ผู้เขียน หัวข้อ: 'สาธารณสุข'ปี 2554 ไม่คืบ! แต่หวือหวา! และหวาดเสียว  (อ่าน 1052 ครั้ง)

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9763
    • ดูรายละเอียด
                ปี 2554 สำหรับวงการสาธารณสุขแทบจะไม่มีอะไรโดดเด่น หรือคืบหน้าอย่างจริงๆจังๆ แม้จะมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เข้ามาบริหารงานถึง 2 คน จาก 2 พรรคการเมืองใหญ่ ที่อาจจะเรียกได้ว่า นโยบายทางการเมืองต่างกันสุดขั้ว ช่วงต้นปี รับหน้าที่โดย “จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์” แห่งพรรคประชาธิปัตย์ สมัยรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เป็นนายกรัฐมนตรี

 ร่างพ.ร.บ.คุ้มครองฯ 2 ปียังไม่จบ


                เรื่องที่ค้างคามาตั้งแต่ปี 2553 อย่างร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองผู้เสียหายจากการรับบริการสาธารณสุข พ.ศ....ก็ยังไม่แล้วเสร็จ อันเนื่องมาจากเกิดกระแสคัดค้านอย่างหนักจากกลุ่มแพทย์และบุคลากรสาธารณสุข ด้วยเหตุผลเกรงว่า ร่าง พ.ร.บ.ฉบับดังกล่าวจะส่งผลในทางลบต่อฝ่ายผู้ให้บริการ โดยเฉพาะประเด็นเรื่องการถูกฟ้องร้องต่อศาล ที่มีการกำหนดไว้ในร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ ขณะที่ฝ่ายเครือข่ายผู้ป่วยกลับมองว่า ร่าง พ.ร.บ.นี้จะช่วยเหลือและเยียวยาผู้เสียหายจากการรับบริการสาธารณสุขในทุกสิทธิการรักษาพยาบาล เพราะในพ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2545 มาตรา 41 กำหนดจ่ายเงินชดเชยเยียวยาเบื้องต้นผู้ได้รับความเสียหายเฉพาะผู้ใช้สิทธิบัตรทองเท่านั้น ไม่รวมประกันสังคมและสิทธิสวัสดิการข้าราชการ

                ความเห็นต่างนำมาสู่การเคลื่อนไหวที่ร้อนแรง ตัวแทนแพทย์ในนามชมรมแพทย์เพื่อวิชาชีพแพทย์ (ชพพ.) ยื่นฟ้องต่อศาลปกครองกลาง เอาผิดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) และสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ฐานยกร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองผู้เสียหายฯ ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ละเลยต่อหน้าที่ ตามด้วยแพทย์และบุคลากรสาธารณสุขทั่วประเทศนัดแต่งชุดดำ คัดค้านร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ และขอให้มีการทำประชาพิจารณ์อย่างรอบด้าน แพทยสภาเสนอให้ขยายมาตรา 41 ให้ครอบคลุมการเยียวยาคนไทยทุกคน แทนการออกพ.ร.บ.ฉบับใหม่ ส่วนฝ่ายผู้เสียหายทางการแพทย์ นำโดย “นางปรียนันท์ ล้อเสริมวัฒนา” อดข้าวประท้วงเพื่อขอให้รมว.สาธารณสุขผลักดันร่างพ.ร.บ.นี้เข้าสู่การพิจารณาของครม.เพื่อชงต่อสู่สภาผู้แทนราษฎร หลังรัฐบาลเปลี่ยนมือมาสู่พรรคเพื่อไทย

                จนสิ้นปี 2554 ร่างพ.ร.บ.ฉบับนี้ก็ยังคงค้างเติ่งอยู่ในสภาผู้แทนราษฎร หลังครม.มีมติรับร่างพ.ร.บ.ฉบับประชาชนและชงต่อสู่การพิจารณาของสภา ไร้แววจะคลอดออกมามีผลบังคับใช้ ศึกระหว่างผู้ให้และผู้รับบริการสาธารณสุข ซึ่งไม่ควรจะเกิดขึ้น แต่กลับยืดเยื้อมานานกว่า 2 ปี จึงดูเหมือนยังไม่มีทีท่าจะยุติ...ตราบที่ทั้ง 4 ฝ่าย รวมถึงรัฐบาลและฝ่ายค้านจะไม่พิจารณาทุกอย่างบนหลักของเหตุและผลที่จะเกิดขึ้น โดยไม่เห็นแก่พรรคแก่พวก หรือประโยชน์ตนเป็นหลัก !

รวม 3 ระบบสุขภาพวืด!!

