แสดงกระทู้

This section allows you to view all posts made by this member. Note that you can only see posts made in areas you currently have access to.


Topics - story

หน้า: 1 ... 9 10 [11] 12 13 ... 536
151
โรงพยาบาลสวรรค์ประชารักษ์ จ.นครสวรรค์ ดูแลผู้ป่วยปากแหว่งเพดานโหว่ครบวงจร ภายใต้โครงการจัดฟันสัญจรในระบบบัตรทอง ร่วมกับสมาคมทันตแพทย์จัดฟันแห่งประเทศไทย ครอบคลุมเย็บติดริมฝีปาก หรือเพดาน-ทำเพดานเทียม-จัดฟัน-ฝึกพูด ยกระดับคุณภาพชีวิตผู้ป่วย

ทพ.อรรถพร ลิ้มปัญญาเลิศ รองเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พร้อมด้วย นพ.เอกรินทร์ อุ่นอบ ผอ.สปสช.เขต3 นครสวรรค์ ลงพื้นที่รับฟังและเยี่ยมชม โครงการจัดฟันสัญจรซึ่งเป็นโครงการของสมาคมจัดฟัน ร่วมมือ กับ มูลนิธิจัดฟันแห่งประเทศไทย สภากาชาดไทย รพ.สวรรค์ประชารักษ์ และ สปสช. เพื่อรักษา ปากแหว่งเพดานโหว่ให้กับผู้ที่มีสิทธิบัตรทอง ตั้งแต่แรกเกิด จนเสร็จสิ้นกระบวนการรักษา โดยมี รศ. (พิเศษ) ดร. ทพญ.สมใจ สาตราวาหะ ประธานสมาคมทันตแพทย์จัดฟันแห่งประเทศไทย สภากาชาดไทย และ นพ.วิพัฒน์ อุดมพงศ์ลักขณา นพ.ชำนาญการพิเศษ และรองผู้อำนวยการ รพ.สวรรค์ประชารักษ์ และ ทพญ.ปาลิดา ชำนาญหมอ ทันตแพทย์ชำนาญการพิเศษ หัวหน้ากลุ่มงานทันตกรรม รพ. สวรรค์ประชารักษ์ ต้อนรับ ณ รพ. สวรรค์ประชารักษ์ เขาเขียว จ.นครสวรรค์

รศ. (พิเศษ) ทพญ.สมใจ เปิดเผยว่า โครงการจัดฟันสัญจรดำเนินการเข้าสู่ปีที่ 13 โดยก่อนหน้าสมาคมทันตแพทย์จัดฟันแห่งประเทศไทยได้รับความร่วมมือจากสภากาชาดไทย และสมาคมวิชาชีพต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการดูแลผู้ป่วยปากแหว่งเพดานโหว่ ร่วมกันในโครงการ “ยิ้มสวยเสียงใส” ออกตรวจผู้ป่วยปากแหว่งเพดานโหว่ทั่วประเทศ ซึ่งก็พบว่าผู้ป่วยบางส่วนยังไม่ได้รับการรักษาเท่าที่ควร

อย่างไรก็ดี เนื่องจากการดูแลรักษาผู้ป่วยปากแหว่งเพดานโหว่นั้นไม่สามารถใช้แค่ทันตแพทย์เพียงวิชาชีพเดียวได้ เพราะเป็นการรักษาแบบองค์รวม การจัดฟัน การเย็บริมฝีปาก หรือเพดานปาก ฯลฯ จึงได้มีการรวบรวมแพทย์ในสาขาวิชาชีพต่างๆ เข้ามาร่วมด้วยทั้งทันตแพทย์จัดฟัน แพทย์เด็ก แพทย์หู คอ จมูก แพทย์เฉพาะทางศัลยกรรมตกแต่ง รวมถึงบุคลากรช่วยฝึกสอนการสื่อสาร การพูด เป็นอาทิ และได้มีการพูดคุยกับ สปสช. ในเรื่องของค่าใช้จ่ายในการักษา เพื่อให้ผู้ป่วยได้รับการรักษาที่ถูกต้อง สามารถใช้ชีวิตต่อไปในสังคม เป็นกำลังหลักในการพัฒนาประเทศได้

“โครงการนี้จะออกสัญจรทุกเดือน เดือนละ 1 ครั้งกระจายไปในโรงพยาบาลที่มีศักยภาพที่สามารถดูแลผู้ป่วยปากแหว่งเพดานโหว่ เช่น โรงพยาบาลสวรรค์ประชารักษ์ รวมไปถึงยังมีผู้ป่วยที่อาจจะยังเข้าไม่ถึงบริการ ซึ่งสิ่งสำคัญอีกอย่างคือโครงการจัดฟันสัญจร มีเพียงประเทศไทยประเทศเดียวเท่านั้นที่ดำเนินการ” รศ. (พิเศษ) ทพญ.สมใจ ระบุ

นพ.วิพัฒน์ กล่าวว่า โรงพยาบาลสวรรค์ประชารักษ์ให้บริการตั้งแต่การอัลตราซาวนด์ โดยแพทย์เวชศาสตร์มารดาและทารก เพื่อดูความผิดปกติ หากหลังคลอดพบว่าเด็กมีปัญหาปากแหว่งเพดานโหว่ก็จะทำการรักษา ทั้งการทำแผ่นเพดานเทียมเพื่อช่วยให้เด็กสามารถดูดนมแม่ได้ รวมถึงการเย็บติดริมฝีปาก และจัดฟันเมื่อถึงเวลาที่เหมาะสม

นอกจากนี้ ทางโรงพยาบาลจะมีแผนกพัฒนาการ เพื่อให้เด็กที่ได้รับการแก้ไขแล้วสามารถพูด หรือสื่อสารได้ชัดขึ้น โดยโรงพยาบาลสวรรค์ประชารักษ์ได้รับการประเมินจากกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ให้เป็นศูนย์ความเป็นเลิศด้านดูแลผู้ป่วยปากแหว่งเพดานโหว่ด้วย ซึ่งจากการดำเนินงานมาแล้ว 8 ปี มีผู้ป่วยที่ได้รับการดูแลแล้ว จำนวน 166 ราย ทั้งผู้ป่วยในจังหวัด และผู้ป่วยจากจังหวัดข้างเคียง

“เรามีครบวงจรตั้งแต่หมอสูตินรี หมอเด็ก ทันตแพทย์ ทันตแพทย์เด็ก ศัลยแพทย์ รวมถึงนักพัฒนาทักษะการพูด และมีทีมที่จะส่งต่อกันเพื่อดูแลผู้ป่วยให้ครบวงจร” นพ.วิพัฒน์ ระบุ

ทพ.อรรถพร ลิ้มปัญญาเลิศ รองเลขาธิการ สปสช. กล่าวว่า สำหรับสิทธิประโยชน์ของผู้ป่วยปากแหว่งเพดานโหว่สิทธิบัตรทองจาก สปสช. นั้นเป็นแบบองค์รวม ซึ่งจะเริ่มตั้งแต่การใส่เพดานเทียมเพื่อให้เด็กไม่สำลักเวลาได้รับนมแม่ จากนั้นเมื่ออายุได้ถึงระดับหนึ่งก็จะมีการทำศัลยกรรมเย็บปาก หรือเพดานให้ติดกัน ซึ่งสิทธิประโยชน์จะดูแลตั้งแต่ส่งเสริมป้องกันโรค รักษา และฟื้นฟู

สำหรับเด็กที่มีปัญหาปากแหว่งเพดานโหว่นั้น ฟันจะเรียงตัวกันได้ไม่ดี ทำให้มีปัญหาเรื่องการบดเคี้ยวอาหาร หรือการออกเสียงคำพูด รวมไปถึงรูปลักษณ์ภายนอก ซึ่งการจัดฟันสำหรับผู้ที่มีปัญหาเรื่องปากแหว่งเพดานโหว่นั้นมีวัตถุประสงค์อยู่ 3 ข้อ ได้แก่ 1. ช่วยเรื่องการบดเคี้ยว 2. ช่วยเรื่องการออกเสียงคำพูด และ 3. ช่วยเรื่องรูปลักษณ์ ฉะนั้นผู้ป่วยปากแหว่งเพดานโหว่สามารถติดต่อขอรับการรักษาได้ที่โรงพยาบาลใกล้บ้าน หรือโทรสอบถามสายด่วน สปสช. 1330 ได้เช่นกัน

“ค่าใช้จ่ายนั้นจะเป็นแบบเหมาจ่ายรายเคส สำหรับการดูแลทั้งหมด รวมถึงบางรายการที่เป็นอุปกรณ์เสริมที่จำเป็น เช่น เครื่องมือสำหรับการถ่างขากรรไกรในกรณีที่ผู้ป่วยมีขากรรไกรบนเติบโตน้อยกว่าปกติ ขณะเดียวกันคนไทยทุกคนทุกสิทธิการรักษาหากจะวางแผนมีบุตรก็สามารถขอรับกรดโฟลิกที่สามารถช่วยป้องกันได้ เพราะตรงนี้ก็อยู่ในสิทธิประโยชน์สร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรค” ทพ.อรรถพร ระบุ

ด้าน น.ส.อภิญญา บุญน่วม อายุ 19 ปี จ.กำแพงเพชร ผู้ป่วยปากแหว่งเพดานโหว่ที่ได้รับการรักษาจากโครงการฯ กล่าวว่า ได้รับการผ่าตัดเย็บติดริมฝีปากตั้งแต่แรกเกิด และได้รับการจัดฟันตั้งแต่อายุ 12 ปี ตั้งแต่เข้าโครงการฯ ครั้งแรก ทำให้รู้สึกมีความมั่นใจ กล้ายิ้มมากขึ้นมากกว่าก่อนจัดฟัน รวมถึงรู้สึกว่าเมื่อได้รับการจัดฟันแล้วสามารถออกเสียงพูดได้ชัดขึ้น ส่วนตัวดีใจและตื่นเต้นที่ได้เข้าร่วมการรักษา อย่างไรดี ขณะนี้อยู่ระหว่างการรอผ่าตัดขากรรไกร เนื่องจากแพทย์เห็นว่าฟันบนและล่างยังไม่สบกัน

อนึ่ง ในพื้นที่เขตสุขภาพที่ 3 นครสวรรค์ มีหน่วยบริการที่ขึ้นทะเบียนกับ สปสช. ให้บริการกรณีปากแหว่งเพดานโหว่ในระบบบัตรทอง 5 แห่ง ได้แก่ 1. โรงพยาบาลสวรรค์ประชารักษ์ 2. โรงพยาบาลชัยนาทนเรนทร 3. โรงพยาบาลอุทัยธานี 4. โรงพยาบาลกำแพงเพชร และ 5. โรงพยาบาลพิจิตร

23 ธ.ค. 2566  ผู้จัดการออนไลน์


152


สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ ได้เผยแพร่ภาพและข้อความระบุว่า เนื่องในอภิลักขิตสมัยขึ้นปีใหม่ พุทธศักราช 2567 เจ้าพระคุณ สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก โปรดประทานพระรูป และลายพระหัตถ์เชิญพุทธศาสนสุภาษิต ว่า

“จิตฺตํ ทนฺตํ สุขาวหํ” แปลความว่า “จิตที่ฝึกแล้ว นำความสุขมาให้” เป็นพระคติธรรมสำหรับความสุขปีใหม่ พุทธศักราช 2567

153
ราชบุรี - รถกระบะชนท้ายรถจักรยานยนต์ นศ.พยาบาลสาวปี 4 ขณะกำลังไปฝึกงานที่โรงพยาบาลราบุรีเสียชีวิต คนขับทิ้งรถหนี หน้าถนนบาสพาสเลี่ยงเมืองราชบุรี 

วันนี้ ( 19 ธ.ค.) พ.ต.ท.ชนรดิช เทียนทอง ร้อยเวร สภ.เมืองราชบุรี ได้รับแจ้งมีรถยนต์กระบะชนรถจักรยานยนต์ มีผู้เสียชีวิต 1 รายและบาดเจ็บ 1 ราย บริเวณหน้าถนนบาสพาสเลี่ยงเมืองราชบุรี ม.5 ตำบลดอนตะโก อ.เมือง จ.ราชบุรี  จึงเดินทางไปในที่เกิดเหตุพร้อมด้วยเจ้าหน้าที่มูลนิธิปฐมบรมราชานุสรณ์และแพทย์เวรโรงพยาบาลราชบุรี

