หมวดหมู่ทั่วไป > ข่าว รพศ./รพท.

“ศรีสุวรรณ”จ่อร้อง ป.ป.ท.สอบแพทย์นครสวรรค์ออกใบรับรองการตายของผู้ต้องหาถูกถุงดำ

<< < (2/2)

story:
ผู้ช่วยเลขาธิการแพทยสภา เผยเบื้องหลัง-ข้อจำกัด การชันสูตรพลิกศพ ไม่ฟันธงผู้ต้องหาคดีผู้กำกับโจ้ เสียชีวิตระหว่างการควบคุมของเจ้าพนักงานหรือไม่ ชี้ คนที่จะให้คำตอบได้ดีที่สุดคือโรงพยาบาล

วันที่ 27 สิงหาคม 2564 กรณี พ.ต.อ.ธิติสรรค์ อุทธนผล หรือ ผู้กำกับโจ้ พร้อมพวก มีพฤติการณ์ร่วมกันทำร้ายร่างกายโดยการทรมาน ใช้ถุงพลาสติกคลุมหัว นายจิระพงศ์ ธนะพัฒน์ ผู้ต้องหาคดียาเสพติด ต่อมามีการเปิดเผยหนังสือรับรองการตายของโรงพยาบาลสวรรค์ประชารักษ์ นครสวรรค์ ซึ่งระบุว่าผู้ต้องหาเสียชีวิตจากพิษสารแอมเฟตามีน ทำให้เกิดการวิพากษ์วิจารณ์เป็นอย่างมาก

ล่าสุด รองศาสตราจารย์ นพ.เมธี วงศ์ศิริสุวรรณ ผู้ช่วยเลขาธิการแพทยสภา ให้สัมภาษณ์ในรายการ เจาะลึกทั่วไทย Inside Thailand ทางช่อง MCOT HD 30 ถึงเรื่องนี้ว่า ในทางการแพทย์ ทันทีที่มีการเสียชีวิตเกิดขึ้นในโรงพยาบาล ญาติผู้เสียชีวิตจะต้องการใบรับรองการเสียชีวิตของคนไข้ เพื่อนำไปประกอบการทำใบมรณบัตรต่อไป ซึ่งกฎหมายกำหนดไว้ว่าถ้าคนไข้เสียชีวิตภายในโรงพยาบาล ให้เป็นหน้าที่ของแพทย์เป็นผู้ยืนยันการเสียชีวิต ซึ่งนอกจากจะสามารถบอกรายละเอียดของผู้เสียชีวิตรวมถึงสาเหตุการเสียชีวิต ยังใช้ในการเก็บข้อมูลสถิติสาเหตุในการเสียชีวิตอีกด้วย

เพราะฉะนั้น แพทย์จะต้องกรอกว่าสาเหตุการเสียชีวิต “ทางการแพทย์” คืออะไร เช่น หัวใจล้มเหลว หยุดหายใจ หัวใจวาย แต่จะมีบางกรณีที่แพทย์ยังไม่ทราบสาเหตุการเสียชีวิต เพราะคนไข้เสียชีวิตกะทันหันหรืออาจพึ่งถูกส่งมาโรงพยาบาลและเสียชีวิตทันที แต่ทางกฎหมายกำหนดให้ออกใบรับรองโดยด่วน เพราะต้องแจ้งนายทะเบียนภายใน 24 ชม. หลังเสียชีวิต แพทย์จึงจำเป็นต้องกรอกตามความเข้าใจไปก่อนในเบื้องต้น

นพ.เมธี เปิดเผยว่า หากมีการติดใจในสาเหตุการเสียชีวิตเกิดขึ้น เช่นกรณีนี้ ทางการแพทย์จะดำเนินการชันสูตรศพเป็นขั้นตอนต่อไป โดยผลชันสูตรศพที่ได้มาก็จะบอกได้ว่าสาเหตุการเสียชีวิตที่แพทย์ระบุไปถูกต้องหรือไม่ เพราะการชันสูตรเป็นการนำเนื้อของศพไปตรวจในห้องปฏิบัติการ กรณีใดที่เสียชีวิตและมีเหตุสงสัยสามารถยื่นเรื่องขอชันสูตรได้ ใบผลชันสูตรศพจึงเป็นใบสำคัญที่สุดในกรณีที่เกิดปัญหา