                ในช่วงต้นปี เรื่องการยุบรวม 3 ระบบประกันสุขภาพ ทั้งหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ครอบคลุมประชากร 48 ล้านคน ประกันสังคมราว 9 ล้านคน และสวัสดิการข้าราชการประมาณ 5 ล้านคน เป็นอีกหนึ่งเรื่องราวที่มีความเห็นต่างค่อนข้างสูง โดยเฉพาะฟากของประกันสังคมและหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ทั้งหมดทั้งมวลเปิดฉากจากการที่นักวิชาการแสดงผลการศึกษาที่พบว่าสิทธิรักษาฟรีดีกว่าสิทธิประกันสังคม โดยเฉพาะในเรื่องความไม่เป็นธรรม เพราะสิทธิประกันสังคมเป็นเพียงกลุ่มเดียวที่ต้องจ่ายค่ารักษาพยาบาลเพื่อให้ตัวเองได้มีสิทธิสุขภาพ กระทั่งคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ดสปสช.) มีมติให้ตั้ง คณะกรรมการเจรจาร่วมระหว่างบอร์ด สปสช. กับบอร์ดสปส. เพื่อหาข้อยุติร่วมเกี่ยวกับการขยายสิทธิการรักษาตามสิทธิรักษาฟรีสู่ผู้ประกันตน

                การขยับในรูปแบบนี้ของบอร์ดสปสช.จึงถูกตั้งแง่จากฝ่ายประกันสังคมและกลุ่มแพทย์บางส่วนว่าเป็นการปูทางเพื่อเปิดประตูนำไปสู่ การยุบรวมกองทุนประกันสังคมเข้าไปอยู่ในกองทุนสปสช. ด้วยการหยิบยกมาตรา 10 พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2545 ที่กำหนดไว้ว่า การขยายบริการสาธารณสุขตามสิทธิรักษาฟรีไปยังผู้ประกันตนให้เป็นไปตามที่คณะกรรมการสองฝ่ายตกลงกัน มาเป็นบันไดแรกในการก้าวเดิน ประจวบเหมาะกับเวลาไล่เลี่ยกันมีการออกมา ตี สิทธิสวัสดิการข้าราชการว่ามีการเบิกจ่ายยาที่แพงเกินไป จึงถูกมองว่าเป้าหมายที่แท้จริงของเกมนี้อยู่ที่การยุบรวม 3 ระบบประกันสุขภาพของประเทศเข้าด้วยกัน ไม่เฉพาะแค่ประกันสังคมและหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าเท่านั้น

                 แต่ก็ไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะเกิดขึ้น เพราะคณะกรรมการเจรจาร่วมระหว่างบอร์ดสปสช.กับบอร์ดสปส.ที่มีการประชุมหารือร่วมกันไปบ้างแล้วก็ยังไม่มีสิ่งใดที่ออกเป็นมติร่วมกันในเรื่องนี้ ที่สำคัญ คงไม่มีระบบประกันสุขภาพใดที่จะยอมสูญเสียสิทธิประโยชน์ตามแบบฉบับของแต่ละระบบไปอย่างแน่นอน

แพทย์ลาออก

                ถึงกับอึ้ง เมื่อสำนักงานวิจัยและพัฒนากำลังคนด้านสุขภาพ (สวค.) สำนักงานพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศ (IHPP) เปิดเผยการสำรวจข้อมูลแพทย์ทั่วประเทศล่าสุด ซึ่งทำการเก็บวันที่ 1 พฤษภาคม 2554 พบว่ามีโรงพยาบาลชุมชนมากถึง 3 แห่ง ที่ไม่มีแพทย์ประจำ ได้แก่ รพ.บันนังสตา จ.ยะลา, รพ. เกาะกูด จ.ตราด และ รพ.ภูกระดึง จ.เลย ทำให้ต้องใช้วิธีการเวียนแพทย์จากโรงพยาบาลจังหวัดมาให้บริการประชาชนเป็นการชั่วคราว และมีโรงพยาบาลชุมชนอีก 26 แห่ง มีแพทย์ประจำเพียงแค่ 1 คน ไม่เพียงพอต่อการให้บริการด้านสุขภาพแก่ประชาชน ส่วนใหญ่เป็นโรงพยาบาลในเขตภาคอีสาน แม้ต่อมากระทรวงสาธารณสุขจะออกมาให้ข้อมูลว่า รพ.บันนังสตา มีแพทย์ประจำ 5 คน ส่วนอีก 2 โรงพยาบาลมีผอ.โรงพยาบาลใกล้เคียงรักษาการผอ.โรงพยาบาล