ในที่เกิดเหตุพบรถยนต์กระบะยี่ห้อโตโยต้า 4 ประตู สีขาว  หมายเลขทะเบียน กต 6694 ราชบุรี  สภาพหน้ารถพังยับเยิน ใกล้กันพบผู้บาดเจ็บ 1 รายอาการปานกลาง เจ้าหน้าที่ทำการช่วยเหลือก่อนนำตัวส่งโรงพยาบาลไปก่อนหน้านี้ทราบชื่อคือนางชวนพิษ วราภักษ์ อายุ 55 ปี คนขับรถจักยานยนต์ และพบผู้เสียชีวิตจำนวน 1 รายเป็นหญิงทราบชื่อคือนางสาววริศรา มากสิน  อายุ 22 ปี อยู่บ้านเลขที่  120 ม.11 ต.คูบัว อ.เมือง จ.ราชบุรี เป็นนักศึกษาพยาบาลปี 4 กำลังฝึกงานอยู่ที่โรงพยาบาลใกล้จะจบห่างไปเล็กน้อยพบรถจักรยานยนต์ยี่ห้อฮอนด้าเวฟ ทะเบียน 1 กภ 6494 ราชบุรี สภาพยับเยิน

จากการสอบถามญาติผู้เสียชีวิตทราบว่านางชวนพิษ ผู้เป็นแม่และผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์กำลังขับไปส่งนางสาววริศรา ลูกสาวที่โรงพยาบาลราชบุรีเพื่อฝึกงานที่แผนกตึกฉุกเฉิน ขับออกมาจากบ้านยังไม่ถึง 50 เมตร มีรถยนต์กระบะคันก่อเหตุขับมาชนรถผู้เสียชีวิตจนกระเด็นลากไปไกลเกือบ 100 เมตร จนรถเสียหลักล้มจนได้รับบาดเจ็บและมีผู้เสียชีวิต

ส่วนรถกระบะญาติที่นั่งมาในรถด้วยกันให้การกับพนักงานสอบสวนว่ารถคนดังกล่าวมีนายอนันต์ ธรรมเนียม อายุ 44 ปี อยู่บ้านเลขที่ 203 ม.ต.ทุ่งหลวง อ.ปากท่อ จ.ราชบุรี ซึ่งเป็นคนขับ ได้ขับมาจากในพื้นที่ตำบลทุ่งหลวง อ.ปากท่อ กำลังขับมุ่งหน้าไปโรงพยาบาลราชบุรี เพื่อนำคนป่วยไปหาหมอตรวจร่างกาย

เมื่อมาถึงที่เกิดเหตุบริเวณเส้นทางบายพาสถนนเลี่ยงเมืองราชบุรี ตนเองเงยหน้ามาอีกทีก็ชนไปแล้ว ส่วนคนขับได้หลบหนีไปไม่สามารถติดต่อได้ ทางเจ้าหน้าที่ตำรวจได้ตรวจสอบในที่เกิดเหตุไว้เบื้องต้น และสอบพยานในที่เกิดเหตุ รวมถึงจะติดตามผู้ขับขี่รถยนต์กระบะมาดำเนินคดี และได้มอบศพของผู้เสียชีวิต ส่งชันสูตรเพิ่มเติมที่โรงพยาบาลราชบุรีเพื่อหาสาเหตุของการเสียชีวิตอย่างละเอียดก่อนจะมอบศพให้ญาติรับไปประกอบประเพณีตามศาสนาและจะได้ดำเนินการตามขั้นตอนของกฎหมายต่อไป

19 ธ.ค. 2566  ผู้จัดการออนไลน์

154
ชลน่าน ไม่มีความเห็น ปมคลังจ่อปรับลดภาษีน้ำเมา กรมควบคุมโรค ส่งหนังสือถึง 4 จว.เปิดผับตี 4 เก็บข้อมูลผลกระทบ

เมื่อวันที่ 23 ธันวามคม นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวถึงกรณีการติดตามผลกระทบจากการเปิดสถานบริการถึงเวลา 04.00 น. ในพื้นที่นำร่อง 4 จังหวัด คือ กรุงเทพมหานคร (กทม.) ชลบุรี เชียงใหม่ ภูเก็ต และเกาะสมุย จ.สุราษฎร์ธานี ว่า ขณะนี้ยังไม่มีรายงานอะไรเข้ามา ส่วนที่ถามว่าหากมีรายงานตัวเลขอุบัติเหตุหรืออะไรที่เพิ่มขึ้นนั้น ตรงนี้ต้องดูเรื่องของเวลาและสถานที่ อย่างเช่นช่วงเทศกาล ก็จะมีตัวเลขที่เพิ่มขึ้นในตัวอยู่แล้ว แต่เหตุการณ์ปกติที่ไม่ใช่เทศกาลมีลักษณะสถิติเพิ่มขึ้น ก็ต้องเป็นข้อมูลนำเข้ามาประมวลว่า มาตรการที่เรารองรับและกำหนด เช่น การห้ามจำหน่ายแอลกอฮอล์สำหรับคนที่มีอาการมึนเมาตามกฎหมายปฏิบัติหรือไม่ มาตรการขอความร่วมมือเวลาดื่มแล้วจะออกจากร้านไม่ขับรถ หรือมีรถไปรับส่งปฏิบัติหรือไม่ ก็ต้องไปตรวจสอบดู ถ้ามาตรการเหล่านั้นปฏิบัติครบถ้วนแล้วยังมีสถิติที่เพิ่มขึ้นอยู่ก็ต้องมาพิจารณาว่าจะเสนอแนวทางอย่างไร

ด้าน นพ.ธงชัย กีรติหัตถยากร รักษาราชการแทนอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า กรมควบคุมโรคได้มีหนังสือส่งไปในพื้นที่นำร่องแล้วว่า ให้ช่วยดำเนินการเก็บข้อมูลตั้งแต่วันที่ 15 ธ.ค.เป็นต้นไป ที่มีการเปิดผับบาร์ถึงตี 4 ว่ามีประเด็นใดขึ้นมาบ้าง

ถามถึงกรณีเครือข่ายภาคประชาชนมีการยื่นหนังสือเพื่อขอให้ สธ.คัดค้านกระทรวงการคลัง กรณีที่จะมีปรับลดภาษีน้ำเมา ซึ่งกังวลจะทำให้ราคาถูกลงและเกิดการดื่มมากขึ้น นพ.ชลน่านกล่าวว่า ขณะนี้ยังไม่มีการเสนอมาเลย และยังไม่เกิดขึ้น จึงยังไม่มีความเห็นที่เป็นทางการหรือความเห็นส่วนตัว

ด้าน นพ.นิพนธ์ ชินานนท์เวช ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกกอฮอล์ กรมควบคุมโรค กล่าวว่า ภาษีมีที่คาบเกี่ยวมีหลายตัว จะมีทั้งเปอร์เซ็นต์แอลกอฮอล์ หากเปอร์เซ็นต์เยอะก็เก็บภาษีเยอะ และยังมีราคาในเรื่องของส่วนต่างราคาก็ต้องเก็บภาษีตามนั้น ซึ่งเป็นมาตรการของกรมสรรพสามิตในการกำหนดเกณฑ์ แล้วยังมีภาษีนำเข้าที่เป็นภาษีศุลกากร ซึ่งเป็นพาร์ทคนละเรื่องกัน อย่างไรก็ตาม องค์การอนามัยโลกมีข้อเสนอให้เก็บภาษีตามเปอร์เซ็นต์แอลกอฮอล์ เพราะยิ่งสูงก็ยิ่งมีผลเสียทำลายสุขภาพมากขึ้น ซึ่งประเทศไทยก็มีการเก็บทั้งรูปแบบเปอร์เซ็นต์แอลกอฮอล์ และเก็บภาษีที่เกี่ยวข้องกับส่วนต่างๆ ของราคา

“อย่างเหล้ายี่ห้อเดียวกัน เปอร์เซ็นต์เท่ากัน ราคาขายต่างกัน ภาษีก็อาจเก็บไม่เหมือนกันด้วย ซึ่งสรรพสามิตจะเป็นคนคำนวณ เบื้องต้นเราขอว่า อย่าให้ภาษีถูกเกินไป เราต้องให้ข้อมูลข้อเท็จจริง เพราะเมื่อไรที่มีการลดอัตราภาษีเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ จะส่งผลให้ราคาเหล้าถูกลง อัตราการบริโภคของเยาวชนมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น มีหลายประเทศที่ศึกษามา เราก็ให้ความเห็นกระทรวงการคลังไป แต่ก็ต้องเป็นมาตรการเชิงนโยบายของรัฐบาลว่าจะมองอย่างไรกับประเด็นที่เกี่ยวข้อง” นพ.นิพนธ์กล่าว

23 ธันวามคม 2566
มติชน

155
สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สป.สธ.) ส่งหนังสือด่วนที่สุด ถึง ผู้ตรวจราชการ สธ. และ ผู้อำนวยการสำนักงานเขตสุขภาพที่  1 – 12 เรื่องการดำเนินการให้ข้าราชการพลเรือนสามัญ ซึ่งมีอายุครบ 60 ปีบริบูรณ์ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 รับราชการต่อไปในสังกัด สป.สธ. ลงวันที่ 18 ธ.ค. 2566 ลงนามโดย นพ.ภาณุมาศ ญาณเวทย์สกุล ผู้ตรวจราชการ สธ. รักษาราชการแทนรองปลัด สธ. ปฏิบัติราชการแทนปลัด สธ.

โดยหนังสือระบุว่า สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สป.สธ.) จะดำเนินการให้ข้าราชการพลเรือนสามัญ ซึ่งมีอายุครบ 60 ปีบริบูรณ์ในปีงบประมาณ 2567 รับราชการต่อไปในสังกัดสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สป.สธ.) ตามมาตรา 108 แห่ง พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ระเบียบข้าราชการพลเรือน 2551 เพื่อให้ข้าราชการผู้มีความรู้ ความสามารถ ทักษะ ประสบการณ์ ความเชี่ยวชาญ หรือความสามารถเฉพาะตัวรับราชการต่อไป เพื่อประโยชน์แก่ทางราชการ จึงกำหนดขั้นตอนการดำเนินการดังนี้

 หลักการ

1. หลักประโยชน์แก่ทางราชการ การให้ข้าราชการพลเรือนสามัญซึ่งมีอายุครบหกสิบปี บริบูรณ์รับราชการต่อไป ต้องเป็นความประสงค์ของทางราชการ เพื่อประโยชน์แก่ทางราชการ ไม่ใช่สิทธิของ ข้าราชการที่จะร้องขอ

2. หลักความสมัครใจของข้าราชการ แม้ส่วนราชการจะมีความประสงค์ให้ข้าราชการพลเรือนสามัญซึ่งมีอายุครบหกสิบปีบริบูรณ์รับราชการต่อไปเพื่อประโยชน์แก่ทางราชการ แต่ต้องคํานึงถึงความสมัครใจและความพร้อมของข้าราชการรายดังกล่าวด้วย

3. ระยะเวลาที่จะให้รับราชการต่อไป เป็นครั้งแรก เป็นเวลา 2 ปี ตั้งแต่วันที่ 9 ตุลาคม 2567ถึงวันที่ 30 กันยายน 2569
 

ขั้นตอนการดําเนินการ

1. สํานักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข กําหนดให้ข้าราชการพลเรือนสามัญซึ่งมีอายุครบ หกสิบปีบริบูรณ์ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 รับราชการต่อไปในสังกัดสํานักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข ในตําแหน่งนายแพทย์ ประเภทวิชาการ ระดับเชี่ยวชาญ ในสาขาวุฒิบัตรความเชี่ยวชาญ ดังนี้
    1) สาขาเวชศาสตร์ครอบครัว
    2) สาขาประสาทศัลยศาสตร์
    3) สาขาความขาดแคลนตามบริบทของพื้นที่

โดยให้คณะกรรมการระดับเขตสุขภาพ พิจารณาสาขาวุฒิบัตรความเชี่ยวชาญ ที่จะให้ข้าราชการพลเรือนสามัญซึ่งมีอายุครบหกสิบปีบริบูรณ์ใน ปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 รับราชการต่อไปในเขตสุขภาพ และให้ผ่านความเห็นชอบจากผู้ตรวจราชการ กระทรวงสาธารณสุขประจําเขตสุขภาพ นั้น