ต่อคำถามที่ว่า เป็นข้อบังคับหรือไม่ที่จะต้องทำการชันสูตรศพทุกกรณี นพ.เมธี ตอบว่า ไม่ เพราะมีคนตายทุกวันทั่วประเทศ แพทย์รับมือไม่ได้ อีกทั้งแพทย์นิติเวชมีน้อยมากเพราะไม่มีใครอยากเรียน ฉะนั้นกฎหมายจึงระบุไว้ว่าการเสียชีวิตมีอยู่ 5 ประเภท ที่บังคับให้ชันสูตรศพ คือ ฆาตกรรม ฆ่าตัวตาย ถูกสัตว์ทำร้ายให้ตาย ตายโดยไม่ทราบสาเหตุ และตายขณะอยู่ระหว่างการควบคุมของเจ้าพนักงาน

“อันนี้ก็ขึ้นอยู่กับทางฝ่ายกฎหมายบ้านเมืองจะตีความว่าตายระหว่างการควบคุมของเจ้าพนักงานหรือไม่ ผมไม่กล้าออกความเห็น ทุกอย่างมีผลกับรูปคดี” นพ.เมธี กล่าว

นพ.เมธี กล่าวเพิ่มเติมว่า การเสียชีวิตระหว่างการควบคุมของเจ้าพนักงาน ที่จริงแล้วแยกออกมาเป็นอีกหมวดโดยเฉพาะ และมีอีกกรณีที่คนไข้รักษาอยู่ในโรงพยาบาลแต่เกิดเสียชีวิตกะทันหัน ซึ่งแพทย์ไม่ทราบว่าเสียชีวิตจากสาเหตุใด แพทย์จึงจะขออนุญาตชันสูตรศพ หรือบางทีญาติเป็นผู้ร้องขอเอง จึงสรุปได้ว่าถ้ามีเหตุอันควรสงสัยว่าเสียชีวิตจากสาเหตุใด ก็ขอให้ชันสูตรศพได้

ต่อคำถามที่ว่า การชันสูตรศพ ต้องทำภายในกี่วันหลังเสียชีวิต นพ.เมธี เผยว่า การชันสูตรจะทำหลังฉีดยา แต่ถ้ามีข้อสงสัยก็จะมีการเจาะเลือด เก็บสารคัดหลั่ง เพื่อนำไปตรวจสารพิษก่อน และขั้นตอนสุดท้ายคือการผ่าเนื้อเยื่อซึ่งก็คือการผ่าศพ ตามหลักการแล้วยิ่งทำเร็วก็ยิ่งดี แต่ในทางปฏิบัติ แพทย์ที่จะชันสูตรศพคือนิติเวช ซึ่งมีน้อยมากและหลายจังหวัดไม่มี โดยสรุประยะเวลาแล้วแต่คดี แต่ในคดีนี้ถ้ายังมีศพอยู่ การชันสูตรจะถูกเร่งรัดให้ทำเร็วขึ้น

แต่เท่าที่ทราบส่วนใหญ่ที่มีปัญหาจริง ๆ คือมีการฌาปณกิจศพไปแล้ว หรือมีบางกรณีซึ่งสังคมอาจไม่ทันนึกถึงคือ ศาสนาอิสลาม เพราะทางศาสนาบังคับว่าหลังเสียชีวิต ต้องฝังศพภายใน 24 ชม. ซึ่งเรื่องนี้เป็นปัญหาที่แพทย์ลำบากใจ เพราะแพทย์เองบางทีสงสัยก็ต้องรีบกรอกสาเหตุเสียชีวิต หรือมีญาติสงสัยทีหลัง แพทย์ก็จะตกที่นั่งลำบาก จึงไม่กล่าวว่าแพทย์ผิดหรือถูก เพียงแต่ข้อเท็จจริงในการทำงานของแพทย์เป็นแบบนี้

“การตายมี 2 รูปแบบ คือ ตายทางการแพทย์ กับ ตายทางกฎหมาย ซึ่งไม่เหมือนกัน ตายทางการแพทย์หัวใจอาจจะยังเต้นอยู่ แต่แพทย์ถือว่าตายแล้ว กรณีแบบนี้ญาติยังไม่เข้าใจ แบบเอ๊ะ ทำไมหมอบอกว่าตาย แต่จับแล้วตัวยังอุ่น ๆ เพราะว่าการตายของแพทย์เราดูที่สมองว่าทำงานหรือไม่ แต่ถ้าตายตามกฎหมายคือหัวใจหยุดเต้น ไม่มีลมหายใจ