                สิ่งที่ปรากฏสะท้อนให้เห็นถึงปัญหาการขาดแคลนแพทย์ในชนบทยังคงเป็นปัญหาของระบบสุขภาพไทย ส่วนหนึ่งเป็นผลจากการที่แพทย์ใช้ทุน ซึ่งต้องไปประจำอยู่ในโรงพยาบาลอำเภอ ลาออก โดยยอมจ่ายค่าปรับให้แก่รัฐบาล เนื่องจากไม่ต้องการทำงานในพื้นที่ที่ห่างไกล เช่น กลุ่มแพทย์ที่สำเร็จการศึกษาและเริ่มเข้ารับราชการในปี 2551 ลาออกก่อนใช้ทุนครบ 3 ปี มากถึง 356 คน จากจำนวนแพทย์ใช้ทุนทั้งหมด 1,189 คน นำมาสู่การเสนอแนวทางแก้ปัญหา ด้วยการให้กระทรวงสาธารณสุขขยายโครงการผลิตแพทย์เพิ่มเพื่อชาวชนบท ซึ่งจะสิ้นสุดในปี 2556 ออกไป เพื่อขยายโอกาสให้เด็กในชนบทมีโอกาสเข้ามาเรียนแพทย์และกลับไปทำงานในพื้นที่ เพราะผลการศึกษาพบว่าแพทย์ตามโครงการนี้มีอัตราการคงอยู่ในชนบทสูงกว่า และมีอัตราการลาออกต่ำกว่าแพทย์ที่สอบเข้าในระบบปกติ ทว่าจนถึงขณะนี้ก็ยังไม่มีความชัดเจน

                และแล้วก็หมดเวลาของพรรคประชาธิปัตย์ เก้าอี้รมว.สาธารณสุขเปลี่ยนมือเป็น “วิทยา บุรณศิริ” ส.ส.พระนครศรีอยุธยา พรรคเพื่อไทย ซึ่งถือเป็นม้ามืด แซงตัวเต็งอย่าง "วิชาญ มีนชัยนันท์" อดีตรมช.สาธารณสุข จากพรรคเดียวกันแบบเหนือความคาดหมาย 16 สิงหาคม 2554 วันแรกที่นายวิทยาเข้ารับตำแหน่งอย่างเป็นทางการ แม้จะยังอุบเงียบนโยบายด้านสาธารณสุข แต่ก็ตอบข้อซักถามในประเด็นการฟื้นเรียกเก็บค่าธรรมเนียม 30 บาทสำหรับผู้ใช้สิทธิบัตรทองว่า “อยู่ในนโยบายของพรรคที่ใช้ในการหาเสียงอยู่แล้ว”

ฟื้น 30 บาทยังไม่สตาร์ท

                ผ่านไปเกือบ 2 เดือนหลังรับตำแหน่ง "วิทยา" ยอมให้สัมภาษณ์ว่า จะเริ่มเก็บ 30 บาท เดือนพฤศจิกายน จากนั้นนโยบายนี้ก็เงียบหายไปพร้อมสายน้ำ ที่เข้าท่วมในหลายพื้นที่จนกลายเป็นวิกฤติของชาติ ประชาชนได้รับความเดือดร้อน 1.4 ล้านคน บ้างไร้บ้านเรือนต้องอาศัยศูนย์พักพิง บ้างก็ตกงาน คำตอบล่าสุดของ "วิทยา บุรณศิริ" ที่มีต่อนโยบายนี้ คือ “จะหารือกับนายกรัฐมนตรีเพื่อให้มีการชะลอการเก็บ 30 บาทออกไปก่อน เพื่อรอให้ประชาชนฟื้นตัวจากวิกฤติน้ำท่วม”

น้ำท่วมรพ. อพยพวุ่น!

                อุทกภัย น้ำท่วมใหญ่ 2554 ปรากฏสิ่งที่ไม่น่าจะเกิดขึ้น นั่นคือ น้ำท่วมโรงพยาบาล ซึ่งควรจะเป็นแหล่งสุดท้ายในการพึ่งพิงของประชาชนในยามเกิดภัยพิบัติ แต่ก็สุดจะทานทนพลังแห่งสายน้ำ เมื่อ รพ.พระนครศรีอยุธยา เป็นโรงพยาบาลแห่งแรกที่น้ำทะลักเข้าท่วม เพราะอยู่ใกล้แม่น้ำเจ้าพระยา อีกทั้งไม่ได้เตรียมการอพยพผู้ป่วยไว้ล่วงหน้า หลังน้ำท่วมจึงปรากฏภาพการเคลื่อนย้ายผู้ป่วยไปโรงพยาบาลอื่นด้วยความทุลักทุเล ซ้ำรอยเกิดขึ้นอีกครั้งกับ รพ.สวรรค์ประชารักษ์ หลังเขื่อนกั้นแตกน้ำทะลักท่วม จ.นครสวรรค์ ภาพการเคลื่อนย้ายผู้ป่วยท่วมกลางสายน้ำก็ปรากฏขึ้นอีกครั้ง

