ผู้เขียน หัวข้อ: ปราสาทพระวิหารและพื้นที่โดยรอบเป็นของไทย  (อ่าน 1727 ครั้ง)

pani

  • Hero Member
  • *****
  • กระทู้: 756
    • ดูรายละเอียด
ตอนที่ 1 แผนที่เถื่อน

“ศาลโลกมิได้มีอำนาจจะยกดินแดนของประเทศไทยให้กับประเทศกัมพูชาได้” ในคดีปราสาทพระวิหารที่ศาลโลกได้ตัดสินตามคำฟ้องของกัมพูชาเมื่อวันที่ 15 มิถุนายน 2505 กัมพูชาฟ้องร้องให้ศาลตัดสิน 5 ข้อ ได้แก่
       
        1. ขอให้ศาลชี้ขาดเรื่องแผนที่ว่าเป็นผลงานของคณะกรรมการปักปันเขตแดนสยาม-อินโดจีน (แผนที่มาตราส่วน 1 : 200,000)
       
        2. เส้นเขตแดนที่ปรากฏไว้บนแผนที่เป็นเส้นเขตแดนที่ถูกต้อง
       
        3. ให้อำนาจอธิปไตยเหนือปราสาทพระวิหารเป็นของกัมพูชา
       
        4. ให้ไทยถอนกำลังยามรักษาการณ์ ตำรวจ ทหารออกจากบริเวณปราสาทพระวิหาร
       
        5. ให้ไทยคืนโบราณวัตถุที่ค้นพบบริเวณปราสาท
       
        ศาลโลกได้ตัดสินตามคำฟ้องของกัมพูชาด้วยการใช้กฎหมายปิดปาก และตัดสินขัดต่อหลักความยุติธรรมและไม่เคารพต่อสนธิสัญญาที่จัดทำขึ้นไว้ก่อนหน้านี้ (อนุสัญญาฉบับ ค.ศ. 1904 และสนธิสัญญา ค.ศ. 1907) ศาลโลกได้ตัดสินตามกฎหมายปิดปาก เมื่อวันที่ 15 มิถุนายน 2505 โดยตัดสินให้กัมพูชาได้ 3 ข้อ
       
        1.ให้อำนาจอธิปไตยเหนือปราสาทพระวิหารเป็นของกัมพูชา
       
        2.ให้ไทยถอนกำลังยามรักษาการณ์ ตำรวจ ทหารออกจากบริเวณปราสาทพระวิหาร
       
        3.ให้ไทยคืนโบราณวัตถุที่ค้นพบบริเวณปราสาท
       
        เมื่อศาลตัดสินเสร็จสิ้นแล้ว คณะทนายความฝ่ายไทยได้ทำรายงานมายังรัฐบาลของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว โดยมีใจความสำคัญว่า ศาลไม่กล้าตัดสินเรื่องแผนที่และเป็นการดีที่เรื่องแผนที่นั้นตกไป (แผนที่ 1 : 200,000) และแผนที่ก็มิได้เป็นผลงานของคณะกรรมการปักปันเขตแดนสยาม-อินโดนีเซีย (เพราะคำฟ้องข้อที่ 1 ตกไป)
       
        ดังนั้น การที่กระทรวงการต่างประเทศกลับไปใช้แผนที่ที่ไม่ถูกต้องและไม่เคารพคำพิพากษาของศาลโลกโดยนำไปใช้บังคับประเทศลาว ในความตกลงไทย-ลาวเมื่อ พ.ศ. 2537 กับทั้งไปใช้เป็นพื้นทางกฎหมายระหว่างประเทศในการจัดทำ MOU 43 ฉบับเถื่อนกับประเทศกัมพูชา และยังปล่อยให้ประเทศกัมพูชาใช้เส้นที่ลากไม่ถูกต้องใน MOU 44 สร้างพื้นที่ทับซ้อนทางทะเลจนเกิดเอกสิทธิ์ในพื้นที่นั้น
       
        อนึ่ง กัมพูชาลากเส้นผ่ากลางเกาะกูดจากการประกาศเขตไหล่ทวีปเมื่อ พ.ศ. 2515 โดยขาดพื้นฐานทางกฎหมาย และในที่สุดเมื่อมีการจัดทำ MOU 43 เป้าหมายของกัมพูชามีความชัดเจนมากขึ้นต่อเรื่องที่จะย้ายตำแหน่งของหลักเขตที่ 73 แม้เมื่อตกลงกันไม่ได้ในคณะกรรมาธิการเทคนิคร่วมจนต้องย้ายพื้นที่ตรงนี้ไปสำรวจ และจัดทำหลักเขตแดนทางบกบริเวณอื่น ย่อมแสดงให้เห็นชัดว่ากัมพูชามีความอุตสาหะที่จะย้ายหลักเขตแดนให้จงได้โดยใช้ในโครงวาดกำกับหลักเขตมาตราส่วน 1 : 20,000 และแผนที่ 1 : 200,000 ที่เป็นแผนที่ปลอมเพราะไม่มีการประชุม ไม่มีการลงนามรับรองจากคณะกรรมการปักปันเขตแดนสยาม-อินโดจีน และแน่นอนศาลโลกเมื่อ พ.ศ. 2505 ได้ตัดสินไม่ยอมรับความถูกต้องและเส้นเขตแดนบนแผนที่
       
