ผู้เขียน หัวข้อ: ชีวิตติดกับของโคอาลา(สารคดี-เนชั่นแนลจีโอกราฟฟิก)  (อ่าน 1700 ครั้ง)

pani

  • Hero Member
  • *****
  • กระทู้: 756
    • ดูรายละเอียด
โคอาลา สัตว์สัญลักษณ์ผู้น่ากอดของออสเตรเลีย     กำลังตกอยู่ในภาวะวิกฤติ ก่อนที่ชาวยุโรปจะเข้ามาตั้งถิ่นฐานในออสเตรเลียเมื่อกว่า 200 ปีก่อน ประชากรโคอาลาราว 10 ล้านตัวกระจายอยู่ตามผืนป่ายูคาลิปตัสที่ทอดยาวกว่า 2,500 กิโลเมตรตลอดชายฝั่งตะวันออกของออสเตรเลีย  โคอาลาถูกล่าเพื่อเอาขนอันล้ำค่าจนเกือบสูญพันธุ์ไปจากถิ่นอาศัยครึ่งหนึ่งทางตอนใต้  ขณะที่อีกครึ่งหนึ่งทางตอนเหนือในรัฐควีนส์แลนด์ โคอาลาถูกสังหารไปถึงหนึ่งล้านตัวภายในปี 1919 เพียงปีเดียว  หลังฤดูกาลล่าครั้งสุดท้ายในรัฐควีนส์แลนด์เมื่อปี 1927 ประชากรโคอาลาลดลงเหลือเพียงไม่กี่หมื่นตัวเท่านั้น

ตลอดครึ่งศตวรรษต่อมา  โคอาลาค่อยๆเพิ่มจำนวนขึ้น ส่วนหนึ่งมาจากความพยายามในการเคลื่อนย้ายประชากรและจัดหาถิ่นที่อยู่ให้ใหม่  ก่อนที่การขยายตัวของเมืองจะเริ่มส่งผลกระทบอีกครั้ง  ถิ่นอาศัยหดหายและเกิดโรคระบาด (การขยายตัวของเมืองยังนำมาซึ่งภัยคุกคามจากสุนัขและทางหลวง)    นับตั้งแต่ปี 1990   ประชากรโคอาลาในออสเตรเลียที่มีอยู่ราว 430,000 ตัวเริ่มลดลงอย่างฮวบฮาบ

ดีเดร เดอ วีลีเย     นักวิจัยโคอาลาชั้นนำคนหนึ่งจากกรมการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมแห่งรัฐ ควีนส์แลนด์   อธิบายว่า     “โคอาลามีทั้งติดตามรั้วแล้วตาย ถูกหมากัดตาย รถชน หรือไม่ก็ตายเพียงเพราะเจ้าของบ้านตัดต้นยูคาลิปตัสในสวนหลังบ้านทิ้งค่ะ” ตลอด 15 ปีที่ผ่านมา เดอ วีลีเย วัย 38 ปี เฝ้าติดตามโคอาลา    จับตาดูจำนวนประชากร และศึกษาสาเหตุที่ทำให้พวกมันลดจำนวนลง

        เดอ วีลีเย ยืนยันว่าคนกับโคอาลาอยู่ร่วมกันในสภาพแวดล้อมแบบเมืองได้ “ถ้านักพัฒนาอสังหาริมทรัพย์มองเห็นคุณค่าและให้ความสำคัญกับการออกแบบที่คำนึงถึงโคอาลา” เช่น ลดความเร็วในการใช้ถนน จัดหาพื้นที่เพื่อทำฉนวนหรือเส้นทางธรรมชาติให้โคอาลาใช้ในการเดินทางระหว่างถิ่นอาศัยกับแหล่งหากิน และที่สำคัญที่สุดคือ อนุรักษ์ต้นยูคาลิปตัสที่มีค่าทุกต้น

