ไม่ใช่หมอบ่น-aggressivenotdoctor” โพสต์ข้อความระบุว่า “ว่าด้วยพยบ 2.5ปี”

พร้อมกับแนบแชตที่พยาบาลรายหนึ่ง เข้ามาทักข้อความหาเพจ เพื่อบอกเล่าประสบการณ์ที่เจอนักศึกษาพยาบาลที่เรียนลักษณะนี้ มาฝึกงานในโรงพยาบาลที่เธออยู่ โดยระบุว่า

อยากเล่าเรื่องนี้มาก แต่ไม่อยากเม้นในโพสต์เพราะเดี๋ยวคนที่ทำงานจำได้ค่ะ

พูดไปจะหาว่าดราม่ามั้ย จะบอกว่ามีมหาลัยนึงเปิดหลักสูตรนี้แล้วค่ะ น้องเป็นรุ่น 1 เลย แต่ยังเรียนไม่จบ เพราะหลักสูตรเพิ่งเปิดใหม่ๆ
มาฝึกงานวอร์ดเรา…น้องแทบไม่มีความรู้ในหัวเลย ต้องมาสอนกันใหม่หมด ยาอะไรก็ไม่รู้จักสักตัวคนหน้างานก็สอนยาก ไม่ใช่ว่าไม่ยาก

สอน…แต่ถ้าน้องไม่มีองค์ความรู้ประมาณนึง จะไปกล้าให้น้องทำหัตถการกับคนไข้ได้ยังไงความเสี่ยงก็เยอะ แล้วน้องไม่มี

อาจารย์มาคุมด้วย พยาบาลในวอร์ดเองก็งานล้น จะมานั่งจ้ำจี้จ้ำไชสอนเด็กที่ไม่รู้พื้นฐานอะไรเลยมันก็ยาก

พอมาเจอกันอีกที่น้องก็มาฝึกปี 3 คราวนี้น้องบอกว่ารอบนี้ผ่านห้องคลอดมาแล้ว แต่รับเด็กไม่เป็น ไม่รู้ว่าเด็กคลอดแล้วต้องตรวจเด็กยังไง ไม่รู้ว่าต้องตรวจเด็กด้วยซ้ำ แค่ไปให้พี่พยาบาลจับมือเอาเด็กออกมา แล้วเค้าก็ให้ผ่านๆ ไปก่อน

เนี่ยแหละเลยคิด ว่าเราจะกล้าฝากชีวิตคนไข้ไว้กับพยาบาลหลักสูตรนี้จริงๆ เหรอ?

มติชน
22 กพ 2567

104
โรงพยาบาลขนาดใหญ่ในกรุงโซล ประเทศเกาหลีใต้ และพื้นที่อื่นๆ เผชิญความยากลำบากในการรองรับผู้ป่วยในวันนี้ หลังแพทย์ฝึกหัดหลายพันคนผละงานประท้วงติดต่อกันเป็นวันที่ 3 คัดค้านแผนรับนักศึกษาแพทย์เพิ่มอีก 2,000 คนตั้งแต่ปีหน้า จากปัจจุบันที่รับปีละประมาณ 3,000 คน เพื่อแก้ปัญหาขาดแคลนแพทย์

สมาคมการแพทย์เกาหลีเตือนว่า การรับสมัครแพทย์เพิ่ม ทำให้งบประมาณโครงการประกับสุขภาพแห่งชาติตึงตัว และจำนวนแพทย์ที่เพิ่มขึ้นไม่ได้ช่วยแก้ไขปัญหาขาดแคลนหมอเฉพาะทาง

แหล่งข่าวในวงการแพทย์ระบุว่า การที่แพทย์ฝึกหัดลาออกพร้อมกันเป็นจำนวนมาก ทำให้เกิดความวิตกกังวลเรื่องภาวะสุญญากาศในการบริการด้านสุขภาพ ขณะนี้โรงพยาบาลทั่วไปขนาดใหญ่ที่สุดในกรุงโซลจำนวน 5 แห่งต้องลดคิวผ่าตัดลงถึง 50%

สำนักข่าวยอนฮัป รายงานว่า ความขัดแย้งระหว่างแพทย์กับรัฐบาลเกาหลีใต้ในประเด็นดังกล่าวทวีความรุนแรงขึ้น หลังทางการเกาหลีใต้ประกาศว่าจะขอหมายจับแกนนำที่ยุยงให้แพทย์ฝึกหัด และแพทย์ประจำบ้านแห่ลาออกทั่วประเทศ
พัค มินซู รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุขของเกาหลีใต้ กล่าวกับผู้สื่อข่าวว่า ช่วงกลางคืนของวันพุธ (21 ก.พ.67) มีแพทย์ฝึกหัดยื่นใบลาออกแล้ว 9,275 ราย หรือคิดเป็นสัดส่วน 74.4% ของแพทย์ฝึกหัดทั้งหมดประมาณ 13,000 คน โดยในจำนวนดังกล่าว 8,024 คนไม่ไปทำงานแล้ว

