ผู้เขียน หัวข้อ: ผอ.“สายด่วนโควิด” ยอมรับวิกฤต!! โทร.ไม่ติด-ติดเชื้อยกบ้าน เพราะระบบประสานซ้ำซ้อน  (อ่าน 276 ครั้ง)

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9768
    • ดูรายละเอียด
ติดโควิด แต่โทร.แจ้งไม่ติด?! “บิ๊กตู่-ผู้ป่วย” ต่อสายหาสายด่วนประสานจัดหาเตียงผู้ติดเชื้อโควิด-19 พบ “โทร.ไม่ติด-สายไม่ว่าง” ด้านหัวหน้าสายด่วนเฉพาะกิจรับ ช่วงแรกติดขัด เพราะต่างฝ่ายต่างทำจนซ้ำซ้อน วอนเห็นใจ อาสาสมัครแพทย์-พยาบาล รับสายมีจำกัด!

แม้แต่นายกฯยังโทร.สายด่วนไม่ติด!

“ผมให้คนโทร.ไปนะ ผมเป็นคนให้โทร.ไม่มีคนรับ ผมไม่ได้จับผิด แต่ไม่มีคนรับ มันเกิดอะไรขึ้น ไปแก้ตรงนี้”

กลายเป็นประเด็นที่สังคมกำลังให้ความสนใจอยู่ในขณะนี้ หลังจากที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เปิดเผยขณะลงพื้นที่ตรวจความพร้อมของโรงพยาบาลสนาม ณ อาคารเอราวัณ 2 ศูนย์กีฬาบางกอกอารีนา เขตหนองจอก ว่า ได้มีการลองโทรศัพท์ติดต่อ “สายด่วนโควิด 1668” ด้วยตนเอง ผลปรากฏว่า ไม่มีผู้รับสาย!

เหตุการณ์นี้นำมาซึ่งการสั่งการให้แก้ไขปัญหา โดยจะให้กระทรวงกลาโหมทำงานร่วมกับกระทรวงสาธารณสุข รวบรวมรถพยาบาลของทหาร จากโรงพยาบาลและค่ายทหารมารับส่งผู้ป่วยโควิดเพิ่มอีกทาง

นี่ไม่ใช่ครั้งแรกกับปัญหาที่ไม่สามารถติดต่อสายด่วนได้ หากย้อนกลับไปก่อนหน้านี้ไม่นาน ก็เกิดกรณีผู้ติดเชื้อโควิด-19 ย่านสายไหม โดยสมาชิกคนหนึ่งให้ข้อมูลว่า ตรวจเชื้อวันที่ 8 เม.ย.ซึ่งผลยังไม่ออก แต่ขณะนั้นคนในครอบครัวเริ่มมีอาการ จึงติดต่อไปยังโรงพยาบาล แต่กลับถูกปฏิเสธ โดยโรงพยาบาลให้เหตุผลว่าต้องมีผลยืนยัน

ต่อมาในวันที่ 12 เม.ย.ผลก็ออกมาว่าติดเชื้อจริง เมื่อโทร.ไปที่เบอร์ 1668 และ 1669 ก็ไม่มีใครรับสาย และเมื่อติดต่อไปยังโรงพยาบาลแห่งหนึ่ง ก็ได้รับคำตอบว่าต้องรอคิว เนื่องจากเตียงเต็ม ภายหลังจากทราบผลว่า ครอบครัวติดเชื้อทั้ง 4 ราย มีเพียงผู้เป็นแม่ที่อาการหนัก จึงได้เข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลในวันที่ 14 เม.ย. ส่วนสมาชิกที่เหลืออีก 3 คน ไม่ได้รับการรักษา กระทั่งสมาชิกในครอบครัวที่เหลือมีอาการหนักขึ้น

และในวันที่ 15 เม.ย.ทางศูนย์เอราวัณได้นำรถฉุกเฉินมารับตัวครอบครัวนี้เข้ารับการรักษาแล้ว จนผู้เป็นพ่อถึงกับนั่งลงไหว้รถฉุกเฉิน พร้อมกล่าวว่า “สิ้นสุดการรอคอย ได้ไปรักษาเสียที” ขณะที่ทางประธานหมู่บ้านแห่งนี้ให้ข้อมูลว่า ประสานงานให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เข้ามาดูแลครอบครัวนี้ตั้งแต่วันที่ 8 เม.ย.แต่ก็ไม่มีฝ่ายใดเข้ามา