ส่วนกรณีที่เกิดขึ้นเป็นไปได้ว่าคนไข้อาจจะเสียชีวิตแล้วทางการแพทย์ คือขาดออกซิเจนจนสมองตายไปแล้ว แต่ว่าเงื่อนไขการประกาศสมองตายก็มีรายละเอียดอีก ไม่ใช่ตรวจปุ๊บแล้วบอกว่าตายเลย มันก็จะมีเงื่อนไขลึกลงมาอีก ฉะนั้นประเด็นการตายจะผูกพันกันในสองมิติคือทางกฎหมายและทางการแพทย์ แต่คนส่วนใหญ่จะรู้ในแง่มุมของกฎหมาย”

ต่อคำถามที่ว่า กรณีของเหยื่อคดีผู้กำกับโจ้ ตั้งข้อสังเกตหรือไม่ว่าผู้ต้องหา เสียชีวิตตั้งแต่วันที่ 6 ส.ค. แต่หลังจากเกิดเหตุ ทางโรงพยาบาลประกาศว่าจะออกใบชันสูตรพลิกศพในสัปดาห์สุดท้ายของเดือน ระยะเวลาขนาดนี้สามารถชันสูตรได้หรือไม่ นพ.เมธี กล่าวว่า เคยมีคดีฆาตกรรมใหญ่เกี่ยวกับเรื่องทรัพย์สมบัติ ซึ่งมีการชันสูตรศพหลายรอบ ซึ่งกินระยะเวลาเป็นปี

เพราะฉะนั้น การชันสูตรจึงเกิดได้ซ้ำเมื่อไม่มั่นใจ แต่ในกรณีนี้ได้เผาศพไปแล้วจึงไม่มีศพมาให้ผ่าซ้ำ แสดงว่ากรณีนี้มีการผ่าศพไปก่อนหน้านี้แล้วแต่ผลชันสูตรเป็นทางการอาจยังไม่ออก ตามที่ได้บอกไปว่าไม่ได้มีเพียงการชันสูตรผ่าศพ แต่ยังมีผลตรวจเลือด และสารคัดหลั่งอีกด้วย ซึ่งต้องใช้เวลาในการออกผล

“อันนี้ผมก็พูดในหลักการทางการแพทย์ แต่ผมว่าคนที่จะให้คำตอบได้ดีที่สุดก็น่าจะเป็นโรงพยาบาล แต่ถ้าโรงพยาบาลพูดแบบนี้จริง ผมกลับมองว่าโรงพยาบาลมีการสงสัยและเก็บอะไรบางอย่างไว้ในโรงพยาบาล ซึ่งอันนี้ข้อเท็จจริงต้องไปถามทางผู้ให้ข่าว เพราะบางทีฟังจากข่าวมันก็จะผิดเพี้ยน แต่หลักการทางการแพทย์เป็นแบบนี้”

นพ.เมธี กล่าวเพิ่มเติมถึงกรณีระยะเวลาในการรอผลชันสูตรศพออก ว่าหากเป็นกรณีเสียชีวิตและมีแพทย์ผ่าศพได้เลยเดี๋ยวนั้น บางทีผ่าเสร็จดูด้วยตาก็จะรู้ทันที หากไม่แน่ใจก็ต้องตัดชิ้นเนื้อไปย้อมพิเศษ ซึ่งมีเคสของนพ.เมธีเอง ที่ต้องรอผลถึง 3 สัปดาห์เพราะเป็นการย้อมพิเศษ มีคนไข้บางเคสที่ต้องส่งไปตรวจเมืองนอก เพราะในประเทศเราทำไม่ได้ แต่โดยการตรวจทั่วไปนิติเวชศาสตร์บ้านเราทำได้หมดแล้ว แต่ทำไมถึงนานหรือมีอะไรเป็นพิเศษ นพ.เมธีไม่ขอลงรายละเอียด ขอเพียงแค่บอกหลักการทางการแพทย์เท่านั้น

27 สิงหาคม 2564
https://www.prachachat.net/general/news-748048

story:
หมอชันสูตรศพคดีผู้กำกับโจ้ ออกมาเปิดเผยละเอียดยิบผ่านคลับเฮ้าส์ ทำไมต้องลงผลชันสูตรรอบแรกว่าเกี่ยวข้องกับยาเสพติด เพราะว่า มีการพบร่องรอยจริง พร้อมชี้พิรุธตำรวจที่ทำให้คาใจมากจนต้องไปชันสูตรอย่างละเอียด ก่อนที่จะปิดท้ายด้วยการสรุป 4 สาเหตุการตายที่เป็นไปได้ในคดีนี้