พัคระบุว่า รัฐบาลเกาหลีใต้ได้สั่งให้แพทย์ฝึกหัดกว่า 6,000 คนกลับมาทำงาน และจนถึงขณะนี้กระทรวงสาธารณสุขเกาหลีใต้ได้รับคำร้องเรียนที่เกี่ยวข้องกับการพร้อมใจกันลาออกของแพทย์ฝึกหัดแล้ว 150 ครั้ง

พัคได้เรียกร้องให้เหล่าแพทย์ฝึกหัดเข้าร่วมเจรจากับรัฐบาลเพื่อหาทางออกร่วมกัน และขอให้แพทย์ฝึกหัด “จดจำเอาไว้ว่าผู้ป่วยกำลังรอคอยอยู่”

Bangkokbiznews
22 กพ 2567

105
ปัญหาสังคมผู้สูงวัยของญี่ปุ่นกระทบกับเรื่องเศรษฐกิจมากขึ้นเรื่อยๆ ก่อนหน้านี้จะเห็นข่าวผู้สูงวัยของญี่ปุ่นยังคงทำงานอยู่ในตลาดแรงงาน และแนวโน้มจะมากขึ้นด้วย โดยมีหลายเหตุผลตั้งแต่ความพึงพอใจอยากจะทำงานต่อไป และเหตุผลจำเป็นทางชีวิตที่ยังต้องทำงานหารายได้เพื่อเลี้ยงดูตัวเอง บางคนถึงกับยังต้องช่วยเหลือครอบครัว ทำให้ตอนนี้ผู้สูงอายุชาวญี่ปุ่นที่อายุเกิน 65 ปี ขึ้นไป สมัครงานเพิ่มขึ้นในตำแหน่งที่พอจะทำได้ในวัยนี้

แต่ในบางธุรกิจก็ต้องการแรงงานในแบบที่เป็นคนหนุ่มสาว หรือวัยทำงานนั่นเอง

ก่อนหน้านี้ด้วยวัฒนธรรมองค์กรของญี่ปุ่นค่อนข้างไม่เปิดรับแรงงานต่างชาติเท่าที่ควร แต่หลายปีมานี้หลังจากปัญหาขาดแคลนแรงงานเริ่มหนักขึ้น ทำให้หันมาเปิดรับแรงงานต่างชาติมากขึ้นเรื่อยๆ

ปัจจุบันบริษัทและสถานที่ต่างๆ ที่จ้างแรงงานต่างชาติเพิ่มขึ้น 6.7% สู่ระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 318,775 แห่ง เพื่อรับมือกับปัญหาการขาดแคลนแรงงาน

แต่ก็ยังมีบริษัทอีกจำนวนหนึ่งที่ต้องยื่นขอล้มละลายจากปัญหาขาดแคลนแรงงาน

รายงานที่ออกโดย Tokyo Shōkō Research เปิดเผยว่า จำนวนบริษัทในญี่ปุ่นที่ล้มละลายในปี 2566 เพิ่มขึ้น 35.2% คิดเป็น 8,690 แห่ง และหนี้สินรวมเพิ่มขึ้นเป็น 2.4 ล้านล้านเยน ซึ่งถือเป็นตัวเลขที่เพิ่มสูงขึ้น

ถ้ามองแบบใกล้ๆ ตัวเลย ร้านซูชิ ที่ถือเป็นอาหารโดดเด่นระดับซอฟท์พาวเวอร์ของญี่ปุ่นเองก็ปิดตัวเพิ่มขึ้น ทั้งสถานการณ์เงินเฟ้อ ขาดแคลนแรงงาน ราคาวัตถุดิบที่สูงขึ้น

ข้อมูลจาก Tokyo Shōkō Research ระบุว่า การล้มละลายมากสุดอยู่ในอุตสาหกรรมบริการ คือยื่นขอล้มละลาย 2,940 แห่ง เพิ่มขึ้น 41.6 % ส่วนอุตสาหกรรมก่อสร้างซึ่งกำลังเผชิญสถานการณ์ขาดแคลนแรงงานและราคาวัสดุที่พุ่งสูงขึ้น แจ้งล้มละลาย 1,693 แห่ง เพิ่มขึ้น 41.7 %