        คำถามก็มีอยู่ว่า ทำไมกระทรวงการต่างประเทศจึงไปยอมรับแผนที่ และทำไมเมื่อ MOU เถื่อนทั้งสองฉบับไม่ผ่านรัฐสภาตามบทบัญัติในรัฐธรรมนูญปี พ.ศ. 2540 ซึ่งเป็นรัฐธรรมนูญที่คนเสื้อแดงต้องการหนักหนา อีกทั้งสร้างภาพว่าเคารพรัฐธรรมนูญฉบับนี้ จึงไม่มีหน่วยงานของรัฐหน่วยงานไหนแม้กระทั่งกระทรวงการต่างประเทศหรือคณะรัฐธรรมนูญนำไปยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความกันเล่า

โดย เทพมนตรี ลิมปพยอม    27 กันยายน 2554
................................................................................................
ตอนที่ 2 แผนที่เถื่อน

คำพิพากษาของศาลโลกที่กรุงเฮก เมื่อวันที่ 15 มิถุนายน 2505 (ค.ศ. 1962) ได้ยกคำฟ้องของกัมพูชาไม่ทำการพิจารณาตัดสินในข้อที่ว่า ขอให้ศาลพิจารณาว่าแผนที่มาตราส่วน 1:200,000 เป็นผลงานของคณะกรรมการปักปันเขตแดนสยาม-อินโดจีนฝรั่งเศสจริงกับขอให้ศาลพิจารณาว่าเส้นเขตแดนที่ปรากฏบนแผนที่นั้นเป็นเส้นเขตแดนที่ถูกต้อง เพราะศาลเชื่อตามคำให้การของฝ่ายไทยประกอบคำชี้แจงของผู้เชี่ยวชาญที่ฝ่ายไทยว่าจ้างมา คือศาสตราจารย์ Dr.W.Schermerhorn  แห่งสถาบัน Dean  (ที่ศาลโลกให้ความเชื่อถือ)
       
        รายงานของสถาบันแห่งนี้ปรากฏอยู่ท้ายคำให้การภาคผนวก สรุปความได้ว่าเส้นสันปันน้ำอยู่ที่ขอบหน้าผา และปราสาทพระวิหารตั้งอยู่บนเส้นขอบหน้าผานี้ ตามแผนที่ที่ได้แสดงต่อหน้าศาล (ท่านผู้อ่านหาอ่านได้จากเว๊บไซต์ (ICJ)) เส้นเขตแดนที่ปรากฏในแผนที่ภาคผนวกนั้นเป็นเส้นเขตแดนที่ไม่ถูกต้องไม่มีพื้นฐานทางภูมิศาสตร์รองรับ
       
        นอกจากนี้เส้นเขตแดนที่คณะกรรมการปักปันเขตแดนสยาม-อินโดจีนฝรั่งเศสได้ประชุมตกลงกันนั้นคือ “เส้นเขตแดนเดินตามสันปันน้ำ และสันปันน้ำอยู่ที่เส้นขอบหน้าผา” ซึ่งหลักการนี้คณะกรรมการปักปันฯ กระทำตามอนุสัญญา ปี ค.ศ. 1904 ในรายงานการประชุมของคณะกรรมการปักปันฯ ได้ตกลงกันไว้ว่าเส้นเขตแดนที่บริเวณเทือกเขาพนมดงรักนั้นปรากฏหลักฐานเป็นปราการธรรมชาติเพราะมีหน้าผาเป็นเส้นเขตแดน เหตุนี้คณะกรรมการปักปันฯ จึงมีมติให้ทำแผนที่กำกับการปักปันครั้งนั้นโดยมอบหมายให้ประธานคณะกรรมการฝ่ายอินโดจีนฝรั่งเศสไปจัดทำแผนที่ที่ได้ตกลงกันไว้พร้อมพิมพ์แผนที่นั้นด้วย และเมื่อแผนที่พิมพ์เสร็จเป็นที่เรียบร้อยแล้วจะต้องนำเข้าสู่ที่ประชุมของคณะกรรมการเพื่อตรวจพิจารณาแผนที่ และลงนามรับรองแผนที่ว่าเส้นเขตแดนที่ได้ปักปันกันไว้นั้นถูกต้องด้วย     
       
        ประธานฝ่ายอินโดจีนฝรั่งเศสได้แก่ พันเอกแบร์นาร์ดได้ทำการเบิกเงินไปจัดทำแผนที่ขึ้นมา 11 ระวางและพิมพ์เสร็จสิ้นประมาณกลางปี ค.ศ. 1908 ซึ่งคณะกรรมการปักปันเขตแดนสยาม-อินโดจีน ตามอนุสัญญา ค.ศ. 1904 ได้สลายตัวไปก่อนแผนที่จะพิมพ์เสร็จ และเมื่อเป็นเช่นนี้จึงไม่มีการประชุมของคณะกรรมการปักปันฯ และไม่มีการลงนามกำกับแผนที่ชุดนี้ จึงสรุปตามสามัญสำนึกได้ว่าแผนที่ทั้ง 11 ระวางเป็นแผนที่เก๊ และไม่สามารถมาใช้เป็นเอกสารสำคัญที่มีผลผูกพันตามกฎหมายระหว่างประเทศ แผนที่เป็นของเก๊ไม่สมบูรณ์และไม่ควรนำมาใช้ แม้ว่าต่อมาภายหลังจะมีเสนาบดีของไทยไปขอแผนที่ชุดนี้เพิ่มเติมก็มิได้หมายความว่าประเทศสยามในเวลานั้นจะรับรองแผนที่ เพราะเสนาบดีผู้นั้นมิได้เป็นคณะกรรมการปักปันฯและไม่มีอำนาจลงนามในแผนที่
       