          หนึ่งในสิ่งที่เป็นข้อสงสัยของคนในสังคมเกี่ยวกับคดีที่ พ.ต.อ. ธิติสรรค์ อุทธนผล หรือ ผู้กำกับโจ้ ผกก.สภ.นครสวรรค์ ใช้ถุงดำคลุมหัวผู้ต้องหาจนเสียชีวิต ก็คือ ใบรับรองการเสียชีวิตของนายจิระพงศ์ หรือ มาวิน ระบุสาเหตุการเสียชีวิตว่ามีสารแอมเฟตามีนในร่างกาย ไม่ใช่ขาดอากาศหายใจอย่างที่ปรากฏในคลิป จึงกลายเป็นข้อสงสัยว่าเรื่องนี้ แพทย์ผู้ทำการชันสูตรศพ มีส่วนรู้เห็นหรือไม่

          ล่าสุด วันที่ 26 สิงหาคม 2564 หมอคนที่ชันสูตรพลิกศพคดีนี้ ออกมาเปิดเผยผ่าน Clubhouse ตอบคำถามทนายเกี่ยวกับเรื่องผลชันสูตรดังกล่าว ทำไมต้องลงไปว่า พิษจากสารแอมเฟตามีน ดังนี้

ข้อแรก ปัญหาทางเทคนิคของคนหน้างาน

          การทำงานในเรื่องการชันสูตรนั้น จะออกใบ 2 ใบคือ ใบรับรองการเสียชีวิต และผลชันสูตรพลิกศพ ใบรับรองการเสียชีวิตนั้น จะเป็นเพียงการตรวจสภาพศพเบื้องต้นก่อน ส่วนในใบชันสูตรพลิกศพ จะเป็นการตรวจโดยละเอียด ซึ่งต้องมีการตัดชิ้นเนื้อ ตรวจปัสสาวะและอื่น ๆ และต้องใช้เวลาประมาณหนึ่งกว่าผลทุกอย่างจะออก (เคสนี้คาดว่าผลจะออกในอีกประมาณ 3 วัน) โดยที่ใบรับรองการเสียชีวิต จะให้ญาติเอาไว้ใช้ในการขอใบมรณบัตร แต่ไม่มีผลทางคดีแต่อย่างใด

          ในเวลาที่ลงเอกสารใบรับรองการเสียชีวิต ถ้ากรอกว่า เป็นการตายโดยที่ไม่ทราบสาเหตุ ทางอำเภอจะตีกลับ ดังนั้นหมอจึงต้องลงข้อมูลสาเหตุการตายอะไรก็ได้ไปก่อน ซึ่งเรื่องนี้ถือเป็นปัญหาหน้างานที่พบได้จริงบางพื้นที่

          ส่วนสาเหตุที่ลงว่า อาจเกี่ยวข้องกับแอมเฟตามีน เพราะหมอตรวจเจอระดับแอมเฟตามีนในร่างกายผู้ตาย และเจอร่องรอยในอวัยวะบางอย่าง คือ หัวใจ มีร่องรอยกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดเป็นหย่อม ๆ นับเป็นลักษณะของแอมเฟตามีนโอเว่อร์โดสประการหนึ่ง อย่างไรก็ตาม แม้จะลงสาเหตุการตายไปว่าเกี่ยวข้องกับแอมเฟตามีน แต่คดีก็ยังไม่จบ เพราะเราจะรู้ผลชันสูตรแบบละเอียดในอีก 3 วัน

หมอรู้สึกแปลก ๆ ตำรวจมาขอให้หมอลงข้อมูลว่า ตายเพราะเกี่ยวกับแอมเฟตามีน

          แพทย์ชันสูตร ระบุว่า มีตำรวจมาขอให้ลงข้อมูลว่า ตายเพราะเกี่ยวข้องกับแอมเฟตามีน มิเช่นนั้นผู้กำกับจะไม่สบายใจ ซึ่งหมอก็เห็นว่า ผลชันสูตรหัวใจก็มีความเป็นไปได้ จึงลงข้อมูลไปแบบนั้น อย่างไรก็ตาม ในใจหมอเองก็รู้สึกว่า มันผิดปกติที่ตำรวจมาขอกันแบบนี้ จึงชันสูตรอย่างละเอียดและเก็บตัวอย่างไปตรวจทั้งหมด ซึ่งทางหมอก็ยอมรับว่า ทางตำรวจได้พูดกับหมอดี ๆ ว่านายจิระพงษ์อาจจะเสียชีวิตจากอาการหัวใจล้มเหลว

