ผู้เขียน หัวข้อ: เหตุผลขอนายกฯ ปลด 'หมอประดิษฐ'  (อ่าน 870 ครั้ง)

ABBA

  • Hero Member
  • *****
  • กระทู้: 2105
    • ดูรายละเอียด
เหตุผลขอนายกฯ ปลด 'หมอประดิษฐ'
« เมื่อ: 08 มิถุนายน 2013, 00:27:40 »
หนังสือพิมพ์ไทยโพสต์ -- ศุกร์ที่ 7 มิถุนายน 2556 00:00:55 น.
เครือข่ายเพื่อความเป็นธรรมในระบบสุขภาพ
1.ไม่มีความสามารถและประสบการณ์ในการบริหารภาครัฐ บริหารกระทรวงสาธารณสุขและหน่วยงานที่ตนเองดูแลเป็นบริษัทส่วนตัว สั่งการตามอำเภอใจ ทำให้เกิดปัญหาและความเสียหายมากมาย ตัวอย่างสำคัญที่สะท้อนให้เห็นว่า เป็นการบริหารตามอำเภอใจ ก็เช่น การมีนโยบายสั่งการบังคับให้โรงพยาบาลทุกแห่งทำ P4P ลดและเลิกระบบแรงจูงใจเดิมในการทำให้บุคลากรทางการแพทย์ทำงานในชนบท อย่างเช่นมาตรการเบี้ยเลี้ยงเหมาจ่าย คิดว่าข้าราชการเป็นเหมือนพนักงานบริษัท บังคับให้ทำก็ต้องทำ ทำให้เกิดแรงต้านอย่างกว้างขวาง

 
2.กรณีของนโยบาย P4P นั้น เป็นการนำแนวทาง P4P มาใช้อย่างผิดๆ ไม่มีความเข้าใจต่อเรื่อง P4P อย่างแท้จริง ไม่มีการเตรียมการและไม่มีการศึกษาผลดี-ผลเสียอย่างถ่องแท้แล้วจึงมาดำเนินการ เมื่อนำมาดำเนินการแล้วเกิดแรงต้านคัดค้านกว้างขวางทั่วประเทศก็ยังดันทุรังเดินหน้า ไม่คิดจะทบทวนยอมรับผิด แนวคิด P4P ที่สำคัญคือ ต้อง win win win กล่าวคือ ผู้ป่วยได้ วิชาชีพสุขภาพได้ และองค์กรก็ได้ประโยชน์ แต่กรณีกลับตรงกันข้าม ไม่มีใครได้ มีผลเสียมากกว่าผลดี และที่สำคัญ สิ่งที่กระทรวงสาธารณสุขผลักดันนั้นไม่ใช่ P4P แต่เป็น workpoint ซึ่งไม่สามารถนำมาทดแทนเบี้ยเลี้ยงเหมาจ่ายได้ คนละหลักการกัน แต่กระทรวงนำมาปะปนกันจนเลอะเทอะ และหากมีการนำ P4P มาใช้ในโรงพยาบาลชุมชน ปัญหาการขาดแคลนบุคลากรในชนบทจะรุนแรงขึ้น นโยบายหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าจะได้รับความเสียหาย เป็นการทำลายระบบสุขภาพที่สำคัญยิ่งโดยเฉพาะในเขตชนบท

3.เมื่อเกิดแรงค้าน อารยะขัดขืนจากโรงพยาบาลชุมชนเกือบทุกจังหวัดทั่วประเทศ แทนที่ รมต.ประดิษฐจะตรวจสอบนโยบายตนเอง ตรวจสอบแนวปฏิบัติในนโยบายที่มีปัญหามากมาย ทำหน้าที่หาทางออก สร้างการมีส่วนร่วม ชวนผู้เกี่ยวข้องมาพูดคุยอย่างเป็นมิตรอย่างพี่อย่างน้อง (ไม่ใช่อย่างเจ้านายลูกน้อง) รมต.ประดิษฐกลับทำในสิ่งที่ตรงข้ามคือ สั่งการให้มีการจัดเวทีชี้แจง P4P ทั่วประเทศแบบชี้แจงฝ่ายเดียว เสี้ยมหรือส่งสัญญาณให้เกิดการชนกันระหว่างโรงพยาบาลศูนย์/โรงพยาบาลทั่วไป กับโรงพยาบาลชุมชน ซึ่งเป็นสิ่งที่แย่มาก ทั้งๆ ที่ชมรมแพทย์ชนบทก็พูดไว้ชัดเจนแล้วว่า ข้อเสนอคือ หนึ่งกระทรวงสองระบบ รพศ./รพท.ก็ทำ P4P ไป ส่วน รพช.    ขอกลับไปใช้เบี้ยเลี้ยงเหมาจ่ายเหมือนเดิม แต่ รมต.ประดิษฐ ปลัดณรงค์ และรองปลัดสุพรรณ กลับจงใจเจตนาทำให้เกิดการเข้าใจผิดและผิดใจกันระหว่าง รพศ./รพท.กับโรงพยาบาลชุมชน ทำให้ระบบส่งต่อผู้ป่วยที่เดิมเคยมีความสัมพันธ์ที่ดีต่อกันมีปัญหาและความแตกแยกมากขึ้น ผู้ป่วยคือคนที่รับเคราะห์กรรม