หลายต่อหลายเหตุการณ์ นำมาซึ่งคำถามมากมายจากคนในสังคม ว่าเพราะเหตุใด สายด่วนจึงไม่ด่วนสมชื่อ…

เพื่อหาคำตอบของคำถามที่เกิดขึ้น ทีมข่าว MGR Live ได้พูดคุยกับ นพ.สกานต์ บุนนาค ผู้อำนวยการสถาบันเวชศาสตร์ผู้สูงอายุ กรมการแพทย์ และผู้จัดสายเฉพาะกิจ สายด่วน 1668 เพื่อชี้แจงทำความเข้าใจต่อประชาชน โดยเขายอมรับอย่างตรงไปตรงมา ว่า เนื่องจากเป็นสายด่วนที่เปิดขึ้นอย่างเร่งด่วน และเป็นการทำงานร่วมกับหลายฝ่าย จึงทำให้การประสานงานกันเกิดความติดขัดในช่วงแรก

โดยสายด่วนโควิด-19 เฉพาะกิจนั้น แบ่งแยกเป็น 1668 อยู่ในการดูแลของกรมการแพทย์ สายด่วน 1330 อยู่ในการดูแลของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) และสายด่วน 1669 อยู่ในการดูแลของกรุงเทพมหานคร

“ปัญหาที่เป็นดรามาเยอะๆ มันเป็นเฉพาะช่วงแรกที่ประสานกันยังไม่ดี รับเคสเข้ามาแล้วส่งต่อไม่ได้ ต้องยอมรับว่า เนื่องจากศูนย์เราเปิดขึ้นมาแบบปัจจุบันทันด่วน กทม.เขาก็ตั้ง 1669 ขึ้นมา กรมการแพทย์ก็ตั้ง 1668 ขึ้นมา สปสช.ก็มี 1330 เดิมทำงานเรื่องสิทธิอย่างเดียว ตอนนี้ก็เปิดรับตัวนี้เพิ่มเข้ามา ทุกคนพยายามช่วยรับเรื่องเข้ามาก่อน เพราะรู้ว่าประชาชนเดือดร้อน แต่พอรับเรื่องเข้ามาแล้วตอนแรก การทำงานมันต่างคนต่างทำจริงๆ เพราะไม่ได้คุยกันก่อน

ยกตัวอย่างง่ายๆ 1 คนโทร.ทุกสาย ข้อมูล 1 คนมันไป 3 ทาง ทั้ง 3 ทางก็ประสานโรงพยาบาลปลายทางซ้อนกันไปมา มันก็เลยโกลาหล สมมติ รพ.1 รับเคสนาย ก แต่ปรากฏว่า รพ.2 ก็รับเคสนาย ก จากอีกสายนึง เสียรถพยาบาลไปแล้ว 1 คัน ต้องเปิดเตียงให้นาย ก รพ.นี้ก็รับคนอื่นไม่ได้ช่วงนั้น แต่ว่าเรามีเวทีกลางไว้คุยกับเครือข่ายสาธารณสุขของ กทม. จัดกันใหม่ แบ่งหน้าที่กัน รู้ว่าใครรับตรงไหน แล้วเส้นมันโยงกันยังไงไม่ซ้ำซ้อน

อาสาสมัครรับสาย 1668 มีประมาณ 170-180 คน แต่ไม่สามารถเข้ามาได้ตลอด คนเหล่านี้คือหมอ พยาบาล ที่มีปัญหาคือผลัดแรก 08.00-15.00 น.ยังมีปัญหาอยู่พอสมควร คู่สายไม่ค่อยเต็ม 20 คู่สาย บางช่วงอาจจะเหลือ 7-10 คู่สาย มันก็เลยทำให้ช้า เพราะต้องทำงานประจำ จะรับได้ค่อนข้างเต็มคู่สายจริงๆ คือ ช่วงผลัดที่ 2 คือ 15.00-22.00 น.

แล้วเราก็พลาดนิดนึง ตัว 1668 เดิมมันไม่เคยรับสายคนเยอะขนาดนี้ เราก็ไม่ได้เตรียมระบบตอนที่ยังไม่มีคู่สายว่าง ที่บอกว่า “ขณะนี้ให้บริการเต็มคู่สาย” มันก็เลยกลายเป็นเสียงไม่มีคนรับสาย ตอนนี้สั่งให้แก้ไขไปแล้วครับ”

ขอความร่วมมือ ไม่แจ้งผลแล็บปากเปล่า!