จอน แฮงเกอร์ สัตวแพทย์วัย 42 ปีจากราชสมาคมป้องกันการทารุณสัตว์ในรัฐควีนส์แลนด์ บอกว่า  “โรคก็เป็นอีกหนึ่งปัญหาใหญ่ครับ” แฮงเกอร์พบว่าประชากรโคอาลาในควีนส์แลนด์ราวครึ่งหนึ่งอาจติดเชื้อคลาไมเดีย (chlamydiosis) ที่ติดต่อทางเพศสัมพันธ์ ในประชากรโคอาลาป่าบางกลุ่ม เพศเมียวัยเจริญพันธุ์กว่าร้อยละ 50 เป็นหมัน ที่มาหรือสมุฏฐานของโรคยังไม่แน่ชัด โรคที่เกิดจากเชื้อคลาไมเดียในโคอาลาต่างจากในคนตรงที่มักร้ายแรงถึงขั้นทำให้เสียชีวิตได้

แฮงเกอร์ซึ่งโทษรัฐบาลท้องถิ่นเต็มๆบอกว่า “ประชากรโคอาลาที่เคยสมบูรณ์แข็งแรงและยั่งยืนกำลังจะสูญพันธุ์แล้วครับ รัฐควีนส์แลนด์ผิดพลาดมหันต์ที่ไม่ลงมือทำอะไรเป็นชิ้นเป็นอันสักอย่างเกี่ยวกับจำนวนที่ลดลงนั้น ถึงเวลาแล้วที่รัฐบาลกลางต้องเข้ามามีส่วนร่วมและลงมือทำให้เป็นเรื่องเป็นราว โดยขึ้นทะเบียนโคอาลาเป็นสัตว์ที่เสี่ยงต่อการสูญพันธุ์” เขาทิ้งท้ายว่า “ยิ่งเราสูญเสียโคอาลาไปมากเท่าไร โคอาลาแต่ละตัวที่ช่วยชีวิตมาได้ ก็ยิ่งมีค่ามากขึ้นเท่านั้น”

เดอ วีลีเย ถือว่าชะตากรรมของโคอาลาเป็นสิ่งที่เธอทุ่มเทให้สุดตัว คนที่ไปเยี่ยมบ้านของเธอจะพบว่า                      ตอนกลางวันสุภาพสตรีผู้นี้คือนักวิจัยโคอาลาซึ่งเป็นที่นับหน้าถือตา แต่ตกกลางคืนเธอจะกลายเป็นแม่อุปถัปภ์ที่คอยฟูมฟักลูกน้อยโคอาลา ในช่วง 12 ปีที่ผ่านมา เธออุปการะโคอาลามาแล้วกว่า 60 ตัว

เช้าวันหนึ่ง เดอ วีลีเย เตรียมตัวเข้าป่าใกล้ทะเลสาบแซมซันเวลทางตะวันตกเฉียงเหนือของบริสเบน เพื่อจับเจ้าทีวี โคอาลาป่าที่นักวิจัยเฝ้าติตตามมาปีกว่า กรมการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมได้ปล่อยโคอาลาจำนวนหนึ่งเข้ามาในอาณาเขตของทีวี  และเดอ วีลีเย ก็คอยบันทึกผลกระทบที่มีต่อประชากรโคอาลาในพื้นที่ เธอเดินลัดเลาะผ่านผืนป่าพร้อมเครื่องรับสัญญาณหน้าตาคล้ายเสาอากาศทีวีรุ่นโบราณ เพื่อฟังสัญญาณจากปลอกคอติดสัญญาณวิทยุของเจ้าโคอาลา

ในที่สุดเธอก็ได้ยินสัญญาณแผ่วๆและเดินตามสัญญาณนั้นผ่านเนินและหุบเขา ขณะที่เสียงสัญญาณดังขึ้นเรื่อยๆ

“เจอตัวแล้ว!” เดอ วีลีเย ร้องออกมา เจ้าก้อนกลมๆสีเทาขนาดเท่าลูกบาสเกตบอลเกาะอยู่บนกิ่งไม้ของต้นยูคาลิปตัสเปลือกสีเงินสูงขึ้นไปราว 15 เมตร

