ผู้เขียน หัวข้อ: พระปิยมหาราชเจ้า พระผู้ทรงนำสยามให้รอดพ้นหายนะ (เขียนให้คิด)  (อ่าน 1741 ครั้ง)

pani

  • Hero Member
  • *****
  • กระทู้: 756
    • ดูรายละเอียด
เนื่องในโอกาสที่ วันที่ 23 ตุลาคม ปีพุทธศักราช 2553 ตรงกับวันครบรอบ 100 ปีแห่งการเสด็จสู่สวรรคาลัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เขียนให้คิดฉบับนี้จึงขอนำเสนอบทความเทิดพระเกียรติของสมเด็จพระปิยมหาราช เจ้า เพื่อหวังให้เป็นเครื่องเตือนสติให้ลูกหลานไทยทุกคนตระหนักในพระมหา กรุณาธิคุณอันประเสริฐที่พระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 5 พระราชทานไว้แก่แผ่นดินอันศักดิ์สิทธิ์ผืนนี้ และหวังเป็นที่สุดที่จะเห็นลูกหลายไทยทุกคนร่วมกันสืบสานพระราชปณิธานอัน มั่นคงที่จะธำรงรักษาไว้ซึ่งเอกราชของชาติไทย

ทรงนำพาให้สยามดำรงคงความเป็นเอกราช

"ถ้าความเปนเอกราชของกรุงสยามได้สิ้นสุดไปเมื่อใด ชีวิตรฉันก็คงจะสิ้นสุดไปเมื่อนั้น" พระปิยมหาราชเจ้า พระราชทานข้อความนี้ไว้ ณ คราเสด็จพระราชดำเนินไปทรงเปิดป้อมพระจุลจอมเกล้า อำเภอพระประแดง จังหวัดสมุทรปราการ

"...เกลือกจะเปนทวิราช บตริอาจป้องอยุธยา

เสียเมืองคนนินทา จึงทุกข์บ่เว้นวาย..."

ข้างต้นนี้คือส่วนหนึ่งจากบทพระราชนิพนธ์ในพระปิยมหาราชเจ้า ซึ่งแสดงพระราชเจตนาที่จะไม่ทรงดำรงพระชนม์ชีพอีกต่อไป ด้วยการไม่เสวยพระโอสถและพระกระยาหาร จนเจ้านายฝ่ายใน ซึ่งมีสมเด็จพระปิตุฉาเจ้าสุขุมาลมารศรี พระบรมราชเทวี กับสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงเป็นผู้แทนข้าราชบริภารฝ่ายหน้า ทรงพระนิพนธ์กราบทูลให้ทรงทราบว่า สถานการณ์ของสยาม ซึ่งประเทศจักรวรรดินิยมกำลังคุกคามอย่างน่าสะพรึงกลัว โดยยกว่าสยามเปรียบเหมือนเรือที่ลอยเคว้งคว้างอยู่กลางมหาสมุทรที่บ้าคลั่ง ด้วยคลื่นและลมแรง หากกัปตันเรือเตรียมสละชีวิตแล้ว เรือคงอัปปางเป็นแน่แท้

ด้วย เหตุฉะนี้พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงทรงตระหนักในสถานการณ์ จึงกลับมาเสวยพระโอสถและพระกระยาหาร และทรงบริหารบ้านเมืองให้จนอยู่รอดปลอดภัยจากการล่าอาณานิคมในครั้งนั้น

