ผู้เขียน หัวข้อ: ระบบสวัสดิการสังคม... ทำไม อย่างไร?  (อ่าน 3064 ครั้ง)

Meem

  • Hero Member
  • *****
  • กระทู้: 2576
    • ดูรายละเอียด
ระบบสวัสดิการสังคม... ทำไม อย่างไร?
« เมื่อ: 21 ธันวาคม 2010, 20:54:52 »
ระบบสวัสดิการสังคม... ทำไม อย่างไร? (สารส้ม)

ช่วงปลายปี... ดูเหมือนแต่ละฝ่าย จะขยันนำเสนอมุมมองแนวคิดที่ตนเองเห็นว่าดีเด่น เข็นออกมาสู่พื้นที่สาธารณะกันเยอะมากๆ

เรียกว่า เกิดภาวะวิสัยทัศน์ไหลนอง ท่วมบ้านท่วมเมือง!

ฝ่ายรัฐบาล ก็โยนหินถามทาง นำเสนอชุดนโยบายที่เรียกว่า "ประชาวิวัฒน์"

ฝ่ายค้าน ก็อ้างว่ารัฐบาลลอกเลียนแบบ "ประชานิยม" ของทักษิณ

ฝ่ายนักวิชาการ ก็ด่ามันเสียทั้งคู่ ไม่ว่าจะประชานิยมแบบทักษิณ หรือประวิวัฒน์แบบรัฐบาลปัจจุบัน

ฝ่ายชาวบ้าน ยังไม่ส่งเสียงดังนัก แต่ไม่ว่ารัฐบาลไหนยื่นให้ก็เอาทั้งนั้น

ฝ่ายคณะกรรมการปฏิรูปประเทศ และคณะกรรมการศึกษาแก้ไขรัฐธรรมนูญ ก็เตรียมนำเสนอกันคนละทีสองที บางคนจะเสนอปฏิรูปโครงสร้างระบบการเมืองไทย บางคนก็จะยื่นข้อเสนอปฏิรูปประเทศไทย

โอ๊ยยย... สารพัดแนวคิด สารพันไอเดีย น่าคิด น่าสนใจทั้งนั้น

แต่วันนี้ ก่อนจะร่วมตามแห่แสดงวิสัยทัศน์ไปกับเขาด้วยว่า แนวคิดแนวทางของใครถูกใจไม่ถูกใจประการใด ก็ขอเติม "ความรู้" ก่อนออก "ความคิดเห็น"

เพราะไม่อยากให้ประเทศไทยกลายเป็น "บ่อพักน้ำคำ"

หรือ "สนามชนความฝัน"

หรือที่ร้ายกว่านั้น คือ "เวทีประชันอัตตา"

นี่ไม่ได้ว่า ไม่ได้แขวะใคร

ที่อยากจะทำความเข้าใจ เป็นความรู้เบื้องต้นร่วมกันเสียก่อน เพื่อมิให้ถูกครอบงำด้วยอคติ ไม่ว่าจะด้วยรัก ด้วยโกรธ ด้วยกลัว หรือด้วยอิจฉาใดๆ ก็คือเรื่อง "สวัสดิการสังคม"

"สวัสดิการสังคม" แตกต่างจาก "ประชานิยมทางการเมือง" อย่างไร?

แตกต่างจาก "รัฐสวัสดิการ" อย่างไร?

และเมื่อนำความรู้เรื่อง "สวัสดิการสังคม" ที่ว่านี้ มาใช้เป็นกรอบคิดในการวิพากษ์วิจารณ์นโยบายของรัฐบาลปัจจุบัน จะเห็นความเด่น-ความด้อย, ข้อดี-ข้อเสีย, เป็นคุณ-เป็นโทษ, ประโยชน์-ต้นทุน อย่างไร

มาตรการใด คือการหาเสียงแบบน่าเกลียด?

นโยบายไหน คือการสร้างสวัสดิการสังคมที่ยั่งยืนให้คนไทยในระยะยาว?

จะได้คำตอบชัดเจนว่า รัฐบาลชุดนี้ กำลังจะสร้าง "ประชานิยม" หรือ "รัฐสวัสดิการ" หรือจะทำให้เกิด "สวัสดิการสังคม" กันแน่?

