ผู้เขียน หัวข้อ: ข่าวเก่าๆ ที่ยังน่าอ่าน (ปี 2551)---- แพทย์ขาดแคลน  (อ่าน 2148 ครั้ง)

Meem

  • Hero Member
  • *****
  • กระทู้: 2576
    • ดูรายละเอียด
ญี่ปุ่น แม้จะได้ชื่อว่าเป็นประเทศที่มีวิทยาการทางการแพทย์ก้าวหน้าที่สุดประเทศ หนึ่งของโลก แต่ใช่ว่าคนญี่ปุ่นทุกคนจะสามารถได้รับการรักษาพยาบาลอย่างเหมาะสมทันท่วงที เพราะผู้ป่วยหลายรายอาจถูกปฏิเสธการรักษาจากโรงพยาบาลด้วยสาเหตุที่ไม่มี แพทย์หรือบุคลากรเพียงพอ
          หนึ่งในสาเหตุสำคัญที่ทำให้คนไข้ฉุกเฉินหรือผู้ป่วยวิกฤต โดยเฉพาะผู้ที่อยู่ในท้องถิ่นห่างไกลต้องถูกพาตระเวนหาโรงพยาบาลในยามเจ็บ ป่วยฉุกเฉิน ก็คือการขาดแคลนแพทย์ที่จะอยู่ประจำ หรืออยู่เวรนอกเวลาทำการในโรงพยาบาลชุมชนขนาดเล็ก

          ที่ปรากฏเป็นข่าวก็มีอยู่บ่อยครั้ง เช่นกรณีของสตรีชราวัย 89 ปีคนหนึ่งที่ป่วยด้วยอาการท้องร่วงและอาเจียน เจ้าหน้าที่หน่วยกู้ภัยที่มากับรถพยาบาลฉุกเฉินต้องเสียเวลานานกว่า 2 ชั่วโมงในการติดต่อกับโรงพยาบาลร่วม 30 แห่งที่ทุกแห่งปฏิเสธที่จะรับตัวผู้ป่วยไว้รักษาด้วยข้ออ้างว่าไม่มีเตียง หรือไม่มีแพทย์เวร
ที่สุด ผู้ป่วยต้องเสียชีวิตลงก่อนถึงโรงพยาบาล เพราะเกิดอาการช็อกจนหัวใจหยุดทำงาน

          อีกรายหนึ่งซึ่งกลายเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์กันทั่วประเทศ ก็คือกรณีของสตรีวัย 38 ปีที่ตั้งครรภ์ได้ 6 เดือนและเกิดปวดท้องต้องถูกนำตัวส่งโรงพยาบาลอย่างฉุกเฉิน รถพยาบาลของหน่วยกู้ภัยที่พาเธอไปส่งโรงพยาบาลเกิดอุบัติเหตุชนกับรถยนต์อีก คันหนึ่งขณะขับตะบึงนำเธอตระเวนไปยังโรงพยาบาลแห่งที่ 9 หลังจากที่โรงพยาบาล 8 แห่งก่อนหน้านั้นปฏิเสธที่จะรับเธอไว้เป็นคนไข้ เธอคลอดบุตรบนรถพยาบาลและเด็กเสียชีวิตขณะคลอด
          "โรงพยาบาลที่อยู่ใกล้ที่สุดอยู่ห่างแค่ 3 นาที แต่เราต้องพาเธอไปยังโรงพยาบาลที่อยู่ห่างไกลถึง 70 กิโลเมตร และก็ไม่ทันการเสียแล้ว" เจ้าหน้าที่กู้ภัยประจำรถพยาบาลบอก