พระบรมราชวิเทโศบายที่พระองค์ทรงใช้เพื่อทำให้สยามรอดพ้นจากการเป็นอาณานิคม ของกลุ่มประเทศจักรวรรดินิยมยุโรปก็คือ หลักการที่ทรงประยุกต์มาจากพระบรมราโชวาทที่สมเด็จพระชนกนารถของพระองค์ (พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว) ทรงอบรมสั่งสอนในหลักรัฐประศาสนศาสตร์ เมื่อวิเคราะห์ให้ลึกซึ้งจะพบว่ารัชกาลที่ 4 ทรงประยุกต์หลักพุทธศาสนาและหลักการปกครองสากลเข้าด้วยกัน อาทิ การเจรจาความเมืองระหว่างประเทศต้องเจรจาในฐานะที่เสมอกัน เมื่อคราจำเป็นต้องเสียสละส่วนน้อยเพื่อรักษาส่วนใหญ่ก็จำต้องทำ เหล่านี้คือหลักของพระพุทธศาสนา รวมถึงหลักการที่ว่าการจะรบกับศัตรูภายนอก จะต้องทำเมื่อจัดการกับกิจการภายในได้เรียบร้อยเสียก่อน เป็นต้น

นอกจากนี้พระปิยมหาราชเจ้ายังทรงวางแผนการปฏิบัติพระราชภารกิจต่างประเทศ อย่างสุขุมรอบคอบ โดยทรงมอบหมายให้สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอที่ทรงรอบรู้ในกิจการของสยามและการ ค้าต่างประเทศ พร้อมด้วยข้าราชการสถานเอกอัครราชทูตไทยในต่างประเทศให้ไปหาทางร่วมมือกับ บรรดาที่ปรึกษาชาวต่างชาติที่เข้ามารับราชการในแผ่นดินสยามและชาวต่างชาติ อื่น ๆ เพื่อทำประโยชน์ให้แผ่นดินสยาม

นอก จากนี้ยังทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอที่ทรงศึกษาอยู่ใน ต่างประเทศ อาทิ สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ สยามมงกุฏราชกุมาร ทรงศึกษาอยู่ในประเทศอังกฤษ สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธุ์ กรมขุนนครสวรรค์วรพินิจ ทรงศึกษาอยู่ในประเทศเยอรมนี สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนารถ กรมขุนพิศณุโลกประชานารถ ทรงศึกษาอยู่ในประเทศรัสเซีย และสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ พระองค์เจ้าจิรประวัติวรเดช กรมหมื่นนครไชยศรีสุรเดชที่ทรงศึกษาอยู่ในประเทศเดนมาร์กและสวีเดน เหล่านี้คือกุญแจสำคัญในการเจรจาความเมืองกับต่างประเทศทั้งสิ้น

ที่สำคัญที่สุดคือพระเจ้าลูกยาเธอทั้งสี่พระองค์นี้ทรงเป็นที่ไว้วางพระราช หฤทัยของพระมหากษัตริย์ในประเทศที่แต่ละพระองค์เสด็จไปทรงศึกษา โดยเฉพาะรัสเซีย เยอรมนีและเดนมาร์ก ทำให้พระมหากษัตริย์แห่งประเทศนั้น ๆ ทรงให้การสนับสนุนสยามประเทศอย่างดียิ่งในกาลต่อมา

แต่ ที่สำคัญยิ่งเหนือสิ่งอื่นใดคือ พระปิยมหาราชเจ้าทรงแสดงความเป็นราชาธิบดีแห่งสยาม ประเทศที่มีความเจริญก้าวหน้าทัดเทียมนานาอารยประเทศ ในการเสด็จพระราชดำเนินเยือนยุโรป พระองค์ทรงทำให้ชาวฝรั่งประจักษ์ถึงพระราชอริยาบถที่สง่างาม ทันสมัย มีพระเกียรติ หากประเทศใดจัดที่พักถวายไม่สมพระเกียรติก็จะทรงย้ายไปพัก ณ สถานที่ที่สมพระเกียรติ ประเทศใดจัดงานเลี้ยงถวายพระเกียรติ ก็จะทรงบริจาคพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ให้เท่ากับที่ประเทศนั้นจัดถวาย ส่วนการพระราชทานสัมภาษณ์และการเจรจาความเมืองก็เต็มไปด้วยพระอัจฉริยภาพ ทรงรู้เท่าทันสถานการณ์ ไม่ทรงทำให้ประเทศชาติเสียเปรียบแก่ประเทศที่ทรงเจรจาด้วย และยังทรงมีพระบรมราชกุศโลบายต่างประเทศในลักษณะเป็นรัฐกันชน ทรงเจริญสัมพันธไมตรีกับมิตรประเทศใหม่ ๆ และทรงกระชับพระราชไมตรีกับมิตรประเทศให้แน่นแฟ้น