        ดังนั้นศาลโลกจึงมิได้ตัดสินแผนที่เก๊ชุดนี้แต่ยังเห็นด้วยกับคำให้การของฝ่ายไทยว่า แผนที่ชุดนี้ไม่ได้เป็นผลงานของคณะกรรมการปักปันเขตแดนสยาม-อินโดจีนฝรั่งเศสแต่อย่างใด ดังนั้นเรื่องแผนที่เก๊ชุดนี้ควรนำเข้ากรุปิดตายไม่ควรนำกลับมาใช้ได้อีก อีกทั้งคำตัดสินของศาลโลกเมื่อ ค.ศ. 1962 (พ.ศ. 2505) ซึ่งตัดสินให้อำนาจอธิปไตยเหนือปราสาทพระวิหารเป็นของกัมพูชานั้น รัฐบาลของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ออกคำแถลงการณ์ไม่เห็นด้วยกับคำตัดสินของศาลโลกในวันที่ 3 กรกฎาคม พ.ศ. 2505 (ค.ศ. 1962) โดยได้มีหนังสือลงนามโดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของไทยในนามรัฐบาลไทยไปถึง ฯพณฯ ท่านอู ถั่น รักษาการเลขาธิการสหประชาชาติ ที่นครนิวยอร์ก โดยมีเนื้อหาสาระดังนี้
       
        “ในคำแถลงเป็นทางการเมื่อวันที่ 3 กรกฏาคม 2505 (ค.ศ. 1962) รัฐบาลของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ประกาศให้ทราบทั่วกันว่า ไทยไม่เห็นด้วยกับคำพิพากษาของศาลฯ โดยให้เหตุผลว่า รัฐบาลไทยพิจารณาแล้วเห็นว่าคำพิพากษาดังกล่าว ขัดอย่างชัดแจ้งต่อบทบัญญัติแห่งสนธิสัญญา ค.ศ. 1904 และ ค.ศ. 1907 ในข้อที่เกี่ยวข้องโดยตรง ตลอดจนขัดต่อหลักกฎหมาย และหลักความยุติธรรม ถึงกระนั้นก็ตาม ในฐานะที่ไทยเป็นสมาชิกสหประชาชาติ รัฐบาลของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจะปฏิบัติตามพันธกรณีแห่งคำพิพากษาตามที่ได้ให้คำมั่นไว้ภายใต้ข้อที่ 94 ของกฎบัตรสหประชาชาติ
       
        ข้าพเจ้าขอแจ้งให้ท่านทราบด้วยว่า การตัดสินใจปฏิบัติตามคำพิพากษาของศาลยุติธรรมระหว่างประเทศในคดีปราสาทพระวิหารนั้น รัฐบาลของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ปรารถนาจะตั้งข้อสงวนสิทธิ์อย่างชัดเจนเพื่อสงวนไว้ซึ่งสิทธิที่ประเทศไทยมีหรือพึงมีในอนาคตในการเรียกคืนปราสาทพระวิหาร โดยใช้วิถีทางที่ชอบด้วยกฎหมายที่มีอยู่ในปัจจุบันหรือในอนาคต และขอยืนยันการคัดค้านคำพิพากษาของศาลยุติธรรมระหว่างประเทศซึ่งวินิจฉัยให้ปราสาทพระวิหารเป็นของกัมพูชา ข้าพเจ้าจึงขอเรียนมาเพื่อทราบพร้อมทั้งขอให้ท่านส่งหนังสือฉบับนี้ไปยังประเทศที่เป็นสมาชิกของสหประชาชาติทุกประเทศ”
       
        การตั้งข้อสงวนสิทธิ์ที่จะเรียกคืนตัวปราสาทยังคงดำรงอยู่และไม่มีอายุความ เนื่องจากการให้เหตุผลที่ไม่เห็นด้วยกับคำตัดสินนั้นเข้ากันกับข้อบทของกฎหมายระหว่างประเทศ ศาลโลกฯ กระทำการล่วงละเมิดสนธิสัญญาและกฎหมายระหว่างประเทศ ตัดสินบนหลักความไม่ยุติธรรม แต่เป็นที่น่าแปลกใจว่าทำไมรัฐบาลที่ผ่านๆ มาจึงไม่สนใจเรื่องข้อสงวนสิทธิ์ และถ้าเราพิจารณาให้ละเอียดถี่ถ้วนกับเรื่องแผนที่มาตราส่วน 1:200,000 ซึ่งศาลโลกมิได้ตัดสินตามคำฟ้องของกัมพูชา และเห็นด้วยกับคำให้การของฝ่ายไทยที่ระบุว่าแผนที่ชุดนี้ไม่ได้เป็นผลงานของคณะกรรมการปักปันเขตแดนสยาม-อินโดจีน 
       