2. สํานักงานเขตสุขภาพ ดําเนินการแจ้งให้หน่วยงานในเขตพื้นที่พิจารณาความจําเป็น จะให้ข้าราชการพลเรือนสามัญซึ่งมีอายุครบหกสิบปีบริบูรณ์ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 รับราชการต่อไป โดยยึดหลักประโยชน์แก่ทางราชการ ภายในวันที่ 12 มกราคม 2567

3. หน่วยงานที่มีความจําเป็นที่จะให้ข้าราชการพลเรือนสามัญซึ่งมีอายุครบหกสิบปีบริบูรณ์ ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 รับราชการต่อไป ดําเนินการสอบถามความสมัครใจของข้าราชการ พร้อมจัดทํา เอกสารตามแบบแสดงความประสงค์ขอรับราชการต่อไป และจัดส่งเอกสารไปยังสํานักงานเขตสุขภาพ ภายในวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2567

19 December 2023
https://www.hfocus.org/content/2023/12/29290

156
อาหารไทยไม่แพ้ชาติใดในโลก เมื่อ TasteAtlas จัดอันดับ 100 เมนูอาหารที่ดีที่สุดในโลกปี 2023 ซึ่ง ”ผัดกะเพรา“ ได้อันดับ 3 มาครอง นอกจากนั้นยังมีอาหารไทยอีก 4 เมนู ติดโพลในครั้งนี้ด้วย

เว็บไซต์ TasteAtlas เว็บไซต์อาหารชื่อดัง ที่จัดอันดับความอร่อยของอาหารหลากหลายจากทั่วโลก ได้จัดอันดับ “เมนูอาหารที่ดีที่สุดในโลก ประจำปี 2023“ (100 Best Dishes in the World in 2023)

ซึ่งผลการจัดอันดับทำเอาคนไทยร้องเฮ! เพราะเมนู ”ผัดกะเพรา“ ของไทย สามารถคว้าอันดับ 3 มาครองได้

ไม่เท่านั้นยังมีอาหารไทยอีก 4 เมนู ที่ติดมาใน 100 อันดับในครั้งนี้ด้วย ได้แก่

อันดับ 6 ข้าวซอย
อันดับ 10 แกงพะแนง
อันดับ 15 ต้มข่าไก่
อันดับที่ 73 แกงมัสมั่น

สำหรับเมนูอาหารที่ได้
อันดับ 1 ในปีนี้ก็คือ เมนู “เนื้อพิคานย่า“ ของประเทศบราซิล
อันดับ 2 Roti canai จากประเทศมาเลเซีย
อันดับ 3 ผัดกะเพรา จากประเทศไทย
อันดับ 4 Pizza Napoletana จากประเทศอิตาลี
อันดับ 5 Guotie จากประเทศจีน
อันดับ 6 ข้าวซอย จากประเทศไทย
อันดับ 7 Butter Garlic Naan จากประเทศอินเดีย
อันดับ 8 Tangbao จากประเทศจีน
อันดับ 9 Shashlik จากประเทศรัสเซีย
อันดับ 10 แกงพะแนง จากประเทศไทย


Out of 10,927 cataloged dishes, based on 395,205 user ratings (271,819 valid), these 100 dishes received the highest ratings.

https://www.tasteatlas.com/best/dishes?fbclid=IwAR3tQzDPh0tJsoMymHFJ1UvYV6ysIo2vTHhV4BsHdBYsqRaPCpYVS3oDytM_aem_AUZcYDaSnRhWvxJAlmT1-ajFrmw57hmQ9Qng62htlbXqvJWXxTIjOaZSmwR1bCADF6Y


14 ธ.ค. 2566  ผู้จัดการออนไลน์

157
"ชลน่าน" ยังไม่ฟันวินัย ขรก.สธ. หากดื่มแล้วขับช่วงปีใหม่ ตั้งเป้าลดตายบนถนนอย่างน้อย 5% พร้อมมอบของขวัญแก้ง่วง 3 แสนชิ้นผู้เดินทาง ย้ำ 3 D “Drink Don’t Drive” ขับไม่ดื่ม ดื่มไม่ขับ ปลัด สธ.สั่ง รพ.เพิ่มบุคลากรขึ้นเวร เตรียมพร้อมทีมฉุกเฉิน ประสาน ตร.ออกตรวจ เอาโทษสูงสุดพวกทะเลาะวิวาทใน รพ. สตช.เผยชงอัยการเพิ่มโทษผิดซ้ำซ้อนเมาแล้วขับ

เมื่อวันที่ 21 ธ.ค. นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) แถลงข่าวเปิดตัวแคมเปญ 3D “Drink Don’t Drive” ขับไม่ดื่ม ดื่มไม่ขับ ว่า ช่วงเทศกาลปีใหม่มีการเฉลิมฉลอง มีการดื่มสุรา โอกาสเกิดอุบัติเหตุทางถนนเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะวันที่ 31 ธ.ค.ของทุกปี มีการเคาต์ดาวน์ ซึ่งปีนี้รัฐบาลส่งเสริมให้เปิดสถานบริการถึง 6 โมงเช้า คนพูดแซวว่าเสร็จแล้วก็ไปใส่บาตรต่อ ก็เป็นภาพที่จะเกิดขึ้นในปีนี้ ที่อาจมีการดื่มแล้วขับ โอกาสเกิดอุบัติเหตุ บาดเจ็บ และเสียชีวิตเพิ่มมากขึ้นได้ ซึ่งศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนน (ศปถ.) ตั้งเป้าให้ลดอุบัติเหตุจราจรลงอย่างน้อยร้อยละ 5 ซึ่งปีใหม่ 2566 วันที่ 29 ธ.ค. 2565 – 4 ม.ค. 2566 ช่วง 7 วันอันตราย เกิดอุบัติเหตุถึง 2,440 ครั้ง บาดเจ็บ 2,437 ราย และเสียชีวิต 317 ราย แม้จะลดลงจากปีก่อน แต่คดีที่เกิดอุบัติเหตุมากกว่าร้อยละ 96 หรือประมาณ 8,567 คดี เป็นคดีขับรถขณะเมาสุรา ถือว่าเป็นตัวเลขที่สูงและอันตรายมาก

"จึงต้องช่วยกันรณรงค์บอกกล่าวประชาชน หากขับรถต้องไม่ดื่มหรือดื่มแล้วต้องไม่ขับ ดื่มด้วยความรับผิดชอบ ในช่วงเทศกาลปีใหม่ 2567 และตลอดทั้งปี สธ.มีนโยบายรณรงค์ลดอัตราการเกิดอุบัติเหตุจากการดื่มแล้วขับลงให้ได้มากที่สุด กำหนดแคมเปญ 3 D คือ “Drink Don’t Drive” ขับไม่ดื่ม ดื่มไม่ขับ รณรงค์ร่วมกับทุกภาคส่วน นอกเหนือจากการแก้ไขปัญหาอื่นๆ เช่น พฤติกรรมของผู้ขับขี่ ทั้งขับรถเร็วไม่เหมาะสม ไม่ใช้อุปกรณ์นิรภัย เพื่อให้บุคลากรทางการแพทย์ได้รักษาผู้ป่วยจากโรควิกฤตฉุกเฉินได้อย่างเต็มที่" นพ.ชลน่านกล่าว

นพ.ชลน่านกล่าวว่า สธ.ห่วงใยประชาชนที่จะเดินทางกลับภูมิลำเนาหรือท่องเที่ยว จึงเตรียมผลิตภัณฑ์ยาอม ยาดม ยาหม่อง แก้อาการง่วงนอนขณะขับรถ 3 แสนชิ้น มอบเป็นของขวัญเล็กๆ น้อยๆ ร่วมกับหน่วยงานอื่นๆ ที่มีบริการน้ำดื่ม ผ้าเย็น ให้แก่ประชาชนที่เดินทางและต้องผ่านด่านตรวจคัดกรองการดื่มตลอดเส้นทางทั่วประเทศด้วย เพื่อให้ทุกคนได้กลับบ้านสู่อ้อมกอดของครอบครัวอย่างปลอดภัย รวมถึงส่ง อสม.ร่วมประเมินภาวะเมาแล้วขับ

ผู้สื่อข่าวถามว่ากรณีไทยจะนำร่องข้าราชการกระทรวงฯหากเมาแล้วขับ จะลงโทษทางวินัยหรือไม่ นพ.ชลน่าน กล่าวว่า คงนำร่องไม่ได้ เพราะการจะปฏิบัติอะไรต้องมีกฎหมายมารองรับ จะใช้อำเภอใจไปลงโทษใครย่อมไม่ได้ คิดเอาเอง แม้จะดีก็ทำไม่ได้ หากจะมีก็ต้องไปแก้กฎหมาย แก้ระเบียบเกี่ยวข้อง

นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัด สธ. กล่าวว่า ช่วงเทศกาลปีใหม่ 2567 ได้สั่งการให้หน่วยงานและ รพ.ในสังกัดเตรียมพร้อม โดยเปิดศูนย์ปฏิบัติการด้านการแพทย์และสาธารณสุข (EOC) ทั้งส่วนกลางและจังหวัด ประสานสนับสนุนการทำงานตลอด 24 ชั่วโมง ให้ สสจ.และ รพ.สนับสนุนการทำงานของชุดปฏิบัติการฉุกเฉินเบื้องต้นของ อปท. ฝึกทักษะช่วยเหลือผู้บาดเจ็บและผู้ป่วยฉุกเฉิน เตรียมพร้อมศูนย์รับแจ้งเหตุและสั่งการ ทีมปฏิบัติการฉุกเฉิน (EMS) ของ รพ.และเครือข่ายทุกระดับ รวมทั้งหน่วยปฏิบัติการทางอากาศและเรือ จัดหน่วยกู้ชีพระดับพื้นฐาน (BLS) และระดับสูง (ALS) ประจำบนเส้นทางถนนสายหลักที่มีจุดตรวจ/จุดบริการอยู่ห่างกันมาก เพื่อดูแลรักษาพยาบาลอย่างรวดเร็ว กรณีบาดเจ็บ/เจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤต ใช้สิทธิ UCEP ไม่เสียค่าใช้จ่าย 72 ชั่วโมงแรก นอกจากนี้ ให้ รพ.เพิ่มบุคลากรที่อยู่เวรจากปกติ เตรียมห้องฉุกเฉิน ห้องผ่าตัด ห้องไอซียู ระบบส่งต่อ เจาะเลือดตรวจระดับแอลกอฮอล์ผู้ขับขี่ที่เกิดอุบัติเหตุ ตามการร้องขอของเจ้าหน้าที่ตำรวจ กรณีไม่สามารถเป่าลมหายใจได้

"ช่วงเทศกาลปีใหม่ 3 ปีที่ผ่านมา (2564 - 2566) มีผู้บาดเจ็บเข้ารับการรักษา รพ.เฉลี่ย 25,799 ราย หรือ 3,685 รายต่อวัน ปีที่แล้วมีคนเสียชีวิต 317 ราย คาดการณ์ว่าปีนี้จะเป็นการท่องเที่ยวมากขึ้น โอกาสเกิดอุบัติเหตุมากขึ้น บุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขก็ต้องเตรียมความพร้อม ซึ่งช่วงปีใหม่บุคลากรก็สละเวลามาทำงาน ปริมาณงานก็มากขึ้น แต่ถ้าประชาชนร่วมกันร่วมใจกันก็จะเป็นส่วนหนึ่งในการลดอุบัติเหตุ โดยเฉพาะขับไม่ดื่ม ดื่มไม่ขับ นอกจากนี้ ยังมอบหมายผู้บริหารระดับสูง ทั้งรองปลัด อธิบดี เลขาธิการ อย. ตรวจเยี่ยมสนับสนุนเจ้าหน้าที่ปฏิบัติงานที่ห้องฉุกเฉินทุกเขตสุขภาพ" นพ.โอภาสกล่าว

นพ.โอภาสกล่าวว่า ส่วนเรื่องการเกิดทะเลาะวิวาท ความรุนแรงใน รพ. เราปรับโครงสร้างห้องฉุกเฉินมีประตู 2 ชั้น มี รปภ.อยู่ตลอด 24 ชั่วโมง มีปุ่มกดสัญญาณเตือนภัยให้เจ้าหน้าที่ตำรวจมาได้ทันที แล้วจะมีตำรวจสายตรวจมาตรวจเป็นระยะ บางที่เกิดบ่อยก็จะมาทุกครึ่งชั่วโมง ถ้าไม่บ่อยก็ 2 ชั่วโมง แต่ขอว่าอย่าให้เกิดเหตุจะดีกว่า รพ.เป็นสถานที่ดูแลทุกคนไม่ว่าจะเป็นฝ่ายไหน ไม่ควรจะมีการเกิดเหตุ ถ้ามี รพ.มีกล้องวงจรปิดอยู่ หลักฐานครบไม่รอดแน่ ศาลก็จะลงโทษตามกฎหมายสูงสุด