ทั้งหลายทั้งปวงที่ยกมาประกอบเพียงเล็กน้อย ณ ที่นี้คือสิ่งที่ช่วยยืนยันว่า นี่คือพระปรีชาสามารถของพระองค์ ประกอบกับการมีสายพระเนตรที่ยาวไกล จึงทำให้สยามประเทศรอดพ้นหายนะภัยจากจักรวรรดินิยมมาได้

ทรงเลิกทาสเพื่อให้ลูกหลานไทยเป็นไทโดยสมบูรณ์

พระ บรมราโชบายและพระราชกรณียกิจที่สำคัญยิ่งอีกประการหนึ่งในพระบาทสมเด็จพระ จุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวที่คนไทยและคนทั่วทั้งโลกต่างทราบดีก็คือ ทรงประกาศเลิกทาสเมื่อปีพ.ศ. 2439 โดยพระองค์ทรงใช้เวลาเพื่อทรงทำการสำคัญครั้งนี้จนสำเร็จลุล่วงยาวนานถึง 23 ปี กว่าจะทรงยกเลิกระบบไพร่ทาสให้หมดสิ้นไปจากสยามประเทศ พระองค์ทรงดำเนินพระบรมราโชบายอย่างสุขุมลุ่มลึกจึงทำให้การเลิกทาสในสยาม ประเทศปราศจากความขัดแย้งอย่างรุนแรง ไม่ทำให้เกิดศึกสงครามกลางเมืองเหมือนเช่นในหลาย ๆ ประเทศ

พระองค์ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้ไพร่เสียค่าราชการเป็นเงินปีละ 6 บาทแทนที่จะต้องถูกเกณฑ์ไปทำงาน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นการใช้แรงงาน พร้อมกับทรงให้มีประกาศรับสมัครชายฉกรรจ์เข้ารับราชการทหาร ซึ่งได้รับเงินเดือน อาหาร และเครื่องแบบตลอดเวลาที่เข้ารับราชการ ครั้นเมื่อทรงดำเนินการไประยะหนึ่งแล้วจึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้ออกพระ ราชบัญญัติลักษณะเกณฑ์ทหาร พ.ศ. 2448 สาระสำคัญของกฎหมายฉบับนี้คือให้ชายฉกรรจ์ทุกคนที่มีอายุครบ 18 ปีบริบูรณ์ต้องไปรับการเกณฑ์เป็นทหารเพื่อรับราชการในกองประจำการคนละ 2 ปี หลังจากปลดประจำการแล้วไม่ต้องเสียค่าราชการอีกต่อไป นับเป็นเวลา 9 ปีจึงมีการเลิกระบบไพร่ได้อย่างสิ้นเชิง จะเห็นว่าพระบรมราโชบายในการเลิกระบบไพร่นั้น พระปิยมหาราชเจ้าทรงใช้หลักทางรัฐศาสตร์ก่อนแล้วจึงทรงใช้หลักนิติศาสตร์ตาม มา

ใน ส่วนของการเลิกทาส พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงริเริ่มด้วยการตราพระราชบัญญัติ พิกัดเกษียณอายุลูกทาสเมื่อ พ.ศ. 2417 กำหนดให้ลูกทาสที่เกิดในเรือนเบี้ยตั้งแต่ พ.ศ. 2411 ซึ่งเป็นปีที่เสด็จขึ้นครองสิริราชสมบัติ เมื่อลูกทาสมีอายุครบ 21 ปีแล้วให้ลูกทาสเป็นอิสระ

ส่วนทาสที่เกิดก่อนปี พ.ศ. 2411 ก็ให้คงเป็นทาสต่อไป ยกเว้นกรณีมีการเสียค่าไถ่ให้แก่นายเงิน แต่ที่สำคัญที่สุดคือมีข้อกำหนดในกฎหมายว่า ทาสที่ได้รับอิสรภาพแล้วจะไม่ตกเป็นทาสอีกต่อไปไม่ว่าจะกรณีใด ๆ

