หมวดหมู่ทั่วไป > ห้องพักผ่อนรวม (Common Room)

ตามรอยมรรคาแห่งเหล่าอัครสาวก-(สารคดี-เนชั่นแนลจีโอกราฟฟิก)

(1/1)

pani:
ในเมืองปารัว รัฐเกรละ  ทางใต้ของอินเดีย พื้นหินของโบสถ์โกฏฆาวุอันเก่าแก่ได้รับการขัดสีฉวีวรรณจนขึ้นเงา ส่วนในโบสถ์หลังใหม่และใหญ่กว่าซึ่งอยู่ติดกัน อัฐิสีซีดๆชิ้นหนึ่งขนาดพอๆกับเล็บนิ้วหัวแม่มือประดิษฐานอยู่ในโกศทองคำ ป้ายภาษาอังกฤษระบุว่า  เป็นอัฐิของนักบุญโทมัส  ตำนานเล่าสืบต่อกันมาว่า นักบุญท่านนี้สร้างโบสถ์หลังแรกขึ้นในอินเดีย ณ สถานที่แห่งนี้เมื่อปี ค.ศ. 52

โบสถ์คริสต์ทั้งที่เมืองปารัวและเมืองอื่นๆในรัฐเกรละล้วนรุ่มรวยไปด้วยรูปเคารพต่างๆ  ตั้งแต่ภาพนักบุญโทมัส พระนางพรหมจารีมารีย์ พระเยซูคริสต์ ไปจนถึงนักบุญยอร์จ  แม้แต่ชาวฮินดูเองยังสวดอ้อนวอนต่อนักบุญยอร์จผู้สังหารมังกร เพราะเชื่อว่าท่านอาจช่วยปกป้องลูกๆจากงูเห่า 

นักบุญโทมัสหรือที่รู้จักกันในนาม โทมัสกังขาหรือโทมัสขี้สงสัย (Doubting Thomas) เป็นอัครทูตหนึ่งในสิบสององค์(12 Apostles) ที่ออกเดินทางหลังพระเยซูทรงถูกตรึงกางเขน เพื่อเผยแผ่ความเชื่อใหม่ที่เพิ่งถือกำเนิดขึ้น อัครสาวกองค์อื่นๆได้แก่ เปโตรหรือปีเตอร์ (Peter), อันดรูว์ (Andrew), ยากอบองค์ใหญ่ (James the Greater), ยากอบองค์เล็ก (James the Lesser), ยอห์น (John), ฟิลิป (Philip), บาร์โธโลมิว (Bartholomew), มัทธิว (Matthew),  ทัดเดวหรือยูดา (Thaddaeus หรือ Jude),    ซีโมน (Simon)   และมัทธีอัส (Matthias)   ผู้มาแทนยูดาส อิสคาริโอท (Judas Iscariot) อัครสาวกคนเก่าที่ถูกกล่าวหาว่าเป็นผู้ทรยศ แต่ต่อมาคำว่า “อัครสาวก” (apostle)  และ “ผู้เผยแผ่ศาสนา” (apostolic) หรือสมณทูต (ทั้งสองคำมีรากศัพท์มาจากคำในภาษากรีกว่า apostolos หรือผู้ส่งสาร) ได้นำมาใช้เรียกผู้เผยแผ่พระธรรมคนอื่นๆด้วย ในกรณีของนักบุญเปาโล (Paul) ท่านเรียกตัวเองว่าเป็นอัครทูต เนื่องจากเชื่อว่าได้เห็นพระเยซูคริสตเจ้าและได้รับมอบหมายภารกิจเผยแผ่ศาสนาจากพระองค์       ส่วนมารีอา     มักดาเลนา (Mary Magdalene) ถือว่าเป็นผู้นำสารของเหล่าอัครสาวก เพราะเป็นผู้แจ้งข่าวการฟื้นคืนพระชนม์ชีพของพระเยซูให้พวกเขาทราบ และแม้ว่าผู้นิพนธ์พระวรสารสองคนจากสี่คน     ได้แก่ มัทธิวและยอห์น    จะเป็นอัครสาวกดั้งเดิม แต่มะระโก (Mark) และลูกา (Luke) ก็ได้รับการยกย่องว่าเป็นอัครสาวก  เพราะงานเผยแผ่ศาสนาอันสำคัญยิ่งจากการเขียนพระวรสารภาคพันธสัญญาใหม่

หลังพระเยซูทรงถูกตรึงกางเขนได้ไม่นาน คริสต์ศาสนายังเป็นเพียงเมล็ดพันธุ์เล็กๆของศาสนาใหม่  ขาดทั้งพิธีกรรม วิธีการบูชา และกระทั่งชื่อเรียกอย่างเป็นทางการ คริสตชนรุ่นแรกๆใช้เพียงคำว่า   “หนทาง”   คริสต์ศาสนาไม่ได้เป็นแม้แต่นิกายหนึ่งของศาสนายูดาห์  เปโตรคืออัครธรรมทูตท่านแรก ในหนังสือกิจการอัครทูต (Acts of the Apostles) เราได้ทราบถึงเรื่องที่ท่านเปลี่ยนความเชื่อของคนจำนวนมาก และทำอัศจรรย์ต่างๆ เช่น รักษาคนง่อยให้หาย ทำให้คนตายฟื้นคืนชีพ เป็นต้น