พ.ต.ต.วีรพัฒน์ ศิวะแพทย์ รองผู้บัญชาการสำนักงานยุทศาสตร์ตำรวจ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) กล่าวว่า ขณะนี้มีการเตรียมพร้อมเครื่องมือต่างๆ อย่างเครื่องตรวจวัดแอลกอฮอล์ เพื่อใช้ตามจุดต่างๆ ประสานผู้นำชุมชน อสม. บูรณาการทำงานร่วมกัน ตรวจบุคคลเสี่ยงเมาแล้วขับ โดยจะให้ผู้นำชุมชนไปตักเตือน ร้านค้าเสี่ยงที่เคยขายให้เด็ก เป็นต้น และสถานที่เสี่ยงที่มีการจัดงาน เพิ่มโทษกรณีเมาแล้วขับ หากมีความผิดซ้ำ จะเสนออัยการเพื่อฟ้องต่อศาลในการเพิ่มโทษต่อไป ส่วนขยายผลกรณีเมาแล้วขับเด็กอายุต่ำกว่า 18 ปี หรือต่ำกว่า 20 ปี จะดำเนินการร้านค้าปลีกการจำหน่ายด้วยหรือไม่ ให้เป็นตาม พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ฯ และเด็กอายุต่ำกว่า 18 ปีก็จะดำเนินการเรื่องการชักจูงให้เด็กดื่มสุรา ตาม พ.ร.บ.คุ้มครองเด็ก

“ส่วนเรื่องปัญหาความรุนแรง ทะเลาะวิวาทใน รพ. ทาง ผบ.ตร.เน้นย้ำเรื่องนี้ให้มีช่องทางในการติดต่อระหว่าง รพ.และสถานีตำรวจในพื้นที่แบบฮอตไลน์สายตรง มีสายตรวจออกตรวจกลางคืน หากมีเหตุการณ์แบบนี้ต้องดำเนินคดีเด็ดขาด ส่วนตรวจแอลกอฮอล์ในเลือด มี พ.ร.บ.จราจรฯ ให้แพทย์เจาะเลือดผู้สงสัยเมาแล้วขับหรือเกิดอุบัติเหตุ โดยคำร้องขอของตำรวจ ซึ่งจะมีหนังสือไปยัง รพ. และค่าเจาะเลือดได้รับงบประมาณรัฐบาล โดยกระจายไปยังตำรวจภูธรจังหวัด ซึ่งสาธารณสุขสามารถไปเบิกได้” พ.ต.ต.วีรพัฒน์ กล่าวและว่า ที่ผ่านมาเหตุความรุนแรงใน รพ. สตช.ดำเนินคดีได้ทุกราย และดำเนินคดีที่ส่งผลทางอาญา โดยหลักการแม้ภาวะสงครามยังไม่กระทบต่อ รพ.เลย ดังนั้น เรื่องนี้จึงต้องดำเนินคดีถึงที่สุด จริงๆ ตลอด 7 วันมากกว่า 7 วันด้วย ทางตำรวจไม่ได้พัก “ห้ามขาด ห้ามลา ห้ามตาย” ดำเนินการทำงานตลอดเวลา

ดร.นพ.ไพโรจน์ เสาน่วม ผู้ช่วยผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า “ดื่มแล้วขับ” เป็นสาเหตุหลักของอุบัติเหตุทางถนน สสส.ร่วมกับ ภาคีเครือข่ายเน้นย้ำรณรงค์ปีใหม่ 2567 ขับเคลื่อนเครือข่ายตำบลสุขภาวะ กว่า 3,000 แห่ง และ 189 องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นใน 35 อำเภอ 20 จังหวัด เข้มข้นดูแลพี่น้องประชาชนสร้าง “ตำบลขับขี่ปลอดภัย” ลดความสูญเสีย ดูแลพฤติกรรมเสี่ยงในพื้นที่ และหนุนเสริมอำเภอเสี่ยงกว่า 200 อำเภอ วางแผนป้องกันแก้ไขปัญหาอุบัติเหตุ ลดพฤติกรรมเสี่ยงในพื้นที่ นอกจากนี้เครือข่ายเหยื่อเมาแล้วขับทั่วประเทศ ยื่นหนังสือต่อผู้ว่าราชการจังหวัด ขอให้มีมาตรการสำคัญช่วงเทศกาลปีใหม่

1.ตรวจแอลกอฮอล์ในอุบัติเหตุที่เกิดทุกครั้ง
2.ห้ามขายแอลกอฮอล์ให้กับเด็กและเยาวชน และไม่อนุญาตให้เด็ก และเยาวชนใช้บริการในสถานบริการ
3.หากพบเด็กและเยาวชนเสียชีวิตที่เกี่ยวข้องกับแอลกอฮอล์ ขอให้มีการติดตามไปถึงร้านค้าที่ขายแอลกอฮอล์

“สสส. ผลิตสื่อรณรงค์สปอตโฆษณา 2 เรื่อง และหนังออนไลน์ 1 เรื่อง ภายใต้แคมเปญ “ดื่มไม่ขับ: ดื่มเหล้า เมาถึงสมอง” เรื่องที่ 1 “สมองช้า” แอลกอฮอล์ส่งผลต่อสมอง ตอบสนองช้าลง สปอตเรื่องที่ 2 กะระยะง่ายๆ พลาด ที่สื่อสารว่าแอลกอฮอล์ ส่งผลต่อสมอง ทำให้กะระยะในการขับขี่ผิดพลาด และหนังออนไลน์ 1 เรื่อง ชื่อเรื่อง The Loop หากยังไม่หยุดพฤติกรรมเช่นนี้อาจมีจุดจบเหมือนในหนังโฆษณา ขอฝากไปยังประชาชนที่จะเดินทางในช่วงปีใหม่ ดื่มไม่ขับ ก่อนออกเดินทางควรพักผ่อนให้เพียงพอ สวมหมวกนิรภัยทุกครั้ง ท่องเที่ยวในช่วงเทศกาล ปีใหม่นี้อย่างมีความสุข และปลอดภัย” ดร.นพ.ไพโรจน์ กล่าว

21 ธ.ค. 2566  ผู้จัดการออนไลน์

158
ครอบครัวสุดช็อก สาววัย 25 ปี เสียชีวิตปริศนาหลัง ถอนฟัน 2 ซี่ เผย แก้มบวม ปวดจนทนไม่ไหว จี้ โรงพยาบาลดังเพชรบุรีชี้แจง หลังพบเป็นมะเร็ง แต่ผลตรวจกลับไม่ใช่

วันที่ 21 ธ.ค.2566 ผู้สื่อข่าวได้รับแจ้งจาก นางอัศนี (ขอสงวนนามสกุล) อายุ 47 ปี พร้อมด้วย น.ส.วรรณิศา อายุ 42 ปี, นายประมวล อายุ 49 ปี พ่อของผู้ตายชื่อ น.ส.ธิภาภรณ์ (ขอสงวนนามสกุล) อายุ 25 ปี ว่า ติดใจการเสียชีวิตของ น.ส.ธิภาภรณ์ ที่เสียชีวิตลงด้วยอาการเนื้องอกบริเวณคางด้านขวา หลังจากไปถอนฟันมา 2 ซี่ เมื่อวันที่ 16 พ.ย.ที่ผ่านมา ที่โรงพยาบาลแห่งหนึ่ง ในพื้นที่ จ.เพชรบุรี

นางอัศนี ป้าของผู้ตาย กล่าวว่า เมื่อวันที่16 พ.ย.66 ที่ผ่านมา น.ส.ธิภาภรณ์มีอาการแก้มขวาบวม และปวดฟันอย่างหนัก จึงเดินทางไปโรงพยาบาลแห่งหนึ่ง เจ้าหน้าที่ได้ถอนฟันกรามให้ 2 ซี่ หลังจากนั้นให้กลับมาที่พักฟื้นบ้าน แต่แก้มของน.ส.ธิภาภรณ์ยังบวมมาตลอด กินอาหารอะไรไม่ได้

นางอัศนี กล่าวต่อว่า จึงพากลับไปที่โรงพยาบาลอีกครั้ง ก่อนให้ยาพารายาแก้ปวดมากินแต่ก็ไม่หาย เจ้าหน้าที่โรงพยาบาลตรวจพบ น.ส.ธิภาภรณ์เป็นมะเร็งเม็ดเลือดขาว จึงตัดชิ้นเนื้อแก้มที่บวม และส่งตัวไปตรวจหามะเร็งที่โรงพยาบาลอีกแห่งในจ.ราชบุรี

นางอัศนี กล่าวอีกว่า หลังจากนั้นทางโรงพยาบาลที่จ.ราชบุรี แจ้งญาติว่าหลังรับหนังสือส่งตัวน.ส.ธิภาภรณ์มา ยังหาสาเหตุที่จะรักษาไม่ได้ เพราะไม่รู้ว่าเป็นอะไรมา ทางโรงพยาบาลจึงตรวจหาเชื้อมะเร็งเม็ดเลือดขาวแต่ก็ไม่พบ จากนั้นได้ทำการเจาะไขกระดูกสันหลังของน.ส.ธิภาภรณ์ไปตรวจหามะเร็งและผลตรวจจะออกวันที่ 19 ธ.ค.นี้ น.ส.ธิภาภรณ์มาเสียชีวิตเสียก่อน

ด้าน น.ส.วรรณิศา น้าของน.ส.ธิภาภรณ์ กล่าวว่า หมอของโรงพยาบาลที่จ.เพชรบุรีเรียกตนเข้าไปแจ้งว่า น.ส.ธิภาภรณ์เป็นมะเร็งในเม็ดเลือดขาว จากนั้นตัดเนื้อบริเวณแก้มที่บวมของน.ส.ธิภาภรณ์ไปตรวจแต่เจอมะเร็งอีก จึงพาไปรักษาที่โรงพยาบาลในจ.ราชบุรี

น.ส.วรรณิศา กล่าวต่อว่า ทางโรงพยาบาลที่จ.ราชบุรีเจาะไขสันหลังตรวจหามะเร็งแต่ก็ไม่พบมะเร็งและน.ส.ธิภาภรณ์ไม่ได้เป็นอะไรเลย แล้วได้พากลับไปโรงพยาบาลที่ จ.เพชรบุรีอีกครั้ง เนื่องจาก น.ส.ธิภาภรณ์มีอาการปวดแก้มและบวมใหญ่ โดยมีอาการปวดหนักมากทนไม่ไหว

น.ส.วรรณิศา กล่าวอีกว่า เจ้าหน้าที่แจ้งว่าแก้มของน.ส.ธิภาภรณ์บวม ทำให้เนื้อไปบีบหลอดลมในคอ ต้องเจาะคอน.ส.ธิภาภรณ์ เจาะก็ตายไม่เจาะก็ตาย ญาติ ๆ ได้ฟังก็ตกใจจึงไม่ให้เจาะคอน.ส.ธิภาภรณ์เพราะกลัวจะเสียชีวิต จนน.ส.ธิภาภรณ์เสียชีวิตดังกล่าว

น.ส.วรรณิศา กล่าวด้วยว่า ญาติติดใจสาเหตุที่คิดว่าน.ส.ธิภาภรณ์เสียต้องมาจากการถอนฟันแน่นอน จึงอยากให้ทางโรงพยาบาลที่จ.เพชรบุรีออกมาชี้แจงว่าน.ส.ธิภาภรณ์เสียชีวิตได้อย่างไร แถมหมอฟันก็ไม่ยอมบอกญาติว่าสาเหตุการเสียชีวิตของน.ส.ธิภาภรณ์ในวันนั้นเกิดจากอะไร

ขณะที่ นายประมวล กล่าวว่า ตนทำงานที่ อ.เขาย้อย ไม่ได้อยู่กับน.ส.ธิภาภรณ์ โดยลูกสาวอยู่กับป้าในตัวเมืองเพชรบุรี แม่ของน.ส.ธิภาภรณ์ก็เสียชีวิตไปนานแล้ว พอมาทราบว่าน.ส.ธิภาภรณ์เสียชีวิตโดยเจ้าหน้าที่โรงพยาบาลแจ้งว่า น.ส.ธิภาภรณ์มีก้อนเนื้อร้ายที่แก้มและเสียชีวิตลง

