ผู้เขียน หัวข้อ: ผู้บริโภคค้าน อย.ปรับแก้ กม.ฉลากอาหารตามใจนายทุน ไม่ยอมแสดงข้อมูลที่ ปชช.ควรรู้  (อ่าน 624 ครั้ง)

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9760
    • ดูรายละเอียด
 ผู้บริโภคค้าน อย. ปรับแก้ประกาศฉลากอาหารฉบับ 367 ตามข้อเสนอกลุ่มนายทุน ชี้ กว่า 84% ปรับแก้ฉลากใหม่ตามประกาศแล้ว ไม่ใช่ทำไม่ได้จริงตามอ้าง ซัดขอปรับแก้ไม่แสดงข้อมูลที่เป็นประโยชน์ต่อผู้บรอโภค ด้าน อย. ยันยังไม่มีการปรับแก้ พร้อมรับข้อเสนอทั้ง 2 ฝ่ายพิจารณา
       
       วันนี้ (15 ส.ค.) มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคและเครือข่ายองค์กรผู้บริโภค กว่า 10 คน เดินทางมายังสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ซึ่งมีการประชุมคณะอนุกรรมการพิจารณาหลักเกณฑ์ เงื่อนไข และการแสดงฉลากอาหารของ อย. เพื่อยื่นเรื่องคัดค้านกรณีกลุ่มอุตสาหกรรมอาหาร ขอให้มีการปรับแก้ประกาศกระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่ 367 พ.ศ. 2557 เรื่อง การแสดงฉลากของอาหารในภาชนะบรรจุ โดยอ้างว่ามีข้อจำกัดจำนวนมากไม่สามารถปฏิบัติได้ และนำมาสู่การพิจารณาในที่ประชุมดังกล่าว โดยมี น.ส.ทิพย์วรรณ ปริญญาศิริ ผู้อำนวยการสำนักงานอาหาร อย. เป็นตัวแทนรับหนังสือ
       
       น.ส.สารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กล่าวว่า เครือข่ายฯ ขอคัดค้านหากจะมีการปรับแก้ประกาศฯ ฉบับ 367 ซึ่งปรับปรุงขึ้นจากปัญหาในการปฏิบัติงานของ อย. ซึ่งหากมีการปรับแก้ตามที่กลุ่มอุตสาหกรรมอาหารร้องขอมา ก็เท่ากับเป็นการถอยคลังเข้าคลอง กลับไปสู่ประกาศฉบับเดิม คือ ประกาศกระทรวงสาธารณสุขฉบับที่ 194 พ.ศ. 2543 เรื่องฉลาก ซึ่งตอนนี้ประกาศฉบับที่ 367 เดินมาไกลแล้วและเป็นประกาศที่คุ้มครองสิทธิผู้บริโภคอย่างมาก และอยากให้ อย. ให้ความเป็นธรรมกับผู้บริโภคบ้าง เพราะผู้บริโภคมาร้องเรื่องฉลาก GMO ตั้งแต่ 17 ธ.ค. 2558 จนปัจจุบันก็ยังไม่มีการเรียกประชุมเลย แต่กลุ่มอุตสาหกรรมอาหารมาเรียกร้องเมื่อวันที่ 16 มิ.ย. ที่ผ่านมา กลับนำเข้าที่ประชุมเพื่อปรับแก้ประกาศแล้ว
       
       นายพชร แกล้วกล้า นักวิชาการคณะกรรมการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคภาคประชาชน (คอบช.) กล่าวว่า ประกาศฉบับ 367 นี้ จะมีผลบังคับใช้วันที่ 4 ธ.ค. 2559 ซึ่งการเรียกร้องของกลุ่มอุตสาหกรรมอาหารนั้น สวนทางกับผลสำรวจที่พบว่า ร้อยละ 84 ผู้ประกอบการมีการปรับแก้ฉลากตามประกาศฯ แล้ว ข้ออ้างที่ว่าทำไม่ได้จึงไม่น่าเป็นจริง ทั้งนี้ สิ่งที่กลุ่มอุตสาหกรรมอาหารอ้างว่าไม่สามารถดำเนินการได้ ทั้งที่เป็นการคุ้มครองสิทธิของผู้บริโภค คือ

