ผู้เขียน หัวข้อ: สธ.อาการหนัก!รพ.สังกัดค้างจ่ายค่าตอบแทน 89 แห่ง เหลือ ‘เจ้าพระยาอภัยภูเบศร์’ รอด  (อ่าน 657 ครั้ง)

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9760
    • ดูรายละเอียด
เมื่อวันที่ 1 มิถุนายน ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สมาพันธ์แพทย์โรงพยาบาลศูนย์/โรงพยาบาลทั่วไป(สพศท.) ได้จัดทำข้อมูลระยะเวลาที่โรงพยาบาลศูนย์(รพศ.)/โรงพยาบาลทั่วไป(รพท.) หรือโรงพยาบาลระดับจังหวัดค้างจ่ายค่าตอบแทนตามผลการปฏิบัติ หรือพีฟอร์พี (p4p :pay for permanance) ให้กับบุคลากรภายในโรงพยาบาล โดยข้อมูล ณ วันที่ 16 พฤษภาคม 2559 พบว่า จาก รพศ./รพท.ทั้งหมด 116 แห่ง  ให้ข้อมูล จำนวน 90 แห่ง มีเพียงรพ.เจ้าพระยาอภัยภูเบศร์เพียงแห่งเดียวที่ไม่มีการค้างจ่าย อีก 89 แห่งค้างจ่ายทั้งสิ้น เรียงจากจำนวนเดือนค้างจ่ายน้อยไปหามาก ได้แก่ ค้างจ่าย 1 เดือน 5 แห่ง ค้างจ่าย 2 เดือน 1 แห่ง ค้างจ่าย 4 เดือน 7 แห่ง ค้างจ่าย 5 เดือน 4 แห่ง ค้างจ่าย 6 เดือน  3 แห่ง ค้างจ่าย 7 เดือน 28 แห่ง ค้าง 8 เดือน 6 แห่ง ค้าง 9 เดือน 1 แห่ง  ค้าง 10 เดือน 2 แห่ง ค้าง11 เดือน 1 แห่ง ค้าง 12 เดือน หรือ 1 ปี  5 แห่ง ค้าง 13 เดือน  7 แห่ง  ค้าง 15 เดือน 1 แห่ง ค้าง 16 เดือน 3 แห่ง

ขณะที่ ค้าง 17 เดือน 1 แห่ง ค้าง 19 เดือน 2 แห่ง ค้าง 20 เดือน 1 แห่ง ค้าง 21 เดือน 2 แห่ง ค้าง 22 เดือน 3 แห่ง  ค้าง 24 เดือน หรือ 2  ปี 2 แห่ง ค้าง 25 เดือน 1 แห่ง ค้าง 26 เดือน 2 แห่ง และค้าง 27 เดือน 1 แห่ง ซึ่งจะเห็นว่ามีรพ.ที่ค้างจ่ายเกิน 1 ปี จำนวน 6 แห่ง ได้แก่ รพ.พังงา รพ.ตะกั่วป่า รพ.ดำเนินสะดวก รพ.สมเด็จพระสังฆราชองค์ที่ 17  รพ.เจ้าพระยายมราช และรพ.บ้านโป่ง โดยพบค้างนานที่สุด 27 เดือน หรือ 2 ปี 3 เดือน

ด้าน นพ.ประดิษฐ์ ไชยบุตร ประธาน สพศท. กล่าวว่า ข้อมูลนี้สพศท.รวบรวมจากการสอบถามบุคลากรในโรงพยาบาลต่างๆ โดยค่าตอบแทนดังกล่าวเป็นการให้นอกเหนือจากเงินเดือนปกติ เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขการจ่ายค่าตอบแทน แนบท้ายข้อบังคับกระทรวงสาธารณสุข ว่าด้วยการจ่ายเงินค่าตอบแทนเจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติงานให้กับหน่วยบริการในสังกัดกระทรวงสาธารณสุข (ฉบับที่ 9) พ.ศ.2556 เป็นเงินจ่ายเพิ่มเติมให้กับบุคลากรตามผลการปฏิบัติงานของแต่ละบุคคล ทั้งนี้ หลักเกณฑ์ดังกล่าวกำหนดให้ใช้เงินบำรุงของโรงพยาบาลแต่ละแห่งมาเป็นค่าตอบแทนในส่วนนี้ให้กับบุคลากร แต่เนื่องจากสถานะทางการเงินของโรงพยาบาลหลายแห่งมีปัญหาขาดสภาพคล่อง ทำให้ไม่มีเงินบำรุงโรงพยาบาลเพียงพอที่จะจ่ายค่าตอบแทนให้กับบุคลากร จึงมีปัญหาเรื่องการค้างจ่ายเกิดขึ้น ซึ่งไม่เฉพาะแต่แพทย์เท่านั้นที่ถูกค้างจ่าย บุคลากรอื่นๆ ในโรงพยาบาลก็เช่นเดียวกัน

“ผู้บริหารระดับกระทรวงทราบปัญหานี้ดี ที่ผ่านมาได้พยายามหาแนวทางช่วยเหลือ เช่น ปี 2558  สธ.มีการขอสรรงบประมาณ จำนวน 3,000 ล้านบาทสำหรับให้จ่ายเป็นค่าตอบแทน แต่เมื่อเฉลี่ยให้กับ รพศ. รพท. และโรงพยาบาลชุมชน(รพช.)ที่รวมแล้วมีรพ.กว่า 800 แห่ง รพ.แต่ละแห่งก็จะได้รับไม่มาก ไม่เพียงพอ ซึ่งการจะแก้ปัญหาเรื่องนี้อย่างจริงจัง คงทำได้ค่อนข้างยาก เพราะสถานะทางการเงินของรพ.คงจะไม่ดีดตัวดีขึ้นในเร็ววันนี้ ซึ่งสิ่งที่ทำให้รพ.เกิดปัญหาสถานะทางการเงินไม่ดี เพราะการได้รับจัดสรรงบประมาณเหมาจ่ายรายหัวให้กับรพ.สำหรับดูแลผู้ป่วยตามสิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติหรือบัตรทองนั้น ไม่ตรงกับค่าใช้จ่ายจริงของรพ. อีกทั้ง การเรียกเก็บเงินหลังให้บริการผู้ป่วยตามสิทธินี้ไปยังสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(สปสช.)ก็ได้ไม่เต็มเม็ดเต็มหน่วย บุคลากรที่ถูกค้างจ่ายเข้าใจสถานะการเงินของรพ.ดี ก็ได้แต่ทำใจและรอเท่านั้น” นพ.ประดิษฐ์กล่าว

มติชนออนไลน์
1มิย 2559