นายประมวล กล่าวต่อว่า ตนรู้สึกตกใจและเสียใจหนักมาก ไม่เชื่อว่าลูกมีก้อนเนื้อ และคิดว่าสาเหตุน่าจะมาจากการถอนฟันของน.ส.ธิภาภรณ์ จนแผลอักเสบหนักมากทำให้น้องเสียชีวิตดังกล่าว


21 ธ.ค. 2566
ข่าวสดออนไลน์

159
กรมการแพทย์แนะสังเกต 3 ความผิดปกติ ภาวะสมองเสื่อม หลังจำนวนผู้ป่วยสมองเสื่อมเพิ่มปีละ 1 แสนคน

วันที่ 21 ธันวาคม 2566 แพทย์หญิงอัมพร เบญจพลพิทักษ์ รักษาราชการแทนอธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า ขณะนี้ผู้สูงอายุที่มีภาวะสมองเสื่อม พบว่ามีจำนวนสูงขึ้นในทุก ๆ ปี เฉลี่ยปีละหนึ่งแสนคน ส่งผลกระทบทั้งตัวผู้ป่วยและสมาชิกในครอบครัว

อย่างไรก็ตาม หากพบตั้งแต่ในระยะแรกจะสามารถชะลอโรคได้ โดยบุคคลใกล้ชิดสามารถสังเกต 3 อาการคือ การสูญเสียความจำ การรับรู้ ความเข้าใจ หากพบให้รีบมาพบแพทย์เพื่อวินิจฉัย เช่นเดียวกับการบริหารสมอง

ทั้งนี้ ภาวะสมองเสื่อมเป็นภาวะที่พบบ่อยในผู้สูงอายุ และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นตามจำนวนผู้สูงอายุที่เพิ่มขึ้นในทุก ๆ ปี ผลกระทบเกิดขึ้นอย่างมาก ทั้งด้านร่างกาย ด้านจิตใจ การดำเนินชีวิตของผู้ป่วย โดยเฉพาะกระทบต่อภาระในการดูแลผู้ป่วยสมองเสื่อมของครอบครัว
โดยมีอาการคือ สูญเสียความสามารถทางสมอง เช่น ความจำ การรับรู้ ความเข้าใจ การใช้ภาษา ทิศทาง การใช้เหตุผล และการแก้ปัญหา มีการเปลี่ยนแปลงในพฤติกรรมและบุคลิกภาพ โดยมีผลกระทบต่อความสามารถในการประกอบกิจวัตรประจำวันและการเข้าสังคม

ด้านแพทย์หญิงบุษกร โลหารชุน ผู้อำนวยการสถาบันเวชศาสตร์สมเด็จพระสังฆราชญาณสังวรเพื่อผู้สูงอายุกล่าวเสริมว่า การขับเคลื่อนการพัฒนาด้านการให้บริการสุขภาพผู้สูงอายุให้สำเร็จ คือการบูรณาการร่วมกันโดยทุกองค์กรที่เกี่ยวข้องต้องมีเป้าหมายไปในทิศทางเดียวกัน ผู้สูงอายุสามารถช่วยเหลือและดูแลตนเองได้ยาวนานที่สุด มีภาวะพึ่งพิงช้าที่สุด

โดยอาศัยกลไกตามบทบาทและหน้าที่ของแต่ละกรม กอง สังกัดกระทรวงสาธารณสุข ในการพัฒนาแนวทางการให้บริการสุขภาพผู้สูงอายุ ส่งเสริมการเข้าถึง และเป็นมิตรต่อผู้ปฏิบัติงานในพื้นที่ในทุกระดับ

ตั้งแต่บุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขซึ่งเป็นผู้รับผิดชอบงานด้านผู้สูงอายุในทุกระดับสถานพยาบาล เน้นตัวแทนในเครือข่ายบริการ (CUP) ไปจนถึงระดับติดตามประเมินผล คือสาธารณสุขอำเภอ และสาธารณสุขจังหวัด ครอบคลุมทุกจังหวัด

ประชาชาติ
22ธค2566

160
เจออีก! หนุ่มโพสต์คลิป เติมน้ำมันได้ไม่เต็มลิตร เด็กปั๊มยันทำถูก กม. ขาดเกินตามมาตรฐาน

กลายเป็นไวรัลในโลกออนไลน์ทันที หลังจากที่มีผู้ใช้ TikTok รายหนึ่ง โพสต์คลิปขณะที่เขานั้นไปเติมน้ำมันในปั๊มน้ำมันชื่อดังแห่งหนึ่ง ใน อ.แก่งคอย

โดยในคลิปเป็นภาพขณะที่เขาเติมน้ำมัน 5 ลิตร ในราคาลิตรละ 30.11 บาท รวมแล้วเป็นเงิน 150.5 บาท แต่เมื่อมาดูปริมาณที่ได้จริงๆ กลับไม่เต็ม 5 ลิตร เหลืออีกประมาณ 50 มล. จะเต็ม 5 ลิตร

ซึ่งเด็กปั๊มอธิบายว่า ตามกฎหมายกำหนดให้มีค่าบวกลบ โดยขาดเกินได้ไม่เกิน 50 มล.

โดยลูกค้าท้วงว่าถ้าเป็นแบบนี้ลูกค้าก็ขาดทุนตลอดสิ

ซึ่งเด็กปั๊มชี้แจงว่า ไม่ได้ตลอด ทุกรอบจ่ายจะไม่ขาดกันขนาดนี้ บางทีจะเป็นจังหวะของการปล่อยน้ำมัน มันไม่ได้เป็นเช่นนั้นตลอด เพราะเราทดสอบหัวจ่ายตลอด

หลังจากนั้นมีการทดสอบรอบที่ 2

ช่วงหนึ่งลูกค้าระบุว่า ถ้าปริมาณน้ำมันขาดเหลือนิดหน่อยก็ยังโอเค แต่ถ้าขาดแบบนี้ตลอดทำไมไม่ตั้งให้ได้มาตรฐาน 5 ลิตรคือ 5 ลิตร ทำไมถึงตั้งให้ขาดเกินอยู่แบบนี้ แบบนี้ปั๊มก็ได้กำไรสิ
ซึ่งเด็กปั๊มชี้แจงว่า เราปฏิบัติตามกฎหมายกำหนด

ผลจากการเติมน้ำมันจำนวน 5 ลิตร รอบที่ 2 พบว่า ตัวตวงวัดก็ยังไม่ถึง 5 ลิตร ยังขาดประมาณ 25 มล.

ทั้งนี้ เด็กปั๊มได้พูดว่า “จะไปแจ้งผู้ใหญ้ให้ว่าเกิดปัญหาแบบนี้”

หลังจากโพสต์คลิปไปไม่นานมีคนเข้ามาชมมากกว่า 4 ล้านครั้ง และเข้ามาแสดงความคิดเห็นเป็นจำนวนมาก เช่น

“ไปหามาละ เค้าบอกไม่เกินผลคูณ 0.05 ลิตรต่อหน่วย
“สมมติเติม 1 ลิตร เท่ากับ 1000ml ต้องขาดไม่เกิน 50ml”
“ถึงว่าทำไมไม่ยอมให้เอาแกลลอนใสมาเติม”
“ไม่มีหรอก ต้องได้ 5 ลิตร”
“สรุปขาดทุกคันที่เติมใช่มั้ย”
“อย่างนี้ถ้าเติม 200 ลิตรเราจะขาดทุน 1 ลิตรเต็มๆ”
“ลนลานหมดแล้วพี่อะถามมากตอบไม่ถูกเลย”
“แล้วทำไมไม่ลองตั้งให้เป็นค่าบวกไป 25 มล.ละครับ”
“ถ้าผมเติม 500 ผมจ่าย 480 ได้ไหมอ่ะค่าบวกลบ”
ทั้งนี้ กรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์ ได้ให้ข้อมูลว่า ค่าการคลาดเคลื่อน ของการเติมน้ำมันต้องไม่เกินอัตราที่กฎหมายกำหนด เช่น น้ำมัน 5 ลิตร คลาดเคลื่อนได้ไม่เกิน 50 มิลลิลิตร และทุกมาตรวัดหัวจ่ายที่สถานีบริการแห่งนี้มีเครื่องหมายคำรับรองถูกต้อง

และจากการสอบถามทราบว่า ประชาชนที่โพสต์ได้กลับมาซื้อน้ำมันที่เดิมอีกครั้ง ปริมาณ 3 ลิตร และได้น้ำมันครบ 3 ลิตร

คำแนะนำสำหรับประชาชนที่ไปใช้บริการปั๊มน้ำมัน

– ขอให้สังเกตมิเตอร์ที่ตู้เติมน้ำมันต้องเริ่มต้นที่เลขศูนย์
– สังเกตป้ายราคาน้ำมันที่หน้าปั๊มและที่ตู้เติมน้ำมันต้องตรงกัน
– เมื่อเติมเสร็จควรตรวจสอบยอดขายและปริมาณน้ำมันที่เติม

หากสงสัยว่าได้น้ำมันไม่เต็มลิตรทำไงดี?

– ให้แจ้งปั๊มน้ำมันเพื่อให้ตรวจสอบโดยใช้ถังตวงมาตรฐานขนาด 5 ลิตรที่มีไว้ประจำทุกปั๊มได้

หัวจ่ายไม่ถูกต้อง มีความผิด!

– กรณีที่ใช้มาตรวัดที่ไม่ถูกต้องมีโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
– กรณีพบว่ามีการดัดแปลงมาตรวัด มีโทษจำคุกไม่เกิน 7 ปี และปรับไม่เกิน 280,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

หากประชาชนไม่ได้รับความเป็นธรรมจากการเติมน้ำมัน สามารถร้องเรียนได้ที่สายด่วน 1569

22 ธค 2566
มติชน

161
สบส.บุกทลายคลินิกเถื่อน บนคอนโด ย่านพัฒนาการ พบชาวเวียดนามเป็นหมอเถื่อน ลักลอบเสริมความงาม สั่งฟัน 7 กระทง ดันกลับประเทศทันที

เมื่อวันที่ 20 ธ.ค. นพ.สุระ วิเศษศักดิ์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) กล่าวว่า หลังจากได้รับข้อมูลการเฝ้าระวังโฆษณาสถานพยาบาล โดยศูนย์ปฏิบัติการตรวจสอบการกระทำความผิดทางเทคโนโลยี สบส. ว่า พบการโฆษณาผ่านสื่อโซเชียลของคลินิก “DT” ซึ่งตั้งข้อสงสัยว่าเป็นคลินิกเถื่อนที่ดำเนินการโดยชาวต่างประเทศ จึงสั่งการให้พนักงานเจ้าหน้าที่ กองกฎหมาย ตรวจสอบข้อมูลการโฆษณาของสถานพยาบาลดังกล่าว พร้อมประสานเจ้าหน้าที่ตำรวจ กก.4 บก.ปคบ. ร่วมสืบสวนและดำเนินการลงพื้นที่ตรวจสอบข้อเท็จจริง เมื่อวันที่ 19 ธ.ค. ที่ผ่านมา ณ คลินิก “DT” ตั้งอยู่ ชั้น 2 ของคอนโดมิเนียมแห่งหนึ่ง บริเวณซอยพัฒนาการ 25 เขตสวนหลวง กทม. ซึ่งระหว่างการเข้าตรวจสอบสถานที่พบ นายเหงียน ดัง เทียน สัญชาติเวียดนาม กำลังให้บริการทำหัตถการเสริมความงามแก่ผู้รับบริการ พนักงานเจ้าหน้าที่ฯ จึงแสดงตัวและขอตรวจสอบเอกสารหลักฐานการประกอบกิจการสถานพยาบาล และประกอบวิชาชีพเวชกรรม ซึ่งนายเหงียน ดัง เทียน ไม่สามารถแสดงเอกสารได้