วิธีจับโคอาลาที่อยู่บนยอดไม้ยุ่งยากไม่น้อย เริ่มจากใช้หนังสติ๊กขนาดใหญ่ยิงบอลเชือกขึ้นไปยังยอดไม้ใกล้บริเวณที่โคอาลาเกาะอยู่ ซึ่งอาจต้องทำหลายครั้ง โดยเชือกจะยึดอยู่กับบันไดลิงที่ถูกดึงพาดลงมาตามลำต้นและยึดติดกับพื้นดิน จากนั้นจะพาดบันไดความสูงราว 10 เมตรกับต้นไม้ ก่อนที่ใครสักคนจะปีนบันไดขึ้นไป ต่อด้วยไต่บันไดลิง ในมือถือ “เสาธง” ดูราวกับนักกายกรรมห้อยโหนก็ไม่ปาน

แน่นอนว่าใครคนนั้นคงไม่พ้นเดอ วีลีเย ผู้แต่งกายรัดกุมราวนักไต่เขา เธอเริ่มปีนป่ายต้นไม้อย่างคล่องแคล่วราวกับเป็นโคอาลาเสียเอง เมื่อขึ้นไปห้อยต่องแต่งอยู่บนกิ่งไม้ เธอพยายามแกว่ง “ธง” ใส่โคอาลาด้วยการสะบัดธงพลาสติก หรือธงผ้าที่ติดอยู่กับปลายเสาเหนือหัวโคอาลาเพื่อทำให้มันรำคาญ แล้วเจ้าทีวีก็เริ่มไต่ถอยหลังลงมาตามต้นไม้

แต่เดอ วีลีเย บอกว่า เจ้าทีวี “ดื้อเอาเรื่องอยู่เหมือนกัน” พอไต่ลงมาได้ครึ่งทาง มันก็หนีไปอีกกิ่งหนึ่งแล้ว กระโดดไปยังต้นไม้อีกต้นอย่างชาญฉลาด เราเลยต้องเริ่มใหม่กันอีกรอบ

รอบที่สอง เจ้าทีวีไต่ลงมา ก่อนถึงพื้นราว 6 เมตร มันก็ตื่นกลัวและกระโจนโผกลางอากาศราวกับกระรอกบิน แต่โคอาลาเป็นสัตว์ตัวกลมๆบินไม่ได้ เจ้าทีวีเลยตกลงพื้นและถูกจับทันทีด้วยผ้าห่ม มันตะกุยตะกายและกัดไม่ปล่อย

หลังจากให้ยาสลบเจ้าทีวีแล้ว เดอ วีลีเย ก็เริ่มทำงานทันที เธอใช้เครื่องมือหลากหลายในการวัดขนาดทุกสิ่งทุกอย่าง ตั้งแต่ความยาวลำตัวไปจนถึงความกว้างของกะโหลก ขนาดและความสึกของฟันไปจนถึงความนุ่มลื่นของเรือนขน

จู่ๆเดอ วีลีเย ก็พูดขึ้นว่า “ฉันว่ามันมีลูกด้วยนะ”

เธอสอดนิ้วเข้าไปในกระเป๋าหน้าท้องของเจ้าทีวี ค่อยๆเปิดกระเป๋าออก และบรรจงหยิบสิ่งมีชีวิตขนาด  10 เซนติเมตรออกมา มันยังไม่ลืมตา ไร้ขน หน้าตาเหมือนสัตว์ประหลาดที่มีกรงเล็บคมกริบราวใบมีดโกนที่พัฒนาเต็มที่แล้ว

ทุกคนร้อง “ว้าว” ออกมาอย่างพร้อมเพรียง ไม่เว้นแม้เจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่าที่เห็นอะไรทำนองนี้มาแล้วนับครั้งไม่ถ้วน

เดอ วีลีเย ตรวจลูกโคอาลาน้อยและกระเป๋าหน้าท้องอย่างคล่องแคล่ว เพื่อดูว่ามีโรคหรือความผิดปกติใดๆหรือไม่ ก่อนจะนำลูกโคอาลาใส่กลับลงไปในกระเป๋าหน้าท้องของแม่ที่กำลังหลับอย่างเบามือ เธอหันมากระซิบว่า “ตราบใดที่ยังมีลูกโคอาลาที่แข็งแรง เราก็ยังมีความหวังค่ะ”


     มิถุนายน 2555