หลังจากประกาศใช้กฎหมายดังกล่าวแล้วได้พระราชทานพระเมตตาและพระมหา กรุณาธิคุณแก่ทาสทั้งหมดในวโรกาสครบรอบวันคล้ายวันพระราชสมภพจะทรงปล่อยให้ ให้มีการซื้อทาสให้เป็นอิสระ พระบรมราชกุศโลบายนี้ทำให้เกิดผลดียิ่งคือ มีเจ้านายและขุนนางดำเนินรอยตามเป็นอย่างมาก ซึ่งพระบรมราโชบายนี้มีผลทางจิตวิทยาสังคมอย่างมาก เพราะทำให้บรรดาเจ้านายและขุนนางที่มีทาสได้ทรงปฏิบัติและดำเนินตามพระบรมรา โชบายนี้ โดยเหล่าเจ้านายและขุนนางมิได้มีความรู้สึกว่าถูกบีบบังคับให้ต้องสูญเสีย ข้าทาสบริวารไป แต่ยอมที่จะปล่อยให้ทาสเป็นอิสระโดยความสมัครใจ

เมื่อ ทรงดำเนินการตามพระบรมราโชบายดังกล่าวแล้วจงค่อย ๆ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้ตราพระราชบัญญัติให้มีการปล่อยหรือซื้อทาสตามหัว เมืองและมณฑลต่าง ๆ ตามความเหมาะสม จนกระทั่งท้ายที่สุดเมื่อปี พ.ศ. 2448 จึงได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้ตราพระราชบัญญัติเลิกทาส พ.ศ. 2448

อย่างไรก็ตาม พระองค์ทรงตระหนักดีว่าบรรดาทาสที่อยู่กับนายทาสมาเป็นเวลายาวนาน อาจจะเกิดความเคยชินและรู้สึกว่าชีวิตจะดำเนินต่อไปมิได้หากไม่มีนายทาส อีกทั้งทาสบางคนอาจไม่เคยฝึกคิดที่จะทำการทำงานเพื่อให้ตนเองสามารถดำรง ชีวิตได้ด้วยลำแข้งของตนเอง เมื่อเป็นเช่นนี้พระปิยมหาราชเจ้าจึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้จัดการศึกษา ทั่วไปแก่พสกนิกรของพระองค์ ดังนั้นบรรดาลูกทาสทั้งหลายที่เป็นอิสระจึงมีโอกาสได้เล่าเรียนเขียนอ่าน

นอกจากนั้นพระองค์ยังทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้หน่วยราชการทั้งหลายจัดอบรม วิชาชีพให้แก่ทาสและลูกทาส เพื่อให้ทุกคนมีความรู้และมีทักษะในการประกอบอาชีพติดตัวไป เพื่อที่จะสามารถทำมาหากินโดยสุจริตเพื่อเลี้ยงตนเองและครอบครัวได้ในอนาคต และเพื่อจะได้มีความเป็นอิสรภาพอย่างยั่งยืน

สิ่ง ที่นำเสนอมาโดยสังเขปนี้ คงจะทำให้คุณผู้อ่านได้เห็นแล้วว่าพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงริเริ่มและทรงส่งเสริมให้พสกนิกรของพระองค์มีอิสรภาพและเสรีภาพอย่างแท้ จริง พระบรมราโชบายในการนี้แสดงให้เห็นชัดเจนว่าพระองค์ทรงมีพระปรีชาสามารถและ ทรงมีพระมหากรุณาธิคุณต่อคนไทยทั้งปวงอันหาที่เปรียบประมาณมิได้

(ขอบพระคุณอาจารย์สวัสดิ์ จงกล จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยที่กรุณาให้ข้อมูล)

เฉลิมชัย ยอดมาลัย
วันที่ 24/10/2010