พนักงานเจ้าหน้าที่ฯ ทำการสอบถ้อยคำเพิ่มเติมจากนาย เหงียน ดัง เทียน และผู้รับบริการ พบว่านายเหงียน ดัง เทียน มีการโพสต์ข้อความภาษาเวียดนาม และภาพการให้บริการเสริมความงามผ่านเฟซบุ๊ก Nguyen Dang Thien เพื่อเชิญชวนให้กลุ่มเป้าหมาย ซึ่งส่วนใหญ่เป็นลูกค้าชาวเวียดนามเข้ามารับบริการหัตถการเสริมความงาม อาทิ ฉีดฟิลเลอร์ หรือโบท็อกซ์ กับคลินิก “DT” พนักงานเจ้าหน้าที่ฯ จึงแจ้งข้อหากระทำผิดเบื้องต้น 7 ข้อหา กับนายเหงียน ดัง เทียน ได้แก่
1.ประกอบกิจการสถานพยาบาลโดยไม่ได้ขึ้นทะเบียนและรับอนุญาต
2.ดำเนินการสถานพยาบาลโดยไม่ได้ขึ้นทะเบียนและรับอนุญาต
3.ประกอบวิชาชีพเวชกรรมโดยไม่ขึ้นทะเบียนและรับอนุญาต
4.จำหน่ายยาแผนปัจจุบันโดยไม่ได้รับอนุญาต
5.จำหน่ายยาที่ไม่ได้ขึ้นทะเบียนตำรับยา
6.เป็นบุคคลต่างด้าวซึ่งได้รับอนุญาตให้อยู่ในราชอาณาจักรเป็นการชั่วคราวประกอบอาชีพโดยไม่ได้รับอนุญาต และ
7.เป็นบุคคลต่างด้าวทำงานโดยไม่มีใบอนุญาตทำงาน

ก่อนจะนำตัวผู้กระทำผิดส่งให้เจ้าหน้าที่ตำรวจดำเนินคดี และส่งต่อให้สำนักงานตรวจคนเข้าเมืองดำเนินการผลักดันกลับประเทศต่อไป

"ขอเน้นย้ำให้ประชาชนทุกคนพิจารณาอย่างถี่ถ้วนก่อนรับบริการทางการแพทย์ทุกชนิดจากสถานพยาบาล อย่าด่วนตัดสินใจรับบริการเพียงเพราะคำบอกเล่าปากต่อปากว่าดี ภาพโฆษณาที่สวยงาม หรือราคาที่ถูกกว่าแห่งอื่น หากเป็นการรับบริการครั้งแรกขอให้ลงไปตรวจสอบสถานที่จริงด้วยตนเอง พร้อมกับตรวจสอบชื่อคลินิกจากเว็บไซต์กองสถานพยาบาลและการประกอบโรคศิลปะ กรม สบส. (https://mrd.hss.moph.go.th) และตรวจสอบชื่อแพทย์จากเว็บไซต์แพทยสภา (https://www.tmc.or.th) เพื่อความปลอดภัย หากไม่พบรายชื่อห้ามรับบริการโดยเด็ดขาด" นพ.สุระกล่าว

20 ธ.ค. 2566  ผู้จัดการออนไลน์

162
สธ.ร่วมราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ จัด รพ.นครปฐม เป็นศูนย์แพทยศาสตร์ศึกษา ชั้นปีที่ 5-7 เหตุมีศูนย์เชี่ยวชาญหลายด้าน เริ่ต้นปีการศึกษาหน้า 32 คน ตั้งเป้า รพ.ศูนย์ รพ.ทั่วไปให้เป็น Academy

เมื่อวันที่ 20 ธ.ค. นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) และ ศ.เกียรติคุณ นพ.รัชตะ รัชตะนาวิน รักษาการรองเลขาธิการราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ปฏิบัติหน้าที่แทนเลขาธิการราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ลงนามความร่วมมือทางวิชาการเพื่อการสนับสนุนการเป็นโรงพยาบาลหลักและโรงพยาบาลสมทบในการผลิตแพทย์ของราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์

นพ.โอภาส กล่าวว่า สธ.ให้ความสำคัญกับการผลิตและพัฒนาศักยภาพบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขทุกสาขาวิชาชีพ เพิ่มอัตรากำลังคนในระบบสาธารณสุขให้สอดคล้องกับทิศทางการพัฒนาระบบบริการสุขภาพ สนับสนุนให้ รพ.ในสังกัดเป็น รพ.หลักและ รพ.สมทบในการร่วมผลิตแพทย์ของมหาวิทยาลัยต่างๆ ให้เป็นบัณฑิตแพทย์ที่มีความรู้ ความเข้าใจ ทักษะ และทัศนคติที่ดี มีคุณภาพตามเกณฑ์มาตรฐานของแพทยสภา โดยความร่วมมือในครั้งนี้ สธ.และวิทยาลัยแพทยศาสตร์ศรีสวางควัฒน ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ จะร่วมกันผลิตแพทยศาสตรบัณฑิต และสนับสนุนให้ รพ.นครปฐม เป็น รพ.หลักจัดตั้งศูนย์แพทยศาสตรศึกษาชั้นคลินิกในการผลิตบัณฑิตแพทย์ที่มีประสิทธิภาพ ซึ่งหลักสูตรนี้จะเรียน 7 ปี โดยจะได้ทั้งปริญญาแพทยศาสตรบัณฑิต และปริญญาอื่นที่เกี่ยวข้อง โดยมาฝึกที่ รพ.นครปฐมช่วงปีที่ 5-7

“ปัจจุบัน รพ.นครปฐมเป็นศูนย์ความเชี่ยวชาญในหลายด้าน อาทิ โรคหัวใจ ทารกแรกเกิด มะเร็ง หลอดเลือดสมอง และการปลูกถ่ายอวัยวะ ซึ่งจะเริ่มในปี 2567 เบื้องต้น 32 คน แต่อาจจะขยายเพิ่มเติมได้” ปลัดสธ.กล่าว

นพ.โอภาส กล่าวว่า รพ.นครปฐม ยังมีภารกิจในโครงการร่วมสอนและผลิตบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขในระดับก่อนและหลังปริญญากับสถาบันต่างๆ ได้แก่ สถาบันร่วมสอนนักศึกษาแพทย์ชั้นปีที่ 6 สถาบันฝึกปฏิบัติแพทย์ประจำบ้านสาขาต่างๆ และเป็นสถาบันหลักฝึกปฏิบัติแพทย์ประจำบ้านสาขาศัลยศาสตร์ เป็นต้น จึงมีความพร้อมเป็นสถานที่รองรับการฝึกทักษะวิชาชีพของนักศึกษาแพทย์ในชั้นปีที่ 5-7 ของคณะแพทยศาสตร์ศรีสวางควัฒน ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ เริ่มตั้งแต่ 14 มิ.ย. 2567 เป็นต้นไป อีกทั้งยังร่วมกันจัดทำแผนการเรียนการสอนที่คำนึงถึงความปลอดภัยของผู้ป่วย บุคลากรทางการแพทย์และประชาชนในชุมชน และพัฒนาอาจารย์แพทย์และบุคลากรของศูนย์แพทย์ฯ ในด้านแพทยศาสตรศึกษาและทางคลินิก ให้มีความก้าวหน้าในวิชาชีพด้วย ทั้งนี้ จะดำเนินการตามความร่วมมือตั้งแต่ปีการศึกษา 2567 จนถึงปีการศึกษา 2576 รวมระยะเวลา 10 ปี

ถามว่าเหตุใดถึงเลือก รพ.นครปฐม นพ.โอภาส กล่าวว่า จริงๆ เรามี รพ.หลายแห่งที่เหมาะสม โดยเฉพาะ รพ.นครปฐม เป็นรพ.ศูนย์ที่มีศักยภาพ มีบุคลากร สถานที่พร้อม เครื่องมือต่างๆ เป็นไปตามเกณฑ์ที่กำหนด และด้วย ผอ.รพ.นครปฐมมุ่งมั่นในการยกระดับบริการ เราพบว่า ระยะหลัง รพ.ของ สธ. ที่มีศูนย์แพทยศาสตร์ศึกษา บุคลากรเรามีความเชี่ยวชาญและต้องการพัฒนาตนเองมากขึ้น จึงเป็นหมุดหมายที่ดีในการพัฒนาและยกระดับเป็น Academy ในการผลิตบุคลากรด้านการแพทย์และสาธารณสุขต่างๆ ในอนาคต อย่างที่ผ่านมาเราผลิตพยาบาลจำนวนมาก และผลิตแพทย์ปีละ 1,000 คน ถือว่าเป็นแหล่งผลิตแพทย์จำนวนมากที่สุดในไทยและภูมิภาค คาดว่าอาจมากที่สุดในโลกก็เป็นได้

ถามว่าในอนาคตมีแผนฝึกอบรมพัฒนาบุคลากรในรพ.อื่นๆ อย่างไร ปลัดสธ. กล่าวว่า อยากให้ รพ.ศูนย์ รพ.ทั่วไปทุกแห่งเป็นแหล่งฝึกอบรม ผลิตบุคลากรทุกระดับ ทั้งแพทย์ พยาบาล ทันตแพทย์ เภสัชกร และอื่นๆที่เกี่ยวข้อง นี่คือเป้าหมายสำคัญของกระทรวงในการยกระดับบริการ

ด้าน ศ.เกียรติคุณ นพ.รัชตะ กล่าวว่า ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ เป็นสถาบันการวิจัยวิชาการชั้นสูงและจัดการศึกษาทางวิชาการ วิชาชีพด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี สิ่งแวดล้อม การแพทย์และการสาธารณสุข มีแผนเปิดหลักสูตรแพทยศาสตรบัณฑิต วิทยาลัยแพทยศาสตร์ศรีสวางควัฒน โดยจะดำเนินการจัดการเรียนการสอนแพทยศาสตรบัณฑิต ในชั้นปีที่ 1-4 รวมถึงจะช่วยกำกับดูแลและส่งเสริมการพัฒนาอาจารย์ การเรียนการสอน และการประกันคุณภาพการศึกษาของศูนย์แพทยศาสตรศึกษาชั้นคลินิก โรงพยาบาลนครปฐม และสถาบันสมทบ ให้สอดคล้องกับมาตรฐานและบริการสุขภาพ รวมถึงสถาบันพัฒนาและรับรองคุณภาพโรงพยาบาล ตามเกณฑ์มาตรฐานการศึกษาแพทยศาสตร์ของแพทยสภาด้วย


20 ธ.ค. 2566  ผู้จัดการออนไลน์


163
ปลัด สธ. เผยปัญหาแพทย์อินเทิร์นน้อยลง ผอ.รพ.ทุกแห่งดูแล ลงพื้นที่ส่วนใหญ่บอกมีความสุขในการทำงาน ภาระงานอยู่เวรโอทีส่วนใหญ่อยู่ในเกณฑ์กำหนด เร่งดูแลสมดุลภาระงานหนัก ไม่ให้หมดไฟทำงาน แต่ย้ำข้าราชการต้องทุ่มเททำงานเพื่อประชาชนด้ว เร่งแก้ปัญหา 3 เขตสุขภาพบุคลากรน้อย กว่าเขตอื่น ปัดคำสั่งหลังโซเชียลแชร์ห้ามจ้างแพทย์เอกชน/ตปท.