          ในช่วงหลายปีหลังๆ นี้ ญี่ปุ่นต้องเผชิญกับความขาดแคลนบุคลากรด้านการแพทย์และสาธารณสุข ประกอบกับจำนวนการเกิดของประชากรได้ถดถอยลงอย่างต่อเนื่อง ในขณะที่จำนวนของประชากรในวัยชราที่ต้องได้รับการรักษาดูแลเพิ่มขึ้นทุกปี จนถึงกับเคยมีแนวความคิดที่จะสร้างหุ่นยนต์พยาบาลให้ทำงานดูแลคนชราและคน ป่วยแทนที่มนุษย์
          ภายใต้สมมติฐานตามมาตรฐานที่ว่า แพทย์แต่ละคนทำงานจะทำงานสัปดาห์ละ 48 ชั่วโมง ญี่ปุ่นจะยังขาดแพทย์ประจำโรงพยาบาลอยู่อีก 9,000 คนจึงจะถือว่าเพียงพอสำหรับการบริการสาธารณสุขแก่ประชาชน
          รัฐบาลของ นายยาสุโอะ ฟูกูดะ ได้กำหนดให้การแก้ไขปัญหาขาดแคลนแพทย์และบุคลากรด้านสาธารณสุขเป็นวาระเร่ง ด่วนของชาติ และได้มีการตั้งคณะทำงานขึ้นคณะหนึ่งภายใต้การดูแลของกระทรวงสาธารณสุข กระทรวงแรงงานและสวัสดิการสังคม เพื่อศึกษาและเสนอแนะแนวทางการแก้ไขปัญหาการขาดแคลนแพทย์
          หนึ่งในข้อเสนอแนะของคณะทำงานก็คือให้เพิ่มจำนวนนักศึกษาแพทย์จากเดิมที่ มหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ของญี่ปุ่นจะกำหนดโควต้าของการรับนักศึกษาแพทย์ไว้ปี ละ 7,800 คน โดยให้เพิ่มอีกปีละ 500 คนเป็น 8,300 คน
          แต่นั่นเป็นการแก้ไขปัญหาระยะยาว เพราะนักศึกษาแพทย์หนึ่งคนจะต้องใช้เวลาอย่างน้อย 10 ปีในการศึกษาและฝึกฝนงานในโรงพยาบาล ก่อนที่จะเป็นแพทย์ที่มีความสามารถสมบูรณ์
          ญี่ปุ่นเป็นประเทศที่มีระบบสวัสดิการสังคมและหลักประกันสุขภาพที่ดีที่สุด ประเทศหนึ่ง การประกันสุขภาพสำหรับประชาชนเป็นเรื่องบังคับ ประชาชนในวัยทำงานจะได้รับการประกันสุขภาพโดยนายจ้าง ส่วนผู้ที่ว่างงานหรือประกอบอาชีพอิสระ ต้องซื้อหลักประกันสุขภาพที่จัดโดยรัฐบาลท้องถิ่นที่ยังต้องจัดบริการสาธารณ สุขให้แก่เด็กและคนสูงอายุโดยไม่คิดมูลค่าอีกด้วย
          ค่ารักษาพยาบาลและรายได้ตอบแทนของแพทย์ทั้งในโรงพยาบาลของเอกชนและของรัฐจะถูกกำหนดไว้เป็นอัตราเดียวโดยกระทรวงสาธารณสุข
          ถึงกระนั้น แพทย์ที่ทำงานในโรงพยาบาลของรัฐก็ยังต้องทำงานหนักกว่า แต่ได้ค่าตอบแทนน้อยกว่าแพทย์ที่ทำงานในโรงพยาบาลเอกชน ที่จะได้ค่าตอบแทนเพิ่มขึ้นหากทำงานหรืออยู่เวรนอกเวลา ในขณะที่แพทย์ในโรงพยาบาลของรัฐต้องทำงานนอกเวลาโดยไม่ได้รับค่าตอบแทน
          แพทย์ในญี่ปุ่นส่วนใหญ่จึงเลือกที่จะทำงานให้กับโรงพยาบาลเอกชนในเมืองใหญ่ๆ มากกว่าที่จะไปปฏิบัติงานที่โรงพยาบาลประจำท้องถิ่นในชนบท
          รัฐบาลญี่ปุ่นแก้ปัญหาการขาดแคลนบุคลากรด้านการพยาบาลด้วยการอนุญาตให้ พยาบาลและผู้ช่วยพยาบาลต่างชาติเข้าไปฝึกงานตามโรงพยาบาลในประเทศญี่ปุ่น
          ในปี 2006 พยาบาลรุ่นแรกจากประเทศฟิลิปปินส์ได้รับอนุญาตให้เข้าไปทำงานในญี่ปุ่น
          และล่าสุด เมื่อต้นเดือนสิงหาคมนี้เอง พยาบาลและผู้ช่วยพยาบาลจำนวน 205 คนจากประเทศอินโดนีเซียก็ได้เดินทางถึงประเทศญี่ปุ่นเพื่อเข้าฝึกงานในโรง พยาบาลต่างๆ
