ผู้เขียน หัวข้อ: สงครามนอแรด-(สารคดี-เนชั่นแนลจีโอกราฟฟิก)  (อ่าน 2038 ครั้ง)

pani

  • Hero Member
  • *****
  • กระทู้: 756
    • ดูรายละเอียด
นับตั้งแต่ปี 2006 เป็นต้นมา  มีแรดถูกสังหารไปกว่าหนึ่งพันตัว และพวกลักลอบล่าสัตว์ราว 22 คนดับดิ้น ศูนย์กลางความขัดแย้งอันนองเลือดนี้คือนอแรด  ซึ่งถือเป็นเครื่องยาล้ำค่าในตำรับยาแผนโบราณแถบเอเชีย ถึงแม้ราคาในตลาดมืดจะผันผวนอย่างมาก  โดยเมื่อฤดูใบไม้ร่วงปีที่แล้วพ่อค้าในเวียดนามตั้งราคาไว้ตั้งแต่กรัมละ 33    ไปจนถึง 133 ดอลลาร์สหรัฐ พูดอีกนัยหนึ่งก็คือราคาสูงสุดนั้นสูงกว่าราคาทองคำถึงสองเท่า

            แม้ถิ่นกระจายพันธุ์ของแรดสองชนิดในแอฟริกา ได้แก่ แรดขาวและแรดดำที่ตัวเล็กกว่า จะลดลงจนกระจุกตัวอยู่ทางตอนใต้ของแอฟริกาและเคนยา แต่จำนวนประชากรกลับกระเตื้องขึ้นอย่างน่ายินดี เมื่อปี 2007 แรดขาวมีจำนวน 17,470 ตัว ขณะที่ประชากรแรดดำเพิ่มขึ้นจากช่วงกลางทศวรรษ 1990 เกือบสองเท่ามาอยู่ที่ 4,230 ตัว

สำหรับนักอนุรักษ์ ตัวเลขเหล่านี้เปรียบได้กับชัยชนะ     ย้อนหลังไปในช่วงทศวรรษ   1970   และ   1980 การลักลอบล่าเกือบทำให้แรดสองชนิดนี้หมดสิ้นไป ต่อมาทางการจีนได้ออกกฎหมายห้ามใช้นอแรดทำยาจีน และเยเมนก็ออกกฎห้ามใช้ นอแรดทำด้ามกริชพิธี สัญญาณทั้งหมดดูจะส่อไปทางที่ดีขึ้น แต่แล้วในปี 2008 จำนวนแรดที่ถูกล่าในแอฟริกาใต้กลับเพิ่มขึ้นเป็น 83 ตัวจากเพียง 13 ตัวเมื่อปีก่อนหน้า ครั้นพอถึงปี 2010 ตัวเลขก็เพิ่มสูงขึ้นเป็น 333 ตัว และกลายเป็น 400 ตัวเมื่อปีที่แล้ว องค์กรแทรฟฟิก (Traffic)   ซึ่งเป็นเครือข่ายเฝ้าระวังการค้าสัตว์ป่า   พบว่าการค้านอแรดส่วนใหญ่ตอนนี้มุ่งไปยังไปเวียดนาม

            ทั้งๆที่แรดชวาเคยมีอยู่ชุกชุมในผืนป่าและที่ราบน้ำท่วมถึงของเวียดนาม   แต่เมื่อปี 2010 แรดป่าตัวสุดท้ายของประเทศได้ถูกพวกลักลอบล่าสังหารไปเสียแล้ว  กระนั้นนอแรดก็ไม่เคยขาดแคลนในเวียดนาม การค้านอแรดผิดกฎหมายเคยวนเวียนอยู่ในตลาดจีน ไต้หวัน เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น และเยเมน แต่ตอนนี้กลับกระจุกตัวอยู่ในเวียดนาม ประเมินกันว่าเฉพาะปีที่ผ่านมาเพียงปีเดียวน่าจะมีนอแรดปริมาณมากกว่าหนึ่งตันเข้าสู่ตลาดเวียดนาม ในแอฟริกาใต้มีชาวเวียดนามจำนวนมากซึ่งรวมถึงนักการทูตพัวพันกับแผนลักลอบขนนอแรดออกนอกประเทศ