          ส่วนประเด็นที่มีเพจหนึ่งเผยผลตรวจล่าสุดที่บอกว่า ไม่เจอสารเสพติดในเลือดผู้ตาย อาจจะแปรผลได้ว่า ผู้ตายเคยมีประวัติเสพยาเสพติดมาก่อน และผลของหัวใจที่ตรวจเจอ คือผลจากการเสพในอดีต ไม่เกี่ยวข้องกับการตายในปัจจุบัน

ผู้ตายถูกส่งไปโรงพยาบาล แต่ไม่ได้เสียชีวิตทันที

    ภาพที่เห็นในคลิปที่นายจิระพงษ์แน่นิ่งไปนั้น ตอนนั้นคาดว่านายจิระพงษ์ยังไม่ตาย แต่อาจจะหมดสติไปแล้ว ทางตำรวจได้ส่งตัวนายจิระพงษ์มาที่โรงพยาบาลแห่งหนึ่ง แล้วบอกว่า นายจิระพงษ์วิ่งหนีตำรวจแล้วล้มลงไปเอง ทางโรงพยาบาลแห่งนั้นจึงส่งตัวต่อมาที่ รพ.นครสวรรค์ประชารักษ์ ทางหมอได้ปั๊มหัวใจ พยายามยื้อชีวิตเอาไว้ประมาณ 10 ชั่วโมง แต่สุดท้าย นายจิระพงษ์ก็เสียชีวิตในที่สุด

สรุปสาเหตุการเสียชีวิตคร่าว ๆ มีโอกาสเกิดขึ้นได้ 4 อย่าง

          1. ขาดอากาศเสียชีวิต
          2. มีสารเสพติดในร่างกายประมาณหนึ่ง และมีการกระตุ้นจากบางอย่างทำให้เสียชีวิต
          3. เสพยาเกินขนาด
          4. ถูกทำร้ายจนเสียชีวิต

          สำหรับผลตรวจล่าสุดที่ออกมา อาจจะตัดเรื่องเสพยาเกินขนาดทิ้งไปได้ เพราะไม่เจอสารเสพติดปริมาณที่สูงพอในร่างกายผู้ตาย แต่ผู้ตายอาจจะเคยเสพมาก่อน หรือเสพในปริมาณไม่มาก แล้วมีตัวกระตุ้นที่ทำให้ถึงแก่ชีวิต ก่อนที่สารดังกล่าวจะถูกขับออกจากร่างกายในช่วงเวลา 10 ชั่วโมงที่หมอพยายามยื้อชีวิต

ขอบคุณข้อมูลจาก เฟซบุ๊ก Drama-addict
https://hilight.kapook.com/view/215907

story:
เปิดเอกสารทีมแพทย์รพ.พริ๊นซ์ ปากน้ำโพ ยื้อชีวิต นาย"มาวิน"ผู้ต้องหาค้ายาเสพติด เหยื่อ "ผู้กำกับโจ้" แพทย์ยื้อชีวิตนาน 3 ชั่วโมง

จากกรณี นายจิระพงศ์ ธนะพัฒน์ หรือมาวิน  ผู้ต้องหาคดียาเสพติด ที่ถูกพ.ต.อ. ธิติสรรค์ อุทธนผล หรือ ผู้กำกับโจ้  อดีตผกก.สภ.นครสวรรค์ และลูกน้องตำรวจชุดเฉพาะกิจปราบปรามยาเสพติด 05 สภ.นครสวรรค์ ใช้ถุงดำคลุมหัวผู้ต้องหาจนจนหมดสติ และถูกนำตัวส่งรพ.ก่อนเสียชีวิต ล่าสุดทีมข่าวคมชัดลึกตรวจสอบพบว่า ข้อมูลการสอบปากคำ ทีมแพทย์แผนกฉุกเฉิน โรงพยาบาลพริ๊นซ์ ปากน้ำโพ พบว่า นายจิระพงศ์ ธนะพัฒน์ หรือมาวิน  ผู้ต้องหาคดียาเสพติด ถูกพาตัวไปส่งโรงพยาบาลพริ๊นซ์ ในเวลา 13.38 น. โดยตำรวจชุดเฉพาะกิจปราบปรามยาเสพติด 05 สภ.นครสวรรค์  ที่ปัจจุบันเป็นกลุ่มผู้ต้องหา และ ผู้กำกับโจ้  เป็นคนนำตัวนายมาวิน ไปส่งโรงพยาบาล โดยมีรถนำมาส่งที่รพ. 2 คัน เป็น รถของตำรวจชุดเฉพาะกิจปราบปรามยาเสพติด 05 สภ.นครสวรรค์ที่มีมาวินอยู่ในรถ และอีกคัน คือ ผู้กำกับโจ้