          ญี่ปุ่นกำหนดที่จะรับพยาบาลและผู้ช่วยพยาบาลชาวอินโดนีเซียปีละ 500 คน ภายในเวลาสองปีรวม 1,000 คน แต่ปรากฏว่ามีผู้สามารถผ่านการคัดเลือกในปีนี้เพียง 208 คน
          พยาบาลต่างชาติเหล่านี้จะต้องสอบผ่านมาตรฐานที่กระทรวงสาธารณสุขญี่ปุ่น กำหนดให้ได้ภายในเวลา 3 หรือ 4 ปี ผู้ที่สอบไม่ผ่านจะต้องเดินทางกลับประเทศไป
          กฎหมายคนเข้าเมืองญี่ปุ่นมีข้อกำหนดอย่างเคร่งครัด ห้ามมิให้แพทย์ชาวต่างชาติเข้าไปทำงานในประเทศญี่ปุ่น ทำให้รัฐบาลญี่ปุ่นไม่สามารถแก้ปัญหาการขาดแคลนแพทย์ด้วยการนำเข้าแพทย์จาก ต่างประเทศ และถึงจะทำได้ อุปสรรคขัดขวางอันยิ่งใหญ่ก็คือ การสื่อสารระหว่างแพทย์กับคนไข้ เนื่องจากชาวญี่ปุ่นส่วนใหญ่พูดภาษาญี่ปุ่นเพียงภาษาเดียว
          การแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าสำหรับรัฐบาลญี่ปุ่นก็คือ การจัดสรรงบประมาณพิเศษจำนวน 150,000 ล้านเยน เพื่อจ่ายเป็นค่าตอบแทนแก่แพทย์ที่ทำงานนอกเวลาในโรงพยาบาลของรัฐ แต่สำหรับบรรดาคุณหมอชาวญี่ปุ่นแล้ว มันก็ยังเป็นค่าตอบแทนที่น้อยนิดเมื่อเปรียบเทียบกับภาระหน้าที่อันหนักยิ่ง
          ข้างต้นเป็นปัญหาด้านสาธารณสุขของชาวญี่ปุ่น พลเมืองของประเทศที่ได้ชื่อว่ามีระบบการประกันสุขภาพที่ดีที่สุดจนหลายๆ ประเทศต้องถือเป็นแบบอย่าง ซึ่งเมื่อเปรียบเทียบกับปัญหาด้านการสาธารณสุขที่คนไทยส่วนใหญ่ของประเทศ กำลังเผชิญอยู่แล้วละก็ แทบคิดไม่ออกเลยว่าปัญหามันอยู่ที่ตรงไหน
          เพื่อนหลายๆ คนที่เป็นหมอต่างบอกเป็นเสียงเดียวกันว่า ไม่สนับสนุนให้ลูกๆ ของตนเรียนแพทย์ เพราะนอกจากจะต้องทำงานหนักและเสี่ยงต่อการติดเชื้อจากคนไข้แล้ว หมอไทยในวันนี้ยังต้องเสี่ยงต่อการถูกฟ้องร้องจากคนไข้และญาติที่ขยันฟ้อง เพิ่มมากขึ้นทุกวัน ตัวเลขของนักศึกษาแพทย์ที่สอบติดแล้วสละสิทธิ์หันไปเรียนคณะอื่นๆ จึงมีเพิ่มขึ้นจนถึงระดับ 25% ในวันนี้
          สถิติที่น่าสนใจขององค์การอนามัยโลกระบุว่า
---สหรัฐอเมริกามีแพทย์ทั้งสิ้นประมาณ 730,000 คน (หลายคนเป็นสมองที่ไหลไปจากประเทศไทย) เฉลี่ยแพทย์ 2.56 คนต่อคนไข้ 1,000 คน (มาตรฐานคือ แพทย์ 4 คนต่อคนไข้ 1,000 คน)
---ประเทศญี่ปุ่นมีแพทย์ทั้งสิ้นประมาณ 260,000 คน เฉลี่ยแพทย์ 2 คน ต่อคนไข้ 1,000 คน   
---ประเทศฟิลิปปินส์มีแพทย์ทั้งสิ้นประมาณ 44,000 คน เฉลี่ยแพทย์ 0.58 คนต่อคนไข้ 1,000 คน
---ประเทศไทยมีแพทย์ทั้งสิ้นประมาณ 19,500 คน เฉลี่ยแพทย์ 0.31 คนต่อคนไข้ 1,000 คน

          กรุงเทพฯ โชคดีที่สุดที่มีแพทย์ 1 คนต่อคนไข้ 867 คน และ
          คนภาคตะวันออกเฉียงเหนือโชคร้ายที่สุดที่มีแพทย์ 1 คนต่อคนไข้ 7,015 คน

แพทย์ชุมชนของไทยต้องทำงานสัปดาห์ละ 120 ชั่วโมง
ตรวจคนไข้นอกวันละ 200 คนโดยใช้เวลาคนละ 2 นาที

          ปรากฏการณ์ที่คนบ้านนอกคอกนาต้องเดินทางดั้นด้นมาแออัดยัดเยียดยืนรอบัตรคิว ตามโรงพยาบาลใหญ่ๆ ของรัฐในกรุงตั้งแต่ตีสองตีสามฟ้ายังไม่ทันสางจึงมีปรากฏให้เห็นเป็นประจำ ทุกๆ วัน

นกุล ว่องฐิติวงศ์

ที่มา : มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 22 - 29 สิงหาคม พ.ศ. 2551