                จากนั้นผู้บริหารกระทรวงสาธารณสุขต้องออกโรงให้โรงพยาบาลทุกแห่ง โดยเฉพาะที่ตั้งอยู่ในพื้นที่เสี่ยงใกล้แม่น้ำ เตรียมแผนรับมืออย่างเข้มงวด พร้อมกับกำหนดแผนเคลื่อนย้ายผู้ป่วยในพื้นที่ที่มีความจำเป็น ซึ่งแบ่งตามระดับอาการของผู้ป่วยจากอาการหนักไปสู่อาการไม่หนักมาก เป็นสีแดง สีเหลือง และสีเขียว โดยให้เคลื่อนย้ายผู้ป่วยในกลุ่มสีแดงไปยังโรงพยาบาลที่ปลอดภัยก่อนเป็นลำดับแรก การอพยพผู้ป่วยด้วยความทุลักทุเลหลังน้ำท่วมโรงพยาบาลแล้ว จึงไม่ปรากฏเป็นครั้งที่ 3

                กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) ประเมินความเสียหายของสถานพยาบาลเบื้องต้น พบว่า สถานพยาบาลทุกระดับได้รับความเสียหายจำนวน 561 แห่ง ประเมินความเสียหายในโรงพยาบาลขนาดใหญ่ และสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) 11 แห่ง มูลค่าความเสียหายประมาณ 340 ล้านบาท โดย รพ.พระนครศรีอยุธยา เสียหายมากที่สุด มูลค่า 160 ล้านบาท สำหรับแผนป้องกันปัญหาในระยะยาว โดยเฉพาะสถานพยาบาลที่ตั้งอยู่ในจุดเสี่ยง ริมฝั่งแม่น้ำ อาจจำเป็นต้องทำรั้วโรงพยาบาลที่มีลักษณะคล้ายเขื่อน เพื่อป้องกันน้ำเข้าท่วมโรงพยาบาล

สปสช.บริหารงบไม่ถูกต้อง

                ก่อนสิ้นปี 2554 ผลการตรวสอบและประเมินผลการดำเนินงานของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ตั้งแต่ปีงบประมาณ 2546-2553 ซึ่งดำเนินการโดยสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ก็ถูกเปิดเผยขึ้น เนื่องจากสตง.พบว่า สปสช.บริหารจัดการงบบริหารสำนักงานและงบกองทุนสปสช.ไม่ถูกต้องใน 7 ประเด็น อาทิ การใช้จ่ายงบบริหารไม่ถูกต้องและไม่ประหยัด, การบริหารพัสดุไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่กำหนด, การนำเงินสนับสนุนกิจกรรมตามภาครัฐจากการซื้อยาจากองค์การเภสัชกรรมโดยใช้งบกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติไปใช้เป็นเงินสวัสดิการเป็นการปฏิบัติที่ไม่ เหมาะสม และการใช้จ่ายงบกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติไม่เป็นไปตามวัตถุประสงค์ที่กำหนดพ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2545 

                ขณะที่ นพ.วินัย สวัสดิวร เลขาธิการสปสช. ชี้แจงในประเด็นที่มีการตรวจสอบว่า เมื่อสตง.มีข้อท้วงติงการดำเนินการของสปสช.มาเช่นนี้ก็พร้อมน้อมรับ แต่ในบางเรื่องเป็นการตรวจสอบในปี 2546 ซึ่งบางเรื่องสปสช.ได้มีการแก้ไขปรับปรุงไปแล้ว และบางเรื่องเป็นเรื่องการตีความข้อกฎหมายที่แตกต่างกัน และสตง.เพียงแต่ท้วงติงเท่านั้น ไม่มีเรื่องการทุจริต อย่างไรก็ตาม สิ่งที่เกิดขึ้น "วิทยา บุรณศิริ" ในฐานะประธานบอร์ดสปสช.มิอาจนิ่งเฉย ได้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบเรื่องตามที่ สตง.ตรวจสอบแล้ว  ขณะนี้ยังอยู่ระหว่างการตรวจสอบ ต้องลุ้นปี 2555 ว่า การตรวจสอบจะเสร็จหรือไม่ และผลจะเป็นอย่างไร

                ตลอดปี 2554 แม้นโยบายหลักๆ จะไม่มีอะไรคืบหน้า แต่หลายๆ เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นนับว่าหวือหวาและสร้างความหวาดเสียวให้แก่หน่วยงานและตัวบุคคลไม่น้อย! ต้องรอติดตามต่อในปี 2555

.............................................

โดย...พวงชมพู ประเสริฐ
คม ชัด ลึก 29 ธค 2554