4.กรณีองค์การเภสัชกรรม ซึ่งเป็นหนึ่งในรัฐวิสาหกิจที่ประสบความสำเร็จสูงยิ่ง ในปี 2550 ที่คุณหมอวิทิต อรรถเวชกุล เข้ามาเป็นผู้อำนวยการนั้น มียอดขายปีละ 5,449 ล้านบาท และเพิ่มปีละนับพันล้าน จนปี 2554 เพิ่มขึ้นมาเป็น 11,455 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 2 เท่าในเวลาเพียง 5 ปี การที่บอร์ดสั่งปลดคุณหมอวิทิต อรรถเวชกุล ซึ่งเป็นคนดี มีประสิทธิภาพนั้น สะท้อนชัดเจนว่า องค์กรเภสัชกรรมกำลังโดนแทรกแซง เพราะผู้อำนวยการองค์การเภสัชกรรมคือคุณหมอวิทิต อรรถเวชกุล อดีตผู้อำนวยการโรงพยาบาลบ้านแพ้ว เป็นคนเก่ง บริหารที่ซื่อตรงและไม่สยบยอมต่อคนคด ปฏิบัติการจึงเริ่มด้วยการที่รัฐมนตรีประดิษฐสั่งตรงให้นายกมล บันไดเพชร เลขานุการ รมว.สาธารณสุข แจ้งความส่งเรื่องไปยังกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) เพื่อสอบสวนข้อมูลโรงงานวัคซีนสร้างล่าช้าและวัตถุดิบยาพาราเซตามอล เพื่อดิสเครดิตคุณหมอวิทิต และหาเหตุปลดให้ได้ การปลดคุณหมอวิทิตอย่างไม่เป็นธรรม คือฟางเส้นท้ายๆ ที่สะท้อนความไม่มีธรรมาภิบาลของ รมต.ประดิษฐ

5.กรณี สปสช.ได้ถูกแทรกแซง โดย รมต.ประดิษฐมีการบังคับให้ นพ.วินัย สวัสดิวร เป็นผู้ขอตั้งรองเลขาธิการเพิ่มเองอีก 2 ตำแหน่ง เพื่อเอาคนขอตนเข้าไปเสียบ เพราะเดิมรองเลขาธิการที่มีอยู่แล้วทั้ง 3 ตำแหน่งนั้น การเมืองสั่งซ้ายหัน-ขวาหันไม่ได้ เมื่อบีบจนหมอวินัยหน้าเขียวจนยอมทำตามที่การเมืองขอ รมต.ประดิษฐก็ส่งคนของตนเข้ามาเป็นรองเลขาธิการ 2 คน แต่งตัวคอยท่า รอเวลาขึ้นตำแหน่งเลขาธิการในอนาคต รองเลขาธิการใหม่หนึ่งในสองคนชื่อ นพ.อรรถสิทธิ์ กาญจนสินิทธ์ อดีต ส.ส.พรรคไทยรักไทยนั่นเอง ที่แต่งตัวรอท่าจะได้ทำหน้าที่เลขาธิการ สปสช.คนต่อไป

6.การจัดซื้อเครื่องตรวจระดับน้ำตาลในเลือดกว่า 80,000 เครื่อง แจก อสม.เพื่อให้ไปคัดกรองเบาหวานนั้น ก็มีกลิ่นผิดปกติ ส่อทุจริตหลายประการ ทั้งในเรื่องของการจัดซื้อเครื่องซึ่งมีราคาแพง แทนที่จะจัดซื้อแถบตรวจน้ำตาลแล้วแถมเครื่อง ซึ่งเป็นแนวปฏิบัติที่ทำโดยทั่วไป และได้แถบในราคาที่ถูกกว่า อีกทั้งจำนวนเครื่องที่มีเป้าหมายจัดซื้อ 80,000 เครื่อง ก็เป็นการสิ้นเปลืองงบประมาณอย่างมาก ทั้งๆ ที่ความจริงอาจจัดซื้อเพิ่มเพียง 8,000 เครื่อง ก็อาจจะเพียงพอต่อการคัดกรองตามโครงการและตามหลักวิชาการ

รัฐมนตรีประดิษฐเป็นรัฐมนตรีที่ได้รับการต่อต้านมากที่สุดในประวัติศาสตร์ของกระทรวงสาธารณสุข ความแตกแยกในกระทรวงจะเพิ่มขึ้นหาก รมต.ประดิษฐยังอยู่ ความไร้ประสิทธิภาพจากการสั่งการบังคับบัญชาไม่ได้จะเกิดขึ้นต่อไปจากวิกฤติศรัทธาต่อผู้นำองค์กร วันนี้น่าจะสามารถกล่าวอย่างเต็มปากว่า "30 บาทรักษาทุกโรค ทักษิณสร้าง ประดิษฐทำลาย" ขอให้นายกรัฐมนตรีได้เปลี่ยนตัวรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เพื่อการเดินต่อไปข้างหน้าได้ของระบบสุขภาพไทย.