เมื่อวันที่ 20 ธ.ค. นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ให้สัมภาษณ์ถึงความคืบหน้าเรื่องการแก้ปัญหาภาระงานแพทย์อินเทิร์น หรือแพทย์ที่จบใหม่ และต้องไปเพิ่มพูนทักษะใน รพ.รัฐ ว่า เรื่องของแพทย์อินเทิร์นปัญหาต่างๆนั้น จากข้อมูลพบว่า ปีนี้ปัญหาจะน้อยลงกว่าเดิม เนื่องจาก ผอ.รพ.ทุกแห่งให้ความสำคัญในการดูแลแพทย์จบใหม่หรือแพทย์อินเทิร์น ซึ่งตนลงพื้นที่ต่างจังหวัดได้พูดคุยกับน้องๆ แพทย์อินเทิร์น ส่วนใหญ่บอกว่ามีความสุขในการทำงาน แต่ก็มีงานหนักอยู่เช่นกัน ซึ่งก็ต้องบอกว่า ทุกคนเสียสละเพื่อประชาชน

“จากการตรวจสอบข้อมูล ซึ่งให้สำรวจข้อมูลอีกครั้ง โดยภาระงานที่อยู่เวรโอที นอกเวลาราชการตามแพทยสภากำหนดไม่เกิน 40 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ พบว่าส่วนใหญ่อยู่ในเกณฑ์กำหนด เพียงแต่บางช่วงที่หนัก อย่างขาดแพทย์ หมอลาออกกะทันหัน หมอป่วย แต่ไม่ได้เป็นปัญหาทั้งปี เพราะทั้งปีโดยภาพรวมอยู่ในเกณฑ์ ซึ่งกระทรวงฯกำลังดูว่าจะออกเป็นประกาศช่วยอะไรได้หรือไม่ ที่ไม่ขัดต่อกฎหมาย สิ่งสำคัญต้องไม่ลืมว่า นอกจากบทบาทเป็นแพทย์ พยาบาล ทุกคนของสธ.ยังเป็นข้าราชการ กฎข้อหนึ่งของราชการต้องทุ่มเททำงานให้ประชาชน จึงยังไม่แน่ใจว่าจะออกระเบียบตรงนี้ แต่เราไม่อยากให้เกิดภาระหนักของบุคลากรมากเกินไป เพราะถ้าเป็นมากจะหมดไฟทำงาน ซึ่งพยายามดูอยู่ เพราะภาระงานก็ยังไม่หมดไป ยังมีอยู่” ปลัดสธ. กล่าว

นพ.โอภาส กล่าวว่า เมื่อวันที่ 19 ธ.ค.ที่ผ่านมา มีการประชุมสำนักงานปลัดกระทรวงฯ สัญจรที่ จ.พะเยา มี ผอ.รพ. มี นพ.สสจ. มาประชุมร่วมกัน ซึ่งได้สั่งการว่า ปีนี้การกระจายแพทย์ต้องมุ่งเน้นจำนวนและเชิงคุณภาพ โดยเชิงจำนวน เขตที่มีปัญหาบุคลากรการแพทย์ คือ เขตสุขภาพที่ 2 ภาคเหนือตอนกลาง เขตสุขภาพที่ 8 ภาคอีสานตอนบน เขตสุขภาพที่ 10 ภาคอีสานตอนล่าง โดยกระทรวงฯจะแก้ปัญหา 3 เขตให้มีบุคลากรใกล้เคียงกับเขตสุขภาพอื่นๆ แต่เนื่องจากแต่ละเขตก็จะมีจำนวนไม่เท่ากัน จึงให้ผู้ตรวจราชการไปพิจารณาแต่ละเขตของท่าน เนื่องจากการออกกติการวมจะแก้ปัญหาทุกที่ไม่ได้

“แต่ละอำเภอก็มีหมอไม่เท่ากัน แม้จะเป็นรพ.ชุมชนเหมือนกัน อย่างบางรพ.ชุมชน มีศักยภาพก็จะมีหมอมากขึ้น การกระจายในระดับจังหวัด จึงเป็นหน้าที่ของนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดต้องกระจายให้ครบถ้วน โดยรพ.ชุมชนที่มีประชากรน้อยกว่า 30,000 คน ต้องมีแพทย์อย่างน้อย 5-6 คน รพ.ที่มีมากกว่า 30,000 คนต้องมีแพทย์ตั้งแต่ 8-10 คนขึ้นไป ซึ่งตัวเลขยืดหยุ่นได้ แต่หากมีปัญหาฉุกเฉิน หมอลาออกกะทันหัน ก็เป็นหน้าที่ของนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดเคลื่อนย้ายบุคลากรมาช่วยกันได้ ตรงกับนโยบาย “หนึ่งจังหวัดหนึ่งโรงพยาบาล”(One Province One Hospital)” ปลัดสธ.กล่าว

เมื่อถามว่าสาเหตุที่เขตสุขภาพ 3 แห่งบุคลากรมีจำนวนน้อย เป็นเพราะอะไร นพ.โอภาส กล่าวว่า ส่วนใหญ่จะเป็นเพราะสถานภาพทางเศรษฐกิจของเขตนั้นๆ ค่อนข้างน้อย และอยู่ห่างไกล เดินทางยากลำบาก ซึ่งมีหลายปัจจัย อย่างจังหวัดที่มีโรงเรียนแพทย์ก็จะไม่ค่อยมีปัญหา ขณะที่จังหวัดเล็กๆ การเดินทางลำบากก็จะมีปัญหา ตรงนี้เราก็พยายามดูอยู่

เมื่อถามถึงกรณีมีการรีทวิตของบุคลากรคนหนึ่ง ระบุว่า “ปีหน้าออกนโยบายห้ามจ้างแพทย์จบเอกชน/ตปท. มาเป็นอินเทิร์น เพิ่มพูนทักษะ (ทั้งที่ใช้เงินบำรุงของรพ.จ้าง) โดยบอกว่าได้รับแจ้งมาจากปลัดแต่ไม่เห็นคำสั่งลายลักษณ์อักษร อาจจะเปลี่ยนแปลงก็เป็นได้ ซึ่งส่วนตัวไม่เห็นด้วย เนื่องจากการจ้างลักษณะนี้ช่วยแบ่งเบาภาระงานได้นั้น นพ.โอภาสระบุว่า ต้องขอดูคำสั่งดังกล่าวก่อนว่า มีจริงหรือไม่ อย่างไรก็ตาม การจ้างแพทย์ที่ผ่านมาก็มีการทำลักษณะนี้ แต่ก็ขึ้นกับสถานะทางการเงินของ รพ.นั้นๆ อย่างไรก็ตาม เรื่องนี้ต้องดูรายละเอียดว่า การโพสต์ดังกล่าวมีคำสั่ง หรือมีข้อมูลรายละเอียดอย่างไร

ถามถึงกรณีมีกระแสวิพากษ์วิจารณ์ว่า สธ.จะมีแนวทางดูแลแพทย์ฝึกทักษะ หรือนักศึกษาแพทย์อย่างไร เนื่องจากที่ผ่านมามีข่าวนศพ.ตกตึกเสียชีวิต นพ.โอภาส กล่าวว่า เรื่องนักศึกษาแพทย์ จะอยู่ในกำกับมหาวิทยาลัย แต่ให้เราเป็นศูนย์ฝึกอบรม ซึ่งเรื่องนี้ต้องร่วมมือกันทั้งหมด ทั้งครอบครัว มหาวิทยาลัย และโรงพยาบาล ต้องพูดคุยกันทั้งหมด ปัจจัยเกี่ยวข้องมีทั้งความเครียดการเรียน ชีวิตส่วนตัว และเรื่องอื่นๆ ต้องมีระบบเฝ้าระวัง ทั้งพี่เลี้ยง เพื่อนช่วยเพื่อน เป็นต้น

20 ธ.ค. 2566  ผู้จัดการออนไลน์


164
เปิดรายงาน WHO พบ “อุบัติเหตุทางถนน” คร่าชีวิตคนทั่วโลก 1.19 ล้านราย สูญเสีย 63 ล้านล้านบาท ส่วนใหญ่เกิดในประเทศรายได้ต่ำ-ปานกลาง "ไทย" แนวโน้มดีขึ้น แต่ยังห่างเป้าลดตายลง 50% คาดปีนี้ดับ 17,000 ราย เชื่อนโยบายปิดผับตี 4 ทำบาดเจ็บเสียชีวิตพุ่ง ร้องตำรวจเข้ม “เมาไม่ขับ” แนะ 4 มาตรการลดอุบัติเหตุจราจร

เมื่อวันที่ 19 ธ.ค. สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับ แผนงานสนับสนุนการป้องกันอุบัติเหตุจราจรในระดับจังหวัด (สอจร.) มูลนิธิเพื่อความปลอดภัยทางถนน กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข เปิดรายงานสถานการณ์ความปลอดภัยทางถนนโลกและประเทศไทย และ องค์การอนามัยโลกประจำประเทศไทย

นพ.จอส ฟอนเดลาร์ ผู้แทนองค์การอนามัยโลกประจำประเทศไทย กล่าวว่า WHO ได้เผยแพร่รายงานฉบับใหม่ ทุกปีทั่วโลกมีคนตายจากอุบัติเหตุทางถนน 1.2 ล้านราย นับเป็นปัญหาสาธารณสุข มีผลกระทบต่อการพัฒนาประเทศ ทั้งด้านเศรษฐกิจและสังคม องค์การอนามัยโลก ซึ่งเป็นหน่วยงานภายใต้ UN ทำหน้าที่ในการประเมินและวางแผนกิจกรรมความปลอดภัยทางถนน ทำงานร่วมกับประเทศสมาชิก เพื่อทำข้อมูลและถอดบทเรียนนำไปสู่การปฏิบัติ WHO ยินดีในการทำงานอย่างใกล้ชิดกับรัฐบาลไทย เพราะอุบัติเหตุทางถนนเป็นปัญหาสำคัญของไทย ซึ่งตามแผนแม่บทความปลอดภัยทางถนนฉบับที่ 5 ตั้งเป้าลดจำนวนผู้เสียชีวิตบนท้องถนนให้ได้ 50% คาดหวังว่าจะประสบความสำเร็จ

สำหรับรายงาน Global Status Reports on Road Safety ปี 2023 โดย องค์การอนามัยโลก ระบุว่าที่ผ่านมาในทศวรรษความปลอดภัยที่ 1 ได้มีการออกรายงานมาแล้ว 4 ฉบับ มีการตั้งเป้าหมายกำหนดให้ระหว่างปี 2564 - 2573 ลดลงอย่างน้อย 50% จากข้อมูลรายงานฉบับล่าสุด พบว่าสถานการณ์ทั่วโลกมีคนเสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนน 1.19 ล้านราย คิดเป็น 15 ต่อแสนประชาการ 92% เกิดในประเทศรายได้ต่ำและรายได้ปานกลาง ที่น่าสนใจพบว่าสัดส่วนมากที่สุด (28%) เกิดในภูมิภาคตะวันออกเฉียงใต้ โดยเฉพาะในกลุ่มเด็ก 5-29 ปี คิดเป็นมูลค่าความสูญเสียสูงถึง 63 ล้านล้านบาท

5 ประเด็นหลักที่ให้ความสำคัญ ได้แก่ อัตราการใช้ความเร็ว ดื่มไม่ขับ พฤติกรรมการสวมหมวกกันน็อค พฤติกรรมการเข็มขัดนิรภัย และการใช้ที่นั่งนิรภัยสำหรับเด็ก โดยต้นแบบที่มีครบทุกมาตรการคือ ประเทศกลุ่มสหภาพยุโรป และออสเตรเลีย ขณะที่ประเทศไทยมีเพียง 3 เกณฑ์ข้างต้น สรุปภาพรวมทั่วโลกลดลง 16% เกินกว่าครึ่งของประเทศต่างๆ คนตายลดลง นับเป็นทิศทางที่ดีท่ามกลางการพัฒนาเศรษฐกิจ และจำนวนยานพาหนะที่เพิ่มขึ้น สำหรับประเทศไทยสถานการณ์ดีขึ้นเช่นกัน แต่ยังคงต้องดำเนินมาตรการอย่างเข้มข้นในการบรรลุเป้าหมาย ลดการตายจากอุบัติเหตุบนถนนลง 50% ในปี 2570

พญ.ศิริรัตน์ สุวรรณฤทธิ์ ผอ.กองป้องกันการบาดเจ็บ กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวว่า ในปี 2566 ปัจจุบันภาพรวมประชากรไทย 70 ล้านคน ยานพาหานะจดะเบียนมากขึ้นจาก 20 ล้านคัน เป็น 45 ล้านคัน แนวโน้มการบาดเจ็บทางถนนดีขึ้น โดยเริ่มลดลงตั้งแต่ 2558 ซึ่งจากตัวเลขรายงานองค์การอนามัยโลกฉบับล่าสุด 2023 (ใช้ข้อมูล 2021) พบว่า คนไทยเสียชีวิต 18,218 ราย หรือคิดเป็น 25 ต่อแสนประชากร ลดลงจากปี 2561 ที่มีอัตราเสียชีวิต 24,728 ราย หรือคิดเป็น 35 ต่อแสนประชากร อย่างไรก็ตาม แนวโน้มการเสียชีวิตที่ลดน้อยลง ยังคงป็นโจทย์ท้าทายที่ทุกภาคีเครือข่ายทำงานอย่างเข้มข้น เพื่อให้บรรลุเป้าหมายลดครึ่งหนึ่งในปี 2570