พูดเรื่อง "สวัสดิการสังคม" ก็ขออนุญาตเก็บความ เรียบเรียงความรู้จากข้อเขียนของอาจารย์วรวรรณ ชาญด้วยวิทย์ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) ตีพิมพ์อยู่ในหนังสือ "สร้างเมืองไทยให้น่าอยู่ใน 999 วัน" เล่ม 2 เพื่อให้มองเห็นชัดเจนขึ้นว่า อะไรคือสวัสดิการสังคม?

ระบบสวัสดิการสังคม

ระบบสวัสดิการสังคมที่ดี ควรเป็นระบบที่สร้างความมั่นใจให้กับคนไทยได้ว่าสามารถมีชีวิตอยู่ใน ปัจจุบันอย่างไม่ขัดสน แร้นแค้น ทุลักทุเล ยากลำบาก ไม่ต้องหวาดผวากับความไม่แน่นอนของชีวิตความเป็นอยู่ในอนาคต และสร้างความมั่นคงให้แก่ชีวิตในมิติทางสังคม ดังนั้น ระบบสวัสดิการสังคมที่ดีควรครอบคลุมชีวิตคนทุกช่วงวัย (วัยเด็ก วัยทำงาน และวัยชรา) และควรดูแลคนทุกคนด้วยมาตรฐานเดียวกัน

ประเทศไทยมี "ระบบสวัสดิการสังคม" หรือยัง?

ประเทศไทย "มี" สวัสดิการสังคมหลายประเภท ไม่ว่าจะเป็น การให้การดูแลเด็กตั้งแต่อยู่ในครรภ์ การให้การศึกษาฟรีแก่เด็กทุกคน การให้บริการจัดหางานให้ผู้ตกงาน การให้เงินผู้ตกงาน การให้การฝึกอาชีพ การให้เบี้ยยังชีพแก่ผู้อายุ 60 ปีขึ้นไป การให้บริการรักษาพยาบาลแก่ทุกคน และการสงเคราะห์ผู้ยากลำบากหลายๆ กลุ่ม

แต่การ "มี" สวัสดิการสังคม กับการ "มีระบบ" สวัสดิการสังคมนั้น มีความแตกต่างกัน

การทำสวัสดิการสังคมให้เป็น "ระบบ" ควรจะต้องคำนึงถึงความครอบคลุม ความเสมอภาคเท่าเทียมกัน คุณภาพของสวัสดิการ และการวางแผนที่ดี ทั้งด้านค่าใช้จ่ายและรายได้ เพื่อนำมาสนับสนุนสวัสดิการสังคม

สวัสดิการสังคมของคนไทยนั้น มีปัญหาทั้งในด้านความครอบคลุม (คนบางกลุ่มเข้าไม่ถึงสวัสดิการบางประเภท) ความเสมอภาคเท่าเทียมกัน และคุณภาพของสวัสดิการ

คนบางกลุ่มได้รับสวัสดิการคุณภาพที่ดี ผู้รับมีความภาคภูมิใจที่ได้สวัสดิการ แต่คนบางกลุ่มกลับได้รับการสงเคราะห์แบบไม่เต็มมาตรฐาน ตัวอย่างที่เห็นชัดเจน คือ เงินที่ให้ข้าราชการเกษียณเรียกว่า บำนาญ ผู้รับมีความภาคภูมิใจที่มีรายได้เมื่ออายุเลยวัยทำงาน แต่เงินที่ให้คนทั่วไปที่ชราภาพกลับเรียกว่า เงินสงเคราะห์เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ แทนที่จะเรียกว่า บำนาญ

ประเทศอื่นๆ มีระบบสวัสดิการสังคมอย่างไรบ้าง?