ถัดมาคืออุตสาหกรรมการผลิตมี 977 แห่ง เพิ่มขึ้น 35.3 % เนื่องจากได้รับผลกระทบจากต้นทุนวัตถุดิบและค่าพลังงานที่เพิ่มขึ้น
ภาพรวมจำนวนบริษัทในญี่ปุ่นที่ล้มละลายเนื่องจากขาดแคลนแรงงานเพิ่มขึ้น 2.5 เท่าเมื่อเทียบเป็นรายปี โดยมีบริษัทที่ล้มละลายเพราะปัญหานี้ 158 แห่ง ซึ่งถือเป็นจำนวนสูงสุดนับตั้งแต่การสำรวจครั้งแรกในปี 2556 นอกจากนี้ยังมีการล้มละลาย เพราะค่าแรงที่เพิ่มขึ้นด้วย

จากผลสำรวจนี้จะเห็นว่า การเพิ่มค่าจ้างเพื่อรักษาทรัพยากรมนุษย์และการรักษาสภาพแวดล้อมการทำงานที่ดีกำลังกลายเป็นความท้าทายที่สำคัญของฝ่ายบริหารของหลาบริษัท ซึ่งปีที่่ผ่านมา บริษัทญี่ปุ่นหลายแห่งใช้วิธีเพิ่มค่าตอบแทนและเพิ่มโบนัสเพื่อดึงบุคลากรไว้กับองค์กร

แต่สภาพที่ปฏิเสธไม่ได้คือ วันนี้ปัญหาสังคมสูงวัยของญี่ปุ่นที่ทำให้ขาดแคลนแรงงาน และญี่ปุ่นก็ต้องปรับตัวยอมเปิดรับแรงงานต่างชาติเข้ามาทำงานในประเทศมากขึ้น

กระทรวงแรงงานญี่ปุ่น ระบุว่าจำนวนแรงงานต่างชาติในญี่ปุ่นเพิ่มขึ้นทุกปี ล่าสุดพุ่งสูงกว่าระดับ 2 ล้านคนเป็นครั้งแรก โดยมีสัดส่วนแรงงานต่างชาติในงานภาคการก่อสร้าง การแพทย์ และสวัสดิการมากที่สุด

แรงงานต่างชาติที่มากที่สุดตอนนี้ เป็นแรงงานชาวเวียดนาม 518,364 คน รองลงมาคือจีน 397,918 คน ตามด้วยฟิลิปปินส์ 226,846 คน และเนปาล 145,587 คน

ในกรุงโตเกียวมีแรงงานต่างชาติมากที่สุดจำนวน 542,992 คน รองลงมาคือจังหวัดไอจิในภาคกลางมีแรงงานต่างชาติ 210,159 คน และโอซาก้ามีแรงงานต่างชาติ 146,384 คน

มองสถานการณ์ญี่ปุ่นแล้วย้อนมองมาที่ประเทศไทยก็อาจจะเห็นภาพที่อาจคล้ายกันได้ (ในส่วนของสังคมผู้สูงวัย) เพราะประเทศไทยใช้เวลาแค่ 19 ปี ก็เข้าสู่สังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์ ถือว่าใช้เวลาเร็วมากถ้าเทียบกับประเทศอื่นๆ

ตอนนี้ถ้าดูสัดส่วนของไทย เรามีผู้สูงวัย 20% วัยแรงงาน 63% และวัยเด็กเพียง 16%

ประชากรวัยทำงานของไทยปัจจุบันมีอยู่ 42.4 ล้านคน และมีแนวโน้มลดลงต่อเนื่อง

ประเมินกันว่าในอีกไม่ถึง 30 ปี แรงงานของไทย ที่มีอายุ 15-59 ปี ต่อประชากรทั้งหมด จะลดลงจาก 62% ในปี 2566 เหลือเพียง 50% ในปี 2593

เรื่องนี้ไม่ใช่เกิดแค่ในประเทศไทย แต่เป็นปัญหาร่วมทั่วโลกที่ขาดแคลนแรงงานภาคการผลิต หลายอุตสาหกรรมสามารถผลิตต่อโดยอาศัยแรงงานจากประเทศเพื่อนบ้าน ส่วนบางอุตสาหกรรมปรับไปใช้ระบบอัตโนมัติ หุ่นยนต์ และ AI มากขึ้น เพื่อทดแทนแรงงานที่หายไป

สำหรับประเทศไทยสถานการณ์ประเมินกันว่าหากไม่มีการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากรไทยแก้ปัญหาวิกฤติเกิดน้อยได้สำเร็จจะส่งผลต่อการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศแน่นอน

WORKPOINT
19 กพ 2567

หน้า: 1 ... 5 6 [7] 8 9 ... 536