        เป็นที่น่าแปลกใจว่าทั้งรัฐบาลของนายชวน หลีกภัย เมื่อ พ.ศ. 2543 ที่ทำ MOU 43 และรัฐบาลของพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ในปี พ.ศ. 2546 ที่ทำ TOR46 ต่างยึดมั่นถือมั่นกับแผนที่มาตราส่วน 1:200,000 และถึงกับขนาดไปรับรองให้เป็นเอกสารสำคัญตามกฎหมายระหว่างประเทศ 
       
        ดังนั้นใครเล่าจะแก้ปัญหาของแผนที่เก๊นี้ได้ ใครเล่าจะยุติปัญหาไม่นำแผนที่เก๊นี้มาใช้อีก และใครเล่าที่จะขี่ม้าขาวตัวใหม่มาใช้ข้อสงวนสิทธิ์ที่เรายื่นไว้ต่อสหประชาชาติ เรียกคืนปราสาทพระวิหารกลับมาเป็นของคนไทยทั้งประเทศ

เทพมนตรี ลิมปพยอม    4 ตุลาคม 2554
.......................................................................

pani

  • Hero Member
  • *****
  • กระทู้: 756
    • ดูรายละเอียด
Re: ปราสาทพระวิหารและพื้นที่โดยรอบเป็นของไทย
« ตอบกลับ #1 เมื่อ: 01 ธันวาคม 2011, 23:05:25 »
ตอนที่ 3 แผนที่เถื่อน

นับตั้งแต่ศาลโลกได้ตัดสินคดีปราสาทพระวิหารไปเมื่อ พ.ศ. 2505 (พ.ศ. 1962) ประเทศไทยก็มิได้ยอมรับแผนที่เก๊ที่ไม่ได้จัดทำขึ้นโดยคณะกรรมการปักปันเขตแดนสยาม-อินโดจีนฝรั่งเศส แต่เป็นผลงานของ พันเอกแบร์นาร์ดในฐานะที่เขาเป็นประธานฝ่ายฝรั่งเศสในคณะกรรมการชุดนี้ เขาได้ทำเรื่องเบิกเงินสูงถึง 7,000 ฟรังก์แต่ใช้ไปในการจัดทำแผนที่เพียง 6,000 ฟรังก์เท่านั้น แผนที่ดังกล่าวมีทั้งหมด 11 ระวางเริ่มจากเขตแดนกัมพูชาไปจนถึงเขตแดนลาว เรียกชื่อแผนที่ตามภูมิประเทศและเมืองสำคัญๆ ต่าง เช่น แผนที่ระวางโขง ระวางดงรัก ระหว่างกุเลน เป็นต้น 
       
       แผนที่ชุดนี้พิมพ์เสร็จราวเดือนพฤษภาคม  ค.ศ. 1908 ซึ่งเป็นเวลาเดียวกันกับที่คณะกรรมการปักปันเขตแดนสยาม-อินโดจีน ได้สลายตัวไปแล้ว และพึ่งเป็นการเริ่มต้นของคณะกรรมการชุดใหม่ซึ่งจัดตั้งขึ้นมาตามสนธิสัญญาฉบับใหม่ในปี ค.ศ. 1907 สนธิสัญญาฉบับนี้ส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงเขตแดนประเทศสยามใหม่ในเวลานั้นสยามได้เสียดินแดนเพิ่มเติมไปอีกเป็นจำนวนมาก
       
       ดังนั้นแผนที่ทั้ง 11 ระวาง อันได้แก่ 1. ระวางเมืองคอบและเมืองเชียงล้อม 2. ระวางลำน้ำต่างๆ ทางภาคเหนือ 3. ระวางเมืองน่าน 4. ระวางปากลาย 5. ระวางน้ำเหือง 6. ระวางจำปาศักดิ์ 7. ระวางแม่โขง 8. ระวางดงรัก 9. ระวางพนมกุเลน 10. ระวางทะเลสาบ 11. ระวางตราด ซึ่งเป็นผลงานของพันเอกแบร์นาร์ดจึงเป็นแผนที่เก๊ เพราะไม่ได้นำเข้าสู่ที่ประชุมเพื่อให้ของคณะกรรมการปักปันเขตแดนสยาม-อินโดจีนฝรั่งเศส ตามอนุสัญญาปี ค.ศ. 1904 ได้พิจารณา คณะกรรมการชุดดังกล่าวได้สลายตัวไปแล้ว เหตุที่ผมต้องย้ำเรื่องนี้อยู่เสมอเพราะมีผู้ไปแอบอ้างเรื่องที่เจ้านายของประเทศสยามได้ทำการขอแผนที่ชุดนี้เพิ่มเติม (ซึ่งพวกเขาตีความว่าได้เป็นการยอมรับแผนที่ด้วย)
       
       การสู้คดีในศาลโลกคณะทนายฝ่ายไทยได้ทำการต่อสู้ในชั้นศาล เนื่องจากผู้ขอแผนที่ไม่ได้เป็นสมาชิกในคณะกรรมการปักปันเขตแดน-สยามอินโดจีน เจ้านายพระองค์นั้นจึงไม่สามารถเป็นตัวแทนของประเทศสยามในการยอมรับแผนที่เก๊ชุดนี้ได้ ด้วยการอธิบายเหตุผลนี้ทำให้ศาลโลกไม่ตัดสินแผนที่ และยอมรับว่าแผนที่เก๊ชุดนี้ไม่ได้เป็นผลงานของคณะกรรมการปักปันเขตแดนสยาม-อินโดจีนฝรั่งเศสแต่อย่างใด
       