            แต่ใช่ว่านอแรดทั้งหมดจะเข้าสู่เวียดนามอย่างผิดกฎหมาย กฎหมายแอฟริกาใต้ซึ่งอนุวัตตามอนุสัญญาว่าด้วยการค้าระหว่างประเทศซึ่งชนิดสัตว์ป่าและพืชป่าที่ใกล้สูญพันธุ์หรือไซเตส (CITES) อนุญาตให้ส่งออกนอแรดได้ในฐานะรางวัลจากการล่า ในปี 2003 นักล่าชาวเวียดนามคนหนึ่งบินไปแอฟริกาใต้และสังหารแรดในพื้นที่ป่าซาฟารีอย่างถูกกฎหมาย ต่อมาไม่นาน นักล่าชาวเอเชียหลายสิบคนก็ตบเท้าเข้ามา แต่ละคนจ่ายเงิน 50,000 ดอลลาร์สหรัฐหรือมากกว่าเพื่อล่าสัตว์ ผ่านหน่วยงานหรือองค์กรที่ได้รับอนุญาต เมื่อกลับถึงเวียดนาม       เฉลี่ยแล้วนอแรดคู่หนึ่งซึ่งหนักหกกิโลกรัมสามารถแบ่งขายเป็นชิ้นๆในตลาดมืด    โดยอาจทำกำไรได้ถึง 200,000 ดอลลาร์สหรัฐหลังหักค่าใช้จ่ายได้สบายๆ

            ชนวนที่ปลุกกระแส “ตื่นนอแรด” นี้ยากจะชี้ชัดลงไปได้ กระนั้นก็ไม่อาจปฏิเสธได้ว่าเบื้องหลังปรากฏการณ์นี้คือ ความสนใจหรือความเชื่อในพลังแห่งการบำบัดของนอแรดที่กลับมาอยู่ในกระแสอีกครั้ง เป็นเวลาอย่างน้อย 2,000 ปีมาแล้วที่ตำรับยาแผนโบราณแถบเอเชียสั่งนอแรดบดเป็นยาลดไข้และรักษาสารพัดโรค ผลการศึกษาว่าด้วยคุณสมบัติ การลดไข้ของนอแรดไม่กี่ชิ้นในช่วง 30 ปีที่ผ่านมาไม่สามารถบอกอะไรได้ชัดเจน กระนั้น ตำรายาพื้นบ้านของเวียดนามฉบับปี 2006 ก็บรรยายสรรพคุณของนอแรดยาวถึงสองหน้ากระดาษ

            ข้ออ้างล่าสุดและดึงดูดใจที่สุดเห็นจะไม่พ้นสรรพคุณในการรักษามะเร็ง นักวิทยามะเร็ง (oncologist) ชี้ว่า   ที่ผ่านมายังไม่มีงานวิจัยใดเกี่ยวกับประสิทธิภาพในการรักษามะเร็งของนอแรดได้รับการตีพิมพ์ แต่ถึงคุณสมบัติทางยาของนอแรดยังเป็นที่เคลือบแคลง นั่นไม่ได้หมายความว่าจะไม่ส่งผลต่อผู้บริโภค แมรี ฮาร์ดี ผู้เชี่ยวชาญด้านยาแผนโบราณ ยอมรับว่า   “ความเชื่อเรื่องการบำบัดรักษา    โดยเฉพาะสิ่งที่หายากและมีราคาแสนแพงอาจส่งผลอย่างมากต่อความรู้สึกของผู้ป่วยค่ะ”

            ผู้บริโภคนอแรดส่วนใหญ่ที่เราพบเป็นชนชั้นกลางที่กำลังเติบโตอย่างรวดเร็วในเวียดนาม  บ่อยครั้งที่หลายครอบครัวลงขันซื้อนอแรดมาแบ่งกัน แม่ป้อนลูกที่ป่วยเป็นหัด คนเฒ่าคนแก่พูดเป็นเสียงเดียวกันว่า มันรักษาอาการเลือดลมไม่ดีและป้องกันโรคหลอดเลือดสมองได้ หลายคนเชื่อว่ามันเป็นแหล่งซูเปอร์วิตามิน

