หมวดหมู่ทั่วไป > ห้องพักผ่อนรวม (Common Room)

เสพติดรอกดไลค์ เฟซบุ๊กลิซึ่ม ระวังข้อมูลรั่ว

(1/1)

story:
เอแบคโพล ชี้ "คนไทย" เป็นโรค "เฟซบุ๊กลิซึ่ม" พบมีพฤติกรรมเสพติดรอคนมากด LIKE จากการ โพสต์ภาพและข้อความ เตือนระวัง ข้อมูลส่วนตัวรั่วไหล สุดเฟ้อ โจ๋ไทยเตรียมเงินอย่างน้อย 15,000 บาทขึ้นไป สำหรับการเตรียมซื้อสมาร์ทโฟน...

เมื่อวันที่ 15 มี.ค. ดร.นพดล กรรณิกา ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยเอแบคนวัตกรรมทางสังคม การจัดการและธุรกิจ (Social Innovation Management and Business Analysis, SIMBA) มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ เปิดเผยผลวิจัยเชิงสำรวจเรื่อง พฤติกรรมการซื้อและใช้สมาร์ทโฟนของกลุ่มเฟซบุ๊กลิซึ่ม (Facebooklism) ที่อาศัยในเขตกรุงเทพมหานคร จำนวนทั้งสิ้น 641 ตัวอย่าง พบว่า ตัวอย่างที่มีพฤติกรรมติดเฟซบุ๊ก หรือชาวเฟซบุ๊กลิซึ่มส่วนใหญ่หรือร้อยละ 70.9 ใช้เฟซบุ๊กผ่านคอมพิวเตอร์ (PC) รองลงมาคือ ร้อยละ 65.9 ผ่านโทรศัพท์มือถือ ร้อยละ 43.3 ผ่านแล็ปท็อป หรือโน๊ตบุ๊ก และร้อยละ 6.9 ผ่านแท็บเล็ต ที่น่าพิจารณา คือ ตัวอย่างกว่า 1 ใน 4 หรือร้อยละ 25.8 มีโทรศัพท์มือถือมากกว่า 1 เครื่อง

เมื่อสอบถามถึงประเภทของโทรศัพท์มือถือที่ใช้อยู่ พบว่าส่วนใหญ่ หรือร้อยละ 62.7 ใช้สมาร์ทโฟน เช่น ไอโฟน แบล็กเบอร์รี่ ซัมซุงกาแลคซี่ รองลงมาคือร้อยละ 37.3 ใช้โทรศัพท์มือถือประเภทหน้าจอสี (ไม่ใช่สมาร์ทโฟน) ร้อยละ 7.7 ใช้โทรศัพท์มือถือประเภท 2 ซิม และร้อยละ 5.8 ใช้โทรศัพท์มือถือประเภท หน้าจอขาว-ดำ ตามลำดับ และราคาโทรศัพท์มือถือที่ใช้เฉลี่ยอยู่ที่ 9,272 บาท ประเด็นที่น่าพิจารณา คือ ตัวอย่างเกือบ 1 ใน 3 หรือร้อยละ 31.2 มีแผนจะซื้อโทรศัพท์มือถือเครื่องใหม่ในอีก 3 เดือนข้างหน้า โดยร้อยละ 97.5 ตั้งใจจะซื้อสมาร์ทโฟน โดยร้อยละ 45.7 เตรียมเงินไว้สำหรับซื้อสมาร์ทโฟนกว่า 15,000 บาทขึ้นไป

ดร.นพดล กล่าวต่อว่า ผลจากการวิจัยเชิงคุณภาพพบว่า สิ่งที่ชาวเฟซบุ๊กลิซึ่มมักทำเป็นอันดับแรกเมื่อเข้าเฟซบุ๊ก คือ การเช็กดูว่ามีเพื่อน/คนรู้จักมา แสดงความคิดเห็น หรือกดไลค์ (Like) ข้อความหรือรูปภาพที่ตนอัพเดทไว้หรือไม่ หลังจากนั้น จึงไปดูที่หน้าโฮม (Home) เพื่ออัพเดทข่าวสารของเพื่อน/คนรู้จัก หากเพื่อน/คนรู้จัก ได้อัพเดทสถานะ (Status) หรือรูปภาพที่น่าสนใจ ก็มักจะคลิกไลค์ หรือแสดงความคิดเห็น (Comment) ในทันที และเมื่อสอบถามถึงการตอบรับเป็นเพื่อน (Add Friend) พบว่า ส่วนใหญ่มักดูว่ารู้จักผู้ที่มาขอเป็นเพื่อนหรือไม่ หากเป็นเพื่อน/คนรู้จัก ก็จะรับ หากไม่รู้จักก็จะพิจารณาที่หน้าตาว่าน่าสนใจหรือไม่ แต่เมื่อพิจารณาจำนวนเพื่อนในเฟซบุ๊กของคนที่ถูกศึกษากลับพบว่ามีมากเฉลี่ย อยู่ที่ 300 คน แต่ในชีวิตจริงมีเพื่อนสนิทที่พบปะสังสรรค์กันอยู่น้อยกว่า 15 คน แสดงให้เห็นว่า เพื่อนในโลกความเป็นจริงไม่ได้มีอยู่ในจำนวนมากเท่ากับโลกเฟซบุ๊ก

เมื่อสอบถามถึงความกังวลต่อปัญหาการล่อลวง หรืออาชญากรรม ที่เกิดจากเฟซบุ๊ก พบว่า ส่วนใหญ่ไม่ได้กังวลใจอะไร เนื่องจากมั่นใจว่าสามารถดูแลความปลอดภัยของตนเองได้ แต่มีบางส่วนที่กังวลในเรื่องของข้อมูลส่วนตัวรั่วไหล.

ไทยรัฐออนไลน์ 15 มีค 2555

นำร่อง

[0] ดัชนีข้อความ

Go to full version