ในช่วงขวบปีแรกๆ ขบวนการนี้ไม่ได้สลักสำคัญอะไรถึงขั้นต้องมีการกวาดล้างอย่างจริงจัง  ชาวคริสต์ซึ่งเป็นชื่อที่เรียกขานกันในเวลาต่อมากลับขัดแย้งกับผู้นับถือศาสนายิวนิกายต่างๆที่อยู่ใกล้มากกว่าจะขัดแย้งกับจักรวรรดิโรมัน ตามความในพระคริสตธรรมคัมภีร์  มรณสักขีหรือผู้พลีชีพเพื่อคริสต์ศาสนา (martyr) คนแรกที่สังเวยชีวิตเพื่อยืนยันความเชื่อคือนักบุญสเตเฟน  ท่านทำให้ชุมชนชาวยิวเดือดดาลเพราะกล่าวว่า  พระเยซูจะทรงกลับมาและทำลายมหาวิหารของกรุงเยรูซาเลม หลังจากที่ถูกไต่สวนในข้อหาดูหมิ่นศาสนาเมื่อราวปี ค.ศ. 35 ท่านถูกผู้กล่าวหาปาหินใส่จนเสียชีวิต ขณะที่ท่านสวดอ้อนวอนขอพระเจ้ายกโทษให้คนเหล่านั้น

ในปี ค.ศ. 44 พระเจ้าเฮโรดอากริปปาที่หนึ่งทรงจับยากอบองค์ใหญ่ขังคุกและประหารชีวิตด้วยการตัดศีรษะ นับเป็นอัครสาวกคนแรกที่เสียชีวิต  ต่อมาในปี ค.ศ. 64 อัคคีภัยครั้งร้ายแรงเผาผลาญกรุงโรมวอดวายไป 10 เขตจากทั้งหมด 14 เขต จักรพรรดิเนโรทรงกล่าวโทษขบวนการชาวคริสต์ที่กำลังโตวันโตคืน  และรับสั่งให้ประหารชีวิตคริสตชนจำนวนมากด้วยวิธีสยดสยอง ในช่วงสองร้อยปีต่อมามีเหตุการณ์นองเลือดเช่นนี้เกิดขึ้นเป็นระยะๆ

ตำนานเล่าสืบต่อกันมาว่า  อัครสาวก 11 คนจาก 12  คนถูกประหารชีวิตและกลายเป็นมรณสักขี   เปโตร อันดรูว์ และฟิลิปถูกตรึงกางเขน ยากอบองค์ใหญ่และทัดเดวถูกประหารด้วยคมดาบ   ยากอบองค์เล็กถูกตีจนตาย บาร์โธโลมิวถูกถลกหนังทั้งเป็นและนำไปตรึงกางเขน โทมัสและมัทธิวถูกแทงด้วยหอก มัทธีอัสถูกปาหินใส่จนตาย และซีโมนถูกตรึงกางเขนหรือไม่ก็ถูกเลื่อยร่างออกเป็นสองท่อน

 

โคลัมบา สจวร์ต นักบวชคณะเบเนดิกตินและนักประวัติศาสตร์ บอกกับผมว่า  ในระยะแรกๆ “คริสต์ศาสนายังไม่มีโครงสร้างที่เป็นระบบ  หรือสถาบันศาสนจักรใหญ่โตอย่างวาติกันและลำดับสมณศักดิ์ซับซ้อน  อันเป็นสัญลักษณ์ของศาสนจักรโรมันคาทอลิกอย่างในทุกวันนี้ แต่มักเป็นเพียงกลุ่มคนยากจนกลุ่มเล็กๆที่ถูกกดขี่ข่มเหง ทว่ามีศรัทธาแรงกล้าในสิ่งที่เชื่อ”

เหล่าอัครสาวกเป็นผู้บุกเบิกความเชื่อนี้ โดยเดินทางไปประกาศข่าวดีตามเครือข่ายเส้นทางการค้าอันกว้างใหญ่ของโลกยุคโบราณ และสร้างชุมชนชาวคริสต์เล็กๆขึ้นตามเส้นทางที่ผ่าน โทมัสมุ่งหน้าไปทางตะวันออก  ผ่านดินแดนที่ปัจจุบันคือซีเรียและอิหร่าน นักประวัติศาสตร์เชื่อกันว่า ท่านยังเดินทางลงใต้ไปจนถึงอินเดียใต้ นับเป็นอัครสาวกที่เดินทางไกลยิ่งกว่าใคร ไม่เว้นแม้แต่เปาโลผู้เดินทางเกือบรอบทะเลเมดิเตอร์เรเนียน โทมัสเป็นสัญลักษณ์อันเข้มแข็งที่สุดของการเผยแผ่พระธรรมที่ที่ทำให้คริสต์ศาสนาเจริญงอกงาม

มะระโก ผู้นิพนธ์พระวรสารเป็นธรรมทูตเช่นกัน ท่านนำเรื่องราวของพระเยซูไปเผยแผ่ถึงอียิปต์   และก่อตั้งคริสต์ศาสนานิกายคอปติก แต่สำหรับชาวคาทอลิกบางคนแล้ว สิ่งสำคัญที่สุดคือท่านเป็นสัญลักษณ์ทางการเมืองเช่นเดียวกับเป็นนักบุญ โดยมีความเกี่ยวพันกับนครเวนิสอย่างแน่นแฟ้น

หากโทมัสคือธรรมทูตผู้น่าเลื่อมใส  และมะระโกคือเสาหลักทางการเมืองแล้วไซร้  มารีอา มักดาเลนา คือตัวอย่างที่ดีของนักบุญผู้มีศรัทธาแรงกล้าและมักเชื่อมโยงกับพระหรรษทาน (grace) และการวอนขอความช่วยเหลือจากพระเจ้า  สมัยหนึ่งท่านเคยถูกกล่าวหาว่าเป็นนางคณิกากลับใจ แต่ปัจจุบันคนหลายล้านทั่วโลกกลับนับถือท่านในฐานะบุคคลสำคัญผู้ใกล้ชิดพระเยซู

มีนาคม 2555

นำร่อง

[0] ดัชนีข้อความ

Go to full version