แม้แพทย์ชาวเวียดนามหลายคนจะบอกว่า นอแรดไม่มีผลในการรักษาโรคใดๆ ไม่ต้องพูดถึงมะเร็งเลย กระนั้นแพทย์หลายคนก็ยังอ้างว่า นอแรดอาจเป็นส่วนหนึ่งของการบำบัดรักษามะเร็งที่มีประสิทธิภาพ แต่กระนั้นก็ไม่มีผู้ใดสามารถยกผลการศึกษาที่ได้รับการตีพิมพ์และประเมินความน่าเชื่อถือโดยผู้เชี่ยวชาญมาสนับสนุนคำกล่าวอ้างได้

ความคิดที่ว่าไม่ควรมีแรดตัวไหนต้องสังเวยชีวิตเพื่อป้อนความต้องการนอแรดของชาวเวียดนาม ส่งผลให้จอห์น ฮูม นักลงทุนวัย 69 ปี สร้างฟาร์มเลี้ยงแรดขึ้น ฮูมเป็นเจ้าของฝูงแรดของเอกชนฝูงใหญ่ที่สุดในโลกฝูงหนึ่ง ปัจจุบันเขามีแรดขาวและแรดดำรวมกันกว่า 700 ตัวในฟาร์มเลี้ยงสองแห่งในแอฟริกาใต้และยังอยากมีมากกว่านี้  เขาบอกว่า “เราได้ขนจากแกะ  แล้วทำไมจะเอานอจากแรดบ้างไม่ได้ละครับ   ถ้าคุณตัดนอของมันขึ้นมาจากโคน 80 มิลลิเมตร   นอจะงอกใหม่ภายในสองปี   นั่นหมายความว่า   นอแรดจะไม่มีวันหมด ถ้าเราฉลาดพอจะยอมให้เจ้าสัตว์พวกนี้อยู่รอด”

            กิจกรรมที่เกิดขึ้นเฉลี่ยเกือบสัปดาห์ละครั้งคือ ผู้จัดการฟาร์มของฮูมและสัตวแพทย์จะวางยาสลบแรดตัวหนึ่ง ก่อนใช้เลื่อยไฟฟ้าตัดนอทั้งสองออก กระบวนการทั้งหมดนี้เกิดขึ้นภายใต้การกำกับดูแลของเจ้าหน้าที่พิทักษ์สัตว์ป่า ยี่สิบนาทีต่อมา แรดตัวนั้นก็กลับออกไปเล็มหญ้าได้ดังเดิม ขณะที่นอแรดซึ่งได้รับฝังไมโครชิปจะถูกส่งไปเก็บในตู้นิรภัยของธนาคาร

            ในบรรดาความเข้าใจผิดต่างๆ ฮูมบอกว่า หลายคนคิดว่างาช้างกับนอแรดเหมือนกัน ทั้งๆที่งาคือฟันของช้าง ขณะที่นอแรดคือเคอราทินเหมือนอย่างกีบม้าและเขาสัตว์ การตัดนอแรดอย่างถูกวิธีจึงไม่ทำให้แรดล้ม ต่างจากการตัดงาที่หากทำไม่ถูกวิธีอาจทำให้เกิดการติดเชื้อและช้างล้มได้ในที่สุด

นักอนุรักษ์แย้งว่า การทำให้การค้านอแรดเป็นเรื่องถูกกฎหมายไม่ได้ทำให้เศรษฐศาสตร์สำคัญเกี่ยวกับการล่าเปลี่ยนไป เพราะนอแรดที่ได้จากธรรมชาติจะมีราคาถูกกว่านอแรดในฟาร์มเลี้ยงเสมอ ฮูมไม่เห็นด้วย เขาบอกว่า เมื่อผู้ซื้อมีความมั่นใจว่าสามารถหาซื้อนอแรดถูกกฎหมายได้เสมอ ราคาย่อมลดลงตามกลไกตลาด ซึ่งจะทำให้แก๊งอาชญากรรมเลิกทำธุรกิจนี้

มีนาคม 2555