ผู้เขียน หัวข้อ: “ญี่ปุ่น-ไทย” พัฒนาหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าเข้มแข็ง  (อ่าน 506 ครั้ง)

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9797
    • ดูรายละเอียด
ญี่ปุ่นร่วมมือไทยพัฒนาหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าเข้มแข็ง เป็นเครื่องมือขยายเศรษฐกิจประเทศ
       
       ศ.คลินิกเกียรติคุณ นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร นำคณะศึกษาดูงาน จากคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) กระทรวงสาธารณสุข และ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) อาทิ นพ.โสภณ เมฆธน ปลัดกระทรวงสาธารณสุข, ศ.อัมมาร สยามวาลา นักวิชาการเกียรติคุณทีดีอาร์ไอ, พญ.ประสบศรี อึ้งถาวร บอร์ด สปสช., นพ.ณรงค์ศักดิ์ อังคะสุวพลา บอร์ด สปสช. นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี รองเลขาธิการ สปสช. ดูงานการบริหารจัดการระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าอย่างยั่งยืนของประเทศญี่ปุ่น
       
       ศ.คลินิกเกียรติคุณ นพ.ปิยะสกล กล่าวว่า ประเทศญี่ปุ่นโดยองค์การความร่วมมือระหว่างประเทศแห่งญี่ปุ่น หรือ ไจก้า ได้เชิญไทยมาศึกษาดูงานในครั้งนี้ โดยเป็นส่วนหนึ่งของความร่วมมือเพื่อพัฒนาหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ไทย-ญี่ปุ่น ซึ่งเป็นที่ทราบกันดีว่า ระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าของญี่ปุ่น เป็นต้นแบบที่ดีแห่งหนึ่งของโลก การดูงาน 3 วัน ระหว่างวันที่ 22 - 24 ก.พ. เพื่อเรียนรู้เรื่องการจัดการระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าของญี่ปุ่น ตั้งแต่เริ่มต้นจนถึงการดำเนินการในปัจจุบัน การจัดการเรื่องการเงินการคลังในระบบหลักประกันสุขภาพของญี่ปุ่น การแปลงนโยบายไปสู่การปฏิบัติที่ได้ผลจริง ศึกษาการบริหารจัดการของโรงพยาบาลในประเทศญี่ปุ่นจากที่เคยเป็นโรงพยาบาลรัฐ สู่โรงพยาบาลในกำกับของรัฐ และความร่วมมือระหว่างไทยและญี่ปุ่น เพื่อการพัฒนาระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าร่วมกัน
       
       โดยวันแรก คณะดูงานของไทยไปที่รัฐสภากรุงโตเกียว ญี่ปุ่น เพื่อหารือกับ ศาสตราจารย์ เคโซะ ทาเคมิ สมาชิกวุฒิสภาโตเกียว ประธานกรรมาธิการพิเศษด้านยุทธศาสตร์สุขภาพโลก วุฒิสภาญี่ปุ่น ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้นำสำคัญด้านหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าของญี่ปุ่น ได้เล่าถึงประสบการณ์ขับเคลื่อนระบบหลักประกันสุขภาพของญี่ปุ่น ซึ่งญี่ปุ่นใช้สุขภาพเป็นหนึ่งในนโยบายต่างประเทศที่สำคัญ เพื่อสร้างความร่วมมือระดับโลก ของไทยก็มีความร่วมมือด้านสุขภาพกับประเทศญี่ปุ่น คือ ความร่วมมือพัฒนาระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า
       
       “ญี่ปุ่นร่วมมือกับไทย เพราะเห็นว่า เรามีระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าที่ค่อนข้างเข้มแข็งในบรรดาประเทศกำลังพัฒนาด้วยกัน ความร่วมมือนี้ก็เพื่อทำให้ระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าของไทยมีความเข้มแข็งขึ้นอีก และเป็นตัวอย่างเพื่อช่วยขับเคลื่อนประเทศกำลังพัฒนาอื่นๆ ไปสู่หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าตามมติประชาคมโลกด้วยกัน”
       
       ศ.คลินิกเกียรติคุณ นพ.ปิยะสกล กล่าวว่า ประเด็นที่น่าสนใจที่สอดคล้องกับแนวคิดของไทย คือ ตั้งแต่ทศวรรษที่ 1960 รัฐบาลญี่ปุ่นมีนโยบายระดับชาติที่สำคัญของรัฐบาลญี่ปุ่น คือ การพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ แต่เศรษฐกิจประเทศจะขยายตัวได้ คนในชาติต้องมีสุขภาพที่ดีด้วย ดังนั้น ประเทศญี่ปุ่นจึงพัฒนาเศรษฐกิจโดยไม่ทิ้งสุขภาพของประชาชน รัฐบาลญี่ปุ่นใช้หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าเป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาเศรษฐกิจ และมีมุมมองที่สำคัญ คือ ให้ความสำคัญกับการดูแลสุขภาพชนชั้นกลาง ควบคู่ไปกับประชาชนกลุ่มเปราะบาง เช่น คนจน เพราะชนชั้นกลางเป็นกลุ่มที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ จึงต้องสนับสนุนให้มีคุณภาพชีวิตที่ดี ขณะเดียวกัน ก็ต้องส่งเสริมสุขภาพดีของกลุ่มเปราะบางด้วย เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตประชากรกลุ่มนี้ให้เป็นชนชั้นกลางเพื่อช่วยกันพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศต่อไป
       
       “จะเห็นว่า เป็นแนวคิดเดียวกับของไทย ที่ผมได้ย้ำเสมอว่า เพราะเรายากจนเราจึงต้องมีหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า นโยบายที่รัฐเป็นผู้ลงทุนหลักด้านสุขภาพ ทำให้สามารถลดการล้มละลายทางการเงินของประชาชนจากค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพได้อย่างดี และป้องกันความยากจนด้วย จากแนวคิดที่สอดคล้องของไทยและญี่ปุ่นตรงนี้ นับว่าเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีในการร่วมมือระหว่างประเทศพัฒนาระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าต่อไป” ศ.คลินิกเกียรติคุณ นพ.ปิยะสกล กล่าว

โดย MGR Online       23 กุมภาพันธ์ 2560