       มีนักการเมืองที่ไม่ได้ศึกษาเรื่องนี้พยายามทำให้สังคมเข้าใจว่า การตัดสินของศาลโลกในคดีปราสาทพระวิหารนั้นศาลยอมรับเรื่องเส้นเขตแดน ที่ปรากฏบนแผนที่เก๊ชุดดังกล่าว ซึ่งในข้อเท็จจริงมิได้เป็นเช่นนั้นเลย นักการเมืองอีกกลุ่มหนึ่งยังหลงเชื่อคำโกหกของนักวิชาการไทยสายเขมรว่า “ศาลได้ยกปราสาทพระวิหารและดินแดนโดยรอบให้กับกัมพูชาไปแล้ว อันสอดคล้องกับสมุดปกขาวของกระทรวงการต่างประเทศที่จัดทำขึ้นแล้วแท้งไม่ได้คลอดออกมา” ทั้งคำอธิบายของนักการเมืองที่มักชอบพูดชอบเป็นข่าวกับข้าราชการบางคนของกระทรวงการต่างประเทศยิ่งทำให้ประเทศกัมพูชาได้เปรียบประเทศไทยในเวทีนานาชาติ   
       
       เพื่อให้ผู้อ่านได้มีความเข้าใจตรงกันในเรื่องที่มาที่ไปของแผนที่เก๊ 1:200,000 ทุกระวาง ผมจึงขออธิบายอย่างง่ายๆ ดังนี้ครับ เมื่อประเทศสยามได้ลงนามในอนุสัญญาปี ค.ศ. 1904 ได้มีการจัดตั้งคณะกรรมการปักปันเขตแดนขึ้นมา 1 ชุด ฝ่ายไทยมีหม่อมชาติเดชอุดมเป็นประธาน ฝ่ายฝรั่งเศสมีพันเอกแบร์นาร์ดเป็นประธาน ทั้งสองฝ่ายได้ทำหน้าที่ตามที่อนุสัญญาได้กล่าวถึง โดยกำหนดให้พรมแดนธรรมชาติเป็นเส้นเขตแดน ซึ่งในการประชุมครั้งสุดท้ายที่ประชุมของคณะกรรมการได้มีมติให้มีการจัดทำแผนที่มาตราส่วน 1:200,000 เพื่อแสดงเส้นเขตแดนที่ได้ตกลงกันไว้ (อันเป็นผลมาจากการเดินสำรวจ) โดยที่เส้นเขตแดนด้านทิวเขาพนมดงรัก (อันเป็นที่ตั้งตัวปราสาทพระวิหารแห่งนี้ด้วย) ได้กำหนดให้ใช้สันปันน้ำที่ขอบหน้าผา
       
       ทั้งนี้ พันเอกแบร์นาร์ดก็ได้กล่าวหลายครั้งทั้งในที่ประชุมและการแสดงปาฐกถาที่ปารีส เมื่อคณะกรรมการมีมติให้พิมพ์แผนที่ ได้มอบหมายให้ฝ่ายฝรั่งเศสไปดำเนินการมา และในที่สุดแผนที่พิมพ์เสร็จไม่ได้เข้าที่ประชุม และคณะกรรมการสลายตัว แผนที่เก๊ที่พิมพ์มาทั้ง 11 ระวาง จึงเป็นแผนที่ที่ไม่สมบูรณ์ไม่ได้ผ่านการพิจารณา ผมจึงเรียกว่าแผนที่เก๊   
       
       ต่อมาประเทศสยามได้มีการแลกเปลี่ยนและสูญเสียดินแดนเพิ่มเติม ได้มีการทำสนธิสัญญา ปี ค.ศ. 1907 และได้มีการจัดตั้งคณะกรรมการปักปันเขตแดนฯ ชุดที่ 2 โดยคณะกรรมการชุดนี้มีพระองค์เจ้าบวรเดชและพันตรีมองแกร์ เป็นประธานทั้งสองฝ่าย มีการประชุมกันเป็นลำดับ โดยพื้นที่ที่ฝ่ายสยามได้สูญเสียไปนั้น บางส่วนไม่สามารถใช้พรมแดนธรรมชาติได้เพราะเป็นที่ลุ่ม จึงจำเป็นต้องจัดสร้างหลักเขตแดน ส่วนไหนที่ใช้พรมแดนธรรมชาติ เช่น สันปันน้ำ ส่วนนั้นก็เป็นไปตามอนุสัญญา 1904 คณะกรรมการปักปันฯ ได้ทำงานอยู่หลายปีในที่สุดก็ได้เลือกที่จะปักหลักเขต
       