คุณหมอสกานต์ ยังได้อธิบายเพิ่มเติมถึงระบบของสายด่วน 1668 ที่ประกอบไปด้วย 3 ส่วน ส่วนที่ 1 คือ รับสายหน้าบ้าน จะทำหน้าที่รับสายและประเมินอาการ ส่วนที่ 2 นอกจากรับมาจากหน้างานแล้ว จะมีทีมที่ดึงข้อมูลออกจากแอปพลิเคชันไลน์ “สบายดีบอต” ขึ้นมาเข้าฐานข้อมูลด้วย

หลังจากนั้น จะส่งข้อมูลไปยังส่วนที่ 3 ซึ่งจะเป็นทีมที่โทรศัพท์ติดตามอาการ โดยแบ่งเป็น สีเขียว สีเหลือง และสีแดง สีเขียวคือสบายดีหรือไม่มีอาการ จะโทร.เยี่ยมวันเว้นวัน สีเหลืองเริ่มมีอาการมากขึ้น แต่ยังไม่ถึงกับแย่ จะโทร.เยี่ยมทุกวัน แต่เป็นสีแดง จะโทร.เยี่ยมทุก 4 ชั่วโมง จนกว่าจะประสานเตียงได้และเข้าโรงพยาบาล

พร้อมกันนี้ ยังกล่าวถึงการทำงานร่วมกันกับสายด่วน 1330 และ 1669 อีกด้วย

“หลังบ้านเราแบ่งงานกันว่าใครรับท่อนไหน เรามีการส่งข้อมูลไปตามหน้าที่ที่แบ่งงานกันไว้ 1330 ของ สปสช.รับสายเข้ามาปุ๊บ เขาก็จะแบ่งว่าเป็นเขียวกับไม่เขียว แต่ทาง สปสช.ส่วนใหญ่เป็นเจ้าหน้าที่ด้านอื่น เขาประเมินยากว่าอาการขนาดไหน เขาก็จะรับเขียวไว้ก่อน ยิงเข้า Hospitel ที่ทำการตกลงกันไว้กับ สปสช. ถ้าเขารับสายแล้วเป็นเหลืองกับแดง เขาก็จะส่งต่อให้ 1668 เข้ามาทางช่องทางพิเศษ

ส่วนในพื้นที่กรุงเทพฯ 1669 จะส่งไปที่ศูนย์เอราวัณ ถ้าเป็นต่างจังหวัดจะไปที่ศูนย์นเรนทร ของจังหวัดนั้นๆ ศูนย์เอราวัณหลักๆ เขาจะรับหน้าที่จากกลุ่ม active case finding พวกที่ไปทำแล็บเชิงรุกทั้งหลายเข้าไปทำงานต่อ ถ้าเกิดเขาเจอสีเขียว เขาก็ส่งเข้าโรงพยาบาลสนามของกลุ่มที่ กทม.เตรียมไว้ ถ้าเกิดเป็นเหลืองกับแดง ก็จะทำงานร่วมกันที่ศูนย์ประสานงานเอราวัณกับศูนย์ประสานงานราชวิถี”

และหัวหน้าทีมสายด่วนเฉพาะกิจ ได้ใช้โอกาสนี้ขอความร่วมมือจากผู้ที่ทราบว่าตนเองติดเชื้อแล้ว ต้องมีเอกสารยืนยันกับทางการจากแล็บที่มีมาตรฐาน ที่สำคัญ ไม่ควรแจ้งผลปากเปล่า เพื่อความรวดเร็วในการเข้ารับการรักษา

“มีอยู่ช่วงนึงที่แล็บเอกชนเปิดกันเยอะโดยไม่ขออนุญาต ที่อาจจะไม่ได้มาตรฐาน มันเล็ดลอดสายตาของกรมสนับสนุนบริการไปก็เยอะ เราก็ไล่จับกันไม่ทัน พวกนี้เขาอาจจะไปใช้วิธีเจาะเลือดปลายนิ้วไปตรวจ มันมีโอกาสผลบวกปลอมเยอะ บวกแต่ไม่ได้ติดเชื้อ เราก็กลัวว่าเรารับเขาไปไม่ได้เป็นโรคขึ้นมา แล้วคุณไปนอนปนกับคนเป็นโรค ก็ติดเชื้อ และกลุ่มนี้เขาจะทำแล็บค่อนข้างช้า สมมติตรวจวันนี้ ให้ไปรอที่บ้านแล้วโทร.บอก บอกผลอีก 1-2 วัน มันเป็นการบอกปากเปล่า