ทั้งนี้ยังมีรายงานด้วยว่า ร.ต.ท.ธรนินทร์ มาศวร อดีตรองสว.(ป.)สภ.เมืองนครสวรรค์ หรือ หมวดต้อง เป็นคนทำCPR ปั๊มหัวใจขณะนำส่งโรงพยาบาล ในขณะที่ผู้กำกับโจ้ เป็นคนให้ข้อมูลกับแพทย์และพยาบาลในตอนแรกรับ ว่า "ตำรวจวิ่งไล่จับกุมผู้ต้องหายยาเสพติด นาน ประมาณ 10 นาที หลังจับกุมผู้ต้องหามีอาการวูบ หมดสติ ไม่หายใจ จึงนำตัวส่งโรงพยาบาล"

ทั้งนี้ทางด้านแพทย์ ให้การว่า ได้ปั๊มหัวใจมาวิน ประมาณ 10 รอบ รวมเวลาประมาณ 20 นาที พบว่า กลับมามีชีพจรอีกครั้ง แพทย์มีการใช้สายยางสอดเข้าไปในกระเพาะปัสสาวะ เพื่อตรวจสารเสพติด ตามข้อมูลที่ผู้กำกับโจ้แจ้งตอนนำผู้ป่วยส่งโรงพยาบาล จากนั้นจึงส่งต่อให้ โรงพยาบาลสวรรค์ประชารักษ์ เพราะ ผล x-ray ปอดผิดปกติ มีเลือดเป็นกรดสูง และ คนไข้หยุดหายใจ ต้องอาศัยแพทย์ที่เชี่ยวชาญ รวมถึงมองว่า เป็นคดียาเสพติด ต้องให้โรงพยาบาลรัฐบาลดำเนินการต่อ

ขณะที่ เอกสารประวัติการรักษา ของโรงพยาบาลพริ๊นซ์ ปากนำโพ เขียนระบุว่า ผู้ป่วยถูกนำตัวส่งโรงพยาบาล เวลา 13.38 น. จากนั้นเริ่ม cpr ตอน13.38น. ไม่มีชีพจร จนกระทั้ง ใช้ยากระตุ้นการเต้นของหัวใจ ตอน13.50น.และ 13.58 น.ก่อนที่ ตอน14.00น. ชีพจรจะกลับมาเต้น 70ครั้ง ต่อนาที ผู้ป่วย ไม่ลืมตา และ ไม่มีการเคลื่อนไหว แพทย์ จึงให้ยาต่อเรื่อง มีการเพิ่มยาความดัน ยากระตุ้นการเต้นของหัวใจ

ซึ่งตามข้อมูลการรักษาพบว่าแพทย์โรงพยาบาลพริ๊นซ์ ปากนำโพ ใช้เวลารักษาอยู่นาน 3 ชั่วโมงแต่สุดท้าย หัวใจหยุดเต้นอีกครั้งเนื่องจาก "ภาวะเป็นกรดในร่างกาย"
ก่อนจะติดต่อหาเตียง เพื่อส่งต่ออีกโรงพยาบาลในเวลา 16.30น.ส่วนเหตุการณ์หลังจากนั้น ต้องรอข้อมูลการสอบปากคำ แพทย์ พยาบาล เวรเปล และผู้เกี่ยวข้อง โรงพยาบาลสวรรค์ประชารักษ์