       โดยหลักที่ 1 เลือกบริเวณช่องสะงำ เป็นหลักเขตที่ 1 และตามช่องต่างๆ ได้วางเสาศิลาเพื่อเป็นสัญลักษณ์ให้เห็นชัดเจน พรมแดนของสยามและกัมพูชาตั้งแต่ช่องสะงำไปจนถึงหลักเขตที่ 73 ที่จังหวัดตราด มีหลักเขตรวมทั้งหมด 74 หลักเขต และมีแผนที่มาตราส่วน 1:200,000 ทำเป็นโครงวาดแสดงจุดอ้างอิงกำกับไว้ทุกหลักเขตด้วย (เฉพาะหลักเขตที่ 22 มี 22A และ 22B ต่อมายุบรวมกันเป็นหลักเขตเดียว) ปัจจุบันจึงเหลือหลักเขต 73 หลักเขต (กัมพูชาพยายามจะย้ายหลักเขตที่ 73 ให้ได้ในอนาคตอันใกล้นี้)
       
       คณะกรรมการเมื่อมีการปักหลักเขตเรียบร้อยแล้วจึงได้ประชุมกันเป็นครั้งสุดท้าย รายงานการประชุมระบุว่าต้องทำแผนที่ระบุตำแหน่งหลักเขตทั้ง 74 หลักเขต เพื่อกันเอาไว้เป็นหลักฐาน หากอนาคตหลักเขตนั้นถูกเคลื่อนย้าย นอกจากนี้คณะกรรมการไม่ได้สนใจแผนที่ 11 ระวางของคณะกรรมการชุดแรกเลย เพราะเห็นว่าพรมแดนตั้งแต่ช่องสะงำไปจนถึงทางใต้ของเมืองจำปาสัก มีทิวเขามองเห็นสันปันน้ำที่ขอบหน้าผาอย่างชัดเจนซึ่งเป็นไปตามอนุสัญญาปี ค.ศ. 1904 แล้ว คณะกรรมการชุดที่ 2 นี้ยังได้จัดทำแผนที่จากช่องสะงำไปจนถึงตราด 5 ระวาง ได้แก่ระวางหมายเลข 1 หมายเลข 5 เมื่อพิมพ์แผนที่ออกมาแล้ว ปรากฏว่าแผนที่กลับไม่ระบุตำแหน่งของหลักเขตทั้ง 74 หลักเขต ตามที่คณะกรรมการชุดที่ 2 ต้องการ จึงเป็นแผนที่ที่ไม่สมบูรณ์อีกเช่นกัน
       
       ผมจึงถือว่าแผนที่มาตราส่วน 1:200,000 ของคณะกรรมการปักปันฯ ทั้งชุดที่ 1 และชุดที่ 2 นั้น เป็นแผนที่ที่ใช้ไม่ได้และแน่นอนศาลโลกไม่ได้ยอมรับแผนที่เก๊มาตราส่วน 1:200,000 นี้เลย

โดย เทพมนตรี ลิมปพยอม    11 ตุลาคม 2554
...............................................................................
ตอนที่ 4 แผนที่เถื่อน

  หลังจากคำพิพากษาของศาลโลกที่ได้ตัดสินให้อำนาจอธิปไตยเหนือปราสาทพระวิหารเป็นของกัมพูชา ประเทศไทยได้ปฏิบัติตามคำพิพากษาโดยไม่ยอมรับคำพิพากษาดังกล่าว รวมทั้งขอตั้งข้อสงวนสิทธิ์เพื่อเรียกปราสาทพระวิหารคืนจากกัมพูชาในอนาคต ประเทศไทยไม่ยอมรับแผนที่ 1 : 200,000  เป็นข้อผูกพันต่อกฎหมายระหว่างประเทศ และแน่นอนว่าประเทศไทยไม่ยอมรับว่าแผนที่ชุดนี้เป็นผลงานของคณะกรรมการปักปันเขตแดนสยาม-อินโดจีน แต่อย่างไร การไม่ยอมรับแผนที่ 1 : 200,000 ไทยได้แสดงคำให้การคัดง้างกับคำกล่าวหาของกัมพูชาที่ว่า แผนที่ 1 : 200,000 คือแผนที่ที่เป็นผลงานของคณะกรรมการฯ เพราะกรรมการมีมติให้พิมพ์แผนที่ 11 ระวาง  เมื่อพิมพ์เสร็จแล้วแผนที่ชุดนี้ไม่ได้เข้าสู่วาระการพิจารณา เพราะคณะกรรมการสลายตัวไปก่อนหน้านี้ จึงมิได้มีการพิจารณาแผนที่ ดังนั้น แผนที่ชุดนี้ทั้งหมดจึงเป็นแผนที่ “เก๊”
       
       ผมอยากจะเรียนให้ผู้อ่านทราบว่า การที่ผมเปิดเผยข้อมูลบางอย่างก็เพราะผมคิดว่าเราน่าจะได้ตัวการที่นำพาประเทศไทยไปยอมรับแผนที่ 1 : 200,000 
       
       เอกสารว่าด้วยเรื่องความตกลงระหว่างราชอาณาจักรไทยกับสาธารณรัฐประชาชนลาว เกี่ยวกับการสำรวจและจัดทำหลักเขตแดนตลอดแนว โดยที่รัฐบาลของทั้งสองประเทศตกลงที่จะร่วมกันสำรวจและจัดทำหลักเขตแดนไทย-ลาวตลอดแนว ให้เป็นไปตามอนุสัญญาวันที่ 13 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1904 ความตกลงวันนี่ 29 มิถุนายน ค.ศ. 1904 และสนธิสัญญาวันที่ 23 มีนาคม ค.ศ. 1907 และพิธีสารแนบท้ายอนุสัญญาวันที่ 25 สิงหาคม 1926 และแผนที่ที่จัดทำขึ้นตามความตกลงทุกฉบับที่กล่าวข้างต้น ในความตกลงนี้ ลงนามกันวันที่ 8 กันยายน 2539 ณ จังหวัดสงขลา มี ดร.อำนวย วีรวรรณ เป็นตัวแทนของไทย
       