สำหรับข้อมูลการปฏิบัติตามกฎหมาย ใน 2 ด้านสำคัญ ได้แก่
1.การสวมหมวกกันน็อค พบว่า ค่าเฉลี่ยในประเทศไทย คนขับ 52% คนซ้อน 21% ขณะที่ทั่วโลกอยู่ที่ 80% และ 70% ตามลำดับ
2.การคาดเข็มขัด ค่าเฉลี่ยในประเทศไทย ทั้งคนขับและโดยสาร อยู่ที่ 35.7% ขณะที่ทั่วโลกอยู่ที่ คนขับ 80% ผู้โดยสารข้างหน้า 70% และผู้โดยสารนั่งหลัง 50%

“ตัวเลขสะท้อนว่าอัตราสวมหมวกกันน็อคของคนไทย ยังไม่ปรับเปลี่ยนหรือเพิ่มมากขึ้นในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา ขณะที่อัตราคาดเข็มขัดนิรภัยของไทยลดลงอย่างชัดเจน จากค่าเฉลี่ยปี 2561 ที่คนขับ 58% คนโดยสาร 40% เหลือเพียง 35.7% เท่านั้น” พญ.ศิริรัตน์ กล่าว

ด้าน นพ.วิทยา ชาติบัญชาชัย ผู้เชี่ยวชาญในคณะที่ปรึกษาขององค์การอนามัยโลกด้านการป้องกันการบาดเจ็บ กล่าวว่า สำหรับรายงานสถานการณ์อุบัติเหตุของประเทศไทย เก็บสถิติจะใช้ข้อมูล 3 ฐาน มาจากความร่วมมือของเครือข่าย ทำให้ได้ข้อมูลที่ชัดเจน ที่ผ่านมาผู้ว่าราชการแต่ละจังหวัดได้ใช้ข้อมูลจากรายงาน นำไปแก้ไขปรับปรุงจุดเสี่ยงที่จะทำให้เกิดอุบัติเหตุ นำมาสู่การแก้ไขปัญหาอย่างจริงจัง ในปี 2566 ตามเป้าหมายแผนแม่บท ต้องลดการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุให้ได้ประมาณ 3,000 คน แต่จนถึงขณะนี้เหลืออีกสองสัปดาห์จะหมดปี 2566 ตัวเลขการเสียชีวิตรวมอาจมากถึง 17,000 คน ซึ่งไม่ต่างจากปี 2565 ดังนั้น จึงเป็นเรื่องที่ยากที่จะทำให้ได้ตามเป้าหมายของแผนแม่บทที่ตั้งเป้าว่าอีก 4 ปี จะลดการเสียชีวิตให้เหลือ 8,000 คน

นพ.วิทยา กล่าวว่า ขณะนี้เปลี่ยนรัฐบาลใหม่ การทำงานร่วมกันยังมีสูญญากาศ ซึ่งนโยบายหลายเรื่องสวนทางกับการป้องกันอุบัติเหตุ เช่น เส้นทางพิเศษให้รถยนต์ใช้ความเร็ววิ่งได้ถึง 120 กิโลเมตรต่อชั่วโมง กำหนดโซนนิ่งเปิดสถานบันเทิงถึงเวลา 04.00 น. การชะลอติดตั้งเบรกเอบีเอสในรถจักรยานยนต์ รวมถึงโทษจากการทำผิดกฎหมายจราจร ที่มีแค่ปรับเป็นพินัยแต่ไม่มีโทษจำคุก จึงอยากฝากฝ่ายที่เกี่ยวข้องไม่อยากให้มีเกียร์ว่างสำหรับผู้ที่บังคับใช้กฎหมาย เร็ว ๆ นี้ จะมีการยื่นข้อเสนอกับนายกรัฐมนตรี และผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ เพื่อให้มีความเข้าใจในการลดการเกิดอุบัติเหตุ โดยจะมีข้อเสนอ อาทิ การผลักดันให้ติดกล้องซีซีทีวี เพื่อลดการเผชิญหน้าระหว่างประชาชนและเจ้าหน้าที่ ใช้อุปกรณ์ทางด้านไอทีเข้ามามีส่วนช่วย เช่น การออกใบสั่งอิเล็กทรอนิกส์

สำหรับนโยบายกระตุ้นการท่องเที่ยวเปิดเปิดผับจนถึงตี 4 นพ.วิทยา กล่าวว่า โดยตรรกะคนกินเหล่าตีสี่ขับรถกลับบ้านในสภาพเมาและมีความง่วง จึงมีความเสี่ยงเกิดอุบัติเหตุมากขึ้น เนื่องจากเวลาหลังจากตีสี่คนเริ่มไปทำมาหากิน ไปตลาดจับจ่ายใช้สอย หลายคนกำลังออกจากบ้านมาออกกำลังกาย นักเรียนกำลังเตรียมตัวเดินทางไปโรงเรียน จึงต้องการรณรงค์และสื่อสารว่าต้องไม่ปล่อยให้คนเมาขับขี่ พร้อมกันนี้ขอฝากความหวังไว้ที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ให้มีการตั้งด่านที่เข้มข้นมากขึ้น จะช่วยชะลอการบาดเจ็บและเสียชีวิตบนท้องถนนได้

นพ.วิทยา กล่าวว่า ในส่วนข้อเสนอเชิงนโยบายต่อรัฐบาล ขอให้พัฒนากลไกการกำกับติดตามการดำเนินงานของหน่วยงาน โดยเฉพาะการปรับโครงสร้างการบริหารจัดการให้เป็น single command การแก้ไข พ.ร.บ.ว่าด้วยการปรับเป็นพินัย และพิจารณาอย่างรอบคอบด้านกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการควบคุม รวมทั้งผลักดัน 4 มาตรการที่มีประสิทธิภาพสูงเพื่อลดอุบัติเหตุทางถนน ได้แก่

1. ติดตั้งกล้อง CCTV ตรวจจับพฤติกรรมการขับขี่
2.เพิ่มเครื่องออกใบสั่งอิเลคทรอนิคส์
3.ปรับปรุงพัฒนาถนน 3 ดาวทั่วประเทศ
4. บังคับให้จักรยานยต์ทุกคันติดตั้งเบรก ABS

ด้าน ดร.นพ.ไพโรจน์ เสาน่วม ผู้ช่วยผู้จัดการ และรักษาการผู้อำนวยการสำนักสร้างเสริมวิถีชีวิตสุขภาวะสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า ในส่วนของจังหวัดที่มีสถิติการเกิดอุบัติเหตุลดลง ถือว่าเป็นเรื่องที่ดี โดยที่ผ่านมา สสส. มีบทบาทในการส่งเสริมและรณรงค์ให้ตระหนักถึงผลกระทบที่มาจากอุบัติเหตุ เช่น เมาไม่ขับ ส่วนนโยบายขับเคลื่อนเศรษฐกิจ โดยกำหนดโซนนิ่งขยายเวลาเปิดสถานบริการ ถึง 04.00 น. ยอมรับว่ามีความกังวล และจะเป็นเรื่องที่ภาคีเครือข่ายต้องทำงานมากขึ้น ซึ่งในปีหน้า สสส.จะเข้มข้นเรื่องเมาแล้วขับมากขึ้น เพื่อบรรลุเป้าหมายลดตายจากอุบัติเหตุลงครึ่งหนึ่ง ให้เหลือ 12 คนต่อแสนประชากร

19 ธ.ค. 2566  ผู้จัดการออนไลน์

165
รปภ. โหมงานหนัก ป่วยขณะปฏิบัติหน้าที่ เพื่อนพาไปหาหมอ ก่อนมาพบเป็นศพ เสียชีวิตในป้อม ด้าน ลูกชาย เผยสุดเศร้า พ่อทำงานทุกวัน แม้วันลาเหลือก็ไม่ยอมหยุดพัก

เมื่อเวลา 08.00 น. วันที่ 18 ธ.ค.2566 ร.ต.อ.ชนาธิป โอ่งเคลือบ รองสารวัตร(สอบสวน) สภ.เมืองสมุทรสงคราม รับแจ้งเหตุมีผู้เสียชีวิตบริเวณป้อมยามแห่งหนึ่งริมถนน พระราม 2 กม.69 ต.บางขันแตก อ.เมือง จ.สมุทรสงคราม จึงรุดไปตรวจสอบพร้อม พญ.สวรรยา ทวีปัญญายศ แพทย์เวร โรงพยาบาลสมเด็จพระพุทธเลิศหล้า และเจ้าหน้าที่กู้ภัยมูลนิธิสว่างเบญจธรรมสมุทรสงคราม

ที่เกิดเหตุมีลักษณะเป็นห้องพักริมถนนพระราม 2 ใช้เป็นป้อมยามรักษาควมปลอดภัย ภายในพบผู้เสียชีวิตชื่อ นายศักดิ์พล (ขอสงวนนามสกุล) อายุ 50 ปี สภาพศพสวมเสื้อยืดแขนสั้นสีดำ นุ่งกางเกงขายาว นอนคว่ำบนพื้น คาดว่าเสียชีวิตมาแล้วไม่ต่ำกว่า 3 ชั่วโมง

จากการสอบถาม นายเจนวิทย์ (ขอสงวนนามสกุล) อายุ 20 ปี ลูกชายของผู้เสียชีวิต กล่าวว่า พ่อของตนมีอาชีพเป็น รปภ. ขยันขันแข็ง มาทำงานทุกวัน แม้วันลาจะเหลือแต่ก็ไม่ยอมหยุดพัก เวลาไม่สบายก็มักจะไม่บอกใคร กระทั่งล่าสุดเมื่อคืนขณะที่กำลังเข้าเวรมีอาการป่วย เพื่อนที่ทำงานจึงพาไปหาหมอที่โรงพยาบาลสมเด็จพระพุทธเลิศหล้า และกลับมาพักผ่อน กระทั่งเสียชีวิตดังกล่าว

ด้าน น.ส.ประไพ (ขอสงวนนามสกุล) อายุ 52 ปี ผู้พบศพคนแรก กล่าวว่า เมื่อเวลา 16.00 น.ของวันที่ 17 ธ.ค.ที่ผ่านมา นายศักดิ์พลมาทำงานตามปกติ กระทั่งเวลาประมาณ 19.00 น. มีอาการปวดท้องแน่นท้อง เพื่อนจึงพาไปโรงพยาบาลสมเด็จพระพุทธเลิศหล้า แพทย์เวรวินิจฉัยว่า เป็นกรดไหลย้อน และให้ยาแก้ท้องอืดท้องเฟ้อมากิน และให้นอนพักผ่อน กระทั่งมาเจอเสียชีวิตดังกล่าว

นายสมนึก (ขอสงวนนามสกุล) อายุ 55 ปี เพื่อนที่พาไปส่งโรงพยาบาล กล่าวว่า เมื่อเวลา 19.00 น. ผู้ตายโทรศัพท์มาหาบอกว่าปวดท้องแน่นท้องมาก ตนจึงรีบพาเพื่อนไปโรงพยาบาลสมเด็จพระพุทธเลิศหล้า หมอให้ยามากินและกลับมาพักที่ทำงาน

นายสมนึก กล่าวต่อว่า ตนยังบอกให้นายศักดิ์พล หากไม่สบายมากก็ให้โทรศัพท์บอกตน ซึ่งนายศักดิ์พลยังบอกตนว่าอย่าปิดเครื่องนะ ตนก็รับปาก และต่างคนต่างแยกย้ายไปพักผ่อน ซึ่งตนก็เห็นว่านายศักดิ์พลไม่โทรศัพท์มาหาก็คิดว่าอาการดีขึ้นแล้ว กระทั่งเช้าออกมาทำงานเห็นรถตำรวจจอดอยู่ จึงคิดว่านายศักดิ์พลคงมีอาการหนักหมอมารับไปโรงพยาบาล ตนจึงเลี้ยวเข้ามาดูก็พบว่าเพื่อนเสียชีวิตแล้ว ตกใจมาก

จากการสอบสวนเบื้องต้นทราบว่า นายศักดิ์พลมีโรคประจำตัวคือความดันโลหิตสูง แต่หักโหมทำงานไม่ได้พักผ่อน จึงสันนิษฐานว่านายศักดิ์พลน่าจะหัวใจล้มเหลวเสียชีวิตก็เป็นได้ ซึ่งเจ้าหน้าที่ได้ส่งศพนายศักดิ์พลไปชันสูตรอย่างละเอียดที่แผนกนิติเวช โรงพยาบาลศูนย์ราชบุรี เพื่อหาสาเหตุการเสียชีวิตที่แท้จริงต่อไป

18 ธ.ค.2566
ข่าวสด

หน้า: 1 ... 9 10 [11] 12 13 ... 536