ผู้เขียน หัวข้อ: รมว.ต่างประเทศหญิงคนแรกสหรัฐฯ ถึงแก่กรรม ครั้งหนึ่งเคยพูดเด็กอิรักตาย 5.7 แสนคน  (อ่าน 253 ครั้ง)

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9779
    • ดูรายละเอียด
แมเดอลีน ออลไบรต์ เด็กน้อยผู้หลบหนีนาซีจากเชโกสโลวะเกีย บ้านเกิดเมืองนอนของเธอระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2 ก่อนกลายเป็นสตรีคนแรกที่ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ถึงแก่กรรมด้วยโรคมะเร็ง ในวันพุธ (23 มี.ค) ในวัย 84 ปี จากการเปิดเผยของครอบครัวของเธอ แม้ถูกยกย่องจากบุคคลระดับสูงในแวดวงการเมืองอเมริกา แต่ขณะเดียวกัน เธอก็เป็นที่จดจำจากครั้งหนึ่งที่เคยพูดว่าการตายของเด็กอิรักมากกว่า 570,00 คน ผลจากมาตรการคว่ำบาตรของสหรัฐฯ นั้น "เป็นสิ่งคุ้มค่า'

ทวิตเตอร์ของครอบครัวออลไบรต์ ระบุในวันพุธว่า "พวกเราขอประกาศด้วยหัวใจที่แตกสลายว่า ดร.แมเดอลีน เค.ออลไบรต์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ คนที่ 64 และสตรีคนแรกที่ได้ดำรงตำแหน่งนี้ ถึงแก่กรรมแล้วในวันพุธด้วยโรคมะเร็ง"

ประธานาธิบดีโจ ไบเดน แห่งสหรัฐฯ กล่าวเชิดชู ออลไบรต์ ระบุว่า เธอเป็นพลังแห่งคุณธรรม ความดีและประพฤติตัวอยู่ในทำนองคลองธรรม และเป็นพลังแห่งเสรีภาพ "เมื่อผมนึกถึง แมเดอลีน ผมจะจดจำเธอตลอดไป ในศรัทธาอันแรงกล้าของเธอที่ว่าอเมริกาเป็นประเทศที่โลกขาดไม่ได้" เขากล่าวในถ้อยแถลง

แมดเดอลีน ออลไบรต์ ขึ้นดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ ในสมัยของประธานาธิบดีบิล คลินตัน และอยู่ในตำแหน่งเป็นเวลา 4 ปี อย่างไรก็ตาม แม้ว่าในขณะน้ันเธอได้รับการยกย่องว่าเป็นสตรีที่อยู่ในตำแหน่งสูงที่สุดในรัฐบาลอเมริกันเท่าที่เคยมีมาในประวัติศาสตร์ แต่เธอไม่สามารถลงสมัครรับเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดีสหรัฐฯ ได้ เนื่องจากเธอมิได้เกิดในอเมริกาหรือในดินแดนในการปกครองของสหรัฐฯ

ทั้งออลไบรต์เกิดที่ประเทศเชโกสโลวะเกีย ณ ขณะนั้น และลี้ภัยมายังอเมริกาพร้อมครอบครัวในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2

ประสบการณ์ในฐานะผู้ลี้ภัย ออลไบรต์ ซึ่งเคยดำรงตำแหน่งเอกอัครราชทูตสหรัฐฯ ประจำสหประชาชาติในปี 1993 กดดันให้ใช้แนวทางแข็งกร้าวกับพวกเซิร์บในบอสเนีย แต่ระหว่างสมัยแรกของประธานาธิบดีบิล คลินตัน บรรดาผู้เชี่ยวชาญด้านนโยบายต่างประเทศระดับสูงหลายคนของรัฐบาลยังคงมีความทรงจำเลวร้ายเกี่ยวกับการจมปลักในสงครามเวียดนามของสหรัฐฯ และมีความมุ่งมั่นไม่ต้องการซ้ำรอยความผิดพลาดดังกล่าวในคาบสมุทรบอลข่าน