1. การแสดงรายการวัตถุเจือปนอาหารตามกลุ่มหน้าที่ ซึ่งครอบคลุมวัตถุดิบที่ใช้ในการผลิตด้วย แต่กลับขอแสดงเพียงแค่ตัวเลข ISN หรือรหัสสากลของสารเคมีสำหรับอาหารเพียงอย่างเดียว ซึ่งถามว่าผู้บริโภคจะทราบหรือไม่ว่าเป็นสารอะไร และจะไม่แสดงวัตถุเจือปนที่มากับวัตถุดิบด้วย เพราะมองว่าไม่จำเป็นต้องรู้ ทั้งที่เป็นสิทธิของผู้บริโภคที่ควรทราบ

2. การให้ข้อมูลสำหรับผู้แพ้อาหาร ซึ่งต้องแสดงสารก่อภูมิแพ้ในส่วนที่มากกว่า 1 สายการผลิตด้วย คือ อาจมีสารก่อภูมิแพ้จากสายการผลิตอื่นปนมาด้วย จำเป็นที่จะต้องระบุให้ชัด แต่ผู้ประกอบการกลับมองว่าไม่ควรแสดง ทั้งที่เป็นสิทธิของผู้บริโภคควรทราบเช่นกัน
       
3. เรื่องการแสดงวันที่ผลิต วันหมดอายุ และควรบริโภคก่อน ซึ่งประกาศฯ ฉบับ 367 กำหนดว่าให้ระบุว่าควรบริโภคก่อน ส่วนวันหมดอายุให้เป็นไปตามประกาศของกลุ่มอาหารชนิดนั้น เช่น นมที่กำหนดให้ใช้วันหมดอายุ เป็นต้น หากปรับแก้ก็จะกลับไปเป็นเหมือนเดิมคือ ผู้ผลิตจะเลือกบอกวันที่ผลิต วันหมดอายุ หรือวันควรบริโภคก่อนก็ได้ 4. การแสดงรายชื่อผู้ผลิต ผู้จัดจำหน่าย รวมถึงประเทศที่ผลิตเป็นภาษาไทย ซึ่งผู้ประกอบการอ้างว่าสินค้านำเข้าจากต่างประเทศ หากทำฉลากเป็นภาษาไทยเลยจะทำให้ต้นทุนสูงขึ้น จึงอยากให้นำสินค้าเข้ามาก่อนแล้วค่อยแปะฉลาก ซึ่งปัจจุบันไม่มีโรงพักสินค้าแล้ว หากนำเข้ามาก็กระจายไปได้ทันที และ 5. ขนาดอักษรในการแสดงฉลากต้องสอดคล้องกับพื้นที่ฉลาก ซึ่งผู้ประกอบการก็อ้างว่ามีพื้นที่ขนาดเล็กทำไม่ได้ ทั้งที่ความจริงแล้วเป็นเรื่องของการออกแบบ ซึ่งจากการสำรวจฉลากในตลาดก็พบว่าสามารถทำได้ทั้งสิ้น
       
       น.ส.ทิพย์วรรณ กล่าวว่า ข้อเสนอจากกลุ่มผู้บริโภคก็จะนำเข้าสู่ที่ประชุมคณะอนุฯ ฉลาก ของ อย. ด้วย โดยจะมีการพิจารณาข้อเสนอของแต่ละฝ่ายอย่างรอบคอบ และเป็นประโยชน์ต่อทุกฝ่าย อย่างไรก็ตาม เบื้องต้นยังไม่มีการแก้ประกาศฯ ตามที่ผู้บริโภคกังวล แต่อาจมีการแก้ส่วนของฉลากสารก่อภูมิแพ้ เช่น การปรับจากใช้อักษรคำเตือนมาเป็นสัญลักษณ์สีแดง ซึ่งสังเกตได้ง่ายกว่า เป็นต้น

โดย MGR Online       15 สิงหาคม 2559