28 ส.ค. 2564
https://www.komchadluek.net/news/480903

story:
อัยการ ตำรวจ ฝ่ายปกครอง พร้อมแพทย์ชันสูตรแถลงชัด..เหยื่อคดีอดีต ผกก.โจ้-ลูกทีมชุด 05 โรงพักกองเมืองปากน้ำโพ ถูกคลุมหัว 6 ชั้น-กดคอพับ/กดทับกับพื้น ทำขาดอากาศ เป็นสาเหตุหลักทำให้ตายแม้ในร่างกายจะมีสารเสพติดก็ตาม

ความคืบหน้าคดี ผกก.โจ้ และพวก คลุมหัวรีดผู้ต้องหาจนเสียชีวิต ตลอดวานนี้ (30 ส.ค. 64) พนักงานสอบสวนชุดคลี่คลายคดีทั้งในส่วนของตำรวจกองปราบปราม ตำรวจนครสวรรค์ และชุดที่ ผบ.ตร.แต่งตั้งที่มี พล.ต.อ.สุชาติ ธีระสวัสดิ์ รอง ผบ.ตร.เป็นหัวหน้าชุด ได้นำตัวเจ้าหน้าที่ตำรวจชุดเฉพาะกิจปราบปรามยาเสพติด ชุด 05 ของ สภ.เมืองนครสวรรค์ อีก 6 นาย มาสอบปากคำอย่างละเอียด

เบื้องต้นยังไม่ได้มีการออกหมายจับใครเพิ่มเนื่องจากพยานหลักฐานพบว่าตำรวจชุด 05 ทั้ง 6 นายร่วมล่อซื้อยาเสพติดและจับกุมจริง แต่เมื่อควบคุมผู้ต้องหามาที่ห้องที่เกิดเหตุ (บ้านกาแฟ ห้องปฏิบัติงานชุด 05 สภ.เมืองนครสวรรค์) แล้วได้พากันออกจากห้อง พร้อมกับไปทำการลงบันทึกการจับกุมไว้เป็นหลักฐานกับร้อยเวร สภ.เมืองนครสวรรค์ แต่ต้องนำคำให้การทั้งหมดมาประกอบสำนวนและคำให้การของตำรวจที่เป็นผู้ต้องหา ว่าจะมีความผิดอะไรบ้างในส่วนคดีอาญา แต่ความผิดทางวินัยคงไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้

ขณะที่นายสมพงษ์ เย็นแก้ว รองอธิบดีอัยการภาค 6 พร้อมคณะ และ พล.ต.ต.ระพีพงษ์ สุขไพบูลย์ ผบก.ภ.จว.นครสวรรค์ เจ้าหน้าที่ตำรวจกองปราบปราม ทีมพนักงานสอบสวนในคดี แพทย์ผู้ชันสูตรศพเหยื่อผู้เสียชีวิต และเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครองโดยนายอำเภอเมืองนครสวรรค์ ประชุมหารือวางแนวทางในการทำสำนวนคดีเพื่อให้เกิดความโปร่งใส

จากนั้นคณะได้เดินทางไปตรวจสถานที่เกิดเหตุ บ้านกาแฟ โรงพยาบาลพริ้นซ์ปากน้ำโพ โรงพยาบาลสวรรค์ประชารักษ์ โดยมีนางจันจิรา ธนะพัฒน์ และ น.ส.กมลวรรณ หรือใบเฟิร์น ซึ่งเป็นแม่ และแฟนสาวของเหยื่อ และพ่อของนายจิระพงศ์ ผู้เสียชีวิตมาพบ-ให้ปากคำอัยการด้วย

ต่อมาช่วงค่ำ นายสมพงษ์ เย็นแก้ว รองอธิบดีอัยการภาค 6 พล.ต.ต.ระพีพงษ์ สุขไพบูลย์ ผบก.ภ.จว.นครสวรรค์ เจ้าหน้าที่ตำรวจกองปราบปราม ทีมพนักงานสอบสวนในคดี นายแพทย์ผู้ชันสูตรศพ และเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครอง ได้ร่วมกันแถลงข่าวภายหลังจากนำหลักฐานจากที่เกิดเหตุ หลักฐานจากนิติวิทยาศาสตร์ทั้งหมดนำมาประมวลประชุมหารืออีกครั้ง

นายสมพงษ์กล่าวว่า ในนามรองอธิบดีอัยการภาค 6 ที่ดูแลในภาค 6 ร่วมกับพนักงานสอบสวนโดยรองผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 6 ยืนยันได้ว่าเหตุการณ์ดังกล่าวเกิดจากตำรวจจับกุมตัวผู้ตายในการควบคุมแล้วผู้ตายเกิดตายระหว่างการควบคุม จะอ้างว่าเกิดจากการปฏิบัติหน้าที่ก็ตาม