สหรัฐฯ ตอบสนองด้วยการทำงานร่วมกับนาโต้ ในปฏิบัติการโจมตีทางอากาศที่บีบให้ยุติสงคราม แต่มันเกิดขึ้นก็เมื่อหลังจากสงครามยืดเยื้อมานานกว่า 3 ปีแล้ว

ครั้งหนึ่งเธอเคยทำให้ผู้บัญชาการเพนตากอนรายหนึ่งถึงกับหัวเสีย ด้วยการตั้งคำถามว่าทำไมกองทัพถึงยังต้องมีกองกำลังพร้อมอาวุธทั้งชายและหญิงมากกว่า 1 ล้านคน ทั้งที่ไม่เคยใช้งานกำลังพลเหล่านี้เลย

ออลไบรต์ ซึ่งเกิดในเชโกสโลวะเกีย ปี 1937 ถูกเสนอชื่อได้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ และได้รับการรับรองอย่างเป็นเอกฉันท์ในปี 1997 กลายเป็นผู้หญิงคนแรกในประวัติศาสตร์ที่นั่งเก้าอี้ตัวนี้ และเธออยู่ในตำแหน่งจนถึงปี 2001

หนึ่งในหลายๆ เรื่องซึ่งเป็นที่จดจำเกี่ยวกับ ออลไบรต์ ได้แก่ สงครามอิรัก จากคำสัมภาษณ์ของเธอในปี 1996 ที่ปกป้องนโยบายของสหรัฐฯ หลังจากผลการศึกษาหนึ่งของสหประชาชาติ พบว่า มีเด็กชาวอิรักมากกว่า 500,000 คนเสียชีวิตในอิรัก ผลจากมาตรการคว่ำบาตรที่นำโดยสหรัฐฯ หลังสงครามอ่าวเปอร์เซียครั้งที่ 1

"ฉันคิดว่ามันเป็นตัวเลือกที่ยากมากๆ แต่ในแง่ของผลตอบแทน เราคิดว่ามันเป็นผลตอบแทนที่คุ้มค่า" ออลไบรต์กล่าว ตอนเมื่อครั้งดำรงตำแหน่งผู้แทนทูตประจำสหประชาชาติ เมื่อถูกสอบถามเกี่ยวกับการตายของเด็กๆ ชาวอิรัก อย่างไรก็ตาม ในปี 2014 เธอให้สัมภาษณ์กับรายการเดโมเครซี นาว ว่าตนเองรู้สึกเสียใจที่แสดงความคิดเห็นเช่นนั้นออกไป "มันเป็นคำพูดที่โง่เขลา ฉันไม่ควรพูดมันออกมาเลย"

ในช่วงก่อนเข้าสู่สงครามอิรักปี 2003 ออลไบรต์ บอกว่าการรุกรานนั้นมีความชอบธรรม อ้างคำกล่าวหาว่าแบกแดดครอบครองอาวุธทำลายล้าง แต่เธอแย้งว่าประเทศแห่งนี้ยังไม่ได้เป็นภัยคุกคามซึ่งหน้าต่อสหรัฐฯ และเรียกร้องให้มุ่งเน้นไปที่การกำจัดอัลกออิดะห์

อย่างไรก็ตาม ในเวลาต่อมา เธอกลับลำ แสดงจุดยืนคัดค้านสงครามดังกล่าวอย่างเต็มกำลัง "อิรักกำลังถูกบันทึกลงประวัติศาสตร์ในฐานะหายนะเลวร้ายที่สุดในนโยบายต่างประเทศของสหรัฐฯ" เธอให้สัมภาษณ์กับอัลจาซีราห์ในปี 2007

(ที่มา : อัลจาซีราห์)


24 มี.ค. 2565  ผู้จัดการออนไลน์