       ในแผนแม่บทที่เป็นไปตามข้อตกลงไทย-ลาว นั้นก็ได้ระบุ “วิธีการกำหนดแนวเส้นเขตแดน ในแผนแม่บท” ในข้อ 5.1.3 กล่าวว่า ในการสำรวจและจัดทำหลักเขตแดนทางบกนั้นจะปฏิบัติตามแนวเขตแดนที่ได้กำหนไว่ในสนธิสัญญา เมื่อวันที่ 23 มีนาคม ค.ศ. 1907 และอนุสัญญาแนบท้ายและแผนที่ที่กำหนดแนวเส้นเขตระหว่างอินโดจีน-สยาม มาตราส่วน 1 : 200,000 แผนแม่บทฉบับนี้ลงนามในหนังสือชื่อ ปัญหาเขตแดนไทย-ลาว ระบุชัดเจนเกี่ยวกับแผนที่มาตราส่วน 1 : 200,000 มีทั้งหมด 11 ระวาง ซึ่งตรงกันกับรัฐบาลของคุณชวน หลีกภัย 
       
       1.ระวางเมืองคอบและเชียงล้อม
       
       2.ระวางลำน้ำต่างๆ ทางภาคเหนือ
       
       3.ระวางเมืองน่าน
       
       4.ระวางปากลาย
       
       5.ระวางน้ำเหือง
       
       6.ระวางจำปาศักดิ์
       
       7.ระวางแม่โขง
       
       8.ระวางดงรัก (ที่ตั้งปราสาทพระวิหาร)
       
       9.ระวางพนมกุเลน
       
       10.ระวางทะเลสาบ
       
       11.ระวางเมืองตราด

โดย เทพมนตรี ลิมปพยอม    19 ตุลาคม 2554
.......................................................................................
ตอนที่ 5 แผนที่เถื่อน (ตอนจบ)

ตอนที่แล้วผมได้แสดงข้อมูลให้ผู้อ่านได้ทราบเกี่ยวกับการใช้แผนที่มาตราส่วน 1:200,000 ที่ประเทศไทยนำไปใช้ใน “ความตกลงไทย-ลาว” และได้ทำการปักปันเขตแดนไทยลาวจนเสร็จสิ้นไปแล้ว การยอมรับแผนที่มาตราส่วน 1:200,000 ให้มีผลผูกพันตามกฎหมายระหว่างประเทศ เมื่อ พ.ศ. 2539 ฝ่ายไทยเองได้ยืนยันกับประเทศลาวว่า ประเทศลาวอยู่ในฐานะเป็นผู้สืบสิทธิ์ เป็นรัฐอาณานิคมของฝรั่งเศสมาก่อน ดังนั้นแผนที่มาตราส่วน 1:200,000 ทุกระวาง (11 ระวาง)  จึงยังมีผลบังคับใช้ในปัจจุบัน จะเห็นว่าฝ่ายไทยไม่สนใจต่อคำตัดสินของศาลโลกในคดีปราสาทพระวิหารที่ไม่ได้ตัดสินเรื่องแผนที่ และคำพิพากษาแย้งของผู้พิพากษาส่วนหนึ่งก็ระบุชัดว่า แผนที่ 1:200,000 ไม่ได้เป็นผลงานของคณะกรรมการปักปันเขตแดนสยาม-อินโดจีนแต่อย่างใด   
       
       การที่ฝ่ายไทยนำแผนที่เก๊ไปเป็นหลักฐานในการพิจารณาเพื่อปักปันเขตแดนกับลาว จึงเป็นสิ่งที่ยอมรับไม่ได้ และหากประเทศลาวได้ทราบเรื่องนี้ก็สมควรที่จะเรียกร้องให้มีการปักปันเขตแดนใหม่ ฝ่ายไทยได้แสดงให้เห็นชัดว่าไม่เคารพต่อคำพิพากษาของศาลโลก (แม้ในเวลานั้นเราไม่ยอมรับคำตัดสิน ไม่ยอมรับแผนที่ ประเทศไทยได้ตั้งข้อสงวนสิทธิ์เอาไว้เพื่อเรียกคืนตัวปราสาท) ประเทศไทยหลัง พ.ศ.2505 กลับไปปัดฝุ่นแผนที่ มาตราส่วน 1:200,000 เก๊มาใช้กับประเทศเพื่อนบ้าน
       
                 สมัยรัฐบาลภายใต้การนำของนายชวน หลีกภัย โดย ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ได้เดินทางไปกรุงพนมเปญ เพื่อลงนามบันทึกความเข้าใจระหว่างไทย-กัมพูชา ว่าด้วยการสำรวจและจัดทำหลักเขตแดนทางบก (MOU 2543) ซึ่งก่อนที่จะลงนาม เราได้ค้นพบเอกสารด่วนที่สุด ประกอบด้วยหนังสือที่ กต 0603/1574 ลงวันที่ 9 มิถุนายน 2543 ถึงนายกรัฐมนตรี (นายชวน หลีกภัย) ลงนามหนังสือโดย ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร มีข้อความเกี่ยวกับการประชุมและการลงนามโดยย่อบันทึกความเข้าใจฯ ระบุชัดเรื่องแผนที่มาตราส่วน 1:200,000 ว่าเป็นพื้นฐานทางกฎหมาย ในการสำรวจและจัดทำหลักเขตแดนทางบก
       