ประเทศแถบสแกนดิเนเวีย มีระบบสวัสดิการสังคมที่ครอบคลุมคนทุกคนอย่างดี ทุกคนได้รับสวัสดิการรักษาพยาบาลด้วยมาตรฐานเดียวกัน เด็กได้ไปโรงเรียนที่มีคุณภาพ พ่อแม่แม้จะยากดีมีจนก็ได้รับเงินจุนเจือจากรัฐเพื่อมาใช้จ่ายเกี่ยวกับเด็ก คนทำงานทุกคนได้รับการคุ้มครองอย่างดีไม่ว่าจะเจ็บป่วยหรือตกงาน เมื่อแก่ชราก็มีบำนาญทุกคน

ประเทศแถบสแกนดิเนเวียได้รับการขนานนามว่าเป็น "รัฐสวัสดิการ" มีการเก็บภาษีจากประชาชนสูงมาก เพื่อที่รัฐจะได้สามารถนำมาจัดสวัสดิการสังคมที่มีมาตรฐานสูงให้แก่ประชาชน อย่างเสมอภาคกัน

ส่วนหลายประเทศในยุโรป ก็มีการให้สวัสดิการสังคมที่ครอบคลุมคนทุกกลุ่มเช่นเดียวกับประเทศแถบสแกนดิ เนเวีย แต่มีระบบการจัดการที่แตกต่างกัน คือ มีการเก็บเงินสมทบประกันสังคมจากสมาชิก

คนวัยทำงานทุกคนจะเป็นสมาชิกของประกันสังคมกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง แต่ประชาชนทุกๆ กลุ่มก็มีความมั่นใจว่าตนได้รับสวัสดิการสังคมมาตรฐานเดียวกัน นอกจากนี้ เด็กและผู้สูงอายุก็ได้รับการดูแลจากรัฐอย่างดี

รัฐบาลของประเทศที่พัฒนาแล้วบางประเทศ เช่น สหรัฐอเมริกา มีระบบสวัสดิการสังคมที่เบาบาง คือ เน้นการให้สวัสดิการบางประเภท หรือให้เฉพาะแก่ผู้ยากลำบากหรือผู้มีรายได้น้อย ส่วนประชาชนที่ช่วยเหลือตนเองได้ก็ให้ใช้เงินซื้อสวัสดิการจากเอกชนเอง เช่น ถ้าเจ็บป่วยก็เสียค่ารักษาพยาบาลเอง หรือซื้อประกันสุขภาพเอกชน

แต่ละคนเลือกจ่ายตามความสามารถหรือตามความชอบของตน ซึ่งเมื่อรัฐมีรายจ่ายเพื่อสวัสดิการสังคมต่ำก็ทำให้ประชาชนในสหรัฐอเมริกา เสียภาษีน้อยกว่าประชาชนในประเทศแถบสแกนดิเนเวียด้วย

ประเทศไทยจะจัด "ระบบสวัสดิการสังคม" อย่างไร?

หัวข้อนี้อาจารย์วรวรรณท่านมีคำตอบเป็นแนวทางไว้ให้ แต่ ณ ที่นี้ ขอให้เป็นพื้นที่ความคิดสำหรับท่านผู้อ่านผู้เป็นเจ้าของประเทศ ว่าประเทศไทยของเราจะทำอย่างไร จึงจะพอดี?

อยากได้ "รัฐสวัสดิการ" แบบสแกนดินีเวีย? หรือจะเอา "สวัสดิการสังคม" แบบสหรัฐ ที่ประชาชนหาซื้อสวัสดิการสังคมจากเอกชนเอง

หรือจะผสมผสานอย่างไร ออกมาเป็นชุดนโยบายแบบใด จึงเหมาะสม

เพราะทุกอย่าง ล้วนมีต้นทุนค่าใช้จ่ายทั้งสิ้น

ด้วยกรอบคิดทางวิชาการเช่นนี้ ก็พอมองเห็นลางๆ แล้วว่า ไอ้ที่ไปอุดหนุนค่าแก๊ส ค่าน้ำมัน ค่ารถไฟ ค่ารถเมล์ ไม่รู้จบรู้สิ้นนั้น มันเกี่ยวอะไรกับสวัสดิการสังคม?

หรือก็แค่ตั้งใจ "หาเสียงแบบน่าเกลียด" ยืดเยื้อไม่รู้จบ

วันข้างหน้า เมื่อนโยบายต่างๆ ออกมาครบถ้วน จะได้มาชำแหละกัน!

กวนน้ำให้ใส
แนวหน้า 21 ธันวาคม พ.ศ. 2553