แต่การตายดังกล่าวต้องมีการพิสูจน์ร่วม 4 ฝ่าย คือ แพทย์ ตำรวจ อัยการ และฝ่ายปกครอง โดยอำเภอ ต้องพิสูจน์ร่วมเพื่อทราบว่าผู้ตายคือใคร ผู้ตายตายเพราะอะไร ตายอย่างไร ด้วยสาเหตุใด พฤติกรรมแบบใด ใครทำให้ตายเพราะเหตุใด นี่คือการชันสูตรพลิกศพ คือการไปดูสถานที่เกิดเหตุ จากจุดที่ถูกอุ้มตัวมา ดูจากคลิปที่ปรากฏใครทำอะไรอย่างไร และไปโรงพยาบาลโดยตำรวจไปส่ง สภาพไม่ตอบสนองอะไรแล้ว มีการส่งต่อไป รพ.สวรรค์ประชารักษ์

ซึ่งจากการดูสถานที่เกิดเหตุต่างๆ และหลักฐานที่เกี่ยวข้อง โดยคณะร่วม 4 ฝ่ายพบว่ามีการตัดเนื้อเยื่อ มีการตรวจศพแล้ว เป็นชุดที่ถูกต้องตามกฎหมายตามประมวลกฎหมาย มาตรา 150 ซึ่งทำโดย 4 ฝ่าย โดยการเห็นพ้องต้องกันยืนยันจากแพทย์ว่าใครทำให้ตาย ตายด้วยสาเหตุใด

“ขอให้มั่นใจว่าพนักงานอัยการจะสอบสวนร่วมด้วยในคดีนี้ เพราะคดีวิสามัญฆาตกรรมพนักงานอัยการต้องร่วมสอบสวนกับพนักงานสอบสวน และแล้วเสร็จภายในเวลาอันควรไม่นานนัก”

ด้านนายแพทย์ ณัฐพงษ์ ตุลาพันธุ์ แพทย์นิติเวชโรงพยาบาลสวรรค์ประชารักษ์ เปิดเผยว่า หลังรับศพผู้เสียชีวิตมาตรวจพิสูจน์ได้ดำเนินการตามขั้นตอนเพื่อตรวจศพโดยละเอียด ตัดชิ้นเนื้อศพตรวจพิสูจน์ไว้หมดแล้ว ประกอบกับมาทราบบริบทอื่นเรื่องคลิป การตรวจที่เกิดเหตุ และสภาพแวดล้อมหลายอย่าง จากข้อมูลเพิ่มเติมนำมาประกอบรวมกัน หลักฐานปรากฏชัดเจนว่าผู้ตายเสียชีวิตจากการขาดอากาศ เพราะว่ามีถุงคลุมศีรษะ

“ด้วยเหตุผลจากที่ดูจุดเกิดเหตุ ดูจากคลิป และหลักฐานเพิ่มเติมหลายอย่าง พบว่าผู้ตายถูกกระทำหลายอย่าง ถูกคลุมด้วยถุงมากกว่า 6 ชั้น โดยชั้นในสุดจะแนบประกบกับใบหน้าทำให้ขาดอากาศ ผู้เสียชีวิตพยายามดิ้นรน และถูกกดลำคอพับลง ทำให้หายใจยากขึ้น จากนั้นก็ถูกกดลงกับพื้นทำให้หายใจยากขึ้นอีก นั่นหมายความว่ากระบวนการหายใจ หายใจไม่ออก จากถุงครอบระยะเวลานาน 6 นาที เริ่มขันชะเนาะมากกว่า 6 นาที แม้ว่าในร่างกายผู้ตายจะมีสารเสพติดในตัว แต่การกระทำเช่นนั้นก็ตายได้แล้ว ด้วยเหตุผลทั้งหมดจากการตรวจที่เกิดเหตุ สรุปฟันธงได้เลยว่าการเสียชีวิตเกิดจากการขาดอากาศจากการใช้ถุงพลาสติกจนขาดอากาศ”

31 ส.ค. 2564  ผู้จัดการออนไลน์

นำร่อง

[0] ดัชนีข้อความ

[*] หน้าที่แล้ว

Go to full version