       “พื้นฐานทางกฎหมาย การสำรวจและจัดทำ (ปัก) หลักเขตแดนทางบกจะดำเนินการโดยใช้บรรดาเอกสารหลักฐานที่ผูกพันไทยกับกัมพูชาตามกฎหมายระหว่างประเทศ คือ อนุสัญญาฉบับลงวันที่ 13 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1904 สนธิสัญญาฉบับลงวันที่ 23 มีนาคม  ค.ศ. 1907 กับพิธีสารแนบท้าย และแผนที่แสดงเส้นเขตแดนระหว่างไทยกับกัมพูชามาตราส่วน 1:200,000 ซึ่งจัดทำขึ้นตามผลงานของคณะกรรมการปักปันเขตแดนระหว่างสยามกับอินโดจีนและเอกสารอื่นที่เกี่ยวข้องกับการบังคับใช้ (application) อนุสัญญาและสนธิสัญญาดังกล่าว”
       
       นอกจากนี้ในวันที่ 12 มิถุนายน 2543 ได้มีหนังสือบันทึกข้อความจากสำนักนายกรัฐมนตรีถึงนายกรัฐมนตรี (นายชวน หลีกภัย) ลงนามหนังสือโดยนายวรากรณ์ สามโกเศศ รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง โดยระบุสาระสำคัญเกี่ยวกับการเตรียมตัวที่จะไปเยือนกัมพูชาและจะมีการลงนามบันทึกความเข้าใจฯ (MOU 43) ข้อความที่น่าสนใจคือ
       
       “พื้นฐานทางกฎหมาย การสำรวจและปักหลักเขตแดนทางบกจะดำเนินการโดยใช้เอกสารหลักฐานที่ผูกพันไทยกับกัมพูชาตามกฎหมายระหว่างประเทศคือ อนุสัญญาฉบับลงวันที่ 13 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1904 สนธิสัญญาฉบับลงวันที่ 23 มีนาคม ค.ศ. 1907 กับพิธีสารแนบท้ายและแผนที่แสดงเส้นเขตแดนระหว่างไทยกับกัมพูชามาตราส่วน 1:200,000 ซึ่งจัดทำขึ้นตามผลงานของคณะกรรมการปักปันเขตแดนระหว่างสยามกับอินโดจีน”
       
       ทางซ้ายมือด้านล่างของหนังสือบันทึกข้อความฉบับนี้ มีลายเซ็นต์นายชวน หลีกภัย ได้ลงนาม ”อนุมัติ” การใช้แผนที่มาตราส่วน 1:200,000 ต่อมาในปี พ.ศ.2546 สมัยรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ได้มีการจัดทำแผนแม่บท (TOR 2546) และได้นำเอาแผนที่แสดงเส้นเขตแดนระหว่างไทยกับกัมพูชามาตราส่วน 1:200,000 ซึ่งจัดทำขึ้นตามผลงานของคณะกรรมการปักปันเขตแดนระหว่างสยามกับอินโดจีน มาใช้ในการสำรวจ และค้นหาหลักเขตแดน รวมถึง “เส้นเขตแดนใหม่” มีการยอมรับแผนที่มาตราส่วน 1:200,000 ว่าเป็นแผนที่ที่จะใช้เป็นพื้นฐานในการหาเส้นเขตแดน
       
       ด้วยเหตุนี้ผมจึงอยากเรียกร้องใครก็ได้ ที่เห็นว่าการนำเอาแผนที่เก๊มาใช้เป็นหลักฐานเอกสารที่เป็นพื้นฐานทางกฎหมายกับทั้งประเทศลาวและกัมพูชานั้นเป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้อง ทั้งคุณชวน หลีกภัย และ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร จะต้องรับผิดชอบต่อสิ่งที่ได้กระทำลงไป   
       
       ดังนั้นแผนที่ที่นำมาใช้เป็นผลผูกพันทางกฎหมายทั้งประเทศลาวและกัมพูชานั้น ไม่ได้เป็นผลงานของคณะกรรมการปักปันเขตแดนสยาม-อินโดจีน แต่อย่างใด หากแต่เป็นแผนที่เก๊ไม่สามารถใช้เป็นข้อมูลหรือเอกสารหลักฐานในการปักปันเขตแดน แผนที่เก๊นี้มีประโยชน์อยู่อย่างเดียวที่จะประกาศให้ประชาชนคนไทยได้ทราบว่า ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระปิยมหาราชของพวกเราทุกคนนั้น ใครมากระทำย่ำยีต่อประเทศสยามของเรา และยังเป็นเครื่องเตือนสติถึงความเจ้าเล่ห์เพทุบายของหมาป่าฝรั่งเศสที่มายึดมาแบ่งแผ่นดินของเราไป

โดย เทพมนตรี ลิมปพยอม    25 ตุลาคม 2554
manager.co.th