ฝากประชาสัมพันธ์เรื่องนี้มากๆ ว่า ตอนนี้ใครที่มีผลบวกแล้วบอกปากเปล่า กรุณาติดต่อกลับไปที่แล็บที่ทำว่าขอผลยืนยันเป็นเอกสาร ไม่ต้องเป็นกระดาษก็ได้ ขอเป็นรูปถ่ายผลก็ยังดี ไม่อย่างนั้นเราไม่กล้ารับเข้าไป เพราะเราไม่รู้ว่าท่านบวกจริงรึเปล่า ผลแล็บมาตรฐานต้องแยงจมูกแล้วเอาไปตรวจหาพันธุกรรมของเชื้อ พวกที่เจาะเลือดปลายนิ้วไม่ใช่นะครับ มันมีโอกาสผลบวกลวงเยอะ เพราะได้เตียงเมื่อไหร่มันจะได้ไม่มีปัญหาในการเข้าโรงพยาบาล

สุดท้าย หัวหน้าสายด่วนเฉพาะกิจ 1668 ได้เปิดเผยว่า ขณะนี้มีเตียงเพียงพอในการรองรับผู้ป่วย และในอนาคตคาดว่าจะมีการเพิ่มคู่สาย เพื่อให้เพียงพอต่อผู้ที่ติดต่อใช้บริการ

“Hospitel และโรงพยาบาลสนามของสีเขียวมีพอสมควร ขออย่างเดียวคนไข้อย่าเลือกที่เยอะ มันจะมีที่ว่างที่ให้เคสในโรงพยาบาลที่อาการดีขึ้นลงมาสีเขียว แต่มันต้องรอให้พ้น 5-6 วันแรกถึงจะปลอดภัย เตียงของทั้งเหลืองและแดงยังพออยู่ ก็อาจจะช้าหน่อยในกลุ่มสีเหลือง ต้องไปควานเอาเคสที่ดีขึ้นแล้วมาเขียว แล้วเอาเหลืองเข้าไปแทน ตอนนี้ระบบมันชัดแล้ว มันก็จะลื่นไหลดีขึ้น เหลือแต่เรื่องจัดการเตียงแล้วว่าจะเกลี่ยยังไง



อย่างล่าสุด ทางกรมการแพทย์ก็เปิดโรงพยาบาลธัญญารักษ์ ปกติบำบัดผู้ติดยา ตอนนี้ต้องมาเปิดโรงพยาบาลรับคนไข้โควิด เป็นโรงพยาบาลสนามสีเหลือง ก็เริ่มดำเนินการ 200 เตียง ถ้าทำตรงนี้และพิสูจน์ได้ว่ามันปลอดภัย ผมเข้าใจว่าอีกหน่อยโรงเรียนแพทย์ทั้งหลายจะเอาโมเดลนี้ไปขยายได้อีกเหมือนกัน สีเหลืองก็จะเริ่มลื่นไหล

ส่วนเรื่องการเพิ่มคู่สาย เดี๋ยวนโยบายอธิบดีท่านบอกว่าเราจะเปิดรับอาสาสมัครนอกกรมออกไปอีก ถ้าคู่สายมันต้องขยาย เราก็จะขยายเพิ่มอีก ส่วนช่องทางถ้าโทร.เข้ามาสายแน่นจริงๆ ให้เข้า สบายดีบอต เพิ่มเพื่อนแล้วส่งข้อมูลมา ผมยืนยันว่าทุกเคสจะมีคนที่ดึงข้อมูลมาเข้าฐานข้อมูลของเราและทำงานต่อทุกเคสครับ และในกรณีที่ฉุกเฉินจริงๆ ถ้ายังไม่สามารถโทร.เข้ามายัง 1668 รับสายได้ ก็มีทางเลือกคือ 1669 และ 1330 ด้วยครับ”

ข่าวโดย : ทีมข่าว MGR Live
ขอบคุณภาพ : เพจเฟซบุ๊ก “Survive - สายไหมต้องรอด”

22 เม.ย. 2564  ผู้จัดการออนไลน์